วันนี้ไปร่วมทอดกฐินวัดสุวรรณคีรี หลังจากฉันข้าวเสร็จก็ไปยังกองอำนวยการเพื่อจะร่วมอนุโมทนาตามธรรมเนียม ซึ่งกองประชาสัมพันธ์ก็อยู่ที่นี้... เมื่อพี่ท่านเจ้าอาวาสเข้ามา คุณโยมที่มาช่วยเป็นโฆษกงานวัดจึงเอาใบฏีกามาถามพี่ท่านว่า พระธรรมกถึกที่จะมาเทศน์นี้มีฉายาว่าอย่างไร ? พี่ท่านก็ยิ้มๆ แล้วบอกว่า พระธรรมกถึกไม่มีฉายา พลางหันมายิ้มกับผู้เขียนแล้วพูดว่า ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ? ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องสอดเข้าไปว่า พระธรรมกถึกก็คือพระนักเทศก์ พระนักเทศก์นั่นแหละเรียกว่าพระธรรมกถึก...
ธรรมกถึก เป็นคำที่มาจากบาลีว่า ธัมมกถิก (ธมฺมกถิโก) และคนโบราณคงจะออกเสียงไม่ค่อยคล่องนัก จึงได้เพี้ยนมาเป็น ธัมมกถึก หรือ ธรรมกถึก ... คงจะทำนองเดียวกับคำว่า กุญแจ ซึ่งเพี้ยนมาจาก กุญจิกา ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ (คลิกที่นี้) หรืออาจเทียบเคียงกับคำว่า ไอศกรีม ที่เพี้ยนมาเป็น ไอติม
ธรรมกถึก หรือ ธัมมกถิก แปลว่า ผู้มีวาจาเป็นเครื่องกล่าวซึ่งธรรม ซึ่งถ้าแปลอย่างนี้จัดเป็นศัพท์ตัทธิตที่มาจากสมาสอีกชั้นหนึ่ง ดังอรรถวิเคราะห์ว่า...
- ธมฺมสฺส กถา ธมฺมกถา
- วาจาเป็นเครื่องกล่าว ซึ่งธรรม ชื่อว่า ธัมมกถา
- ธมฺมกถา ตสฺส อตฺถีติ ธมฺมกถิโก
- วาจาเป็นเครื่องกล่าวซึ่งธรรม ของภิกษุนั้น มีอยู่ ดังนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่า ธัมมกถิกะ
แต่บางมติก็บอกว่า ไม่ต้องวิเคราะห์เป็นตัทธิต โดยวิเคราะห์เป็นนามกิตก์ได้เลย ดังนี้
- ธมฺมํ กเถตีติ ธมฺมกถิโก
- ผู้ใดย่อมกล่าว ซึ่งธรรม ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ธัมมกถิกะ
ตามที่วิเคราะห์มามี ๒ มติ คือ
- ธมฺมกถิโก = ผู้มีวาจาเป็นเครื่องกล่าวซึ่งธรรม (ตัทธิต)
- ธมฺมกถิโก = ผู้กล่าวซึ่งธรรม (นามกิตก์)
หรืออาจแปลยักย้ายไปอย่างอื่นได้อีก แต่ความหมายก็มิได้ต่างไปจากนี้... ในการเรียนบาลีนั้น สำหรับนักเรียนบาลีชั้นเริ่มต้น แปลทำนองไหนก็ได้ ถ้าอาจารย์ผู้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถตั้งวิเคราะห์ได้ก็ไม่ถือว่าผิด ส่วนบาลีชั้นสูงนั้น มักจะแปลทับศัพท์ว่า ธรรมกถึก ตามสำนวนนิยมในภาษาไทย...
อนึ่ง จากประสบการณ์วันนี้ จะเห็นได้ว่า คำศัพท์ (หรือเรื่องอื่นๆ) นั้น คนที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ อาจคุ้นเคยและรู้เรื่องดี แต่ผู้ที่อยู่นอกแวดวงออกไป หรือเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่อาจไม่รู้ก็ได้... ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรไปกล่าวหาหรือตำหนิว่าเรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้...