เครือข่ายไปทำอะไรใน HA National Forum (๒)


ผู้คนสนใจกิจกรรมของเครือข่าย โดยเฉพาะ "ตลาดนัดความรู้" และ "เพื่อนช่วยเพื่อน"

วันที่ ๑๕-๑๗ มีนาคม ๒๕๔๙ นิทรรศการของเครือข่ายได้รับความสนใจจากผู้เข้าประชุมอย่างมาก เอกสารที่เตรียมไปแจกหมดลงอย่างรวดเร็วจนต้องเอาแอบไว้สำหรับวันหลังๆ บ้าง ผู้คนสนใจกิจกรรมของเครือข่าย โดยเฉพาะ "ตลาดนัดความรู้" และ "เพื่อนช่วยเพื่อน" หลายคนถามว่าจะจัดตลาดนัดความรู้อีกเมื่อใด มีการประชาสัมพันธ์อย่างไรบ้าง ดิฉันจึงให้เขียนชื่อและที่อยู่สำหรับติดต่อกลับทิ้งไว้ เมื่อจบงานพบว่ามีผู้ลงชื่อไว้ ๓๐ รายจาก ๒๘ รพ.ในจำนวนนี้อาจมีบางคนที่ลงชื่อไว้ด้วยความเข้าใจผิดว่าหยิบหนังสือคู่มือการดูแลเท้าแล้วต้องลงชื่อปนอยู่ด้วย

ผู้คนสนใจทดลองใช้เครื่อง Podoscope ของ รพร.ธาตุพนมกันอย่างคึกคัก แถมให้ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงให้สะดวกต่อการใช้ยิ่งขึ้น รายละเอียดส่วนนี้ขอให้ติดตามจากบันทึกของ ภก.เอนก ทนงหาญ ในบล็อกของทีมธาตุพนม ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙ เรานำเครื่อง i Step จาก รพ.เทพธารินทร์มาแสดงให้เห็นเทคโนโลยีที่ใช้ในเรื่องเดียวกัน แต่ให้รายละเอียดที่มากขึ้น ผู้คนก็สนใจทดลองใช้และซักถามกันมากเช่นกัน

ผู้ดูแล (เฝ้า) นิทรรศการของเครือข่ายครั้งนี้นอกจากดิฉันและคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวิศิน แล้ว ยังได้กำลังแข็งขันจากทีม รพร.ธาตุพนม คือ ภก.เอนก ทนงหาญ คุณพเยาว์ ปิยะไพร คุณมณีวัชราภรณ์ ตังควานิช เราช่วยกันตอบคำถาม อธิบาย ชี้แจง ฯลฯ แต่เราก็ไม่ลืมที่จะผลัดกันไป "เรียน" จากห้องประชุมและนิทรรศการต่างๆ ด้วย ดิฉันประทับใจที่พวกเราทำงานแบบทีมเดียวกันจริงๆ

การประชุมครั้งนี้ มี รพ.และหน่วยงานต่างๆ มาแสดงนิทรรศการกันจำนวนมาก ดิฉันสำรวจดูพบว่ามีนิทรรศการที่แสดงผลงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานอยู่เกือบ ๒๐ รพ. เครือข่ายคงจะต้องมีการติดต่อขอผูกมิตรและสร้างความสัมพันธ์กันต่อไป

เราได้เจอ "เพื่อน" จากตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะทีมจาก รพ.กะพ้อ คือคุณหมอเดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการ ภก.นิอายุบ นิเงาะ ทุกคนปลอดภัยดี คุณหมอเดชาอยากให้ทีมงานเครือข่ายไปจัด workshop KM ให้กับทีมต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ดิฉันแจ้งให้คุณธวัช หมัดเต๊ะ รู้แล้ว ได้เจอคุณหมอธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ จาก รพ.สุไหงโกลก ก็สนใจเรื่องนี้เช่นกัน ดิฉันจึงบอกไปว่าถ้าไปจัด workshop ที่ปัตตานีเมื่อใด จะเชิญคุณนุชเนตร ชูโชติและคุณปราณี จุลกศิลป์ ทีมงานของ รพ.สุไหงโกลกที่เคยผ่านตลาดนัดความรู้ของเราแล้ว ไปช่วยทำงาน เพื่อจะได้นำวิธีการนี้ไปใช้ต่อที่ รพ.สุไหงโกลก 

การบรรยายเรื่อง "Peer Assist in DM Network" ในช่วงบ่ายวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙ ได้รับความสนใจพอสมควร จำนวนคนฟังน้อยกว่าช่วงเช้าที่เป็นการบรรยายของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด มาก มีวิทยากร ๔ คนคือดิฉัน ภก.เอนก ทนงหาญ นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ และคุณชนิกา สุระสิงห์ชัยเดช บรรยากาศครั้งนี้ค่อนข้างเป็นทางการต่างจากที่เราเคยเสวนาเรื่องนี้กันอย่างสบายๆ ในตลาดนัดความรู้ครั้งที่ ๒ ดิฉันคิดว่าพวกเราค่อนข้างตื่นเต้น "ลูกเล่น" ต่างๆ จึงพากันตกหล่นหายไปหมด จริงๆ เรามี VDO ที่บันทึกไว้ขณะที่มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน แต่ไม่ได้เอามาใช้ เมื่อเห็นวิธีการนำเสนอของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จึงค่อยคิดได้

ดิฉันคิดว่าในการประชุมครั้งนี้ เครือข่ายของเราได้เปิดตัวให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น ถ้างานของเครือข่ายเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ เราคงจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกปี

AAR ของดิฉัน

   ๑.ความคาดหวัง  ไปแสดงนิทรรศการของเครือข่ายและนำเสนอเรื่อง Peer Assist
   ๒.สิ่งที่ได้เกินคาด  ผู้เข้าประชุมสนใจนิทรรศการของเครือข่ายมากเกินคาด 
  ประทับใจการทำงานร่วมกับทีม รพร.ธาตุพนม
   ๓.สิ่งที่ได้น้อยหรือยังไม่ได้  ต้องการแสดง VDO กิจกรรมของเครือข่ายรวมทั้งบล็อก
  แต่ไม่สามารถแสดงได้ เพราะไม่มีที่ตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์  
  เนื่องจากโต๊ะในนิทรรศการมีขนาดเล็กมาก 
   ๔.สิ่งที่ควรปรับปรุง  ปรับปรุงเทคนิคการนำเสนอในห้องประชุมของตนเอง 
   ๕.สิ่งที่จะกลับไปทำต่อ  เตรียมการจัดทำโปสเตอร์ update งานของเครือข่าย 
  หาทางเชื่อมโยงกับ รพ.ต่างๆ ที่มีผลงานด้าน DM 

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙

 

 ไปชวนอาจารย์วิจารณ์มาเยี่ยม

 

 ผู้เข้าประชุมสนใจนิทรรศการเครือข่ายของเรา

 

 บนเวทีนี้มีแต่เพื่อน

หมายเลขบันทึก: 20072เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ถ้าจะจัด KM Workshop ที่สุไหงโกลก สคส. ยินดีให้คุณธวัชไปช่วยครับ

วิจารณ์ พานิช

ขอบพระคุณอาจารย์วิจารณ์ค่ะ มีอีกหลายจังหวัดที่ต้องไปค่ะ ขอรบกวนทีมของ สคส. ไปด้วยกันกับเราทุกจังหวัดนะคะ

อาจารย์วัลลาครับ ...วันนั้นผมอยู่ฟัง Session ของอาจารย์โดยตลอด ขอพูดจาก "ใจจริง" ครับว่าทุกท่านบน Panel พูดได้ดีและเป็นธรรมชาติมากๆ ผมเชื่อว่าผู้ที่อยู่ในห้องประชุมวันนั้นจะเห็นด้วยกับผมอย่างแน่นอน ...ว่าได้เห็นภาพการทำ Peer Assist ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมมาก ...นอกจากนั้น "ของแถม" ที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนได้ไปก็คือ "แรงบันดาลใจ" ครับ

การนำเสนอวันนั้น ทำให้เห็นชัดเจนว่า "ตัวชี้วัด" ในเชิงปริมาณเช่นการดูกันที่จำนวนผู้เข้าฟัง อาจสร้าง "ความเข้าใจผิด" ในเรื่องคุณภาพได้ ...แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้เห็นแววตาแห่งความสุขของทุกๆ คนที่ได้ฟังการบรรยายวันนั้นแล้ว คิดว่าทีมของอาจารย์คงจะหายเหนื่อยนะครับ...

ขอบพระคุณอาจารย์ประพนธ์มากๆ ค่ะที่ให้กำลังใจ ดีใจเป็นอย่างยิ่งถ้าผลงานของเราได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นต่อๆ ไป

ขอบคุณครับ  ขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน

มีความสุขจังครับ ที่ได้ฟังเรื่องดีๆ

มีกำลังใจ ทุกที ครับ 

คุณเอนกมีกำลังใจแล้ว อย่าลืมเขียนบันทึกลงบล็อกด้วยนะคะ รออ่านอยู่ค่ะ
ธงชัย รพ.สุไหงโก-ลก

ที่ รพ.สุไหงโก-ลก ผมสนใจ KM มาก ใน รพ. ได้มีการรวบรวมข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ไว้ใน intranet ที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกเดือน จากการที่ไปประชุมหรือศึกษาเพิ่มเติมมา และยังใช้มาเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาความดีความชอบ และยังได้ตั้งเป็น Care Team เพื่อเป็นที่พัฒนาคุณภาพโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำมาพัฒนา ซึ่งที่ทำได้ เช่น HIV Care Team ,DM Care Team ส่วนในทีมอื่น ๆ ยังพัฒนาต่อไป

ปัญหาที่พบ คือ ความสนใจของบุคลากร ยังน้อย หรือเป็นเพราะยังไม่มีวิธีที่ดี ที่อาจารย์วิจารณ์ ยินดีให้คุณธวัชมาช่วย ผมได้อ่านแล้วดีใจมากที่อาจารย์กรุณา และสมใจที่อยากจะนำมาพัฒนาที่สุไหงโก-ลก แต่ยังไม่มีประสบการณ์ ขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างไร อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยครับ

เรียนคุณหมอธงชัย

ดีใจที่ได้เจอคุณหมอธงชัยในบล็อกค่ะ

อดใจรออีกนิดนะคะ กำลังหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงไปจัด KM workshop ทางใต้ค่ะ สำหรับการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใน รพ. คุณหมอลองให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" ศึกษาจากบล็อก โดยเฉพาะบล็อกของอาจารย์วิจารณ์ ก็จะได้ idea นำไปปรับปรุงกิจกรรมให้น่าสนใจยิ่งขึ้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท