เข้าระบบ
สมัครสมาชิก
หน้าแรก
สมาชิก
ห้องสมุดกรมบัญชีก...
สมุด
สรุปข่าวประจำวันข...
คลังยื้อจ่ายหนี้อ...
ห้องสมุดกรมบัญชีกลาง CGD Library
สมุด
บันทึก
อนุทิน
ความเห็น
ติดต่อ
คลังยื้อจ่ายหนี้ออมสิน 5 พันล. อ้าง เม.ย.-พ.ค. ค่าใช้จ่ายเยอะ
คลังยื้อจ่ายหนี้ออมสิน 5 พันล. อ้าง เม.ย.-พ.ค. ค่าใช้จ่ายเยอะ
ครม. ไฟเขียวคลังยืดเวลาชำระหนี้ตั๋วใช้เงินแบงก์ออมสิน 5
พันล้าน อ้างเดือนเมษายน
-พฤษภาคม ค่าใช้จ่ายเยอะ ต้องสำรองเงินสดไว้ก่อน ด้านขุนคลังลั่นหลังเดือนเมษายน สภาพคล่องดีขึ้นแน่ ระบุต้นตอเงินฝืด
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ยืดระยะเวลาชำระคืนหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 5 พันล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 26 เมษายนนี้ โดยตกลงกับธนาคารออมสิน เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารออมสินออกไป หรือจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมมาทดแทน
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพิจารณาของ ครม. เป็นไปตามแผนปรับปรุงการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2549 มีเป้าหมายที่จะรักษาระดับเงินสดให้เพียงพอกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้ จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณสูง ขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ทำให้เงินคงคลังไม่เพียงพอรองรับธุรกรรมรายจ่ายของรัฐบาล
การตัดสินใจยืดระยะเวลาชำระหนี้ตั๋วเงินคลังธนาคารออมสินของกระทรวงการคลังครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า กระแสเงินสดจ่ายที่สูงกว่ากระแสเงินสดรับในช่วงต้นปีงบประมาณ ทำให้รายได้น้อยกว่ารายจ่ายเฉลี่ยวันละ 800 ล้านบาท และมีรายงานข่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงดังกล่าวจะล่าช้าลง 3-7 วัน "แนวทางดังกล่าวจะทำให้วงเงินรวมของแผนบริหารจัดการหนี้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม 260,000 ล้านบาท เป็น 265,000 ล้านบาท" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้านนายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การบริหารสภาพคล่องที่ติดขัดไปบ้างนั้น เป็นผลจากการที่กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางใจดีกับการเบิกจ่ายงบประมาณมากเกินไป
ให้มีการเบิกจ่ายได้ภายใน 1-3 วัน ดังนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมบัญชีกลางไปพิจารณาจัดสรรการใช้จ่ายเงินให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นให้มีการเบิกจ่ายได้ภายใน 3-7 วัน และให้มีความละเอียดในการพิจารณาเบิกจ่ายด้วย “เรายอมรับว่าใจดีกับการเบิกจ่ายมากเกินไป กรมบัญชีกลางก็จะทำงานง่าย เป็นแคชเชียร์ที่ใจดีไปหน่อย ทำให้ตอนนี้การบริหารเงินจากส่วนราชการต่าง ๆ ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น เราโอนงบไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทีเดียวทั้งก้อน แต่ยังไม่นำไปใช้ทันที ก็ให้ดูตรงนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายมากขึ้น” นายทนงกล่าว พร้อมทั้งยืนยันด้วยว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป สภาพคล่องในการบริหารจัดการเงินสดของรัฐบาลจะปรับตัวดีขึ้นแน่นอน เพราะจะมีรายรับจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และรายได้จากเงินปันผลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่นำส่งเข้าคลังอีกกว่าหมื่นล้านบาท ดังนั้น ระดับเงินคงคลังที่มีใช้จ่ายได้ในระยะ 14 วัน จึงถือว่าเพียงพอกับระบบเศรษฐกิจแล้ว
ขณะที่นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง
กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป รัฐบาลจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องไปตลอดปี เพราะจะมีรายได้เข้ามาทั้งภาษีนิติบุคคล และรายได้จากหน่วยงานราชการอื่น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ขณะที่การเบิกจ่ายอาจจะอยู่ช่วง 3-7 วัน เพราะต้องการให้มีการเบิกจ่ายตามความจำเป็น โดยต้องเป็นไปตามคิวและความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรมบัญชีกลางมียอดเบิกจ่ายของเอกชนที่ยังไม่ได้จัดสรรอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ถึงหมื่นล้านบาทตามที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุ และยืนยันว่า งบรายจ่ายที่ติดขัดเป็นงบรายจ่ายอื่น และเป็นงบรายจ่ายทั่วไป ไม่ใช่เป็นงบรายจ่ายประจำ ซึ่งเป็นเงินเดือนข้าราชการ เพราะส่วนนั้นไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
คมชัดลึก 29 มีนาคม 2549
เขียนใน
GotoKnow
โดย
ห้องสมุดกรมบัญชีกลาง CGD Library
ใน
สรุปข่าวประจำวันของห้องสมุดกรมบัญชีกลาง
คำสำคัญ (Tags):
#uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21703
เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 10:57 น. (
)
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. (
)
สัญญาอนุญาต:
จำนวนที่อ่าน
ความเห็น
ไม่มีความเห็น
หน้าแรก
สมาชิก
ห้องสมุดกรมบัญชีก...
สมุด
สรุปข่าวประจำวันข...
คลังยื้อจ่ายหนี้อ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID
@gotoknow
สงวนลิขสิทธิ์ © 2005-2024 บจก. ปิยะวัฒนา
และผู้เขียนเนื้อหาทุกท่าน
นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy)
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท