beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

beeman พาเที่ยวงานนเรศวรวิจัย (ปี ๔) <๒> : ถอดบทเรียนที่โรงเรียนบ้านตะโม่ประชาสรรค์


เป็นการถอดบทเรียนโดยใช้ เทคนิคของ AI เริ่มจากนักเรียน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จนกระทั่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียน
นักเรียนบ้านตะโม่ประชาสรรค์

     

 

 


       พามาชมงานนเรศวรวิจัยปีที่ ๔ (วันแรก)กันต่อนะครับ (พาไปบูธของโรงเรียนบ้านตะโม่ประชาสรรค์-คำว่าตะโม่เพี้ยนมาจากคำว่า "ตาโม้")... ผมเห็นเด็กๆ กำลังตำสมุนไพรกันอยู่ก็สนใจ ไม่ใช่ผมสนใจเรื่องสมุนไพรเท่าไรหรอก แต่ผมเห็นพวกเด็กนักเรียน ผมอยากรู้ว่าเขาจะให้ความรู้อะไรกับผมได้บ้าง (เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์, เชื่อว่าความรู้ในตัวตนมากกว่าความรู้ในตำรา) ผมคิดว่าผมคงได้อะไรดีๆ จากบูธนี้แน่ๆ  ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ของผมนั่นเอง

ดญ.เพ็ญนภา ประสงค์ กับ ดช.อนุชิต ผิวชา นักเรียนชั้นม.๒

 

       พอเดินเข้าไปก็มี เด็กชาย อนุชิต ผิวชา นักเรียนชั้น ม.๒ มาให้คำอธิบายถึงสมุนไพรพื้นบ้าน ก่อนอื่นผมก็สอบถามเด็ก ๒ เรื่อง คือ (๑) ความหมายของนามสกุล คือ ผิวชานี่หมายความว่า ผิวมันชาไปหมดแบบเป็นเหน็บชา หรือว่า ผิวสีชา (กาแฟ) เด็กตอบว่า "เป็นแบบหลัง" (๒) ผมถามว่าสมุนไพร แปลตรงตัวง่ายๆ ว่าอย่างไร เด็กอาจจะไม่เข้าใจคำถาม จึงตอบไม่ได้ (คำถามนี้ผมนึกที่หน้างาน ไม่ได้เตรียมมาก่อน)  ผมเฉลยง่ายๆ

  • สมุน แปลว่า ลูกน้อง, ไพร แปลว่า ป่า ดังนั้น คำแปลง่ายๆ ตรงตัว คือ ลูกน้องที่มาจากป่า...รากเหง้าดั้งเดิมของสมุนไพรต้องมาจากป่า..อิอิ (นี่ผมแอบสอนเด็กทางอ้อมแบบ Problem based ไปแล้ว)

      ทีนี้เด็กมี "ขมิ้นชัน" (ลืมถ่ายรูปมา) ก็อธิบายว่าเอาขมิ้นชัน+มะกรูด+ข่า ประมาณนี้ เอามาตำให้เข้ากันแล้วใส่ลูกประคบ นำมาใช้ในการบรรเทาอาการปวดต่างๆ....แค่ขมิ้นชันตัวเดียวผมก็ไม่มีความรู้แล้ว....ผมถามว่าขมิ้นชันหามาจากไหน ไปซื้อจากตลาดได้ไหม เด็กบอกว่าหายากในตลาด ต้องไปหาในที่ซึ่งเขาปลูกกัน ไปแบ่งเขามา...นี่ก็ได้ความรู้ไปอีกแบบ

      ระหว่างนั้นก็มีเพื่อนของอนุชิต ชื่อ เด็กหญิงเพ็ญนภา ประสงค์ เข้ามาร่วมแจมด้วย แต่ผมยังไม่ได้สอบถามความรู้อะไร แต่อยากจะบันทึกภาพไว้ก่อน...ได้ภาพดั่งข้างบน

      พอถามเด็กต่อ คุณครูวนิดา รัตนเสน เริ่มสนใจ ก็ให้คำอธิบายเพิ่มเติม ผมก็เลยขอถ่ายภาพคุณครูกับนักเรียนเสียเลย...(การขอถ่ายภาพแล้วเขาอนุญาตให้ถ่ายได้ นี่ผมคิดว่าเป็นวิธีการเปิดใจกันแบบหนึ่งที่ดีทีเดียว เปิดใจแบบไม่รู้ตัว)

 

เด็กชายอนุชิต กับ คุณครูวนิดา รัตนเสน

      

       คุณครูวนิดานี้แกเป็นครูผู้ชำนาญการพิเศษ (มางานนี้ได้เป็นผู้นำเสนอผลงานด้วย) ดูแลวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ส่วนที่พานักเรียนมาออกบูธนี่อยู่ในวิชาเลือก (สาระเรียนรู้เพิ่มเติม) ที่นักเรียนสนใจ มีนักเรียนเลือกเรียนเทอมหนึ่งประมาณ 10 กว่าคน...

       ผมสอบถามถึงความรู้เดิม...มาจากคุณแม่ชื่อ อำนวย (ฮ่าๆ พอผมพูดถึง คุณอำนวย คุณกิจ แกเลยเข้าใจว่าผมพูดถึงคุณแม่..อิอิ)  คุณแม่อำนวยไปเรียนวิชาเกี่ยวกับสมุนไพรและการนวดที่วัดโพธิ์กรุงเทพฯ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว...หลังจากมีความเชี่ยวชาญพอสมควรก็มาช่วยงานพัฒนากร ที่สำนักงานพัฒนาแรงงานจังหวัดในประมาณปี 2542-2544

        จากนั้นคุณครูวนิดา ก็สนใจที่จะอนุรักษ์เรื่องไทยๆ หรือภูมิปัญญาไทยเอาไว้ เพราะว่าพืชสมุนไพรมีอยู่รอบตัว และรอบๆ โรงเรียนก็มีทรัพยากรท้องถิ่นพร้อม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ผอ.โรงเรียนคือ ผอ.มนัส อินหอม...

 

ผอ.มนัส อินหอม

 

        แค่ถ่ายรูปผอ. แต่ยังไม่ได้คุยกัน เพราะกำลังคุย (AI) กับอ.วนิดาค้างอยู่ในเรื่องสมุนไพร กับ ลูกประคบสมุนไพรยังซึ่งไม่ทันจบดี ก็ไปพบผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เป็นถ่านจากผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือใช้..คุณครูวนิดากำลังจะเล่าต่อเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียน..ได้คำพูดเด็ดของครูวนิดามา ๑ ข้อ คือ "ครูไม่มีสิทธิ์เบื่อ" (ในการเสาะแสวงหาความรู้ของนักเรียน)

ครูวนิดา, อนุชิต และเด็กชายธนกร ทองทา

       ครูเล่ากระบวนการ (เคารพความรู้ในตัวตนมากกว่าตำรา) คิด "ถ่านจากผลผลิตทางการเกษตร" เอามาต่อยอดเป็น"ถ่านผลไม้ดูดกลิ่นเพื่อสุขภาพ".(ในตู้เย็น)..คือ เด็กชายธนกร ทองทา อยู่ชั้น ม.๑ มีคุณพ่อเป็น "คนเผาถ่าน" เผาถ่านจากไม้ที่เหลือใช้...ความรู้นี้ก็ถูกถ่ายทอดไปยังลูก... พอช่วงเปิดเทอมเด็กชายธนกรมาโรงเรียนเรียนมาเรียนวิชาสาระความรู้เพิ่มเติม..ก็ช่วยกันคิดกับครูเริ่มจากเผาถ่านก่อน แล้วมีการโยนผลไม้ลงไป แล้วผลไม้กลายเป็นถ่าน...

คุณครูและผลงานถ่ายผลไม้ดูกกลิ่นเพื่อสุขภาพ

      แต่พอลองมาทำจริง เผาในภาชนะ ก็ได้ไม่ดี จึงต้องทดลองใหม่ ๔ ครั้ง ถึงจะได้ผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงในวันนี้ ซึ่งใช้เวลาคิดและทดลองทำเพียง 2 เดือน แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์...แต่ที่น่าสนใจคือมีกระบวนการคิดร่วมกัน กระบวนการทดลองและจดบันทึก ซึ่งจะได้รับคำแนะนำกระบวนการตีโจทย์ปัญหา จากคุณครูที่ปรึกษาและท่านผอ.

      ถ่านผลไม้ดูดกลิ่นเพื่อสุขภาพอย่างเดียวยังไม่น่าสนใจ ต้องพัฒนา packaging ด้วย ครั้งแรกทำเป็นชะลอม แต่ว่าทำไม่ทัน ได้เด็กนักเรียนหญิงทำเป็นกล่องใส่ แล้วใส่ในถุงพลาสติกอีกครั้ง...แสดงให้เห็นถึงการเป็น "ทีมเรียนรู้-Team Learning"

      ถึงตรงนี้...ท่านผอ.ก็สนใจในตัว beeman เลยเชิญไปนั่งสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ท่านผอ.เรียนจบ จากคณะศึกษาศาสตร์ มศว พิษณุโลก ตอนปี 2526 พอกลับไปก็ได้เป็นครูใหญ่ พอประมาณปี 2528  ก็ได้ย้ายไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านตะโม่ประชาสรรค์ (จนถึงปัจจุบัน) ต่อจากครูใหญ่คนเดิมที่เคยสอนผอ.มนัสมา กลับมาเรียนปริญญาโทภาคค่ำอีกครั้งจนจบในปี 2532

     ผอ.มนัสบริหารโรงเรียนนี้ต่อเนื่องมา ไม่เคยย้ายไปไหน จากโรงเรียนประถมเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ในเนื้อที่เพียง ๒ ไร่ แต่มี 11 ชั้นเรียน  ซึ่งการทำงานส่วนหนึ่ง ต้องอาศัยการทำงานกับชุมชน...

     ผอ.มีแนวการพัฒนานักเรียนให้คิดเป็น จนกระทั่งเด็กคนหนึ่งซึ่งจบไป สามารถสร้างงานมีรายได้เดือนละ 8 ล้านบาท...

     มีตัวอย่างเรื่องเล่าทับซ้อนครับ เรื่อง "ถอดบทเรียนภูมิปัญญาการตีมีด" แสดงถึงวิธีการสอนให้นักเรียนคิดเป็น ทำอย่างไร

  1. ทีมของครูมาวางแผนกัน หาครูภูมิปัญญาท้องถิ่น พอดีในท้องถิ่นมีภูมิปัญญาในการตีมีด ก็ส่งคนไปติดต่อให้เป็นวิทยากรที่บ้าน แล้วแต่งตั้งเป็น "ครูกิตติมศักดิ์" มีการนัดแนะกันว่าจะส่งนักเรียนมาเรียนที่บ้าน
  2. จากนั้นส่งคุณครูไปเรียนรู้ขั้นตอนการตีมีด
  3. แล้วก็มาพูดคุยกับนักเรียนในชั้น แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม แล้วแต่ละกลุ่มก็จะได้รับความรับผิดชอบในการศึกษาขั้นตอนต่างๆ ในการตีมีด ไม่ซ้ำกัน กลุ่มละ 2-3 ขั้นตอน
  4. กำหนดวันไปศึกษาดูงานการตีมีดภาคปฏิบัติ...โดยคณะครูนำทีมไป
  5. หลังจากกลับมาโรงเรียน ก็จะมาจับกลุ่มวิเคราะห์กระบวนการตีมีด ถอดบทเรียน
  6. นักเรียนสรุปว่า อยากให้มีกลุ่มตีมีดในโรงเรียน โรงเรียนก็สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ โดยนักเรียนออกแบบประยุกต์ช่วยกันสร้าง อันที่สร้างเองไม่ได้ก็ไปเชิญครูผู้สอนช่วยมาสร้างให้
  7. ต่อไปนักเรียนกลุ่มนั้นก็ตีมีดเองได้ แถมยังถ่ายทอดไปให้รุ่นน้องได้อีกด้วย
  8. บางคน เห็นแค่ตะปู ก็นำมาตีเป็น "มีดจิ๋ว" ได้
  9. เมื่อนักเรียนตีมีดได้มากเข้าก็จัดให้มีการขายมีด กลายเป็น 1 โรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์

       รายได้ของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งนักเรียนเอาไป ส่วนที่สองครูเก็บไว้ใช้ลงทุนหมุนเวียนต่อ ส่วนที่ 3 ให้กับโรงเรียน เพราะต้องใช้ทรัพยากรของโรงเรียน

      ผมยังได้ความรู้ วิธีคิด และปัญหาต่างๆ ของการจัดการโรงเรียน..จากผอ.มนัส ซึ่งเป็นผู้รู้จริง ทำได้จริง...

      วิธีคิด วิธีสอน ของผอ.มนัส ใช้กระบวนการทำลายกำแพงสกัดกั้นพลังของมนุษย์ 6 ข้อ ของท่านอาจารย์หมอประเวศได้หมด 6 ข้อที่ว่านั้นคือ

  1. เปลี่ยนวิธีคิด
  2. เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
  3. เคารพความรู้ในตัวตนมากกว่าความรู้ตามตำรา
  4. สร้างเจดีย์จากฐาน
  5. ใช้ใจนำ ความรู้ตาม
  6. ความไม่เป็นทางการ สำคัญกว่าความเป็นทางการ

      สำหรับบันทึกนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้....ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาอ่าน

 

beeman by Apinya

มนุษย์ผึ้งมหัศจรรย์  
神奇的蜂爷
  
(shen2  qi2  de1  feng1  ye2)

 

หมายเลขบันทึก: 197246เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบพระคุณ อ.beeman มากๆครับที่นำบรรยากาศของงานมาให้ติดตาม

ช่วงวันงานไม่มีโอกาสเดินดูบริวเณงานเลย เพราะเป็นพิธีกรอยู่ห้องประชุมใหญ่ครับ

  • ขอบคุณที่แวะมาอ่านและทิ้งรอยไว้
  • งานยุ่งนี่เองเลยไม่มีโอกาสได้ชมงาน..อิอิ

ดูน่าสนใจมากเลยค่ะ เรื่องถ่าน

ตอนนี้กำลังจะทำวิจัยจบเกี่ยวกับเรื่อง

ถ่านกัมมันต์นำมาบำบัดน้ำเสีย

แต่ยังหาไม้ที่มีคุณสมบัติตามต้องการนอกเหนือจากกะลามะพร้าวไม่ได้เลยค่ะ

ยังไงก็ช่วยแนะนำด้วยนะคะอาจารย์

ขอบคุณค่ะ

  • ลองติดต่อไปที่ ครูทองปาน เผ่าโสภา ศูนย์เรียนเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนตำบลหนองกุลา 086-2063680

ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องถ่านดูดกลิ่น แต่ยังหาประเภทของถ่านไม่ได้ค่ะ

  • ต้องทดลองทำถ่านหลายๆ ประเภทครับ
  • พอได้ถ่านแล้ว ค่อยๆ ทดลองดูดกลิ่น

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท