แนะนำเทคนิคการเขียนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และผลผลิต


เทคนิคการเขียนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และ ข้อผิดพลาดที่พบเสมอ

ในเอกสารแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ บทที่ 4 กล่าวถึง การจัดทำตัวชี้วัดเพื่อการประเมินความคุ้มค่า  มีเนื้อหาน่าสนใจ  จึงนำมาเล่าต่อ ในส่วนคำแนะนำการทำตัวชี้วัดที่มีลำดับชั้นตามโครงสร้างยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง..

   หลักการ

     โครงสร้างแผนงบประมาณในระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์  กำหนดลำดับชั้นจากบนลงล่าง เป็น 4 ระดับ  ดังนี้

  1.       ระดับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล  ที่กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน  พร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จของรัฐบาลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่พึงปรารถนา เรียกว่า "National Policy  Indicator) " หรือ  " Impact  Indicator" ในระดับรัฐบาล

  2.       ระดับยุทธศาสตร์กระทรวง  ที่กำหนดเป้าหมายการให้บริการสาธารณะเฉพาะด้านที่ชัดเจน  พร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จของกระทรวงที่มีต่อผลประโยชน์ของกลุ่มสังคมที่เป็นเป้าหมาย เรียกว่า " Ministerial  Policy Indicator" หรือ  " Impact  Indicator" ในระดับกระทรวง

  3.      ระดับกลยุทธ์ระดับกรม  ที่กำหนดเป้าหมายให้บริการระดับกรมที่ชัดเจน  พร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จของหน่วยงานที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและลักษณะผลประโยชน์เฉพาะ หรือผลลัพธ์ " Outcome   Indicator"

  4.      ระดับกิจกรรมที่กำหนดกิจกรรมหลัก  นำส่งผลผลิตที่ชัดเจน  พร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จเมื่อสิ้นสุดกระบวนการ จัดทำกิจกรรมหลัก เรียกว่า " Output  Indicator"

  เทคนิคการเขียน

  1.   คำกริยาที่ใช้เขียนยุทธศาสตร์ ( ของรัฐบาลและของกระทรวง) ใช้คำกริยานามธรรม และต้องแสดงทิศทางของยุทธศาสตร์หรือนโยบาย เช่น

               -  " ขยาย/ เพิ่ม  / พัฒนา   "  เพื่อการรุก

               -  " ปรับปรุง   "         เพื่อการแก้ไขส่วนด้อย

               -   " คงสภาพ  "      เพื่อเป็นการประคองตัว

                -  " ตัดทอน  "     เพื่อการยุติส่วนที่ควรเรียก

    2.    คำกริยาที่ใช้เขียนกลยุทธ์  ใช้คำกริยากึ่งรูปธรรม และต้องแสดงแนวทางเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ เช่น

              - " ส่งเสริม  "   หรือ " สนับสนุน  "   เพื่อขยายกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ในสังคม

             - " เสริมสร้าง  "  หรือ " สร้างเสริม "   เพื่อปรับปรุงองค์กรเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต " รักษาความเชี่ยวชาญ"  หรือ  " รักษาสถานภาพ" เพื่อคงสภาพขององค์กรในยามวิกฤติ  และ "ทบทวน" เพื่อพิจารณาตัดทอนงานที่ควรยกเลิก หรือ ถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่น  เป็นต้น

    3.   คำกริยาที่ใช้เขียนกิจกรรมหลักนำส่งผลผลิต  ต้องแสดงวิธีการหลักที่เป็นรูปธรรมให้กับแนวทางที่กำหนดในระดับกลยุทธ์  เช่น

            -  เผยแพร่สารสนเทศให้แก่ผู้รับบริการ (เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีในด้าน.......) 

            -  ก่อสร้างศูนย์บริการในระดับชุมชน ( เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีในด้าน........)

            -  จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่เครือข่าย (เพื่อสนับสนุนเครือข่ายให้เป็นแกนนำในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน)

           -   ฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ ( เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในการให้บริการ)

           -   จัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพให้แก่เจ้าหน้าที่  ( เพื่อสร้างเสริมขีดความสามารถในการวางแผนและประเมินผล)

           -  กำหนดมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ

      ข้อผิดพลาดที่พบเสมอในการเขียนยุทธศาสตร์  กลยุทธ์ และผลผลิตกิจกรรม

  1.      เขียนยุทธศาสตร์หรือนโยบายด้วยคำกริยาในระดับกลยุทธ์หรือคำกริยาในระดับกิจกรรม เช่น   ยุทธศาสตร์ส่งเสริมศักยภาพบุคลากรของผู้ให้บริการ  (ซึ่งไม่ได้บอกว่าสังคมไทยจะได้ผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างไร)  ยุทธศาสตร์ให้ความรู้เจ้าหน้าที่ในการให้บริการ   ยุทธศาสตร์จัดทำระบบสารสนเทศ (ซึ่งไม่ได้บอกว่าประชาชนจะได้รับบริการที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างไร)   กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่ผู้บริหารขาดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ และยึดติดกับระบบงบประมาณแบบแสดงรายการ

  2.      เขียนกลยุทธ์หรือแนวทางตอบสนองยุทธศาสตร์ด้วยคำกริยาในระดับกิจกรรม  เช่น  กลยุทธ์ก่อสร้างอาคาร (ซึ่งบอกว่าจะผลิตอะไร  แต่ไม่ได้บอกว่ากลุ่มเป้าหมายผู้รับผลประโยชน์เป็นใครและจะได้ผลประโยชน์ในลักษณะใด)  กลยุทธ์จัดซื้อครุภัณฑ์(ซึ่งบอกว่าจะซื้ออะไร  แต่ไม่ได้บอกว่าถ้านำครุภัณฑ์มาใช้แล้ว  กลุ่มเป้าหมายผู้รับผลประโยชน์เป็นใครและจะได้ผลประโยชน์ในลักษณะใด)  กลยุทธ์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ (ซื่งบอกว่าจะฝึกอบรมใคร  แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าฝึกอบรมแล้ว  กลุ่มเป้าหมายผู้รับผลประโยชน์ เป็นใครและจะได้ผลประโยชน์ในลักษณะใด)  กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่ผู้บริหารเคยชินกับการทำงานในสถานภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างผลลัพธ์และผลผลิต

  3.      เขียนกิจกรรมหลักนำส่งผลผลิตด้วยคำกริยาที่แสดงขั้นตอนการจัดทำกิจกรรมแทนที่จะแสดงกิจกรรมหลัก เช่น  ออกแบบอาคาร  (ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกิจกรรมก่อสร้างอาคาร)  ประกวดราคา (ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกิจกรรมจัดซื้อครุภัณฑ์)  สรรหาวิทยากรฝึกอบรม (ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกิจกรรมฝึกอบรม)  กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่ผู้บริหารขาดความเข้าใจในการจัดทำแผนกลยุทธ์ของหน่วยงาน และเข้าใจว่าการจัดทำแผลกลยุทธ์ (Strategic  Plan) กับการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action  Plan) เป็นเรื่องเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 218563เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2008 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับ

กำลังทำอยู่เช่นกันครับ แต่ไม่ใหญ่มาก แค่หน่วยงานเล็ก ๆน่าสนใจครับ เดี่ยวขอนำไปดูบ้างนะครับ

หากใช้ strategy mapping จะช่วยได้มากครับ เพราะ มันเริ่มจาก เป้าหมาย จากลูกค้า หรือผู้รับบริการ แล้วแตกลงมาสู่ กิจกรรม ที่เป็นเหตุและผลกัน ต้องตอบคำถามเป้าหมายให้ได้ จะทำให้ ได้กิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายจริงๆครับ

สวัสดีคะ

แวะมาทักทาย และอ่านสิ่งดีๆ คะ มีประโยชน์มากคะ

ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ คะ

  • สวัสดีค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ ขออนุญาตนำไปใช้นะคะ ... การเขียนแผนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับองค์กร หากไม่มีแผนก็คงคล้ายๆกับไม่มีถนนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ... 

สวัสดีค่ะขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลดี ๆ และมีประโยชน์ค่ะ

แผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่คงได้แค่ครึ่งเดียวจริงๆถ้าไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ แต่ถ้าปฏิบัติโดยขาดการวางแผนก็อาจหลงทางเสียเวลา ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อยๆ

ขอบคุณที่นำแนวคิดในการวางแผนมาให้ได้เรียนรู้ศึกษา และนำไปลองใช้ครับ

สวัสดีครับ...อ่านแล้วดีมากครับ ขอบคุณครับ ขออนุญาตนำไปใช้เป็นแนวทางครับ

จะนำไปใช้เป็นแนวทางครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท