วิธีสร้างความสำเร็จ (ตอนจบ)


            ข้อที่ 3  นิโรธ  คือความดับทุกข์  ในทางธรรมนั้น  ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง  ทุกข์ดับหมดไป ชื่อว่า นิโรธ  อธิบายง่าย ๆ ก็หมายถึงผลที่ต้องการไปถึง  ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า เป้าหมาย นั่นเอง  การกระทำใด ๆ ก็ตามต้องมีเป้าหมาย  เพราะถ้าไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนดีก็เท่ากับทำไปโดยไร้ทิศไร้ทาง และอาจพลาดพลั้งเดินทางผิดได้  ถ้าต้องการมีชีวิตที่ชัดเจนก็ต้องมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนและดีงาม 

หลายคนที่ปล่อยชีวิตไปวัน ๆ อย่างไร้ค่า  ดำเนินชีวิตตามแต่เหตุการณ์จะพาไป  จึงรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคงและไม่มีค่าเท่าไร  ลองกำหนดตัวเองให้ชัดเจนสิว่าชีวิตนี้เราต้องการอะไร แล้วพยายามไปให้ถึง  จะรู้สึกว่าวันเวลาแต่ละขณะนั้นมีค่า  ชีวิตนั้นมีความหมายก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า เป้าหมาย นั่นเอง 

นี่กล่าวถึงเป้าหมายสูงสุดในชีวิตกันเลยทีเดียว  แต่ระหว่างนั้นจะมีเป้าหมายย่อย ๆ ระหว่างทาง คือสิ่งที่เราประสงค์ย่อย ๆ ลงไปในรายละเอียด  แต่ว่าต้องไม่ผิดไปจากทิศทางของเป้าหมายหลักที่กำหนดไว้นะ  แล้วพยายามทำให้สำเร็จอย่างดีงามให้จงได้  เมื่อยังไม่สำเร็จก็จงอย่าท้อถอย  แล้วจงใช้ความผิดนั้นเป็นบทเรียนแก้ไขไปสู่ความสำเร็จ  เพราะว่าความล้มเหลวเป็นรากฐานของความสำเร็จ  และความสำเร็จเล็ก ๆ เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่  ดังที่เราทราบกันดีว่า

ปราสาทไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

 

นี่กล่าวถึงการที่เราต้องแจ่มชัดในเป้าหมายว่าเราประสงค์สิ่งใดกันแน่เสียก่อน  ซึ่งเป้าหมายอันเป็นตัวผลนั่นเองจะเป็นตัวเชื่อมโยงบ่งบอกไปถึงอริยสัจข้อสุดท้ายต่อไป

 

            ข้อที่ 4  มรรค  คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์   มรรค  แปลว่า  ทาง  ได้แก่วิธีการนำไปสู่เป้าหมาย คือความสำเร็จที่ประสงค์นั้นนั่นเอง  แต่ว่าต้องเป็นอริยมรรคคือหนทางอันประเสริฐด้วยนะ  เพราะว่าเป้าหมายหนึ่งๆ นั้นมีหลายทางที่จะนำไปถึงได้   แต่ทางไหนล่ะที่ไปถึงอย่างถูกต้องดีงามตามกฎกติกา  ไม่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม อันนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน  นั่นละคืออริยมรรค 

เราต้องพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นถ่องแท้เสียก่อน  แล้วจึงลงมือปฏิบัติงานนั้นให้สำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนไป  จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย   นิโรธเป็นตัวผล  ส่วนมรรคเป็นตัวเหตุ  สรุปง่าย ๆ ก็คือ เข้าใจในเหตุและผลของงานอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งนั่นเองว่า  ผลที่มุ่งหวังนั้น  จะต้องมีเหตุปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบอะไรบ้าง  จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จแล้วลงมือทำตามนั้น 

เพราะว่า  สิ่งใดไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย  แม้อยากให้เกิดมันก็ไม่เกิด  แต่ว่าสิ่งใดที่มีเหตุและปัจจัยพร้อมมูลแล้ว  แม้ไม่อยากให้เกิดมันก็ต้องเกิด  

ที่พูดกันจนคุ้นหูว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด นั่นเอง  เพราะทุกสิ่งมันมีเหตุปัจจัย  ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอย ๆ ถ้าไม่อยากให้เกิดก็อย่าไปสร้างเหตุปัจจัยนั้น ๆ  ขึ้น  คือต้องคิดก่อนทำ  แต่ถ้าทำแล้วค่อยคิด  ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะเหตุปัจจัยมันพร้อมมูลเสียแล้ว   ก็เลยต้องก้มหน้ารับผล (กรรม)กันไป  ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของเหตุ-ผลทั้งสิ้น   ทั้งจักรวาลก็มีแค่เรื่องของเหตุ-ผลนี่ละ  ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งก็แก้ทุกข์ (ปัญหา) ได้   จนถึงดับทุกข์ได้สิ้นเชิง  คือ ถึงมรรคผลนิพพานกันได้เลยทีเดียว   เหมือนกับที่พระอัสสชิ  กล่าวแก่อุปติสสมาณพ (พระสารีบุตรก่อนบวชเป็นภิกษุ)  ว่า  สิ่งใดเกิดแต่เหตุ  สิ่งนั้นดับเพราะเหตุดับ  พระตถาคตเจ้าตรัสอย่างนี้  เท่านั้นแหละ  อุปติสสะ ก็บรรลุโสดาบัน  เพราะแจ่มแจ้งในเหตุและผลนั่นเอง

            ประชาชนก็สามารถนำเอากระบวนการแก้ปัญหาแบบพุทธ (กระบวนการแห่งเหตุและผลที่แท้จริง)มาใช้สืบสาวหาเหตุปัจจัยในการแก้ปัญหาได้  เช่น  ฝนไม่ตก! ชาวบ้านบางกลุ่มก็พากันแห่นางแมวขอฝน  เพราะไม่แจ่มแจ้งในเหตุปัจจัย  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ท่านทรงพระปรีชาสืบสาวหาเหตุปัจจัยจนแจ่มชัด และสามารถจัดสรรเหตุปัจจัยจนพร้อมมูลให้ฝนตกได้  ที่เรียกว่า ทำฝนเทียม  นี้ก็เพราะพระองค์ท่านทรงเข้าใจในเรื่องของเหตุและผลนั่นเอง 

            แม้แต่ นักเรียนนักศึกษาก็ต้องใช้ธรรมะหมวดนะ  ไม่ใช่ว่าพอจะสอบเอ็นทรานส์ก็ไปบนบานศาลกล่าวซะทั่วไปหมด  มันใช่เหตุปัจจัยกันซะเมื่อไร  สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นท่านไม่ได้มานั่งเรียนกับเราด้วยสักหน่อย  แล้วท่านจะช่วยเราได้อย่างไรเล่า   เมื่อกลัวสอบไม่ติด (ทุกข์-อริยสัจข้อที่ 1)  ก็แสดงว่านั่นเป็นปัญหาของเรา  ก็เข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาขั้นที่ 1  แล้ว  คือกำหนดรู้ทุกข์ให้แจ่มชัด  จากนั้นก็สืบสาวหาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย-อริยสัจข้อที่ 2)ให้เจอ   เพราะเกียจคร้านใช่ไหม ?  หรือเพราะอ่อนวิชาอะไร ? ฯลฯ  หาให้เจอ  แล้วแก้ไขเสีย  ต่อไปก็กำหนดเป้าหมายให้แน่ ๆ ว่า   ตกลงเราต้องการจะเป็นอะไร  คือต้องสอบเอ็นทรานส์ติดคณะไหน (นิโรธ-อริยสัจข้อที่ 3 )  จากนั้นก็กำหนดวิธีการได้ละว่าต้องทำคะแนนได้เท่าไหร่  อย่างไร  (มรรค-อริยสัจข้อที่ 4)  จึงจะสมปรารถนา  แล้วลงมือปฏิบัติตามนั้นด้วยความพากเพียรและไม่ประมาทจนกว่าจะสำเร็จ 

กล่าวย้ำกันอีกครั้งว่า  อริยสัจข้อแรกขึ้นต้นด้วยทุกข์(ปัญหา)  อย่าหนีมัน  นั่นเป็นทางเข้า  คือเป็นเบื้องต้นแห่งหนทางสู่ความสำเร็จ  และอย่าลืมว่า  ทุกครั้งของกระบวนการแก้ปัญหาแบบพุทธ (อริยสัจ 4)  ต้องจบลงที่มรรค  คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เสมอ   นิโรธคือผล  มรรคคือสิ่งที่ต้องลงมือปฏิบัติ (เหตุ) 

นั่นคือเมื่อใคร่ครวญสืบสาวหาเหตุปัจจัยแจ่มแจ้งแล้ว  ต้องจบด้วยการลงมือทำ (อย่างถูกวิธี)  เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ   ว่าด้วยเรื่องของกฎแห่งกรรม คือกฎแห่งการกระทำ (กรรม  แปลว่า กระทำ) เป็นต้น   ถ้าคิดแล้วไม่ทำ  ผลที่ประสงค์ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย   ดังนั้น  ธรรมะใด ๆ ก็ไร้ค่าถ้าไม่ปฏิบัติ  แต่ในทางกลับกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนไทยหรือไม่และเป็นชาวพุทธหรือไม่ก็ตาม หากเขาปฏิบัติตามหลักธรรมะก็ย่อมประสบความสำเร็จได้  ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะและยุคสมัย 

เพราะธรรมะเป็นอกาลิโก คือให้ผลได้ไม่จำกัดยุคสมัยกาลเวลา  ขอเพียงมีเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อมเท่านั้นเอง

 

บุคคลที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ผู้ยืนอย่างมั่นคงโดยไร้ปัญหา

หากแต่เป็นผู้ที่ยืนได้อย่างมั่นคงท่ามกลางปัญหาต่างหาก

 

 

ภูเขาสูงเสียดฟ้าแค่ไหน  ถ้าขึ้นไปถึงยอดแล้ว

มันก็อยู่ใต้ฝ่าเท้าเรานั่นเอง

 

ตีพิมพ์ในนิตยาสาร  การศึกษาอัพเกรด  ฉบับที่  042  ประจำวันพฤหัสบดี ที่  9 - 16  สิงหาคม  2550

 

หมายเลขบันทึก: 220535เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

  • ครูอ้อยอ่านแล้ว  รู้สึกสุขใจ  ปิติ  และยินดีเสมอที่จะปฏิบัติตามแนวทางนี้
  • ยึดมั่นกับ...ผู้มีปัญญายืนท่ามกลางปัญหาเสมอ  เจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท