KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 635. ตารางแห่งอิสรภาพตำบลเข้มแข็ง


คุณณรงค์ คงมาก (kongmark_4(at)hotmail.com) แห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งข้อความต่อไปนี้มาให้ทาง อี-เมล์

 

 

                     ข้อเสนอต่อกรอบความคิดเรื่อง ตัวชี้วัดตำบลเข้มแข็ง

                                                                                      โดย ณรงค์ คงมาก

 

          ในการประชุมผู้ประสานงานจังหวัด 17 จังหวัด ของโครงการประสานและติดตามสนับสนุนจังหวัดบูรณาการ ระยะที่ 2   เมื่อวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2551 ณ บ้านคุณทรรศิน สุขโต หัวหน้าโครงการฯ ที่ตำบลบางสะแก อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นั้น  ในกลุ่มย่อยที่มีคณะผู้นำชุมชนจากจังหวัดชัยนาท 3 คน จังหวัดนครพนม 1 คน และ ผู้เขียน รวมทั้งหมด 5 คน ได้ระดมสมองตามโจทย์ที่กำหนดร่วมกันว่า ตำบลเข้มแข็ง ในพื้นที่ปฏิบัติการของโครงการฯระยะที่ 2  ในอีก 23 เดือนข้างหน้า ( 1 พฤศจิกายน 2551 – 30 กันยายน 2553 ) นี้  วัดจากอะไร?  ซึ่งมีผลสรุปการระดมสมองของพวกเรา 5 คน ดังนี้

          ประสบการณ์จาก ชัยนาท นครพนม และนครศรีธรรมราช : ความรู้ที่ใช้ในการสร้างกรอบความคิด ตัวชี้วัดตำบลเข้มแข็ง

          ในการตั้งวงสนทนาราว 2 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551  ผู้นำ 4 คน จาก 2 จังหวัด และ ผู้เขียน ในฐานะผู้ประสานงาน 5 จังหวัดภาคใต้ เล่าประสบการณ์ การทำงานภายใต้ภารกิจของโครงการความร่วมมือฯ ระยะที่ 1 แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่ ตำบล  หรือการทำงานที่ใช้ พื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้ง ซึ่งมีประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจ หลายประการ  เช่น ในจังหวัดชัยนาท เน้นการสร้าง คณะทำงานเพื่อพัฒนาตำบลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีกระบวนการบริหารงานพัฒนาที่เข้มข้น  มีกลไกการบริหารจัดการที่เข้มงวด  จริงจัง มีคณะทำงานที่เข้มแข็ง  มีกระบวนการติดตามงานพัฒนาชนิดกัดไม่ปล่อย  ซึ่งส่งผลให้จังหวัดชัยนาทมีผลงานในโครงการระยะที่ 1 ที่โดดเด่นอย่างยิ่ง  ขณะที่จังหวัดนครพนมเน้นกระบวนการพัฒนาครู ก. ครู ข. โดยการสนับสนุนจากภาคราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจัง   ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็น หัวขบวนขับเคลื่อนงานชุมชนเข้มแข็งตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ผ่านกระบวนการชุมชนอินทรีย์และการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ

 

          ทั้ง 3 จังหวัด  มีพื้นที่ตำบลที่อยู่ในกรอบที่อาจเรียกได้ว่า เป็นตำบลเข้มแข็ง อยู่หลายพื้นที่  ผู้รวมวงเสวนาทั้ง 5 คน จึงร่วมกันเรียนรู้ และสรุปร่วมกันว่า  ตำบลที่จะชี้วัดว่าเป็นตำบลเข้มแข็งนั้น ควรมีตัวชี้วัดอย่างน้อย  7 ประการ

          ตัวชี้วัด 7 ประการ : วัดความเข้มแข็งของตำบล

          1. มีกลไกเพื่อการพัฒนาสู่ตำบลเข้มแข็ง ที่มีผู้แทนจากทุกหมู่บ้านประกอบเป็นองค์คณะ และมีระบบการบริหารจัดการที่ต่อเนื่อง ยืนอยู่บนขาตนเองได้อย่างยั่งยืน  หมายถึง ในตำบลที่เข้มแข็งนั้น มีคณะบุคคลจากทุกหมู่บ้านมารวมตัวกันเป็นองค์คณะด้วยจิตอาสา ร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาตำบลอย่างต่อเนื่อง และสามารถบริหารจัดการคณะทำงานพัฒนาตำบลได้ด้วยตนเองทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว แม้ว่าทรัพยากรหรืองบประมาณสนับสนุนจากภายนอกจะหมดไปแล้วตามกรอบระยะเวลาของโครงการพัฒนาต่างๆ แต่คณะทำงานพัฒนาตำบลเข้มแข็งนั้นก็สามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาตำบลได้ต่อไป โดยไม่หยุดชะงัก

          2. สามารถสาน เชื่อมโยง ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และองค์กรภาคีทั้งในและนอกพื้นที่ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาตำบล  หมายถึง กลไกของคณะทำงานพัฒนาตำบลเข้มแข็งนั้น  สามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ เพื่อร่วมกันพัฒนาตำบล  โดยไม่ขัดแย้งกับภาคีใดๆทั้งในและนอกพื้นที่ หากบุคคลใดในคณะทำงานเกิดความขัดแย้งใดๆกับบุคคลในกลไกภาคีการพัฒนาอื่นๆ  ก็ต้องสรรหาบุคคลอื่นไปเชื่อมประสานกับภาคีนั้นๆแทน  เพื่อไม่ให้การพัฒนาตำบลหยุดชะงักหรือยู่ในสภาวะถดถอย อันเนื่องมาจากปัญหาด้านการเมืองท้องถิ่น หรือความขัดแย้งด้วยเหตุใดๆก็ตาม

          3. มีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เป็นปัจจุบัน และเชื่อถือได้  ในระดับครัวเรือน  หมู่บ้าน ตำบล เพื่อใช้สนับสนุนกระบวนการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาและสร้างการเรียนรู้ในทุกระดับ  หมายถึง กลไกการพัฒนาตำบลเข้มแข็งมีบุคคลหรือองค์กรภาคีการพัฒนาที่รับผิดชอบด้านการจัดเก็บ การสำรวจ การรวบรวมข้อมูลทุกด้านทั้งพื้นที่ตำบล  ทั้งระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล  ที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย  และมีระบบการบันทึก การออกรายงาน การประมวลผล โดยระบบคอมพิวเตอร์ได้ในพื้นที่ตำบลเอง และเผยแพร่ให้ทุกฝ่ายในตำบลใช้ข้อมูลนี้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในทุกระดับ เช่น การใช้โปรแกรมบัญชีรับจ่ายครัวเรือน  โปรแกรมขอนหาด  โปรแกรมจปฐ.  โปรแกรมสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นต้น  โดยมีการนำข้อมูลสู่กระบวนการจัดการความรู้ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ข้อมูลเกิดประโยชน์ต่องานพัฒนาตำบลอย่างแท้จริง

          4. มีแผนแม่บทชุมชนระดับตำบล และสามารถนำแผนไปสู่การปฏิบัติได้จริง

หมายถึง กลไกการพัฒนาตำบลนั้น ได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้านและบูรณาการเชื่อมโยงพัฒนาเป็นแผนแม่บทชุมชนระดับตำบล  โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในตำบล  เกิดเป็นแผนชุมชนระดับตำบลที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ และสามารถนำแผนงานภายใต้แผนแม่บทชุมชนไปสู่การปฏิบัติได้จริง  ทั้งในส่วนที่องค์กรชุมชนดำเนินการเอง  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำ  ให้ภาคีการพัฒนาภายนอกทำ หรือการทำร่วมกันของหลายฝ่าย  โดยแผนชุมชนระดับตำบลนั้น มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันทุกปี

          5. มีการถักทอ เชื่อมโยงกิจกรรมของกลุ่ม  องค์กร เครือข่าย และภาคีสนับสนุน  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในตำบล 

หมายถึง การเชื่อมประสานงานกิจกรรมระหว่างกลุ่ม  เครือข่ายองค์กรชุมชน และภาคีทั้งภายใน ภายนอกตำบล เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพองคนส่วนใหญ่ในตำบล  นำไปสู่ความมั่นคงและความมีเสถียรภาพด้านการประกอบอาชีพทั้งด้านการผลิต การแปรรูป  และการตลาด

          6. มีกลไกการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม  ศิลปวัฒนธรรม  ประเพณี และภูมิปัญญาทองถิ่น  เพื่อให้มีการพัฒนาที่มีดุลยภาพ  มีคุณค่าและยั่งยืนในตำบล หมายถึง  กลไกการพัฒนาตำบลเข้มแข็ง  ต้องเน้นการพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาที่มีดุลยภาพในทุกด้านของวิถีชีวิตชุมชน  คำนึงถึงความยั่งยืนและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม  ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีกลไก กลุ่ม องค์กร แผนงานโครงการ และวิธีการจัดการงานในประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม

 

 

 

          7. เกิดกลไกการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น และการเมืองภาคพลเมือง  หมายถึงในตำบลที่เข้มแข็งนั้น  สามารถจัดการกับความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิดได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ สภาวการณ์หลังการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งในทุกระดับ  ไม่ก่อให้เกิดความแตกความสามัคคีของกลุ่มคนในหมู่บ้านและตำบล  คนส่วนใหญ่มีวุฒิภาวะทางการเมืองสูงพอที่จะแยกแยะและยอมรับความต่างทางความคิด ตามวิถีทางของประชาธิปไตย และมีอัตราส่วนการมีส่วนร่วมทางการเลือกตั้ง มีการใช้สิทธิเลือกตั้งในอัตราที่สูง ในการเลือกตั้งทุกระดับ

          ทั้ง 7 ประการนี้  เป็นข้อเสนอเรื่องตัวชี้วัดตำบลเข้มแข็ง  ในเบื้องต้น ให้ผู้ประสานงานจังหวัดที่เข้าร่วมประชุมจาก 17 จังหวัด ไปตรวจสอบและทดลองใช้วัดสภาวะ ความเข้มแข็งของตำบล ในพื้นที่ปฏิบัติการของจังหวัดต่างๆ ต่อไป.

 

                                           .......................................................

 

ทำให้ผมเห็นโอกาสใช้ KM เพื่อเสริมขบวนการตำบลเข้มแข็ง    โดยใช้เครื่องมือ ตารางแห่งอิสรภาพตำบลเข้มแข็ง   โดยใช้ตัวชี้วัด ๗ หมวดเป็น แก่นความรู้เพื่อตำบลเข้มแข็ง   ถ้าได้รับการสนับสนุนการเงิน สคส. น่าจะเข้าไปรับใช้จังหวัดทั้ง ๑๗ จังหวัดนี้ได้    ให้จังหวัดเหล่านี้ พัฒนาไปเป็น จังหวัดแห่งการเรียนรู้    ที่มี ตำบลแห่งการเรียนรู้ เต็มทั้งจังหวัด   โดยใช้เครื่องมือ KM   เน้นที่ตารางแห่งอิสรภาพ

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ธ.ค. ๕๑

 

หมายเลขบันทึก: 230321เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท