11 วิธี วิ่งเหยาะ(จอกกิ้ง)ให้ดีกับสุขภาพแบบสุดๆ


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า การวิ่งเหยาะหรือจอกกิ้ง (jogging) เป็นการออกกำลังที่ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างกว้างขวาง

กล่าวกันว่า ขณะที่ผู้นำไทยส่วนใหญ่ต้องโชว์ความสามารถในการทำอาหาร (cooking) ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรัสเซียมักจะต้องจอกกิ้ง (joggin) หรือออกกำลังโชว์ เช่น ท่านว่าที่ประธานาธิบดีโอบามาเป็นนักบาสเกตบอล ท่านนายกรัฐมนตรีปูตินโชว์ทักษะด้านยูโด และสมรรถภาพทางกาย ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนที่จะเป็นผู้นำประเทศให้ดีได้... ควรมีสุขภาพดี

...

สาเหตุที่ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ ท่านแมคเคนแพ้การเลือกตั้งนั้นมีเบื้องหลังอยู่หลายประการ ทว่า... 1 ในเบื้องหลังลึกๆ คือ ท่านอาจารย์หมอพอล ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุยืนคำนวณอายุขัยที่เหลือของท่านแมคเคน และประกาศทางบล็อกและเว็บไซต์ของท่านว่า

ถ้าท่านแมคเคนได้เป็นประธานาธิบดี... แมคเคนมีโอกาสตายสูงในเวลา 4 ปีแรก มีโอกาสที่รองประธานาธิบดีจะต้องทำหน้าที่แทนสูงมากๆ ถ้าแมคเคนไม่ตายภายใน 4 ปี ท่านจะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์สูงมาก ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คนสหรัฐฯ ตกใจกันมาก

...

ภาพจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

อาจารย์หมอเมียคินเป็นคนไข้เบาหวาน (ท่านเองเป็นหมอด้วยเป็นเบาหวานด้วย) ที่ใส่ใจสุขภาพดีมากจนเข้าแข่งวิ่งมาราธอนได้เป็นประจำทั้งๆ ที่อายุมาก

ท่านแนะนำว่า ถ้าจะวิ่งเหยาะหรือจอกกิ้งให้ดีกับสุขภาพแบบสุดๆ แล้ว พวกเราน่าจะนำวิธีการฝึกแบบที่มืออาชีพฝึกแข่งวิ่งมาประยุกต์ใช้ ผู้เขียนขอแทรกคำแนะนำไปอีกหน่อยเพื่อให้เหมาะกับอากาศร้อนชื้นแบบเมืองไทย

...

(1). ตรวจสุขภาพ

  • พวกเราที่ไม่เคยออกแรง-ออกกำลังและคิดจะออกกำลังควรทำแบบประเมินความเสี่ยง หรือปรึกษาหมอใกล้บ้านก่อนว่า มีความเสี่ยงต่อโรคอะไรเป็นพิเศษหรือไม่... ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง เช่น เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ฯลฯ อาจต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนเริ่มออกกำลัง

...

(2). เตรียมรองเท้า

  • รองเท้าวิ่งที่ดีควรเป็นรองเท้าสำหรับวิ่งโดยเฉพาะ ส่วนส้นจะหนากว่าส่วนปลายเท้า เวลาซื้อควรซื้อช่วงบ่าย และให้ปลายเท้าห่างจากขอบด้านในของรองเท้าประมาณเท่าความกว้างนิ้วหัวแม่มือ เพื่อไม่ให้ปลายเท้าหรือเล็บกระแทกขอบด้านในรองเท้าจนเกิดการบาดเจ็บ

...

(3). เตรียมเสื้อผ้า

  • เมืองไทยเป็นเมืองร้อนชื้น ไม่ควรสวมเสื้อวอร์มแขนยาวพร้อมกางเกงขายาวออกวิ่ง เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการระบายความร้อนไม่ทัน เช่น เป็นลม เป็นลมแดด ฯลฯ
  • เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น ทายากันแดด และอาจสวมหมวกกันแดดหน่อยน่าจะเหมาะกับอากาศแบบเมืองไทยมากกว่า

...

(4). เตรียมน้ำ

  • ดื่มน้ำให้มากพอทุกวัน ดื่มน้ำก่อนออกวิ่งอย่างน้อย 20 นาที และฝึกดื่มเพิ่มคราวละน้อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

...

(5). ไม่วิ่งตอนแดดจ้า

  • ถ้าเป็นไปได้... ควรวิ่งตอนเช้าก่อน 9.00 นาฬิกา หรือวิ่งตอนเย็น-ค่ำหลัง 16.00 นาฬิกา เพื่อป้องกันการได้รับแสงแดดจ้าที่มีรังสี UV มากเกินไป
  • รังสี UV (อัลตราไวโอเลต / ultraviolet) ในแดดจ้าอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ถ้าจำเป็นต้องทำงานหรือออกกำลังตอนแดดจ้าควรทายากันแดดก่อนออกไปโดนแดดจ้า 15 นาที เพื่อให้ยากันแดดดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังก่อนออกไป

...

(6). เดินเร็วก่อน

  • การออกแรง-ออกกำลังควรเริ่มทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้นช้าๆ เช่น เดินเร็วสลับเดินช้าก่อน แข็งแรงดีแล้วค่อยเพิ่มความเร็วหรือระยะทาง แข็งแรงดีแล้วค่อยลองวิ่งเหยาะดู ฯลฯ
  • นอกจากเดินเร็วแล้ว... การเดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ก็ช่วยให้ขาแข็งแรงขึ้นได้มาก คนเราควรเดินเร็วและเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาสเป็นประจำทุกวัน (ยกเว้นคนที่มีโรคข้อเข่าอักเสบเรื้อรังควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อน)

...

(7). เดินเร็วสลับวิ่ง

  • พอเดินเร็วจนแข็งแรงดีแล้ว ให้ลองวิ่งเหยาะระยะสั้นๆ สลับกับการเดินเร็ว เช่น วิ่ง 2 นาที เดิน 2 นาที ฯลฯ จนแข็งแรงดี หลังจากนั้นให้ลองวิ่งให้นานขึ้น เป็นรอบละ 3,4,5,... นาที ไม่นานก็จะแข็งแรงพอที่จะวิ่งเหยาะได้ 20 นาที

...

(8). เริ่มวิ่งวันเว้นวัน

  • การวิ่งเหยาะหรือจอกกิ้ง (วิ่งค่อนข้างเร็ว) เป็นการออกกำลังที่ค่อนข้างหนัก ถ้าวิ่งทุกวันในช่วงแรกมักจะบาดเจ็บง่าย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อและเอ็นมักจะอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะเอ็นรอบหัวเข่า เอ็นน่อง เอ็นฝ่าเท้า เอ็นหลังเท้า ฯลฯ

...

  • ถ้าวิ่งวันเว้นวันแทนวิ่งทุกวันได้ในช่วงแรก ซึ่งอาจสลับกับการเดินเร็วแบบวันเว้นวัน โอกาสบาดเจ็บจะลดลงไปมาก
  • เมื่อแข็งแรงดีจริงๆ จะวิ่งทุกวันก็ได้ ทว่า... ควรวิ่งหนักวันเบาวัน โดยวัน "เบาๆ" ควรวิ่งให้ช้าลง และวิ่งในระยะทางน้อยลง ถ้าวิ่งทุกวัน... ควรมีวันหยุดวิ่ง 1 วัน โดยจะไปออกแรง-ออกกำลังรูปแบบอื่นก็ได้ หรือจะพัก เช่น เดินเร็ว ฯลฯ แทนก็ได้

... 

(9). ฝึกวิ่งนานสัปดาห์ละ 1 วัน

  • เมื่อวิ่งเหยาะจนแข็งแรงดีแล้ว ควรฝึกวิ่งให้นานหน่อยสัปดาห์ละ 1 วัน เช่น สมมติวิ่งวันเว้นวันคราวละ 20 นาที ให้ลองวิ่งนาน 30 นาที สัปดาห์ละ 1 วัน ฯลฯ เช่น วิ่งนานทุกวันอาทิตย์ ฯลฯ แล้วค่อยๆ ฝึกวิ่งให้นานขึ้นสัปดาห์ละ 1 วัน
  • การฝึกวิ่งนานสัปดาห์ละ 1 วันจะทำให้ร่างกายมีความอดทน (endurance) เพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายทนทานต่อการออกกำลังคราวละนานๆ (เพิ่มความสามารถด้านเวลา)

...

(10). ฝึกวิ่งเร็วสัปดาห์ละ 1 วัน

  • เมื่อวิ่งเหยาะจนแข็งแรงดีแล้ว ควรฝึกวิ่งให้เร็วหน่อยสัปดาห์ละ 1 วัน เช่น สมมติวิ่งวันเว้นวันคราวละ 20 นาที ให้ลองวิ่งเร็ว 5-10 นาที สลับกับการเดินเร็ว เมื่อแข็งแรงขึ้นแล้วให้ลองวิ่งเร็วให้นานขึ้นจนถึงคราวละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

...

  • วันที่ฝึกวิ่งเร็วควรเป็นวันที่ห่างจากวันฝึกวิ่งนานหน่อย เช่น สมมติฝึกวิ่งนานทุกวันอาทิตย์ ให้ฝึกวิ่งเร็วทุกวันพุธ ฯลฯ
  • การฝึกวิ่งเร็วสัปดาห์ละ 1 วันจะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงทนต่อการออกกำลังหรือทำงาน (endurance) หนักมากขึ้น (เพิ่มความสามารถด้านการทำงานหนักในเวลาสั้นๆ) ทักษะนี้มีความสำคัญมากในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เวลาเกิดไฟไหม้จะวิ่งหนีได้ดีขึ้น ฯลฯ

... 

(11). ออกกำลังให้หลากหลาย

  • การออกแรง-ออกกำลังหลายรูปแบบมักจะดีกับสุขภาพมากกว่าการออกแรง-ออกกำลังวิธีเดียว เช่น วิ่งเหยาะอย่างเดียวคงจะไม่ดีเท่าวิ่งเหยาะบางวัน ยกน้ำหนักหรือเล่นเวท (weight training) ไทเกก-ไทชิ ยืดเส้น (stretching exercise) โยคะสลับกัน ฯลฯ

...

ภาพเด็กนักเรียนขี่จักรยานไปโรงเรียน พุกาม พม่า (มิถุนายน 2551)

  • โปรดสังเกตว่า คนที่ขี่จักรยานเป็นประจำมักจะมีหุ่นดี มีผิวพรรณดี คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ด้านหลังจะมีหุ่นดี "น้อย" กว่ากันมากมาย

...

หลักการฝึกแบบ "หนักวัน-เบาวัน" ฝึกออกกำลังให้นานสัปดาห์ละ 1 วัน ฝึกหนัก เช่น วิ่งเร็ว ฯลฯ สัปดาห์ละ 1 วันจะทำให้สมรรถภาพทางกายเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หลักการนี้นำไปใช้ฝึกกีฬาประเภทอื่น เช่น ว่ายน้ำ จักรยาน ฯลฯ ได้ด้วย

กล่าวกันว่า จุดอ่อนอย่างหนึ่งของคนเราคือ การทำอะไรแบบ "เดิมๆ" ทุกวัน เช่น วิ่งเหยาะก็วิ่งเร็วเท่าเดิม ระยะทางเท่าเดิมทุกวัน ฯลฯ ทำให้สมรรถภาพเพิ่มขึ้นช้า และบาดเจ็บได้ง่าย

...

การฝึกออกแรง-ออกกำลังอย่างเป็นระบบจนสมรรถภาพทางกายดีมีส่วนทำให้ร่างกายดีขึ้นได้เร็ว จะนำไปใช้ฝึกแข่งขัน หรือฝึกเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตก็ทำได้ดีเช่นกัน

หลักการฝึกที่พวกเราควรจำให้ได้คือ

  • ฝึก "หนักวัน-เบาวัน" มักจะดีกว่าฝึกหนักทุกวัน
  • ฝึก "วิ่งนาน-วิ่งเร็ว" สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (วิ่งนาน 1 วัน - วิ่งเร็ว 1 วัน) มักจะดีกว่าฝึกหนักเท่ากันทุกวัน

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                     

...

คำที่น่าสนใจในตอนนี้มาจากหัวข้อเรื่องว่า 'Jogging for 'fitness' ซึ่งหมายถึงสุขภาพดี โดยเฉพาะสุขภาพที่ดีจาการออกแรง-ออกกำลังด้วย และการกินอาหารครบทุกหมู่อย่างพอดี (ไม่กินมากเกินหรือน้อยเกิน)

คนไทยเรามักจะคิดว่า "ฟิตเนส" หมายถึงสุขภาพดีที่มาจากการออกกำลังอย่างเดียว จริงๆ แล้วคำ "ฟิตเนส" มีความหมายคล้ายคำว่า "อนามัย" ดี คือ อาหารดี อาหารพอดี และออกแรง-ออกกำลังพอดีร่วมกัน

...

  • คำว่า 'fitness' เป็นคำนาม (noun)
  • ออกเสียงว่า "ฟิต'-เหนส"
  • ออกเสียงหนัก (accent) ที่พยางค์แรกคือ "ฟิต" พยางค์ต่อไปคือ "เหนส" ให้ออกเสียงเบาลง

...

ขอแนะนำให้ฟังเสียงเจ้าของภาษาที่นี่ (www.thefreedictionary.com)

  • คำ 'fitness' > [ Click ]
  • คลิกธงชาติสหรัฐฯ > เสียงผู้หญิง ฟังอังกฤษแบบอเมริกัน (American English)
  • คลิกธงชาติสหราชอาณาจักร (หมู่เกาะอังกฤษ) > เสียงผู้หญิง ฟังอังกฤษแบบอังกฤษ (British English)
  • คลิกเครื่องหมาย "ลำโพง" > เสียงผู้ชาย ฟังอังกฤษแบบอเมริกัน (American English)

...

คำที่น่าจำได้แก่

  • คำ 'fitness' = สุขภาพดีจากการกินอาหารดี กินพอดี ออกแรง-ออกกำลังพอดีร่วมกัน

...

หมายเหตุ

  • คำนามในภาษาอังกฤษที่มี 2 พยางค์ (2 เสียง) > ส่วนใหญ่นิยมย้ำน้ำหนักที่พยางค์แรก คำนามในภาษาอังกฤษที่มีมากกว่า 2 พยางค์ (3 เสียงขั้นไป) > ส่วนใหญ่นิยมย้ำน้ำหนักที่พยางค์สอง ส่วนคำกริยาที่นิยมย้ำน้ำหนักที่พยางค์หลัง

  • เครื่องหมาย [ ' ] แสดงการย้ำน้ำหนักเสียง (accent)

...

ที่มา                                                     

...

...

  • ข้อมูลในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค  
  • ท่านผู้อ่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้ 

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 6 ธันวาคม 2551.

...

  • สงวนลิขสิทธิ์บทความในบล็อก > ยินดีให้นำไปใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า. 

...

หมายเลขบันทึก: 227907เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2008 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ จะนำไปปฏิบัติ และบอกผู้ป่วยนะค่ะ

ขอขอบคุณ.... คุณ firoo // คำแนะนำในบล็อกมีไว้สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ียงต่อโรค หรือมีโรคประจำัตัว คนที่มีโรคหรือความเสี่ยงต่อโรคควรปรึกษาหมอที่ดูแลก่อนครับ...

คุณหมอครับ รองช้ำ กับ เอ็นฝ่าเท้า คือส่วนเดียวกันหรือเปล่าครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ เก๋เองเป็นคนที่ไม่ชอบการวิ่งมากที่สุดเลยค่ะ แต่ท้ายสุดด้วยความเป็นนักกีฬาต้องวิ่งทุกครั้งก่อนซ้อมประจำเลย แอบลักไก่วิ่งแค่รอบอ่างเก็บน้ำม.อ.รอบเดียวประจำค่ะ ^__^

ขอขอบคุณ... คุณเก๋น้อย

  • ถ้าวิ่งรอบอ่างเก็บน้ำ มอ. ได้ 1 รอบนี่... นับว่า แข็งแรงมากๆ แล้ว

ถ้าไม่ชอบวิ่ง...

  • ควรผสมผสานการวิ่งกับการเดินเร็ว เช่น เดินเร็ว 10 นาที > วิ่ง 10 นาที > เดินเร็ว ฯลฯ
  • หรือผสมผสานกับการออกกำลังแบบอื่นๆ เช่น เดินเร็ว 10 นาที > วิ่ง 10 นาที > เดินขึ้นลงบันได 10 นาที ฯลฯ

ลองดูครับ... เชียร์

ขอขอบคุณ... คุณนริศ

  • รองช้ำเป็นจุดปวดที่ฝ่าเท้า (ด้านล่างของเท้า)

แนะนำให้อ่านที่นี่...

  • ควรใช้แผ่นรองนุ่มๆ แทรกด้านในรองเท้า + อย่าเดินเท้าเปล่า > [ Click ]
  • ท่าดัดตนแก้รองช้ำ > [ Click ]
  • ภาพรวมของโรค > [ Click ]

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆครับผม

อยากทราบเพิ่มเติมด้วยครับ

ผมวิ่งมาได้ 1เดือนแล้วครับ ระยะทางประมาณ3-6กิโล

แล้วแต่วัน

แต่ทำไมร่างกายดูเหมือนไม่ค่อยมีแรงเท่าไหร่ครับ

ควรต้องทานอาหารมากน้อยแต่ไหน หรือต้องทำอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ

วิ่งอย่างเดียวอาจจะทำให้เพลียง่าย

  • เรียนเสนอให้ลองวิ่งวันเว้นวัน + ออกกำลังแบบอื่น เช่น โยคะ ไทเกก-ไทชิ มวยจีน รำกระบองชีวจิต ฯลฯ บ้างน่าจะดีครับ

อาหารไม่ได้ทำให้แข็งแรงเท่าไหร่...

  • ถ้าไม่ดีขึ้น... เรียนเสนอให้ลองกินอาหารแบบชีวจิตดู อาจจะดีขึ้นก็ได้
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท