การสร้างพลังชุมชน


Empowerment

การสร้างเสริมพลังอำนาจ(Empowerment)
                แนวคิดหลักของการสร้างเสริมพลังอำนาจ ได้มาจากงานของArlinsky (1971),Freire(1970,1973),และ Rothman 1971 นักคิดทั้งสามคนได้ร้อยเรียงประเด็นสำคัญที่กลายมาเป็นทฤษฎีของการสร้างเสริมพลังอำนาจ นั่นคือ กระบวนการหลักของการสร้างเสริมพลังอำนาจต้องมีการพัฒนาระดับปัจเจกบุคคล การมีส่วนร่วม  การกระตุ้นให้เกิดสำนึก และ การทำงานด้านการปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงสังคม
                ความหมายของการสร้างเสริมพลังอำนาจ
คำว่า การสร้างเสริมพลังอำนาจ(Empowerment) มาจากภาษาลาตินว่า “potere”ที่แปลว่า มีความสามารถ em เป็นคำนำหน้าที่แปลว่า เป็นสาเหตุให้ หรือ ทำให้เกิดด้วย ซึ่งตามความหมายของ em เป็นการสะท้อนความหมายของ “กระบวนการ” คำต่อท้าย “ment” หมายถึง “ผลลัพธ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สิ่งของ หรือ การกระทำที่เกิดขึ้น”
ดังนั้น Empowerment น่าหมายถึง กระบวนการที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของบุคคลในการที่จะดึงสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวเองในการควบคุม จัดการสร้างอิทธิพลกับตนเอง และ สังคมรอบข้างอันจะส่งผลเป็นรูปธรรมต่อชีวิตตนเอง
ในสาขาจิตวิทยาสังคม Rappaport ได้นิยามการสร้างเสริมพลังอำนาจ ไว้ว่า คือการมุ่งที่สร้างเสริมความเป็นไปได้ของบุคคลในการที่จะควบคุมชีวิตตนเอง อำนาจ หมายถึง ความสามารถในการทำนาย ควบคุม และมีส่วนร่วมกับสังคมแวดล้อมแล้วทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น ดังนั้นการสร้างเสริมพลังอำนาจ หมายถึง กระบวนการที่เอื้อให้บุคคล และ ชุมชนมีอำนาจที่จะนำเอาอำนาจไปดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสิ่งแวดล้อม

การทำงานในเรื่องของอำนาจ อาจแบ่งได้หลายแบบ เช่น การมีอำนาจเหนือ การมีอำนาจโดยการมอบหมาย และการมีอำนาจโดยการกระทำ ดังนั้นในการทำงานสาธารณสุข เราน่าที่จะทำงานร่วมกันแบบเป็นหุ้นส่วน(Partnership) มากกว่า การใช้อำนาจเหนือกว่าหรือแบบมอบหมายเพราะทั้งสองวิธีขาดการส่งเสริมความรู้สึกการเป็นอิสระและการเรียนรู้ในศักยภาพตนเอง

ในปี 1985 Rappaport ได้ชี้ประเด็นว่า การนิยาม Empowerment ว่าเป็นผลลัพธ์หรือเป็นการทำงานที่ส่งผลในทางบวกนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะ การสร้างเสริมพลังอำนาจมีความเกี่ยวข้องกับด้านจิตใจและการเมือง ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปแบบไร้รูปแบบ แต่เราสามารถบอกได้ว่าในบุคคลหรือชุมชนนั้นๆมีพลังอำนาจหรือไม่ เมื่อเราเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์ ทั้งนี้เพราะพลังอำนาจจะปรากฏให้เห็นได้แตกต่างกัน ขึ้นกับบุคคลและสถานการณ์หรือบริบท นอกจากนี้ภาวะที่ไม่มีพลังอำนาจ เช่น การไม่มีอำนาจ การท้อแท้สิ้นหวัง การแปลกแยก การรู้สึกสูญเสียอำนาจ การกำหนดวิถีชีวิตตนเองเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ง่ายและชัดเจน
Rappaport ได้เสนอแนวคิดเรื่องพลังอำนาจทางจิตวิทยาว่าเป็นการมองความเชื่อของบุคคลที่มีต่อความสามารถ ศักยภาพของตนเอง และ ต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆในเชิงการเข้าไปร่วมควบคุม จัดการสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมในชุมชน
องค์ประกอบที่ต้องมีในจิตวิทยาของการเสริมพลังอำนาจคือ การมองหรือดำรงชีวิตเชิงรุก(Proactive approach to life) ความรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถและการควบคุมตนเอง การเชื่อในตนเองและการเมือง การรับรู้ศักยภาพตนเอง การเชื่อในศูนย์อำนาจความเชื่อ (Locus of control) และการยกย่องตนเอง การมีส่วนร่วมในสังคมและการเมือง
ดังนั้น Rappaport เสนอว่า นิยามของการสร้างเสริมพลังอำนาจ น่าจะหมายถึง คนที่สามารถมองสังคมและตนเองอย่างวิเคราะห์ วิจารณ์และเป็นคนที่มองเห็นทางเลือกอื่น และสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆได้แม้จะเป็นกิจกรรมที่มีข้อขัดแย้ง การเสริมพลังอำนาจทางจิตวิทยา อาจมองเห็นได้จาก ความรู้สึกว่ามีอำนาจในการควบคุมจัดการ มุมมองที่เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์และเลือกที่จะเผชิญปัญหาหรือเลี่ยงปัญหาได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้การเสริมพลังอำนาจทางจิตวิทยา ยังได้ครอบคลุมประเด็นการสร้างพลังอำนาจจากภายในบุคคล ภายในกลุ่ม เราไม่สามารถสร้างจากภายนอกได้ บทบาทของนักสุขศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ คือผู้สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการเรียนรู้ (Facillatator)
ดังนั้น ในความคิดของ Rappaport การเสริมพลังอำนาจมีหน้าที่ 2 อย่าง คือ
1.       ช่วยให้คนกำหนดชีวิตตนเองได้
2.       เป็นวิธีกระตุ้นให้สังคมมีส่วนร่วมแบบในการอยู่ร่วมกันในชุมชนโดยการจัดสนับสนุนทางโครงสร้างสังคม

ปี 1987 Swift และ Lewin ได้ชี้ประเด็นว่าการสร้างเสริมพลังอำนาจทางจิตวิทยา กับการ
ปรับโครงสร้างในความเป็นจริงแตกต่างกัน ดังนั้น Zimmerman และ Rappaport ได้พัฒนาแนวคิดการสร้างพลังอำนาจในระดับต่างๆที่จะประยุกต์เข้าสู่ชุมชน องค์กรและนโยบายสังคม นอกจากนี้ยังเน้นว่า การตรวจสอบควรทำโดยใช้กระบวนการวิจัย ส่วนการสร้างเสริมพลังอำนาจทางจิตวิทยาเป็นการทำงานระดับบุคคลที่ควรเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการยอมรับตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง ความเข้าใจในระบบของสังคม ความสามารถในการวางแผน การรักษาสิทธิของตนเองและการตัดสินใจ ความตั้งใจในการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องระหว่างตนเองและสังคมหรือชุมชน

                แม้ว่าแนวคิดการสร้างเสริมพลังอำนาจทางจิตวิทยา เป็นการทำงานระดับบุคคล แต่ไม่ได้เพิกเฉยต่อบริบทของสังคม วัฒนธรรม ยังจำเป็นต้องมองบุคคลตามที่เกี่ยวพันกับสังคมในภาพของการมีส่วนร่วมของกลุ่ม การเข้าใจวัฒนธรรมชุมชนและการอยู่ร่วมกับคนอื่น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การสร้างเสริมพลังอำนาจทางจิตวิทยาได้ครอบคลุมมุมมองทางนิเวศวิทยา ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการสร้างเสริมสุขภาพไว้ด้วย
                ดังนั้น การสร้างเสริมพลังอำนาจไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ระดับบุคคลเท่านั้น แต่ต้องเชื่อมต่อไปยังบริบทของสังคมด้วย จึงควรมีการวัดการเปลี่ยนแปลงทั้งสองระดับ(Wallerstein,1992)
                ในส่วนของการสร้างเสริมพลังอำนาจชุมชน (Israel,1994)ได้ให้นิยามไว้ว่าเป็นกระบวนการที่ครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนแปลงระดับต่างๆ ทั้งปัจเจกบุคคล องค์กรและชุมชน เป็นการดูความสัมพันธ์ของระดับต่างๆกับรูปแบบการเกิดความเครียด เช่น Stress การเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ ตามแนวคิดของ Israel การสร้างเสริมพลังอำนาจทางจิตวิทยา หมายถึง การที่บุคคลตัดสินใจที่จะจัดการชีวิตของตนเอง โดยใช้มุมมองเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ กระแสสังคมการเมืองและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับศักยภาพของตนเองและกลุ่มในสังคมของตนในการที่จะดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยคนนั้นต้องมี
1.                   ความคาดหวังในความสามารถและศักยภาพของตนเอง
2.                   ความรู้สึกในการควบคุมจัดการเรื่องนั้น
3.                   กระบวนการมีส่วนร่วมที่จะตัดสินใจในองค์กรหรือกลุ่มคน
พลังอำนาจระดับบุคคลเชื่อมต่อกับระดับชุมชนที่การพัฒนาความสามารถที่จะจัดการ

ให้เกิดการกระทำ การสนับสนุนทางสังคม การอยู่ร่วมกับคนอื่นและทักษะการแสดงออกทางการเมือง
                ชุมชนที่มีพลังอำนาจ คือ ชุมชนที่ทั้งบุคคลและองค์กรได้มีการใช้ทักษะและทรัพยากรของตนเองและกลุ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม มีความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับกว้าง ทำให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากร มีการระบุประเด็นปัญหาและหนทางแก้ไขเอง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน มีความรู้สึกของการเป็นชุมชน บุคคลและการเมืองที่ชัดเจนจนเกิดเป็นระบบการช่วยเหลือกันอย่างเป็นธรรมชาติจนมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อเนื่องและยั่งยืน

                Rissel (1994) ได้นิยามชุมชนที่มีพลังอำนาจว่าเป็นชุมชนที่มีการยกระดับพลังอำนาจทางจิตวิทยาของบุคคลในกลุ่มสมาชิก มีการร่วมกิจกรรมทางการเมืองของบุคคลในกลุ่มและบรรลุการกระจายทรัพยากร หรือการตัดสินใจที่เหมาะสมเกิดประโยชน์ต่อชุมชน
                ทฤษฎีกระบวนการเสริมพลังอำนาจชุมชน
                Keiffer ได้สะท้อนการสร้างกระบวนการเสริมพลังอำนาจชุมชน จากผลการทดลองสร้างพลังอำนาจในระดับบุคคลของเขา และสรุปไว้ว่าต้องทำงานเป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมที่ขับเคลื่อนให้บุคคลเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง 4 ระยะ
1.                   ระยะการเข้าถึงตนเองและสังคม (era of entry) คือการรู้จักตนเอง บุคลิกภาพ ความสามารถและรู้จักสิ่งแวดล้อม สังคม
2.                   ระยะความก้าวหน้า (era of advancement) คือเริ่มมีและเห็นความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคมในเชิงวิเคราะห์
3.                   ระยะการเชื่อมต่อ (era of incorporate) คือ เริ่มมีกลยุทธ์ กลวิธีในการอยู่ร่วมกับสังคม
4.                   ระยะความมุ่งมั่น (era of commitment) คือ เริ่มมีการผสมผสานวิถีชีวิตตนเองเข้ากับสังคมอย่างมีจุดมุ่งหมาย
Keiffer ได้อธิบายว่ามีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการในการเคลื่อนตัวใน 4 ระยะข้างต้น คือ
1.                   การเกิดการสนทนาที่เป็นรูปธรรมสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิจารณ์
2.                   การเกิดความขัดแย้งและมองเห็นแนวทางการพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ต้องมี 3 กิจกรรมหลักที่เกิดขึ้นแบบสัมพันธ์เชื่อมต่อกัน คือ
1.                   การพัฒนามุมมองที่มีต่อตนเองในทางบวก
2.                   การพัฒนามุมมองเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว
3.                   การเชื่อมโยงทรัพยากรและศักยภาพของบุคคลและสังคมเข้าด้วยกันในกิจกรรมทางสังคมการเมือง

Swift และLevin (1987) ได้แยกแยะ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในแต่ละระดับของกิจกรรมหลักคือ
ระดับที่ 1 คือ การรับรู้และวิเคราะห์ภาวะไร้อำนาจของตนเองอย่างจริงจัง
ระดับที่ 2 คือ การรับรู้ภาวะของการไม่เสมอภาคในสังคม โดยการสร้างสรรค์กับคนในสังคมและรู้จักคนที่มีมุมมองคล้ายกัน
ระดับที่ 3 คือ การที่กลุ่มคนที่มีความรู้สึกคล้ายกัน มาทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมจนเป็นการลดความไม่เท่าเทียมในสังคมลงได้

Jackson et al (1989) ได้นำเสนอประเด็นที่สำคัญว่า การขาดพลังอำนาจเริ่มจากการที่บุคคลรู้สึกขาดอำนาจใจตัวเอง หรือชุมชนขาดความสนใจในปัญหาในชุมชนเอง แม้ว่าในความเป็นจริงทั้งบุคคลและชุมชนจะมีศักยภาพก็ตาม ดังนั้นจึงขอเสนอรูปแบบ 5 ขั้นตอนของการสร้างพลังอำนาจ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ Rissel , 1994 เห็นชอบด้วยรูปแบบนั้น คือ
การพัฒนา            การสนับสนุน      การระบุ                 การมีส่วนร่วม     การสร้างพลัง
ตนเอง                   ซึ่งกันและกัน       ประเด็น                 ผนึกกำลัง             ทางการเมือง
                                                                และรวม                                เป็นกลุ่ม                และสังคม
                                                                กลุ่มใน                   ผลักดัน                
                                                                ชุมชน                    ประเด็น
                                                                เพื่อรณรงค์
                การสร้างเสริมส่วนขาดของ                                              การสร้างเสริมพลังอำนาจ
                พลังอำนาจทางจิตใจ                                                           ในชุมชน
รูปแบบ 5 ขั้นตอนของการสร้างพลังอำนาจ (Rissel,1994 และ Jackson et al 1989)
การวัดและประเมินผลการสร้างเสริมพลังอำนาจ(Empowerment)
                Zimmermann และ Rapparport (1988) กล่าวว่า Empowerment เป็นตัวแปรที่ประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ คือ ความเข้มแข็งของปัจเจกบุคคล ศักยภาพ ระบบช่วยเหลือที่มีอยู่ในธรรมชาติ และบุคลิกภาพ แบบรุกหน้า (Proactive) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง นโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นกระบวนการที่ทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และการเข้าไปมีส่วนในชุมชนอย่างจริงจัง โดยมี
1.                   Psychological empowerment คือการแสดงออกระดับบุคคลโดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความเชื่อในศักยภาพตนเอง การยกย่องตนเอง การรับรู้สาเหตุและปัจจัยที่สำคัญ
เนื่องจากจุดเน้นของ Rapparport เป็นเรื่องของการสร้างพลังอำนาจต้องสร้างด้วยตัวเขาเอง ดังนั้น Gruber and Trickette (1987) ได้เน้นว่าการวัดพลังอำนาจ ควรดูที่ ความเชื่อในอำนาจควบคุม (Locus of Control) โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือบริบทเลย ซึ่งน่าจะพิจารณาให้คำถามมีความครอบคลุมหรือถามถึงบริบทในเชิงมุมมองหรือความเชื่อจากตัวเขาด้วย

2.                   Community empowerment หมายถึง ความเชื่อในความสามารถ
ของตนเองและสังคม การรับรู้ศักยภาพและความต้องการที่จะควบคุม
ของ คนในองค์กรและในสังคม ที่จะจัดการให้เกิดความเสมอภาค
การกระจายทรัพยากร แล้วส่งผลดีต่อสังคม
                ดังนั้นเครื่องมือในการวัดการสร้างเสริมพลังอำนาจในปัจจุบัน จึงควรครอบคลุมทั้ง 2 ระดับในเรื่อง
1.                   บุคลิกภาพ เช่น การยอมรับตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง การยกย่องตนเอง ความเชื่อในความสามารถที่จะควบคุมเหตุการณ์ด้วยตนเอง การควบคุมความบังเอิญ ความเชื่อในพลังอำนาจของผู้อื่น ความเชื่อว่าตนเองสามารถมีอิทธิพลต่อระบบสังคมการเมือง ความรู้สึกต่อตนเองที่เป็นไปในลักษณะวุฒิภาวะ การรู้จักตนเอง การเข้าใจตนเองและผู้อื่น การเข้าใจความหมายของชีวิตและความอิ่มเต็มของชีวิต
2.                   พุทธิปัญญา เช่น การรับรู้ความสามารถตนเอง ความคาดหวังในความสามารถตนเองและการเมือง ได้แก่ ความรู้สึกในการจัดการ การรับรู้ศักยภาพ ความคาดหวังในความสามารถของระบบสังคม การเมือง ความรู้สึกต่อความสามารถของระบบการเมือง
3.                   แรงจูงใจ เช่น ความต้องการที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม หน้าที่พลเมือง ความรู้สึกต่อสาเหตุที่มีความสำคัญและเป้าหมาย การเรียนรู้ ความหวัง
4.                   บริบท เช่น การเข้าไปเกี่ยวข้องในการรวมกลุ่ม การตระหนักถึงวัฒนธรรมและการกระตุ้นสิทธิ การเข้าใจความหมายของวัตถุประสงค์ของโครงการ
วิธีการวัดการสร้างเสริมพลังอำนาจ
                Israel et al (1994) ได้ทบทวนวิธีการวัดกระบวนการสร้างเสริมพลังอำนาจที่ใช้กันอยู่และเสนอแนะไว้ว่า การประเมินควรใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม(Participatory action research) ที่ต้องสอดคล้องไปกับกระบวนการสร้างพลังอำนาจที่แต่ละโครงการได้ออกแบบและตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล องค์กร หรือชุมชนก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการวิจัยประเมินผลการสร้างพลังอำนาจ โดยนักวิจัยที่หลากหลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ (พนารัตน์ เจนจบ และ คณะ,2542,สมหญิงและคณะ,2002 Gollup,2543) ได้นำเสนอการวิจัยที่เป็นการวิจัยแบบสามเส้า (Triangulative research) และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีการวัดตัวแปรของการสร้างพลังอำนาจที่เน้นการรับรู้ในอำนาจการควบคุมของตนเอง การรักและยอมรับตนเอง การรับรู้ความรับผิดชอบของตนเอง ความเชื่อในความสามารถของตนเองและการเห็นคุณค่าการกระทำที่มีประโยชน์ในสังคม เป็นต้น
การประยุกต์ใช้การสร้างเสริมพลังอำนาจ
                การประยุกต์ใช้การสร้างเสริมพลังอำนาจในระบบบริการสาธารณสุข
                การสร้างเสริมพลังอำนาจได้ถูกนำไปใช้ในระบบบริการสาธารณสุข โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นว่า คนจะมีสุขภาพดีถ้าคนๆนั้นสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เฉพาะแต่ระดับตนเอง แต่เป็นระดับสังคม สิ่งแวดล้อมและองค์กรด้วย เมื่อพิจารณาในระบบบริการสุขภาพ วัฒนธรรมการให้บริการทำให้ผู้ป่วยและญาติ ขาดพลังอำนาจและรับรู้ที่ต้องทำตามคำแนะนำแพทย์ แม้ในบางกรณี ผู้ป่วยและญาติไม่สามารถทำตามได้ ดังนั้น เราจึงพบเสมอว่าปัญหาการให้บริการของโรงพยาบาลส่วนหนึ่งคือการที่ผู้ป่วยและญาติไม่สามารถทำตามแผนการรักษาได้ ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมและสร้างบรรยากาศของโรงพยาบาลที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความรู้สึกเป็นอิสระ ยอมรับและเรียนรู้เรื่องต่างๆที่แพทย์ต้องการให้ทำ หรือเสนอแนะให้ทำ การเรียนรู้และความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การตัดสินใจและการปฏิบัติได้มากกว่าที่เป็นอยู่

                ปรัชญาการทำงานเสริมสร้างพลังอำนาจกับคนไข้ที่เสนอโดย Gibson (1991) คือ
1.                   คนไข้ส่วนใหญ่ควรต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจเรื่องรักษาพยาบาลของตนเอง

2.                   คนไข้ควรเป็นคนสำคัญสุดท้ายที่จะตัดสินใจ ในการรับการรักษาพยาบาล เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ที่จะเตรียมผู้ป่วยในการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลเข้าใจถึงผลที่จะตามมา การที่เจ้าหน้าที่จะกระตุ้นการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของผู้ป่วยได้จำเป็นต้องได้ข้อมูลบางส่วนจากผู้ป่วยด้วย การขอข้อมูลจากผู้ป่วยจะช่วยให้เกิดพลังอำนาจทางจิตวิทยาในผู้ป่วย เริ่มรู้จักตัวเอง รู้จักความรู้สึกตนเองต่อการเจ็บป่วยและการรักษาและรู้สึกถึงความสามารถในการควบคุมจัดการที่จะตัดสินใจและร่วมรับผิดชอบต่อสุขภาพ

ตามแนวคิดของ Gibson การสร้างเสริมพลังอำนาจของบุคคลเกิดจากอิทธิพลของปัจจัยภายในบุคคล เช่น ค่านิยม ความเชื่อ เป้าหมายในชีวิตและประสบการณ์ส่วนบุคคล และปัจจัยระหว่างบุคคล เช่น การสนับสนุนทางสังคม บรรยากาศรอบๆที่เอื้อให้เกิดความรู้สึกยอมรับการช่วยเหลือ ดังนั้น กระบวนการสร้างพลังอำนาจ จึงมีอยู่ 4 ขั้นตอน
1.       การค้นพบความจริง การรู้จักตนเอง
2.       การสะท้อนคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และเป็นเหตุเป็นผล
3.       การตัดสินเลือกทางออกหรือวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม
4.       การคงไว้ซึ่งพฤติกรรม
ดังนั้นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มการสร้าง

เสริมพลังอำนาจจิตวิทยา เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ เรื่องการเจ็บป่วยและการรักษา ตลอดจนเรื่องค่านิยมและความรู้สึกที่มีต่อการรักษาและวิธีการรักษาที่ได้รับ อันจะนำไปสู่การหาทางเลือกและรับผิดชอบในทางเลือกที่ตัดสินใจแล้ว

                การสร้างพลังอำนาจในชุมชน
                การประยุกต์การสร้างพลังอำนาจในชุมชน มักทำคู่ไปกับการกระตุ้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยมีส่วนร่วมโดยมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ การมีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน โดยใช้กิจกรรมหลักคือ 1) การมีส่วนร่วม 2)การเรียนรู้ร่วมกัน3)การสะท้อนความรู้สึก บทเรียนในเชิงวเคราะห์วิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผล 4)การทำกิจกรรมกระบวนการสร้างพลังอำนาจให้เกิดให้เกิดในระดับจิตวิทยาบุคคล องค์กรและกลุ่มหรือชุมชน(Israel 1994)
                จากประสบการณ์การทำงานในประเทศ Scotland ได้สรุปบทเรียน ในเวปไซด์ http://www.scotland.gov.uk ว่าการสร้างพลังอำนาจชุมชนเป็นไปได้ทั้งแบบไม่เป็นทางการและเป็นทางการ แบบเป็นทางการคือการที่ชุมชนมีบทบาทและมีอำนาจการตัดสินใจที่เป็นที่ยอมรับจากภาครัฐ แบบไม่เป็นทางการคือการที่ชุมชนมีศักยภาพในการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระจากระบบหรือกระบวนการของภาครัฐ

                ในทำงานทั้งสองรูปแบบ พอสรุปได้ว่า ระดับการมีพลังอำนาจของชุมชนสามารถเรียงจากน้อยไปมาก โดยดูลักษณะกิจกรรมของชุมชนได้ดังนี้
1.       การมีข้อมูลข่าวสาร ชุมชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีการตัดสินใจไปแล้ว
2.       การปรึกษาหารือ ชุมชนได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ความเห็นของชุมชน อาจจะมีหรือไม่มีผลต่อการตัดสินใจก็ได้
3.       การมีส่วนร่วมแบบเป็นทางการ ชุมชนได้มีการระบุหรือส่งตัวแทนให้เข้าไปมีบทบาทในการตัดสินใจ
4.       การมีอำนาจตัดสินใจ ชุมชนมีสิทธิที่จะตัดสินใจเพื่อตนเอง และมีวิธีการที่จะดำเนินการตามที่ตัดสินใจ
การมีพลังอำนาจในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะเกิดขึ้น
ได้ขึ้นกับความสามารถในการรวมกลุ่มของชุมชนเองจึงมักเรียกกันว่า ต้นทุนทางสังคม (Social capital) ชุมชนจะไม่สามารถมีอำนาจแบบเป็นทางการ ถ้าชุมชนไม่สามารถชี้ประเด็นที่สนใจ หรือเกี่ยวข้องกับผู้อื่นได้ ในขณะเดียวกัน ชุมชนก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ถ้าสมาชิกในชุมชนไม่มีทักษะในการรวมกลุ่มและการสื่อสาร ดังนั้นการสร้างพลังอำนาจในชุมชน จึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมการรวมกลุ่ม การฝึกทักษะการเรียนรู้และการสื่อสาร นั่นเอง
                                บทสรุป
                                การสร้างพลังอำนาจ ได้มีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนพอสรุปเป็นแนวเดียวกันได้ว่า การสร้างพลังอำนาจเป็นกระบวนการไม่ใช่กิจกรรมอย่างที่ใช้กันอยู่ แนวคิดนี้มีความทันสมัยของแนวคิดในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ อยู่ที่การมองการเปลี่ยนแปลงในสองระดับ คือ บุคคล และ องค์กรหรือสังคม นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การวัดและการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้กระบวนการสร้างเสริมพลังอำนาจ ไม่ว่าจะนำไปใช้ในระดับใด การวัดการเปลี่ยนแปลงควรทำทั้งสองระดับ ดังนั้นในการนำไปใช้ไม่ว่าจะเป็นบริบท ของชุมชน องค์กร โรงเรียน โรงพยาบาล ผู้ใช้ควรที่จะออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับทฤษฎีที่มีความเป็นกระบวนการ และควรออกแบบเครื่องมือวัดและกิจกรรมการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับกระบวนการสร้างเสริมพลังอำนาจ ที่กล่าวมาแล้วด้วย

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22229เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2006 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ได้อ่านเนื้อหาเรื่องการสร้างพลังอำนาจแล้วค่ะ  ขอบคุณมากที่ post ให้ความรู้แก่คนทั่วไป  ขออนุญาตเอาเนื้อหาวิชาการนี้ไปใช้ในการทำงานและการสอนคนอื่นได้หรือไม่คะ  เป็นวิทยาทานค่ะ

 

 

ขอบคุณมากสำหรับวิทยาทาน  ต้องการเนื้อหาแบบนี้มานาน ขออนุญาตนำไปใช้ประโยชน์ในที่ทำงานและในการศึกษานะคะ 
ทรงยศ สสอ.ดอยสะเก็ด

ขออนุญาตนำข้อมูลที่นำเสนอนี้ไปใช้นะครับ

ขอบคุณมากสำหรับเนื้อหา ขออนุญาตนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนนะคะ (ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจะติดต่อกลับมานะคะ )

เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ ขออนุญาตินำไปใช้ในงานนะค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

เป็นข้อเขียนที่มีประโยชน์มากค่ะ อยากรบกวนขอ reference ด้วยได้ไหมคะ

ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

อาภา ยังประดิษฐ

ขอบคุณมากที่มีข้อความนี้ ขออนุญาตนำไปนำเนื้อหาไปใช้ในการปฏิบัติของพื้นที่ของตัวเองคะ

เป็นประโยชน์มากค่ะ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อค่ะ ขอบคุณมาก

ขออนุญาติน่าไปเผยแพร่ต่อค่ะ

ขออนุญาตินำไปเผยแพร่นะครับ

ขออนุญาตใช้ข้อความบางส่วนเพื่องานวิจัยครับ

ขอบคุณมากๆๆนะค่ะ กระจ่างแจ้งมากค่ะ มีคุณประโยชน์มากมายค่ะ ขออนุญาตนำไปใช้ในการทำงานนะค่ะ

ขออนุญาตสอบถามนะคะ ไม่ทราบว่าพอมีตัวอย่างนวัตกรรมการสร้างพลังอำนาจของชุมชนในงานสาธารณสุขไหมคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท