นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๔)
นครสวรรค์ฟอรั่ม : การเรียนรู้คู่ปฎิบัติของชาวนานครสวรรค์
(โปรย) การขยายพื้นที่แห่งความสำเร็จ หากทำเพียงจุดเดียวก็ได้แห่งเดียว แต่หากมีจุดเริ่มต้นหลาย ๆกลุ่มกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดและมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพก็ไม่ยากที่จังหวัดนครสวรรค์จะเป็นแหล่งปลูกและค้าข้าวปลอดสารพิษรายใหญ่ของประเทศ โรงเรียนชาวนากว่า 30 แห่งที่เกิดขึ้นในทุกอำเภอจึงเป็นการขยายเครือข่ายจัดการความรู้ที่รวดเร็วและเห็นผล จากการเรียนรู้คู่ปฏิบัติ ของทั้งผู้สนับสนุนและตัวเกษตรกรเอง
เกษตรกรผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าว่า
การทำนาสมัยก่อนทำกันอย่างจริงจังมีจิตวิญญาณ
เกษตรกรจะเดินออกไปดูแปลงนาแต่เช้าตรู่ ดู โรคแมลง
สังเกตในแปลงนาดูแลอย่างทั่วถึง ดูน้ำดูสภาพความเป็นไป
แล้วจึงเข้ามาพักผ่อนในตอนบ่าย ตกเย็นก็เดินไปดูใหม่อีกรอบหนึ่ง
เกษตรกรจะมีความดูแลเอาใจใส่แปลงนาเป็นอย่างดี
จะสังเกตความเปลี่ยนแปลงของแปลงนาตลอด
และมีความผูกพันกับข้าวอย่างแท้จริง
ผิดกับชาวนาสมัยนี้จะไม่ค่อยดูแลนาตัวเองเท่าที่ควรบางอย่างใช้เงินจ้าง
คล้ายกับเป็นผู้จัดการนา
เมื่อชาวนาได้ทบทวนตนเอง
จากการทบทวนบทเรียนการทำนาที่ผ่านมาของเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์พบว่า
สภาพดินเริ่มแย่ลง (ดินไม่กินปุ๋ย) เกษตรกรใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นทุกปี
ขณะที่เกษตรกรใช้ปุ๋ย 50 – 70 กก. / ไร่ และคงใช้เพิ่มขึ้นทุกปี
ทำให้หน้าดินไม่มีนวลเกิดขึ้น ดินไม่ร่วน และดินแข็งเกินกว่าปกติ
นอกจากนี้ยังพบแมลงรบกวนมาก นอกจากระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไปแล้ว
การทำนาปัจจุบันหากไม่มีเงินก็ไม่สามารถทำนาได้
เพราะทุกอย่างต้องซื้อหมด ในขณะที่ทั้งปุ๋ย ยาเคมีทุกชนิด
น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพง
อีกทั้งค่าใช้จ่ายประจำวันภายในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น
วิถีชีวิตของเกษตรกรมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น
บางครั้งท้อแท้ไม่มีความสุข หลายครอบครัวหนี้สิน
เกษตรกรส่งลูกไปเรียนหนังสือในเมืองมากขึ้น
เมื่อเรียนจบก็หางานทำในเมือง ทิ้งให้พ่อแม่มาทำนาต่อไป
และแม้สิ่งอำนวยความสะดวกจะมีมากขึ้นแต่ก็ไม่ช่วยทำให้ชีวิตเกษตรกรมีความสุขขึ้นมาได้
จุดเปลี่ยน :
เริ่มหันกลับมาหาเกษตรปลอดสารเคมี
โรงเรียนชาวนา คือ แบบจำลองการเรียนรู้ลดต้นทุน-เพิ่มกำไร :
กลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม หรือเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์จึงเกิดขึ้น
โดยมีกลยุทธ์ของการดำเนินงานอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า“โรงเรียนชาวนา”
ที่เคยทำมาแล้วในหลายพื้นที่มาลองใช้กับชาวนานครสวรรค์
แต่มีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไป
ไม่ใช่การชี้นำหรือสั่งการแต่ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เกษตรกรจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า
การทำนาของเขาในอดีตและปัจจุบันที่ใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆนั้น
ความจริงแล้วเขาได้กำไรหรือขาดทุน
และเมื่อต้นทุนคือปัญหาทำอย่างไรจึงจะลดต้นทุนลงได้
และผลจากการใช้เคมีมาเนิ่นนานได้ส่งผลอย่างไรต่อผืนนาและสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งสุขภาพของตัวเอง
เหล่านี้คือคำถามและคำตอบที่เกษตรกรจะเป็นผู้ร่วมกันคิดและทำ
“ความจริงแล้วชาวนาก็เบื่อหน่ายอยากจะหลุดพ้นจากห่วงโซ่ “เกษตรเคมี”
แต่จะมีวิธีไหนที่จะทำให้ได้ผลผลิตเท่ากับที่เคยได้
ใครว่าอะไรดีเราก็อยากลอง
ชีวภาพเราก็สนใจแต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะได้ผล”
นี่คือความในใจของชาวนาส่วนใหญ่
และพวกเขาก็อยากจะลองเปลี่ยนวิธีการทำนาจากเดิมหากมีเพื่อนทำ
จุดแรกของการทำงานกับชาวนาคือต้องเน้นการรวมกลุ่ม
เพราะพวกเขาจะรู้สึกอุ่นใจถ้ามีเพื่อนทำกันหลายๆ
คนเหมือนกับมีเพื่อนร่วมเสี่ยงไว้คอยปรึกษากัน
จุดเริ่มแรกของโรงเรียนชาวนาจึงต้องหากลุ่มเกษตรกรที่มีความคิดอยากจะเปลี่ยนและกล้าที่จะลอง
โดยแบ่งพื้นที่แปลงนาของตนเองส่วนหนึ่งสำหรับทำการทดลองของตัวเอง
ควบคู่ไปกับแปลงนาทดลองของกลุ่มที่เป็นเวทีเรียนรู้ร่วมกัน
ประจบ วรรณกุล
เกษตรกรหมู่ 5 ตำบลหนองตางู อำเภอบรรพตพิสัย
เริ่มทำนาร่วมกับพ่อแม่มาตั้งแต่อายุ 17 ปี
ต่อมาได้ไปหางานที่อื่นทำและไม่ปรแสบผลสำเร็จ
กระทั่งกลับมาทำนาตามเดิม
แต่ก็พบว่าตนเองเริ่มเบื่อหน่ายกับการใช้สารเคมี
เพราะเหม็นและสภาพร่างกายไม่รับสารเคมี
จึงอยากพิสูจน์ว่าการทำนาไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทำได้หรือไม่
จึงคิดหาวิธีทำนาแบบใช้สารชีวภาพแทน
โดยคาดหวังว่าการทำนาแบบชีวภาพจะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าการใช้สารเคมี
ซึ่งในระยะแรกเริ่มทดลองแต่กลับถูกล้อเลียนว่าเป็น
“เกษตรหมู่บ้านเลิกใช้สารเคมี”
แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวกลับพบว่าข้าวของ คุณประจบ จะได้น้ำหนักดี
เมล็ดสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งอัศจรรย์ของเพื่อนบ้านพอสมควร
ผลผลิตของคุณประจบจำนวน 20 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 16 -17 เกวียน
ซึ่งคุณประจบก็พอใจเพราะต้นทุนการผลิตไม่สูงมาก นับตั้งแต่ปี 2545
เป็นต้นมา เกษตรกรในหมู่บ้านจับตามองคุณประจบ
มาวันนี้ทุกคนได้ข้อสรุปจากการทำนาของคุณประจบว่า
สามารถทำได้ประกอบกับการรณรงค์ลดใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี
จึงมีการรวมกลุ่มกันและคาดว่าการทำนาแบบเกษตรชีวภาพจะทำให้อยู่รอดได้ในสภาพปัจจุบัน
โรงเรียนชาวนาความหวังของการอยู่รอดในภาคเกษตร
จากสภาพปัญหาที่เกิดกับเกษตรกร
จึงมีกลุ่มคนบางกลุ่มในหมูบ้านเริ่มสนใจในการทำนาแบบปลอดสารพิษ
โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิตและหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพมากขึ้น
ซึ่งผลจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปรากฏว่า ได้ผลดีทั้งการไล่แมลงศัตรูพืช
ลดต้นทุนได้
และที่สำคัญส่งผลให้สุขภาพของเกษตรกรดีขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากนั้น
จึงมีเพื่อนบ้านที่ให้ความสนใจในการทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพจึงเริ่มมาพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากขึ้น
กอร์ปกับทีมวิชาการจากกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่มและมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ
ได้แก่ เกษตรตำบลหนองตางู
ได้เข้ามามีส่วนร่วมและให้ความรู้ในการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกร
(โรงเรียนชาวนา)
ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตแมลงที่มีผลต่อพืชไร่
พืชสวนและนาข้าว
ส่งผลให้เกษตรกรมีความรู้และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
ดังนั้นหลังจากร่วมกันทบทวนบทเรียนของการทำนาที่ผ่านมา
ก่อนเปิดโรงเรียนและเปิดเรียนอย่างเป็นทางการ
จึงมีการทำความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง
ว่าโรงเรียนชาวนาเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระหว่างกลุ่มเกษตรกรในเรื่องต่าง
ๆ ที่เกี่ยวกับการทำนา ทั้งเรื่องปุ๋ย พันธุ์ข้าว
และระบบนิเวศน์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่า ประการที่หนึ่ง ภายใน 3
ปี เกษตรกรจะหันมาปลูกข้าวปลอดสารพิษอย่างเต็มรูปแบบ ประการที่สอง
เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรที่ต้องกู้เงินคนอื่นมาทำนาในแต่ละปี
หรือการหลุดจากหนี้ ประการที่สาม ต้นทุนการผลิตลดลง ประการที่สี่
สุขภาพของเกษตรกรดีขึ้น ประการสุดท้าย ชีวิตมีความสุขมากขึ้น
การเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนาหนองตางู
โรงเรียนชาวนาของเครือข่ายนครสวรรค์ฟอรั่ม
มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่แตกต่างจากที่อื่น
นั่นคือเป็นกระบวนการเรียนรู้ครบทุกวงจรของการทำนา
โดยมองว่าจุดเริ่มต้นอยู่ที่สภาพผืนดินที่เสื่อมโทรมหลักสูตรแรกจึงต้องเรียนรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดินที่เปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยใช้ยามาเป็นการเรียนรู้สภาพดินและบำบัดด้วยแนวทางชีวภาพ
ซึ่งก็มีทั้งการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และน้ำหมักชีวภาพต่าง ๆ
ที่เกษตรกรสามารถทำเองได้
“แค่ความรู้ที่แต่ละคนเอามาแลกเปลี่ยนกันก็มีหลายสูตร
หลายตำรับก็เอาไปลองใช้ดู ใช้เท่าไหร่ใช้อย่างไร
ผลเป็นยังไงก็จดบันทึกไว้ให้ละเอียด
เพราะในที่สุดเราจะได้สูตรเฉพาะสำหรับพื้นที่
ถ้าแลกเปลี่ยนกันภายในแล้วยังไม่พอ ก็ต้องไปหาความรู้จากข้างนอก
ออกไปดูที่เขาทำสำเร็จไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง”
เมื่อสภาพดินดีขึ้นศัตรูของชาวนาในลำดับต่อมาคือแมลงศัตรูพืช
จากการศึกษาแมลงในแปลงนาของเกษตรกรพบว่า แมลงร้ายต่างๆ เช่น
หนอนห่อใบข้าว, หนอนกระทู้ข้าว, เพลี้ยกระโดสีน้ำตาล,
เพลี้ยจักจั่นสีเขียวพบไม่มากเพียงกลุ่มละ 4 -5 ตัว
ส่วนแมลงศัตรูธรรมชาติ (แมลงดี) เช่น แตนเมียน, จิงโจ้น้ำ,
แมงมุม,แมลงปอเข็ม, มวนพิฆาต และแมลงหัวโตพบกลุ่มละประมาณ 7 - 15
ตัวโดยเฉลี่ย
มีเกษตรกรบางกลุ่มเล่าให้ฟังว่า
“เขาเห็นจิงโจ้น้ำวิ่งไล่ตะครุบเพลี้ยกระโดดเป็นอาหารเวลาที่พวกเขาไปสังเกตแมลงในแปลงนา
ทำให้เกษตรกรหลายคนเกิดความเข้าใจในระบบนิเวศวิทยามากขึ้น
และรู้ถึงการควบคุมตามธรรมชาติ และเกษตรกรได้ความรู้ใหม่ว่า
ถ้าพวกเขาฉีดยาฆ่าแมลงจะเป็นการทำลายทั้งศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ”
ซึ่งสรุปได้ว่าพบศัตรูธรรมชาติมากกว่าศัตรูข้าว
กลุ่มเกษตรกรจึงมีมติร่วมกันว่า “ไม่ต้องฉีดยา” (ซึ่งปกติอายุข้าว 60
วันจะต้องฉีดยาแล้ว 2 ครั้ง)
ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องการบริหารศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM)
จึงเป็นหลักสูตรขั้นที่ 2 ที่นักเรียนโรงเรียนชาวนาจะมาร่วมกันศึกษา
สังเกต แยกแยะแมลงดี แมลงร้าย แล้วจัดระบบนิเวศให้แมลงดีกำจัดแมลงร้าย
แทนที่การฉีดยาฆ่ามันให้หมดเหมือนที่ผ่านมา
จากดินดี
สิ่งแวดล้อมดี ขั้นตอนต่อมาที่เป็นหัวใจของการทำนา คือ พันธุ์ข้าว
ทำอย่างไรชาวนาจะสามารถมีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตัวเองและเป็นพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ
การเรียนรู้เรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวจึงเป็นหลักสูตรขั้นที่ 3
ของนักเรียนชาวนา ซึ่งต้องอาศัยความตั้งใจจริงและอดทน
เรียนรู้วิธีการคัดพันธุ์ การทดลองเพาะพันธุ์ การผสมพันธุ์
คือต้องเรียนรู้ ทดลอง
และทำซ้ำกันอยู่หลายครั้ง(ฤดูกาลผลิต)จนกว่าจะได้สายพันธุ์ที่แข็งแรงและให้คุณภาพดี
ซึ่งได้มูลนิธิข้าวขวัญมาถ่ายทอดความรู้ให้
รวมทั้งการไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิฯ และแปลงนา
แปลงทดลองของผู้ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จทั้งในพื้นที่โรงเรียนชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี
และเกษตรกรนักพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่าง คุณสินชัย บุญอาจ
จังหวัดพิจิตรและในพื้นที่นครสวรรค์ด้วยกัน
นพ.สมพงษ์
ยูงทอง ผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญของกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม
กล่าวว่าหลังจากเรียนรู้ทั้ง 3 ขั้นตอน
สิ่งทำสำคัญประการต่อมาคือการทำแปลงเล็กๆ
ในไร่นาแล้วจดบันทึกรายละเอียดทุกขึ้นตอนของวิธีการและแยกเกี่ยวแยกเก็บ
เมื่อไปทำแล้วให้สมาชิกมาเล่าสู่กันฟัง
การแลกเปลี่ยนคือความรู้ทั้งนั้น
ทุกคนเป็นทั้งครูและนักเรียนในเวลาเดียวกัน
ทำใจและทำจริง
นักเรียนชาวนาต้องกล้าที่จะเปลี่ยน
กลุ่มโรงเรียนชาวนาหนองตางู มีการรวมกลุ่มของนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 30
คน สมาชิกในกลุ่มแรกนี้
สามารถพิสูจน์ให้เกษตรกรบริเวณโดยรอบได้เห็นว่า
เกษตรแบบปลอดสารเคมีนั้นสามารถทำได้จริง
แต่สิ่งที่เกษตรกรทั่วไปคิดว่าทำไม่ได้
เพราะยังทำใจไม่ได้ต่างหาก
วีรวัฒน์ นพพันธ์
หรือพี่ตู่ เกษตรตำบลหนองตางู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ และเป็น
“คุณอำนวย”มือฉกาจ เล่าว่า
กระบวนการสำคัญที่ทำให้นักเรียนชาวนาเหล่านี้หันมาสนใจและลงมือทำ
คือการพาให้ความรู้ พาไปดู พาไปทำ ทำให้เกิดตระหนักและเต็มใจที่จะทำ
และเมื่อลงมือทำจริงเขาก็ได้ผลผลิตเป็นเครื่องพิสูจน์ทำให้เห็นผลต่างที่เกิดจากการทำเกษตรแบบปลอดสาร
คือ ต้นทุนการผลิตน้อยลง และผลกำไรได้มาเพิ่มอีกเท่าตัว
ซึ่งสุขภาพของเกษตรกรดีขึ้น
ไม่มีความเห็น