สุขภาพที่สัมบูรณ์


เรามักจะพูดกันว่า จะอยู่กันไปนานๆทำไม

เจริญพร สมาชิกทุกท่าน

ได้อ่านบทความของ ท่านนพ.ชาญวิทย์ โคธีรานุรักษ์ ในนิตยสาร healthtoday เรื่อง"อยู่อย่างไรให้มีสุข อายุยืนยาวถึง 100 ปี" เห็นว่ามีสาระประโยชน์ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ

คุณต้องการมีสุขภาพที่สัมบูรณ์ไหม?

สุขภาพสัมบูรณ์ประกอบด้วยความสมบูรณ์ของมิติต่างๆหลายมิติ ที่ทำให้คุณสามารถมีสุขภาพที่ดีได้ตลอดเวลา ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ยกเว้นโรคติดเชื้อในบางครั้ง ซึ่งก็หายได้ด้วยยาที่ใช้เวลาสั้นๆ 5-7 วัน คุณสามารถปรับตัวได้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านเข้ามาเมื่อคุณอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีความเครียดจนเกินไป มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่เสี่ยงสุขภาพ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขโดยไม่มีโรคหรืออาการเจ็บป่วยเื้รื้อรัง

มิติต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของสุขภาพสัมบูรณ์ ได้แก่

  1. ความฉลาดทางปัญญาและความรู้ ( I.Q และK.M.) ตั้งแต่เิกิดจนโตคนเราได้เรียนรู้และพัฒนาปัญญาโดยการศึกษาเรียนรู้จากสังคม คนฉลาดย่อมรู้จักใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง พัฒนาความคิดด้วยการติดตามข่าวสาร ความเป็นไปในสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้วิวัฒนาการใหม่ๆของมนุษย์ เราต้องตามให้ทันโลก ไม่ว่าคุณจะอายุมากเท่าไร ก็จะช่วยลดโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมได้

  2. ความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) คนเราเป็นสัตว์สังคมอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ การอยู่ร่วมเป็นสังคมใหญ่ๆหรือองค์กร จะต้องมีทีมงาน จึงจะประสบความสำเร็จได้ ในระยะยาวต้องมีความรักให้แก่กัน เอื้ออาทรกันและกัน มีการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ คนฉลาดทางอารมณ์ ทำให้เราสามารถผูกพันอยู่กับผู้อื่นได้ในระยะยาว และเมื่อสังคมตอบสนองในทางบวกแล้ว เราก็มีความสุข

  3. ความฉลาดทางสุขภาพ (H.Q.) การเรียนรู้ถึงวิถีทางการดำเนินชีวิต เพื่อการมีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายต้องการการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ อาหารการกินในปริมาณพอเหมาะและเลือกที่มีคุณประโยชน์เป็นธรรมชาติมากที่สุด ปรุงแต่งน้อย รู้จักจัดการความเครียดได้ดีท่่ามกลาง สังคมที่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ถ้าสามารถปรับพฤติกรรมได้ดังนี้ รวมทั้งไม่นำเอาสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพเช่น บุหรี่ เหล้า เครื่องดื่มชูกำลัง เข้าสู่ร่างกาย ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดี อายุยืนอย่างมีคุณภาพโดยไม่ต้องพึ่งยา

  4. ความฉลาดทางการเงิน(F.Q.) บางคนเครียดเรื่องเงินๆทองๆ เพราะมีหนี้สินมากมาย หลายทาง ซื้อหุ้น เล่นหวย พอหุ้นตก หวยกิน เลยมีหนี้ท่วมตัว บางคนวัตถุนิยมใช้เงินเกินตัว ผ่อนสารพัด เมื่อการเงินติดขัดก็เกิดความเครียด ทั้งตัวเราและคนใกล้ชิด ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เราต้องเข้าใจหลักการจัดการความเสี่ยงกับเงิน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน สะสมไว้ส่วนหนึ่ง ลงทุนอย่างฉลาดอย่างหนึ่ง และใช้ประจำวันอย่างหนึ่ง การจัดสรรได้สัดส่วนลงตัวขึ้นอยู่กับสถานภาพทางการเงินของแต่ละคน

  5. ความฉลาดทางมโนธรรมและการเมือง(M.Q.และP.Q.) ผู้ที่อยากมีอำนาจมากๆ มักจะไม่ค่อยมีความฉลาดทางมโนธรรม เพราะต้องคอยเบียดบังผู้อื่น เลื่อยขาผู้อื่น จึงมีโอกาสเข้าสู่อำนาจสูงๆได้ คนเราต้องถามตัวเองว่า เราต้องการอะไร คนเราอยากมีอำนาจมากๆ เมื่อมีแล้วก็ต้องคอยกลัวผู้อื่นมาแย่ง ต้องสร้างดุลอำนาจ ดุลการเมือง เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความเครียดสะสม เพราะต้องเผชิญกับความเครียดตลอดเ้วลา ดังนั้นการเรียนรู้และเข้าใจการเมืองในองค์กรในสังคมและอยู่ในสังคมโดยมีมโนธรรม จะเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว

  6. การจักการเวลา(T.M.) คนเรามีเวลาเท่า่กันทุกคนคือ 24 ชั่วโมง แต่เรามักให้เวลากับคนอื่น มากกว่าให้ตัวเองได้มีสุนทรียภาพ เวลาออกกำลังกายและกินอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ หลายคนเข้าใจว่ารวบยอดเอาไว้วันหยุด ออกกำลังอย่างหักโหมก็แล้วกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่กลับนำปัญหาความบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อส่วนต่างๆได้ ดังนั้น เราต้องมีความสม่ำเสมอ ในการดูแลสุขภาพตัวเอง รู้จักปฏิเสธตัวเอง ถ้ารู้ว่าเกินตัว ความเครียดก็จะมีไม่มาก

ถ้าคนเรามีความฉลาดในมิติต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ก็อาจจะช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้นได้ถึง 100 ปี ปลอดโรค ปล่อยให้ร่า่งกายค่อยๆแก่ไปตามกาล โดยไม่มีตัวเร่ง ที่ทำให้เกิดโรคต่ออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในร่างกาย เมื่ออวัยวะในร่างกายส่วนใหญ่แข็งแรงและรักษาสมดุลของสรีระภาพได้แล้ว คุณก็จะมีอายุยืนได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นที่ต้องการของเราทุกคน หรือคุณว่าไม่ใช่?

หมายเลขบันทึก: 211545เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

นมัสการครับ พระคุณเจ้า มาอ่านเรื่องดีดี มีสาระครับ ขอบคุณขอรับ

เจริญพร โยมคนพลัดถิ่น

อาตมาอ่านมาจากนิตยสารเล่มดังกล่าว

เห็นว่ามีสาระจึงนำมาเผยแพร่ต่อ

 

เจริญพร

กราบนมัสการ พระคุณเจ้า  พระปลัด

  • ครูอ้อย  มีครบทุกข้อเลยเจ้าค่ะ
  • ยกเว้น ข้อ 4 ไม่ค่อยสัมบูรณ์ เจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

เจริญพร โยมครูอ้อย

ข้อที่ 4 โยมครูสามารถมีได้นะ

ถ้าปฏิบัติตามหลักการ

ดีใจที่โยมครูมีเกือบทุกข้อ

 

เจริญพร

  • กราบนมัสการพระอาจารย์ครับผม
  • มาศึกษาเรื่องดีๆมีคุณค่าครับผม
  • หากคนเราหันมาใส่ใจดูแลตนเองอย่างจริงจัง
  • คงจะพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
  • ทุกวันนี้เป็นอะไรนิดหน่อยในเรื่องป่วยไข้ก็วิ่งหา
  • โรงหมอโรงยาเสียแล้วยิ่งมี รพ.มากเท่าใดคนป่วยก็ไม่ลดลง
  • กลับเพิ่มขึ้นเหมือนเงาตามตัว..อนุโมทนาสาธุครับ
  • กราบนมัสการครับผม

กราบนมัสการพระอาจารย์ครัับ

ผมเห็นว่าบทความเรื่องนี้มีสาระประโยชน์

จึงนำมาเผยแพร่ต่อเท่านั้นครับ

ขอบพระคุณมากครับ ที่ต่อยอดสาระความรู้อีก

กราบนมัสการ พระอาจารย์

- ดิฉันตามมาอ่านเรื่องราวดี ๆ ค่ะ สงสัยต้องอยู่ 100 ปี แน่เลยค่ะ

เจริญพร โยมเพชรน้อย

  • มีไอคิว
  • มีอีคิว

มีแค่่ 2 อีก็อายุยืนได้นะโยม

 

เจริญพร

กราบนมัสการค่ะ

* เห็นด้วยกับข้อ การจัดการเวลา(T.M.) ที่มักให้เวลากับคนอื่น มากกว่าให้ตัวเอง

โดยเฉพาะการทำงานที่มีให้รับผิดชอบแทบจะ 24 ชั่วโมง

* ส่วนความฉลาดทางมโนธรรมและการเมือง(M.Q.และP.Q.) อยากให้ทุฝ่ายมีกันมาก ๆ นะคะ

* อ่านแล้วจะรู้สึกดีค่ะ ตรงไหนบกพร่องจะรีบแก้ไขค่ะ

เจริญพร โยมสาวสวย

เป็นเรื่องแปลกที่ทุกคนมักจะให้เวลากับคนอื่นมากกว่า

ให้กับตัวเองจริงๆ ยิ่งเป็นพระด้วยแล้ว

ให้เวลาแก่โยมมากจนพระต้องแย่ไปตามๆกันเพราะไม่ได้พักผ่อน

 

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท