247 นักการทูตไทยในแดนธรรม 2


 

 

 

 

 

นักการทูตไทยในแดนธรรม 

ตอนที่ 2

 

อยากออกบวช ทำจิตใจ ให้กระจ่าง 

จะสร้างลู่ สู่นิพพาน เป็นนิสัย 

แม้จะต้อง เดินแสนไมล์ ไม่ท้อใจ 

จะบวชใจ ไม่อาทร ก่อนจะตาย

2550

...............

ในที่สุดผมและคณะก็เดินทางถึงเมืองคยาโดยสวัสดิภาพโดยมีพระมหาจูมและพระมหาปรีชาไปรับที่สถานีรถไฟ ซึ่งต้องบอกว่าช่วยได้มากจริงๆ เพราะถ้าไม่เห็นพระไปรับคงไปกันเองไม่ถูกและคงถูกกุลีแถวสถานีรถไฟคยาต้อนเป็นแน่แท้

  

วัดไทยพุทธคยาอยู่ไกลจากสถานีรถไฟพอสมควร ขับรถประมาณ 20 นาที เป็นวัดที่สวยงามสมกับเป็นวัดของรัฐบาลไทยวัดแรกในต่างประเทศ  ประตูวัดเป็นโครงเหล็กปิดอยู่ตลอดเวลา ทราบต่อมาว่าเพื่อกันเด็กที่อาศัยอยู่แถวนั้นเข้าไปขอทานในวัด 

พระมหาจูมได้กรุณาเล่าประวัติของวัดให้ฟังว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางราชการได้จัดเตรียมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ประจวบกับประเทศอินเดียได้จัดฉลอง พุทธชยันตี๒๕ พุทธศตวรรษ หรือครบรอบพุทธศักราช ๒๕๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย ๑ ปี ทางรัฐบาลอินเดียได้เชิญชวนประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่นับถือพุทธศาสนา ให้ไปสร้างวัดของตนในประเทศอินเดีย รัฐบาลไทยตกลงใจที่จะสร้างวัดไทยที่พุทธคยา โดยถือเอาการสร้างวัดไทยอินเดียเป็นกิจกรรมร่วมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เช่นเดียวกับการสร้างพุทธมณฑลในประเทศไทยด้วย  

พระมหาจูมได้กรุณาพาผมและคณะไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระโพธิวิเทศ เจ้าอาวาส หัวหน้าธรรมทูตไทยสายอินเดีย ท่านเป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก  พอทราบว่าผมเป็นข้าราชการสถานทูตและคุณพ่อของผมจะร่วมบวชด้วยและเป็นพระนวกะที่มีอายุมากที่สุดของรุ่น ท่านก็กรุณาตั้งฉายาให้เดี๋ยวนั้นเลยโดยบอกว่าพระนวกะที่จะบวชรุ่นนี้จะมีฉายาโพธิทุกคน เรียกว่าเป็นตระกูลโพธิ์

หลังจากได้ที่พักในวัดแล้ว ยังมีเวลาว่างก่อนที่คณะใหญ่จะมาถึงในตอนบ่าย ผมและคณะจึงได้หาโอกาสไปสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์และเจดีย์พุทธคยาซึ่งอยุ่ห่างจากวัดไทยพุทธคยาประมาณ 500 เมตรเอง 

สังเวชนียสถานแห่งที่หนึ่ง 

เมื่อไปถึงมองจากถนนด้านนอกเห็นเจดีย์พุทธคยาดูสูงตระหง่าน ใหญ่โต สง่างามสมกับเป็นโบราณสถานที่สำคัญของพุทธศาสนา แต่สิ่งที่ผมไม่ค่อยจะชอบใจนักก็คือ สภาพรอบๆ พุทธสถานด้านนอก ที่ค่อนข้างสกปรกและมีบรรดาผู้คนซึ่งมีอาชีพต่างๆ มาวนเวียน ป้วนเปี้ยนมากไปหน่อย ผมหมายถึงบรรดาคนขายของที่ระลึกซึ่งน่ารำคาญมาก ทำให้บรรยากาศที่ควรจะสงบเงียบกลับเสียเสน่ห์ไปอย่างน่าเสียดาย 

เมื่อผ่านประตูทางเข้า ก็ต้องตะลึงในความยิ่งใหญ่และงดงามของพุทธสถานแห่งนี้ สมกับ ที่เป็นพุทธสถานที่สำคัญของโลก ผมมองดูทัศนียภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า เสมือนเป็นภาพพาโนรามาที่สวยงามมาก เป็นบริเวณกว้าง ที่ตั้งเจดีย์ตั้งอยู่บนพื้นราบเป็นแอ่งบันไดลงไป คล้ายกับเราเดินไต่ภูเขาขึ้นมาแล้วมาเจอหุบเขาเบื้องหน้าอยู่ท่ามกลางต้นไม้ที่หนาทึบและเจดีย์น้อยใหญ่เรียงราย

บริเวณภายในทั้งหมดนั้นปูด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งหมดและดูสะอาดสะอ้าน ต่างจากบริเวณรอบนอกอย่างชัดเจนบันไดลดหลั่นไปหลายชั้นแต่ละชั้นจะมีเจดีย์เล็กบ้างใหญ่บ้างประดับสองข้างทาง ก่อนถึงมหาเจดีย์เป็นวิหารมีพระพุทธรูปตั้งอยู่หลายองค์ 

สังเกตว่าคนที่มาชมพุทธสถานต่างเคลื่อนไหวตลอดเวลาแต่เป็นการเคลื่อนไหวที่สงบอยู่ในทีและเดินตามกันไปในทิศทางเดียวกันคือพอเดินลงไปถึงองค์เจดีย์ก็จะเดินเลี้ยวไปทางซ้ายเพื่อวนขวารอบมหาเจดีย์ จึงเป็นคลื่นมนุษย์ที่ค่อยๆ เคลื่อนไปเป็นสาย ในความสงบ น่าดูยิ่งนัก 

              

 ผมได้เจ้าไปไหว้พระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธเมตตา จากนั้นก็เดินรอบพระมหาเจดีย์ ก่อนที่จะมาหยุดตรงหน้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปมาก ยาวประมาณ 30 เมตรเห็นจะได้ จนหลายกิ่งต้องเอาเสาเหล็กมาค้ำยันไว้ ผู้คนต่างมากราบไว้ นอนไหว้ ยืนไหว้ นั่งไหว้  ตั้งเต้นท์ไหว้ รอบๆ พระมหาเจดีย์ ทำนองว่าขอให้ได้อยู่ในร่มเงาของต้นก็พอใจแล้ว 

คำว่าพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นั้น แปลว่า พระเจดีย์ที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารได้ตรัสรู้ความจริงอันยิ่งใหญ่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค หรือแปลตามภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจว่า พระเจดีย์ที่ตรัสรู้แห่งมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สร้างขึ้น หลังจากสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณ 495 ปี ประมาณคริสตศักราชที่ 152 ซึ่งตรงกับพุทธศตวรรษที่ 695 ได้มีกษัตริย์ พระนามว่า พระเจ้าหุวิชกะ

                พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ มีลักษณะเป็นรูป 4 เหลี่ยม ทรงกรวย สูงประมาณ 170 ฟุต รอบฐานขององค์พระเจดีย์ จะมีพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์สกัดด้วยหินดำ ปรากฏหรือสร้างขึ้นในสมัยปาละ ประดิษฐานเรียงรายเป็นระยะอยู่ตามช่องที่สร้างไว้เฉพาะองค์ และช่องตรงแท่นวัชรอาสน์พอดี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือสะดุ้งมาร

                ภายในองค์พระเจดีย์ใหญ่ มีพระประธานองค์ใหญ่ประทับนั่งแบบปางมารวิชัย สร้างในสมัยปาละ มีอายุประมาณไม่เกิน 1,400 ปี ประดิษฐานอยู่

ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับองค์พระมหาเจดีย์จะมี พระแท่นวัชรอาสน์ สร้างโดย พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งชมพูทวีป ผู้ซึ่งได้เสด็จมานมัสการ ณ สถานที่ตรัสรู้ เป็นประจำ ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จ ก็ได้ทรงนำเครื่องสักการบูชาเป็นจำนวนมากมาสักการะแก่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีพระราชโองการให้ช่างฝีมือสร้างพระแท่นเครื่องรองรับของสักการบูชาที่พระองค์นำมาจากพระราชวัง แทนพระแท่นรัตนะบัลลังก์เก่าที่บังเกิดขึ้นแก่พระตถาคตเจ้าในวันตรัสรู้ พระราชทานนามว่า พระแท่นวัชรอาสน์อันมีความหมายว่า พระที่นั่งแห่งมหาบุรุษผู้มีใจเพชร

พระแท่นวัชรอาสน์ ถูกทำลายในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 แตกออกเป็น 5 เสี่ยง ครั้นถึงปี ค.ศ. 1880-84 เซอร์คันนิ่งแฮม ได้ทำการบูรณปฎิสังขรณ์ ขึ้นมาใหม่โดยนำเอาส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันเข้าในรูปเดิมได้อย่างเรียบร้อย (ซึ่งหากเราไม่สังเกตแล้ว จะไม่ทราบเลยว่าพระแท่นนี้เคยถูกทำลายมาแล้ว) ....สาธุ สาธุ สาธุ พวกเราเปล่งคำสาธุพร้อมๆ กัน

บวชเณร

          วันที่ 28 ตุลาคม 2550  ผมตื่นตี 4 และได้ออกไปเดินเล่นที่อุโบสถแต่เช้ามืด แวะลงนั่งสมาธิสักครู่หนึ่ง เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง วันนี้เป็นวันที่จะต้องบวชเณร ใต้ต้นโพธิ์ เป็นพิธีที่น่าดูมาก ผู้ร่วมโครงการทั้งหมดมีจำนวน 89 คน ได้รับการโกนผมในเช้าวันนั้น ผู้ที่จะบวชนั่งเรียงกันไปตามยาวของถนนทางด้านหลังโบสถ์ เก้าอี้พลาสติคสีแดงตั้งเรียงรายดูเป็นระเบียบ มีผู้ที่กำลังจะเป็นนาคนั่งถือพานมีใบบัวใบใหญ่วางอยู่บนพานอีกทีเพื่อรองรับเส้นผมซึ่งเราได้รับการบอกว่าให้เก็บเส้นผมเอาไว้โดยใช้ใบบัวห่อ เพื่อจะนำไปลอยในแม่น้ำคงคาในวันที่จะไปล่องเรือที่พาราณสีต่อไป

        เมื่อท่านทูตจีระศักดิ์ ธเนศนันท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีกล่าวเปิดพิธีเสร็จ เหล่าพระสงฆ์ที่เตรียมไว้ก็เข้าทำการโกนผมผู้เข้าบวชทันทีนำโดยพระเทพโพธิวิเทศเป็นผู้ตัดผมกระจุกแรก รวมทั้งพระราชรัตนรังสี รองหัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย จากนั้นหากผู้ใดมีญาติมา ก็ให้ญาติตัดผมเป็นลำดับต่อไป จากนั้นพระสงฆ์ก็จะทำการโกนศรีษะนาคให้เกลี้ยง

             ผมโชคดีที่มีคุณแม่เพียรวิชญ์ วรฉัตรไปร่วมงานบวช คุณแม่จึงเป็นผู้ตัดผมถัดจากพระสงฆ์  หลังจากนั้นไม่กี่นาที ผมก็กลายเป็นนาค มีศรีษะโล้นโล่งเตียนแปลกมือตัวเองเวลาสัมผัสและแปลกตา (เมื่อยามส่องกระจก)ยิ่งนัก เป็นภาพที่น่าดูและยังจำได้ติดตา คนจำนวนเกือบร้อยคน สาละวนและเวียนกันไปล้างศรีษะที่ห้องน้ำของวัด หน้าตาของทุกคนยิ้มแย้ม อิ่มบุญแม้หน้าจะเปรอะเปื้อนด้วยสะบู่และเศษผมของตัวเอง ญาติโยมหลายคนยืนรอดูอยู่ห่างๆ แซวคนที่กำลังจะกลายเป็นนาคว่า พอโกนผมแล้วหน้าตาดูมีราศีกันขึ้นมาก ที่หน้าตาดูไม่หล่อก็หล่อขึ้นมาทันใด ทำให้นาคหลายคนปลื้มจนตัวลอย

ในช่วงบ่าย พวกเราคณะนาคก็ขึ้นรถบัสเดินทางไปยังปริมณฑลโพธิสถานเพื่อทำพิธีบวชเป็นสามเณรที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์

พิธีการบวชสามเณรของคณะของเรานั้นศักด์สิทธิ์ยิ่งนัก เป็นพิธีที่ต้องบอกว่าสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนที่มาสักการะที่พุทธสถานพุทธคยาในวันนั้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นขบวนแห่งที่ยิ่งใหญ่ มีการตั้งแถวเดินไปอย่างพร้อมเพรียงกัน มีผู้ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และธงไตรรงค์นำหน้าขบวน ผู้คนที่แออัดบริเวณทางเข้าพุทธคยาต้องหยุดชะงักไปโดยปริยายเพราะขบวนของพวกเรา  หลังจากได้เดินแห่วนไปตามทางเดินรั้วด้านในของพุทธคยาแล้วก็ไปทำประทักษิณรอบพระเจดีย์มหาโพธิ์ 3 รอบ ก่อนที่จะไปสิ้นสุดขบวนที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ณ บัดนั้น พระธรรมสุธี เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์และประธานในพิธีการอุปสมบทก็ได้ประกอบพิธีบรรพชาสามเณรภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  ท่ามกลางคณะสงฆ์และญาติโยมที่ร่วมบุญกว่าร้อยคน

พิธีบวชเณรผ่านพ้นไปได้ด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์ ณ ใต้ต้นโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเป็นที่ปลาบปลื้มของทุกคนที่อยู่ที่นั่น หลังจากนั้นคณะสงฆ์และสามเณรทั้ง 89 รูปก็เดินทางกลับวัดไทยพุทธคยาโดยสวัสดิภาพ ตอนขาไปเป็นนาคแต่งขาว พอตอนขากลับกลายเป็นพระสีเหลืองอร่ามไปหมด เย็นวันนั้น สามเณรใหม่ทั้งหมดก็ได้ทำวัตรเย็น และเจริญจิตภาวนาในอุโบสถวัดไทยพุทธคยาเป็นครั้งแรก เป็นคืนแรกที่ผมจะนอนหลับในสถานะที่เป็นสามเณร 

วันบวชพระ

29 ตุลาคม 2550 วันนี้เป็นวันสำคัญที่สุดเพราะจะบวชเป็นพระกันแล้ว เนื่องจากมีคนเยอะถึง 89 คน จากประสบการณ์ของพระธรรมทูตจึงต้องแบ่งผู้บวชออกเป็นสองรอบ คือรอบเช้ากับรอบบ่าย โดยผมและคุณพ่อกำหนดบวชในรอบบ่าย พิธีบวชเริ่มขึ้นเวลา 07.09 น ณ พัทธสีมาวัดไทยพุทธคยาโดยพระเทพโพธิวิเทศเป็นอุปฌาชย์รูปที่ 1 ในรอบเช้า

สำหรับผมและนาคคุณพ่อเข้าพิธีบวชทำอย่างเรียบง่ายและรวดเร็ว โดยนาคพ่อบวชเป็นชุดที่ 18 และผมบวชเป็นชุดที่ 19 พระพี่เลี้ยงบอกว่าในกรณีของผมและคุณพ่อ จะบวชพร้อมกันไม่ได้ ต้องแยกกันเพื่อให้พ่อได้บวชก่อนลูก ทั้งนี้กลุ่มของผมมีนาคธนบดี กุสินทร์เกิดและนาคภราดา เณรบำรุงร่วมกลุ่มโดยมีพระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดประทุมคงคาเป็นพระอุปฌาชย์  พระมหา ดร.ปรีชา กตปุญโญเป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระมหาธีรโชติ ธีรปุญโญเป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยผมได้ฉายาว่า พระเตชพลโพธิ ( อ่านว่า เต-ชะ-พละ-โพธิ ) ส่วนคุณพ่อสกล วรฉัตร ได้ฉายา "พระวรโพธิ" 

กว่าพิธีบวชพระองค์สุดท้ายจะสิ้นสุดก็เป็นเวลา 22.00 น นับเป็นพิธีบวชในต่างประเทศที่ทรหดที่สุด

……………………….

ติดตามตอนต่อไปครับ



ความเห็น (10)

อนุโมทนาด้วยนะคะท่านทูตที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร

จะบวชนานเท่าไหร่คะ

คุณ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

สวัสดีครับ

เป็นการเล่าเรื่องการบวชเมื่อปีที่แล้วครับ บวชเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 26 ตค. ถึง 6 พย. 2550 ครับ

พระนวกะ 89 รูปได้ไปสักการะสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง เป็นเวลา 10 วันเต็มครับ

จึงนำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ให้กัลยาณมิตรใน G2K ได้อนุโมทนาบุญกันครับ

 

 

คุณ suksom

เป็นการอุปสมบทประวัติศาสตร์ที่มีได้ครั้งเดียวในโลก

และเป็นการอุปสมบทเดียวในต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นแดนพุทธภูมิ

เย็นด้วยบุญครับ

 

สวัสดีค่ะ

พุทธคยาเป็นสถานที่แรก ที่ได้ไปพักอาศัยถึง ๖ วันค่ะ

การปฏิบัติธรรมที่นั่น มีกำลังอย่างมาก

สำหรับผู้ได้บวชณ สถานที่ศักดิ์สิทธินี้ ยิ่งพิเศษเหนืออื่นใด

จนต้องขออนุโมทนาบุญจากใจจริงอีกครั้งค่ะ

โยคีน้อย ตันติราพันธ์

สาธุ

เห้นด้วยว่าเป็นสถานที่พิเศษ

เป็นพุทธสถานระดับโลกที่ชาวพุทธไทยควรตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าครั้งหนึ่งจะได้ไปสักการะ

เห็นควรให้รัฐบาลให้การสนับสนุนด้วย เช่นอาจจะลดราคาตั๋วเครื่องบินหรือจัดเที่ยวบินพิเศษสำหรับผู้แสวงบุญชาวไทยในช่วงระหว่างเดือน ตุลาคมถึงมีนาคมของทุกปี

ในส่วนของวัดไทยและพระธรรมทูตนั้นได้ทำงานเพื่อพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด

ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย

อ่านแล้วเห็นภาพ

ปิติตามท่านพ่อและท่านอท.ไปด้วย

สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

ขอบคุณครับ ท่านวุฒิสมาชิก

อัครจิต พนมวัน ณ อยุธยา

เพิ่งเข้ามาเห็นครับ ขออนุโมทนาในกุศลผลบุญที่ท่านและคุณพ่อของท่านได้บวชในครั้งนั้นด้วยครับ

คุณอัครจิตครับ

ดีใจมากที่เข้ามาทักทายกัน ไม่ได้เจอกันนานมากนะครับ ไปอยู่ที่ไหนกันแล้วครับ

ผมยังอยู่ที่อินเดียกับครอบครัวนะครับ หากมีโอกาสเชิญแวะไปเที่ยวนะครับ

ระลึกถึงเสมอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท