ระวัง...หลังน้ำท่วมไม้ผลอาจได้รับความเสียหาย


ไม้ผล

ระวัง...หลังน้ำท่วมไม้ผลอาจได้รับความเสียหาย

              หลังจากน้ำท่วมผ่านไป สิ่งที่หลงเหลือเอาไว้ดูต่างหน้าก็ คือ ซากปรักหักพังและความช้ำใจของผู้ที่รับความเสียหายเอาไว้ดูต่างหน้า มันเป็นความสูญเสียทางความรู้สึกยากที่จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ ส่วนการเยียวยาที่ได้รับจากทางภาครัฐก็เป็นเสมือนยาทาเท่านั้นเอง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือ ในหลายอำเภอของนครสวรรค์ก็ถูกน้ำป่าหลากเข้าท่วมสร้างความเสียกับพืชผลทางการเกษตรเกือบ 2 แสนไร่ ในจำนวนนั้นเป็นไม้ผลส่วนหนึ่ง ด้วยความห่วงใยของ นายจำเนียร เร่งเทียน เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้ให้เกษตรอำเภอและนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลออกไปแนะนำ ให้พี่น้องเกษตรกรดูแลไม้ผลหลังจากถูกน้ำท่วม คือ แนะนำให้พี่น้องเกษตรกรฟื้นฟูไม้ผลหลังจากถูกน้ำท่วม พร้อมกับมีการบำรุงรักษาไม้ผลให้เกิดรากใหม่ เร่งให้มีการแตกใบอ่อนโดยเร็ว และจะต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้องด้วย ดังนี้

1. หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่  ไม่ควรนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่และห้ามบุคคลรวมทั้งสัตว์เลี้ยงเข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด  เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลายและเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ รวมทั้งกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรมและอาจตายได้   

2. ในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ควรหาทางระบายน้ำออกจากบริเวณต้นพืชโดยเร็ว   อาจขุดร่องระบายน้ำให้น้ำไหลออก หรือใช้เครื่องสูบน้ำช่วยให้น้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด

3.  หลังน้ำท่วมหากมีดินหรือทรายมาทับถมในบริเวณแปลงปลูกไม้ผลหลังจากน้ำลดลงและดินแห้งแล้ง ควรทำการขุดหรือปาดเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้นพืช พร้อมตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งเป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น  สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผล ให้ทำการปลิดผลออกเสียบ้าง เพื่อช่วยเหลือด้านพืชอีกทางหนึ่ง

4.  เพื่อช่วยให้ไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น ควรมีการฉีดพ่นสารชีวภาพทางใบ หรือปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพราะในระยะนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดกินอาหารพืชจากดินได้ตามปกติ เช่น ปุ๋ยน้ำ สูตร 12 – 12 – 12 หรือ 12 – 9 – 6 หรือปุ๋ยเกล็ด สูตร 21 – 21 – 21 และ 16 – 21 – 27 ละลายน้ำฉีดพ่น โดยควรเพิ่มสารจับใบเล็กน้อย และอาจใส่สารป้องกันโรคแมลงตามความจำเป็น โดยฉีดพ่น 2 – 3 ครั้ง

 5.  ไม้ผลภายหลังน้ำท่วม มักจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องรากเน่าและโคนเน่า เพราะรากต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน จะทำให้ขาดออกซิเจนและเกิดรากเน่า ดังนั้น เมื่อดินแห้งแล้วควรมีการพรวนดิน เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลที่อยู่ใกล้บ้าน

คำสำคัญ (Tags): #ไม้ผล
หมายเลขบันทึก: 218295เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ แวะมาเยี่ยมเช้าวันหยุด..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท