๓๐. ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์


"...ทุนทางสังคมของอำเภอหนองบัว : หลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ / หมอหนิม / นายอำเภออรุณ / โรงพยาบาลคริสเตียน / หมอหลุยส์ / งานงิ้วหนองบัว / เกาะลอย......"

           อำเภอหนองบัวมีศักยภาพและทุนทางสังคมหลายอย่าง มีความเป็นท้องถิ่นที่ทำให้เป็นชุมชนอำเภอน่าอยู่ ผู้คนทั้งอำเภอมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อีกทั้งที่ตั้งก็มีถนนหลวงเชื่อมโยงไปสู่ภาคคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ

            มีภูเขา สิ่งแวดล้อม ทุ่งเลี้ยงสัตว์ และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ มีโรงเรียนมัธยมอำเภอและสถานศึกษา ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งการศึกษาเพื่อสร้างคนและพัฒนาท้องถิ่น มีนักธุรกิจท้องถิ่นและคนทำมาค้าขาย มีทุนมนุษย์และเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอก ผูกพันกันและมีความเป็นเครือข่ายทางสังคมที่สามารถเป็นกำลังพัฒนาได้มากมายทั้งของท้องถิ่นและของประเทศ....     

            อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ มีชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ ส่วนใหญ่ก็สื่อถึงความเป็นแหล่งน้ำ เช่น หนองบัว หนองกลับ บ้านหนองบัวตากลาน หนองคอก เมืองพันสระ แต่ละชื่อ ล้วนทำให้คนที่ไม่เคยไปเยือนและไม่เคยรู้จัก คิดนึกไปได้ว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำท่า ห้วยหนอง คลอง และสระ

           ผมเคยได้ยินคนจากถิ่นฐานอื่นที่ไปทำงาน ณ อำเภอหนองบัว เล่าถึงตนเองกับหนองบัวให้เป็นเรื่องขำๆอย่างกันเองว่า  ข้าราชการที่สอบบรรจุจากส่วนกลาง เมื่อสอบได้ และถึงคราต้องเลือกพื้นที่ลง  หลายคนพอเห็นชื่ออำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์  ก็เลือกไปลงอย่างไม่ลังเล  ในใจก็จินตนาการไปถึงหนองบัวและบึงบัวใหญ่ๆ  รายรอบด้วยความร่มรื่นและอุดมไปด้วยแหล่งน้ำ

           ทว่า  ในความเป็นจริงแล้ว  อำเภอหนองบัวเป็นที่ดอน ดินของพื้นที่ก็เป็นดินทรายร่วน ไม่ค่อยเก็บกักน้ำ แหล่งน้ำสำคัญแต่เดิมเมื่อ 30-40 ปีก่อน ก็คือสระสาธารณะของวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน  พอได้ใช้อุปโภคบริโภคกันทั้งอำเภอ 

          นายอำเภอและผู้นำชุมชนของอำเภอเคยพยายามขุดสระและแหล่งน้ำหลายแห่ง แต่ก็แปลก มักขุ่นคลั่กราวน้ำโคลน  ไม่ใสเหมือนน้ำในสระวัด  เมื่อชุมชนขยายตัวมากขึ้น  ชื่อต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า  ก็เลยเป็นตรงกันข้าม จนแม้กระทั่งบัดนี้

         กระนั้นก็ตาม  อำเภอหนองบัวก็เป็นเมืองที่มีความน่าอยู่   คนท้องถิ่นมีอัธยาศัย สภาพแวดล้อม วิถีชีวิต การทำอยู่ทำกิน และวัฒนธรรมท้องถิ่นหลายอย่าง ต่างเป็นพื้นฐานและทุนทางสังคม ที่ทำให้ชุมชนมีความร่มเย็นเป็นสุขพอสมควรแก่อัตภาพ

         หนองบัวมีของดีอยู่มากมายที่น่าสืบสานและหวงแหน 

         คนทำงานชุมชนและผู้คนของชุมชนหนองบัวเอง หากมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง ก็จะทำให้มีสำนึกในความเป็นมาร่วมกัน  เกิดความเคารพ และเห็นตนเองบนความสืบเนื่องในความเปลี่ยนแปลงของชุมชน  ด้วยความภาคภูมิใจ เช่น

          หลวงพ่ออ๋อย และวัดหนองกลับ ไปหนองบัวไม่รู้จักหลวงพ่ออ๋อยและวัดหลวงพ่ออ๋อย  ก็เรียกได้ว่าไม่ถึงความเป็นหนองบัว วัดหนองกลับ เป็นชื่อวัดซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชาวอำเภอหนองบัว หลวงพ่ออ๋อย เป็นลูกศิษย์และสหธรรมิกของ หลวงพ่อเดิม ซึ่งคนแถวนครสวรรค์ ชัยนาท พิจิตร รวมไปจนถึงคนเล่นพระเครื่องทั้งประเทศจะรู้จักและเคารพนับถือ คนทั้งอำเภอ รวมไปจนถึงพื้นที่โดยรอบ นับว่าเป็นลูกศิษย์และกลุ่มศรัทธาธรรมของหลวงพ่ออ๋อยทั่วไปทุกย่านถิ่น

         โดยเฉพาะผู้ชายนั้น  กลุ่มคนที่ผ่านการบวชเรียน แล้วต่อมาก็มีบทบาทเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ตลอดจนเป็นผู้นำสาขาต่างๆของท้องถิ่น ก็แทบจะนับว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่ออ๋อยแทบทั้งสิ้น ผมได้เป่าแตรวงแห่นาคไปบวชพระที่วัดหลวงพ่ออ๋อยเกือบสิบปี เห็นผู้คนมากมายได้เข้าไปบวชเป็นศิษย์หลวงพ่ออ๋อย       

                       

ภาพขบวนแห่นาคหมู่อำเภอหนองบัว : ประเพณีการแห่นาคและการบวชนาคหมู่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ริเริ่มมายาวนานนับแต่ยุคหลวงพ่ออ๋อย หรือพระครูนิกรปทุมรักษ์ แห่งวัดหนองกลับหรือวัดหนองบัวลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม  การแห่นาคจะแห่นาคแต่ละจ้าวาจากบ้านทั่วสารทิศ บางปีนับเป็นร้อยจ้าว แล้วจะมารวมกันที่ศาลาวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่โต เพื่อรอการบรรพชาอุปสมบทพร้อมกัน เป็นประเพณีการบวชนาคหมู่ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนชาวหนองบัว นครสวรรค์ ระหว่างการแห่นาค ทั่วตลาดอำเภอหนองบัว รวมทั้งในวัดหนองกลับ จะก่อให้เกิดการสื่อสารเรียนรู้และสร้างการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ผู้คนจะถามไถ่และทบทวนว่านาคเอก นาคโท เป็นใคร รวมทั้งพ่อนาคคนอื่นๆเป็นลูกหลานของใคร ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของชุมชน วัฒนธรรม และการสืบทอดประเพณีทางศาสนา คงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้การบวชนาคและการแห่นาคหมู่ เป็นหนึ่งในคำขวัญของอำเภอหนองบัว  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

         โบสถ์ของวัดหลวงพ่ออ๋อยหรือวัดหนองกลับมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใดเลยเพราะเป็นหลังคาที่ไม่ใช่มุงกระเบื้อง ทว่า ทำเป็นหลังคาคอนกรีตเลย

         ปัจจุบันวัดหนองกลับ มีหลวงพ่อที่ชาวบ้านเรียกท่านว่าพระครูไกร ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงพ่ออ๋อยและเป็นพระอาจารย์ให้การบวชเรียนของผู้คนในหนองบัวนับแต่รุ่นที่ผมยังเป็นมือแตรวงแห่นาค 

         พระคุณเจ้าเป็นผู้นำในการทำพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นของวัดหนองกลับ และเป็นทุนทางปัญญาท้องถิ่นของชุมชน มีคุณูปการต่อการทำให้วัดเป็นแหล่งให้การศึกษาอบรมรอบด้านแก่ผู้คนทั้งในอำเภอและจากแหล่งอื่นทั่วประเทศ

          หมอหนิมของชาวหนองบัว  หมอหนิมเป็นพยาบาลผดุงครรภ์และหมออนามัยเก่าแก่ของชาวหนองบัว ดูแลสุขภาพและสารพัดความเจ็บไข้ได้ป่วย  รวมไปจนถึงสารทุกข์สุกดิบของคนหนองบัว  สถานีอนามัยเดิมอยู่หลังอำเภอในปัจจุบัน ทว่า ในยุค 40-50 ปี ก่อนโน้น ไปไหนมาไหนมีแต่ด้วยการเดินเท้า และใช้เกวียน 

          แต่การต้องอยู่ทั้งที่สถานีอนามัย และการต้องไปตามบ้านเมื่อชาวบ้านตามทั้งในและนอกอำเภอ  หมอหนิมก็เป็นทั้งหมอเท้าเปล่าและหมอควบม้าไปทั่วอำเภอซึ่งยุคนั้นเป็นบ้านป่าบ้านดงอย่างยิ่ง ชาวบ้านจึงนับถือเหมือนแม่  เป็นทุนทางสังคมด้านสุขภาพ  ที่มีบทบาทควบคู่มากับพัฒนาการของหนองบัวในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา

          นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ * เป็นนายอำเภอรุ่นบุกเบิกที่นำการขุดสระน้ำข้างอำเภอ และเป็นผู้นำที่หมายจะเปลี่ยนสภาพความกันดารยากแค้นของอำเภอหนองบัวให้หายไปให้จงได้  อีกทั้งเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาของลูกหลานทั้งคนหนองบัวและแถวนั้นมากมาย ร่วมกับคุณครูและคนท้องถิ่นนำเอาโรงเรียนวันครู(2504) ของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ไปตั้งที่บ้านตาลิน ดังปัจจุบัน 

ภาพที่ ๑ อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนหนองบัว ก่อตั้งเมื่อปี 2503 ในพื้นที่เดียวกับโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) แล้วย้ายมาอยู่ที่หนองคอกดังปัจจุบันในปี 2508  ในยุคของนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ (ภาพจากเว๊บโรงเรียนหนองบัว)

          ชาวอำเภอหนองบัวที่ยังจดจำท่านได้  เคยตามไปขอซื้อรถแทรกเตอร์คันที่เคยขุดสระข้างอำเภอให้ชาวหนองบัว มาตั้งเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความเป็นนายอำเภอนักพัฒนาและเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน

          นอกจากนี้ยังมีปูชนียบุคคลอีกหลายท่าน ผู้เฒ่าและคนเก่าคนแก่ ซึ่งเป็นที่เคารพเชิดชู เมื่อถามไถ่ถึงก็จะเป็นที่รู้จักกันทั้งอำเภอ

          โรงพยาบาลคริสเตียน ในอดีตนั้น  พื้นที่อำเภอหนองบัวกันดารเป็นที่สุด  แต่ก็มีโรงพยาบาลเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น อยู่ข้างสี่แยกกลางตลาดของตัวอำเภอในปัจจุบัน เป็นโรงพยาบาลคริสเตียน มีหมอฝรั่งใจดีและมิชชั่นนารี คอยดูแลผู้ป่วยและญาติๆที่ไปโรงพยาบาลทั้งด้านความเจ็บความไข้  การเผยแพร่คำสอนของพระเจ้า และการมีของเล่นให้เด็กๆ 

                      

                       แยกตลาดหนองบัวเดิม อาคารพาณิชย์เป็นอาคารไม้สองชั้น  ห้องแรกของคูหาด้านขวาหลังหอนาฬิกานั้น เคยเป็นโรงพยาบาลคริสเตียน มีหมอฝรั่งชื่อไทยว่าหมออรุณมาประจำ ต่อมาได้ย้ายไปตั้งอยู่นอกตัวเมืองและพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอำเภอหนองบัวดังปัจจุบัน  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

           ต่อมา ได้ย้ายออกไปด้านนอกและพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอำเภอหนองบัวดังในปัจจุบัน ในระยะแรกยังคงเป็นโรงพยาบาลคริสเตียน ผมมีโอกาสต่อเพลงสรรเสริญพระเจ้าไปเล่นบนเวทีกิจกรรมของโรงพยาบาลในวันคริสมาสต์อยู่สองปี ซึ่งก็เล่นด้วยความสำนึกตอบแทนพระคุณคุณหมอฝรั่ง พยาบาล และหมอสอนศาสนา ที่ผมได้เคยไปนอนป่วยเป็นคนไข้อย่างสาหัส รวมทั้งพ่อและญาติๆ อีกโสตหนึ่งด้วย หนองบัวเป็นชุมชนเล็กๆ แต่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจริงๆ

            ปัจจุบัน  โรงพยาบาลอำเภอหนองบัวไม่มีหมอฝรั่งและไม่ได้เป็นโรงพยาบาลคริสเตียนแล้ว  แต่ก็เป็นทุนทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาด้านสุขภาพของชุมชน ผ่านยุคที่เต็มไปด้วยความกันดารยากแค้น หนุนส่งมาสู่ปัจจุบันได้อย่างดี

          หมอหลุยส์  อำเภอหนองบัวมีหมอแผนไทยและมีร้านขายยาสมุนไพรที่ขึ้นชื่อไม่เพียงสำหรับชาวหนองบัวเท่านั้น  ทว่า เป็นที่พึ่งของคนวงกว้างไปจนถึงจังหวัดรอบข้าง ชื่อร้าน หมอหลุยส์ อยู่ข้างวัดหนองกลับของหลวงพ่ออ๋อย 

        นอกจากมียาทั่วไปให้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านแล้ว ร้านหมอหลุยมียาสมุนไพรที่ขึ้นชื่อที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ ยาสูบแก้ริดสีดวงจมูกของหมอหลุย หมอหลุยเป็นอุบาสกและผู้ปฏิบัติธรรมด้วย เลยเป็นหมอแบบพ่อพระของชาวบ้าน บุกเบิกศูนย์ปฏิบัติธรรมและกรรมฐานนอกตัวอำเภอ แม่ผม  ยาย ญาติพี่น้อง และชาวอำเภอหลายคนที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอ  ที่สนใจแนวปฏิบัติกรรมฐานและเจริญสติภาวนา  ก็ได้อาศัยไปร่วมกิจกรรม และร่วมทำนุบำรุงแหล่งปฏิบัติธรรมดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

          งานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวกับฤาษีณารายณ์ และงานงิ้วหนองบัว จัดขึ้นเป็นงานประจำปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมซึ่งถึงแม้จะเป็นงานที่ขับเคลื่อนด้วยชาวไทยจีนเป็นหลัก แต่ก็นับว่าเป็นวิถีวัฒนธรรมสาธารณะหรือเทศกาลของผู้คนทั้งอำเภอ (Local Cultural Event) 

          ผู้คน เด็กนักเรียนจากโรงเรียนประถมและมัธยมประจำอำเภอ และโรงเรียนในตัวเมือง  หน่วยงานราชการทุกภาคส่วน และกลุ่มเจ้าของกิจการไม่แยกฐานะและความแตกต่างกันในสิ่งที่เคารพนับถือแยกย่อย  จะรวมใจกันไปช่วยแห่แหนขบวนซึ่งเป็นเอกลักษณ์จำเพาะของชาวหนองบัว คือ เทพเจ้าที่เคารพของชาวไทยจีนร่วมกับจ้าวพ่อฤาษีณารายณ์ 

          แห่ไปอย่างทั่วถึงในย่านชุมชนอำเภอ แล้วก็มีงานมหรสพเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ที่เกาะลอย  ที่ขึ้นชื่อติดปากผู้คนก็มีหลายอย่าง  เช่น  ลิเกคณะบรรหารศิษย์หอมหวล / งิ้ว / มอเตอร์ไซคล์ไต่ถัง คณะตาเปรื่อง เรืองเดช / รำวง รวมทั้งคณะเล่นกล และหนังกลางแปลง ซึ่งยุคก่อนโน้น จะเป็นที่เดียวที่ฉายกันสว่างคาตาจนไม่สามารถมองเห็นตัวหนังบนจอได้

          ภาพที่ ๒  ขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายณ์ หรือ เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีหนองบัวไปรับอั่งเปาและของไหว้ จากคณะครูและนักเรียน โรงเรียนหนองบัว ในภาพเห็นคุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวและศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว รุ่นเก่าแก่ เป็นครูปริญญา จาก ๒ ใน ๕ แห่งของวิทยาลัยการศึกษาในประเทศไทย คือ ปริญญาตรีสาขาเคมี จากวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ชลบุรี ก่อนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา และปริญญาโทบริหารการศึกษา วิทยาลัยการศึกษาวิทยาเขตพิษณุโลก ก่อนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร และเห็นคุณครูสมัคร รอดเขียน คุณครูเก่าแก่ท่านหนึ่งของโรงเรียนหนองบัว การมีปฏิสัมพันธ์กันของโรงเรียนกับชุมชนผ่านกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ทำให้โรงเรียนและชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแนบแน่น (ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ของโรงเรียนหนองบัว)

          ผมร่วมเป็นวงดุริยางค์ของโรงเรียน แห่ล่อโก๊ะในเทศกาลของชาวหนองบัวนี้อยู่หลายปี  แล้วก็ติดงิ้วงอมแงม ทั้งที่ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ชอบไปดูแบบเกาะขอบเวที ดูกลุ่มคนที่เล่นดนตรี ดูภาษาเครื่องแต่งกาย และการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งทำให้เข้าใจว่าเขาเล่นเป็นอะไร และท่าทางอย่างไรบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งการรบ การคิด การแสดงความสุขรื่นเริง

          งานเทศกาลดังกล่าว เป็นประสบการณ์ร่วมของผู้คนหลายรุ่นทั้งคนท้องถิ่นเชื้อสายไทย จีน ลาว และไทยละเหว ซึ่งพูดเหน่อ จนทำให้คนท้องถิ่นพูดเหน่อตามกันไปทั้งอำเภอ แม้ในปัจจุบัน  ผู้คนที่ออกไปอยู่ถิ่นฐานอื่น ก็มักถือเป็นเวลาที่จะกลับบ้าน และถ้าหากไปเยือนอำเภอหนองบัวในช่วงดังกล่าวนี้ ก็จะเห็นความมีชีวิตชีวาในยามกลางคืนไปทั้งอำเภอ

            เกาะลอย เป็นแหล่งสาธารณะกลางอำเภอ แต่เดิมเป็นสระน้ำขนาดใหญ่กลางตัวเมือง แล้วก็มีเกาะเล็กๆอยู่กลางน้ำ เป็นแหล่งสาธารณะสำหรับหย่อนใจและใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคที่พอจะสะท้อนเอกลักษณ์ชื่อว่าหนองบัวอยู่บ้าง ทว่า ปัจจุบัน  เกาะลอยกลางน้ำได้ถูกไถทิ้งและปรับให้เป็นแหล่งเก็บน้ำไปทั้งหมด  บริเวณเกาะลอย เป็นแหล่งจัดเทศกาลงานงิ้วของอำเภอหนองบัว ผู้คนและชุมชนโดยรอบเป็นคนเก่าแก่ของพื้นที่ มีความเป็นมาเท่าๆกับพัฒนาการของอำเภอหนองบัว

            ที่ตั้งของอำเภอหนองบัวและทรัพยากรทางด้านต่างๆ มีศักยภาพมากมายหลายอย่างในการพัฒนาสู่อนาคตที่พึงประสงค์ ไกลออกจากตัวเมืองนิดเดียวก็จะเป็นสวนป่าและทุ่งเลี้ยงสัตว์กว้างใหญ่ สามารถพัฒนาเป็นสถานีวิจัยและพัฒนาทางปศุสัตว์  เกษตรกรรมและการจัดการทรัพยากรในที่ดอน โรงเรียนและสถานศึกษาประจำอำเภอมีพื้นฐานและทรัพยากรทางวิชาการหลายด้านที่สามารถยกระดับสู่การจัดการศึกษาในขั้นอุดมศึกษา

           เลยออกไปอีกและต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออก  ก็จะมุ่งสู่จังหวัดชัยภูมิ ภาคอีสานและอนุภูมิภาคอินโดจีน ขึ้นไปทางเหนือ  ก็จะมีทางผ่านตรงจากกรุงเทพ  มุ่งสู่พิจิตร พิษณุโลก และภาคเหนือ  คนวัยทำงานและนักเรียนนักศึกษาเป็นจำนวนมากจึงมีไม่น้อยที่มุ่งไปทำงานและศึกษาต่อในภาคเหนือมากกว่าลงกรุงเทพฯ

          ที่สำคัญคือมีทุนทางศักยภาพและทุนทางสังคม รวมทั้งมีเรื่องราวที่เป็นภูมิปัญญาเกี่ยวกับท้องถิ่น ที่อยู่ในความทรงจำของคนเก่าแก่ ซึ่งถ้าหากได้มีการนำมาเรียนรู้และหาโอกาสสืบสานกันไว้ด้วยการพูดคุย บอกเล่า และสนทนากัน โดยเฉพาะในหมู่ผู้คนรุ่นใหม่ ก็จะทำให้ชุมชนได้สานความรู้เกี่ยวกับตนเองและถักทอสำนึกร่วมของผู้คน ทำให้ชุมชนอำเภอบ้านนอก มีกำลังนำการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น.   

 

-------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มมาจากเว๊บของโรงเรียนหนองบัว  ทำให้ทราบนามสกุลของท่านนายอำเภออรุณ ว่าท่านนามสกุล วิไลรัตน์  พร้อมกับได้ทราบอีกว่า โรงเรียนหนองคอก หรือโรงเรียนหนองบัวของผม เพื่อน พี่ น้อง และชาวหนองบัวนั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ในยุคของท่าน โดยแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ในโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ในที่ปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ครูใหญ่คนแรกและเป็นผู้ที่ร่วมกับนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ นำประชาชนและชุมชนสร้างโรงเรียนหนองบัวขึ้นมาก็คือ คุณครูเขจร เปรมจิตต์  ดังนั้น ในปี ๒๕๕๓ ที่จะถึงนี้ จึงนับว่าครบรอบการก่อตั้งของโรงเรียนหนองคอก ๕๐ ปีหรือกึ่งศตวรรษ

 

หมายเลขบันทึก: 219761เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (144)

ขอบคุณค่ะ ที่นำเรื่องราวในชุมชน มาให้อ่าน ซึ่งหาอ่านได้ยากค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • มาทักทายค่ะ
  • ดีใจที่ได้ฟังเรื่องราวของอำเภอหนึ่งในนว.
  • เคยไปเที่ยวหนองบัวค่ะ
  • เห็นนามสกุลแล้ว  ขออนุญาตถามหน่อยนะคะ
  • มีเพื่อนที่สนิทกันมาก เด็กอาชีวะค่ะ  ชื่อ ประคอง(อ้วน)  คำศรีจันทร์  บ้านของเค้าไปทางหลังร.ร.วันครู (ไปตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2527)
  • ทุกวันนี้ก็ยังคุยทางโทร.กับเพื่อนคนนี้อยู่ค่ะ
  • รู้จักกันหรือเปล่าคะ
  • ขอบคุณค่ะ

                      

  • สวัสดีครับคุณครูอ้อย คุณครูอ้อยเป็นรุ่นพี่ผมสองปีครับ จึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่มาเยี่ยมเยือนนะครับ
  • ขออนุญาตแอบแวะเข้าไปขอทำความรู้จักคุณครูอ้อยด้วยครับ เห็นแล้วก็ตกตะลึง ทำไมมีพลังชีวิตมากมายอย่างนี้ แล้วก็ถึงความเป็นเลิศทุกเรื่องเลยเชียว บูรณาการมากเลยครับ

 

  • สวัสดีครับน้อง NU 11 ขอถือวิสาสะเรียกน้องก็แล้วกัน  ประคองเป็นน้องสาวผมเองครับ ที่บ้านเราจะเรียกประคองว่า สาว สาวเป็นน้องถัดไปจากผมเลย ดีใจมากเลยนะครับที่ได้ทราบว่าเป็นคนกันเองและเข้ามาในนี้
  • น้อง NU 11 ไปเมื่อปี 2527 นี่  ตอนนั้นยังบ้านนอกสุดๆเลย แล้วบ้านก็ลำบากมากๆ
  • ตอนนี้ บ้านหลังโรงเรียนวันครูร้างไปแล้วครับ ย้ายออกมาอยู่ริมถนนหน้าโรงเรียน แต่เดินเข้าไปก็ยังเป็นกลุ่มบ้านญาติๆเหมือนเดิม มีความเป็นชนบทให้ได้ความเป็นบ้านนอกๆ ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก 
  • แต่บางเรื่องดีกว่าเดิมเสียอีก โดยเฉพาะมีคลองน้ำใสเย็นดีกว่าเดิม แต่เดิมเป็นคลองธรรมชาติผสมกับคลองคึกฤทธิ์ ซึ่งตื้นเขินจนหมดสภาพคลองไปช่วงหนึ่ง  แถมปีนี้ปลาหลากหลายและเยอะกว่าปีก่อนๆเสียอีก 
  • ถือวิสาสะเรียกพี่ชายเช่นกันนะคะ
  • ตอนเรียน5ปีเราจะมีด้วยกันแค่ 6 คน ไม่มีใครคบด้วย( เพราะเป็นแก๊งค์เด็กบ้านนอกที่ค่อนข้างจะเรียนเก่งและไม่สนใจเพื่อนๆ) น้องสาวพี่วิรัตน์ เรียนเก่งทั้งสองคนเลยจริงเปล่าคะ รวมน้องปองด้วยทราบว่าบรรจุครั้งแรกที่ ร.ร.มัธยมของอ.บรรพตพิสัย ตอนนี้ย้ายกลับหนองบัวไปนานแล้วมั้งคะ
  • อ้วน คือฉายาที่เพื่อนเรียก เพราะรูปร่างใหญ่กว่าใครในแก๊งค์
  • สนิทกับคุณแม่ค่ะ เพราะเวลาประชุมผู้ปกครอง เรานัดกันให้คุณแม่ไปประชุม แล้วก็คุยกันตามประสาแม่ๆลูกๆ รวม 12 คน
  • ที่หนองบัว  มีเพื่อนอีกคนชื่อ นิดค่ะ ลูกแม่ทองเจือ ตอนไปหนองบัวก็ลงไปเล่นน้ำในสระที่บ้านหลังเก่าของอ้วนค่ะ
  • ก่อนจบเราเดินสายไปเที่ยวบ้าน ครบทั้ง 6คนด้วยรถมอเตอร์ไซด์เก่าๆอย่างสนุกสนาน
  • สนุกกับบรรายากาศของท้องทุ่งนา ที่โอบล้อมไปด้วยความอบอุ่น  ของสังคมชนบท
  • พวกเรายินดีกับคำที่เพื่อนๆเรียกเราว่า บ้านนอก เพราะมีทุนทางสังคมที่มีคุณค่า ภูมิใจ  และความเป็นอยู่ที่สอนให้เราพอเพียง
  • ถ้าพี่และครอบครัวผ่านไปนว.มีอะไรให้รับใช้ยินดีนะคะ เบอร์โทร.ของนก ที่ไอ้อ้วนมีค่ะ
  • ขอบคุณค่ะพี่ชาย 

                            

             บ้านเดิมอยู่ใกล้ๆเขาหน่อค่ะ

  • ดีจังน้องนก เขียนถ่ายทอดดีด้วย อ่านแล้วตื้นตันใจ บอกว่าลงไปเล่นน้ำในสระหลังบ้านด้วยนี่ ซาบซึ้งใจเลยว่า เป็นบ้านนอกด้วยกันและเป็นเพื่อนที่รักใคร่กันด้วยจิตใจจริงๆ เพราะสระนั่นมันต้องใช้จินตนาการและความสุขที่ออกจากใจมากจริงๆถึงจะลงไปเล่นได้ มันเป็นดินโคลน แต่มีปลาให้จับเยอะ ยุค 2527 นั้น ปลายังเยอะมาก นับถือๆ
  • สาวและน้อง (อ้วน กับ ปอง) จะเออออตามไปดีไหมเนี่ยว่าเรียนเก่งไปอย่างน้องนกว่า มันเหมือนชมคนกันเอง มองแบบพี่ที่ต้องดูแลน้องก็ถือว่าใช้ได้ครับ  ที่สำคัญคือเป็นเด็กดีตั้งแต่เด็ก พี่เสียอีกแย่จัง ช่วยพ่อแม่ดูแลและเป็นพี่เลี้ยงให้น้องเติบโตได้ไม่ดีนัก เขาดีของเขาเอง และคงจะเพราะมีกลุ่มเพื่อนดี  ทั้งสองคนทำกับข้าวอร่อย 
  • สาวเป็นน้องที่พี่ต้องส่งเรียนด้วย อันที่จริงเขาเก่งและความรับผิดชอบสูง คิดว่าเขาเกรงใจพี่และให้ความสำคัญตนเองน้อยกว่าให้ความเป็นห่วงพี่ เลยออกไปทำงานก่อน
  • ดีเหมือนกัน เผื่อน้องนกได้เอาไปคุยสู่กัน มีเรื่องหนึ่งที่จะเล่าให้เขาฟังมากไปก็ดูกระไรอยู่ เลยเก็บไว้โดยไม่ได้คุยให้น้องสาวฟัง  สาวเขามีโอกาสอยู่กับพี่ตอนเรียนที่บ้านญาติ  มีช่วงหนึ่งพี่สูบบหุหรี่ระหว่างนั่งทำงานดึกๆ  สังเกตได้อยู่เหมือนกันว่าสาวมักย่องๆลงมาดูแล้วก็กลับไปทำงานเรียนตัวเอง  แต่ก้ไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดปรกติอะไร 
  • วันหนึ่งที่เขี่ยบุหรี่ก็หายไป ถามไถ่ดูก็รู้ว่าสาวเก็บไปแล้วก็หายไปสอง-สามวัน พี่ไม่ได้นึกถึงการสูบบุหรี่หรอก ทว่า อยากบอกสาว อบรมน้องในฐานะที่เป็นพี่ที่ต้องดูน้องว่างั้นเถอะ เลยบอกว่า  อะไรที่เป็นส่วนตัวของคนอื่น อย่าไปถือวิสาสะทำอะไรที่เขาไม่รู้และไม่ได้อนุญาต สาวดูหงอยๆและไม่พูดอะไร ซึ่งเป็นบุคลิกรับฟัลงและยอมให้กับพี่อยู่เสมอของเขา 
  • สักพักเขาก็เดินกลับขึ้นไปยังห้องพักของเขา และถือที่เขี่ยบุหรี่ติดมือลงมาด้วย ทว่า  มันกลายเป็นแจกันดอกไม้จากฝีมือของเขาเอง  สาวเขามีฝีมือทางด้านนี้มากด้วย  เขาเดินถือค่อยๆไปวางบนโต๊ะทำงานพี่  ไม่รู้ใครทำให้เห็นอย่างนั้น หรือคิดได้ยังไง  พี่เห็นอย่างนั้นแล้วก็สะอึก ไม่พูดอะไรต่ออีกเลย  รู้สึกรักน้องและคิดถึงตอนที่พวกเราอยู่บ้านนอกด้วยกันอย่างจับใจ ได้ร่วมทุกข์สุขเอาใจใส่ดูแลกัน  เลยก็ไม่สูบบุหรี่
  • แจกันของสาวพี่ก็เลยเก็บไว้  นานๆเข้ามันก็โทรมกะรุ่งกะริ่ง  แต่พี่และภรรยาก็เก็บดูแลเป็นสมบัติแบบไม่มีค่าในบ้านเลย ทว่า เห็นทีไรก็เบ่งบานขึ้นในใจอยู่เสมอ
  • น้องๆ หาโอกาสกลับไปเที่ยวอีกนะ จะบอกสาว น้อง และแม่ให้  เดี๋ยวนี้สระน้ำที่บ้านใหญ่กว่าเดิมมาก ช้างลงไปสักสิบตัวก็ยังได้  พวกเพื่อนน้องๆชอบไปทอดแหจับปลากินกันข้างสระ
  • รู้สึกดีจังเลยที่ได้รับรู้  มองแบบคนนอก  เมื่อพี่เริ่มย่างเข้าสู่วัยที่เรียกว่า เพื่อนตายหาง่าย  เพื่อนกินหายาก  คือ เริ่มเป็นวัยที่เพื่อนฝูงเจอกันก็มักมีคำถามเช็คยอดกันอยู่เสมอว่า ใครยังอยู่และใครล้มหายตายจากกันไปบ้างแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อน  ขณะเดียวกัน จะหาเพื่อนแม้นั่งกินข้าวด้วยกันหรือคุยกันให้มีแรงบันดาลใจชีวิต  ก็เริ่มยากซะแล้ว น้องๆ ยังเกาะกลุ่มและมีโอกาสเป็นเพื่อใส่ใจกัน  ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่องดีมากเลยนะ  ในหนังสือหิโตปเทศ จะเปรียเปรยว่า มีเทวดาแห่งความรักความเมตตาคุ้มครอง

นำภาพมาให้ชมครับ ภาพนี้เป็นท้องนาหลังบ้าน ที่บ้านหลังเก่า เชื่อมต่อกับสระน้ำ ที่น้องๆลงไปเล่นกันนั่นแหละครับ  ยืนหันหลังให้บ้านแล้วมองออกไปจะเป็นทุ่งนา  หน้าแล้งจะดูลิบโล่ง  ตอนนี้กลายเป็นนาข้าวเขียวขจี  แล้วก็ปีนี้มีน้ำหลาก  ปูปลาเยอะเลย

อีก

อีกภาพหนึ่ง อยู่ตรงข้ามกับสระน้ำเดิมของบ้านหลังเก่า แต่ตอนนี้บ้านหลังเก่าไม่มีสระน้ำแล้ว สระน้ำร่มรื่นนี้เป็นบ้านของญาติที่ย้ายจากกลางทุ่งมาอยู่รวมกัน

ผมไปเยี่ยมเยือนบ้านหลังเก่ากับน้องและหลาน พูดจากถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเสร็จ ญาติให้ก้ามปูนาน้อง ให้นำไปต้มเกลือกินกัน เป็นขนมและของที่วิเศษที่สุดตามประสาบ้านนอก-ชนบท

ใครเป็นลูกบ้านนอก หรือคนชนบท จะรู้ว่า ชาวบ้านแม้ยากจนเงิน-ทอง แต่เวลาให้อะไรคนแล้ว จะให้สิ่งที่ดีที่สุดที่ตนเองมี

หากเป็นปลาก็ให้พุงปลา หากเป็นผลไม้ ก็เลือกให้ผลที่มีตำหนิน้อยที่สุด และหากเป็นปู การเลือกให้ก้าม ก็คือเลือกให้สิ่งที่ดีที่สุด อร่อยที่สุด ที่ชาวบ้านจะมีโอกาสได้กิน

  • ตอนนี้น้ำท่วมจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่อำเภอบรรพตพิสัย ลงมาถึงตัวเมือง ขับรถไปทำงานที่อ.ขาณุฯ เห็นแล้วรู้สึกสงสารชาวนามากค่ะ บางที่ข้าวเหลืองเริ่มจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่น่าเสียดายเพราะถูกนำท่วมจนมิดรวงข้าว ทางอ.หนองบัว ชาวบ้านคงไม่เดือดร้อนมากนะคะ
  • ฤดูน้ำหลาก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งหอยปูปลา จริงๆค่ะ  ตอนเย็นไปเดินตลาดเห็นปูเต็มกะละมัง  อยากกินมันปูที่ต้มสุกแล้ว ขยำกับข้าวสวยร้อนๆ ปรุงรสด้วยน้ำปลา  อร่อยๆๆๆค่ะ  แต่นึกสงสารเวลาปูที่ถูกนำไปต้ม  สรุปว่าวันนั้นก็เดินผ่าน...อดไปก่อน..อิอิ
  • สมัยเป็นเด็กเคยตามพวกน้าชายน้าสาวไปนา เค้าต้มปูตัวใหญ่มากๆ เอาเนื้อไปทำอาหารได้หลายประเภท แล้วหลานๆก็ได้กินเนื้อจากก้ามปู ส่วนก้ามที่เอาเนื้อออกแล้วนำไปทำโมบาย ส่วนปลายผูกด้วยกระดาษ  เวลาลมพัดก็จะรู้ทิศทางลมและได้ยินเสียงกระทบกันของก้ามปู  ผสมผสานกับเสียงหรีดหริ่งเรไร เป็นดนตรีขับกล่อมในของธรรมชาติในท้องทุ่งนา  เป็นภูมิปัญญาของคนชนบทค่ะ คิดถึงอดีตที่ผ่านมากับชีวิตที่อยู่แบบพอเพียง มีความสุขมากค่ะ
  • ปีใหม่นี้เราทั้ง 5 คนนัดพบกันค่ะ (อีก 1 คนติดต่อไม่ได้)
  • ขอบคุณพี่ชายที่นำภาพบรรยากาศเก่าๆมาใหชมนะคะ
  • เขียนจนได้ยินเสียงโมบายก้ามปูเลย
  • หนองบัวน้ำไม่ท่วมครับ  ข้าวเลยไม่เสียจากน้ำท่วม แต่เสียจากฝนตกไม่หยุด ตอนนี้ข้าวเริ่มเหลือง  ชาวบ้านคงนอนขาก่ายหน้าผากแล้ว เพราะข้าวมันจะชื้นและขึ้นรา
  • นึกถึงบ้าน ก็นึกถึงเกษตรกรและชาวชนบท  ถึงแม้จะไม่รวย  แต่การกินอยู่กลับนอบน้อมต่อสิ่งที่ทำมาหาได้จากแหล่งธรรมชาติมาก  เวลาเจอปู-ปลา  บางทีเป็นซากที่ถูกปลาตัวใหญ่กว่ากัดกิน  หรือถูกปูแทะ  ยังไม่เน่า  ก็จะเก็บเอามาทำอาหารกินต่อ  ขนาดหาปลาได้ง่ายดายตามห้วยคลอง หนองบึง  แต่ไม่ยักกินทิ้งกินขว้างเหมือนคนในเมือง คนส่วนใหญ่รู้คุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ตามท้องถิ่นจริงๆ
  • พอกินแล้วก็มีวิธีนำมาทำของเล่น และของตบแต่ง  หลอมรวมเป็นลมหายใจและจิตวิญญาณของท้องทุ่งจริงๆ 

อีกด้านหนึ่งของบ้านเก่า  แต่เดิมเป็นคลองธรรมชาติ  หน้าน้ำหลากจะมีน้ำเหนือจากพิจิตรไหลหลากมา  ผ่านหมู่บ้านแล้วก็ท่วมเป็นทุ่งกว้าง  เชื่อมต่อไปจนถึงชุมแสงและบึงบรเพ็ด กว่าจะลงไปพายเรือได้ก็ต้องรอเดือนสิบสองที่เขาเรียกว่าเป็นช่วงน้ำทรง ไม่เชี่ยวกราก  แต่ต่อมาก็ตื้นเขิน  ป่าและต้นไม้หายหมด  จนกลายเป็นปลักควาย   ในยุค  ทศวรรษที่ 2520 ก็มีการขุดลอกและเป็นคลองคึกฤทธิ์  มีน้ำท่ากลับมาอยู่พักหนึ่ง  หลังจากนั้นก็หมดสภาพคลอง  คนรุ่นใหม่ไม่ได้เห็นร่องรอยและยากที่จะจินตนาการได้ว่า  แถวนี้เคยมีคลองและลำธารธรรมชาติ

มาเมื่อ 5-6 ปีมานี้  ก็ได้เห็นคลองอย่างนี้อีก และดูจะดีกว่าเดิมเสียอีก  กว้างและมีขอบเขตแน่ชัด ใครจะรุกลงไปกั้นก็ลำบากกว่าเดิมมาก ชาวบ้านบอกว่ากรมชลประทาน  พยายามทำโครงการขุดรอกและขยายคลองเสียใหม่  ให้เชื่อมต่อกันหลายพื้นที่โดยอาศัยแนวลำคลองเดิม

หมายเหตุเพิ่มเกี่ยวกับหมอหลุย : แม่ผมได้เล่าให้ฟังเพิ่มขึ้นอีกว่า หมอหลุยไม่ได้เป็นเพียงโยมที่ศรัทธาและไปปฏิบัติธรรมที่วัดเท่านั้น ท่านได้บวชกระทั่งถึงบั้นปลายในชีวิต และได้เป็นผู้ก่อตั้ง วัดป่ามะเขือ ในอำเภอหนองบัว ซึ่งเป็นวัดแนวปฏิบัติ และเป็นวัดป่า แม่เรียกท่านว่า หลวงพ่อหลุย และถึงแม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว  สถานปฏิบัติธรรมวัดป่ามะเขือ ก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อตอนเด็กเคยตามแม่ใหญ่(ยาย)ไปนา ขุดบ่อกินน้ำ

จับปลา

อาหารกลางวันสูตรเด็จแกงพริกเกลือ(ปลาร้าสับ)ใส่ผักบุ้ง

หมกพริกเกลือดอกอุ้มน้อง

ไปหยอดถั่วที่เขามรกต มีหลวงพ่อบาตรใหญ่

ฟังเทศวัดเขาพระดูลิง

มีคู่ดองตอนเด็ก(คู่มั่น)

กินข้าวเม่า ข้าวโปง ขนมวง

ขุดดินเหนียวบ่อยายโหมนมาปั้นกระสุน เล่นจ๊อก ยิงเเย้เขาพระ

แกงไก่บ้านสาว

เล่นตรุต

เมื่อตอนยังเล็กชอบกินขนมยายม่อม หาบของขายมีไก่ย่าง เกี๋ยวเตี๋ยวผัด

มาแรกข้าวสาร

ก่อนไปเรียนตอนเด็กแวะไปบ้านตาเก๊าก่อนไปโรงเรียนจึงได้ฉายานามว่า

(ไอ้เก๊า)ร้านขนมตอนยังเด็กที่ชอบซื้อ

1 ร้ายยายทำ

2 ร้านใยจง

3 ร้านใยต่วน

4 ร้านใยรอง

5 ร้านตาเซี่ยะ(ซื้อว่าว)

ตอนเรียน ป 4-6รำกลองยาวกับครูปราณี ครูเสน่ห์ ครูดิเรก ครูคำรณ ครูสุที

ครูเจน

อาหารที่ชอบ

แกงพริกเกลือ

คั่วหนู

ทอดปลาเกลือ

ต้มปลาย่าง

  • อ่านบันทึกของคุณเสวกแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะคนกินปลาร้าสับใส่ผักบุ้ง กินน้ำจากบ่อดิน ปั้นลูกกระสุน ยิงแย้ วิ่งเล่นแถวเขาพระ เขามรกต ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้นึกถึงตอนที่ผมต้องไปอยู่ไร่และทำไร่กับแม่ เลยลึกเข้าไปจากเขาสูง  ต้องอยู่อย่างที่คุณเสวกเล่านั่นเลย
  • คุณเก๊านี่น่าจะเป็นคนในตลาดนะครับ  แต่บอกว่ากินคั่วหนูด้วยนี่  ต้องเรียกว่าเป็นคนตลาดยุคใหม่กระมัง
  • ร้านรวงต่างๆ นี่ผมลืมๆ ไปเยอะเลย  นึกไม่ออกเลยนะครับเนี่ยว่าร้านไหนอยู่ตรงไหน
  • หากเป็นคุณครูเก่าแก่ของชาวหนองบัว  คุณครูนุช เจริญสุข ก็เป็นคุณครูเก่าแก่อีกท่านหนึ่ง และเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่คนหนองบัวเคารพนับถือมาก
  • ถ้าเป็นร้านขายข้าว-ขายขนม หน้าตลาดสดนี่ หลายคนก็คงไม่ลืมร้านขายกับข้าวของคุณแม่ เสธ.พ.อ.โกศล ปทุมชาติ และเสธ. พ.อ.โกศล ที่ขายกับข้าวช่วยแม่ตั้งแต่เด็กในยุคที่หนองบัวยังบ้านน๊อก-บ้านนอก แต่ไปเรียนเตรียมทหาร จบโรงเรียนนายร้อย จปร และเดี๋ยวนี้ไปเป็นนายทหาร เสนาธิการอยู่เชียงใหม่โน่น
  • เชิญเขียนบันทึก เก็บรวบรวมไว้ตามสบายได้เลยนะครับ  น่าสนใจดีออก

ผมยังไม่รู้จักท่านดีเลย ผมขอเรียกท่านว่าอาจารย์นะครับ เพราะผู้ที่ให้ความรู้เป็นวิทยาทานก้อน่าสรรเสิญอย่างยิ่ง

ผมเป็นลูกชาวนาโดยกำเหนิด ผมเคยค้นหาเกี่ยวกับชุมชนหนองบัวมานานแต่ยังไม่พบ

ผู้เขียนที่ทำได้ถึงท่านอาจารย์เลย

ผมเป็นคนชอบให้คนเฒ่าคนแก่เล่าเรื่องราวต่างให้ฟังเพราะสมัยนั้นตอนเด็กไม่มีเทคโนโลยีเช่นสมัยนี้มีก็แต่การเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนในสมัยก่อนให้ลูกหลานฟังแต่ก้อทันบ้างบางสมัย

ยายเคยเล่าให้ฟังเมื่อ 30ปีก่อนตอนผมเกิดปีนั้นฝนทิ้งช่วงทำนาได้ข้าว เล่มเดียว 1/2เกวียน พอแม่ผมออกจากอยู่ไฟก้อตามพ่อนอนตัดไม่เผาถ่านขาย แถวๆคลองสมอ ยายต้มน้ำข้าวใส่เกลือให้กิน ถ้าไม่สะบายก็ไปหาหมอหนิม ก็ได้กินโอวันติลแต่ต้องเดินไปที่ตลาด

ผมจำได้ว่าน่าเสร็จนาไปหาปลาตามหนองน้ำลูกปลาหมอตัวเล็กๆมาย่างเก็บไว้

เป็นกับข้าวได้กินจนโต

บ้านผมทางหน้าบ้านเป็นทางเกวียนมีน้ำไหลเป็นดินทรายผมชอบไปนอนเล่นที่นั่นเพราะไม่มีรถเช่นสมัยนี้ คือถนนวาปีประทุมรักษ์ติดกับบ้านเกิดหลวงพ่อไกร ผมยังเคยกินน้ำในลอยเท้าควายเลยครับเมื่อไปนาแตเดี๋ยวนี้มีแต่สารเคมี

ต่อมาประมาณ3ขวบพ่อซื้อTVเป็นเครื่องแรกในหมู่บ้านขาวดำ เวลาเย็นชาวบ้านแถวนั้นมานั่งดูข่าวชมละครกันเหมือนมาประชุมหมูบ้านเลยครับ

หากข้อความของผมที่เขียนมาไม่สอดคล้องกับเนื้อหาหรือทำให้มีการเสียดสี ใช้คำไม่สุภาพ ได้โปรดกรุณาลบข้อความนี้ด้วย

หากพอที่น่าจะมีสาระแล้วผมจะมาเล่าเรื่องราวของ ปู่ฮ้อ เถียรทิม ผู้ที่รู้จักให้ ให้เพื่เกิดประโยชน์ ให้ฟังกันครั้งหน้า ครับอาจารย์

อย่าว่ายุ่งเรื่องส่วนบุคคลนะครับ คือ คุณเสวกนี่   หากไม่ใช่ผู้รู้แกล้งเขียนแบบเด็กๆ  ก็ต้องเป็นเด็กรักการเรียนรู้มากๆนะครับ 

หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นเพื่อนหรือรุ่นพี่ๆ ที่เป็นคนกันเอง 

ผมค่อนข้างจะคิดว่าเป็นกรณีแรก  เพราะหลายมุมมองและหลายคำศัพท์ ไม่อยากเชื่อว่าเด็กรุ่นหลังจะรู้จักและนำมาพูดถึงได้  หากใช่ก็เชิญบรรเลงเลยนะครับ  

หากไม่ใช่  ก็ไม่ต้องระมัดระวังมากนะครับ  เขียนดีแล้ว  ไม่มีอะไรไม่เหมาะสมเลย  เรื่องบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่นี่ก็มีคุณค่ามากนะครับ  เรื่องราวของผู้คนในท้องถิ่น ก็น่าสนใจครับ ถือว่าเป็นทุนมนุษย์และทุนทางสังคม  หากจากแหล่งการเรียนรู้อย่างอื่นไม่ได้ครับ  คนรู้ต้องเล่าเก็บไว้ครับ

เรื่องออกไปเก็บปลาจากท้องนามาทำเป็นอาหารสำรองไว้กินจนเติบใหญ่  การกินน้ำในรอยตีนควาย  ทีวีขาวดำเครื่องแรกของหมู่บ้าน  เหล่านี้  น่าสนุกและเป็นภาพของวิถีชีวิตที่น่าดื่มด่ำซาบซึ้งจริงๆ นะครับ  เอาอีกๆ

ผมเป็น เหลน ของหมอทำ หมอแผนโบราณที่มีชื่อเสียงมากใน อ.หนองบัว ครับ อ้อเป็นเพื่อนไอ้เก๊าด้วยน่ะครับ

  • อยู่ตรงไหนละครับนี่ หมอทำน่ะ  ช่วยเขียนบันทึก หรือให้รายละเอียดไว้ให้หน่อยสิครับ มีเพื่อนๆ และคนที่ทำงานอยู่ที่อำเภอเคยมาชวนให้ไปจัดเวทีคุย  และผมก็ชวนต่อไปอีกว่า  อยากชวนลูกหลานชาวหนองบัวที่พอทำอะไรด้วยกันได้ มาหาวิธีคิดและพากันทำอะไรให้เป็นการพัฒนาท้องถิ่นไปด้วยกัน มีกลุ่มคนที่พอจะทำอะไรได้เยอะเลย ซึ่งการเริ่มต้นประสานงานและระดมพลังน้ำใจคนกันเองที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ เรียนรู้จากผู้คนและเรื่องราวของท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะทำให้ถักทอความรู้และสานประเด็นความสนใจให้มีความเชื่อมโยงกันได้ไปด้วยแล้ว ก็จะเป็นการเตรียมความรู้ เตรียมข้อมูล ไปในตัว จะคิดและทำอะไรก็ทำให้อิงอยู่กับพื้นฐานความเป็นจริงที่ดีของพื้นถิ่น  เล่าและบันทึกไว้เถอะครับ
  • ยิ่งเป็นเรื่องหมอแผนโบราณและเรื่องพัฒนาการทางด้านสาธารณสุขชุมชนพวกนี้ ผมอาจจะช่วยรวบรวมไว้ให้และเมื่อมีโอกาสจะนำมาจัดเวทีคุยให้ที่หนองบัวนะครับ
  • ล้วผมจะได้รู้จักคุณเก๊าและคุณโคกสวองสักทีไหมเนี่ยว่าเป็นใคร อยู่ตรงไหนของหนองบัว  หากเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ก็ใช้วัฒนธรรมเก่าๆ ของคนบ้านนอกเราๆก็ได้นะครับคือ บอกชื่อพ่อแม่ ตายาย หลวงพ่อหรืออุปปัชฌา และละแวกบ้าน ถึงจะพอรู้จักกันได้นะครับ 

ผมเป็นคนอำเภอบรรพตพิสัยครับ แต่เคยไปเที่ยวหนองบัวหายครั้งหลายหนมาอ่านและลงชื่อไว้ครับ

อันที่จริง เกริ่นไว้และปรารภไว้สักหน่อยก็ดีนะครับ เมื่อปี-สองปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายของทางจังหวัด รวมทั้งภาคประชาชน ได้เคลื่อนไหวที่จะจัดเวทีร่วมกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ให้คืบหน้า ทางคณะผู้เกี่ยวข้องได้ชวนผมลงมาช่วยกันดำเนินการด้วย และผมก็เห็นเป็นโอกาสที่จะชวนหลายกลุ่มคน ทั้งทางอำเภอ ครูอาจารย์สถานศึกษาที่สำคัญๆ  องค์กรท้องถิ่น  คนทำงานทางด้านสาธารณสุข และผู้ประสานงานเครือข่านงานสร้างเสริมสุขภาพของท้องถิ่น  พวกเราในพื้นที่ก็ตื่นตัวและทราบว่าร่วมมือกันดีมากครับ 

ทว่า ผมลองทบทวนและทำงานขั้นต้นกับเพื่อนๆ 2-3 คนในพื้นที่แล้ว  ก็ประเมินว่า เรายังเรียนรู้ เตรียมผู้คน-หน่วนงาน และสร้างพื้นฐานความร่วมมือกัน โดยเฉพาะท้องถิ่นกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่สำคัญๆ และน่าจะเป็นหัวหอกในการทำให้เกิดมิติใหม่ๆ ของการสร้างสถาบันการศึกษาในขั้นสูงของนครสวรรค์(ซึ่งรวมทั้งหนองบัว)  ไม่พอ  เลยก็บอกหลายท่านไปว่า งั้นรอตั้งหลักและเตรียมการกันใหม่ไปก่อนดีกว่า เพราะคิดว่าหลายคนอยากเห็นการสร้างมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันหนุนเสริมความเข้มแข็งให้ทำได้  มากกว่าที่จะเห็นท้องถิ่นต้องการได้เพียงมหาวิทยาลัยที่เหมือนกับในกรุงเทพและทุกแห่งในโลก ที่ขยายออกไปสู่ท้องถิ่น เท่านั้น

การนำมาเรียนรู้และคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างนี้ จึงเป็นทางหนึ่งของการสร้างกำลังทางปัญญาและสร้างกำลังการคิดเห็นเกี่ยวกับวิถีตนเอง รวมทั้งบอกกล่าวผู้คนให้ค่อยคิด-ค่อยทำไปด้วยกันนะครับ

คุณกวินนี่ก็คนหนึ่งด้วยนะครับ หากมีโอกาสจะชวนไปนั่งคุยกับคนหนองบัวบ้าง

บ้านหมอทำอยู่ในซอยทางเข้า วัดเทพสุทธาวาส เข้าไปประมาณ500เมตร จะเจอสระน้ำใหญ่ๆครับ ถามคนแถวนั้นได้เลย อ้ออยู่ หมู่9 ต.หนองกลับ ครับ

อ้าว เห็นพูดถึงคุณเก๊า-เฮียเก๊า กับคุณนพแววเสียงนักร้องลูกทุ่งที่อยู่ห้วยร่วม ผมก็คิดไปถึงว่าเป็นคนพื้นเพบ้านห้วยร่วมเลยละครับ

แต่แถววัดเทพสุทธาวาสก็เป็นชุมชนเก่าแก่ของอำเภอหนองบัว แล้วผมก็น่าจะมีรุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้องอยู่ที่นั่น เท่าที่นึกๆได้นี่ก็หลายคนอยู่เหมือนกันนะครับ เมื่อไหร่รวบรวมเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ชุมชน และจัดเวทีคุยกันในพื้นที่ ก็บอกกล่าวกันทิ้งไว้ในนี้ได้นะครับ หากผมและคนอื่นๆ ได้มีโอกาสกลับบ้านตรงกับช่วงที่มีกิจกรรม ก็จะไม่ลืมที่จะมาร่วมเรียนรู้และทำอะไรด้วยกันนะครับ

พี่ชายกลับหนองบัวเมื่อไรพาน้องสาวไปด้วยนะคะ

ได้ข่าวว่าหยุดอยู่แค่ชัยนาท

เพื่อนๆก็ได้แต่รอเก้ออยู่ที่คอนหวันเอง

น้องๆ เขาพากันไปทำบุญที่บ้านสวนชัยนาท ครับ แล้วน้อง NU 11 ไม่ไปเที่ยวหากันหรอกรึ หากไปก็เลยไปเที่ยวที่บ้านหนองบัวบ้างนะครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ วิรัตน์

พอพูดถึง การจัดเวทีคุย ก้อหหน้าสนมากเลยครับใจครับ

ตอนนี้ผมและเพื่อนๆทั้งรุ่นพี่และน้อง ที่มาทำงานอยู่ที่จังหวัดระยอง

พวกเราไม่ได้ทอดทิ้งกัน ได้รวมเป็นกลุ่ม ก้อเลยจัดตั้งเป็นชมรม หนองบัว คอนหวันคลับ

ที่ระยอง โดยแต่ละคนเป็นลูกหนองบัวทั้งสิ้น ด้านนโยบายคือรมกลุ่มกลับคืนสู่ถิ่นชุมชนบ้านเกิด โดยผ่านมาจัดกิจกรรมมอบสุ่โรงเรียนและวัด เช่นวัดเขาพระ วัดเทพสุธาวาส และโรงเรียนมาตลอดแต่ก้อไม่ได้ใหญ่โตอะไร และทุกคนทำหน้าที่แนะแนวทางการทำงานแก่รุ่นน้องที่มาหางานทำด้วย ทำมาหลายปีแต่เพิ่งจัดทำเป็นชมรมขึ้นมา ปี52 ว่าจะไปแถวๆเขามะเกลือบ้าง โดยมีรุ่นพี่ที่ปรึกษา เช่น พี่ ชนะ ท้วมเทศ และ พี่ สุทิว นวลละออ มาร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ทำ WWW.เลยครับ

เยอะจนสามารถรวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมหนองบัว คอนหวัน ได้เลยเชียวหรือ ไปทำอะไรกันแถวนั้นกันละครับเนี่ย อันนี้มองแบบคนศึกษาทางประชากรศึกษาเลยเกิดความสนใจไปด้วยเฉยๆน่ะครับ เพราะว่าลักษณะการย้ายถิ่นและการเคลื่อนย้ายตัวเองของผู้คนเนี่ย เป็นการปฏิบัติของปัจเจกก็จริง แต่หน่วยความรู้และกระบวนการตัดสินใจ จะเป็นระดับกลุ่มและเครือข่ายทางสังคมครับ

คือ จะมีคนนำร่องเป็นตัวแบบ ไปเผชิญโชคแล้วก็เกิดความสำหรับให้เปรียบเทียบสักหน่อยว่ามีโอกาสดี หรือว่าให้ประสบการณ์ชีวิตกว่าบ้านเรา แล้วก็จะใช้เป็นเกณฑ์คิดและอ้างอิง ว่าจะย้ายไปอยู่ไหน พักที่ไหน ทำมาหากินอย่างไร การย้ายไปทำมาหากินและตั้งหลักแหล่งเป็นกลุ่มย่อยๆทางสังคมในพื้นที่หนึ่งๆ ของบ้านเรา จึงมักจะมีสายของการย้ายถิ่นแล้วก็มีแบบแผนกลุ่มวัฒนธรรมย่อยซึ่งน่าสนใจมากครับ

เช่น กลุ่มชาวบ้านแถวกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด เลย สุรินทร์ บางหมู่บ้าน ก็ย้ายไปเป็นคนขายล๊อตเตอรี่ แล้วก็ไปอยู่รวมๆกัน แล้วชาวหนองบัวเขาไปอยู่ระยองกันนี่ เขาไปทำอะไรกันล่ะครับเนี่ย สวนยาง? โรงงานอุตาสหกรรม ? น่าสนใจจริงๆ

ดูเหมือนว่าจะมีเพื่อน และพี่ๆน้องๆ พวกเราชาวหนองคอก ไปเป็นเถ้าแก่รถบรรทุก เจ้าของรีสอร์ต และเจ้าของกิจการ เป็นกิจการใหญ่เอาเรื่องอยู่ ระดับภาคตะวันออกและระดับประเทศเลย คนหนึ่งนั้นเป็นเพื่อนซี้อยู่นะครับ นามสกุลร้อยโทสาย แต่ลืมชื่อใหม่ของมันแหละ ประเดี๋ยวจะไปหามาให้ เขาเป็นนักกิจกรรม และเป็นนักฟุตบอลเก่าของโรงเรียน

กิจกรรมที่ทำน่าชื่นชมและน่าสนใจมากนะครับ ขอคารวะจริงๆ ที่ไปได้ดีกันแล้วก็ยังไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด ยิ่งไปทำกิจกรรม หาอะไรไปช่วยวัดกับโรงเรียนนี่ ต้องขออนุโมทนาด้วยเลย แถวหนองบัวยังมีเด็กและโรงเรียนที่ยากไร้ ขาดโอกาสมากมาย อยู่อีกเยอะครับ

ไอ้ชนิดที่เด็กๆยังไม่มีกางเกงนุ่งไปโรงเรียน ไม่มีตังค์ซื้อหนังสือและวัสดุอุปกรณ์การเรียน หน้าหนาวไม่มีเสื้อหนาว ต้องเดินแบตีนเปลือยเปล่าไปบนถนนลูกรังและแก้มแตกเป็นระแหง ขี้มูกเกระอมอมแมม ก็ยังมีอยู่อีกมากมายครับ(ทั้งเห็นเองและเพื่อนเขาเล่าให้ฟัง เราก็จะช่วยกันหาของไปทำกิจกรรมอย่างที่คุณเสวกกำลังทำนี่แหละครับ) แถววัดเขาพระ เขามะเกลือ เหมืองแร่ ปากดง หรือแม้กระทั่งที่โรงเรียนหนองคอก หนองบัวเทพฯ และวัดเทพสุทธาวาส ก็ยังไปช่วยกันทำอะไรได้อีกเยอะครับ

ที่สำคัญก็คือ อย่างน้อย พวกเราที่อยู่ที่นั่นก็จะได้มีกำลังใจ สามารถอดทนและทำอะไรได้ต่อๆไปได้อีกมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

หากมีกิจกรรมก็บอกผ่านทางนี้ได้อีกทางหนึ่งนะครับ ใครเขาจะไปช่วยก็จะได้ติดต่อกันได้

เรื่องเวทีนั่งเสวนาและพูดคุยกันนั้น คิดว่าคงจะมีนะครับ ผมทาบทามหลายๆท่าน ที่จะช่วยทำประเด็นและรวบรวมข้อมูล หรือถ้าลำบาก เบียดเบียนเวลามาก ก็ขอให้ช่วยๆกันรวบรวมประสบการณ์ดีๆ ไปช่วยคุยกันหน่อย ตอนนี้คนที่เขาอยู่ในพื้นที่ คึกคักและพร้อมทุกวันครับ บางทีแค่เกริ่นๆ ก็พรวดพราดชวนกันไปทั้งอำเภอเสียแล้ว รอแต่คนหนองบัวที่ออกไปอยู่ไกลบ้านตามที่ต่างๆ ไปช่วยกันเท่านั้นแหละครับ

ดีจังเลยนะครับที่ได้ทราบข่าวคราวดีๆอย่างนี้

นี่อย่าหาว่าผมเชยนะ ตอนนี้ผมจินตนาการไม่ออกเลย คุณเสวก พี่ชนะ พี่สุทิวนี่ รุ่นไหนเนี่ย ก่อนหรือหลังผม ผมรุ่นที่ 14 ครับ จบหนองคอกปี 2518 หรือ 2519 นี่แหละ

พอพูดถึงโรงเรียนหนองคอก ก็อดนึกถึงคำว่าโรงเรียนไม่ได้ ผู้ใหญ่บางคนมักถามเด็กว่าไปเรียนโรงเรียนแดงรึยัง เพราะเคยจำได้เมื่อก่อนเป็นอาคารหลังคาสีแดง และดูจากรุ่นที่อาจารย์บอก พ.ศ.ผมยังไม่เกิดเลยครับ รุ่นพี่ที่ว่าก็อายุมากกว่าผมประมาณกว่า10ปีเอง

ส่วนคนที่มาทำงานมีตั้แต่ เข็นรถขายเฉ่าก๊วย ขายผัก ขับรถพ่วง ทำงานโรงงานตั้งแต่คนงานจนถึงผู้บริหารกลุ่มปิโตรเครมี แลมีขับรถขายกับข้าวมาจากวัดสามัคคีสุนธรหัวยร่วมอีกหลายคัน ใครกลับบ้านมาทีก็เอา ปลาร้าสับมาฝากกัน ไปมาหาสู่กันตลอดไม่เคยแบ่งอาชีพกัน

ส่วนการปักรากฐานนั้นเคยถามหลายคนก็ตอบคล้ายกันว่าอีกไม่นานก็กับมาอยู่บ้าน

การที่ยังมีอายุน้อยก็ยังไม่มีความมันใจที่จะประกอบอาชีพที่บ้านเกิดของตน ยังต้องออกค้นหาความรู้อีกมากเพื่อมาปรับปรุงความเป็นอยู่ทางสังคมของตนให้ได้ทัดเทียมกับชุมชนอื่นที่ไม่ต้องออกไปหางานทำ

หลายครั้งผถ้าผมผ่านไปแถวๆ ม.เการตรบางเขน ก็จะไปที่หอสมุดไปค้นหาวิทยานิพนธ์มาอ่านเพื่อรวบรวมข้อมูลไปใช้และปฏิบัติจริงเพื่อที่จะได้มีอาชีพต่อไปภาคหน้ากับชุมชนบ้านเกิดของเราเองโดยที่จะได้หนีคำว่า มนุษย์เครื่องจักรโรงงาน

และท้ายนี้ขออวยพรปีใหม่ ให้อาจราย์และครอบครัวมีแต่ความสุข อย่าได้เจ็บป่วย ให้รวยเงินทอง และมีบริวารที่ดี....

คุณเสวกนี่เป็นมนุษย์เครื่องจักรโรงงานแบบมีคุณภาพเลยนะนี่ พนักงานประเภทที่ชอบแวะไปห้องสมุดมหาวิทยาลัย แล้วก็ค้นวิทยานิพนธ์มาอ่านเพื่อเอาไปใช้ในอาชีพการงานนี่ ผมพยายามนึกตามนะครับว่าน่าจะเป็นพนักงานแบบไหน

  • มือวิชาการ วิเคราะห์ระบบและวางแผนองค์กร
  • คนเรียนปริญาโท / ปริญญาเอก (น่าจะเป็นกลุ่มนี่กระมัง)
  • นักวิจัย กำลังทำวิจัย
  • ศึกษาค้นคว้าเพื่อความรอบรู้ในชีวิต
  • ทีมวิชาการของผู้บริหาร
  • วิทยากร นักฝึกอบรม และผู้ทำงานพัฒนาวิชาการขององค์กร

พอพูดถึงห้วยร่วม และมีคนดูว่าสนใจทางวิชาการก้เลยนึกได้ครับ  ที่บ้านห้วยร่วมมีท่าน ดร.สมเกียรติ ไหม (ไม่รู้ว่านามสกุลใช่ ประจำวงษ์หรือเปล่า) มีญาติๆและชาวบ้านบอกว่าบ้านเราแถวห้วยร่วม มีคนไปจบปริญญาเอกทางชลประทาน หรืออย่างไรนี่แหละ  ดูเหมือนว่าท่านชื่อ ดร.สมเกียรติ  ผมเคยแนะนำให้คนที่เขาจัดเวทีประชาชน  เวลาดำเนินการขึ้นแล้ว น่าจะไปเชิญท่านให้ไปคุยด้วย

เพิ่มเติมอีกนิดครับ ที่บ้านห้วยร่วมนี่ มีคนเก่งและมือดีหลายคน ทั้งของชาวบ้าน ชุมชน และผู้นำทางวิชาการสมัยใหม่ มีอีกคนหนึ่งที่เมื่อเวลาทำงานในพื้นที่กันแล้วน่าจะนึกถึงนะครับ เป็นรุ่นน้องแล้วก็เป็นผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาสุขภาพภาคประชาชน นครสวรรค์ ชื่อ อาจารย์ไพศาล เจียนศิริจินดา เป็นคนห้วยร่วมนะครับ 

อีกท่านหนึ่ง คือ อาจารย์สยาม เอี่ยมพิชัยฤทธิ์ เป็นคนห้วยร่วม แล้วก็ดูเหมือนว่าจะเป็นญาติของคุณหมอวิวัฒน์ พานทองดี (ดูเหมือนว่าตอนนี้จะอยู่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และเป็นศิษย์เก่าหมอศิรริราช มหาวิทยาลัยมหิดลครับ) และเพื่อนผมคือปราณี พานทองดี พี่ของหมอวิวัฒน์ (นี่ก็ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอกกันนะครับ)

อาจารย์สยาม เอี่ยมพิชิชัยฤทธิ์นี้ ท่านเป็นวิทยากรและผู้บรรยายเรื่องการทำสื่อและเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ของบริษัทโกดัก พอรู้ว่าผมเป็นคนหนองบัว และตำบลห้วยร่วม ท่านก็บอกว่า แต่เดิมนั้นก็เป็นคนพื้นเพบ้านห้วยร่วมเหมือนกัน ท่านเป็นวิทยากรและผู้บรรยายในโครงการอบรมวิทยากรให้แก่ที่ทำงานผม แล้วก็เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้มากมาย ตอนนี้ไม่เจอกันหลายปีแล้ว แต่ก็อยากแนะนำไว้ให้นะครับ ถือว่าเป็นทุนมนุษย์และทรัพยากรบุคคลของระดับประเทศ  หากชวนเชิญท่านไปเป็นกำลังทางวิทยาการและความรู้เพื่อการทำอะไรดีๆกันในท้องถิ่น  ก็คงจะช่วยให้คนทำงานในพื้นที่ทำอะไรได้เยอะ

มีใครอีกบ้างล่ะเนี่ย  หากนึกออกจะรวบรวมมาให้ตามแต่จะสะดวกนะครับ

                                    เก็บดอกบานชื่นมา สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ผมไม่ได้มีการศึกยังที่อาจารย์ว่าหลอกครับมาวันนี้จะเล่าเรื่องปู่ฮ้อให้ฟัง

ปู่ฮ้อ เถียรทิม เป็นที่รู้จักของคนทางแถบวัดเทพสุธาวาส หรือที่ชาวบ้านคนสมัยก่อนบางคนเรียกว่าวัดใหม่ เพราะปู่ฮ้อเป็นคนที่มีความเสียละสินส่วนตัวเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทามสังคมอย่างมาก คือได้บริจาคทีดินและยกให้เป็นที่ของวัดเพื่อเป็นสถานที่สืบทอดพระพุธศาสนาต่อไป

ปู่ฮ้อ เป็นหมอโบรานทั้งด้าน สมุนไพรและคาถามหานิยม และมีผู้สืบต่อมาคือลูกชายสองคน ปู่สงวน และปู่น้อย เถียรทิมส่วนลูกคนอื่นๆไม่มีใครสืบไป

ปู่สงวน เชียวชาญด้านสมุนไพรเมื่อสิ้นบุญลง ก็คุณคนึง เถียรทิมได้สืบต่อและได้เปิดเป็นร้านขายยาแผนโบรานชื่อว่าร้าน สงวนโอสถ อยู่ทางเข้าวัดเทพ

ปู่น้อย เชียวชาญด้านมหานิยม นวดน้ำมัน ต่อกระดูกเป็นต้น ต่อมาได้สิ้นบุญด้วยวัยชรา อายุ 93 ปี และมีลูกชาย ชื่อชม เถียรทิมทำหน้าที่ต่อ

ปัจจุบันท่านพระครูสม เจ้าอาวาสและชาวบ้านได้สร้างรูปปั้นเท่าตัวจริงและสร้างศาลาครอบด้านหลังเขียนลวดลายด้วยสีน้ำมันอันงดงาม และมีภาพเขียนที่กุฏิพระคล้ายรูปจริงมากหากได้ผ่านไปยากให้แวะชม และสงกรานต์ก็มีการสงน้ำด้วย

ที่เล่าให้ฟังเพราะท่านที่ยอมสละเพื่อมวลหมู่มากก้อย่อมมีคุณค่าที่น่ายกยองแก่คนรุ่นหลัง

อ้อ ปู่น้อยเล่าว่าตรงต้นโพธ์ที่ตั้งรูปปั้นอดีตคือหน้าบันไดบ้านและเป็นคอกควายด้วยและเคยเป็นทีฝังกระดูกปู่ฮ้อด้วยตอนเมื่อเผาเสร็จและปู่น้อยได้ขุดขึ้นมาเมื่อตอนทำรูปปั้นและเก็บไว้ในรูปปั้นนั้น

ขอบคุณน้อง NU 11 มากๆ ขอให้น้องก็มีความรื่นเริงใจ ชื่นบาน และแจ่มใสเหมือนกับดอกบานชื่นอยู่เสมอ เห็นดอกบานชื่นแล้วคิดถึงบ้านเลย แถวบ้านชอบปลูกดอกบานชื่นกับดอกดาวเรืองเอาไว้ไปจัดแจกันไหว้พระ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร หากมีการไหว้พระก็จะต้องเป็นดอกบานชื่น หรือดอกดาวเรือง นี่แหละ ขอให้น้อง NU 11 มีความสุขนะ พี่เคยเล่าให้น้องพี่ฟังว่ามีเพื่อนของเขามาถามพี่ว่าทำไมพี่นามสกุลเหมือนเพื่อนของเขา น้องพี่เขาก็เลยเล่าชื่นชมน้อง NU 11 มากมาย

เวลากลับบ้าน ชวนคนเฒ่าคนแก่มานั่งคุย เก็บรวบรวมเรื่องพวกนี้ไว้ก็สนุกครับ ใช้เป็นเรื่องชวนคนในชุมชน พี่ๆน้องๆ วัด และสถานศึกษา มาเรียนรู้ชุมชน สร้างความรู้ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าก็น่ำสนใจครับ ผมก็มักรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้แถวบ้านผมไว้ได้เรื่อยๆ

บางทีก็ถือโอกาสตอนที่คนเฒ่าคนแก่ไปพร้อมหน้าพร้อมตากันในวันพระบนศาลาวัด ตั้งวงนั่งคุยและนำสนทนา เล่าปูมหลังของชุมชน หากมีคนรุ่นหลังๆ รวบรวมไว้และใช้วิธีอย่างที่ว่านั้น ชาวบ้านจะชอบคุยและคุยกันได้สนุกครับ ยิ่งคนแก่และคนที่เรียนรู้แบบมีครูในวิถีโบราณ ก็จะถ่ายทอดความรู้ให้เก็บไว้ครับ ลองทำดูสิครับ คนเก่าแก่มักมีแนวคิดไม่เหมือนคนสมัยใหม่ วิถีความรู้และการสืบทอดความรู้ของคนในอีดต มีหลักสำคัญ คือ

  • ไม่ให้ความรู้และถ่ายทอดวิชาครูกับคนที่ยังไม่ได้ธรรมมะ ไม่มีคุณธรรม และไม่อยู่ในธรรม พอที่จะให้ท่านประมาณได้ว่าจะไม่นำวิชาความรู้ไปเบียดเบียนผู้อื่น หรือเป็นคนเห็นแก่ส่วนตน
  • ไม่สอน ไม่แสดงความรู้ และไม่ถ่ายทอดความรู้ หากลูกหลานและผู้เรียนไม่แสดงความสนใจ

ลองดูสิครับ อันที่จริงแถววัดเทพนั้น ลูกหลานของแถวนั้นมีคนที่มีกำลังที่จะทำอะไรที่เป็นการสืบทอดไว้ได้เยอะอยู่แล้วนะครับ  แถวนั้นมีเพื่อนๆน้องๆ ทั้งเป็นหมอ ครู ตำรวจ พยาบาล และผู้บริหารสถานศึกษา  หากชวนกันทำเมื่อไหร่ ก็บอกกล่าวกับบ้างนะครับ เผื่อเป็นจังหวะที่กลับบ้านพอดี จะได้ถือโอกาสแวะไปบ้าง 

ผมเคยไปแถวนั้นนับครั้งได้เลย  แล้วก็นานมากแล้ว  ตั้งแต่พวกเราเป็นเด็กๆ เมื่อ 30-40 ปีก่อนโน๊น  เคยไปบ้านเพื่อนและไปเป่าแตรงานบวชนาคอยู่แถวนั้น 2-3 ปี ครับ นึกภาพไม่ออกแล้ว

  • อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นของดีในหนองบัวและเป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรมได้เหมือนกันคือ ศาลาวัดหลังเดิม ของวัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย เป็นศาลาไม้ที่ใหญ่โตมโหฬาร มีเสาไม้ขนาดใหญ่นับเป็นร้อยต้นได้กระมัง สามารถรองรับกลุ่มชาวบ้านที่มาบวชลูกหลานให้รอบนศาลาพร้อมกันได้นับเป็น 10-20 จ้าว และอยู่รายรอบศาลาอีกหลายสิบจ้าว
  • ในยุคก่อนที่จะมีรถราและการสัญจรที่สะดวก การแห่นาคจะใช้ช้าง ม้า และเสลี่ยงคันหาม ชาวบ้านที่มีฐานะและเป็นคนกว้างขวาง มีญาติพี่น้องและคนเคารพนับถือมาก ก็จะมีทั้งสามอย่างอยู่ในขบวนแห่แหน 
  • การมีช้างแห่ และขนาดของแตรวง ซึ่งจะเรียกขนาดว่า วงเครื่อง 5 เครื่อง 7 เครื่อง 9 และมากกว่า ก็จะเป็นสิ่งบ่งบอกฐานะทางสังคมของนาคและเจ้าภาพ (ผมเล่นแตรวงในแตรวงขนาดเครื่อง 5  ซึ่งในยุคนั้น การว่าราคาจะมีตั้งแต่เล่นให้ฟรีแบบเอาน้ำใจกันไปจนถึงราคา 5-7 พันบาท ราคาปรกติจะอยู่ที่ 2-3 พันบาท เท่ากับข้าวเปลือก 3 เกวียน การคิดราคากัน ส่วนใหญ่จะดูตามกำลังของเจ้าภาพ /การเล่นและแห่นาคในวันสุกดิบ /การมีเล่นเชียร์รำวง ก่อนบวชและฉลองหลังการบวช หากเป็นการแห่นาคไปบวชอย่างเดียวก็จะถูก)
  • ช่วงที่มีคนบวชมาก จะมีขบวนช้างแห่นาคเป็น 10-20 เชือก รวมกับนาคที่รอรอบๆศาลาอีก 
  • ในช่วงเทศกาลบวชนาค วัดหนองกลับจะมีการบวชนาคในแต่ละวันนับเป็น 20-30 เจ้า เมื่อบวชแล้ว ก็จะกระจายไปตามวัดใหญ่น้อยทั่วอำเภอหนองบัวและใกล้เคียง บ่งบอกถึงบารมีของอุปปัชฌาจารย์คือหลวงพ่ออ๋อยของชาวหนองบัว
  • เดี๋ยวนี้ศาลาดังกล่าวจะยังคงมีอยู่หรือไม่ ใครมีข้อมูล ความทรงจำ และรูปถ่ายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็อาจนำมาโพสต์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาสืบทอด ก็จะดีนะครับ
  • ปลายเดือนนี้ หนองบัวจะมีเทศกาลงานประจำปีจ้าวพ่อจ้าวแม่ หรืองานงิ้วหนองบัว เลยขอบอกต่อแก่ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก หนองบัวเทพ และวัดเทพ รวมทั้งคนหนองบัวไกลถิ่น เผื่อจะได้กลับไปเยี่ยมเยือนบ้านเกิดนะครับ
  • ปีนี้ และวันนี้ (๒๘ มีนาคม ๒๕๕๒) ไม่ได้ไปร่วมงานพบปะศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก ในช่วงที่มีงานงิ้วหนองบัวเสียแล้ว ฝากความรำลึกถึงเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวโรงเรียนหนองคอกโดยเฉพาะในรุ่นที่ ๑๔ ด้วยนะครับ  เพื่อนๆบอกกล่าวให้ทราบอยู่ แล้วก็ตั้งใจอยู่ว่าจะได้ไปร่วม แต่ติดงานหลายงาน หากไปก็คงไปโผล่เอาเมื่อค่อนแจ้ง เลยเปลี่ยนใจไม่ไปแล้วนะครับ
  • ได้รับอีเมล์ติดต่อจากคุณเสวกแล้วนะครับ ดีใจครับ แล้วก็ต้องขออภัยที่จะขอไม่ตอบกลับทางอีเมล์นะครับ เว้นแต่มีเรื่องจำเป็น 
  • อยากให้คุยและบันทึกไว้ในนี้แหละครับ  เด็กๆ  หรือชาวบ้าน  คนในท้องถิ่น  เวลามีโอกาสเข้ามาในอินเตอร์เน็ต  นอกจากฝึกเทคโนโลยีให้ได้แต่ความทันสมัยแล้ว หากเขามีโอกาสค้นหาข้อมูลและความรู้  หาแหล่งศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับท้องถิ่นตัวเองในแง่มุมที่ติดอยู่กับผู้คนและวิถีชีวิตชุมชน  เมื่อมาเจอเรื่องใกล้ๆตัวในนี้  ที่เป็นเรื่องชุมชนและท้องถิ่นของเขา ในท่ามกลางโลกข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นสุดจินตนาการ  มันจะทำให้เขาเห็นตัวเองในโลกกว้างที่ต่างจากการที่เมื่อเข้าไปในอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็เห็นแต่คนอื่นแต่ไม่เห็นตนเองเลย  ชุมชนตนเองมีแต่ความเป็นสูญญากาศในโลกของความรู้  ซึ่งการศึกษาสมัยใหม่และโลกไอที  มักพาชาวบ้านและเด็กๆ ให้เป็นไปอย่างนั้น
  • ที่พยายามเขียนเรื่องหนองบัว ก็อยากให้เด็กๆและคนรุ่นใหม่  ประทับใจและรักวิถีความรู้ เห็นวิธีร่วมสร้างความรู้ขึ้นมาจากชุมชน  เมื่อเติบโตแบบมีการเรียนรู้ชุมชนตัวเองไปด้วยอย่างนี้ ก็สามารถเป็นกำลังพัฒนาชุมชนและที่ไหนก็ได้ สามารถเปลี่ยนตนเองให้ผสมผสานกับความเป็นชุมชนนั้นๆ  มิใช่มุ่งเปลี่ยนชุมชนให้เป็นอย่างภายนอกด้านเดียว  ที่บ้านผม บ้านตาลิน ผมก็เขียนด้วยเหตุนี้เหมือนกัน นำร่องให้คนทีหลังเห็นแนวทำต่อยอด
  • คุณเสวกก็ลองเขียนและบันทึก  เริ่มในนี้ก่อนก็ได้นะครับ  แต่หากจะลองไปเปิดของตัวเอง ก็ยิ่งดีใหญ่เลย  อยู่แถวบ้านเราจะได้ใช้เป็นแหล่งสะสมความรู้และข้อมูลจากการบอกเล่าของคนในชุมชนเอง  ดีออกนะครับ
  • ยิ่งถ้าหากคุณเสวก เป็นผู้นำชุมชน หรือผู้นำ-ผู้บริหารชุมชนในองค์กรท้องถิ่น  หรือเป็นชาวบ้านที่อยู่กับท้องถิ่น ก็จะยิ่งดีใหญ่เลยครับ จะพยายามช่วยนะครับ ทั้งเป็นกำลังใจ เสริมประเด็นและต่อเติมความคิดให้
  • สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ที่เคารพบ

    ผมแวะมาทักทายช่วงสงการนต์ ผมเองได้มีโอกาสกลับหนองบัวช่วงสงกรานต์

    ไม่ได้พบกับบรรยากาศแบบนี้มานานหลายปีแล้วครับ

    คือมีอยู่ว่า ผมได้ไปสนธนากับพระอาจารย์ที่วัดใหญ่หรือวัดหนองกลับแล้วได้ยินเสียงเพลงที่คนแก่ร้องในออกเครื่องไฟที่วัดเลยเดินไปดูที่หน้าวิหารหลวงพ่อเดิมมันขนลุกจริงๆครับ

    ทำให้นึกถึงสมมัยเป็นลูกกะเล็กตามแม่ใหญ่ไปวัด เค้าลำวงร้องเพลงพวงมาลัยกันแบบต้นฉบับเลยก็ว่าได้หลายเพลงผมพอจำได้บ้างบางเพลงมันเป็นความประทับใจว่าคนหนองบัว หนองกลับยังรักที่จะให้ประเพณีแบบนี้คงอยู่ถ้าวันนั้นมีกล้องติดไปว่าจะเก็บรูปมาฝ่าก และมีทั้งก่อพระทราย ยกธงผ้าให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

    และอีกสิ่งหนึ่งคือได้ไปที่วัดใหม่ หรือ เทพสุธาวาส บนศาลาข้างเสา นอกจากมีภาพเขียนเทศมหาชาติทุกรรฑ์แล้วยังมี ภาพ ท่านเจ้าคุณเทพ ปู่ฮ้อ และ ภาพการยกเสาศาลาอีด้วย ภาพพิธีเล่านั้นถ่ายจากด้านหลังคนที่กำลังนังฟังพระอยู่ เหมือนกับว่ากำลังสนใจมากๆที่ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ยืนทำท่าทางต่างๆ มีเด็กนักเรียนใส่เสื้อขาดๆไม่มีรองเท้า มีเกวียน มีต้นตาลอยู่กลางทุ่งคนสมัยนั้นตัดผมหัวเขียงทั้งชายหญิง

    คนแก่นุงกางเกงขาก๊วยครึ่งแข้งเสื้อแขนยาวสีเดียวกันหมดถือจอบพร้อมที่จะขุดหลุมเสายืนตัวตรงสุภาพมากเลยครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก สวัสดีปีใหม่วันสงกรานต์ครับ

    ยังดีกว่าผมนะครับ ที่คุณเสวกได้มีโอกาสกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์

    ผมไม่ได้กลับเลย ตั้งแต่โน่น ช่วงงานงิ้วเมื่อกลางเดือนมีนา.โน่นแล้ว พรรคพวก รวมทั้งรุ่นพี่ๆน้องๆ ของโรงเรียนหนองคอก เขาถือโอกาสจัดงานพบปะกันด้วย

    ผมนั้น นานๆจะได้มีวันหยุด เลยก็ขอใช้วันหยุดยาวนี้ทำงาน เลยก็งดไปไหนมาไหนไว้ก่อน

    คุณเสวกเล่าถึงเพลงพวงมาลัยแล้ว ก็ทำให้ผมนึกถึงตอนอยู่บ้านในวัยเด็ก เพลงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเต้นกำรำเคียวพวกนี้ คุ้นหูมากเป็นอย่างยิ่ง รวมไปจนถึงหมอลำ อย่างหลังนี้ผมคุ้นมากกว่าอย่างอื่น

    งานวัดหนองบัว ผมมีโอกาสได้เที่ยวเพียงครั้งสองครั้ง จำได้เลือนลาง จำได้แต่เวทีมวยและเวทีรำวง ข้างโบสถ์หลวงพ่ออ๋อย นอกนั้นก็นึกภาพบรรยากาศไม่ค่อยอก เพราะไม่ค่อยได้ไป

    บ้านผมอยู่บ้านตาลินครับ สมัยก่อนโน้น การมาเที่ยวงานวัดหรืองานงิ้วที่หนองบัว เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับแถวบ้านผม ต้องรวมคนได้เยอะๆ ถึงจะสามารถไปเที่ยวกันได้ ซึ่งก็ต้องเดินเท้าถึง ๖-๗ กม. ไปกลับเกือบยี่สิบกิโล ไปถึงงานหนังก็เกือบจบไปเรื่องหนึ่งแล้ว

    งานงิ้วนั้น มันมีทั้งกลางวันกลางคืน อีกทั้งผมมักได้ร่วมขบวนแห่ล่อโก๊ะไปกับเขาด้วยตั้งหลายปี เลยได้ดูมากกว่า

    วัดหลวงพ่ออ๋อยผมมักได้คุ้ยเคย ในตอนแห่นาค ผมเล่นแตรวงครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แห่กลางวันเสียอีก ส่วนงานวัดนั้น แถวบ้านผมมักไปเที่ยวงานประจำปี โน่นครับ วัดเกาะแก้ว กับวัดห้วยถั่วกลาง

    ส่วนใหญ่ก็ดูลิเกครับ โน่น กว่าจะรบกันเสร็จและพระราชาเสด็จกลับวัง ก็เกือบสว่าง ก็จะเดินกลับอย่างสะโหลสะเหล

    ตอนหลังๆมาถึงได้เริ่มมีหนังมาให้ดู สมัยก่อนก็ไม่มีอะไรหรอกครับ แทบไม่ต้องรู้จักชื่อหนัง หากเป็นไอ้มิตร / อีเพ็ชร (ขออภัยครับ พวกผมและชาวบ้านเรียกกันอย่างนั้นจริงๆ หมายถึง มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์ น่ะครับ) หรือสมบัติ / พิศสมัย แค่นี้แหละ ก็ดูได้หมดทุกเรื่อง

    ขอบคุณที่นึกถึงกันและแวะนำเอาเรื่องราวต่างๆมาฝากกันนะครับ ดูแล้วหัวข้อนี้มีคนเข้ามาอ่านพอสมควรเหมือนกัน หากคิดว่าเป็นคนบ้านเราสัก ๑ ใน ๓ คือประมาณสักร้อยกว่าคน ก็นับว่าเป็นประโยชน์มากแล้ว นำเรื่องราวต่างๆ มาเขียนเก็บไว้อีกนะครับ.

    เจริญพรคุณโยมอาจารย์

    เคยได้ยินโยมป้าลื้ม นุชเฉย เล่าให้ฟังว่ามีอุบาสิกาท่านหนึ่งทำอาหารไปถวายพระอาจารย์ที่วัดท่านคงมาจากต่างถิ่นและอาหารที่ทำไปก็มีหลายอย่าง ท่านก็ถามว่ามีอะไรบ้างอุบาสิกาก็ตอบได้หมด มีอยู่อย่างหนึ่งไม่กล้าตอบชื่ออาหารว่าคืออะไรอาหารที่ท่านอุบสิกาไม่เอ่ยชื่อถึงนั้น(เพราะความอาย)เป็นอาหารประจำของคนหนองบัว-หนองกลับโดยแท้จริง ยังนึกไม่ออกว่าแถวบ้านตาลินของคุณโยมอาจารย์นิยมทานกันหรือไม่ถ้าอามาเดาก็คงเรียกอย่างอื่นไม่น่าจะเรียกพริกเกลือ คนหนองบัวหนองกลับเรียกอาหารชนิดนั้นด้วยศัพท์เฉพาะทางเทคนิคท้องถิ่นพื้นบ้านว่า "พริกเกลือ" คือปลาร้าสับ,คนอีสานเรียก(แจ่วบอง) เมื่อฉันเสร็จท่านก็ชมด้วยภาษาพระที่ไม่ยึดติดด้วยรสชาติว่าโยมทำอาหารรสชาติดี(อร่อย)อุบาสิกาก็ยิ้มแป้นด้วยความชื่นใจ

    เคยมีครอบครัวข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอำเภอหนองบัวที่มาจากกรุงเทพฯ มาอยู่ใหม่ ๆ ไม่กล้าจะรับประทานพริกเกลือเพราะไม่คุ้นเคยไม่รู้จัก ถ้าเป็นสมัยนี้คงจะเอาใจคนท้องถิ่นเพื่อให้ดูเป็นคนไม่ถือตัวเข้ากับชาวบ้านได้ ช่าวบ้านกินได้ข้าราชการก็กินได้ประมาณนั้น แต่ครอบครัวนักปกครองท่านนี้ไม่กินพริกเกลือ อยู่มานานหลายปีก็อยากจะลองดูรสชาติอาหารประจำถิ่นดูบ้าง เมื่อได้กินแล้วก็เกิดชอบพริกเกลือหนองบัว ท่านได้จากหนองบัวไปด้วยวาระการบริหารราชการหลายปีมากจนเกษียณอายุ ปีหนึ่งท่านได้ระลึกถึงพริกเกลือหนองบัวและกลับมานมัสการหลวงพ่ออ๋อย(พระครูนิกรปทุมรักษ์)วัดหนองกลับ วันนั้นคนทำบุญเต็มศาลาวัดหนองกลับ(จุคนได้นับพัน)ได้เล่าถึงหนองบัวหลายเรื่องและพูดโดยไม่ต้องเอาใจคนหนองบัวเลยก็คือวันนี้ตั้งใจมากินแกงพริกเกลืออาหารหลักคนหนองบัว-หนองกลับ

    ปัจจุบันชาวบ้านทั่วไปก็มีความมั่นใจภูมิใจขึ้นมาบ้างที่จะบอกคนต่างถิ่นว่าพริกเกลือคืออาหารประจำถิ่นของตน อาตมาจำพรรษาที่พิษณุโลกเวลากลับมาเยี่ยมโยมที่หนองบัว ตอนกลับพิษณุโลกก็มักจะนำพริกเกลือไปฝากพระที่วัดและญาติโยมที่รู้จักกัน

    พอเจอหน้ากันวันหลังทักทายเสร็จก็พูดถึงพริกเกลือ,ปลาร้าสับ,แจ่วบองหนองบัวทันที บอกว่าปลาร้าสับบ้านท่านมหาอร่อยดีจัง บางครั้งก็ยังมีคนเรียกร้องอีกว่าถ้าไปหนองบัวเมื่อไร อย่าลืมเอาปลาร้าสับมาฝากกันบ้าง ส่วนใหญ่เวลามาหนองบัวขากลับก็จะนำพริกเกลือไปฝากชาวพิษณุโลกเสมอ และปัจจุบันพริกเกลือก็เป็นสินค้าโอทอปของหนองบัวอย่างหนึ่งไปด้วย

    วันนี้ก็ขอเล่าขานสิ่งละอันพันละน้อยของดีหนองบัวสู่กันฟังว่าด้วยอาหารจานเด็ดรสเผ็ดอาหารจานโปรดคนหนองบัว-หนองกลับ เรื่องนี้ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์แก่ใครบ้างหรือเปล่า แต่ถึงอย่างไรก็ขอบันทึกเป็นความทรงจำอย่างหนึ่งก็แล้วกัน

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    • พระคุณเจ้าเขียนหนังสือเกี่ยวเรืองในแนวนี้ดีจริงๆครับ หากเปิดบล๊อกของ GotoKnow นี้เอาไว้เขียนความรู้และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างนี้ไว้เผยแพร่ ก็คงจะดีไม่น้อย ทั้งต่อคนหนองบัวและผู้สนใจทั่วไปนะครับ
    • นี่ผมก็เพิ่งจะทราบด้วยเหมือนกันนะครับว่า ที่หนองบัว เขาเรียกปลาร้าสับ ว่า พริกเกลือ อีกทั้งไม่แน่ใจว่า คนหนองบัวและหนองกลับในตัวอำเภอ จะรับประทานปลาร้าและปลาร้าสับอย่างทั่วไปกันหรือเปล่า แถวบ้านผมนี่ เรียกว่าปลาร้าสับครับ ผมชอบทานเป็นที่สุด
    • มีปีหนึ่ง ผมกลับบ้าน และญาติๆให้ปลาร้า(อย่างดี)แก่ผมหลายเจ้า ให้นำกลับไปเป็นเสบียงทำกินเมื่ออยู่กรุงเทพฯ เยอะมากจนผมแบ่งเป็นสองส่วน เอาไว้ทำน้ำพริกปลาร้า-ปลาทู นิดหนึ่ง และที่เหลือก็ปรุงเครื่องแบบปลาร้าสับแต่ใช้เคี่ยวเอา อร่อยมากเหมือนกันครับ
    • เมื่อปี-สองปีที่ผ่านมา ผมกลับบ้าน แม่ผมทำปลาร้าสับและลาบปูนา พร้อมกับผักสด-ผักบุ้งนา ให้หิ้วกลับไปกินกรุงเทพฯ ก่อนกลับก็นัดทานข้าวกับเพื่อนๆร่วมรุ่นโรงเรียนหนองคอก เพื่อนๆเห็นก็ถาม พอรู้ก็บอกว่าอยากกิน ซึ่งผมก็ไม่เชื่อว่าพวกเขาจะกินปลาร้ากันได้ บางคนเป็น...บ้านเราเรียกว่าหมวยและอยู่ในตลาดน่ะครับ ก็บอกว่าอยากกิน 
    • ผมเลยขอจานร้านอาหารและแบ่งออกมานั่งกินเป็นกับข้าวกับเพื่อนๆ พวกเขาชิมแล้วไปๆมาๆก็เอาออกมากินกันจนหมด ไม่ต้องหิ้วไปกรุงเทพฯ ผมดีใจทั้งนั้นแหละครับที่เพื่อนๆได้กินอาหารที่แม่ผมทำไปให้  แต่นึกแปลกใจมาจนเดี๋ยวนี้ว่า พวกเขากินปลาร้ากันเป็นได้อย่างไร งงอยู่ครับ เพราะเมื่อตอนเด็กๆ ไม่เคยเห็นเขากินเป็นกัน
    • วันนี้ ผมนั่งรถแท๊กซี่ไปทำงาน คนขับเป็นชายสูงวัย อายุน่าจะมากกว่าหกสิบปีแล้ว บอกว่าเป็นคนนคสวรรค์ และบ้านอยู่อำเภอบรรพตพิสัย เข้ากรุงเทพฯ ใช้ชีวิต ทำมาหากินและขับแท๊กซี่มานานแล้ว ไม่ได้กลับไปอยู่บ้านนอกอีก
    • พอบอกว่าผมเป็นคนหนองบัว คนนครสวรรค์เหมือนกัน ลุงเลยดีใจและคุยเรื่องราวมากมายให้ฟังว่า เมื่อตอนเข้าสู่วัยหนุ่มอายุ ๒๐ ปีหรือกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว ลุงได้ไปเป็นคนงานหาฟืน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงของรถจักรไอน้ำ อยู่ที่หนองบัว
    • หนองบัวในความทรงจำของลุงก็คือ มีป่าและน้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาก ป่าไม้หนาแน่นและหนองน้ำเยอะมาก แกบอกว่าในหนองน้ำต่างๆ ปลาชุกชุมที่สุด หากินได้อย่างง่ายดายไม่ว่าจะลงเบ็ดหรือลงแห แต่ปลิงเยอะมาก เดินลุยน้ำนิดเดียวก็จะมีปลิงเกาะขึ้นมาเต็มไปหมด จนไม่มีใครกล้าเดินลงน้ำ แกบอกว่า เวลาลงต้องเอาถุงพลาสติกห่อขาแล้วใช้ยางรัด แล้วก็จะได้ปลามากมาย
    • ป่าหนองบัว เต็มไปด้วยป่าเต็งรัง แกเป็นคนงานของเถ้าแก่ที่หาฟืนให้กับรถไปอีกทีหนึ่ง เถ้าแก่นั้น ต่อมาก็คือเจ้าของกิจการบริษัทถาวรฟาร์ม ซึ่งเป็นกิจการรถโดยสารและรถทัวร์ที่ใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งของสายเหนือ
    • เมื่อตอนเป็นเด็ก ผมก็พอจำได้ว่ามีรถขนส่งไม้ ทั้งไม้ซุงและไม้ฟิน วิ่งไปมาอยู่ตลอดเวลาระหว่างหนองบัว-ชุมแสง และนครสวรรค์ ถึงตลาดนครสวรรค์และค่ายจิระประวัติ และเมื่อรถไฟจอก ก็จะมีการเติมน้ำและใส่ฟืนอย่างมากมาย  ตอนเริ่มวิ่ง  ก็จะเต็มไปด้วยควันโขมงและไอน้ำตลบ ชอบดูกันทั้งเด็กๆและผู้ใหญ่ 

    ก่อนอื่นต้องขอนะมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีท่านอาจารย์ที่เคารพ

    ใกล้ความจริงเข้ามาทุกทีแล้วครับ ที่มีพระผู้ใหญ่เอ่ยถึงพริกเกลือ

    ทราบซึ้งเป็นอย่างยิ่งครับ พริกเลือ ที่ชาวหนองบัวใช้เรียกจำเพาะนี้กำลังจะถูกเผยแพร่

    ให้คนต่างท้องที่ได้รู้จักแล้วครับ

    พอพูดถึงอย่างนี้ก็อดที่จะประทับใจไปถึงกลุ่ม พริกเกลือ ที่พวกพ้องกระผมจัดทำกันขึ้นไม่ได้

    ตอนแรกชาวบ้านที่หนองบัวเห็นโลโก้พริกเกลือแล้วหลายคนพูดว่าใครจะไปรู้จักว่ามันคืออะไร

    กระผมได้ตอบไปว่าขอให้คนบ้านเดียวกันเห็นแล้วคิดว่านี่มันพริกเกลือบ้านเรารึเปล่าหรือไม่ก็พอแล้วเพราะคนที่เอ่ยนามมีแต่ส่วนมากคือคนหนองบัว และอีกหน่อยถ้าเค้าอยากรู้จักเดี๋ยวเค้าก็ต้องอยากที่จะศึกษาเอง เช่น ชมรมที่ดังๆเราเห็นก็ไม่เข้าใจความหมายแต่ถ้าเราสนใจติดตามเราก็จะทราบได้ว่าความหมายเค้าคืออะไรและเค้าทำอะไรกันบ้าง

    แต่กลุ่มของผมเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆที่รวมตัวกันเลยไม่ได้ทำอะไรใหญ่โต

    ถ้าคิดว่าเรารวบรวมข้อดีข้อเสียให้ถูกต้องแล้วคิดว่าคนรุ่นหลังๆก็อยากที่จะเข้าร่วมแน่นอนครับ

    พริกเกลือ คือ กลุ่มของ ชาวหนองบัว นครสวรรค์ ที่มาทำมาดำรงชีวิตอยู่ที่จังหวัดระยองได้จัดรวมตัวกันสร้างความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตและช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันพี่น้อง ให้มีความสมัครสมานสามัคคี โดยนำเอาพริกเกลือ (ปลาร้าสับ) ที่เคยได้รับประทานมาคู่กับชาวหนองบัว เป็นชื่อกลุ่มเพื่อให้มีจิตสำนึกต่อบ้านเกิดของตนอย่างแท้จริง โดยมีแนวคิดดังต่อไปนี้

    แนวทางการดำเนินกิจกรรม

    • ร่วมกันต่อสู้ในการดำรงค์ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข

    • ทำหน้าที่แนะแนวทางกับน้องที่จะมาทำงานที่จังหวัดระยอง

    • อนุรักษณ์อาหารประจำบ้านเกิดคือพริกเกลือให้คงสืบต่อไป

    • ร่วมกันดำเนินกิจกรรมด้วยความสมานฉันฑ์

    • ทำกิจกรรมร่วมกับบ้านเกิด1ชุมชน1ปี 1ครั้ง

    • ช่วยเหลือสมาชิกเมื่อประสบเหตุเดือดร้อน

    ที่จริงแล้วผมต้องขออภัยท่านอาจารย์ที่เอากลุ่มชมรมขึ้นมาโฟสโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ผมประทับใจมากที่มีคนเอ่ยถึงเรื่องราวของบ้านเรา ยิ่งถ้าดีมามีเรื่องสมัยเก่าๆยิ่งชอบศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ขอบพระคุณครับ( ถ้าเห็นโลโก้พริกเกลือที่ติดท้ายรถวิ่งผ่านที่ไหนเรียกรับใช้ได้เลยทุกคันครับ

    )

    พอพูดถึงรถขนไม้ซุงที่วิ่งไปมาสมัยเด็กๆตามพ่อแม่ไปนาแล้วเวลาที่เล่นกันก็จะมาปินต้นตะขบนังนับรถบรรทุกซุงที่วี่งไปมาว่าใครจะได้ถึงร้อยก่อนกันโดยแบ่งข้างว่าใครจะเลือกรถที่วิ่งจากมาจากทางซ้ายหรือขวามือก็ได้ให้เลือกข้างใด้ข้างหนึ่งแล้วมาจ่ายลูกตะขบ20ลูกใหคนชะนะ และเคยคิดว่ารถลากไม้มาจากไหนกัน

    • กิจกรรมชมรมพริกเกลือนี่น่าสนใจและน่าสนับสนุนครับ ขอให้กำลังใจทางอ้อมก็แล้วกันนะครับ
    • คนที่ต้องย้ายถิ่น ไปทำมาหากินไกลบ้าน แล้วก็ผูกพันกับพริกเกลือนี่ ผมพอจะนึกภาพออกครับว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนทำมาหากินและคงต้องกระเบียดกระเสียนในชีวิตอย่างยิ่ง (เป็นอาหารของคนจน คนบ้านนอก เจียมตน แต่ไม่จ๋อง) แต่นอกจากจะไม่ไปตกระกำลำบากแล้ว ก็ยังกลับนึกถึงคนรุ่นหลัง  คนด้อยโอกาสกว่า และถิ่นฐานบ้านเกิดอีก
    • อย่างนี้ต้องเรียกว่า เป็นกลุ่มคนที่สามารถแปรการย้ายถิ่น ไกลบ้าน ให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสพัฒนาทั้งตัวเองและชุมชนที่อาศัยนะครับ ใครจะว่าย้ายถิ่นแล้วทำให้ชุมชนบ้านเกิดอ่อนแอ ก็จะได้วิธีมองไปอีกทางหนึ่งนะครับ
    • ผมเขียนและอ่านบล๊อกเรื่องราวต่างๆมาก็มากมาย แต่เพิ่งจะมีเรื่องราวของบล๊อกนี้แหละครับที่ทำให้ต้องอ่านไปแล้วก็น้ำลายไหลไป
    • รวมทั้งอ่านไปก็ต้องอมยิ้มไปครับ ชมรมพริกเกลือ ของชาวหนองบัว นครสวรรค์ (แถมบางทีมีวงเล็บไว้ด้วยว่า ปลาร้าสับ
    • คุณเสวกบอกว่า สมัยเด็กยังทันได้ปีนต้นตะขบ แล้วก็เล่นทายรถบรรทุกซุง กินลูกตะขบครั้ง ๒๐ ลูกนี่ ทำให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆของบ้านนอก หนองบัว เลยนะครับ
    • ขอให้ประสบความสำเร็จในทุกกิจกรรมเลยนะครับ  มีความเคลื่อนไหวอะไรก็นำมาเขียนทิ้งๆไว้ที่นี่  เผื่อคนบ้านเราและย่านใกล้เคียงที่ได้แวะมาดูจะได้รู้ข่าวสารกันนะครับ
    • ลองคะเนดูแล้ว คุณเสวกดูจะเป็นคนเก่าแก่มากเลยนะครับ อีกทั้งการเขียนและนำเสนอเรื่องราวต่างๆนี่ ไม่อยากคิดเลยว่าเป็นชาวบ้าน
    • เมื่อตอนผมเรียนอยู่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) มีคุณครูผมคนหนึ่งชื่อคุณครูเสวกนะครับ เป็นคนท้องถิ่นและไปเรียนต่อจนได้มาเป็นครูอยู่หนองบัวซึ่งยุคนั้นเป็นเรื่องที่หาได้ยาก คะเนอายุแล้ว ตอนนี้คุณครูน่าจะอายุหกสิบกว่าแล้วละครับ
    • กล่าวถึงแบบลอยๆอย่างนี้แหละครับ กันไว้ก่อน เผื่อโดนคุณครูเข้ามาอำครับ

    พอพูดถึงซุงขอต่อยอดอีนิดครับ สมัยก่อนต้นไม่ใหญ่ยังมีให้เห็นมาแต่บัดเดี่ยวนี้หาชมยากนักในอำเภอหนองบัว คลองสมอตั่งแต่บ้านหนองขามผ่านมาวัดคลองสมอมาตัดที่ถนนสายเอเชียยาวผ่านไปจนไปถึงคลองห้วยถั่วท่านอาจารคงพอนึกออกนะครับ สองข้างลำคลองนั้นมีทุ่งนาทั้งสองข้างที่เขาขุดคลองไว้ตามหน้าของนาคนไหนที่น้ำสามรถไหนออกได้ง่ายนั้นเขาจะสร้างทำนบกำบังกั้นน้ำล้นให้ออกเข้านาหรือฝายน้ำล้น ที่ชาวบ้านเรียกว่า กะบัง เช่น ไล่แต่หน้าวัดคลองสมอมาที่น้ำออกนาดีๆดังๆมี กะบังตาเอียง กะบังตาเกลา กะบังตาชม กะบังตาน้อย กะบังตาชัย กะบังผู้ใหญ่เกิด กระบังตาคุฑ นั้นมีต้นไม่ใหญ่อยู่หลายต้น ต่อมาทางการมีการขุดลอกคลองจึงต้องมีการตัดไม้ออกไป จะยังมีแต่ต้นสมอพิเภกอยู่ที่นาของพ่อแม่ผมที่ปลูกไว้ตั้งแต่พ่อแม่ของตายายสูงมาก ชาวบ้านไปเก็บลูกมาดองยา สังเกตุถ้ามีโอกาสผ่านไปทางเลยโรงสีไฟบัวทองบ้านหนองแฟบหันหน้า 45 องศาจะเห็นกลุ่มไม้ใหญ่ ต้นสองต้นสวยงามมาก คงเป็นตนสมอพิเภกตนเดียวกระมังครับทีเหลืออยู่คู่ลำคลองสมอทุกวันนี้ และหวังว่าท่านที่เข้ามาอ่านคงไม่คิดที่จะไปทำลายต้นไม้นี้เพื่อการใดๆก็ตามแต่ เก็บไว้ให้ลูกหลานดูเล่นเถิดครับไม้โบราน

    • น่าสนใจดีครับ ชื่อท้องถิ่นฝายกั้นน้ำว่า กะบัง นี่ เพิ่งเคยได้ยินครับ แต่ลักษณะทำนบและฝายอย่างที่ว่านั้น นึกภาพออกครับ
    • ต้นสมอพิเภกนี่ ลองใช้คำค้นว่า 'สมอพิเภก' แล้วค้นด้วยกูเกิ้ล ก็จะเห็นลักษณะต้นและดอก พร้อมกับข้อมูล ของวังตะไคร้นะครับ น่าสนใจมากเช่นเดียวกันครับ น่าศึกษารวบรวมไว้นะครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)s

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

            คนหนองบัว-หนองกลับพูดจาสื่อสารกันด้วยภาษาที่มีสำเนียงเหน่อเยอะมากแต่ก็เป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ไม่น้อยเลยเหน่อชนิดที่ผู้ฟังที่เป็นคนต่างถิ่นฟังแล้วต้องอมยิ้มเมื่อได้ยินคำศัพท์แสงบางศัพท์และจะมีคำเฉพาะบางคำที่คนต่างถิ่นอาจฟังแล้วไม่เข้าใจความหมายอันเกิดจากการออกเสียงเหน่อ ๆ หรือมีคำเรียกใช้เฉพาะท้องถิ่นขึ้นมาอีต่างหากจากภาษาทั่วไป วันนี้ขอรวบรวมมาให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนดังนี้

    • ทางเกวียนที่มีน้ำไหลเป็นดินทรายตามหมู่บ้านหนองบัว-หนองกลับเรียกกันว่า สอก
    • ลับมีด เรียกว่า ฝ่นมีด
    • ตายาย เรียกว่า พ่อใหญ่แม่ใหญ่บ้าง พ่อเฒ่าแม่เฒ่าบ้าง
    • ตาทวดยายทวด เรียกว่า พ่อแก่แม่แก่
    • เด็ก ๆ เล่นสกปรกเนื้อตัวเปื้อนมอมแมม เรียกว่า ไหน้
    • เด็กตัวเล็ก ๆ จนก่อนถึงวัยรุ่นจะเรียกว่า ลูกกะเล็ก
    • รู้สึกเมื่อเนื้อเมื่อยตัวเพลียไม่มีเรี่ยวแรง คนที่มีอาการแบบนี้จะพูดกันว่ารู้สึกอ่อนแอ่น
    • คู่หมั้น เรียกว่า คู่ดอง
    • ควายหนุ่มที่ยังไม่เปลี่ยว จะเรียกว่า ควายตะกอ
    • ถ้าควายเกิดใหม่ยังไม่ถึงวัยตะกอ เรียกว่า ลูกแอ
    • ปลาร้าสับ เรียก พริกเกลือ
    • ฝายกั้นน้ำ เรียกว่า กะบัง
    • เสียงไล่ควาย มีเสียงว่า หียยย
    • โปง ใช้ผูกคอควายทำจากไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑ ฟุต เจาะรู ๒ ข้างมัดไม้ขนาดเล็กสองข้างเรียกว่า ลูกโปงเมื่อเคาะจะมีเสียงดังได้ยินไปในระยะไกลเพื่อบอกทิศทางเวลาควายอยู่ในป่า
    • กะแหร่ง ทำจากเหล็กยาวประมาณ ๑๐ นิ้วลักษณะคล้ายกระบอกมีลูกอยู่ด้านใน ๑ ลูกสำหรับผูกคอวัวใช้ในวัถตุประสงค์เดียวกันกับโปง

                                  ขอเจริญพร

                       พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    ขอเจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

            วันนี้มีศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่งเชิญคนหนองบัวพูดเอ๊ยอ่านได้ตามอัธยาศัย ณ บัดนี้

    • ไม้มะรุม เรียกว่า ต้นอีรุม
    • หลวงตา ก็เรียกว่า คนเฒ่าคนแก่จะเรียกว่าขวดตา
    • สิ่งของที่มีจำนวนมากมายหรืองานวัดใหญ่(วัดหนองกลับ)มีคนเยอะแยะมืดฟ้ามัวดิน คนหนองบัวจะพูดกันว่าคนพะลึกพะลือ
    • กบ ก็เรียกว่า ตาโอ้บบ้าง ไอ้โอ้บบ้าง
    • จอมปลวก ก็เปลี่ยนชื่อใหม่ไปเลยว่า หัวเปลือกบ้าง หัวปลวกบ้าง
    • วัว เรียก งัว
    • ตะเกียง เรียกว่า กะเตียง
    • ถังตักน้ำ เรียกว่า กะแป๋ง
    • รองเท้า เรียกว่า เกือก
    • ทางวัวควายเดิน ที่เป็นร่องน้ำแคบ ๆ ตามท้องนาใช้เป็นเส้นทางเดินไปนาควายจะต้องเดินเรียงหนึ่งคดเคี้ยวไปตามเขตแดนนาของชาวบ้าน เรียกว่า เหมือง
    • พ่อตาแม่ยาย พ่อสามีแม่สามี จะเรียกว่าลูกเขยและลูกสะใภ้โดยใช้สรรพนามแทนลูกเขยลูกสะใภ้ว่า ออ (ออ คำนี้หมายถึง คุณ) เช่นชื่อม่อย ก็จะเรียกว่า ออม่อย ถ้าเป็นทิด เรียกออทิด ถ้าลูกสะใภ้ชื่อแค็ทก็เรียกว่าออแค็ท เมื่อพูดกับลูกเขยหรือลูกสะใภ้โดยตรงจะไม่ออกชื่อ แต่มีคำเรียกแทนอีกคำหนึ่งว่า เอ็ง และพ่อตาแม่ยายหรือพ่อสามีแม่สามีใช้สรรพนามแทนตนเองว่า ข้า

                                  ขอเจริญพร

                        พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

           วันนี้มีศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่งเชิญสาธุชนคนหนองบัว(ออกเสียงเอก แล้วจะได้ความเหน่อแบบคนหนองบัวหนองกลับว่า หน่องบัว)พูดเอ๊ยอ่านได้ตามอัธยาศัย ณ บัดนี้

    • ต้นขัดมอนที่ใช้ทั้งต้นทำไม้กวาด เรียกว่า ต้นขันมอน
    • ปลาซิว ก็เรียกว่า ปลากะซิว
    • บันได เรียกว่า กะได
    • ขวานขนาดเล็กเป็นเครื่องมือสำหรับ ตัด ฟัน ผ่า หรือถาก เรียกว่า มุ้ย เรียกคล้ายภาษาล้านนาแต่ภาษาล้านนาจะออกเสียงว่า มุย
    • เนิน,โนน,โคก คนหนองบัวหนองกลับจะใช้คำทั้งสามนี้เป็นทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เช่นแถวบ้านคุณโยมเสวกก็บ้านโคกสวอง บ้านโคกขี้เหล็ก บ้านโคกมะตูมอยู่ข้างเกาะลอย บ้านอาตมาคือบ้านเนินตาโพ คนก็จะเรียกว่า โนนตาโพบ้าง เนินตาโพบ้าง ใกล้กันก็มีบ้านโนนไร่
    • ส่วนคำว่าโนนส่วนมากจะใช้เรียกบริเวณที่เป็นป่าละเมาะอยู่ห่างหมู่บ้านหน่อยคล้าย ๆ ป่าช้าหน้าวัดใหญ่(วัดหนองกลับ)เมื่อสมัยยังไม่มีตึกรามบ้านช่องดังเช่นสมัยปัจจุบัน เช่น โนนแล้งเป็นที่ฝังศพ โนนหนองพันกลอง โนนกะทิง โนนปัจจุบันเป็นที่ทำกินของชาวบ้านไม่เหลือสภาพป่าละเมาะให้เห็น
    • ไม้เลียบ เรียกว่า ไม้มะเลียบ ใบต้มจิ้มน้ำพริก ถ้าใบดิบ ๆ จิ้มพริกเกลือก็อร่อยดี ตอนนี้ไม่เห็นมีไม่ทราบสูญพันธ์หรือยัง
    • ผ้าขาวม้า เรียกว่า ผ้าห่มบ้าง ผ้าคะม้าบ้าง
    • ส่วนผ้าห่ม ก็จะเรียกว่า มุ้งห่ม แปลกดีเหมือนกัน
    • ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว เรียกว่า ผ้าเช็ดกุย คำนี้แปลกไปใหญ่เลยที่ไหนมีเรียกเช่นนี้บ้างช่วยบอกที
    • กางเกงขาก๊วย เรียกว่า กางเกงจีน เคยนุ่งทำนาเลี้ยงควายในป่า
    • กรรมวิธีการผลิตน้ำปลาพื้นบ้านดั้งเดิม,ทำน้ำปลาบริโภคเอง,ทำน้ำปลากินเองไม่ต้องซื้อจากรถเร่จากต่างจังหวัด เรียกกรรมวิธีการผลิตนั้นว่าการเสอะน้ำปลา ไม่ทราบจะสะกดอย่างไรแต่ออกเสียงได้พยายามสะกดตามการออกเสียงคำพูด
    • คนเฒ่าคนแก่จะเรียกเด็กผู้ชายที่มีวัยเริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่นว่า เริ่มเป็นหนุ่มตะกอ
    • สาง คำนี้ออกเสียงเร็ว ๆ ฟังได้ว่า ปิสัง ไม่ทราบว่าเป็นที่คำกร่อนมาจากคำว่าผีสางหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกันคงต้องฝากผู้รู้ช่วยชี้แนะเป็นวิทยาทานด้วยก็แล้วกัน. คำศัพท์เหล่านี้คิดว่าโยมอาจารย์วิรัตน์ คงเข้าใจดีหรือถ้าโยมอาจารย์มีคำที่คนแถวบ้านตาลินรอบนอกหนองบัวหนองกลับยังพอจำคำเหน่อ ๆ ของคนหนองบัวได้บ้างช่วยบอกมาให้ทราบกันบ้างก็น่าจะดีไม่น้อย.

     

                                         ขอเจริญพร

                                  พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนสมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • เกือบทั้งหมดที่พระคุณเจ้ารวบรวมมาบันทึกไว้นี้ ผมก็เพิ่งทราบนะครับ ได้ความรู้ดีครับ
    • มีบางคำที่พอพูดขึ้นมาก็แทบจะรู้ว่าเป็นคนหนองบัวคือ ติ๊ต่าง แปลว่า การสมมุติ, สมมุติว่า วิธีใช้ก็เช่น ติต่างว่าหนองบัวฝนตกน้ำท่วม ชุมแสงจะเป็นอย่างไร หมายความว่า สมมุติว่า....
    • ปั่ง แปลว่า ต่อให้  เช่น เด็กชายแดงวิ่งได้เร็วกว่าเด็กชายเขียว เลยปั่งให้ ๑ กิโลเมตร แล้ววิ่งแข่งกัน ๒ กิโลเมตร เด็กชายเขียวจะสู้ได้ไหม ปั่ง หมายความว่าต่อระยะทางให้ครึ่งหนึ่ง
    • แงะ แปลว่างัด
    • ส่วนคำว่า สาง ผมไม่รู้ว่าชาวบ้านหนองบัวพูดหรือเปล่า แต่แถวบ้านผมมีการเรียกว่าสางแต่ไม่ทราบว่ากร่อนมาจากปิสังอย่างที่พระคุณเจ้าว่าหรือไม่ คนร่นก่อนแถวบ้านผม รวมมาจนถึงรุ่นผมยังได้ใช้อยู่ครับ โดย สาง จะใช้เรียกผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ฟังดูผิวเผินเหมือนกับว่าหมายถึงผีสาง แต่ในรายละเอียดและวิธีคิดที่เกี่ยวข้องแล้ว เวลาพูด จะไม่รู้สึกว่าหมายถึงอย่างนั้นครับ ผมเคยรวบรวมไว้ที่นี่ครับ สาง 
    • เวลาคนหนองบัวทักทายกัน หรือตะโกนถามไถ่กัน ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะว่า ไปไหน่กันหล๊าววา ผมก็ชอบนำมาล้อเลียนเพื่อนเหมือนกันเพราะฟังดูเหน่อเป็นอย่างยิ่ง
    • แถวบ้านผมนี่  เกือก เขาเรียกเกิบครับ
    • ดวงจันทร์ เรียกว่า เกิ้ง หรือ อีเกิ้ง
    • คางคก เรียก ขี้คางคาก
    • จิ้งจก เรียก ตั๊กเกี้ยม คล้ายๆขี้เกี้ยม ของอีสานเหมือนกัน

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

           วันนี้มีคำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่งตามเคยเชิญคนหนองบัวอ่านได้ตามอัธยาศัย ณ บัดนี้

    • ไม้เช็ดก้น เรียกว่าไม้ก้ามตาก
    • อุปกรณ์ที่ทำจากหวายหรือเถาวัลย์ที่ช่วยผูกมัดรัดยึดฝักมีดให้แน่น เรียกว่า แหมมีด
    • ส้วมสาธารณะที่ใช้สมัยยุคก่อนก่อนจะมีส้วมเหมือนปัจจุบัน เรียกว่า บ๊อก
    • ลงแขกช่วยคู่ดอง(คู่หมั้น)ดำนา-เกี่ยวข้าว เรียกว่า ลงแขกทุ่มคู่ดอง(แขกทุ่ม)
    • การใช้ตะแกรง(คนหนองบัวเรียกกะแซง) ดักปลาที่น้ำไหลแรง ๆ ตามช่องคันนาหรือตามสอกในหมู่บ้าน หน้าน้ำหลากหน้าน้ำนองในวันแรก ๆ ที่น้ำนองปลาก็จะขึ้นทวนน้ำมากมายปลาที่ติดกะแซงจะเป็นปลาตัวเล็ก ๆ เช่นปลากะดี่ ปลาแขยง แต่ปลาที่ติดกะแซงมากที่สุดคือปลากะซิว(ปลาซิว) จึงเป็นที่มาของคำว่าสู้ปลากะซิว ของคนหนองบัว
    • บุญเข้าพรรษาคนหนองบัวเรียกว่า บุญขะหน่มห่อ นี่เขียนตามการออกเสียงคนหนองบัว-หนองกลับ
    • บุญเดือนสิบสารทไทย เรียกว่า บุญข้าวเม่า
    • ประเพณีการดอง หรือกินดอง หมายถึงการหมั้นหมายกันล่วงหน้าถือเป็นสัญญาว่าจะให้ลูกของทั้งสองฝ่ายแต่งงานกัน
    • เอาเมีย หมายถึงการแต่งงาน,การมีครอบครัว เป็นคำพูดของคนเฒ่าคนแก่หรือพ่อแม่ที่มีลูกชายที่ยังไม่มีครอบครัวยังไม่แต่งงานและลูกชายนั้นบวชเรียนแล้วไม่ยอมหาคู่ครองซะทีอยากได้ลูกสะใภ้หลานสะใภ้ก็มักจะถามลูกหลานว่าเมื่อไหร่มึงจะเอาเมียเสียที.

                                             ขอเจริญพร

                                  พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

     สวัสดีครับท่านอาจารย์ที่เคารพ

    ผมเองเปิดมาว่าจะมาบอกว่า เมื่อครั้งแรกที่เข้ามาเจอบล๊อกนี้ของท่าน ผมพิมในกูเกิ้ล ว่าโมบายก้ามปู แล้วมีตัวหนังสือสีแดงขึ้น และลองไล่ตามข้อความข้างหน้าแล้วก็พบกับคำว่าหนองบัว เลยได้เปิดเข้าไปอ่านศึกษาแล้วประทับใจเลื่อยมา ไอ้โมบายก้าปูที่ว่านี้ผมอย่ากทราบว่าอี่นเค้ามีกันหรือป่าว ก็เลยค้นหาแล้วมาเจอท่าน

    ผมเคยไปอยูที่เชียงใหม่มาพักหนึงได้ทำโมบายก้ามปูไว้ดูเพราะคึดถึงบ้านเด็กๆไม่เคยเห็นพากันชอบใจยกใหญ่เลยครับ

    โมบายก้ามปูที่ว่านี้ที่บ้านหนองบัวเรียกว่า กระแหร่งง่ามปูครับใช่จัดเลยซิหว่า เออวว..ไม่กว่านี้ไปได้อีกด๊อกกก...,ผมอ่านของท่านพระมหาอาจารย์แล้วก็นั่งอมยิ้มไป ผมเคยเอาคำเหล่านี้รวบรวมเท่าที่มีเวลานึกออก มันมากมายจจนบางคำนึกไม่ออกเขียนส่งe-mail.ให้เพื่อนๆหนองบัวแล้วส่งต่อๆกันไปปรากฏว่ามีคนถามว่าใครเป็นคนเขียนอ่านแล้วสนุกดีผมใช้ชื่อว่า รู้รักษ์ภาษาถิ่นหนองบัววันละคำ ซึ่งคำบางคำเด็ก30ปีหลังบางคนไม่รู้จัก ผมไม่อยากให้มันหายไปตามค่านิยมที่สมัยใหม่ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะว่าเราบ้านนอก

    อย่างเช่นทางใต้ อิสาน เหนือ สุพรรณ ระยอง เค้าก็ยังใช้สำเนียงเค้าให้เป็นจุดเด่นได้โดยที่ไม่อายใคร วันนี้คงไม่ทันที่จะเอาคำต่างๆมาฝากไว้ และมีหลายคำที่ท่านพระมหาอาจารย์ได้พูดถึงข้างต้นวันหน้าต้องขออณุญาตนำมาลง ผมอยากให้มีคนดีมีฝีมืออย่างท่านอาจารย์ทั้งสองนี้เก็บเรียบเรียงเป็นพจณาณุกรมภาษาถิ่นไว้ให้ลูกหลานมาเปิดเจอแล้วจะได้เข้าใจครับ ผมเองก็คงได้แต่เขียน ไม่ค่อยเข้าใจ วัยกร พวก นาม กริยา บุพบท สันทาน แม้แต่ที่เขียนมาในข้อความนี้ยังมีคำที่เขียนสะกดผิดอีกมากครับ

     และอีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าจะนำมาให้คนระยองและชาวต่างชาติได้รู้จักคือ กังหันที่ทำจากไม่ จำพวก ไม้ขล่าย ไม้ลาย ไม้สัก ที่หนองบัวเรียก จิ่งหัน  เมื่อเวลาเล่นเกิดเสียงดังสะท้านแต่ว่าบ้านหนองบัวเราจะเล่นกันเฉพาะคนสูงอายุที่ยังมีเล่นแต่ต้องรอถึงเดือนอ้ายจะสิ้นสุดก็เดือนสามเดือนสี่เพราะช่วงนั้นมีลมหนาว แต่คิดว่าถ้ามาแถวๆทะเลคงได้ทั้งปีครับ

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

             • ก่อนอื่นก็ขอเจริญพรคุณโยมเสวกด้วยความระลึกถึงก็แล้วกันจากหนองบัวมาก็ไม่ได้พูดคำท้องถิ่นเลยพอไม่ได้พูดนาน ๆ เข้าคำต่าง ๆ ก็ลืมเลือนไปเยอะมากต้องนึกทบทวนแต่ก็ยังนึกได้ไม่มาก อันที่จริงก็อยากสื่อสารด้วยคำเก่า ๆ แต่ไม่มีคนหนองบัวอยู่ด้วยกันเลยแม้แต่คนเดียว ก็ขอสนับสนุนให้คุณโยมเสวกได้เขียนรวบรวมคำพูดเก่า ๆ ของคนหนองบัวไว้ต่อไปและก็ขอให้นำมาเผยแพร่ที่บล๊อกของโยมอาจารย์วิรัตน์นี้ด้วยจะได้ช่วยเผยแพร่และอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้ผู้คนได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปอย่างน้อยก็คนหนองบัวบ้านเราที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนจะได้เข้าใจรากเหง้าของตนเองบ้าง

              วันนี้มีคำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่งขอเชิญสาธุชนคนหน่องบัว-หน่องกลับ อ่าน ได้ตามอัธยาศัย ณ บัดนี้

    • ขี้แต้ คือดินที่แห้งแข็งเป็นตะปุ่มตะป่ำอยู่ตามทุ่งนา มักอูดขึ้นมาจากรอยเท้าวัวควาย คนหนองบัวเรียกว่า ก้อนขี้แต้บ้าง หัวขี้แต้บ้าง
    • การทำงานในไร่นาของชาวบ้านยุคก่อนนั้นใช้แรงงานในครัวเรือน หรือการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือที่เรียกกันว่า “เอาแรง” หรือ ลงแขก คนหนองบัวจะใช้สองศัพท์นี้ด้วย แต่มีศัพท์พิเศษในท้องถิ่นขึ้นมาอีกสองศัพท์ คือ การขึ้นแรง และการใช้แรง สองคำหลังนี้ใช้ได้ทั้งการดำนา- เกี่ยวข้าว ตลอดถึงการงานอื่น ๆ เช่น งานบวช งานแต่ง และงานกินดอง
    • สามงานนี้ก็มีการเอาแรงหรือขึ้นแรง และการใช้แรง เหมือนกับการทำนาเกี่ยวข้าวด้วยเช่นกัน แต่การเอาแรงขึ้นแรงและการใช้แรงในสามงานดังกล่าวจะทำในรูปของวัตถุสิ่งของ เช่น การเอาแรงหรือขึ้นแรงกันด้วยหมูหนึ่งตัวสองตัวแล้วแต่ฐานะของแต่ละคน การเอาแรงหรือขึ้นแรงกันเป็นเงินทองก็มี เป็นตู้เสื้อผ้าก็มี เป็นถ้วยจานชามและเฟอร์นิเจอก็มี ตลอดถึงข้าวของเครื่องใช้สอยต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อขึ้นแรงเขาไว้ก่อนแล้วต่อมาเราจัดงานบ้างผู้ที่เราขึ้นแรงไว้ก็ถึงคิวจะมาใช้แรงเราคืนบ้าง การใช้แรงคืนนั้นถ้าเป็นเงินทองส่วนมากก็ใช้ในจำนวนเท่าเดิม แต่ถ้าเป็นสิ่งของราคาก็อาจจะไม่เท่าเดิมเพราะเวลาห่างกันมากบ้างน้อยบ้างตามอายุของลูกของผู้ที่เอาแรงหรือขึ้นแรงไว้.
    • คนรูปร่างดี คนหน้าตาดี คนสวย คนหล่อ มักจะมีคำชมเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แต่คำชมของคนหนองบัวจะมีภาษาเฉพาะถิ่น เช่นคนเฒ่าคนแก่มักจะชมคนที่หน้าตาดีด้วยคำพูดที่ว่า ว้าย...พวกงั้นลูกใครช่างว่า เหมาะออกเนาะ เหมาะจัดเลยยย หรือเหมาะยกใหญ่ละวา
    •  แต่ถ้าคนรูปร่างขี้เหร่ ก็จะมีคำพูดที่ตรงกันข้ามกับคำชมผู้อ่านก็ลองออกเสียงกันเองก็แล้วกัน แต่ก็มีคำเฉพาะที่ใช้อีกเหมือนกัน เช่น คำว่า ขี้ริ้วจัด ขี้ริ้วยกใหญ่.

                                                    ขอเจริญพร

                                         พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ทั้งสองที่เคารพครับ

    วันนี้ผมเองนึกสังหรใจว่ากำลังได้พูดคุยกับคนใกล่ตัวอย่างบอกไม่ถูกมาหลายวันแล้ว

    จากการที่ท่านพระมหาแลพูดนั้นย่างไรก็ใช่คนหนองกลับแท้ๆครับ วันนี้ผมเลยโทรไปถามหลวงน้าหนุ่มที่วัดหนองกลับ ว่าหลวงน้าพอจะทราบหรือไม่ว่าพระมหาแลใช่คนหนองกลับหรือป่าวครับ หลวงน้าหนุ่มบอกว่าใช่ คนหมู่สอง บ้านเนินตาโพ แต่ตอนนี้ท่านไม่ได้อยู่บ้านเรามานานแล้ว และทิดจะถามทำไม ผมเลยตอบว่า ได้อ่านข้อความของท่านอาจาร์วิรัตน์ แล้วประทับใจก็เลยได้พบกับท่านท่านพระมหาอาจารย์แลท่านก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เขียนเล่าได้ดีมาก จากนั้นผมเลยได้โทรไปถามกับเจ้าอุ้ย และเจ้าอุ้ยก็บอกว่าเป็นหลวงพี่ เลยให้เบอร์โทรศัพย์ผมมาแต่โทรติดต่อไม่ได้ ผมเองก็จำท่านไม่ได้แล้วเพราะผมเองก็ไม่ได้อยู่บ้านมานานแล้ว ส่วนจะจริงหรือไม่นั้นผมต้องขออภัยด้วยถ้าไม่ใช่พระรูปเดียวกันนั้น

    เกือบลืมไปถ้าใช่เราก็เครือญาติกันเพราะอาตุ้มที่เสียชีวิตไปนั้นเป็นน้องชายของพ่อผมเอง งั้นผมขอเรียกว่าหลวงอาแล้วกันนะครับอบอุ่นดีครับ ผมเองก็ไม่คิดว่าจะมาพบท่านที่นี่ และต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างสูงที่ทำให้ผมได้มาพูดคุยกับหลวงอาที่นี่ครับ

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และหลานเสวก

    •  เห็นนามสกุลตอนแรกว่าจะไม่อ่านข้อความก่อน ตั้งใจจะโทร.ไปถามไอ้พึ่งแต่เมื่ออ่านจนจบก็เลยทราบว่า เป็นหลานย่าเสงี่ยม-ปู่เหว่านี่เอง
    • วันนี้ได้เจอเครือข่ายเครือญาติอีกคนหนึ่งแล้วที่จากบ้านมาอยู่แดนไกล ก็เป็นอันว่า ประเด็นที่โยมอาจารย์วิรัตน์กลัวจะถูกอำและเคยสงสัยภูมิหลังเกี่ยวกับคุณเสวกว่าเป็นคนรุ่นไหนกันประเด็นนี้ก็ตกไปเพราะเป็นคนวัยหนุ่มรุ่นหลานโยมอาจารย์วิรัตน์และอาตมาซึ่งนับว่าวัยห่างกันมาก
    •  หลวงอาฝากความระลึกถึงไปถึงท่านหนุ่มด้วย มีอะไรจะสื่อสารมาถึงหลวงอาก็ได้เลยที่ [email protected] ยินดีต้อนรับ หรือจะโทร.ไปถามทิดอุ้ยก็ได้
    • โยมป้าเสงี่ยมเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีดีมากเพราะเป็นคนพูดเก่งที่สุดพูดได้น่าฟ้งด้วยพูดแล้วเห็นภาพพจน์คนชอบฟังท่านพูด ส่วนโยมลุงเหว่าก็เป็นพูดน้อยมาก ๆ อีกเหมือนกัน
    • และโยมป้าพูดจาพาทีออกสำเนียงคนหนองบัวได้ชัดเจนมากฟังแล้วได้อรรถรสมาก ๆ หลานย่าคนนี้คงจำคำศัพท์เก่า ๆ ได้มากมายมีเวลาว่างก็นำมาฝากโยมอาจารย์วิรัตน์ก็ได้หรือจะส่งมาที่หลวงอาบ้างก็ดี เพราะหลวงอาไม่ได้พูดกับคนหนองบัวนาน ๆ ก็เลยลืมเลือนคำเก่า ๆ ไปมากแล้ว
    • หลวงอาก็ขอขอบใจหลานที่สนใจใฝ่รู้ในเรื่องราวท้องถิ่นบ้านตัวเอง หลวงอาเองก็สนใจมาตั้งนานมากแล้วแต่หาไม่เจอสักทีเรื่องราวของตนเอง มาเจอโยมอาจารย์วิรัตน์โดย บังเอิญก็ว่าได้ ที่ได้เจอนั้นก็เพราะตั้งใจหาข้อมูลเกี่ยวกับหลวงปู่อ๋อย เมื่อคืนวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมานี้
    • เป็นเวลาเดือนกว่าแต่เวลาแม้เพียงแค่นี้ก็มีความสุขและภูมิใจมาก ๆ ที่ได้รู้จักโยมอาจารย์วิรัตน์แม้เพียงทางอักษรภาษาหนังสือก็ตามทีโยมอาจารย์วิรัตน์นั้นไม่เพียงแต่ป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่นอำเภอหนองบัวอย่างน่าสรรเสริญเป็นที่ยิ่งเท่านั้น แต่ชาวหนองบัวควรถือเป็นคุณูปการที่ต้องจารึกจดจำไว้ในฐานะเป็นบุคคลดีศรีหนองบัวได้อย่างไม่ต้องสงสัย
    • ในวาระที่โรงเรียนหนองบัวจะมีอายุครบรอบ ๕๐ ปี ในปีหน้า (๒๕๕๓) นี้ขอเสนอโยมอาจารย์วิรัตน์ผ่านคอลัมน์นี้ให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นคนหนึ่งของโรงเรียนหนองบัวด้วย.
    •  ชาวหนองบัวท่านใดเห็นด้วยกับอาตมาก็ส่งความคิดเห็นผ่านคอลัมน์นี้ได้
    • หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโยมอาจารย์วิรัตน์คงเข้าใจความปรารถนาที่ดีงามอันเป็นกุศลของอาตมาภาพและชาวหนองบัวด้วยความยินดี.

                                                       ขอเจริญพร

                                              พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

                                        ๒๖ มิถุยายน พุทธศักราช ๒๕๕๒

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีคุณเสวกครับ

    • ดีใจไปด้วยจังเลยนะครับ แล้วก็ได้รำลึกและเรียนรู้ไปด้วยมากมาย
    • แต่ตอนนี้ขอเข้ามาอ่านก่อนครับ  เข้ามาอ่านเสมอๆครับ แต่ตอบยาวไม่ได้ ตอนนี้ผมออกต่างจังหวัดครับ เติมเงินอินเอตอร์เน็ตไม่เป็น เขาบอกตังค์กำลังจะหมดครับ อีกวันสองวันจะกลับครับ
    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

            วันนี้มีคำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่งขอเชิญสาธุชนคนหน่องบัว-หน่องกลับ อ่าน ได้ตามอัธยาศัย ณ บัดนี้

    • การพูดเหน่อ ๆ แบบหนองบัวบางครั้งจะใช้ล้อเลียนกันเองก็มีคือบางคนพูดออกเสียงสระไม่ชัด สระเอียเป็นสระเอือ สระเอือเป็นสระเอีย เป็นต้น เช่น คำว่า มะเขือ,เนื้อ,เกลือ,เผือก คนที่ถนัดแต่ออกเสียงสระเอียอย่างเดียว แทนที่จะออกเสียงว่า มะเขือ แต่ออกเสียงว่า มะเขี่ย เนื้อ ก็เป็นเนี้ย เกลือ ก็เป็นเกีย เผือก ก็เป็นเผียก ตัวอย่าง ประโยคที่ใช้ล้อเลียนกันประจำก็คือ แกงมะเขือ ใส่เนื้อ อีเผือก คนที่ถนัดแต่ออกเสียงสระเอียก็จะพูดว่า แกงมะเขี่ย ใส่เนี้ย อีเผียก
    • ตกเบ็ด ตกปลา คนหนองบัวก็ใช้เหมือนที่อื่นทั่วไป แต่มีอีกหลายคำที่ใช้ดังต่อไปนี้ หยกเบ็ด หยกปลาหมอ ล่อเบ็ด ล่อปลาช่อน ล่อไอ้ช่อน ล่อไอ้โอ้บ(กบ) 
    •  ฝนพรำ ภาษาหนองบัวใช้ว่า ฝนแซะบ้าง ฝนตกหยิม ๆ บ้าง
    • ไถอาสา หมายถึง ไถที่ทำขึ้นมาให้มีความสวยงามเป็นพิเศษเพื่อใช้เฉพาะกิจสำหรับเอาไปช่วยคู่ดองไถนา 
    •  คำว่า ออ เป็นคำสรรพนามที่ว่าที่พ่อตา-แม่ยายใช้เรียกว่าที่ลูกเขย

                                                    ขอเจริญพร

                                              พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

          วันนี้มีคำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่งตามเคย

    • คำว่า ขัว หมายถึงถาก คือการใช้เสียมถาก คนหนองบัวจะออกเสียงว่า ขั่ว เพราะเสียวง ขัว เป็นเสียงจัตวาออกเสียงยาก หลังฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะออกไปหาผักบ้างปลาบ้างตามทุ่งนา และหน้าแล้งนี้หอยจะฝังตัวอยู่ใต้ดินการจะนำหอยมาทำอาหารได้นั้นต้องใช้เสียมถาก หรือ ขัว ศัพท์นี้ถ้าคนภาคอีสานจะออกเสียงได้ค่อนข้างง่ายหน่อย คือการไปขัวหอย ส่วนคนหนองบัวต้องออกเสียงเหน่อ ๆ แบบนี้ ไปขั่วห่อย แหมคำนี้อธิบายยากจังเลย
    • คำว่า เลาะเบ็ด หน้าฝนหลังเลิกทำนาแล้วก็ไปปักเบ็ดที่ทุ่งนา พอพลบค่ำกินข้าวเสร็จแล้วก็ได้เวลาไปเลาะเบ็ด (ยามเบ็ด)ที่ปักไว้เพื่อเปลี่ยนเหยื่อและจับปลาที่ติดเบ็ด

                                                             ขอเจริญพร

                                                   พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • คำศัพท์ ภาษาพูด และเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่ให้ความหมายเฉพาะของท้องถิ่นหนองบัวที่พระคุณเจ้ารวบรวมไว้ รวมทั้งเรื่องราวท้องถิ่นและประวัติศาสตร์พัฒนาการจากประสบการณ์ชีวิตของคนในชุมชนที่คุณเสวกร่วมรวบรวมไว้ให้สาธารณชนในนี้ อ่านสนุกและได้ความรู้มากมายครับ อย่าว่าแต่คนต่างถิ่นเลย ผมเองก็ไม่เคยทราบหลายอย่างครับ
    • อีกด้านหนึ่งที่ผมได้ความคิดและเห็นความเป็นจริงของชุมชนท้องถิ่นในอีกหลายเรื่องได้มากขึ้น จากการถ่ายทอดไว้ของคนที่เกิดและโตมาจากชุมชน ซึ่งเป็นความรู้และตัวสติปัญญาที่ได้มาจากการใช้ชีวิต ตรงนี้ได้มากจริงๆครับ
    • อีกทั้งตัวความรู้ไม่สำคัญเท่าการทำให้ได้เห็นว่า ในหมู่ประชาชนพลเมืองของสังคมใดๆนั้น คนที่มีวิถีดำเนินชีวิตและมีการเรียนรู้ไปด้วยมากมายนั้น มีอยู่ สะท้อนถึงการสร้างความรู้ขึ้นใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านและสะท้อนถึงการมีความสำนึกต่อชุมชนและถิ่นฐาน ที่ผู้คนมีกระบวนการสร้างประสบการณ์ทางสังคมอยู่ในบริบทแวดล้อมที่หลากหลาย
    • การได้เรียนรู้อย่างนี้ ทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน การได้ตัวตน และการปฏิบัติกับโลกภายนอก ด้วยกระบวนการคิดที่มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ด้วย ซึ่งการเข้าใจด้วยความรู้จากสังคมภายนอกอย่างเดียว จะทำให้เราไม่สามารถเข้าใจผู้คนทั้งหลายได้อย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถสร้างความรู้สึกคุ้นเคย เป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุข และมีความเป็นพี่น้องกันของผู้คนไม่ว่าจะเป็นสังคมและวัฒนธรรมใด มีความหนักแน่น อดทนต่อกัน กระทบกระทั่งกันได้แต่ก็คงลดการกระทำรุนแรง โหดร้าย เยี่ยงเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกอื่น เพราะลักษณะหลังนี้ การอธิบายได้อย่างหนึ่งก็คือ การมีวิถีเรียนรู้และได้ความสำนึกต่อตนเองและผู้อื่นที่ผิดพลาดนั่นเอง 

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

          วันนี้มีคำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกสองศัพท์ตามเคย ดังนี้

    • เล่นกุด หมายถึง การเล่นสงกรานต์นั่นเองง(คนต่างถิ่นฟังแล้วอาจจะงงไม่รู้ว่าเล่นอะไร) นับตั้งแต่วันสงกรานต์ไปอีกประมาณ ๒ สัปดาห์ เล่นตอนกลางคืนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ของหนุ่มสาวชาวหนองบัว-หนองกลับ โดยสาว ๆ จะตั้งเป็นกลุ่มประมาณ ๔-๕ คนเรียกกันว่า(วง)ตามหมู่บ้าน แล้วจะมีหนุ่ม ๆ จากต่างหมู่บ้านมาเล่นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป การเล่นก็มีตั้งแต่ เล่นลูกช่วง งูกินหาง หมาบ้าคู่ และอื่น ๆ เช่น หมาบ้าคู่เวลาเล่นจับคู่กันแล้ววิ่งเอาผ้าไล่ตี โดยชายหญิงจะไม่จับมือกันจะใช้ผ้าเช็ดหน้าจับคนละด้าน นี่คือการเล่นกุดฉบับย่อ ๆ
    • เหมาะ หมายถึง ดี,พอดี,สมควร,คู่ควร แต่คนหนองบัวจะใช้ในความหมายที่บ่งบอกลักษณะถึงความดีงามสวยหล่อ ทั้งสิ่งของและบุคคล เช่น หญิงสาวมีรูปร่างสวยหน้าตาดี ก็ใช้คำพูดว่า คนนี้รูปร่างเหมาะ ฝ่ายชายก็ใช้ในความหมายเดียวกัน พระเอกลิเกคณะนี้เหมาะจัด(หล่อมาก) สิ่งของเช่น เสื้อผ้าชุดนี้เหมาะ(สวย)ดีจัง
    • ต้องขอขอบคุณโยมอาจารย์วิรัตน์ที่ช่วยให้แง่คิดวิถีชุมชนขุมปัญญาท้องถิ่น และขอขอบใจคนรุ่นใหม่อย่างคุณเสวกที่จดจำเกร็ดประวัติชุมชนได้ดีและตั้งใจถ่ายทอดสู่สาธารณะหลวงอาเองชักจะลืม ๆ ไปมาก เดี๋ยวกลับไปหนองบัวเมื่อไรต้องหาเวลาพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ คงได้ข้อมูลมาฝากตรงนี้บ้าง สังเกตเรื่องนี้มีคนเข้ามาอ่านมากพอสมควรแต่ละวัน ถ้าเป็นคนหนองบัวอาตมาอยากเชิญชวนให้นำเรื่องราวท้องถิ่นมาเสนอท่านผู้อ่านบ้าง วันนี้ยังไม่มีวันหน้าอาตมาต้องเชิญชวนอีกแน่.

                                               ขอเจริญพร

                                       พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • คำว่า ........จัด ที่พระคุณเจ้ากล่าวถึง ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ยินที่ไหนนอกจากคนหนองบัวครับ  เช่น  อร่อยจัดเลยวา  หมายถึงอร่อยมาก  เยอะจัดเลย = เยอะมาก    เหนื่อยจัดเลยไงเล๊า = เหนื่อยมากเลยใช่ไหม  ฟังดูดีครับ ผมชอบฟังเพื่อนๆและชาวบ้านหนองบัวพูด  ดูเป็นชาวบ้านๆดีครับ  ผมฟังและเข้าใจแต่พูดไม่ได้หรอกครับ แถวบ้านผมพูดลาว
    • ผมได้อยู่บ้านและหนองบัวไม่ทันได้โตเป็นหนุ่ม เลยไม่ทันได้เล่นกุด  แต่พอจะนึกบรรยากาศออกครับ อีกทั้งได้เล่นแตรวงให้คนหนุ่มสาวและชาวบ้าน ได้รำวงกันมากมายหลายงานพอสมควร ก็พอจะเห็นวิถีชีวิตและจิตวิญญาณชนบทอย่างที่พระคุณเจ้าเล่าบันทึกไว้ครับ
    • เวลาเล่นกุด ของที่เป็นเรื่องโก้อวดสาวของหนุ่มๆอีกก็คือ แว่นตาดำ หวีขนาดใหญ่ เหน็บกระเป๋าแล้วก็ยังด้ามโผล่  แป้งน้ำมองเล่ยะแบบเย็นและเวลาประตามตัวแล้วก็ลายพร้อย (ซึ่งแม้เดี๋ยวนี้ เวลาคิดถึงบ้าน ผมก็ต้องไปซื้อมาประตัวนอน) น้ำมันทาผม แล้วก็รถจักรยาน เวลาผมเป่าแตร ผมชอบมองดูครับ หนุ่มๆนี่ก็มักเหล่และหวีผมอยู่นั่นแล้ว ใส่แว่นตาดำอีกต่างหาก มองไม่ค่อยเห็นหรอกครับ แต่เพื่อความหล่อและใส่เพื่อเก๊กอวดสาวอย่างพระเอกหนังไทย

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    คำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

            วันนี้มีคำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัวมาฝากเพิ่มเติมอีกตามเคย ดังนี้

    • ย่ำปลา หมายถึง การเหยียบหนัก ๆ ซ้ำ ๆ บริเวณน้ำตื้น ๆ หรือตามแอ่งน้ำ ตามปลักควาย ตามมุมหัวคันนา ไล่ต้อนปลา,ลูกปลา,ลูกเขียดตาแอ่ง-น้องแอ่ง –นางแอ่ง(เขียดทราย) เข้ากะแซง (ตะแกรง)

                                                     ขอเจริญพร

                                               พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

    วันนี้ผมนำคำหนองบัวมาฝาก ท่านอาจารย์วิรัตน์และผู้ที่สนใจทุกท่านเชิญครับ

    อนุรักษ์ภาษาถิ่นหนองบัว นครสวรรค์

    วัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนเอกลักษณ์ภาษาถิ่นให้คงไว้คู่บ้านเรา

    ผู้จัดทำโดย นาย เสวก ใยอินทร์ สมาชิกกลุ่ม พริกเกลือ

    คำเตือน คำต่อไปนี้เป็นคำเฉพาะถิ่นของคนหนองบัว ส่วนมากเป็นคำเพี้ยนซึ่งชาวบ้านพดจนติดปากกันมา และที่อย่างยิ่งคนโบราณมักใช้คำเปรียบเปรย เปรียบเทียบอาจมีบางคำที่สาธารณะชนอ่านแล้วไปในทางที่หยาบคายผู้อ่านควรมีการตรึกตรองพิจารณาในการอ่านให้ดี

    • พริกเกลือ ปลาร้าสับ อีสานเรียกปลาร้าบอง แจ่วบอง

    • ทะลา ลานกว้าง มากมาย ,มักใช้กับลานหน้าบ้าน

    • ประตูแพ ประตูรั้วหน้าบ้านไม้ไผ่ขัด ชุมชนชาวหนองขัวจะปลูกบ้านในบ้านไม้ยกสูงและมีใต้ถุนโล่งบ้านส่วนมากจะมีการทำรั้วแบบใช้ไม้รวกขัดสานและแสดงให้เห็นถึงความเพียรได้เป็นอย่างสูงเพราะแต่ละบ้านมีพื้นที่ไม่ใช่น้อย

    • เหนียน อิจฉา ริษยา

    • คู่ดอง คู่มั่น

    • เกือก รองเท้าแตะ

    • มุ้งอีโต๊ป ผ้าห่มหนาๆ

    • ผ้าห่ม ผ้าขะม้า

    • ผ้าเช็ดกุย ผ้าขนหนู

    • กำแฝก ตะไคร้ คงเพราะว่ามีลักษณะคล้ายหญ้าแฝก

    • ปลาเกลือ ปลาเค็ม

    • ส้มแผ่น มะม่วงกวนแผ่น

    • ข้าวเม่า กะยาสารท ชาวบ้านจะทำกันในบุญสารทไทย ที่มีส่วนผสมในการ ถั่ว น้ำอ้อย งา ข้าวตอก ข้าวพอง หรือในพุทธประวัติเรียกว่า ข้าวทิพย์ ไอ้ข้าวพองที่ว่านี้ทำมาจากข้าวเหนียวที่สดๆนำมาคั่วแล้วตำคัดเอาแกลบออกเหลือแต่เม็ดข้าวเหนียวเมล็ดแบนๆ ที่มาทำข้าวเม่าพล่า ข้าวเม่าทอด ซึ่งมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งมากในการทำข้าวเมาและก่อนที่จะมาทำเป็นข้าวพองต้องมาคั่วให้พองก่อนที่จะมากวนเป็นกระยาสารท เลยชาวบ้านเรียกว่ากวนข้าวเม่า

    • ขนมห่อ จะทำด้วยแป้งข้าวเหนียว มีไส้คลายขนมใส่ไส้ห่อด้วยใบตองจะทำกันในงานบุญเข้าพรรษา และเมื่อทำแล้วก็นำไปให้ญาติผู้ใหญ่ ชาวบ้านมักเรียกบุญเข้าพรรษาว่าบุญขนมห่อแทน

    • รถอีตุ๊ก รถอีแต๋น

    • รถอีแต๋น รถไถเดินตาม

    • กระชั้น กระชั้นชิด

    • ไม้ราว ไม้นาบข้าว

    • ไม้คันหลาว ไม้หาบข้าว

    • กะม่อง ตะค่อง

    • ใบตองพวง ใบตองควง ตองตรึง ตองกึง

    • ต้นปีบ กาสะรอง

    • ซิหว่า เป็นคำต่อท้ายคำพูด, ซิว่า เช่น ใช่จัดเลยซิหว่า

    • เหมาะจัด สวยมาก

    • เอี่ยมจัดเลย สะอาดมากๆ

    • กระซ่า ตระกร้า

    • กะแซง ตระแกรง

    • ไม้กำปัด คือไม้กวาดซึ่งเกิดจากการมัดรวมแล้วมาใช้ปัดกวาด เช่น ไม้กำปัดใบคะมอญ ซึ่งทำมาจากต้นขัดมอญ

    • ระหัด เครื่องสูบน้ำ

    • ศาลารม ศาลาหมู่บ้าน ศาลาพักร้อน

    • ขี้หนี้ การเป็นหนี้

    • ตะโอ๊บ กบ

    • ตะครัว ห้องครัว

    • ไปนอนถึงที่ ไปนอนในที่นอน

    • เมาะ ที่นอน

    • อู่ เปลนอน

    • อู่รถ ที่จอดเก็บรถ

    • ไม้กำตาก ไม้เช็ดก้นน่าจะ มาจากคำว่าตำก้น

    • บ็อค ส้วมแห้งขุดหลุมด้านล่าง ไม่มีหลังคา

    • เงย แหงนมอง

    • มอด โหม่ รอด โผล่

    • แห้น แทะเล็ม

    • พ่อใหญ่ ตา

    • แม่ใหญ่ ยาย

    • กระโล้ ภาชนะคล้ายกระด้งแต่ใหญ่มากไว้ตากของ

    • เสวี่ยน อ่านว่า สะ เหวี่ยน คือ อุปกรณ์การเกษตรใช้ร่วมกับเกวียนไว้โค้งต่อบนเกวียนเพื่อการบรรทุกข้าวให้ได้มาก ทำจากไม้ไผ่สานคล้ายเสื่อรำแพนของทางอีสาน กว้างประมาณเมตรถึงเมตรครึ่ง ความยาวสามารถโค้งรอบเกวียนได้

    • น้องแอ่ง เขียดทรายตามหนองน้ำ

    • นอกชาน ชานบ้าน เรือนชาน

    • กะเตียง ตะเกียง

    • น้ำมันบ็อค น้ำมันขี้โล้ น้ำมันเครื่องที่หมดการใช้งาน

    • ผักไห มะละ

    • ไม้ซ่าว ไม้สอยผลไม้

    • เพลัย สิ่งที่ต่อเติมยื่นออกจากตัวบ้านเช่นชายคา

    • ก่อนงาย ใกล้สว่าง มักใช้เช่น ไปกินข้าวงายหน้า คือไปกินข้าว

    • น้องเพล ใกล้เที่ยง

    • โอ่งเหล็ก ถังแกลอน 200 ลิตร

    • โอ่งใหญ่ โอ่งเกษตร

    • เริ้ม อาการของคนที่ออกหน้าออกตา

    • เอาแรงกัน ช่วยกันทำงาน เช่นเดียวกับลงแขก

    • หัวเปลือก จอมปลวก

    • โอ้ง อ้อม ไม่ไปทางตรง

    • ขึ้นแรง นำสิ่งของมาช่วยเมื่อมีงาน

    • ยากะแล็ต บุหรี่ เพี้ยนมาจาก ซิคกาแลต

    • กระทาย กล่องใส่หมาก

    • เข้าก้น อาการของคนเดินตามกัน

    • ปลาเห็ด ทอดมัน

    • ไม่กว่าซิ ไม่มากไปกว่านี้ได้อีก

    • ออทิด ใช้เรียกแทนชื่อลูกเขยที่ผ่านการบวชเรียนมา

    • พยับลมบ่มใบไม้ ร้อนอบอ้าวคล้ายฝนจะตกมีเมฆลอย

    • ขี้สะเหรด เสมหะ

    • ขี้คับตูด อาการของคนท้องผูกถ่ายไม่ออก

    • เห็นราก อาการของคนที่อย่าจะอวก

    • มาด้วยความเซ่อใจ มาแบบด้วยความทุลักทุเลไม่รู้ว่าจะได้อะไรเกิดขึ้น

    • แม่มึง สามีใช้เรียกภรรยา

    • พ่อมึง ภรรยาใช้เรียกสามี

    • กวัดกวาย คำอุทาน ใช้กับสิ่งที่ไม่อยากจะให้เกิดกับตัวเรา

    • ไปสัง ใช้นำหน้าเรียกผู้ตายแล้ว

    • กินโสชีวิต กินเหมือนคนอดอยาก

    • เหิ่อ อวดตัวเองว่าดูดีกว่าผู้อื่น

    • เป็นประเหิ่อ เป็นผื่นคันบวม

    • เอิ้น เช่นเดียวกับเรียก

    • แหงะ หันหน้ากลับไปมอง

    • เขียวปัด เขียวมากมาก เช่น ว้ายยย..แลฝ่นมาเขี่ยวปัดเลย

    • บ่องขี้ บ่งขี้ การผ่าท้องเข้าใส้ออกเช่นการทำปลา

    • ตีเหาะอีเหน ตีให้กระจุยกระจาย

    • ทิ้งอย่างห่อยาเขียว ทิ้งเกะกะเลี่ยลาดไปทางไหนก็เจอ เมื่อก่อนแขกที่มาเกี่ยวข้าวมักกินยาเขียวผสมน้ำเพื่อคลายร้อนและทิ้งไว้เลี่ยลาดตามท้องนา

    • ขี้ลงท้อง ท้องเสีย

    • แหกกะแซง ทำอะไรไม่อยู่ในขอบเขตผิดจากคนอื่น

    • ซู่กระซิว การที่ใช้ตะแกรงไม้ไผ่ไปดักช้อนปลาซิวหน้าทางน้ำไหล

    • โหงกระซิว การใช้สวิงหรือ ตะแกรง เหวี่ยงซ้าย-ขวาไปมาเพื่อให้ปลาติด

    • กระซ่อ มาจากคำว่าตะกร้อ ภาชนะไม้ไผ่หรือหวายสาน เช่น ตะกร้อสร้อยผลไม้

    • กระซ่อเหยื่อ ภาชนะคล้ายตะค่องแต่ไม่มีคอจะเย็บผ้าดิบต่อเป็นปากถุงและมีหูรูดที่ปากชาวบ้านใช้ใส่เขียดเกี่ยวเบ็ด

    • ถุงแห ถุงตาข่ายด้านบนปากมีหวายโค้งกลม ไว้ใส่ปลา หรือที่มีชื่อเรียกว่าถุงตะเคียว

    • สะบก หรือตะลุมพุกทำจากไม้มีด่ามลักษณะคล้ายค้อนไว้ทุบตี หรือตำ

    • ซ้อมข้าว การตำข้าวแบบใช้ครกใหญ่

    • กระเพล่า ข้าวที่มีเมล็ดสมบูรณ์

    • นั่งเอกเขนก นั่งลอยหน้าลอยตา

    • น้ำขี้ตีด หรือน้ำขี้กรีด น้ำขังเสียตามบ้านที่เน่าเหม็น

    • โม้ม กินอาหารคำโต ไม่ว่าจะชินเท่าไรก็ใส่ปากทีเดียวหมด

    • โฮบ การซดน้ำต้มหรือแกงมีเสียงดัง

    • ขมุย ขุยของสัตว์ที่อยู่ในรู เช่น แย้อุดขมุย

    • คันที่นอน วิดน้ำจับปลาต้องนำดินมาทำคันกั้นก่อน

    • จู๋ ไหปลาร้า เช่น จู๋ใหญ่ จู๋กลาง

    • แดดบด แดดมีเมฆบังคงจะมาจากบดบัง

    • เอนหลัง นอนพักชั่วครู่

    • ทำสี คล้ายคำว่าทำท่าจะทำแสดงถึงท่าทางต่าง เช่น ทำสีเราจะมาทางนี้เค้าก็ไปทางอื่น

    คงจะพอแล้วเพียงคำ1คำมีหลากหลายเช่นคำจำพวกที่ออกเสียงเพี้ยนจากคำเดิมยังมีมาก

    ขึ้นอยู่ว่าบ้านไหนไห้อ่านออกเสียงสำเนียงนั้นเพราะจากสำเนียงพูดมาเป็นภาษาเขียนค่อนข้ายากมา

    ทางบ้านในโคกมะตูมบางกลุ่ม เนี้ย มะเขี่ย พริกเกีย เป็นต้น

    ทางเนินตาเกิด แถบทางโคกมะกอก ให้ทำเหนอๆเข้าไว้ลากหางเสียยาวเท่าไรได้ยิ่งดี

    เช่น อาลัยมันช่างยกใหญ่ล้าวววววววววว......

    อ่านไปก็ได้เรียนรู้ ทบทวนความจำ แล้วก็สนุกมากจริงๆครับคุณเสวก รวมทั้งต้องยิ้มกับอารัมภบทของคุณเสวกด้วย เหมือนการขึ้นคำเตือนในโทรทัศน์เลย ดูขังขึงและนอบน้อมน่าดู แต่ไม่เห็นมีว่าจะดูหยาบคายเลยนะครับ ยกเว้นนำไปเปรียบเทียบกับคำและความหมายที่อยู่ในคนละบริบท

    • หลายคำ ก็ทำให้ผมรำลึกได้ไปด้วยครับว่าเออจริง คนหนองบัวเขาพูดกันอย่างนี้  เช่น  ส้มแผ่น ซึ่งทำกันเป็นผลิตภัณฑ์ครัวเรือยั้นบ้านผม ก็หมายถึงมะม่วงกวนหรือมะม่วงแผ่นที่คนทั่วไปเรียก (ยั้นนี่ ดูคล้ายกับคำว่า ยัน เหมือนกับที่อื่นๆเขาพูดเหมือนกัน  แต่หากได้ยินคนหนองบัวออกเสียงพูดแล้ว คำนี้ก็จะทำให้รู้ได้ทันทีเหมือนกันว่าเป็นคนหนองบัว  อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม)  หรือ ราก ที่แปลว่าอาเจียนหรืออ้วกนี่แถวบ้านผมซึ่งเป็นชุมชนรอบนอกก็พูดอย่างนี้เช่นกัน ทำสี... อันนี้ก็เห็นจะได้ยินแต่คนหนองบัวพูดนะครับ เพื่อนๆผมเวลาเจอกันก็มักใช้พูดเล่นแล้วก็ขำว่าทำสีปวดๆหัวแล้วซิหว่า = รู้สึกเหมือนจะกำลังปวดหัวครับ/ค่ะ  ปลาเห็ด ยากะแล๊ตหรือยาแกแล๊ต = ทอดมัน และบุหรี่แบบมวนและมียี่ห้อที่ไม่ใช่ยาเส้นและยาตั้งที่ใช้มวนเองและใช้สีฟันเคี้ยวหมาก  
    • อย่างมะเขี่ย / พริกเกีย / แกงเนี้ย ...พวกนี้ก็เป็นคำและสำเนียงจำเพาะมากเลยครับ การพูดแบบยานๆและเหน่ออย่างคนเก่าก่อนของหนองบัว ฟังดูมีเสน่ห์และมีความจริงใจแบบชาวบ้านมาก เวลาเรียนเมื่อตอนเป็นเด็กที่หนองบัว ไม่ว่าจะมาจากชุมชนรอบนอกจากที่ไหน ส่วนใหญ่ก็จะโดนพลังเหน่อดูดกลืนให้กลายเป็นพูดเหน่อกันไปหมด  เหน่อเหมือนกันจนเราไม่รู้สึกเห็นความแตกต่าง แต่พอไปอยู่ที่อื่น  คนถิ่นอื่นได้ยินก็จะสะท้อนว่าพูดเหน่อ ผมนอกจากเหน่อไปจากหนองบัวแล้ว ก็ไปเรียนและอยู่ที่ราชบุรีอีก ที่นั่นก็เหน่อครับ เลยกลายเป็นเหน่อบวกเหน่อ แล้วก็มีคำศัพท์เฉพาะให้ได้รู้อีกมากมายเช่นกัน
    • แต่บางที เจอคนบ้านเดียวกัน ถึงแม้จะไปอยู่ที่อื่นและพูดไม่เหน่อแล้ว ทว่า พอเจอกันก็กลับจะพูดเหน่อด้วยกันไปเองโดยอัตโนมัติ เช่น ลูกคนหนองบัวเหมือนกันท่านหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมรุ่นและเพื่อนเล่นผมเอง ทั้งที่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) และที่หนองคอก คือ รองศาสตราจารย์ย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บ้านอยู่ข้างตลาดธารสวรรค์หรือท่ารถเมล์หนองบัว ลูกพี่ลูกน้องของ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนหนองคอกในปัจจุบัน (จ้าวนี้ก็พูดเหน่อ บุคลิก และน้ำใจกว้างขวาง อย่างคนที่เป็นชาวบ้านท้องถิ่นหนองบัวแท้เลย) เจอกันทีไรก็เห็นพูดเหน่อเหมือนที่เคยได้ยินคนหนองบัวพูดยังไงยังงั้น

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ผมอ่านที่พระคุณเจ้าพูดถึงเรื่องย่ำปลาแล้ว นึกภาพออกและได้ความรู้สึกร่วมไปด้วยได้เลย แต่เชื่อว่าคนทั่วไป ซึ่งรวมทั้งคนหนองบัวจำนวนไม่น้อยด้วย คงนึกภาพไม่ออก ไม่เห็นความหมาย ภาพสะท้อนสังคม ระบบนิเวศวิทยา และวิถีชีวิตของชุมชน  ที่ทำให้ผุดคำว่า ย่ำปลา ให้ออกมาเป็นคำศัพท์ท้องถิ่นคำหนึ่ง อย่างซาบซึ้งเป็นแน่  เพราะคำศัพท์นี้ มีความเชื่อมโยงกับลักษณะของท้องถิ่นในห้วงเวลาที่ใช้สื่อสารกันมากเป็นอย่างยิ่ง

    ใครจะเชื่อ หรือใครจะสามารถนึกภาพออก ว่าแค่เราเดินลงไปย่ำน้ำให้ขุ่น ก็สามารถหาปูปลามาทำอยู่ทำกินได้  มีแค่เท้าและตัวเปล่าๆเท่านั้น เป็นวิธีหาปลาได้อย่างไร  อย่างนี้ต้องเรียนรู้กับคนหนองบัวในอดีตและชุมชนโดยรอบเท่านั้นครับ ผมเองก็เคยย่ำปลาครับ

    เมื่อก่อน เมื่อถึงหน้าน้ำหลากและเมื่อมีน้ำฝนให้น้ำหลาก ก็จะมีปลามากับน้ำมากมาย โดยเฉพาะปลาค้าว ปลากด ปลาดุก ปลาขาว ปลาเข็ม ปลากะโห้ และปลาตะเพียน เวลาเราทำให้น้ำขุ่น เช่น ไถนาและตีคลุบ-คราดเพื่อทำปลักดำนา (เมื่อก่อนชาวนาส่วนใหญ่ทำนาดำ  ส่วนนาหว่านและการหยอดนั้น เพิ่งเป็นเทคโนโลยีการเพาะปลูกหลังทศวรรษ 2520 แล้ว ผมจำได้เพราะหมดยุคคลองคึกฤทธิ์ก็เริ่มมีนาหว่านและนาหยอดแถวบ้านผมและหนองบัว) 

    หรือเพียงเดินไปบริเวณที่มีดงหญ้าให้เหยีบย่ำน้ำให้ขุ่น ปลามากมายเหล่านี้ก็จะลอยขึ้นมาหายใจเต็มไปหมด อยากกินปลากกด ปลาค้าว ปลาดุก ก็สังเกตจากการดูหนวดและการว่ายส่ายหัว อยากกินปลาขาว ปลาตะเพียน ก็สังเกตจากครีบบนหลัง  ตัวใหญ่ ตัวเล็ก อย่างไร ก็สามารถมองเห็นเลยครับ ยิ่งย่ำนาน  ปลาก็ยิ่งลอยแพขึ้นมาเยอะแยะ 

    หากมีตะแกรงหรือสวิง ก็ใช้ช้อนจับ หรือหากไม่มีอะไรเลย ก็เพียงใช้สองมือกอบพยุงน้ำ แล้วก็วิดขึ้นไปบนบก หรือไม่ก็ย่ำให้ปลาลอยอยู่บนกอหญ้า พอได้จังเหมาะก็กระโดดออก  ปลามากมายก็จะค้างบนกอหญ้า  รอบสองรอบเท่านั้นก็ได้ปลาสำหรับแกงเด็มหม้อ เวลาไปทำนา เราก็จะย่ำปลาและนำมาทำอาหารกินมื้อต่อมื้อ การไปนาก็เอาแต่ข้าวและพริกเกลือไป ส่วนผัก ปลา และมื้ออาหารหลักๆ ก็ไปหาเอาดาบหน้า เป็นอย่างนั้นจริงๆ มั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่าไปเดินหาจากซุปเปอร์มาเก๊ตเสียอีก

    ไม่แน่นะครับ  คำว่า ลอยแพ  อาจจะมีที่มาร่วมกับลักษณะของวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างนี้ก็ได้ ไม่ใช่ลอยแพ ที่หมายถึงว่าแพ อย่างเดียว เพราะลอยแพอย่างนั้น ไม่เคว้งคว้างและดิ้นรนเสี่ยงภัยเท่ากับการลอยขึ้นเป็นแพของปลาเมื่อเจอเข้ากับการย่ำปลา อย่างที่พระคุณเจ้านำมาให้เรียนรู้นี้ก็ได้นะครับ

    เมื่อย่ำและปลาลอยแพแล้ว ก็เลือกขนาดแต่ตัวใหญ่ๆและเลือกเอาแต่พอกิน หากเลือกเปะปะส่งเดชไม่ดูตัวเล็กตัวน้อยและจับเยอะเกินไป ถ้าเป็นเด็กก็จะถูกผู้ใหญ่อบรมสั่งสอนพอให้รู้ความ หากเป็นผู้ใหญ่ก็จะถูกติฉินนินทา

    ผมว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางสังคมอย่างนี้ ก็เชื่อว่ายากเหลือเกินที่จะเข้าใจว่า การกินอยู่ด้วยความเคารพต่อธรรมชาตินั้น มันเป็นชีวิตจิตใจและเป็นรากฐานของชาวบ้านในชนบทยุคนั้นอย่างไร กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่ผุดคำศัพท์ท้องถิ่นและทำให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    พระคุณเจ้าทำให้ผมอยากเขียนประสบการณ์เมื่อเล่นแตรวง เวลาเล่นแตรวงแห่นาคไปรวมกันเป็น 20-30 จ้าว บนศาลาวัดหลวงพ่อเดิมหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย-วัดหนองกลับนั้น ระหว่างรอแห่ขบวนนาคเข้าโบสถ์ ก็จะหมุนเวียนกันโชว์เพลง ทั้งเพื่อเป็นการแสดงของแตรวง และเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าภาพของนาคแต่ละเจ้า ซึ่งกิจกรรมอย่างนี้ ถ้าหากไม่มีการเรียนรู้เพื่อทำวิถีวัฒนธรรมอย่างนี้ให้ออกมางดงามดีแล้ว การมีนาคหมู่ ผู้คน และแตรวงแห่แหนมากมายขนาดนั้นบนศาลาวัดหลวงพ่ออ๋อยอันใหญ่โต ก็คงจะไร้ระเบียบเละเทะ

    ดังนั้น ก็เกิดการพัฒนาวัฒนธรรมขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรวมตัวและจัดลำดับขบวนนาคที่รวมกันไม่ได้ ซึ่งจะเป็นไปเองโดยวิถีชาวบ้าน ถ้อยทีถ้อยทำด้วยกัน คือ การรวมขบวนและการรู้ในทีว่าควรจะให้ลำดับใครก่อนหลัง ซึ่งเท่าที่ผมจำได้ ขั้นตอนนี้ แตรวงจะมีบทบาทเข้ามาจัดการให้

    วิธีที่พวกแตรวงรู้ว่าใครควรจะเข้าไปรวมกับใคร และจะให้ลำดับใครไปก่อนหลังนั้น เขาจะใช้วิธีทักทายกันผ่านเสียงเพลงแตร การฟังตัวโน๊ตและทางเพลง ซึ่งจะรู้ได้เลยทีเดียวว่าครูแตรเป็นใคร เป็นแตรมาจากไหน ฝีมืออ่อนแกมากน้อยเพียงใด 

    วิธีการนี้ จะมีวัฒนธรรมที่ทำกันอย่างเคร่งครัดอย่างหนึ่งเหมือนกับเป็นวินัยและแก่นวิชาคุณธรรมของแตรวง คุณธรรมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมของชาวบ้าน คือ 'การล้อเพลง' และ 'การย่ำเหยียบเพลง' การล้อเพลงคือการทักทายกันด้วยเสียงเพลงและฟังแนวดนตรีกันและกันทั้ง 20-30 จ้าวเพื่อรวมวงและรวมขบวนแห่นาค

    ส่วน 'การย่ำเหยียบเพลง' นั้น เป็นกฏหรือข้อห้ามทำเด็ดขาดของพวกแตรวง(และในกิจกรรมวัฒนธรรมอย่างนั้น จะเป็นผู้นำของชาวบ้านด้วย) เพราะหากทำแล้ว นอกจากจะเป็นการก้าวร้าว รวมวงและหลอมทางเพลงแตรวงกันไม่ได้แล้ว ก็จะมีความหมายของการปะทะกัน ซึ่งในวัฒนธรรมแตรวงแล้วถือว่าเป็นการหยามเหยียดครูอาจารยฺและทางเพลงกัน ทั้งแตรวงและเจ้าภาพ อาจถึงกับทะเลาะและแหนงใจกันได้ ซึ่งในยุคก่อนโน้น หากละเมิดกฏอย่างนี้ พระคุณเจ้าก็คงอยู่ในรุ่นที่พอจะทราบว่า ผู้คนท้องถิ่นแถวหนองบัวเขาแก้ปัญหากันวิธีเดียวครับ คือ หยุด ไม่คบกัน หรือไม่อย่างนั้นก็ยิงกันเลย คนแต่ก่อนนั้นไม่ติดใจกันเล็กๆน้อยๆ จึงมีวิธีปฏิบัติเพื่อยืดหยุ่นเข้าหากันอย่างที่สุดก่อน หากทำกันก็เล่นกันแตกหักแบบนักเลงๆไปเลย แต่เดี๋ยวนี้มีหลายวิธีที่จะอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

    ผมจะหาโอกาสเขียนไว้สักครั้งนะครับ เคยคุยกับคนนครสวรรค์ที่เล่นแตรวงและเชียร์รำวงเหมือนกันคือ คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีรางวัลซีไรต์-คนชุมแสง ก็เห็นว่ามีเรื่องราวสนุก สะท้อนความคิด และมีสิ่งต่างๆมากมายอยู่ในกิจกรรมวัฒนธรรมและประเพณีอย่างนี้นะครับ  การย่ำปลา ทำให้นึกถึงการย่ำเหยีบเพลงได่อย่างไรนะครับนี่

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    • โยมอาจารย์วิรัตน์บรรยายเห็นภาพพจน์ท้องนาในอดีตแจ่มชัดมาก บางครั้งก็โดนเงี้ยงปลาดุกบ้าง ปลาแขงบ้างตำเท้าเวลาย่ำปลา
    • นึกถึงการแห่นาคหมู่สมัยโน้นจะแห่ตอนบ่าย ๆ แดดร้อน ๆ จากวัดเทพสุทธาวาสผ่านทุ่งนาตะวันตกวัดเทพฯ บ้านเนินตาเกิดบ้านเนินยายแรม บ้านเนินตาโพ บ้านโคกมะกอกเข้าสู่ตลาดหนองบัว-วัดใหญ่
    • เป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตอนเป็นเด็ก
    • แค่นาคออกกราบลาญาติผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อขอขมาลาโทษที่ได้ล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ นาคจะเดินเป็นแถวยาวมากเพราะนาคแต่ละปี ๓๐-๕๐ คิดดูว่าเป็นขบวนที่ยาวมาก
    • และมีผู้ติดตามนาคแต่ละคนอีกไม่น้อย ที่ต้องติดตามเพราะนาคแต่คนใส่ทองเส้นใหญ่ ๆ ใส่นาค ใส่แหวน เต็มคอนเต็มข้อมือ นิ้วมือ
    • ชุดนาคก็สวยงาม เวลาแห่แตรวง ก็ ๑๐ ถึง ๒๐ วง ดังสะเทือนท้องทุ่งนาถึงตลาดหนองบัว นาคจะนั่งบนคานหาม ๒ นาคบ้าง ๓ นาคบ้าง มีเด็กน้อยนั่งรวมด้วย
    • คนที่ช่วยกันหามเป็นสิบ ๆ สามารถหามจากวัดเทพฯถึงวัดใหญ่(วัดหนองกลับ)ได้โดยไม่ต้องหยุด แต่เพื่อให้เกิดบรรยากาศสนุกสนานก็จะหยุดรำวงที่ใต้ต้นมะม่วงนาตาเทิน-ยายแทน ทิศตะวันตกบ้านเนินตาโพ พักใหญ่ ๆ แล้วก็แห่ต่อไปจนถึงวัดใหญ่ รวมตัวกันที่ศาลาวัดใหญ่ซึ่งจุคนได้นับพันคน
    • ตอนเช้าแห่รอบตลาดหนองบัว-ไปหน้าอำเภอ อำเภอหนองบัวคิดว่าไม่มีงานอะไรยิ่งใหญ่เท่างานบวชนาคหมู่ประจำปี ใครได้เป็นนาคเอกจะได้เดินนำหน้าตามด้วยนาคโท ใครได้เป็นนาคเอก-โท ถือว่ามีชื่อเสียงทั้งตนเองและพ่อแม่ด้วย เพราะการจัดเป็นนาคเอก-โท นั้นจัดตามการท่องหนังสือเจ็ดตำนานคือท่องบทสวดมนต์ได้มากที่สุดเป็นนาคเอก ที่สองก็เป็นนาคโท และสีกานาคก็พลอยมีหน้าตามีชื่อเสียงไปด้วยเพราะได้เป็นสีกานาคเอกสีกานาคโทเรียกว่าปลื้มสุด ๆ ชุดนาคยุคโน้นปัจจุบันยังมีเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับใครผ่านไป ที่อำเภอหนองบัวก็ขอเชิญชมได้เพราะมีของให้ชมมากมาย ก็ขอเล่าย่อ ๆ แค่นี้ก่อน
    • จะคอยติดตามเรื่องราวการเป็นนักเป่าแตรวงของโยมอาจารย์วิรัตน์และคงจะได้อรรถรสเชิงวรรณกรรมและบรรยากาศประเพณีอันงดงามของชาวหนองบัวต่อไป.

                                                          ขอเจริญพร

                                               พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

     

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ เรื่องแตรวงของคนหนองบัวเป็นของคู่กันมานานการแห่นาคเจ้าภาพที่ลึกซึ้งมักจะนิยมหาวงแตรมาเล่นในงานบวช เมื่อปลงผมนาค ทำขวัญ จะเล่นเพลงค่าน้ำนมจะทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความตื้นตันใจ ลุงหวิงบ้านมาบตาคล้อ หรือทางบ้านในหลังอำเภอเคยเล่าให้ฟังว่า แกเองเป็นนักเป่าแตรปัจจุบันยังเล่นอยู่ ตอนแรกที่แกะเพลงเพื่อจะมาออกงาน ต้องเอาผ้ามาปิดปาก แซคโซโพน ทรัมเป็ท ไม่ให้เกิดเสียงดัง เพราะกลัวว่าคนที่เป่าแตรวงอื่นจะมาได้ยินแล้วนำไปเล่นแข่งกัน ถ้าใครเล่นเพลงใหม่ๆได้จะถือว่ามีฝีมือ เมื่อครั้งหนึ่ง มาเล่นงานบวชนาค ตอนรุ่งเช้า ที่ศาลาวัดหนองกลับในขณะที่เล่นบันเลงเพลงอยู่นั้นได้มีแตรวงทางบ้านห้วยด้วนแห่เข้ามา แกเองเลยหันไปมองรอด กรงฝาศาลา ได้เห็นครูที่ฝึกหัดกำลังเดินเป่าแตรมา ถึงกับขยับนิ้วไม่ได้ ลุงหวิงว่าน่าจะเป็นอะไรสักอย่างเมื่อมาพบครูแล้วทำให้เป่าไม่ออก สุดท้ายต้องเดินไปกราบครูแล้วต่อมาเลยเล่นด้วยความสะบายใจ ผมเองประสบการด้านแตรวงมีน้อย เป็นนักดนตรีของโรงเรียนหนองคอก ฝึกหัดโดย คุณครู วีรชน พูลพันธ์ เคยออกงานส่วนมากจะเป็นงานศพ ส่วนงานบวชนาคเคยเล่น 2ครั้ง ที่วัดวังแรด อีกครั้ง แห่นาคตั้งแต่ บ้านเขาลวก อุดมพัฒนา ขึ้นรถสิบล้อพร้อมคณะนางรำไปบวชที่วัดสามัคคีสุนทร ขะบวนผมจะอยู่ท้ายสุด ประกอบด้วยยังอ่อนหัดเมื่อไปประทะกับวงแตรบ้านไดรังถึงกับไปเกือบไม่รอดแต่โชคยังช่วย มีพี่นพและเพื่อนๆอีกสองคนของมือเอกวงแสงเทียนบ้านสวนบัวร่วง หรือหนองม่วง เอาแซค และทรัมเป็ท มาช่วยเป่า เลยไปรอด เพราะขะบวนของวงแสงเทียน ได้นำนาคเข้าโบสก่อนแล้วนี่แหละครับคนบ้านเดียวกันก็มีน้ำใจช่วยกัน ปัจจุบันวงแตรวงอำเภอหนองบัว ไม่ว่า จะวง บ้านหัวเขา บ้านน้ำสาด บ้านใหญ่ บ้านโคกมะตูม จะถึงกันหมดและจะเป็นสายญาตกัน เพราะคนเล่นมีน้อย ประกอบกับทางเจ้าภาพที่หาไปเล่น ต้องการวงนี้อยากให้มีเครื่องดนตรี เพิ่ม เช่น แคลน พิณ แต่ไม่มี ก็จะดึงตัวกันมาช่วยก็เลยไม่ถึงกับเอาเป็นเอาตายกัน ปัจจุบันผมเองก็ยังพอมีเครื่องดนตรี ที่มีไว้ฝึกหัด เล่นผ่อนคลานเช่น แคลน คีย์บอท โหวด เป็นต้น

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    คำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    • ต้องขอขอบคุณหลานเสวกเป็นอย่างมากที่ได้รวบรวมคำพูดภาษาคนหนองบัวไว้และอธิบายได้ดีด้วย
    • หลวงอาเอง ทำสี จะลืมแล้วแหน่...(รู้สึกเหมือนว่าจะลืมไปบ้างแล้ว) พอเห็นคำเหล่านี้เลยนึกออกว่าใช้ในความหมายอะไร
    • และอีกอย่างหนึ่งต้องขอขอบคุณโยมอาจารย์วิรัตน์ด้วยที่ได้ช่วยฟื้นความจำคำเก่า ๆ มาให้ได้เรียนรู้ เช่น คำว่า ติ๊ต่าง(การสมมุติ) ปั่ง(ต่อให้) สองคำนี้อาตมาก็ทำสี จะลืมสนิทแหน่...
    • ทำสี จะชอบเขาแล้วซิท่า(รู้สึกว่าจะรักเขาแล้ว)
    • คำว่า น้ำขี้กรีด คือ น้ำขังเสียตามบ้าน(ใต้ถุนบ้าน)ที่เน่าเหม็นคำนี้ยังไม่เคยไม่ยินที่ไหนมีใช้เลย
    • น้องเพล คือเวลาใกล้เที่ยง เช่นไถนาพอถึงน้องเพลควายก็เริ่มหอบแดดก็ต้องปลด(คอมออกจากคอควาย)ให้ควายไปพักใต้ร่มไม้ หรือควายบางตัวร้อนทนไม่ไหวก็จะพาทั้งคนและไถเดินเข้าร่มไม้ไปเลยก็มีดึงไว้ไม่อยู่ เพราะน้องเพลนั้นแดดร้อนแล้วแหละ.

                                                          ขอเจริญพร

                                                      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    คำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    • เมื่อสักครู่มีหลวงตารูปหนึ่งมาที่กุฏิท่านเป็นคนบ้านท่านหมื่นราม อำเภอวังทอง สำเนียงพูดท่านคล้าย ๆ สำเนียงไทยด่าน(จ.เลย)
    • ถามท่านว่า น้ำขังใต้ถุนบ้านที่เน่าเหม็นเรียกว่าอะไรท่านตอบว่า น้ำขี้กรีด ก็แสดงว่า คำนี้ใช้เหมือนกับที่หนองบัว
    • คำว่าโม้ม แปลว่าการกินอาหารคำโต ๆ ไม่ว่าอาหารจะชิ้นใหญ่เล็กก็ใส่เข้าปากทีเดียวหมด จะว่าตรงกับคำว่า มูมมาม คือ อาการกินอย่างตะกละตะกลาม ก็ไม่น่าใช่เพราะดูคำแปลแล้วคนละอย่างเลย นี่ก็แปลกอีกศัพท์หนึ่งของภาษาถิ่นหนองบัว.

     

                                                             ขอเจริญพร

                                                      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    คำศัพท์ท้องถิ่นหนองบัว

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    • จู๋ คือ อาการที่ห่อปากเข้ามา เช่น ทําปากจู๋.
    • แต่คำว่า จู๋ คนหนองบัวใช้ในความหมายเดียวกันกับ คำว่าไห เช่นปลาร้าบรรจุในไห หน่อไม้บรรจุในไห
    • หรือ จู๋ ใส่ปลาร้า,บรรจุปลาร้า  จู๋ ใส่หน่อไม้ดอง,บรรจุหน่อไม้ดอง มีจู๋ขนาดใหญ่ จู๋ขนาดกลาง จู๋ขนาดเล็ก
    • ทำไมจึงเรียกว่า จู๋ คิดว่าน่าจะเรียกตามลักษณะไหที่ปากแคบ ๆ คล้ายคนทำปากจู๋ นับว่าคนหนองบัวรุ่นก่อนเข้าใจเปรียเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ
    • แต่ไม่ทราบว่าคนรุ่นหลังที่เข้าไม่ถึงและเข้าใจอะไรได้ยากอาจตีความหมายผิดเพี้ยนเห็นเป็นเรื่องโจ๊กดังที่คุณเสวกเตือนไว้ว่า อาจมีคนเข้าใจผิดเห็นเป็นคำหยาบคายไปได้
    • ฉะนั้นเราคงต้องเรียนรู้เรื่องใกล้ ๆ ตัวเราหรือเรื่องของเราเองให้มากเสียแล้ว ต้องไปให้ทันคนโบราณรู้ให้ทันความเป็นมาในท้องถิ่นของเรา เมื่อรู้ได้ทันคนโบราณแล้วเราจะได้มีความมั่นใจในตัวเองไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัวโลกภายนอก
    • รู้ตัวเองให้แน่นให้แม่นให้มั่นคงถูกต้องแม่นยำ ก็จะทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างคนมีรากมีเหง้ามีหลักมีฐานมีภูมิธรรมภูมิปัญญา ถ้าเป็นได้ดั่งนี้ก็เอาตัวรอดได้แน่นอน.

     

                                               ขอเจริญพร

                                        พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คุณความเห็นที่ ๗๐ : รำลึกแตรงวงกับวิธีชุมชน

    • ดีใจนะครับ ที่มีศิษย์เก่าหนองคอกแล้วก็เป็นคนเล่นดนตรีของโรงเรียนอีกด้วย
    • เคยเห็นวงแตรของโรงเรียนเล่นหลายงาน รวมทั้งงานเผาศพพ่อผม ก็มีแตรวงของโรงเรียนหนองคอกไปแห่หน้าศพให้ ก็ยังรู้สึกดีใจและภูมิใจไปด้วยมากนะครับ เล่นดีและเป็นเรื่องเป็นราวยิ่งกว่าในรุ่นพวกผมเสียอีก
    • แต่แตรวงนักเรียนกับแตรวงของชาวบ้านนั้น วิธีฝึกหัดและสิ่งที่เป็นชีวิตจิตใจภายใต้การเล่นวงแตร อาจจะต่างกันอยู่บ้าง 
    • การเข้าไปช่วยกันเป่าและช่วยกันแห่นาค เป็นธรรมเนียมที่งามมากของพวกแตรวง ขนาดของแตรวงจะมีขนาดไม่เท่ากัน เช่น วงเครื่อง ๕ ไปปะทะกับวงเครื่อง ๗ เครื่อง ๙ ก็เป๋แล้วครับ ยิ่งไปเจอแตรวงชาวบ้านและบางทีเป็นวงของครูแตรเก่าแก่ ซึ่งเล่นแน่นทั้งวง แค่เดินเฉียดกันก็เล่นเอาวงที่เล็กกว่าหลงทางไม่เป็นกระบวนแล้ว  
    • พวกแตรวงส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้าน ชาวนา และคนทำมาหากิน เลยมักเอาแรงและช่วยกันเป่า เหมือนกับการเอาแรงเอาน้ำใจกันไว้เพื่อพบปะและอยู่ในท้องถิ่นด้วยกันต่อๆไป  เวลาเข้าไปช่วยกันเป่านั้น บรรยากาศความดีอกดีใจจะออกมาเลยทั้งในหมู่แตรวงและกลุ่มชาวบ้าน จะคึกคักสนุกสนาน เสร็จแล้วก็จะกินน้ำกินท่าด้วยกัน  บางทีก็ต่อเพลงและสอบทานทางเพลงกันและกัน ซึ่งเป็นวิธีสืบทอดและเก็บความรู้โดยวิธีมุขปาฐะ ที่ทำให้ชุมชนและชาวบ้านที่ไม่ค่อยเก่งวิชาหนังสือ คือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สามารถรักษา เรียนรู้ และพัฒนาความรู้ สืบทอดรุ่นต่อรุ่น และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แพร่กระจายออกไปในสังคมได้  ผมก็หัดแตรแบบต่อเพลงเอาจากปากและมือครูครับ มาตอนหลังก็เริ่มมีคนรู้หนังสือ สามารถจดบันทึกเป็นตัวเลขและเป็นตัวอ่านโน๊ต
    • วันหลังนำมาถ่ายทอดไว้อีกนะครับ อ่านแล้วมีความสุขดีครับ ได้คิดถึงบ้านและคิดถึงชีวิตที่อย่บ้านนอก

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • วัฒนธรรมการบวชและประเพณีการแห่-บวชนาคหมู่นี่ ดูจะมีความป็นมาที่สะท้อนความเป็นคนหนองบัวและทำให้เห็นแง่มุมที่เป็นรายละเอียดได้มากมายเลยนะครับ
    • ชาวบ้านที่อยู่รอบนอก จะต้องรีบตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อจัดขบวนแห่ ขนม สำรับกับข้าว อัฐบริขาร และสิ่งที่จะต้องใช้ เพื่อไปให้ทันนาคจ้าวอื่นๆ หรือให้ทันที่พระจะทำการบวชให้ทันฉันเพล
    • พวกแตรวงก็จะต้องเป่าแตรแห่ไปตั้งแต่ออกจากบ้านไปจนถึงวัด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะใช้รถเมล์หรือรถสิบล้อแห่ หากเป็นรถเมล์เก่าของหนองบัว(ลักษณะเหมือนรถเมล์ของบริษัทนายเลิศที่กรุงเทพเลย) แตรวงก็จะนั่งเป่าอยู่บนหลังคารถ หากเป็นสิบล้อ ก็จะขึ้นไปเป่าอยู่บนหลังคาเหนือคนขับ
    • ทางรถวิ่งเป็นทางเกวียนขรุขระ  เป่าไปก็ปากหลุดออกจากแตรไป แตรวงชาวบ้านจึงมักมีทักษะการแก้ปัญหาสูง และบางทีรถวิ่งลอดใต้ต้นไม้  ก็โดนกิ่งไม้ฟาดหัว แต่ก็ต้องเป่า ไม่ใช่เหตุผลเพื่อการบันเทิงเฉลิมฉลองความเป็นมงคลของกิจกรรมอย่างเดียว แต่เป็นเหมือนการบอกกล่าวให้ชุมชนและผู้คนรู้ เพื่อร่วมอนุโมทนาไปด้วยกันอย่างทั่วถึง  อีกทั้งรถแห่นาคจะไปถึงไหนก็จะรู้จากเสียงแตรวง ญาติพี่น้องก็สามารถดักขึ้นกลางทางเพื่อไปร่วมบวชนาคด้วย
    • น้ำครำและน้ำเน่าเสียตามใต้ถุนบ้านนั้น  แถวบ้านผมจะเรียกว่าขี้สีก ครับ ใช้รดต้นไม้และใช้ทาปากทางเวลาทำหลุมโจนดักปลาดีนัก 
    • ภาชนะที่ใช้บรรจุและถนอมอาหารนี่ นับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเก่าแก่มากเลยนะครับ  จู๋  ไห และ ไหหู นั้น คนละชนิดกัน และใช้สอยคนละแบบครับ อีกทั้งลักษณะของไหก็สามารถบอกฐานะของคนที่มีได้ด้วยครับ
    • ไห โดยทั่วไปชาวบ้านจะมีไหดินเผา ซึ่งใช้ทำสารพัด คือ ใส่เกลือ ทำปลาร้า หมักน้ำปลา หมักหน่อไม้อัด แต่คนที่มีเงินและฐานะดีหน่อย ก็จะสามารถซื้อภาชนะดินเผามาใช้ให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น 
    • จู๋ ก็จะเหมาะสำหรับใส่เกลือ หมักหน่อไม้อัด ลักษณะเหมือนโอ่งเล็กๆ ปากแคบ หากเอายางขึงปากจู๋ หรือเอาผ้าชุบน้ำแล้วแปะปิดปากจู๋ ใช้ดินเหนียวอัดรอบปาก พอผ้าแห้งก็จะตึง  ตีดังเป็นเสียงกลองได้ ที่วงหมอลำซิ่งมักมีแม่นางไห รำและทำท่าดีดยางปากไหให้เป็นเสียงกลองนั้น ลักษณะไหปากแคบๆอย่างนั้นเรียกว่าจู๋ครับ
    • ไหหู เป็นไหที่มีคุณภาพดี ทั้งรูปทรง การเคลือบ และมักมีขนาดใหญ่ ซึ่งขนาดย่อมหน่อยก็มีสองหู ใหญ่หน่อยก็มีถึงสี่หู บ้านที่มีไหหูตั้งเรียงรายในครัวหรือเรือนชาน มักเป็นบ้านที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดี
    • การที่มีขนาดใหญ่และถึงกับต้องมีหูหิ้ว ก็ย่อมสะท้อนให้เราสามารถวิจัยและอ่านสังคมได้สองลักษณะ คือ (๑) คุณภาพและมาตรฐานดีกว่าทั่วไป การที่ไหหูมีขนาดใหญ่ บรรจุได้มาก ทำให้อาหารมีรสชาดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งไห ดีกว่ากระจายบรรจุในไหเล็กกว่าหลายๆใบ (๒) เศรษฐฐานะดีกว่าทั่วไป ไหหูเป็นภาชนะที่มีขนาดใหญ่ และลักษณะการเคลือบก็ดีและสวยงามกว่าไหชาวบ้านทั่วๆไป อีกทั้งเป็็นการออกแบบให้สะดวกเพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับการเดินทางและขนส่งไกลๆ  การมีไหหูไว้ในครอบครองจึงหมายถึงมีศักยภาพทางสังคมและการเดินทางไกล  ซึ่งชาวบ้านทั่วไปนั้น ตลอดชีวิตบางทีก็ไม่เคยออกจากหมู่บ้านหรือไปต่างถิ่นหรอกครับ และบางทีก็เป็นไหกระเทียมดองหรือหัวไช้เท้าดอง ผักกาดดอง ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยมีกำลังซื้อมาบริโภคหรอกครับ ต้องทำกินเอง  ความสามารถเดินทางไกลและการสามารถกินกระเทียมดอง ผักกาดหรือหัวไช้เท้าดอง  จึงเป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจและฐานะทางสังคมที่แตกต่างจากคนทั่วไป

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    งานคัดเลือกทหารของชาวหนองบัวหนองกลับ

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    วันนี้อาตมาได้รับบทความเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารของคนหนองบัวจากคุณเสวก ก็เลยนำลงไว้ในที่นี้ด้วย เคยสังเกตแถวบ้านตาลินหรือชุมชนรอบนอกก็ไม่มีธรรมเนียมเหมือนคนหนองบัวไม่ทราบสมัยก่อนคนบ้านตาลินมีทัศนะคติต่อการเป็นทหารอย่างไรบ้างเท่าที่เห็นมาไม่ถือเป็นงานสำคัญอะไร แต่คนหนองบัวเมื่อในอดีตถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งของครอบครัวเลยทีเดียว ก็ขอนำข้อเขียนคุณเสวกให้ไ้ด้อ่านกันดังนี้

    • เมื่อถึงช่วงเดือนเมษา(เดือนห้า)ชายหนุ่มที่มีอายุครบ 21 ปีหรือถึงเกณฑ์ ที่ทางการมีหมายเรียกตัวให้ไปเกณฑ์ทหารนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สุดและเป็นที่หนักอกหนักใจของอยู่กับพ่อและแม่(เมื่อก่อนพ่อแม่มีความรู้สึกอย่างนี้จริง ๆ ) เพราะคนหนองบัวนั้นไม่ยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ลูกของตนต้องไปฝึกทหาร หมายถึงแต่ก่อนต้องไปครบสองปีแล้วจะได้กลับมาบ้านเพราะเดินทางไกล แล้วแต่ว่าจะถูกส่งไปอยู่ที่ใด การเยี่ยมทหารคือ เป็นธรรมเนียมคนหนองบัวเมื่อหลาน ๆ มีอายุถึงคัดเลือกทหารจะมีญาติพี่น้องไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกเกณฑ์ก่อนวันคัดเลือกนั้นทำให้เกิดกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง คนชุมชนหนองบัวเป็นมาอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรแล้วและปัจจุบันก็ยังกลัวอยู่แต่น้อยลง เพราะส่วนมากได้เรียนหนังสือกันทุกคนเลยไม่กลัวที่จะออกจากบ้านไป คนหนองบัวสมัยก่อนนั้นผิดจากเด็กหนุ่มสมัยนี้เพราะต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เช่น ทำไร่ไถนา เลี้ยงวัวควาย และตัดฟืนเผ่าถ่านเมื่อเวลาไปเป็นทหารก็กลัวว่าจะไม่มีคนชวยทำงาน คนส่วนมากไม่ค่อยมีรากฐานความรู้ด้านการเขียนอ่านและยังไม่เข้าใจการศึกษาเป็นอย่างดี บางคนที่ไปเป็นทหาร ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าซ้ายหัน-ขวาหันคือทางไหนคนที่ไม่รู้มักจะถูกแกล้งให้โดนทำโทษอยู่เสมอ เมื่อเล่าสู่กันมาปากต่อปากจากทหารรุ่นพี่ ๆ ก็เกิดความกลัว การเยี่ยมทหารของชาวหนองบัว-หนองกลับ เลยกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอีกอย่างหนึ่งจนถึงปัจจุบัน การเลี้ยงดูญาติพี่น้อง การเลี้ยงดูประกอบด้วย การหุงหาอาหาร ทั้งคาวหวานมีทั้งเหล้ายาปลาปิ้งเลยก็ว่าได้ อาหารที่จัดเตรียมไว้นั้น ส่วนมากจะเป็นอะไรที่เป็นสีดำ ห้ามนำสีแดงเข้าบ้านเพราะจะไม่เป็นศิริมงคล เช่น ของหวานจะมี ข้าวเหนียวดำ ต้มหวานถั่วดำ เหล้าจะเป็น สาโท หรือเหล้าขาว ทุ่มหมดเท่าไรไม่ว่ากัน เป็นต้น ส่วนพี่น้องที่มาจะไม่มามือเปล่า จะมีเงินติดตัวมาด้วย แต่ไม่มากแค่เพียงคนละเก้าบาทสิบบาทเท่านั้น นั่นถือว่าเป็นเงินใส่ซองเช่นเดียวกับปัจจุบัน เพื่อให้ในวันนั้นเลยเมื่อถูกได้คัดเลือกเป็นทหารแล้ว จะได้มีเงินติดตัวไปใช้สอย เพราะแต่ละบ้านไม่ใช่เป็นคนร่ำรวย เหมือนกับว่าช่วยแรงกันไป เครื่องรางของขลัง สุดแท้แต่ว่าใครจะมีของดีก็ไปหามาให้กันยืม ของที่นิยมกันมากคือ ชายผ้านุ่ง พ่อและแม่ หลวงพ่อรอดเม็ดข้าวสารของหลวงปู่อ๋อยดีที่สุด หรือว่าใครนับถือสิ่งศักด์สิทธิ์อะไรก็สามารถไปบนบานศาลกล่าวได้ที่นั่น พ่อแม่ญาติพี่น้องก็จะไปช่วยกันบนบาลอีกทางหนึ่งด้วย หลังจากที่รู้ผลวันนั้นตอนเย็น ถ้าไม่ถูกทหารก็จะพากันมาฉลองสังสรรค์กันมาตามมีตามเกิดหากบ้านไหนที่พอมีพอใช้หรือพอมีพอกินแล้วละก็จะมีต่อกันอีกวันต่อไป การซื้อหอม-กระเทียม ชาวบ้านจะรอถึงวันคัดเลือกเพื่อที่จะซื้อทีละมาก ๆ เก็บไว้ให้พอปีเพราะการซื้อวันงานตอนงานจะเลิกฝนก็ทำท่าจะตกแม่ค้าก็จะรีบขายให้หมดก็จะได้ลดราคาที่ถูกลงหากใครอยู่บ้านก็จะเกณฑ์กันไปช่วยหาบคอนเพราะต้องซื้อมากมายยิ่งถ้าบ้านไหนจะมีงานด้วยเช่น งานบวช-งานแต่งยิ่งซื้อมากมายเลยทีเดียวและปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมอยู่มากของชาวหนองบัว.

    เสวก  ใยอินทร์

    • กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิวัตน์ และชาวหนองบัวหนองกลับทุกท่าน พอดีผมผ่านมาเยียมเยือน ผมจะกล่าวถึงประวัติของบ่อสร้าง ยังพอมีเค้าบ้างไหมครับ บ่อสร้างถูกขุดขึ้นด้วยบารมีของหลวงปู่อ๋อยและชาวบ้านในระแวกนั้นเพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำได้ดื่มกิน ผมเองเป็นหลานแม่ใหญ่เฉลา พ่อใหญ่บก คุ้มศิริ ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มบ้านเนินขี้เหล็ก เช่นเดียวกับบ้านบ่อยายโหมน
    •  บ่อสร้างขุดขึ้น โดย พระครูนิกรปทุมรักษ์ หลวงปู่อ๋อย ปีพ.ศ 2486
    • บูรณะใหม่โดย พระครูวาปีปทุมรักษ์ พระครูไกร เมื่อปี พ.ศ 2526โดยสิ้นเงินบูรณะ 2500 บาท ตามที่จารึกไว้ที่บ่อ

    เดิมเป็นบ่อดินมีน้ำออกตลอดทั้งปี และได้มีโครงสร้างภายในคือใช้ไม้หมอนเรียงเรียงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลึกโดยประมาณ 9เมตร กว้าง 3x3 เมตร  ซึงปัจจุบันชาวบ้านยังมีการใช้น้ำและมีชื่อเรียก กลุ่มบ้านผมว่าบ้านบ่อสร้างเพราะชาวบ้ามร่วมกันสร้างขึ้นด้วยความยากลำบาก

     

    ส่วนท่านพระคุณเจ้า พระมหาแลขำสุขชื่อนี้คุ้นมากเลยทีเดียวครับ

     

    บอย บ่อสร้าง................

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) และคุณเสวก ใยอินทร์

    • เห็นภาพไปด้วยเลยครับ แถวบ้านตาลินและชุมชนรอบนอกก็ทำเหมือนอย่างที่คุณเสวกและพระคุณเจ้าเล่าครับ
    • บางปีที่เขาเกณฑ์ทหารผมก็เคยได้เห็นที่วัดหนองกลับเหมือนกันครับ ดูครึกครื้น มีสีสัน บ้างก็มีกลองไปตีและร้องรำกันเหมือนกับมีงานรื่นเริงเลยทีเดียว
    • ชาวบ้านก็กลัวลูกหลานถูกทหาร และพวกเด็กหนุ่มเองก็กลัว ส่วนใหญ่ที่กลัวนั้นก็จะเนื่องจากกลัวไม่มีคนทำนทำไร่และดูแลครอบครัวเหมือนอย่างที่พระคุณเจ้าและคุณเอนกว่าไว้
    • แต่พอถูกทหาร ก็มักจะเป็นความภาคภูมิใจ เพราะส่วนใหญ่ผู้คนก็มักให้คุณค่าของการบวชและการได้เป็นทหารว่า เป็นการได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอย่างสมบูรณ์ทั้งเพื่อชาติ เพื่อพระศาสนา และเพื่อพ่อแม่บุพการี เป็นเรื่องโก้และเป็นความสง่างามของชีวิตอย่างยิ่ง
    • อ่านสนุกดีครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    สวัสดีครับคุณบอย : คุณพีรณัฐ เพ็งพรม

    • ตื่นเต้นครับ คุณพีรณัฐ เพ็งพรม บอกเป็นหลานแม่ใหญ่เหลาและตาบก  แม่ใหญ่เหลาและตาบกนี่เป็นญาติพี่น้องผมน่ะสิครับ แต่ผมไม่แน่ใจนามสกุลเดียวกันหรือไม่ จะลองถามแม่และญาติๆดูนะครับ แต่ไม่น่าจะมีแม่ใหญ่เหลากับตาบกเหมือนกัน  หากเป็นแม่ใหญ่เหลาและตาบกคนเดียวกันแล้วละก็ นอกจากเป็นญาติผมแล้ว ผมเคยไปอยู่ด้วยครับ ใช่แม่ใหญ่เหลาที่ทำกับข้าว ห่อหมก และขนม หาบไปขายในตลาดหนองบัว ใช่ไหม
    • บ่อสร้างที่ว่านี้อยู่ตรงไหนครับ สร้างตั้งแต่ปี ๒๔๘๖ นี่ ต้องถือว่านานมากพอสมควรนะครับ

    ผมลองถามแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ครับ ต้องขออภัยคุณพีรณัฐนะครับ ผมเองก็มีญาติชื่อแม่ใหญ่เหลาและตาบกเหมือนกัน แต่ทั้งสองท่านถึงแก่กรรมไปนานมากแล้ว 

    พีรณัฐ เพ็งพรม (บอย)

    กราบสวัสดี อ.วิรัตน์ ครับ บ่อสร้างเข้าตรงข้ามทางหน้า ร.ร หนองบัว(เทพวิทยาคม)เข้าไปประมาณ 500 เมตร เจอ 4 แยกเลี้ยวขวา 150 เมตร ก็ชนบ่อเลย ถามคนแถวนั้นก็ได้ ครับ ว่างๆ อาจารย์เข้าไปเยี่ยมชมบางก็ได้ครับ ถามประวัติคนแก่จะรู้รายละเอียดมากกว่าผม แต่ตอนนี้ผมทำงานอยู่ที่ระยองครับ

    • สวัสดีครับคุณพีรณัฐ ขอบคุณที่ให้ความรู้เพิ่มให้อีก ๑ เรื่องครับ ผมไม่เคยรู้เลยว่าตรงข้ามโรงเรียนหนองบัวเทพด้านหน้ามีบ่อสร้าง หรือว่ามันนานจนลืมไปแล้วก็ไม่รู้
    • ไปทำงานอยู่ระยองขอให้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่่ดีมากมายครับ
    • มีบางท่านเข้ามาคุยในนี้ก็บอกว่าเป็นคนหนองบัวไปทำงาน-ทำมาหากินอยู่ระยอง บางท่านก็รวมกลุ่มกันป็นชมรมคนหนองบัว-คนนครสวรรค์...ชมรมพริกเกลือ

    กราบ สวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ และยินดีอย่างยิ่งที่คุณพีรณัฐ ทีเข้ามาเป็นกำลังเสริมการเรียนรู้แกะลอยประวัติศาสตร์ การที่มีข้อมูลดีๆและละเอียดนำมาบอกเล่านั้นถือว่าให้ขอมูลโดยตรงดีครับ ส่วนมากคนที่ผ่านไปมากไม่ทราบว่ามันมีความเป็นมาเช่นไรเช่นบ้านผมเองก็อยู่หมู่เดียวกันยังไม่ทราบเลยว่า บ่อสร้างขุดขึ้นด้วยบารมีของหลวงปู่อ๋อย คนที่ใกล้ชิดจะมีความผูกพันธ์มาตั้งแต่เด็ก เพราะน้ำไม่ใช่เพียงน้ำที่ใช้เพื่อทำความสะอาด แต่ปัจจัยหลักคือขุดไว้สำหรับดื่มกินเพราะคิดว่าสมัยก่อนชาวบ้านยังไม่มีแท็งค์หรือโอ่งขนาดใหญ่ไว้คอยเก็บตุนน้ำเช่นกัน บ้านผมเช่นกันครับท่านอาจารย์ตั้งแต่จำความได้มีโอ่งน้ำขนาดใหญ่เพียงใบเดียวซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรในครัวเรือนที่มีอยู่ 7 คน ยามหน้าแล้งต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปรอต่อคิวน้ำบ่อจากการขุดเอาน้ำซับมาดื่มกิน ส่วนเรื่องกลิ่นก็จะมีกลิ่นหอมจากดินปะปนมาด้วยครับเวลาช้อน จะใช้ไม่ไผ่ฝ่าปลายแล้วเอาขันบางๆมาเสียบเวลาช้อนต้องค่อยๆแรงไม่ได้เดียวน้ำขุ่นทีละน้อยจนเต็บหาบครับ

    ส่วนคุณพีรณัฐ เพ็งพรม ก็อยู่ในส่วน กลุ่มพริกเกลือด้วย เรียกว่ากินข้าวหมอเดียวกันเลยทีเดียว แต่ตอนเด็กไม่เคยเล่นด้วยกันหนทางไปมาน่ากลัว มีแต่ทางเวียนน้ำไหล ผู้ใหญ่มักไม่ให้เด็กๆไปเล่นไกลบ้าน เพราะจะได้เฝ้าบ้านด้วยแต่เมื่อจากบ้านมาทำงานใกล้กันก็รักใครรวมตัวกัน ข้างบ่อสร้าง จะมีบ้านครูดีครูเก่าแก่ของหนองบัวเทพ และหลังโรงสี ฮังลั้ง บ้านยายเหลาหน้าบ้านจะมีบ้านยายหวง ลุงโอ๊บแกจะเป็นคนเล่นดนตรีเป่าแตรวง ชาวบ้านเวลามีงานเศกาล ตรุด สงกรานต์ ลุงโอ๊บก็จะให้ยืมกล่องให้คนแก่มาซ้อมร้องเพลงพวงมาลัยก่อนงานส่งกรานต์วัดหนองกลับเป็นเวลาแรมเดือนแต่จะซ้อมกันตอนเย็นๆเท่านั้น

    • ผมพอจะเริ่มนึกออกลางๆแล้วครับ ดูเหมือนว่าเมื่อตอนเด็กๆ ระหว่างที่เรียนหนองบัวเทพ จะเคยไปแถวนั้นเหมือนกันเพราะมีบ้านเพื่อนๆอยู่ แต่ว่าตอนนั้น แถวนั้นมีแต่ทุ่งนา ป่าละเมาะ และทุ่งเลี้ยงวัวควาย มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีคนถูกแทงเสียชีวิต นอนอยู่กลางทุ่ง เป็นเรื่องแตกตื่นกันทั้งหนองบัว ทั้งพวกเด็กๆและพวกผู้ใหญ่ไปดูแล้วก็กลัว-ร่ำลือกันอยู่เป็นนาน
    • เลยต้องขอแสดงความยินดีกับกลุ่มพริกเกลือด้วยนะครับ เหมือนกับได้มีกิจกรรมทำด้วยกัน ทำให้การไกลบ้าน ไม่ใช่เป็นการเสียโอกาสการพัฒนาของชุมชนบ้านเกิด แต่กลายเป็นโอกาสการได้เลือกสรรประสบการณ์และสิ่งดีให้กับรอบข้างไปด้วย ทั้งต่อที่กำลังอยู่อาศัย และบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเลยนะครับ
    • เมื่อนึกถึงความกันดารน้ำของหนองบัว กับการมีเทคโนโลยีและวิธีแก้ปัญหาไปตามเงื่อนไขแวดล้อมของท้องถิ่นแล้ว นอกจากสระน้ำของหลวงพ่ออ๋อย  นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ และบทบาทของผู้นำชุมชนทั้งฝ่ายชาวบ้านและฝ่ายจิตวิญญาณแล้ว อีกท่านหนึ่งที่จะต้องนึกถึงคือแป๊ะแหบนะครับ เป็นครอบครัวของเพื่อนร่วมรุ่น และรุ่นพี่ผมเองด้วยเหมือนกัน แป๊ะแหบ  ทำโอ่ง อิฐ และชิ้นงานคอนกรีต ดูเหมือนแรกๆจะอยู่แถววัดหนองกลับนั่นเอง ก่อนที่จะขยับขยายไปที่อื่นในหนองบัวในภายหลัง
    • ผลงานของแป๊ะแหบ มีส่วนเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของการจัดการน้ำอุปโภคและบริโภคของครัวเรือน รวมไปจนถึงสถานศึกษา ของทั้งหนองบัวและชุมชนใกล้เคียง เป็นกิจกรรมที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนามาถึงยุคใหม่ของอำเภอหนองบัวอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน
    • ลูกเถ้าแก่ฮังลั้งก็ดูเหมือนจะเป็นรุ่นพี่ผมปี-สองปี ทั้งของที่หนองบัวเทพ และหนองคอก
    • ตาโอ๊บนี่ ผมเรียกตาอบ แตรวงของตาอบนี่รู้จักครับ ต้องเจอกันมากมายหลายงาน เจอกันก็จะช่วยเป่าแตรด้วยกันอยู่เสมอ การไหลนิ้วเป่าแซ๊กของตาอบไม่เหมือนใคร เป่าและแห่นาคให้ไกลจนสุดสายตา พอได้ยินเสียงไหลนิ้วและวิธีจบเพลงแต่ละเพลง ก็รู้ว่าเป็นแตรวงตาอบ แล้วก็แทบจะเป็นเอกลักษณ์ของแตรวงหนองบัว

    ขอยกต่อยอดอีกนิดครับพอดีเอ่ยถึงเถ้าแก่ฮังลั้งครับ

    รถบันทุกข้าวเจ้าแรกๆหนองบัว ของ ฮังอั๊ว พี่ชาย ฮังลั้ง ฮังลั้งมีลูกชายชื่อเสี่ยเอี้ยง ตะกูลนี้จะมีรถบันทุกข้าว เล่นกันว่ารุ่นบุกเบิกเลยก็ว่าได้ บันทุกข้าวโดยรับซื้อข้าวจากชาวบ้านล่องไปขายตามชุมแสง บ้าง บางมูลนากบ้าง และท่าข้าวอื่นๆรถบันทุกของเถ้าแก่จะวิ่งได้เฉพาะน่าแล้งเพราะการคมานาคมของหนองบัวนั้นยังจัดว่ายังไม่มีการสร้างถนนหนทางที่สะดวกเพราะพื้นที่ชาวหนองบัวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นส่วนมากเหมาะแก่การทำนา เด็กๆปีนขึ้นรถได้ โดยที่เถ้าแก่ก็มีน้ำใจกับเด็กๆ ให้ขึ้นรถด้วย เวลาต้อนที่เด็กเล่นมักจะอาศัยรถบันทุกข้าวหนีนกแล้ง เมื่อรถมาก็จะเอาไม้ไปขว้างปาใส่นกซึ่งกำลังกินหมาเน่า เมื่อนกโกรธก็จะขับเด็กๆก็จะอาศัยความซนโดดเกาะปีนขึ้นรถพอได้สักระยะก็โดดลงโดยที่เถ้าแก่ก็ไม่ได้ขับเร็วนัก เส้นทางการเดินรถคือท้องทุ่งนา ต้องมีการขุดช่องคันนาเพื่อที่ให้รถสมารถแล่นผ่านไปได้ เมื่อถึงคราวหน้าทำนารถก็จะไม่ได้วิ่งไปไหน (ข้อมูลบอกเล่ามาจากคนเถ้าคนแก่ที่ยังมีชีวิตอยู่)

    เลยมองอีกมุมมองหนึ่งของชุมชนหนองบัว ไม่ว่าจะเป็นวัดวา ชาวบ้าน ข้าราชการผู้ใหญ่ พ่อค้าคนจีน คนเล่นแตรวง และอีกหลากหลายอาชีพทุกส่วนเมื่อมารวมอยู่ในส่วนอำเภอหนองบัวแล้วมีส่วนร่วมกันสร้างกันสร้างสัมพันธ์ต่อกันร่วมสร้างชุมชนได้เป็นอย่างดีเยี่ยมมากเลยครับ

    • อันที่จริง ก่อนจะขายข้าวและมีรถบรรทุกข้าว เข้าไปขนข้าวตามยุ้งฉางต่างๆ ชาวบ้านกับคนดูข้าวและประเมินราคาข้าว จะพบปะ ตกลงราคาการตวงข้าว แล้วก็นัดแนะกันรอบหนึ่งก่อน
    • คนดูข้าวจากโรงสี ส่วนใหญ่ก็จะถีบรถถีบแล้วก็เหน็บกระบอกไม้ไผ่สำหรับบดข้าวเปลือกดูคุณภาพของเมล็ดข้าวสารอยู่ด้านหลัง พร้อมกับกระบอกเหล็กแหลมสำหรับแทงเข้าไปในยุ้งฉาง ตระเวนไปหาชาวบ้านตาม หรือบางทีก็ไปตามที่ชาวบ้านขอให้ไปดูและคุยกัน
    • เวลาดูข้าวเปลือกและคุณภาพข้าว เขาก็จะสุ่มกำข้าวเปลือก จะว่าไปแล้ว เป็นวิธีการตรวจสอบที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นระบบอย่างยิ่ง คือ กำข้าวด้านบนมาบด แล้วก็ใช้กระบอกเหล็กแทงสุ่มเข้าไปให้ข้าวเปลือกไหลออกมา แล้วก็บดเปรียบเทียบ จากนั้นก็จะบอกราคาและเจรจาต่อรอง ตกลงราคากัน การคำนวณว่าแต่ละจ้าวจะมีข้าวเปลือกกี่เกวียนกี่ถัง ตรงนี้ชาวบ้านจะมีวิธีคำนวณที่ดูจากยุ้งข้าวของตนเองอีกทีหนึ่ง นี่ก็เป็นวิชาของชาวนาและลูกหลานชาวนาเช่นกันครับ
    • พอนัดแนะวันเวลากันแล้ว จึงจะมีรถบรรทุกและคนโกยข้าวเข้าไปขนข้าว ซึ่งก็จะเป็นกิจกรรมที่ต้อนรับขับสู้กันและมาพบปะพูดคุยกัน สร้างความรู้ และปรึกษาหารือไปยังเรื่องราวต่างๆอีกมากมาย
    • ผมจำไม่ค่อยได้มากนัก แต่ท่านหนึ่งที่จำได้ว่าเป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญการดูข้าวเปลือกและประเมินราคาก็คือเจ๊กต่าย ซึ่งนอกจากคนแถวบ้านผมจะสนิทคุ้นเคยกับเจ๊กต่ายและภรรยา ราวกับเป็นเหมือนญาติกันแล้ว ลูกหลานของเจ๊กต่ายยังเป็นทั้งรุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้องผมทั้งโรงเรียนหนองบัวเทพและหนองคอก  
    • เรื่องเด็กๆกับรถบรรทุกข้าวนี่สนุกครับ
    • เมื่อก่อนหนองบัวและแถวบ้านผมแร้งเยอะจริงๆครับ ไม่ค่อยกลัวคนอีกต่างหาก

    รถบรรทุกข้าวเข้าไปบรรทุกข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว ขนไปโรงสีและลานข้าวต่างๆในหนองบัว ๒ โรง  โรงสีห้วยถั่วใต้ ๑ โรง  ท่าข้าวและโรงสีชุมแสง  รวมทั้งลงเรือไปท่าข้าวปากน้ำโพ นครสวรรค์

    เด็กๆรวมไปจนถึงผู้ใหญ่จะตื่นเต้นไปกับการได้เห็นรถยนต์เข้าไปในหมู่บ้าน  พร้อมซุ่มรอจังหวะ เมื่อผู้ใหญ่เผลอก็จะวิ่งไล่เกาะ ในขณะที่รถก็วิ่งฝุ่นตลบไปตามทางเกวียน

    การได้เห็นรถและสิ่งแปลกใหม่เข้าไปในชุมชน นำไปสู่การประดิษฐ์ของเล่น และการคิดการละเล่นของเด็กๆอีกด้วย

                          

    ในอดีตนั้น  นครสวรรค์ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการผลิตและค้าข้าวทั้งของประเทศไทยและของโลก ทั่วโลกจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของผลผลิตและการกำหนดราคาข้าวของประเทศไทยที่ท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • น้องที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก พระอาจารย์มหาแล รวมทั้งหลายท่านพูดถึงการเป่าแตรวงแห่นาค การแห่นาคหมู่ และประเพณีการบวชนาคหมู่ของชาวหนองบัว ผมเลยวาดรูปมาให้ดูแล้วครับ
    • เมื่อก่อนไม่ว่าจะเป็นนาคเอก หรือนาคทั่วไป จะมีการใช้ช้าง เสลี่ยง และบางทีก็เป็นรถจี๊บ ให้นาคขึ้นไปยืนหรือนั่งพนมมือ แห่แหนไปในขบวน
    • บางปีมีข้างหลายสิบเชือกแห่นาคหมู่อยู่ในวัดหลวงพ่ออ๋อย

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) อาจารย์ ดร.วิรัตน์ และคุณเสวก ค่ะ

    • กำลังโหลด และจัดภาพที่ได้ถ่ายมาในแต่ละวันให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และนำมาใช้ เผอิญเหลือบไปเห็นภาพอาหารที่แยกโฟลเดอร์เอาไว้เป็นเรื่องอาหารที่ได้ลองชิม

     

    • อาหารชุดนี้ได้บันทึกไว้เมื่อเดือนกว่าๆ ที่บ้านตาลิน อำเภอหนองบัวค่ะ
    • ได้ชิมแล้ว อร่อยๆ มากๆ ด้วยค่ะ
    • แต่ถ้าจะให้บอกว่าอาหารแต่ละจานคืออะไรบ้าง อาจจะบอกได้ไม่ละเอียดเท่ากับคนหนองบัวหรอกค่ะ
    • ในถ้วยเล็กเป็นน้ำพริกปลาย่าง
    • ผักแนมเป็นผักบุ้งนา ลูกกระเจี๊ยบ ต้มปลีกล้วย และผักอีซึกที่มีการกล่าวถึงในนี้อยู่หลายครั้ง
    • จานบนซ้ายเป็นยำมะม่วงกับปลาย่าง
    • จานด้านหน้าเป็นยำปลีกล้วย
    • อีกจานหนึ่งด้านขวาเป็นฉู่ฉี่ปลาดุก
    • บรรยายไปก็ท้องร้องจ๊อกๆไปเลยครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์อาจารย์ณัฐพัชร์และผู้อ่านทุกท่าน

    • เห็นสำรับกับข้าวอาหารชุดนี้แล้วคิดถึงบ้านหนองบัวเลยแหละอาจารย์
    • เพื่อนพระชาวสุโขทัยเห็นแล้วท่านตอบชื่ออาหารได้หมดทุกอย่างเลยเพราะท่านเป็นคนชอบทำอาหารและทำอร่อยเสียด้วย
    • ท่านชมว่าอาหารมื้อนี้เป็นเมนูชั้นยอดอาหารพื้นบ้าน
    • ท่านเรียกผักซึกของคนบ้านตาลินว่า ผักมะคึก วังทองพิษณุโลกก็เรียกว่ามะคึกเช่นกัน
    • มีวัดที่อยู่ใกล้ ๆ วัดศรีโสภณชื่อวัดเนินมะคึก

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านและตามฤดูกาลมากๆเลยครับ
    • ได้ความรู้ใหม่เพิ่มอีกอย่างเกี่ยวกับภาษาและการเรียกที่แผกไปตามท้องถิ่นต่างๆเกี่ยวกับคำว่าผักอีซึกครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • "อีกท่านหนึ่งที่จะต้องนึกถึงคือแป๊ะแหบนะครับ เป็นครอบครัวของเพื่อนร่วมรุ่น และรุ่นพี่ผมเองด้วยเหมือนกัน แป๊ะแหบ ทำโอ่ง อิฐ และชิ้นงานคอนกรีต ดูเหมือนแรกๆจะอยู่แถววัดหนองกลับนั่นเอง ก่อนที่จะขยับขยายไปที่อื่นในหนองบัวในภายหลัง ผลงานของแป๊ะแหบ มีส่วนเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของการจัดการน้ำอุปโภคและบริโภคของครัวเรือน รวมไปจนถึงสถานศึกษา ของทั้งหนองบัวและชุมชนใกล้เคียง เป็นกิจกรรมที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนามาถึงยุคใหม่ของอำเภอหนองบัวอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน"
    • จำได้ว่าแป๊ะแหบทำโอ่ง นึกเห็นภาพลาง ๆ ที่ใกล้กุฏีหลังสูงติดร้านขายยาหมอหลุยใช่ไหมอาจารย์ ดูเหมือนจะมีโอ่งวางเต็มบริเวณที่ว่าง ๆ ข้าง ๆ กุฏิพระริมรั้วด้านสระน้ำวัดหนองกลับ
    • แป๊ะแหบรูปร่างเล็ก ๆ แต่ดูเข้มแข็งสู้งานมาก เมื่อย้ายจากหนองกลับก็ไปอยู่ตรงด้านตะวันออกเฉียงใต้ใกล้สระน้ำหนองกลับติดกับหมู่บ้าน บ้านใหญ่ ทางเข้าวัดเทพสุทธาวาส
    • ก่อนจะมีโอ่งมังกรจากราชบุรีมาตีตลาดหนองบัว น่าจะมีโอ่งน้ำแป๊ะแหบนี่ละมั้งที่ชาวหนองบัวได้ใช้โอ่งแป๊ะแหบใส่น้ำไว้บริโภคไว้ประจำบ้านเรือน

    ขอเจริญพร

     

    • รู้สึกเลือนๆไปเหมือนกันครับว่าอยู่ด้านที่ติดกับร้านหมอหลุยหรือด้านตะวันออกโน่นเลย
    • แถวบ้านผมซึ่งอยู่รอบนอกของหนองบัวนั้น ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งครับ คือ ส่วนใหญ่จะใช้โอ่งดินเผาจากเมืองราชบุรีครับ เท่าที่พอจำเหตุผลได้ก็คือ ชาวบ้านจะบอกว่าโอ่งของแป๊ะแหบทำด้วยปูนซีเมนต์ น้ำจากโอ่งปูนซีเมนต์ไม่อร่อย เฝื่อน และไม่อยู่ท้อง ซึ่งเวลาผมได้ดื่มแล้ว ใหม่ๆก็จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ
    • ส่วนโอ่งของแป๊ะแหบนั้นชาวบ้านมานิยมใช้ทีหลัง แต่ใช้โอ่งขนาดใหญ่เพื่อรองน้ำฝนเก็บไว้ดื่มตลอดปี โอ่งขนาดเล็กก็จะใช้โอ่งดินเผาราชบุรีเหมือนเดิม ตอนหลังชาวบ้านก็เรียนู้ว่า เมื่อซื้อโอ่งแป๊ะแหบไปใหม่ๆ ก็ใส่น้ำแช่ทิ้งไว้ บางทีก็เอาขี้เถ้าจากเตาถ่านใส่ลงไปด้วย แล้วก็เททิ้ง ๒-๓ ครั้ง พอถึงหน้าฝนก็รองน้ำใส่ ก็ดื่มกินได้โดยเฝื่อนน้อยลง กระทั่งปีถัดๆไปก็จืดสนิท
    • นอกจากโอ่งมังกรแล้ว ก็มีโอ่งแดงซึ่งเป็นดินเผาแบบเปลือยๆด้วย บ้านผมมีอยู่ในหนึ่ง รู้สึกว่าจะมีอุปทานให้มากกว่าปรกติว่าน้ำจากโอ่งแดงจะเย็นชื่นใจมากกว่าโอ่งแบบอื่น
    • ในโอ่งน้ำก็มักจะใส่ลูกปลาหมอและปลากัดเอาไว้กินลูกน้ำ
    • เวลานั่งคุยกันกลางชานบ้าน หากได้นั่งพิงโอ่งน้ำด้วยก็จะเย็นเหมือนมีพัดลมหรือติดแอร์เลยนะครับ

    ......อ่านตั้งแต่ความเห็นที่ 1 - 94 ทั้งสนุกและได้ความรู้ดีจริง ๆ ครับ

    พูดถึงเขามรกต หลวงพ่อบาตรใหญ่ หนองขาม คลองสมอ เขาพระ ปากดง เหมืองแร่ ทรัพย์สวรรค์ คลองลาน ทรัพย์ย้อย เขาดิน เขาสูง ล่องดู่ หนองไผ่ เขาอีต่วม วังบ่อ เขารวก นี่ เป็นถิ่นที่ชาวหนองบัวและผู้คนจากทางที่ราบลุ่มใต้ ๆ หนองบัวลงไป เข้าไปหักร้าง/ถางพง เพื่อทำไร่ หาหน่อไม้ ตัดใบลานมาไว้มัดข้าว ....... เมื่อนึกถึงตอนนั้นแล้ว...เหนื่อยจริง ๆ ครับ แต่ก็สนุกตามประสาเด็ก ๆ

    จำได้ว่า พ่อ-แม่ และพี่ ๆ พาเดินไปทำไร่ข้าวโพด ไร่ฝ้าย ไร่ถั่วเขียว ที่เขาดินน้อย....... บางครั้งนั่งรถไปทางปากดง แล้วก็เดินไปทั้งหาบ ทั้งแบกผ่านทรัพย์ย้อย.........บางครั้งนั่งรถไปทางร่องดู่ /หนองไผ่ แล้วก็เดินเท้าต่อไปอีก

    ชุมชนชาวไร่ในบริเวณนั้น ต่างก็มาจากทุกทิศ หลายทาง อาทิ ป่ารัง สายลำโพง ห้วยปลาเน่า ห้วยถั่วใต้ พยุหคีรี แต่ส่วนใหญ่แล้ว เป็นไทยหนองบัวครับ ......... ที่นั่นมีคนไทยหลาย ๆ สำเนียง ทั้งลาว ทั้งยวน ต่างก็ทำมาหากินด้วยความรักใคร่ สามัคคีกันดี

    ไม่ได้ไปนานแล้ว ยังคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ อยู่ครับ

    เส้นทางจากหนองไผ่ - ทรัพย์ย้อย - ปากดง ถ้ามีถนนดี ๆ ได้มาตรฐานผ่านสักเส้นหนึ่ง ผมว่า Location แถบนี้สวยงามและน่าสนใจนะครับ........หรือว่ามีความเป็นไปได้.....โครงการถนนไร้ฝุ่น....... จากรัฐบาลชุดนี้.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อาจารย์สมบัติชมว่าอ่านแล้วมีทั้งสนุกและได้ความรู้

    ในฐานะชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ได้ร่วมเขียนเรื่องราว แม้เพียงเล็กน้อยกับอาจารย์วิรัตน์ในที่นี้ ก็รู้สึกชื่นใจดีใจ

    อย่างนี้ต้องเรียกว่าอาจารย์สมบัติ ก็เป็นคอเดียวกัน คือมีประสบการณ์ใกล้เคียงกันมากและก็ตระเวนอยู่ในป่าเขาหนองบัวที่เดียวกันอีก

    คนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตแนวนี้มาก่อน ได้เปรียบคนอีกหลายคนที่ไม่เคยผ่านเวทีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากแบบนี้ นึกย้อนไปก็น่าจะภูมิใจ

    Location บริเวณนี้สวยงาม เคยได้ข่าวว่าจะมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามาเปิดเป็นวิทยาเขตแถบนี้ เพื่อให้ลูกหลานคนหนองบัว เพชรบูรณ์และบริเวณใกล้เคียงได้มีที่เรียน ไม่ทราบว่าโครงการนี้เป็นอย่างไรแล้ว

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีรับคุณสมบัติ

    ที่คุณสมบัติพูดถึงนั้น เป็นที่ที่คนหนองบัวรุ่นเก่าๆคุ้นเคยทั้งนั้นเลยนะครับ ผมก็เคยขับรถออกไปตามถนนทางแยกออกไปทางด้านที่เคยเป็นป่าเขานั้นเหมือนกันครับ ภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมดูสวยงามมากจริงๆด้วยครับ ดูเหมือนจะมีการทำเป็นสวนป่าและทุ่งเลี้ยงสัตว์ด้วยนะครับ

    เรื่องการพัฒนาทางด้านการศึกษาของหนองบัวอย่างที่พระคุณเจ้าพูดถึงนั้นเป็นเรื่องที่น่าให้ความสำคัญและน่าช่วยกันทำนะครับ  

    เคลื่อนไหวไป- มา ระหว่างเวียงจันทน์ - หนองคาย - ขอนแก่น - ชัยภูมิ - นครสวรรค์ -ชัยนาท - สุพรรณบุรี - กรุงเทพฯ - สระบุรี -โคราช - ขอยแก่น - อุดร - หนองคาย - เวียงจันทน์อีกรอบหนึ่งภายใน 2 สัปดาห์

    ประมาณ 3 ทุ่ม วันที่ 26 ตุลาคม ขับรถผ่านบ้านตาลิน ตั้งใจจะนำหนังสือไปฝากไว้ที่บ้านอาจารย์วิรัตน์ แต่สามทุ่มบ้านนอก ค่อนข้างเงียบและไม่ทราบว่าหลังไหนด้วยจึงไม่ได้แวะครับ

    ที่โรงแรมโนโวเทล เวียงจันทน์ ไปบรรยายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ-การค้าชายแดนไทย-ลาว ให้นิสิตปริญญาโท-เอก มหาวิทยาลัยบูรพาฟัง มีการถาม-ตอบ สนุกสนานดีครับ

    ที่นั่นได้พบกับวิทยากรชาวลาว 2 ท่าน ท่านหนึ่งจบมาสเตอร์ด้านกฎหมายมาจากซิดนีย์ อีกคนจบด้านการวางแผนมาจากฝรั่งเศส ทำให้ได้ทราบว่า คนรุ่นใหม่ของลาวปัจจุบันจบการศึกษาจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศตะวันตกกันมาก....การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของลาว ก็ได้รับความช่วยเหลือให้ทุนการศึกษาจากต่างประเทศปีละหลายทุน หลายระดับ หลายสาขา.....มหาวิทยาลัยไทยในภาคอีสานก็ได้รับความนิยมจากนักศึกษาลาวมาก สาขาที่รัฐบาลลาวนิยมส่งคนของเขามากศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมครับ มหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯก็มีนักศึกษาลาวไปเรียนกันหลายแห่ง และหลายสาขาครับ

    แถวบ้านผมนี่แค่หกโมงเย็นและทุ่มกว่าๆ ก็เงียบเหงาวังเวงแล้วครับ ในตัวเมืองหนองบัวนั้น สักสามทุ่มก็เดินเล่นเหมือนกับอยู่กลางทุ่งแล้วครับ ขอบพระคุณมากเลยครับที่รำลึกถึง

    นี่ผมกำลังประสานงานกับคุณครูโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) เพื่อจะจัดกิจกรรมกับโรงเรียนและชุมชน  แล้วก็จะทำต่อเนื่องไปจนถึงปี ๒๕๕๔ เพื่อรำลึกกึ่งศตวรรษหรือ ๕๐ ปีของโรงเรียนที่บ้านครับ ใจนั้นอยากทำงานกิจกรรมนี้ ให้เป็นงานเล็กๆตามกำลัง แต่ให้มีความหมายต่อการเคลื่อนไหวความคิดและสื่อสารเรยนรู้กับสังคมดีๆครับ อยากเชื่อมโยงกับคุรุสภาจัง เพื่อให้ได้ทราบและสนับสนุนเอกสาร หรือรับเป็นพี่เลี้ยงให้แรงใจแก่โรงเรียนก็พอ ผมจะเคลื่อนเครือข่ายชุมชนกับโรงเรียนทำในภาคปฏิบัติต่างๆให้เอง เพราะโรงเรียนนี้ถือเป็นตัวแทนสปิริตของครูไทยต่อสังคมไทย หากเตรียมการได้ดีจะบอกคุณสมบัติ พระมหาแล และทุกท่านมาอีกทีนะครับ

    ผมชอบเพลงชุดที่ท้าวบัวเงิน ตัวแทนของสังคมลาวกับสุนารี  ราชสีมา ตัวแทนของสังคมไทย ร้องด้วยกันเป็นเพลงชุดสองฝั่งโขง ก่อนที่ต่อมา ท้าวบัวเงิน จะเป็นอธิบดีกรมศิลปและวัฒนธรรม ของประเทศลาวมากเลยครับ ทั้งในแง่ดนตรี พลังเสียงและความเป็นนักร้องของทั้งสองท่าน โดยเฉพาะพลังเสียงของท้าวบัวเงินกับความเป็นมาของการศึกษาทางศิลปะและดนตรีจากประเทศรัสเซีย เมื่อได้ทราบและได้ฟังแล้ว ก็รู้สึกได้ถึงความจริงจังในการพัฒนาคนและสร้างบ้านแปงเมืองเป็นอย่างมากครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    จากความเห็นที่๙๘

    อาจารย์สมบัติมีภารกิจกรรมถึงสองประเทศ ทำอย่างไรจะได้เห็นภาพกิจกรรมจากสองฝั่งโขงเหล่านั้นบ้าง

    เคยเห็นพระจากประเทศลาวมาศึกษาที่วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราชพิษณุโลก

    ท่านพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่วกว่าพระนิสิตไทยมาก(พระลาวเน้นเรียนภาษาอังกฤษ)

    มีข้อสังเกตว่าประเทศเพื่อนบ้านเราหลาย ๆ ประเทศ ประชาชนของเขาสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

    ท่านบัวเงิน ซาพูวง ในอดีตนอกจากการเป็นนักร้องคู่ขวัญกับสุนารี ราชสีมา และดังเปรี้ยงปร้างในเพลง...เย็นสะบายซาวนา...แล้ว ปัจจุบันนอกจากการเป็น ส.ส.(สมาซิกสภาแห่งซาติ) แขวงสะหวันนะเขตแล้ว ท่านยังดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม และเป็นประธานฝ่ายจัดการแสดงในพิธีเปิด - ปิด การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 หรือ VIENTIANE GAMES ด้วยครับ.

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ผมสังเกตว่าพระเณรนั้นหากเรียนภาษาก็จะเก่งครับ ความเพียรดี เวลาผมเห็นพระและเณรที่เป็นมหาเปรียญนั้น ก็เชื่อว่าต้องผ่านการเคี่ยวกรำและพากเพียรมามากอย่างยิ่ง

    ขอเสริมสักหน่อยครับว่า อันที่จริงหากเป็นคนไทยและในสังคมภูมิภาคอาเซียน หากเป็นพระนี่เก่งบาลีและสันสกฤตคงจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นไม่น้อยกว่าภาษาอังกฤษนะครับ ยิ่งได้ภาษาเพื่อนบ้านด้วยแล้ว  ยิ่งเป็นผลดีต่อหมู่ประเทศในภูมิภาคนี้มากนะครับ อย่างคุณสมบัติน่ะครับ

    กระนั้นก็ตามภาษานั้นเป็นสื่อความเข้าใจระหว่างกัน แต่จุดหมายสำคัญนั้นน่าจะอยู่ที่การเรียนรู้ความแตกต่างเพื่อที่จะรักเคารพและอยู่ร่วมกันอย่างศานติ หากได้อย่างนี้ก็จะนำไปสู่การพัฒนาปฏิสัมพันธ์กันได้อีกมากมายหลายอย่างครับ

    กับคณบดีและรองคณบดี วิทยาลัยพาณิชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

    บริเวณสระน้ำ โรงแรมโนโวเทล นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

    เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

    บริษัทไทย ไปลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนน้ำงึม 2 ในสปป.ลาว

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอขอบคุณอาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง เป็นอย่างมากที่ได้นำภาพสวย ๆ จากฝั่งลาวมาฝากชาวหนองบัว

    และขอมุทิตายินดีกับอาจารย์สมบัติที่มีบล๊อกตัวเองแล้ว

    คนนี้เป็นสาวไทพวน จากแขวงเซียงขวาง ทำงานอยู่ในโครงการเขื่อนน้ำงึม 2

    กับหลานชาย ร.ต.ท.สิทธิชัย สิทธิประภา คนน้ำสาดกลาง จากจังหวัดยะลา มาศึกษาต่อวิศวกรรมจราจร สถาบัน AIT. คลองหลวง ปทุมธานี

    ภาพนี้เป็นแม่หญิงพาสี (ศุลกากร) ลาวประชุมกันที่แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

    เส้นทางหมายเลข 13 เหนือ ไปแขวงหลวงพระบาง-เวียดนามเหนือ-จีน

    หากคุณสมบัติต้องการจัดตำแหน่งรูปถ่าย ก็สามารถเคาะ Cursor ไปวางตรงตำแหน่งที่ต้องการเหมือนเวลาเราจะพิมพ์หนังสือน่ะครับ

            

    ตรงไหนที่เป็นตำแหน่ง Cursor พอเราโพสต์ภาพลงไป ตรงนั้นก็จะเป็นตำแหน่งเริ่มต้นของขอบด้านในครับ จะทำให้จัดความสมดุลภาพได้สวยงามมากขึ้นอีกครับ แต่ขนาดภาพของคุณสมบัติตอนนี้ ผมลองดูแล้วจะเคาะ Cursor ได้เพียงตรงตำแหน่งต่อจากตัว U เท่านั้นครับ แต่ก็ดูสวยงามมากขึ้นเหมือนกันครับ สังเกตไหมครับว่าจะมีช่องว่างด้านซ้ายมือมากกว่าเดิม อ้อ ลองดูใหม่แล้วครับ เคาะไปถึงตรงเริ่มต้น ABC ก็ได้ครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อย่างนี้ต้องเรียกว่ามาตามคำขอ(ที่อาตมาเคยขอไว้) แต่ว่ามาเกินคาดจริง ๆ

    ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่จัดให้...ใครเห็นภาพถ่ายชุดข้างบนนี้ก็ชมว่าสวย

    ต้องรอให้คุณสมบัติท่านสามารถเจียดเวลามาเขียนเรื่องเล่าถ่ายทอดพร้อมกับดูรูปถ่ายไปด้วย คงจะเป็นสื่อให้การเรียนรู้ที่ทำให้คนหนองบัวและท่านผู้สนใจได้สิ่งดีๆ หูตากว้าง และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ระหว่างไทย-ลาว ที่ดีมากเลยนะครับ เวลาผมเขียนในหัวข้อที่เกี่ยวกับหนองบัว ก็จะรู้สึกเหมือนกำลังเดินเลือกสิ่งต่างๆกลับบ้านของตัวเอง เอาไปฝากญาติพี่น้องและชุมชนบ้านเกิดของตัว คุณสมบัติท่านก็คงได้อารมณ์ในลักษณะนี้เหมือนกัน

    หากเป็นการเขียนพรรณาและมีรูปภาพประกอบด้วย ก็ควรพิมพ์ส่วนที่เป็นเนื้อหาให้หมดก่อนครับ พอเสร็จแล้วค่อยมาเคาะเว้นช่องบรรทัดสำหรับแทรกรูป แล้วก็โพสต์รูป ตบแต่งเอาตามที่ต้องการให้สัมพันธ์กันของภาพและข้อความ หากไม่ทำอย่างนี้ ตัวหนังสือและรูปภาพอาจจะแตกกระจาย เหมือนอย่างของคุณเสวกในบางกระทู้น่ะครับ

    ทุกสิ่งทุกอย่าง คงต้องขอกราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระมหาแล และท่านอาจารย์วิรัตน์ เป็นอย่างสูงที่ได้แนะนำ /ชักจูงให้ผมเข้ามาเป็นสมาชิกพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ในหลาย ๆ สิ่งใน blog นี้.....เป็นความกรุณาจริง ๆ ครับ

    จากความเห็นที่ 101 ขอแก้ไข....ครั้งที่ 26 เป็น....ครั้งที่ 25 ข้อความนอกจากนั้นคงเดิมทุกประการ

    จากความเห็นที่ 100/102 เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงอย่างยิ่งครับ ผมประสบมาด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตไทยในลาวที่ผมรู้จักดีท่านหนึ่ง( local staff) เคยเป็นพระลาวไปเป็นพระนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ หลังเรียนจบกลับมาและได้เข้าทำงานในสถานทูต(พาณิชย์) ในเวียงจันทน์ พบว่าศิย์เก่ามหาจุฬาฯท่านนี้ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีคนหนึ่ง อัธยศัยดี/มีความเป็นมิตรสูง เป็นที่รักใคร่ของผู้ใหญ่ในสถานทูต ปัจจุบันได้รับทุนจากรัฐบาลไทยให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่สถาบันราชภัฏอุดรธานี คนอย่างนี้แหละครับ ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตภาคประชาชนระหว่างไทย - ลาว ได้เป็นอย่างดี

    ถือว่าเป็นสื่อและช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเชื่อมโยงให้เกิดโอกาสการทำสิ่งดีๆร่วมกันในสังคมได้มากขึ้น หลากหลายไปตามกำลังของเราแต่ละคนก็แล้วกันนะครับ โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้ทุกท่านได้เป็นกำลังส่งเสริมการพัฒนา ชุมชนหนองบัวและคนหนองบัว อันเป็นท้องถิ่นและบ้านเกิดของตนเอง โดยไม่ต้องเสียโอกาสและลดบทบาทตนเองในความเป็นคนหนองบัวที่จะไปมีส่วนร่วมทั้งในการออกไปเรียนรู้โลกกว้างและการได้เป็นคนจากหนองบัวซึ่งเป็นบ้านนาป่าดง แต่ได้ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมทั้งของประเทศและในวงกว้างออกไป

    อย่างคุณสมบัตินี่ ต้องนับว่าเป็นวิถีชีวิตและการทำงานที่เป็นครูให้แก่ลูกหลานคนบ้านเราได้เป็นอย่างดีครับ ใช้ตรงนี้เป็นแหล่งสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ เหมือนเป็นห้องเรียนที่มีชีวิตได้เลยนะครับ 

    จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยนอกจากจะทำให้การจากไกลบ้านไปทำการงานให้แก่สังคม ไม่ทำให้ชุมชนบ้านเกิดและคนรุ่นลูกหลานที่อยู่ข้างหลังเสียคนเก่งคนดีที่ควรจะเป็นกำลังและความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชนและสุขภาวะของคนบ้านนอกแล้ว ก็กลับจะกลายเหมือนเป็นเครือข่ายประสาทการเรียนรู้อย่างกับเป็นใยแมงมุม ที่ทำให้ชุมชนข้างหลังมีคนที่รักและเป็นชีวิตเดียวกัน ช่วยเลือกสรรสิ่งดีมาถ่ายทอดสื่อสารเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงให้ ทำให้เป็นผลดีต่อสังคมได้ทั้งท้องถิ่นและวงกว้าง เป็น Win-Win relationship ที่อยู่กับความเป็นจริงของโลกได้เป็นอย่างดีน่ะครับ

    ขอร่วมเสริมต่อความคิดกันนะครับ

    การร่วมพัฒนาชีวิตและมีส่วนร่วมในการพัฒนาของสังคม : นอกจากการเก่งภาษาจะเป็นหนทางหนึ่งที่เราจะสามารถสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆด้วยกันในสังคมวงกว้างแล้ว หากเรามีจิตใหญ่ใจกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายของสังคม และมุ่งก้าวออกไปเรียนรู้โลกกว้างผ่านการทำสิ่งต่างๆที่คิดว่าเป็นสิ่งดีจากตัวเราเองแล้ว ก็มีอีกหลายอย่างที่ผู้คนจะสามารถแลกเปลี่ยนสื่อสารและสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีๆด้วยกันครับ

    ตัวอย่าง ๑ เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นจิตรกรหญิง ในแง่ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆนั้นก็พอหากินข้าวได้ครับ แต่ในด้านศิลปะ สีน้ำ และการเขียนรูปเพื่อจัดแสดงแบบข้ามประเทศนั้น เธอสามารถสื่อสะท้อนลมหายใจและจิตวิญญาณทั้งจากสังคมไทยและสังคมที่ไปเยือนทั้งในกลุ่มอาเซียน อินโดจีน และหลายประเทศในยุโรปได้เป็นอย่างดี

    โดยวิธีนี้ เลยทำให้เธอเป็นจิตรกรหญิงในจำนวนไม่กี่คนที่เป็นทูตทางศิลปวัฒนธรรมของไทย-ลาว รวมทั้งร่วมกับนักเขียนต่างประเทศ วาดรูปนครวัดและนครธม วิถีชีวิตของสังคมเวียดนาม ตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ไปทั่วโลก คนทั่วโลกได้เห็นแง่มุมความสูงส่งและพึงต้องเคารพของสังคมและวัฒนธรรมชาวเอเชียจากภาษาศิลปะและการสื่อจากหัวใจผ่านมือ

    ตัวอย่าง ๒  อีกคนหนึ่งเธอเขียนสีน้ำแล้วแสดงงานและปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมระดับต่างๆทางอินเทอร์เน็ตเพราะในอีกทางหนึ่งเธอต้องดูแลพ่อแม่ผู้ชราและสุขภาพไม่ดีระดับที่ละทิ้งไปไกลหูไกลตาไม่ได้ เธอพูดและเขียนภาษาอังกฤษแทบไม่ได้

    แต่ความต้องการที่จะสื่อถึงกันเพื่อสร้างความเข้าใจของมนุษย์นั้น แม้แต่ภาษาก็ไม่ทำให้มีข้อจำกัด เลยต่อมาไม่กี่ปีก็ทำให้เดี๋ยวนี้เธอเป็นคนไทยที่เป็นจิตรกรหญิงที่เป็นสมาชิกของสมาคมเขียนสีน้ำของอเมริกา ดูเหมือนว่าจะเป็นคนแรกและคนเดียวในขณะนี้ ซึ่งทำให้เธอเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกร่วมเคลื่อนไหวทั้งทางด้านศิลปะและด้านอื่นๆอีกทั่งโลก รวมทั้งในเอเชีย

    ตัวอย่าง ๓  คีตาโร หรือ Kitaro นั้น เป็นชาวญี่ปุ่น ที่ต่อมาอยากเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีไฟฟ้าที่เรียกว่าซินติไซเซอร์ (Syntisizer) และเขาทั้งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ อ่านโน๊ตดนตรีไม่ออก เล่นดนตรีตามมาตรฐานไม่เป็น แต่มีหูในการฟังความเป็นดนตรีและสร้างดนตรีเองจากธรรมชาติรอบตัวได้อย่างลึกซึ้ง

    เขาสามารถเล่าและถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการให้คนสัมผัสด้วยความรู้สึกด้วยภาษาดนตรี ในขณะที่เพลงและเครื่องดนตรีอยู่ในฐานะเป็นสื่อของเขาเท่านั้น นักดนตรีแบบกระแสหลักขบขันและดูถูกคีตาโรในยุคแรกเริ่มมาก แต่ต่อมาผลงานของคีตาโรก็ทำให้ทั่วโลก รวมไปจนถึงวงการดนตรี ต้องยอมรับและไม่สามารถดูถูกดนตรีจากเครื่องไฟฟ้าอีกต่อไป

    เขาเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ผู้แสดงคอนเสิร์ตจากผูแต่งและผู้เล่นคนเดียว ที่นำเอาการแสดงคอนเสิร์ตด้วยเครื่องดนตรีไฟฟ้า ไปสื่อภาษาจิตวิญญาณระหว่างมนุษย์ด้วยการแสดงดนตรีทั่วโลกโดยมีวงแบคอัพที่เป็นนักดนตรีมืออาชีพสุดยอดของโลกในขณะที่เขาอ่านโน๊ตไม่เป็น

    ทุกครั้งที่แสดงคอนเสิร์ต คีตาโรแก้ปัญหาการสื่อด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้โดยการทำคู่มือในการดูและฟังเพลงแต่ละเพลงให้กองบรรณาธิการจำเพาะกิจจัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดง ฉบับย่อแจกจ่ายแก่ผู้ชมทุกคนที่เข้าชม ฉบับที่มีเนื้อหาและรายละเอียดมากก็จัดจำหน่ายแก่บางคนที่สนใจมากกว่าคนอื่น อีกส่วนหนึ่งก็คุยงานทางความคิดผ่านล่าม ไปประเทศไหนก็หาล่ามภาษานั้น และบางครั้งก็ใช้ล่ามสองคน หนหนึ่งเป็นล่ามญี่ปุ่นและอีกคนเป็นล่ามท้องถิ่น

    โดยวิธีนี้เขาทำให้ทั้งตนเองและผู้คนทั่วโลกทั้งที่เป็นสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษและสังคมที่มีภาษาของตนเอง ข้ามพ้นความแตกต่างและสื่อภาษาความสะเทือนใจ ทุกข์ร้อน รักและเสียใจเป็นเหมือนกัน ผ่านภาษาความเป็นมนุษย์

    เรื่องราวที่สื่อสะท้อนผ่านผลงานเพลง เป็นการศึกษาความคิดและความลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิต ความหมาย และคุณค่าของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้คนของทุกสังคมในโลก

    ความเป็นสากลในแง่มุมนี้จึงหมายถึงสิ่งที่มีอยู่โดยพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ต้องค้นพบตนเองและสื่อสะท้อนออกมาอย่างเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดเพื่อที่ผู้อื่นจะได้ดื่มด่ำและเดินเข้าไปสร้างความสุขและความศานติแห่งจิตใจอันลึกซึ้งด้วยกัน ดนตรี ภาษา จึงเป็นเพียงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการไปสู่จุดหมายที่สูงส่งอย่างที่เขาเชื่อเกี่ยวกับศักยภาพของมนุษย์ และความแตกต่างกันทางสังคมก็เป็นเพียงเยื่อบางๆที่กางกั้นอยู่เท่านั้น

    คีตาโรแต่งเพลงด้วยการฮัมให้เป็นเสียงพร้อมกับเล่นสดจากเครื่อง Syntisizer แล้วให้เครื่องไฟฟ้าเรียบเรียงโน๊ตเบื้องต้น มอบให้นักดนตรีแกะเพลงของเขาอีกทีหนึ่ง ปัจจุบัน คีตาโรได้ชื่อว่าเป็นคีตกวีของโลกและเป็นแม่บทของดนตรีแนวก้าวหน้ายุคใหม่ของโลก ผมเคยไปดูคอนเสิร์ตของเขาครั้งหนึ่งเมื่อมาเปิดคอนเสิร์ตในประเทศไทยน่าจะกว่าเมื่อ ๒๐ ปีก่อน

    บัตรไม่พอขายสำหรับผู้ชมแทบทุกรอบ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แรกๆที่ผู้คนเพิ่งเคยเห็นว่า คนเล่นดนตรีคนเดียวก็แสดงเป็นคอนเสิร์ตได้ และเป็นแม่บทของศิลปินเดี่ยวในหลายด้านในเวลาต่อมา งานของคีตาโรเป็นหนึ่งในตัวแทนทางวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมอเมริกาและยุโรปต้องให้การยอมรับคนเอเชียและคนผิวเหลือง

    บางทีการทำให้ภายในตัวตนของมนุษย์มีความแยบคายต่อกัน และมีจิตใจที่โน้มไปสู่กันก่อน จากนั้น ทุกๆอย่างก็จะถูกเลือกสรรค์เพื่อพัฒนาขึ้นมาสำหรับสานสร้างความเข้าใจอันดี และร่วมสร้างสุขภาวะสังคมด้วยกันในวิถีทางที่ทำได้ไปตามเงื่อนไขจำเพาะของตน เพิ่มมุมมองอย่างนี้ขึ้นมาอีก ก็จะทำให้ชาวบ้านทั่วไปก็ยิ่งมีโอกาสร่วมกันเป็นฑูตและเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ระหว่างสังคมได้มากยิ่งๆขึ้นทุกคนเลยครับ

    นี่ก็เป็นอีกหลายๆตัวอย่างเพื่อส่งเสริมการมองออกไปด้วยความเป็นตัวของตัวเอง และเห็นโอกาสและช่องทางอันหลากหลายในการมุ่งสู่โลกกว้างของคนหนองบัวที่ดียิ่งๆขึ้นครับ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    บางช่วงอาจจะหายไปนาน ๆ เนื่องจากลักษณะงานมีหลากหลายรูปแบบทั้งบนบก ทางแม่น้ำ ทางสะพาน ทางอากาศยานและการต่างประเทศ

    เมื่อวันที่ 4 ธันวา ผมมีโอกาสไปร่วมงาน 5 ธันวา มหาราช ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทยจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและแสดงสินค้าลาว-ไอเทค (LAO - ITECC) ในนครหลวงเวียงจันทน์

    ปกติทุก ๆ ปีที่ผ่านมาสถานทูตจัดงานวันเฉลิมฯ บริเวณสนามหญ้าภายในสถานทูตครับ แต่ปีนี้พิเศษหน่อยเนื่องจากมีคณะนักกีฬาซีเกมส์และทีมงาน พ่อค้า/ประชาชนรวมถึงทีมงานของผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานตำรวจ/ทหารหลายจังหวัดในภาคอีสานได้รับเชิญให้ไปร่วมในพิธีนี้ด้วย (นอกเหนือจากบรรดาทูตานุทูตต่างประเทศ/NGO/องค์การระหว่างประเทศซึ่งมีที่พำนักอยู่ใน สปป.ลาว )บริเวณสถานทูตไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้คนขนาดนี้ได้ ปีนี้จึงได้เปลี่ยนไปใช้ศูนย์แสดงสินค้าฯ ซึ่งโอ่โถง/กว้างขวาง จัดงานนี้

    ในงานฯผมได้พบปะ พูดคุยกับคนไทยหลายคนที่เข้าไปประกอบอาชีพ / แต่งงานและดำรงชีวิตใน สปป.ลาว นอกจากนั้นได้ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับอาจารย์และคณบดี คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ผมพูดถึงท่านเหล่านี้เนื่องจากตอนแรกท่านทั้งหลายที่ว่านี้ไม่ได้เฉลียวใจสักนิดเลยว่าผมเป็นคนไทย ผมพูดภาษาไทเวียงจันทน์กับเขาตลอดการสนทนา แต่คนที่นั่งกับผมอีกคน(หัวหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว) ซึ่งเป็นคนร้อยเอ็ดนั้น เขาสามารถจับหางเสียงและจับสำเนียงได้ว่าเป็นคนภาคอีสาน เขาถามผมว่าเป็นคนเมืองไหน แขวงไหน พอผมบอกว่าผมเป็นคนไทย /บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ดูเหมือนว่าทุกคน.....คนลาวประมาณ 7 คน.....จะไม่เชื่อ พอผมพูดไทยออกไปเขาจึงเชื่อและพูดไทยกับผม

    คุยกันไปคุยกันมาทราบว่าคนลาวทั้งหมดที่นั่งร่วมโต๊ะ......ตั้งแต่คณบดีลงมา.......ทุกท่านเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ และยังบอกว่าเร็ว ๆ นีจะไปศึกษาดูงานและศึกษาเพิ่มเติมเฉพาะทาง ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย เมื่อถามถึงคนลาวโต๊ะอื่น ๆ ก็ทราบว่า ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาทิ การศึกษา การสมรส เพื่อนฝูง...

    ตอนจุดเทียนชัย ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีมหาราชา คนลาวเหล่านั้นต่างอยู่ในอาการสงบและร้องได้เหมือนคนไทย ชัดทุกถ้อยทุกคำจริง ๆ ครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • เป็นงานที่ทำให้ชีวิตมีความเคลื่อนไหวดีจังเลยยะครับ
    • ที่ทำงานเดิมของผมก็มีแพทย์และนักสาธารณสุขมาเรียนจบแล้วก็กลับไปเป็นนักวิชาการกับเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรทั้งในเมืองหลวงและในภูมิภาคต่างๆของลาวหลายคนเหมือนกันครับ
    • เคยมีลูกศิษย์จาก สปป.ลาวเล่าสะท้อนทัศนคติตนเองให้ฟังว่า ในวิถีชาวบ้านและของประชาชนเองแล้ว หากไม่มีบรรยากาศทำให้ความเป็นขั้วความแตกต่างกันทางลัทธิและอุดมการณ์ทางสังคมโดดเด่นขึ้นมาแล้ว คนลาวส่วนใหญ่อยากมาศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศไทยมากกว่าไปอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย ยิ่งการมาเที่ยวกรุงเทพฯ ดูทะเลที่พัทยา และเยี่ยมญาติพี่น้องนั้น ก็แทบจะเดินทางไปมาเหมือนกับไปต่างจังหวัดของเขาเท่านั้น
    • เคยนั่งคุยกันกับเพื่อนชาวลาวที่หลวงพระบาง เวลาเขาคุยถึงคนไทย รวมไปจนถึงคุยถึงในหลวงและสมเด็จพระเทพฯนั้น รู้สึกได้เหมือนกับเขาพูดถึงคนที่อยู่ในหัวใจของเขาเหมือนกับคนไทยอย่างไรอย่างนั้นเลย พอเข้าไปในห้องสมุดประชาชน ก็เห็นเด็กๆและประชาชนที่เข้าไปอ่านหนังสือ อ่านหนังสือลาวกับหนังสือตำราไทยได้ตรงๆเลย

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    ประเทศลาวกับสมเด็จพระเทพฯนั้น เป็นเรื่องยากที่จะบรรยายให้เข้าใจได้โดยง่ายครับ

    ผมมีโอกาสได้สนทนากับพี่น้องชาวลาวหลากหลายอาชีพ แม้กระทั่งพระสงฆ์ / สามเณร ต่างก็มีมุมมองที่มีต่อสมเด็จพระเทพฯไม่แตกต่างกันมากนัก โดยแต่ละทัศนะล้วนแล้วแต่เป็นไปในเชิงบวก และ ปิติ ชื่นชมด้วยกันทั้งสิ้น

    ในฐานะที่เป็นคนไทยและเป็นข้าราชการชายแดนคนหนึ่ง และได้ยึดถือแนวทางของพระองค์ท่านมาใช้ในการประสานความสัมพันธ์กับ สปป.ลาวตลอดมา เมื่อได้ยินและรับทราบความรู้สึกที่มีพี่น้องชางลาวมีต่อพระองค์ท่านเช่นนั้น ก็อดปลื้มปิติไม่ได้จริง ๆ ครับ

    สมเด็จพระเทพฯนั้น อย่าว่าแต่ประเทศลาว ที่มีประชากร 6 ล้านคนเลยครับที่ชื่นชมและชื่นชอบ แม้แต่สารธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนยังชื่นชมและชื่นชอบพร้อมทั้งถวายรางวัลสำคัญให้เมื่อเร็ว ๆ นี้

    ซึ่งการที่พระองค์ดำเนินความสัมพันธ์กับ สป.จีนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้น ผมคิดว่าพระองค์ก็คงมิได้คาดหวังกับรางวัลที่ได้รับมาก่อนเช่นกันครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : เมื่อหลายปีก่อน เมื่อพระองค์ท่านและคณะที่ถวายงานไปต่างประเทศแล้วก็ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้คนและสังคมของประเทศนั้นๆ แรกๆผมก็ชอบติดตามอ่านและซื้อเก็บครับ แต่ต่อๆมาก็ปรากฏว่าเยอะแยะไปหมด เยอะมากจริงๆ เลยต้องอาศัยยืนอ่านสัก ๒-๓ เล่มแล้วก็ซื้อสัก ๑ เล่มเป็นระยะๆ เวลาได้อ่าน นอกจากเหมือนได้เห็นสังคมต่างๆผ่านสายพระเนตรของพระองค์ท่าน ก็ได้เห็นอย่างหนึ่งมากว่า ทรงเป็นผู้เลือกสรรการเรียนรู้ทางสังคมทั่วโลกเข้าสู่สังคมไทยอย่างประมาณค่ามิได้ อีกทั้งทรงเป็นสื่อ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคม ที่เมื่อติดตามอ่านแล้ว ก็เหมือนได้ความเคารพและเห็นความงดงามของสังคมและผู้คนในสังคมนั้นๆไปหมด เห็นบทบาทสำคัญของการการศึกษาเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อได้ท่าทีและสร้างความสัมพันธ์กันในบริบทใหม่ๆของโลก ผ่านกิจกรรมของผู้คนทั่วไปที่ติดต่อสื่อสารกันเอง ได้เป็นอย่างดีจริงๆครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และคุณสมบัติ ฆ้อนทอง

    • ทำให้นึกถึงเมื่อ ๓-๔ ปีก่อนได้รับการเชื้อเชิญจากนักศึกษาชาวลาว ทั้งป. เอก และ ป.โท ของมหิดลไปร่วมงานวันปีใหม่ลาว ที่สถานเอกราชฑูตลาว ซึ่งในวันนั้นสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงานปีใหม่ลาวที่ทางสถานเอกราชฑูตลาวจัดขึ้นด้วยค่ะ ในขณะที่รอพระองค์ท่านเสด็จมาในงานบายศรี สู่ขวัญ และร่วมเสวยพระกระยาหารเย็นกับประชาชนชาวลาวที่มาในงานปีใหม่ลาววันนั้น ชาวลาวก็รอคอยการเสด็จของพระองค์ ..
    • พระองค์ทรงให้ความเป็นกันเองกับชาวลาวอย่างมาก มีพระราชปฏิสันฐานด้วยภาษาลาวตลอด และยังทรงร่วมร้องเพลง และรำวงกับชาวลาวอีกด้วยค่ะ ที่สำคัญดิฉันก็พลอยได้ชื่นชมพระองค์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับได้ร่วมรำวง วงรำวง วงเดียวกับสมเด็จพระเทพฯ มาแล้วด้วยหล่ะค่ะ ม่วนซื่นหลาย ^^
    • และที่น่าประทับมากขึ้นไปอีก อย่างที่คุณสมบัติได้กล่าวไว้คือการที่พระองค์ได้รับรางวัล ๑ ใน ๑๐ มิตรนานาชาติที่ดีที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งพระองค์ท่านได้รับการโหวตผ่าน Internet จากประชาชนจีน และพระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัส และประทานการสัมภาษณ์ด้วยภาษาจีน เป็นที่น่าประทับใจเป็นที่สุด ...
    • พระองค์ท่านทรงเป็น Idol ของคนไทย และคิดว่าของมิตรต่างชาติ หลายๆ ประเทศด้วยค่ะ ^^

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์และคุณณัฐพัชร์

    ผมอยู่ตรงชายแดนลาวได้มีโอกาสเห็นหลาย ๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร พลเรือน พ่อค้า ประชาชน รวมทั้งภาคประชาสังคม ต่างขมีขมันติดต่อประสานงานความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ของ สปป.ลาวอย่างต่อเนื่องและไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย

    เมื่อเช้านี้ก็มีนายทหารยศพลตรี เป็นหัวหน้าคณะฯ ข้ามไปพบปะกับผู้นำทหารฝ่ายลาว ซึ่งก็ได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางการทหารกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบ ๆ ประเทศไทยด้วยครับ

    ช่วงนี้หน่วยงานด้านกีฬาต่างก็คึกคักและดูออกจะโดดเด่นมากกว่าด้านอื่น ๆ

    สำหรับงานของสมเด็จพระเทพฯนั้น เท่าที่ทราบและติดตามผลงานของพระองค์ท่าน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา สังคมสงเคราะห์ การแพทย์และสุขอนามัยรวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชนและประชาชนที่อสศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท/ห่างไกลของ สปป.ลาวครับ

    เมื่อคืน เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครรัฐทูต สปป.ลาว ณ บางกอก กลับจากกรุงเทพฯ จะข้ามกลับไปฝั่งเวียงจันทน์ ได้มีโอกาสทานข้าวและพูดคุยกันถึงเรื่องที่ลาวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25

    มีอยู่ตอนหนึ่งได้พูดกันถึงเรื่องที่ทางการลาว ประกาศรเปลี่ยนชื่อสนามกีฬาแห่งชาติ (เดิม) ในชื่อใหม่เป็น.....สนามกีฬาเจ้าอนุวงศ์......ในความรู้สึกของชาวลาวทั้งมวลนั้น เจ้าอนุวงศ์เปรียบเสมือน ศุนย์รวมใจของคนลาวทั้งมวลและเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู่เพื่อกอบกู้เอกราช......คนไทยรู้สึกเทิดทูนสมเด็จพระนเรศวรฉันใด........คนลาวก็มีความรู้สึกต่อเจ้าอนุวงศ์ไม่ต่างกันเลยครับ แม่ว่าปัจจุบันนี้ลาวจะไม่มีเจ้าชีวิตแล้วก็ตาม

    สวัสดีครับคุณสมบัติ และอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ อ่านของทั้งสองท่านแล้วทั้งเพลิน ได้เกร็ดความรู้ และประทับใจดีจริงๆครับ นึกถึงตอนที่ได้เคยไปลาวเลยทีเดียว อยากไปเที่ยวอีก                            

                                       

    ตอนนี้ใกล้ปีใหม่แล้ว เลยขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ กับทุกท่านครับ ทั้งคุณสมบัติ อาจารย์ณัฐพัชร์ ท่านพระอาจารย์มหาแล คุณเสวก ในอินทร์ กลุ่มพริกเกลือ คุณครูอนุกุลแห่งโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส คุณฉิก คุณครูวิกานดา แล้วก็ชาวหนองบัวอีกหลายท่านที่เข้ามาเขียนต่อเติมประสบการณ์ สานความคิด สานความรู้ ถ่ายทอดไว้ในบล๊อกของเรา รวมทั้งหมู่มิตรร่วมแบ่งปันเรียนรู้กับชาวหนองบัว คุณครูอ้อยเล็ก : วัชรี โตรัตน์ จากโรงเรียนเทศบาล ๕ นครปฐม ดร.ขจิต ฝอยทอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหิดล คุณสุ-มหาวิทบยาลัยชีวิตที่ไม่มีวันปิดทำการ  และอีกมากมายหลายท่าน ขอให้มีความสุขถ้วนหน้าครับพ๊ม (ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ของโรงเรียนหนองบัว) 

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มานั่งจิ้มแป้นอยู่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ เพิ่งขับรถมาถึงครับ

    อีกความตั้งใจหนึ่งอยากจะทดลองดูว่า ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ก็อย่างที่เห็นนี่แหละครับ

    ในโอกาสนี้ ขอทักทายพี่น้องชาวหนองบัวและชาวบล๊อกเป็นภาษาลาวว่า.......สะบายดีปีใหม่เจ้า...............

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ดีจังเลยโลกไซเบอร์

    สงสัยอาจารย์วิรัตน์ไม่อยู่

    งั้นขอสวัสดีจากหนองบัวถึงเวียงจันท์กับอาจารย์สมบัติแทนท่านก็แล้วกันนะ

    วังทอง พิษณุโลก อากาสไม่หนาวมาก

    ไม่ทราบที่เวียงจันท์หนาวมากไหม

    ซำบายดีครับคุณสมบัติ และกราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

    • เป็นการย่อโลกให้มาอยู่บนหน้าจอเดียวกันเลยนะครับ
    • ขอให้มีความสุข ได้งาน ได้ผูกมิตร ได้ประสบการณ์ดีๆ และได้เก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆมากมายมาฝากคนหนองบัว รวมทั้งชาวไทยและพี่น้องลาวในไทยครับ

    ขอร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) | คุณเสวก ใยอินทร์ |คุณสมบัติ ฆ้อนทอง | คุณฉิก | คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ | และคนหนองบัวทุกคน | สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ คนหนองบัว เครือข่ายกัลยาณมิตร และผู้อ่านทุกท่านนะครับ

     ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีปกเกล้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล รวมทั้งสิ่งที่ทุกท่านเคารพนับถือ จงร่วมเป็นขวัญและกำลังชีวิตสำหรับทุกท่าน ให้ทุกขณะและทุกอริยาทบทในชีวิตของทุกท่านจงได้กอปรด้วยพลังแห่งความเป็นสัมมา กร้าแกร่งในพลังปัญญาและปรีชาญาณในการแก้ปัญหาต่างๆ มีพลังแห่งสติ พลังแห่งความตั้งมั่น ตบะ บากบั่น อดทน พลังแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์

    มุ่งสู่ความสุขและความศานติ สงบเย็นทั้งกายใจ เจริญงอกงามในการปฏิบัติธรรมแห่งชีวิตทั้งเพื่อผู้อื่นและตนเอง มีความงอกงามก้าวหน้าในการเรียนรู้ในทุกสถาน พึ่งตนเอง พอเพียง มีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาวะสังคม และสามารถเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของหมู่มิตร เพื่อนร่วมงาน ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ให้ได้ปฏิบัติและเรียนรู้สิ่งดีไปด้วยกันอยู่เสมอ

    จำเพาะเวทีของคนหนองบัวนี้ ก็ขอให้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งพัฒนาบทบาทของทุกท่านที่เข้ามาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกัน ให้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีสำหรับนำกลับไปทำการงานและดำเนินชีวิตเหมือนได้หมู่มิตรและที่ปรึกษาหารือให้ชีวิตกอปรด้วยความมีสติปัญญาและการใช้เหตุผลที่พอดี พอเพียง และเหมาะสมแก่เหตุปัจจัยแห่งชีวิตตนอยู่เสมอ ได้ความรอบด้าน มีความรู้ และมีสายตาที่เท่าทันโลกรอบข้าง

    หากเป็นพ่อแม่ เป็นผู้นำของครอบครัว ก็ขอให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายผู้คนผู้มีน้ำใจแห่งมิตร มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีความดีงามอยู่ในตนเองอย่างหลากหลายทั่วประเทศในเวทีนี้ และได้เวทีนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะศักยภาพความเป็นครอบครัวของพ่อแม่ เพื่อสามารถเป็นที่ปรึกษาอันเท่าทันโลกแก่ลูก เป็นครูและเป็นผู้นำประสบการณ์ที่ดีมาสู่การเรียนรู้ของลูก เป็นกลุ่มสังคมและเป็นสถาบันอันดับแรกที่สร้างความมั่นคงเข้มแข็งของสังคมอย่างมีพลัง

    หากเป็นเด็กและเยาวชนคนหนองบัว รวมทั้งในท้องถิ่นต่างๆที่ได้เข้ามาเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองบัว ก็มีความองอาจสง่างาม รอบรู้ทางสังคม มองไกลสู่โลกกว้าง มีปัญญาและความฉลาดต่อการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่เห็นประโยชน์สุขของคน ชุมชน และสังคม เป็นฐาน เรียนรู้ความกว้างขวางของโลกรอบข้างอย่างนอบน้อม เคารพผู้อื่น และเห็นภาวะผู้นำของตนเอง มีความเชื่อมั่น แจ่มแจ้ง และชัดเจนในสิ่งที่สังคมของตนมี สามารถแบ่งปัน นำเสนอความแตกต่างให้กับผู้อื่น และสามารถนำการปฏิบัติให้แก่ผู้อื่นด้วยหนทางที่แตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น จากความเป็นตัวของตัวเองได้เสมอ

    หากเป็นคนทำงานท้องถิ่นและคนของราชการ ก็เป็นคนบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ มีภูมิปัญญาพอเพียงแก่การทำการงานสังคมให้รอบคอบ เชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่น ความเป็นสาธารณะของสังคมไทย และความเป็นสากลของโลก เป็นความอุ่นใจของประชาชน เป็นกำลังทางวิชาการเพื่อการสร้างสุขภาวะของชุมชนทุกระดับขึ้นจากฐานชุมชนให้งอกงามและเป็นตัวของตัวเอง ได้มีโอกาสฟื้นฟูและส่งเสริมการเรียนรู้ตนเองของชุมชนให้ยิ่งงอกงาม สนุก ประสบความสำเร็จทีละเล็กละน้อยในการได้สร้างและสะสมพลังความรู้อย่างในเวทีคนหนองบัวช่วยกันให้มากยิ่งๆขึ้น ทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าแห่งชีวิตและมีโอกาสพัฒนาตนเองเพื่อมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ต้องการทำเพื่อผู้อยู่ร่วมกันกับอื่น

    คนหนองบัวทุกท่านที่เข้ามาพัฒนาเวทีคนหนองบัวด้วยกันในทุกเวทีย่อยๆ ก็ขอจงได้ประสบทุกสิ่งในข้างต้น และขอให้ได้ประสบการณ์ที่ดี สามารถร่วมสร้างสรรค์ และทำให้เวทีคนหนองบัวมีความคึกคัก ได้ความเป็นชุมชนและเครือข่ายของคนที่คิดดี ทำดี มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาทั้งเพื่อกลุ่มก้อนของตนเองและเพื่อความเป็นสาธารณะในทุกขอบเขตที่ทุกท่านสามารถนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมได้

     ด้วยพลังความสร้างสรรค์สิ่งดี จากการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติของเราทุกท่านดังกล่าว ก็ขอให้เป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้มีแต่ความสุข มีสุขภาวะสาธารณะ และทุกท่านก็ประสบแต่สิ่งดี ตลอดปี ๒๕๕๓ และตลอดไป ทุกท่าน เทอญฯ.

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ และสวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์

    หลังจากทดลองพิมพ์ข้อความที่ 124 ที่โรงแรมอนุพาราไดซ์ ในเวียงจันทน์ ก็มีการประชุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 20 - 22 ธ.ค. ระหว่างคณะของอธิบดีกรมศุลกากรไทย - คณะหัวของหน้ากรมพาสีลาว (กระทรวงการเงิน) ที่โรงแรมลาวพลาซ่า บรรยากาศของความสัมพันธ์ยอดเยี่ยมครับ ผลการประชุมก็เรียบร้อยดี

    กลับจากเมืองลาว ก็พอดีลูกสาวซึ่งเรียนอยู่ grade 8 ที่ HOUSTON หยุดเรียนช่วงคริสต์มาส ได้พาไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ อ.หนองบัว และอ.คลองลาน ตั้งใจจะต่อไปเชียงใหม่ แต่พีเขยที่เพิ่งไปมา บอกว่าถนนช่วงกำแพงเพชร- อ.บ้านตากสภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ /ประกอบกับเวลาน้อยด้วย จึงเบนเข็มไปเขาค้อ และภูทับเบิกแทน ว่ากันว่า พักเขาค้อ 1 คืน ...อายุยืน 1 ปี

    อาจารย์ครับ ช่วงเช้าของวันที่ 26 ก่อนเดินทางไปเขาค้อ ผมได้แวะฝากหนังสือ 3 เล่มไว้กับน้องสาวของอาจารย์ที่บ้านตาลิน ตอนแรกพบเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ ถามว่านี่ใช่บ้าน ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์หรือเปล่า เจ้าหนูตัวอ้วน ๆ ตอบว่าไม่ใช่ครับ เมื่อถามว่ารู้จัก ดร.วิรัตน์มั้ย แกตอบว่า ไม่รู้จักครับ เมื่อบอกให้ไปตามผู้ใหญ่มาแกจึงวิ่งไปตามแม่ และได้พบกับน้องสาวของอาจารย์ในที่สุด

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • เจ้าหนูตัวอ้วนนั่นหลานผมเองครับ เพิ่งพอจะพูดได้ครับ เวลาโทรไปบ้านเพื่อคุยกับยายและแม่ของเขา เจ้าหนูก็ชอบรับโทรศัพท์เสียอีก ผมก็ต้องปวดหัวกับเขาเหมือนกันที่จะต้องรายงานตัวเองไปด้วยว่าผมเป็นใคร แนะนำเสร็จ ก็ต้องถามว่า จำได้แล้วยัง เขาก็จะตอบว่า ไม่รุ !!!
    • แล้วคนแถวบ้านผมนี่ก็ไม่ค่อยรู้จักผมในชื่อวิรัตน์หรอกครับ คนแถวบ้านรู้จักแต่ชื่อว่า หล่อง ส่วนหลานผมก็รู้จักแต่ลุงเฉยๆ พอนึกตามไปด้วยก็ขำๆดีเหมือนกัน และนึกภาพออกครับ
    • เพราะเวลาผมโทรไปแล้วหลานผมรับ พอบอกว่าลุงโทรมานะ แต่พอเขาไม่เห็นหน้าก็จะไม่รู้อีกว่าลุงคนไหนเนื่องจากลุงมีอีกหลายคน เขาก็ต้องวิ่งไปตามแม่และยายมาคุย แล้วก็บอกแม่และยายของเขาซึ่งก็คือแม่ผมว่าไม่รู้ใครโทรมา !!!!
    • ขอบคุณสำหรับหนังสือเป็นอย่างยิ่งเลยครับ วันที่ ๓๑ ธค. หรืออาจจะวันที่ ๑ มค.๕๓ ก็จะได้กลับบ้านแม่ที่บ้านตาลินแล้วครับ ผมจะมอบให้โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ๒ เล่มนะครับ เด็กๆคงได้ประโยชน์มากครับ
    • ไปเขาค้อตอนนี้คงหนาวอย่างได้ใจเลยนะครับ

    สวัสดีปีใหม่ครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    คืนที่ผมไปนอนสำนักงานเกษตรที่สูงเขาค้อ อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 12 องศาครับ คนเก่าแก่ที่นั่นบอกว่า เมื่อก่อนสมัยที่ยังมีการสู้รบกันอยู่หนาวกว่านี้มาก ป่าไม้ก็เยอะกว่านี้ การเดินทางมาก็แสนจะลำบากและอันตราย

    ขากลับ กลับทางอำเภอหล่มเก่าครับ ผ่านหมู่บ้านน้ำก้อ - น้ำชุนที่เคยโด่งดังเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว บังเอิญเหลือบเห็นป้ายบอกทางไปภูทับเบิก....รู้สึกว่าจะเคยได้ยินชื่อและเห็นภาพทางโทรทัศน์มาก่อน จึงทดลองขับรถขึ้นไป โอ้โฮ...ความสูงชันนี่ สุดยอดเลยครับ ถึงหมู่บ้านม้ง....บ้านภูน้ำเพียงดินก็เล่นเอาเหนื่อย ใช้เกียร์ 1 - 2 โดยตลอด เมื่อถึงยอดภูเล่นเอาเหงื่อตกเลยครับ มองลงไปข้างล่างนี่ใจหวิว - ขาสั่น เป็นประสบการณ์ของการเดินทางที่ทั้งตื่นเต้น....และเร้าใจดีจริง ๆ ครับ สำหรับคนที่ไม่เคยไป

    ขอให้มีความสุขมากๆครับ เมื่อก่อน ตั้งแต่ตอนที่ผมยังเด็กๆนั้น ทั้งแถวเขาค้อไปกระทั่งแนวป่าจรดไปถึงหนองบัว เป็นพื้นที่สู้รบและทำสงครามชิงมวลชนกันอยู่ตลอด เลยก็เป็นพื้นที่ที่มีโจรผู้ร้ายเยอะไปด้วย ตอนกลางคืนได้ยินเสียงปืนจนคุ้นเคย และตอนกลางวันก็มีทั้งทหารกับมิชชั่นนารีเท่านั้นที่เข้าไปตามชุมชนต่างๆได้ ไม่น่าเชื่อนะครับว่าบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย

    ตอนนี้ผมก็ขึ้นไปอยู่ที่เชียงใหม่ครับ อากาศกำลังพอดีๆ อีกสักวัน-สองวัน ก็จะกลับไปที่หนองบัวอีกสัก ๒ วัน คงจะมีโอกาสเก็บภาพบ้านนหองบัวมาฝากคุณสมบัติและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวนะครับ  

    สวัสดีค่ะ อาจารย์ P วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    กระแสตอบรับบางส่วนหลังจากที่นำ   ส.ค.ส. ๒๕๕๓ ชุดวิถีชีวิตชุมชน  ชุดนี้ไปอวยพรให้แด่กัลยาณมิตรใน gotoknow แห่งนี้ค่ะ :

    ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี
    เมื่อ อ. 29 ธ.ค. 2552 @ 21:29
    #1768115 [ ลบ ]

    คุณ ณัฐพัชร์

    ขอบคุณค่ะ เป็นส.ค.ส. ที่งดงามมากค่ะ อาจารย์พี่ม่อยวาดภาพเก่งมากจริงๆ

     

    กวิน [IP: 58.147.19.164]
    เมื่อ จ. 28 ธ.ค. 2552 @ 15:03
    #1764934 [ ลบ ]

     ภาพวาดของอาจารย์ ดร.วิรัตน์ สวยดีนะครับ ขอบคุณครับ

     

    โรจน์
    เมื่อ จ. 28 ธ.ค. 2552 @ 06:16
    #1763939 [ ลบ ]

    ชื่นชอบ สคส.ใบนี้มากครับ

     

    ครูคิม
    เมื่อ อา. 27 ธ.ค. 2552 @ 17:01
    #1762822 [ ลบ ]

    ภาพสวย มีความหมายมากค่ะ

     

    ป้าเหมียว
    เมื่อ พฤ. 24 ธ.ค. 2552 @ 17:01
    #1756536 [ ลบ ]

    ขอบพระคุณสำหรับสิ่งดีดี ที่มอบให้แก่สังคม และเลยมาถึงป้าเหมียวที่ได้ร่วมเรียนรู้กับเรื่องราวที่คุณณัฐพัชร์นำมาเสนอ มีคุณค่าอย่างมาก

     

    Mr.Direct
    เมื่อ พฤ. 31 ธ.ค. 2552 @ 17:17
    #1772152 [ ลบ ]

    สวัสดีปีใหม่ครับ...

    ผมชอบภาพนี้ครับ...

    ชอบตั้งแต่เห็นอยู่หน้าปกหนังสือ "ศึกษาศาสตร์ กับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย"

    ขอบคุณมากครับผม...

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • นี่แค่บางส่วนยังน่าชื่นใจได้ตั้งมากมาย
    • อาตมาก็เห็นผ่านตาหลายที่แต่ก็นึกว่าอาจารย์วิรัตน์คงได้เห็นบ้าง ยังคิดว่าจะนำมาแจ้งให้ทราบอย่างไรดี
    • พอดีอาจารย์ณัฐพัชร์มารายงานกระแสตอบรับจากกัลยาณมิตร ใจตรงกันกับอาจารย์ณัฐพัชร์พอดีเลย อนุโมทนาที่อาจารย์นำข่าวดี ๆ มาบอก
    • ต้องขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ที่ได้นำ ส.ค.ส. ชุดนี้ไปเผยแพร่
    • ถ้าชาวบ้านได้เห็นปฏิทินชุมชนชุดนี้คงปลื้มใจไม่เบาเลยแหละ

    กราบนมัสการ พระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

       

    • การด์ ส.ค.ส. ในชุด "วิถีชีวิตชุมชน" ชุดนี้ถือว่าเป็นการส่งสารความสุขไปยังผู้รับด้วยการออกแบบที่ได้มาจากการทำงานวิจัยเป็นเบื้องต้นด้วยค่ะ ทางคณะทำงานเราได้เริ่มผลิต ส.ค.ส. ในลักษณะนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ อย่างเช่น การ์ด ส.ค.ส. ๒๕๕๒ ชุด "ข้าวห่อใบบัว"

       

    กราบนมัสการท่านพระมหาแล สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ และทุกท่านครับ

    • นอกจากเรื่องเทคโนโลยี IT จะเป็นเรื่องหนึ่งที่อาจารย์ณัฐพัชร์เก่งแล้ว ยังเป็นมือดีในเรื่องคอมพิวเตอร์กราฟิคและการทำ Conceptual design เพื่องาน Visual art สื่อสร้างทัศนศิลป์ที่ทำให้คนสื่อสารสิ่งต่างๆถึงกันได้อย่างดีทั้งสารสนเทศ ความเข้าใจ รสนิยม อารมณ์และความรู้สึกที่สื่อสะท้อนจากจิตใจ
    • เวลาเธอเอางานที่แม้ผมจะเป็นคนวาดหรืองานของคนอื่นๆ มาเป็นข้อมูลและวัตถุดิบ ใส่ความคิดและจัดวางให้มีเรื่องราวอย่างใหม่ขึ้นมา ก็เหมือนได้ดูงานสร้างสรรค์อีกชิ้นหนึ่งต่างหาก ขึ้นมาเลย ผมก็เลยประทับใจและชอบการ์ดปีใหม่ ๒๕๕๓ ที่ให้ทั้งบรรยากาศในเทศกาลแบ่งปันความสุขและเป็นสื่อให้ความบันดาลใจเพื่อการเรียนรู้ชีวิตชุมชนอย่างมีความสุขไปด้วยเช่นกันครับ
    • ต้องขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยครับ อาจารย์ทำอย่างพิถิพิถัน ใส่ใจที่จะส่งผ่านความรำลึกถึงไปยังหมู่มิตร แล้วก็ยังนำมาเล่าสู่กันฟังอีก ขอบคุณมากๆเลยนะครับ
    • ขอร่วมกล่าวสันถวะและสวัสดีปีใหม่ทุกท่านไปด้วยเช่นกันเลยนะครับ น้องดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี | คุณกวิน | อาจารย์หมอโรจน์ | คุณครูคิม | ป้าเหมียว | และ Mr.Direct
    • เสือ เป็นสัญลักษณ์และระบบคิดต่อสิ่งต่างๆในหลายวัฒนธรรมของโลก | ภาพของเสือคาบดาบในวัฒนธรรมจีน เป็นระบบคิดแบบโบราณของสังคมจีนเพื่อปฏิบัติตนนับแต่การฝึกจิตใจไปจนถึงวิธีคิดต่อการจัดความสัมพันธ์ต่อสรรพสิ่งแบบสมดุล |เป็นสัญลักษณ์ของ กาล ที่กลืนกินสรรพสิ่งรวมทั้งตนเองในวิถีคิดของธิเบต | เสือเบงกอลเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของอินเดีย | เป็นสัญลักษณ์ ยาหม่องตราเสือ ที่แพร่หลายในหลายประเทศของเอเชีย | เสือเหลืองเป็นฉายาของประเทศมาเลเซีย | ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นศาลเทพเจ้าอันเป็นที่เคารพของชาวไทยจีนที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพบูชาแพร่หลาย ตั้งอยู่ที่เลยที่ ๔๖๘ มีเคล็ดว่าต้องบูชาด้วยธูป ๑๘ ดอก(โปรดสังเกตว่าเลขที่ตั้ง รวมกันได้ ๑๘ คือ ๔+๖+๘=๑๘) และปี ๒๕๕๓ อันเป็นปีเสือปีนี้ ก็จะเป็นปีที่มี ๘ สอง ๘ หรือเป็นปีที่ในเดือน ๘ จะมีวันพระแรม ๘ ค่ำ ๒ ครั้ง (ปรกติจะมีขึ้นและแรม ๘ ค่ำอย่างละครั้งเดียว) | หน้ากากเสือ เป็นการ์ตูนที่กลายเป็นตัวแบบวีรชนในอุดมคติของญี่ปุ่นและเด็กทั่วโลก ที่ต่อสู้กับฝ่ายอธรรมด้วยคุณธรรม เพื่อคนยากจน คนไร้โอกาส คนเสียเปรียบ และผู้อ่อนแอ  | คนขี่เสือ ผลงานแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ ว่าด้วยอำนาจแต่ก็ทำให้ผู้คนกลัวเหมือนกลัวเสือกัดเมื่อจะลงจากอำนาจและสูญเสียสิ่งที่ได้ ไม่เลือกแม้เป็นผู้คนต่างชนชั้นทางสังคมและวัฒนธรรมหรือชาติกำเนิด
    • และอีกมากมาย เรียกว่าเป็นปีใหม่ที่มีเรื่องราวเยอะแยะดีครับ
    • ดังนั้น จึงขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ให้ปีใหม่ ๒๕๕๓ นี้จงมีสีสัน เต็มไปด้วยเรื่องราวความงอกงามหลากหลายในชีวิต ทั้งใฐานะการได้เรียนรู้และเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ ทุกท่านเลยครับ

    มีข่าวดีมาบอกครับ

    เวบไซต์โรงเรียนหนองบัว เริ่มนำภาพกิจกรรมวันสถาปนาโรงเรียนฯ ครบรอบ 49 ปี มาลงให่ได้ชมกันแล้วครับ

    เชิญทุกท่านไปเยือนเว็บโรงเรียน ทั้งในฐานะของคนหนองบัว ศิษย์เก่า และสนับสนุนการศึกษาของลูกหลานและคนรุ่นหลังนะครับ

    109.

    รตท. สิทธิชัย ชื่อเล่นชื่อ น้อย ใช้หรือเปล่า ครับ ผมว่าคุ้นๆนะครับ เหมือนเคยเรียนห้องเดียวกัน

    • ตามหาเพื่อนหนองบัวอยู่หรือเปล่าครับ ผู้กองน้อยแวะมาสนทนาทักทายเพื่อนหน่อยนะครับ
    • โรงพยาบาลอำเภอหนองบัวของเราได้พัฒนาเว็บบอร์ดและได้เชื่อมเครือข่ายข้อมูลกับเรื่องราวของหนองบัวที่ทุกท่านได้ช่วยกันเขียนในนี้ด้วยแล้วนะครับ ผมเลยว่าจะลิงก์ไปให้อีกหลายเรื่องจากเวทีคนหนองบัวนะครับ
    • โรงพยาบาลก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เราสามารถร่วมแรงร่วมใจเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสุขภาวะส่วนรวมทั้งของชุมชนหนองบัวและของคนทั่วไป ทำได้หลายวิธีและตามเงื่อนไขแวดล้อมของแต่ละคนครับ
    • การสร้างชุมชนความรู้และชุมชนสื่อสารความรู้ สนทนาและเคลื่อนไหวเรื่องราวดีๆให้มีกำลังขึ้นในสังคม เป็นช่องทางหนึ่งของการส่งเสริมพลังการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้สังคมมีสุขภาวะอย่างที่ตนเองอยากคิดและทำ 
    • จึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจจริงๆนะครับ เป็นก้าวเล็กๆของการช่วยกันสร้างวิธีเดินเข้าหากันและร่วมมือกันสร้างพลังสิ่งดีของสังคม จากเรื่องราวรอบข้างและใกล้ๆตัวเราเองทุกคน 

    ได้ตามอาจารย์ไปที่เว็บบอร์ดโรงพยาบาลหนองบัวแล้วดูจะมีความคึกคักดีไม่น้อยเลย โดยเฉพาะหัวข้อแรกมีของอำเภอหนองบัวของอาจารย์ จะมาแรงเพียงไม่นานนักก็มีคนเข้ามาอ่านหัวข้อนี้กันมาก และมีคำชื่นชมจากผู้อ่านที่ได้รับรู้เรื่องราวดีๆในหนองบัวด้วย ต้องขอบคุณอาจารย์ที่เผื่อแผ่แบ่งปันให้กับคนหนองบัว และวันนี้เมื่อค้นหาในกูเกิ้ล ด้วยคำว่าเวทีคนหนองบัว ก็ได้เห็นหัวข้อนี้(แรกมีของอำเภอหนองบัว-NONGBUA HOSPITAL)ขึ้นหน้าแรก โดยอยู่รายการต้น ๆ อีกด้วย

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • เวทีคนหนองบัวนี่น่าสนใจมากครับ
    • เป็นแหล่งที่ต่างค่อนสานต่อความคิดกัน สะสมเรื่องราวต่างๆไปทีละเล็กละน้อย
    • แต่ตอนนี้ก็เป็นคลังความรู้และคลังข้อมูลสำหรับเรียนรู้และทำความรู้จักหนองบัวในอีกมิติหนึ่งได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ
    • ที่สำคัญคือเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้คนได้มีโอกาสสร้างสิ่งดีต่อสังคมโดยเริ่มจากท้องถิ่นและบ้านเกิดของตนเอง เป็นสื่อสร้างการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากครับ

    หัวข้อนี้มีผู้เข้ามาอ่านมากกว่า ๕,๐๐๐ ครั้งแล้ว
    วันนี้เข้าไปดูเวบบอร์ดโรงพยาบาลหนองบัว หัวข้อเรื่องแรกมีของหนองบัวคึกคักดีจริงๆ คนอ่านก็เลย ๔๐๐ ครั้งไปแล้ว
    เมื่อสองสามวันเจ้าอาวาสวัดโคกสะอาดมาเยี่ยม ได้สนทนากับเด็กหนุ่มที่ขับรถมากับเจ้าอาวาส เธอบอกว่ารู้จักหมอหนิม ตอนนี้หมอหนิมมีร้านขายยาร้านเล็กๆอยู่หลังอำเภอ เคยมาซื้อยาแล้วเห็นท่าน ถ้าไปเยี่ยมญาติโยมที่หนองบัว จะต้องหาเวลาไปเยี่ยมหมอหนิมให้ได้
    ได้ให้เอกสารไปหลายเรื่องมีเรื่องแรกมีของหนองบัวด้วย เขาถามอาตมาว่าหนองบัวมีรถสามล้อถีบด้วยหรือ โรงหนัง ไม่รู้จักเพราะเกิดไม่ทัน อ่านบทความเจอเรื่องหมอหลุย ก็หัวเราะแล้วบอกว่าตอนนี้ก็ยังมีร้านขายยาอยู่ข้างสระน้ำหลวงพ่ออ๋อยที่เดิม

    ท่านเจ้าอาวาสเห็นข้อมูลชุมชนหนองบัวมากมาย ท่านบอกว่าทำไมหลวงน้ามหาไม่เอาไปให้หลวงพ่อเจ้าคุณไกรอ่านบ้าง ถ้าหลวงพ่อเจ้าคุณไกรได้อ่านเรื่องราวเก่าๆแบบนี้นะรับรองได้เลยว่าท่านต้องชอบและถูกใจอย่างมากเลย
    เพราะหลวงพ่อเจ้าคุณไกร ถ้าท่านรู้ว่าใครมีข้อมูลเรื่องราวเก่าๆหรือสิ่งของเก่าๆท่านจะแนะนำว่ารักษาไว้ดีๆ เก็บไว้ให้ดีเป็นของมีประโยชน์มีคุณค่า อย่าให้สูญหาย บางครั้งชาวบ้านก็ไม่มั่นใจว่าจะเก็บของเหล่านั้นไว้ได้ไปนานอีกแค่ไหน นึกถึงคุณค่าความดีงามความเป็นประโยชน์ในวงกว้างกับสัมคมชุมชนก็จะถวายท่าน ท่านก็จะนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ และผู้บริจาคก็เกิดความสาบายใจด้วย ข้อมูลชุมชนหนองบัวก็ปริ้นออกมาเก็บไว้จำนวนมาก ไม่นานก็คงได้นำไปถวายท่าน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ทางเว็บของโรงพยาบาลหนองบัวก็น่าให้กำลังใจครับ ผมนึกภาพออกครับ หนองบัวของเรายังมีคนไม่มากและคนทำงานสาขาต่างๆก็เห็นๆกันอยู่ว่าต้องช่วยๆกันทำด้วยใจรักสมัครเล่นเพื่ออยากให้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้น
    • แต่ก็ขอเสนอแนะนิดหน่อยครับ ตรงข้อมูลที่ดึงไปไว้ในเว็บบอร์ดของหนองบัวนั้น เป็นบันทึกเก่าซึ่งได้ช่วยกันคุยในระยะแรกๆ แล้วก็ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมไว้ใน dialogue box แล้วก็คงบันทึกอันเดิมไว้ เมื่อดึงข้อมูลไปแต่จำเพาะหน้าแรกก็เลยไม่ได้รายละเอียดที่แก้ไขใหม่ หากผู้ดูแลมีโอกาสก็เปลี่ยนอันเก่าออกแล้วไปดึงข้อมูลอันใหม่มาแขวนไว้แทนได้นะครับ
    • ผมนึกภาพที่พระคุณเจ้าพยายามส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้และวัฒนธรรมการอ่าน โดยเฉพาะเพื่อเผยแพร่เรื่องราวให้ชุมชนและชาวบ้านได้เกิดความรักและภาคภูมิใจในสังคมท้องถิ่นตนเองแล้วก็รู้สึกเกิดกำลังความคิดไปด้วยครับ
    • หากพระคุณเจ้าเกิดความคิดในการนำเอาวิธีการอย่างที่เรากำลังสร้างความรู้ขึ้นในเวทีคนหนองบัวนี้ไปผสมผสานกับศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของท่านพระครูไกรและวัดหนองกลับแล้วละก็ ก็เป็นเรื่องที่ผมเองก็สนใจเหมือนกันนะครับ เพราะไม่ต้องเริ่มต้นทำที่ศูนย์ อีกทั้งเป็นการทำให้สิ่งของในพิพิธภัณฑ์มีเรื่องราว สร้างการเรียนรู้และเล่าขานเกี่ยวสังคมหนองบัวได้อย่างมีพลังมากขึ้นอีกด้วย
    • หากมีพระคุณเจ้า คุณเสวก และคนท้องถิ่น ไม่เกิน ๒๐-๓๐ คนพอจะรวมตัวและสุมหัวช่วยกันทำเวิร์คช็อปได้ ๒-๓ วัน เพื่อดึงเอาความรู้และรูปวาดออกมาทำเป็นสื่อแผ่นป้ายแล้วติดในพิพิธภัณธ์ จัดมุมที่มีของต่างๆอยู่แล้วให้มีเรื่องราวเพิ่มขึ้นมาด้วย หากอยากได้เรื่องอะไรเพิ่ม ก็ชวนคนเฒ่าคนแก่และคนที่พอรู้เรื่องมานั่งคุย แล้วก็ใช้วิธีการอย่างที่เราทำนี้รวมเนื้อหาเป็นเรื่องเล็กๆให้ผมเขียนรูปประกอบ เสร็จแล้ว็ทำแผ่นป้ายติดตั้งไว้ และทั้งหมดก็โยนเข้ามาเก็บไว้ในอินเทอร์เน็ตนี้ด้วย
    • ผมนั้นคิดว่าจะชวนเพื่อนๆที่เป็นครูและทำงานวิชาการได้หลายคน หากจะทำจริงๆก็จะต้องขอร้องแกมบังคับหักคอตีเข่ากันหน่อย เพราะไม่ค่อยจะได้ขอร้องอะไรกันนัก ข้าวปลาก็หอบหิ้วมาจากบ้านของพวกเรากันเอง 
    • นานๆก็ทำอย่างนี้ สัก ๒-๓ ครั้ง ผมว่าจะสามารถสร้างแหล่งทรัพยากรทางปัญญาที่มาจากน้ำใจของทุกท่านให้กับชุมชนหนองบัวและวัดหลวงพ่อเดิได้อย่างดีเป็นแน่เลยนะครับ
    • ผมคุยเป็นแนวคิดไปก่อนนะครับ ตอนนี้กำลังหาวิธีดึงเอาเนื้อหามาทำหนังสือ เพื่อจะนำมาจัดเวทีคุยกันที่หนองบัว พระคุณเจ้า คุณสมบัติ คุณฉิก คุณเสวก และท่านอื่นๆเตรียมประสบการณ์และข้อมูลไว้คุยกันนะครับ แต่ว่าทำสบายๆครับ คิดเยอะๆให้รอบคอบและแยบคายที่สุดอยู่เสมอ ทว่า จะทำตามกำลังของเราโดยมุ่งให้ได้ลงมือปฏิบัติสิ่งดีๆไปด้วยน่ะครับ

    กราบนมัสการด้วยควาเคารพครับ

    เห๋นว่าหมันนานจัดแล๋ว ก๊อดข๋อซะหน่อยเหอะ อึดอัด เพิ่งห่าเจ๋อด๋วย

    ผ๋มค้นหน๋องบัวแท้ ๆ ภาส่าบางค๋ำผ๋มก๊อด ไม่ค๋อยเข่าใจย ผ๋มเลย เอาหม๋าไห้ดูกั๋น

    แต่ ทะวัดผิดหยั๋งไงก๊อดอย่างว่าเนอว เผื่อว่าใค๋ยทิ่ดมาดูทีหลั๋ง คนบ้านเอ่งจั้ดได่รุ้กั๋น

    รุ้แค่ศึกส่าเนอว อย่าเอ้าไปแบ๋งไรกันเนอว ปัจจุบั๋น ก๊อตญาติกั๋นหมดแน่ะ อยุ่ทิ่ดว่าไม่ศึกส่ากั๋นเอง เออว

    หยั๋ดว่าผมเนอว ทว่าผิดอ๊ะไร ผ๋มก๊อตขอโท๊ด...สวัดดี๋ หน่องกลั๊บ

    ชุมชนดั้งเดิมของอำเภอหนองบัว คือ ชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอหนองบัว ทั้งหมดที่อยู่อาศัยมาก่อนประกาศตั้งเป็นอำเภอ ตามหลักฐานที่ปรากฏ บางหมู่บ้านมีชุมชนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าชุมชนดั้งเดิมจำนวนหนึ่งย้ายมาจากสุโขทัย ทั้งยังมีชาวไทยพวนและคนลาว มีทั้ง ลาวโซ่ง หรือ ที่เรียกว่า “ไทยทรงดำ” หรือ “ ไทยดำ ไทใหญ่ ลาวใต้ หรือลาวเวียง ซึ่งย้ายมาจากเวียงจันทน์ มีจำนวนประมาณ ๙๐๐ คน ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเขตตำบลหนองบัว ตำบลหนองกลับ ตำบลห้วยร่วม ตำบลห้วยใหญ่ตำบลห้วยถั่วเหนือ ตำบลห้วยถั่วใต้ คนไทยซงดำ หรือ โซ่ง หรือ ไทยดำ ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ ในเขตตำบลธารทหารและกระจายอยู่ทั่ว ๆ ไป คนไทยจากถิ่นอื่น ๆ ซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาจากทางจังหวัดภาคกลาง รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งอาศัยอยู่กระจายไปในส่วนต่าง ๆ ของอำเภอใกล้บริเวณ หนองน้ำ ชาวบ้านต่างก็ ยึดพื้นที่ใกล้หนองน้ำแห่งนี้เป็นที่พักอาศัย ทำมาหากินต่อกันมา ต่อมามีผู้คนอพยพมาจากถิ่น อื่น ๆ อาทิ เช่น สุโขทัย ชัยภูมิ โคราช เพชรบูรณ์ มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท