รายงานการสรุปผล 7 จังหวัด การติดตามการออกเสียงประชามติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ต่อ)


โดยรวมแล้วประชาชนไม่มีความตื่นตัวในการลงประชามติ และการลงประชามติเริ่มมีความเคลื่อนไหวหลังจากที่หน่วยงานราชการเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นภาคประชาชนประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ประเด็นในรัฐธรรมนูญ แต่การไปลงประชามติหรือไม่เป็นผลของปัจจัยภายนอก ทำให้สรุปได้ว่าการลงประชามตินั้นที่จริงแล้วเป็นเรื่องการชิมลางเลือกตั้งมากกว่าสาระที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

2.6 จังหวัดเพชรบุรี ผู้วิจัยใช้แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพทั้งหมด ซึ่งไม่ได้ระบุวิธีการโดยละเอียดของการเก็บข้อมูล เช่นจำนวนครั้งของการสัมภาษณ์ จำนวนคนและรายชื่อของผู้ให้ข้อมูล การตรวจสอบความมี authenticity ของผู้ให้ข้อมูล ด้วยเหตุนี้จึงมีความเสี่ยงที่ข้อมูลที่ผู้ศึกษาวิจัยได้มา จะมีอคติของความเห็นส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ผลของการวิจัยเป็นดังนี้

2.6.1 บรรยากาศ  คณะกรรมการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงของการรับฟังความเห็น ประชาชนยังไม่มีการตื่นตัว เพราะการระดมความคิดถูกจำกัดด้วยงบประมาณและเวลา นอกจากนี้ในแต่ละครั้งที่มีการจัดเวที ข้อมูลจะไม่ค่อยไปถึงกลุ่มคนที่สนใจการเมืองจริง ๆ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีความสนใจในการเผยแพร่เอกสารสำคัญ 2 ฉบับในการออกเสียงประชามติ ได้แก่ร่างรัฐธรรมนูญ และสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญพร้อมตารางเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แต่บรรยากาศของการลงประชามติเริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการลงประชามติ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ได้ลงมือกระจายขยายความรู้ด้านการลงประชามติให้กับสมาชิกขององค์กรตนเอง

ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มย่อยของผู้วิจัยพบว่า ประชาชนทั่วไปในเขตชนบท ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ในขณะที่ประชาชนในเขตเมือง มีการติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ และหลังจากการลงประชามติผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์ พบว่าประชาชนในพื้นที่ชนบทมีการติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องด้วยต้องการให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ในส่วนของความรู้ความเข้าใจในการลงประชามติ ประชาชนก็ยังไม่มีความรู้เพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของประชาชนในเขตเมืองก็มีความสนใจด้านการเมืองต่อเนื่องต่อไป

2.6.2 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ   ผู้วิจัยสรุปว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงมติเห็นชอบ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ลงมติเห็นชอบเพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งตามการรณรงค์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์  จุลานนท์ ซึ่งเป็นคนเพชรบุรี

อย่างไรก็ตามคนกลุ่มที่สนใจเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ไปลงมติเห็นชอบ โดยให้ความสำคัญต่อประเด็นเนื้อหาดังนี้  คือสิทธิกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 28 (2) และ (3)) ซึ่งได้ตัดคำว่า “ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ” ออกไป ถือเป็นความก้าวหน้าของสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ, การปฏิรูประบบสวัสดิการทางสังคม (มาตรา 51), การคุ้มครองสิทธิเกษตรกรรายย่อย (มาตรา 61), ภาคประชาสังคมกับการมีส่วนร่วม (มาตรา 231, 243), สิทธิในที่อยู่อาศัยและความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกคน (มาตรา 55), การเมืองภาคพลเมือง มีส่วนร่วมและขยายการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ส่วนประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ไม่เห็นชอบได้แก่ การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, การเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ, การเปลี่ยนการนับคะแนน, การบริหารนโยบายของพรรคการเมืองถูกจำกัดด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในมาตรา 78 ถึง 87, การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา, การเพิ่มอำนาจและบทบาทของศาล องค์กรอิสระ และข้าราชการประจำ แต่ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ถูกตรวจสอบ, แนวโน้มการสืบทอดอำนาจของผู้นำทหารผ่านกฎหมายความมั่นคงภายใน, ความเชื่อว่าการลงประชามติไม่ใช่การล้มล้างรัฐธรรมนูญการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังเป็นเรื่องที่ทำยาก และที่มาของรัฐธรรมนูญมีความไม่ชอบธรรม

2.6.3 ปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียง ฯ  ผู้วิจัยรายงานว่าปัจจัยที่ทำให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบได้แก่ นายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นคนเพชรบุรี จึงทำให้คล้อยตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี ที่โน้มน้าวให้ประชาชนมาลงประชามติเห็นชอบ นอกจากนี้ยังมีความต้องการให้การเมืองทั่วไปสามารถดำเนินต่อไปได้, การมีการรณรงค์จากเครือข่ายต่างๆ อย่างเข้มข้น, เพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ส่วนปัจจัยที่เป็นเหตุที่ทำให้ประชาชนออกเสียงไม่เห็นชอบได้แก่ ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีความชอบธรรมมากกว่า, การถูกบีบบังคับทางอ้อมให้ลงประชามติเห็นชอบ, รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาและที่มาไม่ชอบธรรม ฯลฯ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ได้แก่ ความหวังว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกให้กับวิกฤติการณ์ทางการเมือง, ต้องการให้มีการเลือกตั้ง, การกำหนดเป้าหมายจากกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ แต่ผู้วิจัยไม่ได้ระบุว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ์

2.6.4 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ  หน่วยงานหลักในการเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกไปลงประชามติคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสยุมพร ลิ่มไทย) มีบทบาทเป็นแกนกลางให้กลุ่มข้าราชการทุกสังกัดทั้งส่วนจังหวัด และอำเภอได้ประชุมทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการออกเสียงประชามติ พร้อมตั้งเป้าหมายรณรงค์ให้ทุกอำเภอมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความพร้อมในการจัดเตรียมการลงประชามติเป็นอย่างดี นอกจากนี้การรณรงค์จากส่วนกลางได้มีผลทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการลงประชามติอีกด้วย

2.6.5 แนวทางในการปรับปรุง ผู้วิจัยไม่ได้แสดงความแนวทางในการปรับปรุงการลงประชามติโดยตรง แต่จากการวิเคราะห์แนวทางการเขียนของผู้วิจัยทำให้เห็นว่า ผู้วิจัยเสนอให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในตัวรัฐธรรมนูญและหลักการแห่งประชาธิปไตยเป็นสำคัญ โดยเสนอว่า  เห็นด้วยกับการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรมีการถกเถียงเชิงหลักการว่ารัฐธรรมนูญควรมีหลักการใดที่ยึดถือเป็นกรอบแนวคิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในหลักการแห่งประชาธิปไตย การมีรัฐธรรมนูญที่ดี และสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้อนุมานจากข้อเขียนว่า ผู้วิจัยมีความเห็นว่าหากประชาชนมีความเข้าใจในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแล้ว จะส่งผลให้เกิดความกระตือรือร้นในการลงประชามติในที่สุด

2.7 จังหวัดกรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเอกสาร การวิเคราะห์เนื้อหา และการศึกษาวิจัยโดยใช้แบบสัมภาษณ์ แต่เช่นเดียวกับจังหวัดเพชรบุรี ผู้วิจัยไม่ได้ระบุรายละเอียดและข้อมูลของผู้ให้สัมภาษณ์ อีกทั้งไม่ได้ระบุวิธีการทำวิจัยโดยละเอียด ทำให้รายงานการวิจัยของกรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงที่จะเป็นลักษณะเป็นรายงานข้อคิดเห็นของผู้วิจัยมากกว่าเป็นการทำงานวิจัยที่เก็บตัวอย่างจากประชาชน

2.7.1  ความเคลื่อนไหว  ผู้วิจัยรายงานว่าหลังจากมีประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2550 มีกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และอีกหลายองค์กรต่างออกมาเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ ทั้งการให้การสนับสนุน และการคัดค้าน ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการลงประชามติคือ กลุ่มที่เคยร่วมขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายอื่น ๆ และประชาชนที่เห็นว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง และนำไปสู่การเลือกตั้ง ส่วนกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านคือ กลุ่มอดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทย กลุ่มนักวิชาการเช่น ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม,คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งกลุ่มอื่น ๆ ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

จากรายงานเบื้องต้นของผู้วิจัย ทำให้สรุปได้ว่า ความเคลื่อนไหวของประชาชน และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนจังหวัดกรุงเทพมหานครนั้นมีความคึกคักตื่นตัว และเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์การและแนวคิดทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐบาลชุดพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตามผู้วิจัยเพียงแต่รายงานความเคลื่อนไหวในส่วนประชาสังคมที่ตื่นตัวทางการเมือง โดยกลุ่มที่ตื่นตัวด้านประชามติเป็นกลุ่มที่ตื่นตัวด้านการเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังไม่มีการรายงานความเคลื่อนไหวของประชาชนส่วนใหญ่ ประชาชนที่อยู่นอกเครือข่ายของประชาสังคมกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่จะไปลงประชามติจริง ๆ

2.7.2 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ   ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นเหตุให้ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบได้แก่การลบข้อด้อยของรัฐธรรมนูญปี 2540 ในเรื่องที่กำหนดให้รัฐบาลเข้มแข็งจนไม่อาจตรวจสอบได้ โดยแก้ไขเรื่องสัดส่วน ส.ส. ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ และเรื่องที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่เน้นเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม โดยการลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน การสร้างดุลยภาพระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ เพิ่มเสรีภาพของประชาชน เพิ่มสวัสดิการสังคมขั้นมูลฐาน ซึ่งข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที

ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบได้แก่ ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ ความไม่มีเหตุผลของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และความไม่เป็นประชาธิปไตยของเนื้อหารัฐธรรมนูญ เช่นการให้อำนาจข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะคณะตุลาการเพิ่มขึ้นมาก ตลอดจนบทบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรม ความไม่เป็นธรรมในการลงประชามติ และการปฏิเสธระบบทหารและอำมาตยาธิปไตย

2.7.3 ปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียง ฯ  ผู้วิจัยรายงานว่าปัจจัยที่ทำให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบได้แก่การรณรงค์อย่างเต็มที่ของฝ่ายรัฐ  และการสนับสนุนจากองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ, การที่ร่างรัฐธรรมนูญจะมาแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540, ระยะเวลาที่จำกัดเกินไป และการเห็นข้อผิดพลาดของการบริหารงานของรัฐบาลชุดเก่า

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ประชาชนลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบคือ การต้องการต่อต้าน คมช., การเห็นความไม่เป็นธรรมในการออกเสียงประชามติ และการได้มาของรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย, การไม่ต้องการให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยกลับมามีอำนาจอีก และประชาชนบางกลุ่มที่ยังศรัทธาในรัฐบาลเดิม

2.7.4 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ ผู้วิจัยรายงานสรุปการเคลื่อนไหวของหน่วยงาน กลุ่ม องค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจากหลายเว็บไซต์ ในลักษณะการเรียงลำดับเหตุการณ์ตามวันเวลา แต่ไม่ได้วิเคราะห์ในเชิงองค์กร หรือสถาบัน ว่ามีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้ลงคะแนนเสียงประชามติ

2.7.5 แนวทางในการปรับปรุง ผู้วิจัยเสนอแนะแนวทางในกระบวนการออกเสียงประชามติสอดคล้องกับงานวิจัยฉบับอื่น ๆ ที่ได้กล่าวมา เช่นชี้ให้เห็นความสำคัญของความพยายามหาทางให้ประชาชนทราบ เข้าใจเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้ได้ นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ ผู้วิจัยเสนอว่า ควรส่เสริมให้ประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกันมีช่องทางในการเสนอแนวความคิด ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวนการออกเสียงประชามติ และให้หน่วยงานต่าง ๆ วางตัวเป็นกลาง 

3. บทสรุปด้านระเบียบวิธีวิจัย จังหวัดที่เลือกวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ คือ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สุรินทร์ และอุตรดิษฐ์นั้น จำกัดการวิเคราะห์เฉพาะที่ “ตัวแปรเดี่ยว” ไม่มีการวิเคราะห์เรื่อง “ตัวแปรคู่” ผลของการวิจัยจึงเป็นการหาค่าความถี่ การหาค่าร้อยละและค่าเฉลี่ยเลขคณิต ซึ่งไม่ได้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวแปร แม้ว่าจังหวัดสุรินทร์จะมีการวิเคราะห์ตัวแปรคู่ คือการแสดงความคิดเห็นในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยวิเคราะห์ร่วมกับตัวแปรด้านภูมิลำเนา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แบบตัวแปรคู่ อย่างไรก็ตามไม่มีการรายงานค่านัยยะสำคัญทางสถิติ (significant) ทำให้ไม่ทราบผลว่าการที่ประชาชนจำนวนมากไม่ตอบคำถามนั้น มีนัยยะทางสถิติเพียงพอที่จะนำไปอ้างอิงได้หรือไม่ นอกจากนี้คำถามในแบบสอบถามบางส่วนเป็นคำถามปลายเปิด ทำให้หาความถี่ไม่ได้ แปรผลและวิเคราะห์ข้อมูลลำบาก เสี่ยงที่จะเกิดอคติบางคำถามในแบบสอบถามไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทำให้ไม่ได้ประโยชน์ในการใช้แบบสอบถามได้อย่างเต็มที่

ในส่วนของจังหวัดตรัง มีการทำวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ซึ่งในบางประเด็นผลที่ได้จากการทำวิจัยสองแบบมีความสอดคล้องกัน แต่ในบางประเด็นผลที่ได้ไม่มีความสอดคล้องกัน เช่นคำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์เรื่องปัจจัยที่ทำให้ประชาชนออกไปลงประชามติ แต่ผู้วิจัยไม่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ทำให้ไม่มีการวิเคราะห์ในจุดนี้

นอกจากนี้พบว่าผู้วิจัยจังหวัดเพชรบุรีและกรุงเทพมหานครใช้แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพทั้งหมด คือการสัมภาษณ์ และสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ตลอดจนการวิเคราะห์เนื้อหา แต่ผู้วิจัยจากทั้ง 2 จังหวัดไม่ได้ระบุวิธีการโดยละเอียดของการเก็บข้อมูล เช่นจำนวนครั้งของการสัมภาษณ์ จำนวนคนและรายชื่อของผู้ให้ข้อมูล การตรวจสอบความมี authenticity ของผู้ให้ข้อมูล ในขณะที่ผู้วิจัยจังหวัดตรัง มีการระบุรายชื่อผู้ให้ความเห็นในการสัมภาษณ์อย่างเจาะลึก ด้วยเหตุนี้จึงมีความเสี่ยงที่ข้อมูลที่ผู้ศึกษาวิจัยจังหวัดเพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร   จะเป็นบทความวิเคราะห์จากความเห็นส่วนตัวมากกว่าการนำเสนอรายงานการวิจัยอย่างตรงไปตรงมา

4. ด้านเนื้อหาสาระ
ในการวิเคราะห์รายงานการวิจัยทั้ง 7 ฉบับ พบว่ามี 5 จังหวัดคือสุรินทร์ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ อุตรดิษถ์ และเพชรบุรีมีข้อสรุปทั้งหมดที่ใกล้เคียงกันคือโดยรวมแล้วประชาชนไม่มีความตื่นตัวในการลงประชามติ และการลงประชามติเริ่มมีความเคลื่อนไหวหลังจากที่หน่วยงานราชการเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นภาคประชาชนประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ประเด็นในรัฐธรรมนูญ แต่การไปลงประชามติหรือไม่เป็นผลของปัจจัยภายนอก ทำให้สรุปได้ว่าการลงประชามตินั้นที่จริงแล้วเป็นเรื่องการชิมลางเลือกตั้งมากกว่าสาระที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ และแม้กระทั่งเมื่อภายหลังช่วงการลงประชามติแล้ว ประชาชนก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีประชาชนในจังหวัดตรัง และกรุงเทพมหานคร มีความตื่นตัวในการลงประชามติมากกว่าประชาชนในจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งผู้วิจัยให้ความเห็นว่าไว้ว่า ในจังหวัดตรังเป็นเพราะลักษณะธรรมชาติคือความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนชาวจังหวัดตรังอยู่แล้ว ดังนั้น แม้จะไม่สนใจในตัวประเด็นในรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนชาวจังหวัดตรังก็ออกไปลงประชามติ และในส่วนของกรุงเทพที่ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การตื่นตัวเรื่องการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ตื่นตัวมาตั้งแต่ช่วงการเดินขบวนและการตั้งเวทีขับไล่รัฐบาลชุดที่แล้ว

ในส่วนขององค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการประชาสัมพันธ์การลงประชามตินั้น พบว่าในทุกจังหวัด ข้าราชการ หน่วยงานราชการมีบทบาทมากในการประชาสัมพันธ์การลงประชามติ ในทุกจังหวัดระบุว่า กกต. มีบทบาทน้อยกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด   ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีบทบาทน้อย เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองก็ยังมีไม่มาก (ยกเว้นจังหวัดตรัง) ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับการที่รัฐบาล คมช. ยังไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบของพรรคกาเรมือง  เช่นเดียวกับนักการเมืองที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวมาก เพราะอยู่ในระหว่างการควบคุมบทบาททางการเมือง แต่มีบทบาทต่อการตัดสินใจของประชาชน

ในส่วนของการปรับปรุงควรมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่อง การลงมติ โดยให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนทราบว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร มีความสำคัญกับประชาธิปไตยอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร นอกจากนี้ยังต้องให้ความรู้กับความหมายของคำว่า รับร่าง หรือ ไม่รับร่าง ว่ามีผลต่อประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ในรายงานทุกฉบับพบว่าทุกจังหวัดให้ความเห็นเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาและรูปเล่มที่ไม่เหมาะสม, ควรเร่งแจกคู่มือและร่างสำหรับประชาชนก่อนการลงประชามติ, ควรรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลงมติ เพิ่มการประชาสัมพันธ์แบบเคาะประตูบ้าน ตลอดจนควรมีรางวัลเพื่อจูงใจให้คนรณรงค์ซึ่งกันและกันให้ออกไปใช้สิทธิให้มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 197249เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อย่างน้อย ดีกว่าไม่ให้ความรู้อะไรแก่ประชาชนเลย

ความจริงก็คือการซื้อเสียงของนักการเมืองนั้นทำประเทศเสียหายมากกว่า

ลองอ่านข่าวเรื่องการทุจริตดูแล้วกัน เป็นมากี่ปี กลุ่มนักการเมืองหน้าเดิม ๆทั้งนั้น

  • ประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องการเมืองการปกครอง
  • การลงประชามติรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
  • เสียดายรัฐบาลชุดของ พล.อ สุรยุทธ ไม่ได้ใช้สื่อของรัฐที่มีมากมายให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเกิดความเข้าใจอันดีในหมู่ประชาชนทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งขาดข้อมูลที่เป็นจริง..ทำให้การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีมากซึ่งจริงๆแล้วประชาชนไม่ได้รู้หรือเข้าใจว่าเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญเป็นยังไงแต่เกิดจากการชี้นำของกลุ่มก้อนพรรคการเมืองที่เบียงเบนบิดเบือน..หากประชาชนยังไม่รู้การเมืองที่ถูกต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณธรรมและดำเนินไปภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูแล้วบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆยาก..อยากบอกว่าเราจะทำอย่างไรที่จะให้ความรู้เรืองการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรมแก่ประชาชนได้
  • เท่าที่เห็นก็มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี่แหละที่ให้ความรู้เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข..รัฐธรรมนูญปี 50ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องดีจริงๆโยมต้องช่วยสร้างความรู้ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมจริงๆและประชาชนจะหันมาตระหนักและรู้สำนึกในหน้าที่ของตนเอง.เมื่อประชาชนมีความรู้ก็จะดูแลตรวจสอบการใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ..สาธุ

 

สวัสดี ค่ะฝากลิงค์ "การประชุม Case จริยธรรม ครั้งที่ 3 (Ethical Conference 3) ณ ห้องประชุม เยียน โพธิสุวรรณ โดย ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ สถาบันสมทบ มหาวิทยาลัยมหิดล" http://gotoknow.org/blog/manywad/324525 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท