โครงงานวิทยาศาสตร์ ตอนที่ 3


สมการวิเคราะห์ความสุดยอดของโครงงาน

ช่วงนี้ คงเป็นฤดูที่น้องๆ หนูๆ ฝึกทำโครงงานวิทยาศาสตร์กันใช่ไหมครับ การฝึกทักษะจากของจริง เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีในตำรา และเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากนะครับ ในตอนนี้ ผมมีสมการวิเคราะห์ความสุดยอดของโครงงานวิทยาศาสตร์มาฝากครับ สูตรคล้ายๆ กับ ตอนที่ 2 ลองดูสมการกันนะครับ

ความสุดยอด = ประโยชน์ส่วนเพิ่ม / (ข้อเสียที่เกิดขึ้น+การใช้ทรัพยากร)

คำอธิบายเป็นดังนี้ครับ

1. ปรกติเวลาทำโครงงานหรืองานวิจัย เรามักจะทำเรื่องที่ต่อยอดจาก งาน หรือ ความรู้ ของผู้อื่น กรณีอุดมคติคือได้ของใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกนี้เลย แต่โอกาสแบบนั้น เกิดขึ้นน้อยมากๆ ครับ ส่วนงานใดๆ ที่ทำแล้วดีเท่าเดิม เหมือนของเดิม หรือ แย่ยิ่งกว่าเดิม ก็อย่าเสียเวลาทำเลยครับ

2. จากข้อที่ 1 ความสุดยอดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมี งาน สิ่งของ สิ่งประดิษฐ์ หรือ งานวิจัย มีสิ่งเพิ่มเติมจากอะไรที่มีอยู่แล้วเท่านั้นครับ ผมเรียกมันว่า "ประโยชน์ส่วนเพิ่ม" หรือ "Added utilities, functions or knowledge"

3. โชคดีของมนุษย์จะเกิดขึ้นเมื่อทุกอย่างลงตัว แต่มันมักจะไม่เกิดบ่อยครับ มีได้ก็มีเสีย ประมาณได้อย่างเสียอย่างครับ ดังนั้น ความสุดยอดจะลดลง ถ้า "ประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ที่ได้มานั้น เกิดจากการต้องแลกด้วย "ข้อเสีย" บางอย่าง ผมเรียกมันว่า "Trade off weaknesses" ยกตัวอย่างเช่น มือถือ สามารถ ถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลงได้ เราเรียกว่า ถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลง เป็น ประโยชน์ส่วนเพิ่มของมือถือ แต่เราก็จะพบว่า ข้อเสียที่ต้องแลกกันก็คือ มือถืออาจต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้แบตเตอรี่เปลืองมากขึ้น ปุ่มฟังก์ชันใช้งานยากขึ้น เป็นต้น ดังนั้น "ข้อเสียที่เกิดขึ้น" จึงเป็นตัวหารครับ 

4. การใช้ทรัพยากร ก็ทำให้ความสุดยอดลดลง มันจึงเป็นตัวหารอีกตัวครับ ถ้า งาน หรือ สิ่งประดิษฐ์ หรือ องค์ความรู้ ใหม่ๆ ที่ไม่มีการสิ้นเปลืองทรัพยากรเลย สิ่งนั้น สุดยอดแน่นอนครับ แต่ในความเป็นจริง เราอาจหวังได้แค่ การใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่ามากที่สุด คุ้มที่สุด ลดการสิ้นเปลือง ลดของเหลือทิ้ง เท่านั้นเองครับ ทรัพยากรในที่นี้ รวมไปถึง กำลังคน งบประมาณ การใช้พลังงาน วัสดุ อุปกรณ์ ฯลฯ นะครับ

มีเรื่องเล่าประกอบครับ เด็กเก่งคนหนึ่ง สกัดสารเคมีสำคัญจากเปลือกปู เขาวิเคราะห์ว่าวิธีของเขานั้นให้สารเคมีที่มีราคาถูกกว่าที่ซื้อเป็นขวดๆ ตามร้านขายสารเคมีประมาณ 30% อย่างไรก็ดี เด็กคนนี้คิดต้นทุนจากค่าเปลือกปูและสารเคมีตั้งต้นเท่านั้นเอง ไม่ได้คำนึงถึง ค่าไฟฟ้า ค่าแรง (ของตัวเอง) และค่าอุปกรณ์ (สปอนเซอร์โดยโรงเรียน) ข้อเสนอแนะของผมก็คือ คิดในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ด้วยเนี่ยก็ดีอยู่แล้วนะครับ แต่คิดทั้งที ก็คิดๆ ให้มันครบถ้วนครับ

หวังว่าสูตรนี้จะมีประโยชน์กับน้องๆ หนูๆ ที่กำลังจะทำโครงงานวิทยาศาสตร์ครับ

หมายเลขบันทึก: 220530เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท