คนไข้เป็นมะเร็งหรือโรคระยะสุดท้าย บอกญาติดีไหม


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้คนเรามีโอกาสอายุยืนมากขึ้น ซึ่งธรรมดาของโลกคือ ข่าวดีมักจะมาคู่กับข่าวร้าย ข่าวร้ายที่ว่าคือ คนที่อายุยืนมีโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นด้วย

หมอฝรั่ง (ชาวตะวันตก) นิยมพูดเรื่องมะเร็งกับคนไข้ เรื่องที่ว่าจะไปพูดกับญาติหรือไม่นั้น แล้วแต่คนไข้จะยินยอม เนื่องจากฝรั่งถือกันว่า โรคภัยไข้เจ็บเป็น "สิทธิส่วนบุคคล" ต้องได้รับอนุญาตจากคนไข้หรือคนไข้ร้องขอ จึงจะบอกญาติได้

...

ภาพจากวิกิพีเดีย > [ Click ]

...

หมอไทยนิยมพูดเรื่องมะเร็งกับญาติ ส่วนจะบอกคนไข้หรือไม่นั้น แล้วแต่ญาติจะยินยอม เนื่องจากกลัวญาติคนไข้หาว่า คนไข้อาการทรุดลง เนื่องจากหมอไม่ให้กำลังใจคนไข้

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเอเชีย (ตะวันออก) มองว่า "คนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว (หรือญาติ)" จะทำอะไรก็ต้องปรึกษาญาติก่อน

...

ท่านอาจารย์ลาติฟาต อะพาทิรา และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ฟรานซิสโก สหรัฐฯ ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นญาติๆ ของคนไข้ระยะสุดท้ายที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 179 คน

ผลการศึกษาพบว่า 93% ของสมาชิกครอบครัวคนไข้ระยะสุดท้ายต้องการให้หมอบอกพยากรณ์โรค (prognosis) มากกว่าปล่อยให้ทุกคนทุกฝ่ายมีความหวังแบบลมๆ แล้งๆ เพราะญาติเองก็อยากมีเวลา "ทำใจ" เรื่องการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไว้ล่วงหน้าเหมือนกัน

...

ภาพจากวิกิพีเดีย > [ Click ]

...

อาจารย์อะพาทิรากล่าวว่า ผลการศึกษาสนับสนุนให้คุณหมอพูดกับญาติในสไตล์แบบนี้ "hope for the best and prepare for the worst." แปลว่า ให้เหลือความหวังไว้สำหรับโอกาสที่ดีที่สุด และเตรียมใจไว้สำหรับอะไรที่แย่สุดๆ ทั้งสองทาง

นั่นคือ แทนที่จะบอกพยากรณ์โรค "เป็นจุดหรือค่าคงที่" เช่น คนไข้น่าจะอยู่ได้อีก 4 เดือน ฯลฯ ให้บอกเป็น "ช่วงหรือบอกอะไรที่ยืดหยุ่นได้" แทน เช่น คนไข้แบบนี้น่าจะอยู่ได้อีก 2-6 เดือน ฯลฯ 

...

นอกจากนั้นอาจยกตัวอย่างคนไข้ที่เป็นความหวังขึ้นมาก็ได้ เช่น กล่าวว่า คนไข้แบบนี้ที่อยู่ได้เป็นปีๆ ก็มี ฯลฯ บอกกันแบบนี้จะช่วยให้ญาติ "ทำใจ" ได้มากกว่า

ถ้าพวกเราจำเป็นจะต้องบอก "เรื่องร้ายๆ" ให้ใครฟัง เรียนเสนอให้ลองใช้เทคนิคของท่านอาจารย์อะพาทิราคือ "บอกให้กว้างเข้าไว้ อย่าไปบอกแคบ" จะได้เหลือความหวังไว้ในใจคนฟังบ้าง เพราะการสร้างความคาดหวังที่สูงเกินจริง เช่น ไปโกหกว่า "หายแน่" ฯลฯ มักจะส่งผลเสีย เช่น ทำให้ญาติไม่มีเวลา "ทำใจ" มากพอก่อนการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ฯลฯ

...

ภาพจากวิกิพีเดีย > [ Click ]

...

คุณแม่ผู้เขียนป่วยระยะสุดท้าย เป็นแทบทุกโรครวมกันในคนๆ เดียว ยกเว้นเบาหวานคือ ไตวาย หัวใจวาย ติดเชื้อในกระแสเลือด เลือดออกไม่หยุดจากการติดเชื้อ (DIC) ความดันเลือดสูง ตกใจง่าย (แพนิค) ข้ออักเสบเกาต์ และถุงลมโป่งพอง (คุณพ่อสูบบุหรี่) มีโอกาสเข้ารับการรักษาในห้อง ICU โรงพยาบาลนครพิงค์

อาจารย์แพทย์และพยาบาลที่นั่นจัดระบบ "ให้คำปรึกษา" ญาติคนไข้ทุกเดือนๆ ละครั้ง ทำให้ญาติๆ เข้าใจโรค พยากรณ์โรค และมีเวลา "ทำใจ" ล่วงหน้า

...

คุณแม่ผู้เขียนเองก็เข้าใจสภาพ "ระยะสุดท้าย" ขอทำสังฆทาน ซึ่งได้ทำที่เตียงถึง 3 รอบ คนไข้เตียงรอบๆ ก็ขอให้พระที่ไปสวดให้ครบทุกเตียง น้อง หลาน และผู้เขียนหาเวลาว่างไปสวดพระปริตรที่เตียงเท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจารย์แพทย์และพยาบาลที่นั่นก็อนุญาตให้ทำได้ เนื่องจากเป็นพิธีกรรมทางศาสนา

หลังคุณแม่เสีย... ญาติทุกคนรู้สึกเคารพและซาบซึ้งในความช่วยเหลือของอาจารย์แพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลนครพิงค์มาก โดยเฉพาะคลังเลือดนี่ช่วยเหลือมาก ขอเลือดกันแทบทุกวัน นึกถึงโรงพยาบาลนครพิงค์ครั้งใดก็มีความรู้สึกดีๆ มาจนทุกวันนี้

...

ภาพจากวิกิพีเดีย > [ Click ]

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

Hiker

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                     

...

ศัพท์ที่น่าสนใจตอนนี้มาจากเนื้อเรื่องคือ คุณหมออเมริกันไม่ค่อยกล้าพูด (ปรึกษาหารือ) เรื่องพยากรณ์โรคกับญาติ ('not to discuss prognosis')

  • 'discuss' > ออกเสียง [ ดิส - คั่ส' ] ย้ำเสียง (accent) ที่พยางค์สองตรง "คั่ส"
  • 'discuss' = บอกเล่า ปรึกษาหารือ
  • ฟังเสียงเจ้าของภาษา > คลิกเครื่องหมาย "ธงชาติ" หรือ "ลำโพง" > [ Click ]

ที่มา                                                     

  • Thank Reuters > Families want doctors to share bad news > [ Click ] > December 15, 2008. // Annals of Internal Medicine, December 16, 2008.
  • ข้อมูลในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค  ท่านผู้อ่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > สงวนลิขสิทธิ์บทความในบล็อก > ยินดีให้นำไปใช้ส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 16 ธันวาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 229897เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2008 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คุณหมอค่ะ

        ใช่เลยค่ะ

ที่บ้านเรา     บอกญาติก่อน   แล้ว  ค่อยถามญาติ (ขออนุญาต)  

ว่าจะให้บอกผู้ป่วย  หรือไม่

ญาติ  จะเป็นผู้ประเมิน   ตัดสินใจ อีกครั้ง

ขอขอบคุณ... คุณกระติก

  • บ้านเราไม่ค่อยบอกโรคคนไข้
  • ทว่า... ผมเคยทำแบบสอบถามสัมภาษณ์คนไข้มะเร็งและญาติ

ปรากฏว่า

  • พลิกล็อคคือ คนไข้และญาติตอบตรงกันว่า ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่มีโอกาสหายหรือไม่หายก็อยากรู้ว่า เป็นอะไร จะได้เตรียมการต่อไปได้ถูกต้อง

ขอบคุณค่ะคุณหมอ ครูต้อยเองต้องเสียคุณแม่ไปเมื่อท่านอายุเพียง 67 ปี และคณย่า เสียเมื่ออายุ 64 ปี ทั้ง สองท่านเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่ลำบากใจ และทุกครั้งที่เราเจอผู้ป่วยที่ป่วยเป็นมะเร็ง  หรืออ่านเรื่องราวของมะเร็ง มันทำใจไม่ค่อยได้ มันรู้สึกเหมือนเราก็เป็นอะไร ที่เขาพร้อมจะเข้ามาอาศัย เรา หรือเขาเข้ามาแล้ว แต่เรายังไม่รู้ตัวคะ  มะเร็งมันน่ากลัวตรงที่ ไม่มีทางรักษา หากรู้ตัวช้า  ครูต้อยเองก็อยากรู้ทุกครั้งว่าเราเป็นอะไร แค่ไหน หาย หรือไม่หายอย่างไร จะได้วางแผนก่อนตายว่า เราควรทำอะไรก่อนหลัง และจะทำอย่างไร บ้าง ในภาวะนั้นๆ   ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ  ชอบอ่านเพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัว ขอให้คุณหมอมีความสุขมากๆค่ะ

ขอขอบคุณ... อาจารย์ krutoi 

  • มะเร็งป้องกันได้อย่างน้อย 2 ใน 3 ครับ
  • ลองอ่านเรื่องย้อนหลังดู

สวัสดีครับคุณหมอ

ถ้ากรณีเป็นคนหนุ่ม ๆ (30 - 40) ป่วยเป็นโรคร้าย

ไม่ทราบคุณหมอควรจะแจ้งใครก่อนดีครับ?

เช่นกรณี ไปตรวจคนเดียว แล้วคุณหมอดูแล้วว่าท่าทางจะทำใจไม่ได้ถ้ารู้ว่าเป็นโรคร้าย

ขอบพระคุณครับ

ขอขอบคุณ... คุณ Ajkae

  • ข้อมูลจากการศึกษาในไทยพบว่า คนไข้และญาติ 80-90% ขึ้นไปต้องการรู้ผลการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ และไม่ว่าจะมีทางหายหรือไม่

ทว่า...

  • ทางปฏิบัติ... ควรบอกไปเป็นขั้นเป็นตอนคล้ายๆ กับการบอกคนเป็นเอดส์คือ
  • ให้ปรึกษาทีม "ที่ปรึกษา (counseling)" ของโรงพยาบาลก่อนว่า พร้อมที่จะรับฟังจริงหรือไม่

ถ้าพร้อม...

  • ควรบอก "กว้างๆ" ไว้ก่อน อย่าเพิ่งบอกหมด แล้วนัดมาฟังครั้งต่อไป

ถ้าไม่พร้อม...

  • อย่าเพิ่งบอก (เดี๋ยวจะไปฆ่าตัวตาย)
  • เรื่องวิธีพูดกับคนไข้นี่... คุณพยาบาลและทีม "ที่ปรึกษา" มักจะเก่งกว่าหมอ หมอควรปรึกษาทีม "ที่ปรึกษา" ของโรงพยาบาล ไม่ควรทำอะไรคนเดียว

(ความเห็นส่วนตัวของผม ไม่ใช่คำแนะนำมาตรฐาน)

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท