ฝึกเขียนข้อมูลสารคดีและฝึกนำเสนอเรื่องราวจากภาพถ่าย


"....เรื่องอย่างนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สะสมบทเรียนจากประสบการณ์ จึงต้องพึ่งตนเองเพื่อมีน้ำอดน้ำทนให้มากที่สุด หลายเรื่องจึงต้องแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส บูรณาการเข้าสู่งานที่ต้องลงมือปฏิบัติ ให้ได้งานและได้พัฒนาทางด้านอื่นๆให้ลึกซึ้งต่อเนื่อง ..."

             ผมมีความจำเป็นต้องทำงานด้วยทีมซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด  แต่ต้องการทำงานหลายด้านให้ดีขึ้นและบางเรื่องเราต้องการความเป็นสุดยอดเลย อย่างน้อยก็ของประเทศและในอนุภูมิภาค ทั้งทางด้านวิจัยชุมชน การจัดอบรม การถ่ายทอดวิทยาการ การจัดการสื่อสารเรียนรู้ และขยายผลการวิจัยในด้านที่เราเล่นสู่สังคม

ความสำคัญของการพัฒนางานและพัฒนาตนให้พึ่งตนเองได้ก่อนเสมอ

            เรื่องอย่างนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สะสมบทเรียนจากประสบการณ์  จึงต้องพึ่งตนเองเพื่อมีน้ำอดน้ำทนให้มากที่สุด  หลายเรื่องจึงต้องแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส  บูรณาการเข้าสู่งานที่ต้องลงมือปฏิบัติ  ให้ได้งานและได้พัฒนาทางด้านอื่นๆให้ลึกซึ้งต่อเนื่อง   เช่น

  • การทำงานเชิงวิชาการด้วยตนเองที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
  • การเรียนรู้และเพิ่มพูนความรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาทั้งในเชิงลึกและความรอบด้าน ไม่หลุดจากวงจรความรู้ที่จำเป็น
  • การเรียนรู้ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พอเท่าทันโลก ทันสถานการณ์ทั้งในท้องถิ่นและของโลก
  • การแลกเปลี่ยนสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กลุ่ม และองค์กร
  • การเป็นแหล่งวิทยาการ ให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนและสังคมทั่วไป เมื่อสังคมต้องการเสริมทางวิชาการ หากไม่หันหน้าพึ่งคนมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้จะให้ไปพึ่งใคร จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพตนเองให้ทำหน้าที่ตรงนี้ในส่วนที่เรารู้และทำได้
  • การเก็บรวบรวบข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของตนเองอย่างตลอดรายทาง  ทำไปก็งอกงามทางความรู้และมีภูมิปัญญานำการปฏิบัติ

          การบรรลุผลการทำงานและสามารถบูรณาการการพัฒนาคน  และพัฒนาทีมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ไปด้วย  จะทำให้ได้กลุ่ม และเครือข่ายสหสาขาวิชาที่ทำงานได้อย่างผสมผสาน พึ่งตนเองได้ดี มีกระบวนการตัดสินใจด้วยตนเองและมีการใช้วิจารณญาณเข้าช่วยการทำงานได้สูง มีความเป็นพลวัตร สนองตอบความจำเป็นและเผชิญสถานการณ์ต่างๆในนามขององค์กรได้ดี  ซึ่งงานหลายอย่างในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีคนบางส่วนทำงานได้อย่างนี้

         แต่โดยทั่วไป การพัฒนาคนจะมีข้อจำกัด มักแยกส่วน การส่งเสริมให้ทีมที่พอมีพื้นความสนใจอย่างนี้พัฒนาตนเองขึ้นมาได้ จึงควรจะต้องพัฒนาขึ้นจากการทำงานประจำต่างๆ ขององค์กรนั้นๆนั่นเอง ซึ่งงานด้านสื่อ การประชาสัมพันธ์ โสตทัศนศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษา ก็จำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดและกลวิธีที่สะท้อนขึ้นจากธรรมชาติของงาน

ทำงานถ่ายภาพและภาพถ่ายให้เป็นงานสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีพลัง

         การฝึกเขียนข้อมูลสารคดีและฝึกนำเสนอเรื่องราวจากภาพถ่าย  เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เราสามารถแปรการทำงาน ให้เป็นการพัฒนาการเรียนรู้และสร้างคนทำงานได้อย่างต่อเนื่องจากงานประจำ แปรการลงมือให้เป็นปฏิบัติการทางความรู้ เก่งบูรณาการ คือ เก่งการแปรสิ่งต่างๆไปสู่การปฏิบัติ และสะสมทักษะทางวิชาการ เพิ่มพูนไปตามประสบการณ์การทำงาน กล่าวคือ.........

  • ริเริ่มจากฐานการปฏิบัติ จากการเป็นมือถ่ายภาพ หรือต้องถ่ายภาพ จัดเก็บข้อมูลภาพ ก็เพิ่มบทบาทให้บรรยายภาพ และนำภาพถ่ายไปทำเป็นสื่อ เผยแพร่สื่อสาร และประชาสัมพันธ์ ในโอกาสต่างๆได้มากขึ้น
  • ทำงานข้อมูลแปรภาพถ่ายให้เป็นทุนสื่อสารเรียนรู้ หากเริ่มต้นที่มีข้อมูลภาพแต่เขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆไม่ได้ด้วยตนเอง  ควรเริ่มให้เขียนบรรยายภาพ โดยมีโครงเรื่องและองค์ประกอบเบื้องต้น สำหรับพัฒนาขึ้นจากสิ่งที่ทำได้อยู่เดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

               (๑)  พรรณาข้อมูลเชิงเทคนิคการถ่ายภาพ  นอกจากจะทำให้การเก็บข้อมูลภาพเป็นระบบแล้ว  ในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายของผู้อื่น ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้  เช่น การบอกระยะทางและทางยาวโฟกัสที่ใช้  ก็จะทำให้ผู้อื่นประมาณขนาดความเป็นจริงในภาพว่าเกิดจากเทคนิคกล้องดึงภาพใกล้-ไกล หรือสภาพความเป็นจริง ประมาณเวลา รวมทั้งข้อมูลอุปกรณ์

               (๒) การพรรณาเนื้อหามิติต่างๆของภาพ  แนวคิด ประเด็นความสนใจ หรือความสำคัญของเรื่องราวอันเป็นที่มาของการบันทึกภาพดังกล่าว  ภาพดังกล่าวแสดงข้อเท็จจริงอะไรและอย่างไร

              (๓) การแสดงข้อสังเกตและสะท้อนการเห็นของเราเอง ว่าจากภาพดังกล่าวนั้น เราเห็น ก่อเกิดการเรียนรู้  เห็นความหมายความสำคัญ  ได้ความคิด ได้ความรู้ ได้ทรรศนะที่ดี อย่างไรบ้าง  ภาพดังกล่าวให้เรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจอย่างไร

  • เขียนบรรยายภาพ และทำเป็นแผ่นภาพ  เป็นเรื่องราวจำเพาะเบ็ดเสร็จเป็นภาพๆไปก่อน
  • จัดกลุ่มนั่งฟังการพูดนำเสนอ  ถ้าจะให้ดี  ควรจัดเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการประชุมทีม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมการทำงาน  ทำให้เป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้เป็นกลุ่ม
  • ให้นำเสนอและบรรยายให้หัวหน้าฟัง หากมีข้อจำกัด ก็จัดให้นำเสนอต่อหัวหน้าทีม ซึ่งต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยงหรือ Facilitator แทนการเป็นหัวหน้าแบบใช้อำนาจ  กำกับควบคุม  และคอยตรวจสอบแต่ผลงานขั้นสุดท้าย
  • ส่งเสริมภาวะผู้นำเชิงความรู้ในงาน  สักระยะหนึ่ง ทีมจะมีภาวะผู้นำทางวิชาการ ใช้ความรู้ สร้างความรู้ และพัฒนาวิธีคิด ขึ้นจากการทำงาน ปรากฏออกมาได้ดีขึ้น บางคนที่สอดคล้องกับลักษณะความมุ่งมั่นส่วนตนอยู่แล้ว ก็จะเปล่งประกายออกมาอย่างเด่นชัด
  • สร้างสรรค์และยกระดับงาน ริเริ่มมิติใหม่ๆของงานยกระดับจากสิ่งที่ทำได้ ให้นำไปใช้ประโยชน์ต่องานขององค์กรให้มากขึ้น เช่น ทำชุดนิทรรศการ  ทำสื่อนำเสนอซึ่งต้องทำข้อมูลและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆด้วยตนเอง การได้สะท้อนลงสู่ชิ้นงาน จะได้ทั้งผลงานที่ดีมากขึ้นเป็นลำดับ และรองรับการผสมผสานทุกอย่างให้ปรากฏผลทางการปฏิบัติ  ที่เห็นและเรียนรู้ตนเองได้อย่างดีที่สุด

พัฒนทบทบาทหัวหน้าและผู้นำให้เป็นกระบวนกรเพื่อดึงภาวะผู้นำเป็นกลุ่มขึ้นมาจัดการชุมชนผู้ปฏิบัติด้วยกัน

         พี่เลี้ยงหรือหัวหน้าทีม จะมีบทบาทต่อการส่งเสริมและขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้น  โดยทำบทบาทหน้าที่สำคัญ เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นผู้บริหารจัดการเชิงอำนาจ ให้เป็นผู้กำกับและเกื้อหนุนกระบวนการเรียนรู้จากการทำงาน และเป็นผู้นำองค์กรแบบหนุนเสริม คือ

  • เป็นหลักใจของทีม อดทนและหนักแน่นอย่างไม่มีขีดจำกัด ถือหลักพรหมวิหารธรรมให้แก่ทีม คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา  รวมทั้งอาจต้องใช้หลักอหิงสาและธรรมะของการครองตนของคฤหัสถ์อย่างหนักแน่น  โดยเฉพาะหลัก ทมะ : การข่มใจ หลักขันติ : ความหนักแน่นเยือกเย็น  การภาวนาเพื่อคลายตัวตน  ซึ่งมากมายหลายเรื่อง  หลักธรรมและข้อคิดของท่านพุทธทาสจะนำมาใช้ได้มากคือ หากวางตัวตนได้และทำให้งานของทีมดี ก็จำเป็นต้องวางตัวตนลงด้วยหลักว่า "อย่างมากเขาก็ว่าเราโง่" จะรู้สึกแย่กับตนเองมากในตอนต้นๆ  แต่ในระยะยาว และในภาพรวมที่เกิดต่อขององค์กรแล้ว เรื่องแบบเส้นผมบังภูเขาอย่างนี้กลับจะให้ผลดีและงดงามอย่างมาก 
  • เป็นฐานให้ยืน(และต้องสามารถเหยีบย่ำได้โดยไม่เป็นอันตรายเหมือนไปทำกับโลกภายนอก) ให้โอกาส เปิดรับ และรับฟัง พัฒนาการฟังที่สามารถสร้างคน....ย้ำครับ  "การฟังเพื่อสร้างคน"  ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ
  • เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ปกป้อง ให้ความถูกต้องที่อิงงานผู้ปฏิบัติ ให้ความมั่นใจ และให้ความวางใจว่าจะมีหัวหน้ารับผิดชอบเรื่องต่างๆให้
  • เป็นสิ่งแวดล้อมเพื่อกล่อมเกลาค่านิยมและความงอกงามทางจิตวิญญาณ ส่งเสริมค่านิยมในการเรียนรู้ หมั่นแสดงทรรศนะและค่านิยมที่จำเป็นขององค์กร ปลูกฝังวิธีคิดวิธีมองสรรพสิ่งในทางสร้างสรรค์ มีอุดมคติและทะเยอทะยานร่วมทำสิ่งที่ดีกว่าเดิมด้วยตนเอง  แม้จะต้องทำอย่างน่าเบื่อ  จนเบื่อตนเอง  ก็ต้องถือเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง  สอดแทรกไปในโอกาสต่างๆ
  • สร้างโอกาสและกำกับจังหวะ จัดเวทีเรียนรู้เป็นกลุ่ม และสร้างโอกาสในการใช้ประสบการณ์  ให้การทำงานเชื่อมคนทำงานเข้ากับองค์กรด้วยตัวเขาเองได้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ 

ผลดีทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย ทั้งของปัจเจกและส่วนรวม

         กระบวนการดังกล่าว ทำให้กลุ่มและทีม ที่สามารถทำงานแบบทีมสหสาขา และทีมที่มีความบูรณาการ พัฒนาการเป็นชุมชนเรียนรู้ไปด้วย ทำงานให้มีมิติเพิ่มพูนความรู้และการเรียนรู้องค์กร  ผุดประเด็นและตั้งต้นเรื่องเพื่อริเริ่มและออกเดินด้วยตนเอง เข้าสู่วงจรการทำข้อมูล ศึกษาค้นคว้า และสะท้อนงานวิชาการเข้าสู่งานปฏิบัติได้มากยิ่งๆขึ้น ทำให้ได้ทีมที่เก่งการปฏิบัติได้รอบด้าน ยิ่งอาวุโสก็ยิ่งเก๋า 

          หลายคนที่ผมพาฝึกโดยวิธีนี้ก็กลายเป็นนักวิชาการโสต นักวิชาการฝึกอบรม นักวิชาการศึกษา และทีมบริหารจัดการโครงการที่เก่งและพึ่งตนเองทางวิชาการได้ดี แก่กร้าและทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้นไปตามความอาวุโส สอดคล้องกับข้อจำกัดมากมายของภาครัฐที่อาจแก้ไขได้หากไม่ยอมจำนนกับปัญหา  บางคนออกไปเป็นมืออาชีพในวงการสื่อ  เจ้าของกิจการองค์กรจัดอบรม  และออร์แกไนเซอร์ในการจัดอีเว้นท์ไปเลย เป็นผลดีต่อส่วนรวมในทุกที่ที่ไป

          การทำอย่างนี้ ทำให้งานปฏิบัติการ  มีคนทำงานระดับวางแผนที่ผสมผสานกับการเป็นผู้คลุกคลีอยู่กับการปฏิบัติงานประจำ  อีกทั้งสามารถพัฒนาโครงการซึ่งบางงานจะพึ่งผู้อื่นให้ทำให้ได้ยากเพราะมีรายละเอียดทางเทคนิคจำเพาะ และประสานเครือข่ายความร่วมมือแบบสหวิทยาการได้ดีมาก

          เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยทำให้สมาชิกการทำงานขององค์กร เกิดการพัฒนาเป็นคนทำงานปฏิบัติที่สมาร์ท พูดคุยแลกเปลี่ยน และนำเสนอแนวคิดการทำงานกับคนต่างสาขาได้รู้เรื่อง ทำให้คนเดินเข้าหากันและทวีคูณพลังความเชี่ยวชาญกัน เป็นพลังทำงานฝ่าข้อจำกัดต่างๆได้มากขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 220868เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2008 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อาจารย์ครับ

ผมเคยเขียนเรื่องราวการเขียนสารคดี แบบคุณอรสม ที่นี่ครับ http://gotoknow.org/blog/fortune/206745

เยี่ยมไปเลย อันที่จริงทักษะและแนวทางแบบคุณจตุรพร ก็เหมาะมากสำหรับนักปฏิบัติและคนทำงานชุมชน ขอแนะนำแก่ผู้สนใจนะครับ

การพัฒนาทีมสหวิชาชีพเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความสามารถที่รอบด้านและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เปลี่ยนจากข้อจำกัดในการขาดแคลนบุคลากรไปสู่โอกาสในการพัฒนาศักยภาพของทีมงาน ทำให้หลุดจากกรอบเฉพาะงานในตำแหน่งหน้าที่ หรือการทำงานตามคำสั่ง พัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์งานที่เหมาะกับจริตและความสามารถของแต่ละคน เป็นหนทางในการค้นพบตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย

อยากให้มีการพัฒนาอย่างนี้มาก ๆ ในหมู่คนทำงานทั้งหลาย..

มาชื่นชมและขออนุญาตเรียนรู้จาก อ.วิรัตน์ผ่านบันทึกทั้งหลายใน gotoknow นะคะ..^__^..

 

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง คุณใบไม้ย้อนแสงนี่ก็สุดยอดเลยนะ การวางคอนเซ็บ ทำข้อมูล และตีข้อมูลไปสู่สคริปต์ VTR งานเขียนสารคดี และละครเวที ต้องถือว่าสุดยอด เป็นแนวการทำงานที่กำลังพูดถึงเลย

วันอาทิตย์ ที่ 9 พฤศจิกายน 2551 นี้ กลุ่มนักวิจัยชาวบ้านที่ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม จะเอาเรื่องชุมชนมาเป็นโอกาสนั่งคุยและเสวนากันแบบสบายๆ เขาโทรมาชวนไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจ มีหมอปกรณ์ไปช่วยดูกระบวนการให้ หากผ่านไปทางโน้นและสนใจก็อาจได้ไปเจอกันที่เวทีของชุมชนนะครับ คิดว่าจะไปอยู่เหมือนกัน

ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยค่ะ..

ประทับใจมากกับหลักขันติที่อาจารย์ เขียนว่า :

หลักขันติ : ความหนักแน่นเยือกเย็น  การภาวนาเพื่อคลายตัวตน  ซึ่งมากมายหลายเรื่อง  หลักธรรมและข้อคิดของท่านพุทธทาสจะนำมาใช้ได้มากคือ หากวางตัวตนได้และทำให้งานของทีมดี ก็จำเป็นต้องวางตัวตนลงด้วยหลักว่า "อย่างมากเขาก็ว่าเราโง่" จะรู้สึกแย่กับตนเองมากในตอนต้นๆ  แต่ในระยะยาว และในภาพรวมที่เกิดต่อขององค์กรแล้ว เรื่องแบบเส้นผมบังภูเขาอย่างนี้กลับจะให้ผลดีและงดงามอย่างมาก 

รวมถึงการเป็นหัวหน้างานที่ยอมเสียสละให้ผู้ร่วมงานเหยียบย่ำหรือกระทบกระทั่ง เพื่อให้เขาได้เติบโต ดังที่อาจารย์เขียนว่า :

  • เป็นฐานให้ยืน(และสามารถเหยีบย่ำได้โดยไม่เป็นอันตรายเหมือนไปทำกับโลกภายนอก) ให้โอกาส เปิดรับ และรับฟัง พัฒนาการฟังที่สามารถสร้างคน....ย้ำครับ  "การฟังเพื่อสร้างคน"  ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ 
  • เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงคนอื่นเท่านั้นที่ได้โอกาสเติบโต ทว่าตัวอาจารย์เองกลับเติบโตภายในมากยิ่งกว่า..

    ไม่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ แต่อาจารย์ย่อมรับรู้ได้ดีกว่าใคร..

    สาธุค่ะ..

    ...ขอให้เรียนรู้การถูกกระทบเพื่อยกระดับปัญญาอย่างเบิกบานนะคะ..^__^..                            

    ยินดีค่ะถ้าจะได้พบอาจารย์ที่วัดมะเกลือ

    ใบไม้คิดว่าชาวบ้านคงจะดีใจ ถ้าเห็นอาจารย์ไปเยี่ยมเป็นกำลังใจ ทางชุมชนเขาเป็นตัวตั้งตัวตีลุกขึ้นมาจัดงานพูดคุยนี้กันเองนะคะ และตั้งประเด็นพูดคุยเองด้วย เพียงแต่หมอปกรณ์ช่วยไปเป็นวิทยากรกระบวนการให้เท่านั้นเอง เจ้าของเวทีตัวจริงคือชาวบ้านค่ะ

    วันนั้นใบไม้พาช่างภาพวีดีโอไปถ่ายทำเก็บภาพไปทำสารคดีด้วยค่ะ และช่วงบ่าย พอให้แดดร่มลมตก จะลงเรือไปเก็บภาพวิถีชีวิตชุมชนริมคลองด้วยค่ะ

    หวังว่าคงได้พบอาจารย์เวทีชุมชนนะคะ ..^__^..

    ตั้งใจว่าจะไปครับ ที่นั่นมีย่านชุมชนเก่า อยากแวะเวียนไปเก็บภาพไว้เป็นระยะๆด้วยเหมือนกันครับ

    "การเติบโตภายใน" กับ "ความเบิกบานทางปัญญา" นี่ ให้วิธีคิดที่ดีนะครับ ชอบ-ชอบ

    การปรากฏตัวของอาจารย์วันนี้ที่เวทีพูดคุยของชุมชนมีคุณค่าและหมายมากอย่างยิ่งเลยค่ะ

    แกนนำชาวบ้านบอกว่า เป็นกำลังใจให้แก่เขามาก ๆ เลยค่ะ

    ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่อาจารย์พูดในเวทีได้ให้แง่คิดแก่ชุมชน ให้เห็นถึงทุนทางสังคมที่เขามีอยู่ ประสบการณ์การทำงานที่อาจารย์บอกเล่าจุดประกายให้เกิดการรวมกลุ่มทำงานที่ยืดหยุ่นและขับเคลื่อนด้วยพลังในใจ 

    ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสักขีพยานผู้ร่วมในเหตุการณ์วันนี้ มีความสุขค่ะ ที่ได้เห็นแกนนำชุมชนมีพลังกลับมาทำงานอีกครั้ง ได้เห็นดวงตาที่เป็นประกาย และรอยยิ้มจากหัวใจที่พองโต

    ขอบคุณมาก ๆ  ค่ะ อาจารย์ ..^__^..

    การมีเครือข่ายทางวิชาการ คนสร้างความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนวิทยาการ-ทักษะการคิดและการจัดการเป็นกลุ่ม ลงไปปฏิสัมพันธ์กับชุมชน อย่างที่คุณใบไม้ หมอปกรณ์ และหลายคนจากมหาวิทยาลัยมหิดล กับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ก็ลงไปกันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นการสานพลังทางปัญญากันของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยมีหน่วยทางสังคมเล็กๆ ระดับชุมชนรองรับ ผมว่าเป็นเรื่องดีและมีความหมายมากนะครับ

    รูปแบบนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่กำลังพอเหมาะ สังคมของเรามักมีช่องว่างและความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นมากมายอยู่เสมอ ช่องว่างทางการคิดและช่องว่างทางความรู้ ก็มากมายมหาศาล บางเรื่องที่จำเป็นต้องอยู่ในวิถีชีวิตและแก้ปัญหาสารทุกข์สุขดิบ ก็มักจะเลยความเป็นจริงของสังคมไปมากมาย การไปค่อยๆพากันคิด ค่อยๆพากันทำ ทว่า เกิดกระบวนการเรียนรู้และมีวิธีทำกันเอง ค่อยๆยกระดับไปตามศักยภาพของชุมชนและกระทั่งดำเนินไปจนเหมือนเป็นมหาวิทยาลัยเปิดของประชาชน ก็น่าจะเป็นโอกาสเกิดสิ่งดีๆ อีกเยอะ

    มองทางด้านวิชาการ ผมก็สนุกและมีความสุขครับ การทำงานแนวนี้ ทั้งเรื่องการวิจัย การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการสื่อสารเพื่อสร้างพลังการเรียนรู้ ยังมีเรื่องให้ศึกษาเรียนรู้และพัฒนาขึ้นกับชุมชนได้อีกมากมาย ชื่นชมและดีใจที่ได้เจอคุณใบไม้ หมอปกรณ์ และทีม ครับ

    ยืดอกพกถุง .. ที่ทางสะอาด ^^

    (เวทีรวมพลคนริมคลอง : คนรักษ์ถิ่น .. 9 พฤศจิกายน 51 วัดมะเกลือ)

     

    นี่แกต้องติดกินหมากน่าดูเลยนะนี่

    • ตามมาเรียนรู้ด้วยคนครับ
    • ภาพนี้ชื่อ
    • คุณครูสู้จนวินาทีสุดท้าย
    • ฮ่าๆๆ
    • อาจารย์สบายดีไหมครับ
    • สวัสดีครับอาจารย์ขจิต สบายดีพอทนครับ ฮ่า
    • รูปล่างขวาสุดนี่คล้ายเจ้าสังเวียน มือวิทยากรกระบวนการของ SIF และเครือข่าย พอช ภาคตะวันตกเลยนะนี่
    • เห็นกิจกรรมแล้ว นึกถึงตอนทำกระบวนการกลุ่มให้กับอาสาสมัครโครงการเอดส์ เลย เป็นการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ให้กันด้วยเสียงหัวเราะและความเป็นเพื่อนกันที่ดีจริงๆ
    • ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายและเยี่ยมยามกัน
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท