การแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านปางจำปี อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่


       ต่อเนื่องจากบันทึกที่แล้ว.....

        หมู่บ้านปางจำปี :แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   

      ในปี 2543-2544 ไฟไหม้ป่า  น้ำในห้วยแห้ง  อากาศร้อน  มีแต่ความแห้งแล้ง กันดาร  จึงเป็นที่มาให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น   

  • พี่สวัสดิ์  ขัติยะ   เล่าว่า….ไปอยู่กรุงเทพมา 4-5 ปีกลับมาเจอสภาพหมู่บ้านที่แห้งแล้งกันดาร  เมื่อปี 2543-2544  เกิดวิกฤตการณ์อย่างหนักเมื่อลำน้ำแม่ลายน้อยซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของขุนน้ำแม่กวง ที่ไหลผ่านกลางชุมชนเกิดแห้งขอด กุ้ง หอย ปูปลา สัตว์น้ำที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์เริ่มเหือดหาย  ลำน้ำ 22 สาขาของน้ำแม่ลายน้อยเหลือเพียง 7 สาขาที่ยังไหลมารวมกัน ไฟป่าเริ่มคุกคาม  เลยคิดถึงอนาคต
  • เนื่องจากไปแต่งงานกับคนชุมชนบ้านป๊อกซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นน้ำแม่ลายน้อย    ชุมชนบ้านป๊อกเป็นหมู่บ้านต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์      ส่วนบ้านปางจำปีเป็นถือเป็นหมู่บ้านปลายน้ำ  ทั้งสองหมู่บ้านจึงร่วมมือกันแก้ไขปัญหา    มีการนำงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือ     โดยมีอ.คณิต  คำเจริญมาชวนทำวิจัย  โดยใช้กระบวนการงานวิจัยเพี่อท้องถิ่น ภายใต้ชื่อโครงการ การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองของชุมชนบ้านป๊อก และบ้านปางจำปี ต.ห้วยแก้ว  กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่”

  • เริ่มแรกสกว.แม่โจ้เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง  เริ่มต้นก็มีการให้ทีมวิจัยซึ่งเป็นคนในชุมชนเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาโดยเป็นคนบ้านป๊อก 5 คนและ บ้านปางจำปี 5 คน (ได้อ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง สายนทีแห่งชีวิต:ลำน้ำแม่ลายน้อยของคุณ นิตยา  โปธาวงค์ ในจดหมายข่าว งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.)  ทุกคนจะต้องเขียนบันทึกตั้งแต่เล็กจนโต  ซึ่งเป็นกุสโลบายอย่างหนึ่งเพราะชีวิตชาวบ้านนั้นผูกพันกับสายน้ำอยู่แล้ว    สิ่งที่ได้บอกเล่านั้นได้ทำให้ชาวบ้านได้คิดว่า  ตนเองได้ทำร้ายอะไรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนตนเองบ้าง
  • การรับเหมาตัดไม้    การเผาป่า  การหาสัตว์น้ำอย่างผิดวิธี  สิ่งเหล่านี้ผ่านการบอกเล่าของทุกคน   ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่ายหันกลับมาพลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
  • พี่บุญเสริฐ   โจมขัน   ผู้ซึ่งหากินกับการหาสัตว์ป่า ของป่าในอดีตเล่าว่า ตนเองเรียนยังไม่จบป.2  ด้วยซ้ำ   สมัยก่อนนั้นทั้งค้าของป่า  การพนัน  เหล้าบุหรี่  แต่เมื่อต้องเข้ามาร่วมเป็นนักวิจัยนั้นทำให้ต้องเรียนรู้มากขึ้น   หลายครั้งที่ต้องให้ลูกมาช่วยเรื่องการเขียน      เขาบอกว่า งานวิจัยและเวทีนักจัดการความรู้(เวทีพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.แม่โจ้ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข(สรส.) ) เหมือนขุดเขาขึ้นมาจากใต้ดิน
  • ปัจจุบันพี่บุญเสริฐ ได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และประธานประชาคมหมู่บ้านปางจำปี   เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษาและบุหรี่
  • ทีมวิจัยได้พูดคุยกันถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้ง การทำฝาย  การทำน้ำริน   การทำบ่อทราย  ตลอดจนที่ดินทำกินสองฝั่งลำน้ำ จึงได้มีการแบ่งงานกันทำ  พี่บุญเสริฐนั้นมีความถนัดเรื่องป่าจึงได้อยู่ฝ่ายสำรวจข้อมูลลำน้ำสาขา  ทำการบันทึกและไปทำความเข้าใจกับชุมชน   โดยแต่ละฝ่ายจะต้องมีการนำเสนองานในที่ประชุมงานวิจัย  ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยนอกรอบตอนนั่งทานขันโตกร่วมวงกับพี่เสริฐ  เนื่องจากชาวบ้านมักมีปัญหาเรื่องการรุกล้ำที่ดินทำกินสองฝั่งลำน้ำ     จึงมีการทำโฉนดชุมชน    
  • โดยการสำรวจพื้นที่ทำกินตกลงหารือกันกับชาวบ้านในชุมชนถึงพื้นที่ทำกิน    มีการละเว้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สองฝั่งลำน้ำห่างจากลำน้ำ 500 เมตรมีการงดใช้สารเคมี แล้วออกเป็นโฉนดชุมชนขึ้นมา     ถ้าชาวบ้านคนใดบุกรุกพื้นที่ป่าก็จะมีกฏกติกาของชุมชน  ผู้เขียนก็สงสัยว่า....ถ้าชาวบ้านไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น  พ่อหลวงก็บอกว่า....ก็ต้องส่งตัวให้ตำรวจดำเนินการตามกฏหมายต่อไป      
  • นอกจากการงดใช้สารเคมีแล้วยังมีการปลูกพืชซับน้ำตระกูลกล้วย และไม้น้ำ   มีการปลูกจิตสำนึกให้กับชุมชนร่วมกันแพ้วถาง  เก็บขยะตลอดลำน้ำตั้งแต่บ้านป๊อกลงมาบ้านปางจำปี     ทั้งนี้เพื่อให้ลำน้ำไหลได้อย่างสะดวก   และมีการบวชป่าสืบชะตาลำน้ำแม่ลายน้อย  ในเดือนพฤษภาคม 2548  ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่แห้งแล้งมีน้ำน้อยที่สุด
  • แต่ละครัวเรือนจะมีการส่งตัวแทนมาร่วมถางป่า ร่วมกับเยาวชนบริเวณน้ำตกท่าบันได   มีการนำภูมิปัญญาที่กล่าวถึงข้างต้นคือ  การทำน้ำริน   การทำฝาย  เพื่อมาทำ "วังปลา"ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตร    ซึ่งพ่อหลวงได้เล่าถึงพันธุ์ปลาปรุง หรือปลาพวงเงิน ซึ่งมักอยู่ตามบริเวณถ้ำ   เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชม
  • เพิ่มเติมถึง กฏระเบียบของหมู่บ้านที่กล่าวถึงไป  นอกจากมีการห้ามจับสัตว์น้ำบริเวณเพาะพันธุ์ปลา  
  • กฏระเบียบเกี่ยวกับการตัดไม้  การหาของป่า  การห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำ  การปลูกป่าในวันสำคัญ
  • คณะกรรมการหมู่บ้านได้อนุมัติเงินจากกองทุน SML มา 200,000 บาทในการสร้างอุทยานการเรียนรู้บ้านปางจำปีขึ้น    ชื่อ "บ้านวังปลา" 
  • ซึ่งก่อสร้างโดยใช้ไม้ไผ่เป็นความร่วมมือกันของชาวบ้านหลังคาเรือนละ 10 เล่ม ใช้เวลาสร้างรวม 4 เดือน  มีพิธีเปิดเมื่อเดือน พฤษภาคม 2548
  • ที่บ้านวังปลานั้นประกอบด้วยสวนสมุนไพร  แปลงสาธิต เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา"วังปลา" น้ำตกท่าบันได  ตลอดจนภูมิปัญญาเรื่องการจัดการน้ำริน  ฝายแม้ว   
  • ซึ่งถ้าผู้มาเยี่ยมเยียนอยากมีเวลาศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากขึ้นก็สามารถพักที่บ้านพักรับรองได้ประกอบด้วยกัน 4 ห้องนอน มีห้องน้ำในตัว   มีพื้นที่สำหรับนั่งแลกเปลี่ยนเป็นหมู่คณะ 
  • ห้องพักมี 4 ห้องนอน พร้อมห้องน้ำในตัว

 

  • ทางพ่อหลวงบอกว่า....มีการแบ่งกลุ่มกันในหมู่บ้านเป็นกลุ่มผู้ให้ข้อมูลความรู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน   กลุ่มองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากร  

  • กลุ่มแม่บ้านสำหรับดูแลห้องพักและทำอาหารรับรองซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนกันมาทำ    อาหารธรรมดาๆแต่อร่อยจังเลยค่ะ ไม่รู้ว่าเหนื่อยกันหรือเปล่า  ดูจากโตกของผู้เขียนได้ว่าเหลืออะไรบ้าง...
  • กลุ่มรักษาความปลอดภัย   มีการเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมคือกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยพาเดินป่าศึกษาธรรมชาติ   และกลุ่มการคลัง
  •                                                                                         บริเวณน้ำตกท่าบันได
  • การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อให้เกิดรายได้เข้ามาหมุนเวียนในหมู่บ้าน  และชุมชนต่างๆก็สามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 

  • การทำฝายแม้วบริเวณน้ำตกท่าบันได

  • ซึ่งมีทีมนักวิจัยท่านหนึ่งซึ่งเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้เจอคือ..คุณธนากรกล่าวไว้ว่า.....
  • "เราไม่ได้ขายทรัพยากรธรรมชาติ  แต่เราขายวิธีการเรียนรู้ วิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ"
  • ความประทับใจเล็กๆในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่หมู่บ้านปางจำปี   แต่ผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอิบใจกับผลของงานวิจัยที่เกิดขึ้น   งานวิจัยหลายชิ้นล้มเหลวเพราะนักวิชาการเข้าไปช่วยคิด  ช่วยจัดการชุมชนมากเกินไป    โดยไม่ได้มองจากความต้องการจริงๆของชุมชน   แต่สำหรับที่นี่งานวิจัยเกิดจากการเข้าไปชี้แนะของนักวิชาการ       ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและร่วมแรงร่วมใจกัน  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และมีการจัดการทรัพยากรธรรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
  • สำหรับข้อเสนอแนะที่ชุมชนฝากไว้คือ  นักวิชาการที่คิดจะเข้าไปทำวิจัยชุมชนควรจะมีตัวกลางที่สามารถเชื่อมกันได้ระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ  เพราะนักวิชาการเองก็คุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง  ส่วนชาวบ้านก็ไม่รู้จะสื่อสารกับนักวิชาการอย่างไร   และที่สำคัญงานวิจัยควรเกิดจากความต้องการจริงๆของชุมชน

  •  ท่านใดสนใจเข้าเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานประสานงานวิจัยเชิงบูรณาการ(สกว.แม่โจ้)ค่ะ


ความเห็น (15)

ขอบคุณครับ ได้ข้อมูลดี ๆ จากการสัมผัสชีวิตจริง ๆ มากมายเลย แล้วหว้าก็เรียบเรียงได้ดีน่าอ่านมาก ๆ ด้วย

  • ขอบคุณค่ะพี่ศักดิ์....หมู่บ้านปางจำปีเป็นภูมิปัญญาแห่งการเรียนรู้จริงๆค่ะ
  • พยายามที่จะถ่ายทอดออกมาให้ครบถ้วนสำหรับผู้ที่เข้ามาอ่าน
  • อยากให้ชุมชนต่างๆได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับที่นั้นจังเลยค่ะ

สวัสดีปีใหม่ครับอ.ลูกหว้า

  • ถ้ามีคนรักประเทศไทยจริง ๆ แบบนี้เยอะ ๆ เราคงสบายกว่านี้แยะ
  • ขอให้อ.ลูกหว้าเฟื่องฟู...ดูดี...ไม่มีจน...ตลอดปีครับ

อฐิษฐาน พระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เบิกชีวิต ให้แจ่มใส และไพศาล

เจริญสุข สรรเสริญ เจริญงาน

ทรัพย์ศฤงคาร อนันต์ใน ปีใหม่เทอญ

สวัสดีปีใหม่ครับ..อ.ลูกหว้า

  • สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์ลูกหว้า
  • สุขภาพแข็งแรง และมีความสุขตลอดปีนะครับ
  • ขอบคุณครับ

คิดถึงคนดีคนนี้ที่สุดเลยค่ะ ไม่ได้แวะมาทักทายนานแล้ว สบายดีนะคะ

ปีใหม่นี้ขอให้โชคดีค่ะ

  • P สวัสดีปีใหม่ค่ะนายช่างใหญ่
  • ปีนี้ไม่ได้ไปเยี่ยมตามบล็อกต่างๆเลย  มีงานตลอด ต้องนั่งสรุปงานจากการลงชุมชน....
  • อยากเผยแพร่สิ่งดีๆของชุมชนนี้ค่ะ  ชุมชนต่างๆสามารถเลียนแบบได้นะคะ   พัฒนาจากจุดเล็กๆทั่วประเทศจะสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศของเราในที่สุดค่ะ
  • P อาจารย์ดิศกุล...
  • หนึ่งปีผ่านไปก็ยังไม่ลืมกันเลยนะคะ
  • ท่านแรกๆที่แวะมาให้กำลังใจกันเสมอมา....
  • ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย หลวงพ่อพระพุทธชินราชดลบันดาลให้อาจารย์และครอบครัวประสบแต่ความสุขตลอดไปค่ะ
  • P คุณสุดทางบูรพา...
  • สวัสดีปีใหม่เช่นกันค่ะ ขอบคุณนะคะที่ยังไม่ลืมกัน...มีความสุข  สดชื่นตลอดปีค่ะ
  • P พี่อรขา....
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ ดีใจจังเลย ไม่ได้ทักทายกันนานมากแล้ว
  • กิจการไปได้ดีนะคะ...มีความสุขกับการท่องเที่ยวตามเคยแน่ๆ
  • ขอให้พี่อรและครอบครัว สดชื่น หวานแหวว ตลอดไปค่า...

ป๋างจ๋ำปี๋ แหล่งที่เฮียนฮู้ จาวบ้านเปิ้นสู้ กลับสู่วิถี
บัดเดี๋ยวนี้นั้น จาวบ้านสุขขี ป่าไม้คืนมี วารีไหลห้วย
สองข้างลำไหล ปลูกไผ่ปลูกกล้วย ช่วยหื้อดินเย็น ชุ่มชื้น
.
แบ่งที่ทำกิ๋น ดินดีเป๋นปื๊น ขึ้นโฉลดอั้น ชุมชน
บ่หื้อรุกล้ำ เขตก้ำแดนหน แบ่งหื้อจุ้คน บนผังบ่จ้วย
ห้าร้อยเมตร เขตข้างลำห้วย สองฝั่งห้ามโรย สารพิษ
.
จัดสร้างวังปล๋า เป๋นที่สาธิต ปิดฮ่อมห้วยหั้น หนึ่งโล
ปล๋าคืนมาไซร้ มากมายอักโข ปล๋าปรุงตั๋วโต โฮ!!แขนยังหน้อย
หอยกุ้งเหนี้ยวปู๋ มีอยู่บ่จ้อย หลายร้อยหลายปัน เนอครับ
.
จาวบ้านวะจี๋ ดีกว่าสินทรัพย์ ที่นับว่าได้ ก่อนมา
ป่าคือจีวิต ลิขิตไว้หนา แถมสายธารา โลหิต๋าเจ้า
เป็นศักดิ์เป็นศรี จ๋ำปี๋ใฝเฝ้า จะฮักษ์ลำเนา เอาไว้
.
เจิญท่านตังหลาย ผู้ใคร่ฮู้ไซร้ เจิญไปแอ่วได้ พักนอน
ป๋างจ๋ำปี๋ไซร้ เจียงใหม่นก๋อร อำเภอแม่ออน ตำบลห้วยแก้ว
อากาศสดใส ปาใจ๋ผ่องแผ้ว อาจเกิดเป็นแนว ไปพัฒน์
.
อู้ยาวแล้วหนอ ขอจบรวบรัด ตัดก้อมเต้าอี้ แลนา
จ๋ำใจ๋ลา ไปเพียงเต้าอี้ เต้านี้ขอลาไป ก่อนแลนายเหย.

  • เป็นกำลังใจคนทำงานตลอดปีใหม่...ขอให้สนุกกับงาน และงานก้าวหน้าครับ
  • P ขอบคุณอีกครั้งค่ะอาจารย์ทนันที่ทำให้บันทึกดูสมบูรณ์ขึ้น
  • P คุณเกษตร(อยู่)จังหวัด
  • ขอบคุณค่ะ  หว้าสนุกกับงานอยู่แล้วค่ะ แต่เห็นรูปนี้มาทีไร อิจฉาทุกทีเลย

ซิน เจีย ยู่ อี่  ซินนี้ฮวดไช้    ครับ

                   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท