7 ท่ายกน้ำหนัก(เล่นเวท เสริมกล้ามเนื้อ)สบายๆ สไตล์หมอชาวบ้าน


...

การออกแรง-ออกกำลังต้านแรง เสริมสร้างความแข็งแรง (strengthening exercise) เช่น เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส เล่นเวท ยกน้ำหนัก ดึงสปริง ดึงยางยืด ฯลฯ มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้คนเราได้มากมาย

นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และเอ็น ป้องกันโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกโปร่งบาง และที่ลืมไม่ได้คือ ช่วยให้หุ่นดีด้วย ป้องกันภาวะบาดเจ็บจากการทำงานหรือการออกกำลังกาย ป้องกันโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุงด้วย

...

ภาพจากสารานุกรมวิกิพีเดีย > [ picture from Wikipedia ]

  • ท่านี้เริ่มจากการถือตุ้มน้ำหนักไว้ 2 ข้าง
  • ย่อเข่าลง
  • เหยียดเข่าตรงไปสู่ท่ายืนตรงช้าๆ
  • ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

...

ข้อดีเป็นพิเศษของการออกกำลังแบบเล่นกล้ามคือ การออกกำลังแบบนี้ทำให้กล้ามเนื้อกระชับขึ้น ไม่หย่อน ไม่ยาน ไม่ย้อย ไม่ห้อย หรือที่เรียกว่า "เฟิร์ม (firm)" มากขึ้น

การออกกำลังแบบนี้... ถ้าเพิ่มแรงต้านหรือน้ำหนักไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้ชายมีกล้ามเนื้อโตขึ้น ส่วนผู้หญิงจะมีกล้ามเนื้อกระชับขึ้น ไม่ค่อยโตขึ้น เนื่องจากผู้ชายมีฮอร์โมนเพศชายมากกว่า

...

ภาพจากสารานุกรมวิกิพีเดีย > [ picture from Wikipedia ]

  • การใช้ลูกบอลออกกำลังช่วยในการฝึกจะช่วยให้ยกน้ำหนักได้หลายท่า และบริหารร่างกายได้มากส่วนขึ้น

...

  • ภาพนี้แสดงการถือตุ้มน้ำหนักไว้ด้านข้างลำตัว ด้านหลังมีลูกบอลออกกำลังรองรับ งอเข่า
  • เหยียดเข่าจากท่านั่งไปสู่ท่ายืนช้าๆ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

...

ภาพจากสารานุกรมวิกิพีเดีย > [ picture from Wikipedia ]

  • การออกกำลังโดยใช้เครื่องช่วยบริหาร

...

  • ท่านี้บริหารหลังโดยใช้แรงค่อนข้างมาก
  • เพื่อความปลอดภัย... ควรทำภายใต้คำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือโค้ชที่ผ่านการฝึกอบรม

...

ท่านอาจารย์นายแพทย์วิวัฒน์ วิริยกิจจา แห่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้เขียนเรื่อง "มาเล่นกล้ามกันเถอะ: (นักสร้างกล้ามเนื้อ)" ตีพิมพ์ในวารสารหมอชาวบ้าน

ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

ภาพจากสารานุกรมวิกิพีเดีย > [ picture from Wikipedia ]

  • การเลือกขนาดของตุ้มน้ำหนักนั้น...

...

  • ให้ลองยกขึ้นยกลงช้าๆ โดยใช้กล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (biceps / ไบเซพส์) เป็นหลัก กล้ามเนื้อนี้ทำหน้าที่งอข้อศอก (จากท่าเหยียดเป็นท่างอ)
  • ถ้ายกได้ 10 ครั้ง (หมดแรงพอดี) > แสดงว่า น้ำหนักที่ใช้มากเกินไป

...

  • ถ้ายกได้ 20 ครั้ง (หมดแรงพอดี) > แสดงว่า น้ำหนักที่ใช้กำลังพอดี
  • ตุ้มน้ำหนักที่ปรับน้ำหนักได้จะดีกว่าตุ้มน้ำหนักที่ปรับน้ำหนักไม่ได้ เนื่องจากถ้าต้องการให้กล้ามเนื้อโตขึ้นจะต้องอาศัยการเพิ่มน้ำหนักขึ้นทีละน้อย

...

  • นอกจากนั้นถ้าไม่สบาย หรือหยุดเล่นไปนานๆ จะทำให้ความแข็งแรงกล้ามเนื้อลดลง
  • แบบนี้ควรกลับไปใช้น้ำหนักน้อยลง และเพิ่มขึ้นช้าๆ ใหม่ ซึ่งจะดีกว่าการฝืนยกน้ำหนักคราวละมากๆ จนเกิดอาการบาดเจ็บ

...

อาจารย์วิวัฒน์แนะนำว่า ตุ้มน้ำหนักที่มักจะพอดีกับคนที่แข็งแรงพอสมควรได้แก่

เพศ น้ำหนัก (กิโลกรัม)
ชาย 5
หญิง 2

...

  • ผู้ชายที่แข็งแรงพอสมควรจะยกตุ้มน้ำหนักขนาด 5 กิโลกรัมได้พอดี
  • ผู้ที่แข็งแรงพอสมควรจะยกตุ้มน้ำหนักขนาด 5 กิโลกรัมได้พอดี

...

ทีนี้วิธีการยกน้ำหนักที่ดีได้แก่

  • (1). วัดความดันเลือดเสียก่อน > ถ้ามีโรคความดันเลือดสูงต้องรักษาให้ดี และปรึกษาหมอใกล้บ้านท่านก่อนว่า จะยกน้ำหนักได้หรือไม่

...

  • (2). อย่ากลั้นหายใจ > ถ้ากลั้นหายใจหรือเบ่งพร้อมกับยกน้ำหนักอาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นจนเป็นอันตรายได้
  • (3). ยกน้ำหนักขึ้นช้าๆ ยกลงช้าๆ > ไม่ยกเร็วเกินซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ และได้ผลจากการฝึกน้อยลงได้

...

  • (4). ยกน้ำหนักวันเว้นวัน หรือใช้น้ำหนักมาก 1 วันสลับน้ำหนักเบา 1 วัน > เพื่อให้ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมส่วนสึกหรอ (ใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมงจึงจะซ่อมแซมได้เต็มที่)
  • (5). คนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป คนที่ไม่ค่อยได้ออกแรง-ออกกำลัง คนที่อ้วน อ้วนลงพุง หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น เป็นโรคเบาหวาน ฯลฯ ควรปรึกษาหมอใกล้บ้านก่อนฝึกยกน้ำหนัก

...

  • (6). ควรออกแรง-ออกกำลังแบบแอโรบิคพื้นฐานให้แข็งแรง 3 เดือนก่อนยกน้ำหนัก โดยการฝึกเดินเร็ว เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส รวมเวลากันให้ได้วันละ 30 นาทีขึ้นไป เมื่อแข็งแรงดีแล้วค่อยฝึกยกน้ำหนัก
  • (7). ควรยืดเส้น (stretching) อย่างน้อยวันเว้นวัน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเอ็น ป้องกันอาการปวดเมื่อย (โปรดดูจากหนังสือของมูลนิธิหมอชาวบ้าน โดยเฉพาะเล่มที่ว่าด้วยการออกกำลังกาย)

...

ท่าเล่นเวท(เสริมสร้างกล้ามเนื้อ)แบบสบายๆ สไตล์หมอชาวบ้านมี 7 ท่าได้แก่

...

(1). ยกแขนไปด้านหน้า

  • ถือตุ้มน้ำหนักไว้ด้านข้างลำตัว
  • แขนตรง (ไม่งอข้อศอก)
  • ยกแขนขึ้นช้าๆ พร้อมกับหายใจออก
  • ยกแขนลงช้าๆ พร้อมกับหายใจเข้า
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง

...

หลักจำง่ายๆ คือ

  • เวลาออกแรงยกขึ้นให้หายใจออก
  • เวลาออกแรงยกลงให้หายใจเข้า
  • อย่ากลั้นหายใจ

...

(2). ท่ายกแขนขึ้นข้างบน

  • ถือตุ้มน้ำหนักไว้ในท่างอข้อศอก ให้ตุ้มน้ำหนักอยู่ด้านหน้าระดับไหล่
  • ยกขึ้นช้าๆ จนแขนเหยียดตรงเหนือหัว
  • ยกลงช้าๆ
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง

...

(3). ท่ายกแขนด้านข้าง

  • ถือตุ้มน้ำหนักไว้ด้านข้างลำตัว แขนเหยียดตรง
  • ยกขึ้นช้าๆ ทางด้านข้างจนแขนเหยียดระดับไหล่
  • ยกลงช้าๆ
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง

...

(4). ท่าโน้มตัวไปด้านหน้า-ยกน้ำหนักขึ้นด้านข้าง

  • ท่านี้เริ่มจากการก้มตัวไปด้านหน้าช้าๆ หลังตรง
  • ถือตุ้มน้ำหนักในท่าแขนตรง ให้แขนห้อยลงด้านล่าง
  • ยกขึ้นช้าๆ ไปทางด้านข้าง โดยไม่งอข้อศอก
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง

...

(5). ท่าโยกน้ำหนัก-เหยียดงอข้อศอก

  • ท่านี้เริ่มจากการยืนตรง
  • ถือตุ้มน้ำหนักในท่าแขนตรง ไม่งอศอก ให้ตุ้มน้ำหนักอยู่เหนือหัว
  • โยกตุ้มน้ำหนักไปทางด้านหลัง
  • งอข้อศอกช้าๆ จนสุด
  • เหยียดข้อศอกช้าๆ จนแขนตรง
  • โยกตุ้มน้ำหนักไปทางด้านหน้าจนอยู่ในท่าเริ่มต้น
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง

...

(6). ท่าเหยียด-งอข้อเข่า

  • ท่านี้เริ่มจากการยืนตรง
  • ถือตุ้มน้ำหนักในท่าแขนตรง ไม่งอศอก ให้ตุ้มน้ำหนักอยู่ด้านข้างลำตัว
  • งอข้อเข่าช้าๆ ย่อตัวต่ำลงไป
  • เหยียดข้อเข่าช้าๆ จนเข่าตรง (อยู่ในท่าเริ่มต้น)
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง

...

(7). ท่าเขย่งเท้า

  • ท่านี้เริ่มจากการยืนตรง
  • ถือตุ้มน้ำหนักในท่าแขนตรง ไม่งอศอก ให้ตุ้มน้ำหนักอยู่ด้านข้างลำตัว
  • เขย่งเท้าขึ้นช้าๆ
  • ลดระดับข้อเท้าลงมาสู่ท่าเริ่มต้น
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง

...

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า การเล่นเวทหรือยกน้ำหนักเสริมสร้างความแข็งแรงได้ในคนตั้งแต่วัยเด็กไปจนคนสูงอายุ

ทว่า... ควรฝึกให้ถูกวิธี และควรมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือโค้ชที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบแนะนำ จึงจะปลอดภัย และได้ผลเต็มที่

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                      

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์นายแพทย์วิวัฒน์ วิริยะกิจจา > มาเล่นกล้ามกันเถอะ: (นักสร้างกล้ามเนื้อ) > หมอชาวบ้าน. ปี 25. ฉบับ 298. หน้า 49-51.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 20 ตุลาคม 2551.

...

หมายเลขบันทึก: 217796เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2008 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท