สภาพัฒน์ชี้ปัญหาการเมือง ฉุด 8 มาตรการดันเศรษฐกิจ


สภาพัฒน์ชี้ปัญหาการเมือง ฉุด 8 มาตรการดันเศรษฐกิจ

       เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุการเมืองวุ่น ฉุด 8 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ชะงัก เหตุส่วนใหญ่เป็นโครงการใหม่ ต้องขออนุมัติงบประมาณ โอกาสในการพัฒนา "สะดุด" สั่งจับตาตัวเลขใกล้ชิด ก่อนรวบรวมข้อมูลแถลงผลกระทบ
ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การยุบสภาที่ผ่านมา และการรอรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นตามผลเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานมาตรการ 8 ข้อ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจในปี 2549 ให้ขยายตัวในระดับ 5% ตามที่เคยประมาณการไว้  โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สศช. ได้เสนอแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2549 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยมีมาตรการ             ที่จะดำเนินการทั้งหมด 8 ด้าน และหลายด้านเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ   "น่าเสียดายที่มาตรการหลายอย่างต้องชะลอออกไปก่อน เพราะตามหลักการหลังจากยุบสภา ครม. จะไม่อนุมัติงบประมาณให้แก่โครงการใหม่ ทำให้ยังไม่สามารถนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ ออกมาใช้ได้ คงต้องรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่   เรียบร้อยก่อน จึงจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นโครงการใหม่" ดร.อำพนกล่าว
อย่างไรก็ตาม สศช. อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะมาตรการหลายอย่างจำเป็นต้องตั้งงบประมาณในปี 2550 มาดำเนินการ หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า อาจมีผลต่อการตั้งงบประมาณ   ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือเวียนด่วนที่สุด    เรื่องการบริหารนโยบายเศรษฐกิจปี 2549 ถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กระทรวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และเอกอัครราชทูตแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนา อ้างถึงนโยบายบริหารเศรษฐกิจปี 2549 ที่ สศช.   ได้เสนอให้ ครม.รับทราบ    โดย สศช. มองว่าเศรษฐกิจในปี 2549 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ประมาณ 5% สูงกว่าการขยายตัวในปี 2548 แต่ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ภาวะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มสูงอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ แม้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะมีการปรับขึ้นค่าแรงไปบ้างแล้ว แต่ยังเป็นการปรับช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ กลุ่มคนระดับกลางที่มีรายได้เฉลี่ย 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ก็ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มมากกว่ารายได้ ขณะที่การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ก็ยังมีแนวโน้มขาดดุล จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรัดการส่งออก บริหารการนำเข้าวัตถุดิบและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน สศช. มองว่า ในปี 2549 รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยกำหนดกรอบแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นใจ สนับสนุนให้เศรษฐกิจในปีนี้มีเสถียรภาพ  พร้อมกันนี้ สศช. ได้เสนอ 8 มาตรการที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในปี 2549 ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการใช้หลังงานทางเลือก และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต ลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงาน    2. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ ด้วยการจัดตั้ง


คณะกรรมการโลจิสติกส์ระดับชาติ เพื่อเร่งผลักดันระบบโลจิสติกส์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนศึกษาแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญทั่วประเทศ ทำให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และลดการใช้น้ำมัน        3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิต ตลอดจนห่วงโซ่มูลค่า เป็นรายกลุ่มสินค้า พิจารณาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่สำคัญรัฐบาลควรผ่อนปรนเงื่อนไขที่เป็นภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น เงินค้ำประกันรายบุคคลที่สูงถึง 50,000 บาท  รวมทั้งควรพิจารณาขึ้นค่าแรงงานในภาคการผลิต มากกว่าการนำแรงงานราคาถูกเข้ามาจากภายนอก เพราะค่าจ้างแรงงานในประเทศที่สูงขึ้น จะผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น     4. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและค้าปลีก โดยส่งเสริมให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในกิจการค้าปลีกในต่างประเทศ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ   ขณะเดียวกัน ควรผลักดันให้ไทยเป็นชอปปิง เซ็นเตอร์ โดยพิจารณาการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมเพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวมาชอปปิงในเมืองไทย   นอกจากนั้น ภาครัฐควรเร่งเปิดตัวโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการเสร็จแล้ว และเร่งผลักดันโครงการพัฒนาท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เร่งส่งเสริมพัฒนาธุรกิจบริการที่มีศักยภาพเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยว    5. ส่งเสริมการลงทุน และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ด้วยการปรับปรุงกองทุนร่วมทุน เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนเอสเอ็มอี รวมทั้งการเสริมสร้างบรรยากาศ และโอกาสการลงทุนแก่ผู้ประกอบการในประเทศ         6. การสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย โดยสมาคมธนาคารไทยจะพัฒนาและสร้างความแข็งเเกร่งของกองทุนหมุนเวียนเอสเอ็มอี โดยมีมาตรการของรัฐสนับสนุน ติดตามตรวจสอบคุณภาพของผู้กู้อย่างเป็นระบบ        7. การปรับค่าแรงขั้นต่ำและค่าจ้างเงินเดือน โดยสนับสนุนให้เอกชนพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งกระทรวงการคลัง กำลังศึกษาความเหมาะสมเรื่องงบประมาณ และผลกระทบต่อฐานะการคลัง    8. มาตรการอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมการออมและการพัฒนาตลาดทุน การส่งเสริมการส่งออก และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เช่น ศึกษาเรื่อง One Single System ของระบบบำนาญของประเทศเพื่อส่งเสริมการออม พัฒนาตลาดทุนให้มีขนาดเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ภายใน 5 ปี เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ 93% ของกรอบวงเงินงบประมาณ
ดร.อำพน กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ข้าราชการ สศช. ดูตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมดอย่างใกล้ชิด ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ คงต้องรอให้ตัวเลขต่าง ๆ ชัดเจนก่อนจึงจะประกาศให้ทราบต่อไป   "ผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ในระยะสั้นคงมีไม่มาก เช่น โครงการเมกะโปรเจค แม้ว่าจะชะลอออกไป แต่งบประมาณก็ได้มีการจัดทำไว้แล้ว คงไม่มีปัญหา สิ่งที่กังวลขณะนี้คือความเชื่อมั่น  ในการลงทุนของเอกชน และรู้สึกเสียดายโอกาสในการพัฒนาของประเทศที่ต้องสะดุดลง" ดร.อำพนกล่าว

กรุงเทพธุรกิจ  20  มีนาคม  2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19894เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท