สื่อและเครื่องมือ IT กับชุมชนเรียนรู้ชาวบ้าน


"...นักวิจัยชาวบ้านแบบที่กล่าวถึงนี้ มีทักษะการเรียนรู้และสร้างความรู้ผสมผสาน บูรณาการ กลมกลืนอยู่บนการปฏิบัติตนเอง ถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลอย่างมีความหมาย พูดคุย วาดรู้ป นั่งฟังและแลกเปลี่ยนทรรศนะกับเวทีต่างๆ อย่างมีความหมาย ผสมผสานภาวะผู้นำของสังคมมุขปาฐะ กับสังคมฐานความรู้หนังสือ(Knowlege-Based Society) อย่างพอดี-พอเพียง ไม่เว่อร์ เชย และหลุดจากความเป็นตัวของตัวเอง..."

              สังคมไทยเป็นสังคมที่มิได้มีพื้นฐานเป็นสังคมฐานความรู้ที่อยู่ในรูปของหนังสือและการอ่านหนังสือ  สังคมฐานความรู้หนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของโลกคือจีน อินเดีย กรีก ขอม ซึ่งมีอารยธรรมหนังสือและการอ่านมาก่อนใครหลายพันปี  อเมริกาและยุโรปก็เป็นสังคมฐานความรู้หนังสือมาก่อนสังคมไทย ทว่า มาทีหลังโลกตะวันออกเยอะ

             หากถือเอาการมีอักษรไทยและการบันทึกปัญญาความรู้เป็นหนังสือ ลงในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงในวัฒนธรรมสุโขทัย เป็นหมุดหมาย สังคมไทยก็เข้าสู่สังคมฐานความรู้หนังสือมาได้ไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง ภาษาการวาดรูปในถ้ำ และการทำสัญลักษณ์ตามสิ่งของเครื่องใช้  รวมไปจนถึงโหราศาสตร์  การอ่านธรรมชาติ อ่านชีวิต และสิ่งแวดล้อม มีมาก่อนภาษาหนังสือหลายศตวรรษ

             อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงว่า การศึกษาเรียนรู้วิชาหนังสือในอดีตนั้น  ถูกสร้างขึ้นโดยสังคมวิถีอำนาจและถือผู้ชายเป็นใหญ่  กระทั่งกลายเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ไป การเป็นชุมชนฐานความรู้หนังสือ  จึงเป็นเครื่องมือทางอำนาจของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น กระนั้นก็ตาม งานเขียนและวรรณกรรมของไทยล้านนา ก็ก้าวหน้ามาก่อนสังคมฐานความรู้หนังสือไทยภาคกลางเสียอีก

             คนส่วนใหญ่และชาวบ้านทั่วไป  ที่พอนับได้ว่าสามารถเข้าถึงการศึกษาเรียนรู้หนังสือ ภายใต้ปรัชญา การศึกษาเพื่อปวงชน หรือ Education for All ของเหล่าสหประชาชาติ ก็เมื่อ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้น สังคมฐานความรู้หนังสือจึงเป็นจุดอ่อนของสังคมไทยในเชิงพ้ฒนาการบนฐานความรู้แบบสมัยใหม่ของโลก ทว่า หากดูมิติอื่นๆด้วย ก็อาจจะเห็นตัวตนอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

            จุดแข็งและเป็น Tacit Knowledge หรือศักยภาพปัญญาและทุนทางสังคมจำเพาะตน ของสังคมไทยอย่างยิ่งคือ สังคมฐานความรู้แบบมุขปาฐะ และ ปฏิภาณ การสร้างสรรค์ประเพณี และการละเล่น  อันได้แก่การสร้างความรู้และจัดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีความหมายต่อการขัดเกลา หล่อหลอม ให้ปัจเจกก่อเกิดความงอกงามและเจริญเติบโตทุกด้าน  ผ่านการพูดคุย  สืบทอดปากต่อปาก ทำกิจกรรมการงาน และอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

           ชุมชนและสังคมดั้งเดิม  จึงมีความร่ำรวยทางการแสดงวาทะและมุขปาฐะ  รวมทั้งกิจกรรมสาธารณะที่รองรับมิติการสื่อสารเรียนรู้ทางสังคม ผ่านกระบวนการทางสังคมต่างๆ  เช่น  มีนิทาน  เกร็ดชีวิต  ตำนานเรื่องเล่า เพลงบอก การเทศน์  วงสทนาในลานข้าว การทำงานเป็นกลุ่มก้อนแบบลงแขก ศาลาวัด เพลง ศิลปะ และการละเล่นท้องถิ่น  กิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีซึ่งเป็นวิถีชีวิตมากกว่าดังที่เห็นในปัจจุบัน 

           ในการสร้างปัญญาชน ระดมความเป็นผู้นำแบบรวมหมู่ (Collective Leadership) และทำให้ปัจเจกมีภาวะผู้นำรอบด้าน  ทั้งทางด้านปัญญา  คุณธรรม และวิชาความรู้ เพื่อนำกลับไปใช้จัดการสุขภาวะในชีวิต  ก็มีการบวชและใช้ชีวิตรวมหมู่ด้วยการอุทิศตนเป็นวิธีให้การศึกษาอบรม  เรียนรู้เพื่อคลายจากตัวตนและตัวกูของกู ให้เป็นสมบัติส่วนรวมอย่างสิ้นเชิง (From individual to public) ซึ่งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสืบทอดหลักธรรมคำสอนที่เคร่งครัด  ผ่านมุขปาฐะ  การพูด  การท่อง  ปฏิภาณ  และศักยภาพการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของปัจเจกเป็นหลัก เช่นกัน

         ดูไม่เป็นระบบ  อีกทั้งพิธีกรรมก็ไม่ขรึมขลังเหมือนวิธีการทางความรู้แบบสังคมฐานความรู้หนังสือ แต่ในบางกรณีและในบางสถานการณ์  ก็เป็นจุดแข็งและจุดเด่น ที่สร้างความแตกต่างไม่เหมือนใดในโลก เช่น  การสืบทอดหลักธรรมที่สำคัญทั้งหมดในพุทธศาสนา  ซึ่งก่อเกิดจากวัฒนธรรมอินเดียนั้น สืบทอดแบบอินเดียซึ่งเป็นต้นฉบับเอง ก็รักษาไว้ไม่อยู่ 

         ในขณะที่สังคมไทยซึ่งได้รับอิทธิพลมาอีกต่อหนึ่งและสืบทอดโดยวิธีมุขปาฐะเป็นหลัก  ที่สำคัญคือ  โดยวิธีสร้างให้มีปัญญาชนรุ่นใหม่ท่องปาฏิโมกข์ให้ได้อยู่เสมอ กลับทำหน้าที่สืบทอดและเป็นนายไปรษณีย์ ส่งผ่านระบบปัญญาและองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาจิตใจมนุษย์ สู่ผู้คนระหว่างรุ่นได้ดีกว่าสังคมที่เป็นต้นฉบับเสียอีก  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าสนใจ

          การท่องและสืบทอด เถระ+วาทะ หรือหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ  หากใครได้สังเกตการณ์  ก็จะรู้ว่ามีระเบียบวิธี แม่นตรง และเชื่อถือได้มากอย่างยิ่ง โดยจะมีการปฏิบัติเป็นกลุ่ม ร่วมกับการมีชุมชนเรียนรู้ไปด้วยทุกครั้ง 

         หมู่สงฆ์และชาวบ้านจะนั่งฟังอย่างจริงจัง  พระรูปหนึ่งจะอาสาท่องสืบทอด  รูปหนึ่งจะกางจารึกในใบลานสอบทาน และอีกรูปหนึ่งที่แม่นปาฏิโมกข์  จะคอยนั่งประกบ 

         ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับแม้เพียงนิดเดียว  ก็จะมีคนอย่างน้อยสองคนทักท้วง และต้องกลับไปท่องใหม่ ซึ่งรวมถึง 84,000 ธรรมขันธ์และใช้เวลาทบทวนเรียนรู้เป็นกลุ่มเนืองๆอย่างนี้ทุกๆระยะ 2 สัปดาห์ครั้งละเกือบสองชั่วโมง 

         โดยวิธีการและกระบวนการอย่างนี้  สังคมไทยจึงได้ชื่อว่า เป็นสังคมที่ดูแลรักษาพุทธศาสนา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดวิถีหนึ่งของโลก  ไว้ได้ดีที่สุดในโลก  ดียิ่งกว่าสังคมที่เป็นแหล่งก่อเกิด  ซึ่งต้องกลับมาเรียนรู้ไปจากสังคมไทยอีกรอบหนึ่ง อีกด้วย

         ดังนั้น ชุมชน และสังคมที่ปฏิสัมพันธ์กันผ่านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม และวิถีมุขปาฐะ หรือพูดคุยสื่อสาร เรียนรู้ ในชีวิตประจำวันแบบปากต่อปากผ่านการพบปะกันในโอกาสต่างๆ  จึงเป็นพลังการเรียนรู้แต่ดั้งเดิมของสังคมไทย  ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีนัยต่อเรื่องนี้และซึมลึกอยู่ในสังคม  จึงเป็นความจำเพาะตน  มีความเป็นตัวของตัวเองและเป็นผู้นำเขาได้  มากมาย

         อย่างไรก็ตาม  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับโลกรอบข้าง  ทั้งการให้ผู้อื่นและการรับของเขามา ก็เป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็น การพัฒนาคนส่วนใหญ่ให้มีทักษะการเรียนรู้ ก้าวทันความทันสมัยและพัฒนาทางวัฒนธรรมไปด้วย ให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยเทคนิควิธีการใหม่ๆ และเป็นสังคมฐานความรู้หนังสือ (Knowlege-Based Society) ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องทำ 

          ทว่า ต้องทำให้แยบคาย สอดคล้องกับบริบทของตน ต่อยอด และเสริมพลังขึ้นจากสิ่งที่คนในสังคมมีอยู่เป็นรากฐานเดิม คือความรู้และการเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิต รวมทั้งกระบวนการสร้างความรู้และสื่อสารเรียนรู้ทางสังคม ผ่านการอยู่และทำมาหากินด้วยกัน  พบปะ  พูดคุยและสื่อสารกันด้วยความวางใจฉันท์เพื่อนมนุษย์

          ด้วยความตระหนักในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งในการทำงานสาธารณสุขมูลฐาน สาธารณสุขชุมชน และการสร้างสุขภาพชุมชน เป็นแนวการทำงานที่อิงคนส่วนใหญ่ก่อน ซึ่งแม้ในเวลานี้แล้วก็ตาม คนส่วนใหญ่ในสังคมเรา ก็ยังเป็นคนที่มีโอกาสน้อย 

         การศึกษาที่เป็นทางการไม่มาก  มีความจำเป็นพื้นฐานซึ่งสัมพันธ์อยู่กับกระแสหลักของการพัฒนาอย่างใกล้ชิด  จึงต้องสามารถเรียนรู้การพึ่งตนเองพร้อมไปกับเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ชีวิตตนเองได้ดี ผมเลยมีบทเรียนในการนำเอาแนวคิดและความตระหนักต่อสังคมของตนอย่างนี้ไปทำงานอยู่บ้างพอสมควร 

         ส่วนหนึ่งคือ  สร้างกลุ่มนักวิจัยชาวบ้าน และพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้  ให้อยู่ในมือและส่งเสริมการเป็นนายตนเองของชาวบ้าน  ผสมผสานทั้งวิถี เทคนิค และวิธีการดั้งเดิม จากสังคมมุขปาฐะ กับเครื่องไม้เครื่องมือและวิธีการที่ทันสมัย กระทั่งถึงสื่อและเครื่องมือ IT แบบดิจิตอล 

         ทว่า  ผมสร้างสำนึกการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้  ความรักในการเรียนรู้  ความเชื่อมั่นตนเองและความสมาร์ท  คือ  ไม่เคอะเขินเพราะทำมันออกมาจากใจ  รู้แจ้งจากข้างใน  มิใช่ทันสมัยเพียงรูปแบบภายนอก  โดยแบ่งออกเป็นสอง-สามขั้น ครับ.........

    ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นตนเองและคงความเป็นนายตน เป็นผู้นำตนเอง มีจิตใจและความคิดเป็นนายตนเอง

  • พัฒนาจิตใจ  ความละเอียดอ่อน  ความเอื้ออาทร  สันติและไว้วางใจโลกรอบข้างสูง  หลักๆ เลยก็โดยการทำงานร่วมกับ ชมรมชีวเกษม  ซึ่งเป็นเครือข่ายปัจเจก  พัฒนาการเรียนรู้และสร้างสุขภาวะทางจิตใจนำการจัดการกายภาพและวัตถุ  กระบวนการนี้จะมาก่อน และเป็นพื้นศักยภาพเดิมที่ประชาชนและคนทั่วไปในสังคมไทยจะมีอยู่ในตน

        ส่งเสริมพลังการเรียนรู้ออกมาจากฐานเดิม รักในการเรียนรู้ ศรัทธาในวิถีแห่งการใช้พลังทางปัญญา และเห็นหลักการสำคัญของวิธีการทางความรู้ในระบบธรรมชาติของชีวิต

  • พัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและพื้นฐานการเรียนรู้เป็นกลุ่มก่อน พัฒนาทักษะการคิดเป็นกลุ่ม  การวาดภาพสื่อสารความคิด  การพูดและฟัง  การสร้างความรู้ขึ้นจากประสบการณ์  การเป็นผู้นำในสถานการณ์การทำงานเป็นกลุ่มในด้านที่ตนเองนำการมีส่วนร่วม

       พัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีและสื่อดิจิตอล แบบฉลาดใช้ หรือ IT Literacy Learning

  • ฝึกการถ่ายรูปดิจิตอล  ปรับวิธีคิดและสร้างทัศนคติใหม่ต่อการมีกล้องดิจิตอลและเครื่องมือคอมพิวเตอร์  ซึ่งชาวบ้านและลูกหลานของเขามักจะมี ว่าหากจะเปลี่ยนให้การมีกล้องและคอมพิวเตอร์ จากการเป็นเพียงสิ่งบ่งชี้ทางแฟชั่น อีกทั้งทำให้ชีวิตฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้น  สู่การเป็นเครื่องมือสร้างเสริมภาวะผู้นำแบบจิตอาสาของชาวบ้าน ก็ต้องมีและใช้อย่างมีความหมาย โดยให้ประสบการณ์และการลงมือด้วยตนเองแบบต่างๆ คือ
  • เรียนรู้ผ่านภาพถ่ายและการนำเสนอสื่อดิจิตอลแบบสร้างพลัง  ผมผสานกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลุ่ม
  • ฝึกถ่ายภาพ ศิลปะการถ่ายภาพ และการถ่ายภาพเพื่อเก็บข้อมูลอย่างผ่านการพินิจพิเคราะห์  ทุกคนถ่ายภาพและเก็บข้อมูลชุมชนด้วยตนเอง  เพื่อนำมาวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลุ่ม บวกวิธีคิด มุมมองต่อความจริง การคิดสร้างสรรค์ การเลือก หรือการบวกจิตใจ ความรู้ชุมชน และทักษะของคน ให้กับกล้อง มิใช่สักแต่ว่ามีและถ่ายไปตามสมัยนิยม
  • นำเสนอความรู้ที่สร้างขึ้นในตน ด้วยภาพถ่าย และสามารถใช้การวาดภาพช่วยด้วยได้

        พัฒนาวิธีทำสื่อเพื่อจัดเก็บและนำเสนอความรู้เป็นกลุ่ม หรือเป็นชุมชนเรียนรู้

  • ทำให้กลุ่มเรียนรู้  กลุ่มนักวิจัยชาวบ้าน  รวบรวมความรู้และประสบการณ์ซึ่งผ่านการวิเคราะห์และสรุปบทเรียนเป็นกลุ่ม  ทำเป็นเนื้อหาสั้นๆ วางแผนทำสื่อและแสดงการสื่อสารง่ายๆ สั้นๆ
  • ทำเป็นสื่อที่ตนเองมีคนในกลุ่มทำได้  เช่น ทำเป็นสื่อ ซีดี  ทำเป็นสื่อนำเสนอเป็นชุดด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์
  • จัดเวทีให้นำเสนอและเผยแพร่ ผ่านเครือข่ายเชิงพื้นที่ระดับต่างๆ  เช่น ระดับอำเภอ  ระดับจังหวัด  ระดับภูมิภาค  ระดับเขตพื้นที่

         โดยวิธีนี้  ผมและทีมวิจัยในแนวนี้  ก็พบว่า  มันเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านและประชาชนไม่จ๋องเมื่อเจอกับรูปแบบทางการและเทคโนโลยีที่มากับสังคมฐานความรู้หนังสือครับ  เวลาไปขึ้นเวทีสาธารณะ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภาค และในระดับประเทศ นักวิจัยชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายเรียนรู้กับทีมวิจัยของสถาบันผมในแนวทางนี้  สร้างความประทับใจให้กับทุกคนอยู่เสมอ เพราะสมาร์ท หรือดูสง่างาม มีพลังสื่อสะท้อนความจริงใจ  เคารพผู้อื่นและเชื่อมั่นตนเอง หากจะใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี ก็มีเหตุผล มีความหมาย ไม่รุงรัง 

         ที่สำคัญและมักทำให้คนที่พบเห็นประหลาดใจคือ นักวิจัยชาวบ้านแบบที่กล่าวถึงนี้ มีทักษะการเรียนรู้และสร้างความรู้ผสมผสาน  บูรณาการกลมกลืนอยู่บนการปฏิบัติตนเอง ถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลอย่างมีความหมาย พูดคุย วาดรูป นั่งฟังและแลกเปลี่ยนทรรศนะกับเวทีต่างๆ  อย่างมีความหมาย ผสมผสานภาวะผู้นำของสังคมมุขปาฐะ กับสังคมฐานความรู้หนังสือ (Knowlege-Based Society) อย่างพอดี-พอเพียง ไม่เว่อร์ เชย และหลุดจากความเป็นตัวของตัวเอง.

หมายเลขบันทึก: 218299เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ส่วนผม มีชาวบ้านหลายคน ให้มาปรับมือถือให้ บ้างก็ให้ลงเพลงอ่ะครับ เฮ้อ

เรียนอาจารย์วิรัตน์ ครับ

การเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่คนในสังคม ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการมีชีวิตอยู่ ให้ทันกับกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อน

ไม่กี่วัน ผมนั่งฟังบรรยาย จาก อ.หมอ ประเวศ ท่านเล่าถึงความรู้ ๒ ประเภทที่เราทราบกันดีว่า เป็นความรู้ เชิงทฤษฏี ความรู้อันมีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์ อีกประเภทเป็นความรู้ที่อยู่กับตัวบุุคคล ที่เราเรียก tacit K. ความรู้ทั้งสองประเภทนี้ต่างกันตรงการให้คุณค่าของคน โดยที่ความรู้ประเภทแรก ให้คุณค่าเฉาพะบางคนที่รู้เท่านั้นเอง แต่ก็ได้ละเลยคนส่วนหนึ่งที่ไม่รู้ แต่ความรู้ที่ฝังลึกกทุกคนมี และถือว่าทุกคนมีสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

โจทย์ที่เราคิดต่อ ในภาวะ ระบบการศึกษาในระบบ ล้มเหลวแบบนี้ก็คือ ทำอย่างไร ให้เกิดการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ยกระดับความรู้ที่ฝังลึก ให้ความมั่นใจ หรือ ให้ "smart" ตามที่อาจารย์ได้เขียนในบันทึกนี้

ผมก็มองเช่นเดียวกับอาจารย์ครับ ว่า ตอนนี้เทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกลมาก การเข้าถึง การประยุกต์ เทคโนโลยี เพื่อใช้ในการจัดการความรู้เป็นสิ่งสำคัญ  นอกจากเราสร้างกระบวนการเรียนรู้ให่้เกิดขึ้นแล้ว การสื่อสารออกไปก็สำคัญไม่แพ้กัน

หลายคนก็ต่อต้านเทคโนโลยี...ผมก็อยากให้เปิดใจ เรียนรู้ ดึงแง่มุมที่ดีของเทคโนโลยีมาใช้ ให้ทันสมัย ให้มีความสุข สอดคล้องกับภวะใหม่ๆของโลกที่หมุนแบบคูณสองเหมือนทุกวันนี้

ขอบคุณอาจารย์มากครับ สำหรับบันทึกดีๆที่ผมได้เรียนรู้และต่อยอดความคิดผมเสมอ

ขอแสดงความคิดเห็นเท่านี้ครับ ตอนนี้ผมใช้ GPRS จาก ที่รอรถโดยสาร จังหวัดเล็กๆแห่งหนึ่งทางภาคเหนือในช่วงรอขึ้นรถ พยายามใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุดครับ

อาจารย์ได้พยายามเขียนแง่มุมการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน น่าสนใจมากครับ...อย่างน้อยในแวดลงเทคโนโลยีทางการศึกษา หากจะสนองตอบ การพัฒนาชุมชน ก็คงต้องเข้าใจบริบทชุมชนให้ถ่องแท้เหมือนอาจารย์

เป็นบันทึกที่เป็นขุมความคิดสำหรับนักเทคโนโลยีทางการศึกษาและผู้สนใจอีก blog หนึ่งครับ

  • สวัสดีคุณ suksom นั่นแหละถึงทำให้ต้องมานั่งเขียนครับ  เรื่องพวกนี้ต้องมีมิติการเรียนรู้และความแยบคายในการเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงครับ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เป็นโอกาสการพัฒนาที่ดีเท่าไหร่  มีแต่ทำให้คนระดับล่างเกิดหนี้สินเพื่อการศึกษาและการจัดการความจำเป็นพื้นฐานในระดับครัวเรือน  กระทบไปถึงการศึกษาและความมีน้ำอดน้ำทนในชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตแน่ๆ ต้องช่วยกันทำตรงที่เรามีโอกาสทำทันทีครับ
  • คุณจตุพร มีความเป็นนักการศึกษาชุมชนและเป็นนักรบทางวัฒนธรรมที่แข็งขันอยู่แล้ว  หากมีโอกาสได้นำเรื่องราวพวกนี้มาขยับผ่านการถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์บ่อยๆ  ก็จะดีไม่น้อย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท