การเมืองแนวใหม่ : สิ่งท้าทายการเมืองระดับท้องถิ่น


การเมืองแนวใหม่

การเมืองแนวใหม่ : สิ่งท้าทายการเมืองระดับท้องถิ่น

                   บาว นาคร*

            ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงของสังคมในปัจจุบัน ในเรื่องการเมืองแนวใหม่ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งในกรณีนักวิชาการ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เสนอขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการแสวงหาการเมืองแนวใหม่นั้น หลายคนอาจจะไม่ทราบที่มาที่ไปของ คำว่า การเมืองแนวใหม่ คือ อะไร ทำไมจึงต้องทำการเมืองแนวใหม่ แนวคิด (Concept) ของการเมืองแนวใหม่เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมการเมืองไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย แค่ไหน อย่างไร

สำหรับแนวคิดทางด้านรัฐศาสตร์  ซึ่งหนึ่งในบรรดานักคิดชั้นนำได้แก่ Anthony Giddens  ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านนโยบาย แก่ นายโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ ได้เสนอการเมืองแนวใหม่ที่เรียกว่า ทางเลือกที่ 3 และได้เริ่มต้นโดยการชี้ปัจจัยที่ส่งผลทำให้จำเป็นต้องแสวงหาการเมืองแนวใหม่ ดังนี้ คือ[1]

            1) การเปลี่ยนแปลงของโลก โลกาภิวัตน์เป็นความจริงไม่ใช่มายาคติ โลกาภิวัฒน์จะทำให้เกิดแบบแผนของการดำรงชีวิตแบบใหม่รวมทั้งความต้องการแบบใหม่ขึ้นในสังคม เช่น การกำเนิดอัตลักษณ์ของท้องถิ่น (Local Identities) โดยเฉพาะชาตินิยมท้องถิ่น (Local Nationalism) ที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ อำนาจรัฐได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของโลกาภิวัตน์ รัฐชาติและรัฐบาลจะถูกท้าทายจากพลังทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่เกิดขึ้น และต้องทำให้ปรับตนเองไป

            2) การคืบคลานเข้ามาของปัจเจกนิยม สำหรับ Giddens แล้ว บุคคลในปัจจุบันกำเนิดขึ้นในสังคมที่ความคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรและกระจายผลประโยชน์ ถูกออกแบบมาให้แก่บุคคลในฐานะปัจเจกชนไม่ใช่ฐานะของสมาชิกของชุมชน เช่น การจ้างงาน การศึกษา ความก้าวหน้า ดังนั้น บุคคลในปัจจุบันจึงเป็น ปัจเจกชนใหม่

            3) นิยามของการเมือง ในความหมายเดิมนั้น การเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและการแสวงหาผลประโยชน์ แต่การเมืองแนวใหม่เป็นเรื่องของชีวิต (Politics of Life) เป็นเรื่องของ  อัตลักษณ์ (Identity) และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วม (Mutuality) บนพื้นฐานของความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบุคคลในสังคมโดยรวม คือ การเมืองเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงสังคมและชีวิตด้วยเหตุนี้ ถ้าการเมืองยังดำเนินไปในรูปแบบเดิม ระบบการเมืองจะปราศจากเสถียรภาพ

            4) การก่อตัวของกระบวนการปฏิเสธความเป็นการเมือง (Process of depoliticization) ขึ้นทั่วโลก การต่อสู้ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปจากการเมืองแบบเดิมที่ผ่านรัฐสภา พรรคการเมือง ฯลฯ ไปสู่การต่อสู้ของกลุ่มประเด็นเฉพาะ (Single-issue groups) ที่มีบทบาทมากขึ้น ไม่เพียงแต่สถาบันแบบรัฐสภาเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธ สถาบันที่เป็นทางการอื่นๆ เช่น สมาคมวิชาชีพ ก็ตกอยู่ในสภาพล้มละลายของความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐจะต้องแสวงหาองค์กรทางการเมืองแนวใหม่ รวมทั้งต้องเรียนรู้วิธีการผสมผสานความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มเหล่านี้

            5) ผลกระทบต่อระบบนิเวศ Anthony Giddens มองว่าความทันสมัยกับการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเดิมเคยอยู่คนละขั้วกันนั้น ควรนำมาผสมผสานกันใหม่ในรูปแบบของความทันสมัยเชิงนิเวศ (Ecological Modernization) ซึ่งสามารถทำได้โดยให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้

สำหรับ การเมืองแนวใหม่ เพื่อจัดการกับปัญหาข้างต้น Anthony Giddens เสนอไว้ ดังนี้ คือ

            1) การสร้างรัฐประชาธิปไตยแบบใหม่ (New Democratic State) ทัศนะของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาที่มีต่อรัฐนั้น Giddens เห็นว่า มายาคติของฝ่ายขวาคือการโจมตีการแทรกแซงของรัฐอย่างรุนแรง ขณะที่มายาคติของฝ่ายซ้ายได้แก่ การขยายบทบาทของรัฐเพื่อควบคุมวิถีชีวิตของบุคคลอย่างมาก Giddens เห็นว่า การสร้างความชอบธรรมแบบใหม่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ประชาชนจะเชื่อถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพียงไรก็ตาม แต่ปัญหาสำคัญคือ ประชาชนไม่เชื่อถือรัฐบาล ดังนั้น ความชอบธรรมของรัฐกระทำได้โดยการขยายอาณาบริเวณสาธารณะ (Public sphere) ให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง การป้องกันและปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่สำคัญคือ การให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจผ่านทางการมีประชาธิปไตยทางตรงให้มากขึ้น การมีส่วนร่วมของสาธารณะถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างรัฐประชาธิปไตยแบบใหม่

            2) การสร้างประชาสังคม หลักการสำคัญในการสร้างประชาสังคม คือ การเพิ่มอาณาบริเวณสาธารณะสิ่งนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประชาธิปไตย เพราะอาณาบริเวณสาธารณะจะทำให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทในการเมืองของพื้นที่ (Politics of space) เพิ่มขึ้น เช่น ถนน สวนสาธารณะ เป็นต้น

            3) การสร้างเศรษฐกิจแนวใหม่  คือ การผนึกกำลังของภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของดุลยภาพ 2 ประการคือ เน้นกลไกการควบคุมโดยรัฐและเน้นกลไกตลาดโดยลดกฎ ระเบียบข้อบังคับให้น้อยลง จะทำให้เกิดระบบตลาดเชิงสังคม (Social market) ที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก และการนำระบบสวัสดิการแนวใหม่มาใช้ โดยให้ความสำคัญต่อบทบาทขององค์กรทางสังคมให้มากขึ้น และลดบทบาทของรัฐลงมาให้เป็นเพียงกลไกที่ช่วยเหลือ สนับสนุนและส่งเสริมองค์กรทางสังคมสามารถสร้างและจัดระบบสวัสดิการได้

สำหรับ Giddens แล้ว เมื่อรัฐทุกวันนี้ปราศจากศัตรู ความชอบธรรมของรัฐย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ และเพราะฉะนั้น รัฐสมัยใหม่จึงต้องประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของตนตลอดเวลา การบริหารแบบภาคธุรกิจเป็นเรื่องที่รัฐต้องเรียนรู้ให้มาก แต่รัฐไม่ใช่ภาคธุรกิจ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่รัฐจะปล่อยให้บรรดา ผู้ชำนาญการเข้ามามีบทบาทในเรื่องใดๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐต้องถือว่าการมีส่วนร่วมของสาธารณะ คือสารัตถะของการทำงานในทุกๆ เรื่อง และนอกจากนั้น เพื่อที่จะให้การกำหนดนโยบายของรัฐสอดคล้องกับความต้องการของสังคม รัฐยังจำเป็นต้องยอมรับการมีประชาธิปไตยทางตรงให้มากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะในรูปของการสร้างประชาธิปไตยทางตรงในระดับท้องถิ่น, การลงประชามติทางอิเลคทรอนิคส์

Giddens เห็นว่าสัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประชาสังคมเป็นเรื่องที่ต้องแปรผันตามความเปลี่ยนแปลงของแต่ละบริบทเป็นคราวๆไป เพราะในบางกรณี อาจจำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อผลักดันและริเริ่มให้เกิดกลุ่มพลเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นมา

ชุมชนคือ หัวใจประชาสังคมตามนัยนี้ แต่ชุมชนไม่ได้มีความหมายแค่ในเชิงพื้นที่ เพราะชุมชนในแง่นี้ หมายถึง การกระทำในทางสังคมเพื่อให้ความเป็นละแวก(neighborhoods) ความเป็นเมือง และความเป็นอาณาบริเวณในระดับสูงขึ้นไป อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น พื้นฐานของชุมชนชนิดนี้ได้แก่ มีกลุ่มขนาดเล็กที่สมาชิกในกลุ่มมีความสนใจบางอย่างร่วมกัน Giddens ระบุว่าประชาชนสหรัฐร้อยละ 40 เป็นสมาชิกของกลุ่มประเภทนี้ ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่ง ขณะที่ในอังกฤษนั้น ตัวเลขนี้อยู่ที่ร้อยละ 20 ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ สะท้อนว่าชุมชนและกลุ่มแบบนี้เป็นการรวมตัวชนิดที่มีพลังอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ข้อที่น่าแปลก ก็คือ Giddens ค้นพบว่า แกนหลักของกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มาจากคนชั้นล่างหรือชนชั้นยากจน คนชายขอบมีส่วนร่วมน้อยลงโดยสัมพัทธ์ ขณะที่นักธุรกิจรุ่นใหม่และคนชั้นกลางกลายเป็นคนที่มีบทบาทมากขึ้น ผลก็คือเกิดแนวโน้มที่กลุ่มและชุมชนจะหันไปสร้าง กิจการของสังคม” (Social Entrepreneurship) ในรูปของกลุ่มออมทรัพย์และให้กู้ แล้วพัฒนาระบบการตอบแทนผลประโยชน์แบบที่เป็นของท้องถิ่นขึ้น ดังมีการใช้ระบบ time dollar ในนิวยอร์ค สำหรับบุคคลที่อาสาทำงานให้กลุ่มหรือชุมชน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างดี ถึงกับสามารถนำกำไรที่ได้จากกลุ่ม ไปตั้งหน่วยงานประกันสุขภาพ ฝึกอบรมทักษะการทำงาน และมีเงินพอจะช่วยเหลือสมาชิกของกลุ่มในเรื่องการศึกษาหรือการว่างงานได้ด้วยซ้ำไป

แต่การรวมกลุ่มทำนองนี้มักทำไปโดยปฏิเสธความคิดเรื่องอาณาบริเวณสาธารณะหรือพูดอีกอย่างก็คือไม่สนใจจะคิดถึงอะไรที่เป็น มหภาคเลย ทั้งที่อาณาบริเวณสาธารณะเป็นหนทางในการสร้างประชาธิปไตย และมีผลเกี่ยวพันกับชุมชนโดยตรง กล่าวคือปราศจากอาณาบริเวณสาธารณะเสียแล้ว ชุมชนก็สุ่มเสี่ยงที่จะโดดเดี่ยวตัวเองจากส่วนอื่นๆ ของสังคม แต่ถ้าชุมชนเข้าไปมีบทบาทในอาณาบริเวณสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่า มีความหมายครอบคลุมไปถึงการเมืองของการใช้พื้นที่ (politics of space) ด้วย นั่นก็จะทำให้พื้นที่สาธารณะอย่างถนน สวนสาธารณะ สี่แยก ฯลฯ ตกมาอยู่ในมือชุมชนมากขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่าประชาชนจะมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น ส่วนรัฐจะสูญเสียอำนาจในการจัดการพื้นที่ข้อนี้ไป[2]

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์และสิ่งสำคัญคือผลกระทบระบบนิเวศวิทยา เช่น ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบกับท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งนอกเหนือไปจากการพัฒนาทางด้านบุคลากรท้องถิ่นและการบริหารงานท้องถิ่นแล้ว การพัฒนาการเมืองแนวใหม่โดยเริ่มจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มองค์กรชุมชน กลุ่มประชาสังคมในท้องถิ่นเป็นแกนหลัก

ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือว่า เป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการเสริมสร้างอาณาบริเวณสาธารณะ (Public sphere)ในท้องถิ่น ได้โดยอาศัยกลุ่มองค์กรชุมชน กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ที่มีอยู่แล้วและเสริมสร้างการเมืองของพื้นที่ (Politics of space) ในท้องถิ่นได้ เมื่อรัฐบาลได้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแล้ว การเมืองแนวใหม่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในท้องถิ่น

 

เอกสารอ้างอิง

วรพิทย์ มีมาก. ประมวลสาระชุดวิชา การวิเคราะห์การเมืองและระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์

Political Analysis and Research Methodology หน่วยที่ 1-8 .นนทบุรี: สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2550.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์.ทางเลือกสายที่ 3 : วาทกรรมแบบหลังสังคมนิยม. [Online]. Available.

URL : http://www.midnightuniv.org/miduuu/newpage7.htm.



* บุญยิ่ง ประทุม .ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[1] วรพิทย์ มีมาก. ประมวลสาระชุดวิชา การวิเคราะห์การเมืองและระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์  Political Analysis and Research Methodology หน่วยที่ 1-8 .นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2550. หน้า 224-225.

[2] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์.ทางเลือกสายที่ 3 : วาทกรรมแบบหลังสังคมนิยม. [Online]. Available. URL : http://www.midnightuniv.org/miduuu/newpage7.htm.

 

หมายเลขบันทึก: 216526เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท