BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

if. only if. if and only if


if. only if. if and only if

ตรรกบทในหนังสือจริยศาสตร์ภาษาอังกฤษ จะเจอคำเหล่านี้เสมอ... ระยะแรกนั้น ผู้เขียนอ่านด้วยความไม่เข้าใจ จนกระทั้งเริ่มคุ้นเคยในภายหลัง เพราะหนังสือเล่มไหนก็จะพบเหมือนๆ กัน... ต่อมา จึงได้ทราบว่าตรรกศาสตร์จะแยกสาขาออกมาที่ศึกษาเพื่อใช้กับจริยศาสตร์โดยเฉพาะ แม้ผู้เขียนจะไม่เคยเรียนและไม่เคยเห็นหนังสือภาษาไทยที่กล่าวเรื่องนี้ไว้ แต่ก็ผ่านพ้นเรื่องนี้มาด้วยความคุ้นเคย (มิใช่ความรู้เรื่อง)

  • if แปลกันว่า ถ้า... บ่งชี้ว่าตรรกบทนั้นเป็น เงื่อนไขพอเพียง
  • only if น่าจะแปลว่า ถ้า... เท่านั้น บ่งชี้ว่าตรรกบทนั้นเป็น เงื่อนไขจำเป็น
  • if and only if น่าจะแปลว่า ถ้าและถ้า... เท่านั้น บ่งชี้ว่า ตรรกบทนั้น รวมเงื่อนไขพอเพียงและเงื่อนไขจำเป็น ไว้

คำแปลเหล่านี้ อาจมองไม่ยากนั้น เมื่อแปลเฉพาะศัพท์... แต่เมื่อจะแปลทั้งประโยคตรรกบท ก็เป็นการยากยิ่งนัก เพราะสำนวนภาษาไทยมิได้มีคำที่ระบุชัดเจนว่าเป็นเงื่อนไขพอเพียงหรือเงื่อนไขจำเป็นดังเช่นภาษาอังกฤษ... ลองสำรวจหนังสือจริยศาสตร์ภาษาไทยที่มีการแปลตรรกบททำนองนี้ ก็เจอแต่หนังสือของ ผศ. ชัชชัย คุ้มทวีพร เท่านั้น...

 

.........

ตัวอย่างของตรรกบทเหล่านี้ในภาษาอังกฤษก็เช่น หนังสือ Introductory Ethics (ปีค.ศ. 1978) ของ Fred Feldman หน้า 104 ได้แปลคำสั่งเด็ดขาดของคานต์ไว้ว่า

  • An act is morally right if and only if the agent of the act can constently will that the generalized form of the maxim of the act be a law of nature.

จากตรรกบทนี้ Feldman ให้ความเห็นว่าบางคนก็แปลความหมายว่าคำสั่งเด็ดขาดของคานต์รวมเงื่อนไขพอเพียงและเงื่อนไขจำเป็นไว้ว่า...

  • An act is morally right if and only if its maxim is universalizable.

แต่บางคนก็ให้ความเห็นว่าคำสั่งเด็ดขาดของคานต์จะเป็นเงื่อนไขจำเป็นอย่างเดียวเท่านั้นว่า...

  • An act is morally right only if its maxim is universalizable.

ตรรกบทเหล่านี้ แม้ยากต่อการทำความเข้าใจแล้ว ยากยิ่งขึ้นเมื่อต้องแปลมาเป็นภาษาไทย...

 

........

ส่วนในหนังสือเล่มอื่นก็เช่น Philosophical Ethics (ปีค.ศ. 1991) ของ Tom L. Beauchamp หน้า 129 ได้วางตรรกบทประโยชน์นิยมไว้ว่า...

  • An act is right if, and only if, it can be reasonably expected to produce the greatest balance of good or the least bance of harm.

 

และหนังสือ Ethics (ปีค.ศ. 1999) ของ Louis P. Pojman หน้า 112 ได้วางตรรกบทการกระทำประโยชน์นิยมไว้ว่า...

  • An act is right if and only if it results in as much good as any available alternative

 

.......

ตัวอย่างของเงื่อนไขพอเพียงก็เช่น สาเหตุที่เป็นโจรก็เพราะยากจน นั่นคือ ความยากจนเป็นเงื่อนไขพอเพียงให้คนเป็นโจรได้... แต่มิใช่ว่าคนยากจนทุกคนจะเป็นโจร นั่นคือ ความยากจนมิใช่เงื่อนไขจำเป็นในการเป็นโจร...

ส่วนตัวอย่างของเงื่อนไขจำเป็นก็เช่น สาเหตุที่กินอาหารก็เพราต้องการมีชีวิตอยู่ นั่นคือ ถ้าเราไม่กินอาหารเราก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น การกินอาหารจึงจัดเป็นเงื่อนไขจำเป็น...


อนึ่ง ที่ผู้เขียนได้นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะนึกไปถึงสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันว่า...

  • การที่รัฐบาลใช้แก๊ซน้ำตาเพื่อสลายฝูงชนหน้ารัฐสภาเมื่อวันก่อนนั้น จัดเป็นเงื่อนไขพอเพียงหรือไม่ ?
  • การที่พันธมิตรยึดทำเนียบรัฐบาลนั้นจัดเป็นเงื่อนไขพอเพียงหรือไม่ ?
  • และการดำเนินการทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้นั้น จัดเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับประเทศไทยในขณะนี้หรือไม่ ?

 

หมายเลขบันทึก: 215352เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการหลวงพี่ครับ

อืม.. น่าสนใจมากครับ ที่จริงเคยอ่านทั้งสองท่าน แต่ไม่เคยลงไปนึกถึงโครงสร้างภาษา (แปลด้วยความคุ้นเคยเหมือนกัน แหะ แหะ)

นึกถึงตอนเรียน คำว่า "และ" กับ "หรือ" แบบสมการ ซึ่งน่าจะ (อาจจะ) มีรากเดียวกันเพราะมาจากตำราตะวันตกเหมือนกัน คำ "และ" จะเป็นเงื่อนไขทั้งสองฝั่งของคำ "และ" ที่ต้องครบ ประโยคจึงเป็นจริง ส่วนคำว่า "หรือ" เป็นจริงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือทั้งสองฝั่ง ก็ถือว่าใช้ได้

อาทิ

"นายกต้องเป็นคนดีและคนรวย" ก็หมายความว่าคุณสมบัติของนายก ต้องมีครบทั้งดีทั้งรวย

"นายกต้องเป็นคนดีหรือคนรวย" ก็หมายความว่า คนดีอย่างเดียว หรือคนรวยอย่างเดียว หรือทั้งสองอย่าง ก็เป็นนายกได้

ย้อนกลับมาในเรื่อง if, and only if ในใจผมนั้น คิดว่า only if มีพลังเงื่อนไขสูงกว่า if และประกอบกับใช้คำว่า and ดังนั้น คำว่า if ดูจะเป็นเงื่อนไขที่เป็น subset ของ only if ก็น่าจะถูก only if ครอบงำ อย่างประโยคของอิมมานูเอล คานท์นั้น ก็น่าจะตีความแบบอย่างแรก คือ only if

การใช้ if นั้นเป็นเงื่อนไขที่เบากว่า only if เยอะมาก อาทิ

"ถ้าเธอมาถึง เราก็จะกินข้าว" แบบนี้ ถ้าเธอไม่มา เราก็คงรอจนหิว แล้วก็กินข้าวไปก่อนในที่สุด

แต่ถ้าเขียนว่า "จนกว่าเธอจะมาถึงเท่านั้น เราถึงจะกินข้าว" แปลว่า ถ้าเธอไม่มา ก็เป็นได้อดกันทั่วกันแน่นอน

my two cents

PPhoenix

 

ตอนเขียนบันทึกนี้ if and only if  นั้น ครั้งแรกก็ให้ความหมายว่า จะเป็นเงื่อนไขพอเพียงหรือเงื่อนไขจำเป็นก็ได้ ทำนองเดียวกับที่อาจารย์หมอให้ความเห็นมา แต่พออ่านซ้ำรู้สึกว่าอาจมีผู้ทักท้วง จึงแก้ว่า รวม... ดังที่ปรากฎอยู่

ตอนย้ำคิดย้ำอ่านเรื่องนี้ก็มีความเห็นทำนองเดียวกันว่าเมื่อ if รวมอยู่ใน only if แล้ว ไฉนต้องใช้ว่า if and only if ด้วย...

อนึ่ง เฉพาะการแปลคำสั่งเด็ดขาดของคานต์ว่าเป็นเพียง only if เท่านัน Feldman ไม่เห็นด้วยกับมตินี้ โดยแย้งว่า คำสั่งเด็ดขาดบ่งชี้ไปถึงการหลีกเลี่ยงการกระทำ ซึ่งสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงนั้นอยู่ในตรรกบทที่ไม่สามารถเป็นสากลได้ แต่มันก็ไม่ได้แยกแยะให้เห็นในสิ่งที่ต้องดำเนินการ ดังนั้น ถ้ามีแต่เพียง only if เท่านั้น ทำให้เราไม่อาจค้นหาการกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรมได้ จึงต้องมีทั้ง if และ only if ...

ประเด็นนี้ค่อนข้างยาก อาตมาว่าน่าจะทำนองเดียวกับที่มีผู้อธิบายว่าาต้องเสียสละส่วนเหลือให้แก่คนอื่น (เงื่อนไขจำเป็น) แต่คนในโลกนี้มีมาก เราจึงเลือกได้ว่าจะเสียสละให้ใคร (เงื่อนไขพอเพียง)...

เจริญพร

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท