การวิจัยเชิงบรรยาย


การวิจัยเชิงบรรยาย

              การวิจัยเชิงบรรยายเป็นการวิจัยที่มุ่งค้นหาข้อเท็จจริง หรืออธิบายปรากฎการณ์ สภาพการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันว่ามีสภาพความเป็นจริงอย่างไร การวิจัยประเภทนี้อาจศึกษาแบบสำรวจ หรือแบบหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือแบบพัฒนาการก็ได้ แต่ผลการวิจัยที่ได้มักจะเป็นการตอบคำถามว่าสภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นเช่นไรการวิจัยเชิงบรรยายทั่ว ๆ ไปนิยมวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ความคิดเห็น เจตคติ หรือสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญ ๆ ของการวิจัยเชิงบรรยาย

 

1. ชนิดของการวิจัยเชิงบรรยาย

 

การวิจัยเชิงบรรยายแบ่งตามลักษณะของการวิจัยได้ 3 ชนิดคือ

                        1. การวิจัยแบบสำรวจ

                        2. การวิจัยแบบหาความสัมพันธ์

                        3. การวิจัยแบบศึกษาพัฒนาการ

 

2. ความมุ่งหมายทั่วไปของการวิจัยเชิงบรรยาย

 

การวิจัยเชิงบรรยายมีความมุ่งหมายที่สำคัญดังนี้

              2.1 เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบัน

              2.2 เพื่อหาเกณฑ์มาตรฐานและนำผลไปใช้เป็นเกณฑ์ในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องหรือวางแผนงานได้ถูกต้อง

              2.3 เพื่อที่จะทราบความสัมพันธ์ พัฒนาการต่าง ๆ ของเหตุการณ์ในปัจจุบันและทราบแนวโน้มของเหตุการณ์ในอนาคต

              2.4 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและนำไปใช้

 

3. ลำดับขั้นของการวิจัยเชิงบรรยาย

 

การวิจัยเชิงบรรยายมีขั้นตอนในการทำดังนี้

              3.1 เลือกปัญหาในการวิจัย ซึ่งปัญหาในการวิจัยนั้นมักจะได้มาจากผลหรือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้วิจัยต้องการทราบว่าผลนั้นหรือปรากฏการณ์นั้นเกิดจากสาเหตุใดบ้าง หรือเกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด

              3.2 นิยามและให้คำจำกัดความปัญหา โดยกล่าวถึง ภูมิหลังอันเป็นที่มาของปัญหา ความสำคัญของปัญหา จุดมุ่งหมายของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย ข้อตกลงเบื้องต้น นิยามศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เอกสารและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง สมมติฐานในการวิจัย

              3.3 การวางแผนการวิจัย เกี่ยวกับวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง แหล่งของข้อมูล การสร้างหรือการเลือกเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ เช่น หาความเชื่อมั่น ความเที่ยงตรง การตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นต้น

              3.4 การวิเคราะห์ข้อมูลและแปลผล

              3.5 สรุปและอภิปรายผลการวิจัย

              3.6 เขียนรายงานการวิจัย

 

4. ข้อบกพร่องของการวิจัยเชิงบรรยาย

 

การวิจัยเชิงบรรยายมักจะมีข้อบกพร่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

              4.1 การเลือกกลุ่มตัวอย่าง คือผู้วิจัยมักประสบปัญหาการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งไม่เป็นตัวแทนของมวลประชากรที่แท้จริง

              4.2 การวิจัยเชิงบรรยายมักจะได้ข้อมูลจากข้อมูลชั้นรอง ซึ่งเชื่อถือได้น้อยกว่า ข้อมูลชั้นต้น

              4.3 การให้นิยามศัพท์เฉพาะไม่แจ่มชัด ไม่รัดกุม และมีความหมายไม่ตรงกัน

              4.4 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยบางครั้งด้อยคุณภาพ คือขาดความเที่ยงตรง และความเชื่อมั่น

              4.5 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลไม่เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของข้อมูล จุดมุ่งหมาย และสมมติฐานในการวิจัย

              4.6 การสรุปผลและการพยากรณ์มีลักษณะจำกัด เพราะการวิจัยประเภทนี้เป็นการวิจัยสภาพปัจจุบัน เป็นการศึกษาความจริงเฉพาะในสภาพปัจจุบัน เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำกัดขอบเขตของการพยากรณ์ในสภาพปัจจุบันเท่านั้น ข้อสรุปจะเป็นจริงในปัจจุบัน ช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ แต่อาจจะไม่เป็นจริงตลอดไป จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของการสรุปผลให้มาก

 

5. ประโยชน์ของการวิจัยเชิงบรรยาย

 

การวิจัยเชิงบรรยายมีประโยชน์ที่สำคัญดังนี้

              5.1 ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจสิ่งแวดล้อมและปัญหาต่าง ๆ ขึ้น

              5.2 จะทำให้ทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสภาพปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจ กำหนดนโยบายหรือวางแผนงานต่าง ๆ ให้ไปสู่เป้าหมายได้

              5.3 เป็นการวิจัยที่เหมาะกับทางสังคมศาสตร์มาก เพราะจะได้รายละเอียดชัดเจนแน่นอน

              5.4 ผลการวิจัยช่วยให้สามารถมองเห็นแนวโน้มของเหตุการณ์ในอนาคตได้

              5.5 ทำให้ทราบความสัมพันธ์ของสภาพการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานให้ดีขึ้น

 

 

Mr.PK

 

ขอขอบคุณที่มา

เอกสารชุดนี้นำมาจาก เอกสารประกอบคำสอนเรื่อง "ประเภทของการวิจัย" โดย รองศาสตราจารย์นิภา ศรีไพโรจน์

http://www.watpon.com/Elearning/res15.htm

 

หมายเลขบันทึก: 219304เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2008 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท