BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วัดเปลี่ยนไป ๖


วัดเปลี่ยนไป

๗. การทำวัตรสวดมนต์

การทำวัตรก็คือการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยด้วยภาษาบาลีนั่นเอง หลังจากทำวัตรเสร็จแล้วก็จะมีการสวดบทปัดเวก ทบทวนบทสวดมนต์บางบทตามที่เห็นสมควร กรวดน้ำ แผ่เมตตา และจบด้วยการกราบลาพระรัตนตรัยอีกครั้ง ธรรมเนียมการทำวัตรสวดมนต์ประจำวัดนี้จะมีสองเวลาเช้า-เย็น เรียกกันว่าทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ส่วนเวลาที่ทำก็แล้วแต่ความสะดวก เฉพาะทำวัตรเช้าจะทำตั้งแต่เวลา ๔ นาฬิกาก่อนออกบิณฑบาต แต่จะทำหลังจากบิณฑบาต หรือทำภัตรกิจเสร็จแล้วก็ได้ เรื่องนี้แล้วแต่ข้อตกลงภายในวั

ตามประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า วัดที่เน้นการปฏิบัติกรรมฐานหรือที่เรียกกันว่า "วัดปฏิบัิติ" มักนิยมทำวัตรเช้าตั้งแต่ ๔-๕ นาฬิกาก่อนสว่าง หลังจากนั้นก็จะต่อด้วยการนั่งสมาธิ หรือบางรูปรู้สึกง่วงหาวนอนก็จะออกไปเดินจงกรมนอกโบสถ์หรือศาลาการเปรียญที่ร่วมประชุมกันทำวัตร เพื่อรอเวลาได้อรุณจะได้ออกบิณฑบาต ส่วนวัดทั่วไปก็จะร่วมกันทำวัตรหลังจากทำภัตรกิจเสร็จในเวลาประมาณ ๗-๘ นาฬิกา แต่เรื่องการทำวัตรเช้าของวัดปฏิบัติกับวัดทั่วไปนี้ก็ไม่แน่นอนนัก โดยมากจะขึ้นกับข้อตกลงหรือความเหมาะสมของัดนั้นๆ มากกว่า ส่วนการทำวัตรเย็น ทั้งวัดปฏิบัติและวัดทั่วไป จะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณห้าโมงเย็นไปจนถึงประมาณสองทุ่ม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของวัดนั้นๆ เช่นเดียวกัน

ระยะเวลาในการทำวัตรสวดมนต์นั้น จะเป็นการทำวัตรเช้าหรือทำวัตรเย็นก็ตาม อย่างน้อยก็ประมาณ ๒๐ นาที ส่วนอย่างมากก็ไม่เกิน ๒ ชั่วโมง ยกเว้นแต่วัดปฏิบัติบางวัดที่ต่อด้วยการนั่งสมาธิอีก ๑ ชั่วโมง ก็อาจยืดเวลาไปเป็น ๓ ชั่วโมง

ตามที่เล่าไว้ข้างต้นนั้นเป็นธรรมเนียมการทำวัตรเช้า-เย็นทั่วไปเท่านั้น แต่มิใช่ว่าการทำวัตรเช้า-เย็นทำนองนี้จะมีตลอดปีเหมือนกันทุกวัด บางวัดก็ทำเฉพาะภายในพรรษา บางวัดก็ทำเฉพาะวัตรเช้าหรือวัตรเย็นอย่างใดอย่างหนึ่ง บางวัดก็ทำเฉพาะระยะแรกของเทศกาลเข้าพรรษาที่เรียกกันว่า "หัวษา" เพียงสามวันหรือเจ็ดวันเท่านั่นเอง และธรรมเนียมทำวัตรเช้า-เย็นประจำวัดทั้งหลายก็ค่อยๆ หดสั้นลงเรื่อยๆ

เมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็ก บางช่วงก็ไปเป็นเด็กวัด จำได้ว่าเวลาพระทำวัตรเย็น บางครั้งพวกเราเด็กวัดก็จะตามพระไปนั่งอยู่ภายในโบสถ์ไว้พระสวดมนต์ด้วย สาเหตุก็คือ "กลัวผี" เพราะว่ากว่าพระจะออกจากโบสถ์ก็จะมืดสนิท (สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้) ในสมัยนั้นผู้เขียนและบรรดาเด็กวัดทั้งหลายมักจะสวดมนต์ผิดๆ ถูกๆ ได้บ้าง เพราได้ฟังพระสวดทุกเย็นและหัดเลียนเสียงพระสวดไปด้วย ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้และนำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็คือ บางครั้งเมื่อพระสวดไปได้สักระยะหนึ่ง พ่อท่านซึ่งเป็นประธานทำวัตรสวดมนต์ในโบสถ์จะหันหน้ากลับมาบอกพระอื่นๆ ด้านหลังว่า "พอนะ" แต่บางครั้งพระด้านหลังจะแย้งว่า "ต่อสักหีดก่อนตะ วันนี้ไม่มีไหร่ทำ" อะไนทำนองนี้... นั่น ! เป็นเหตุการณ์ในอดีตซึ่งแตกต่างกันลิบลับกับสมัยนี้

ปัจจุบันนี้ การทำวัตรเช้า-เย็นของพระภิกษุสามเณรในวัดนอกเมืองเวลานอกพรรษาไม่ค่อยจะมีแล้ว พระภิกษุรูปใดที่ชอบสวดมนต์ก็อาจทำส่วนตัวที่กุฏีของท่าน ส่วนวัดในเมืองที่มีพระภิกษุสามเณรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดที่เจ้าอาวาสมีตำแหน่งเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ระดับเจ้าคณะตำบลหรือเจ้าคณะอำเภอขึ้นไป ก็ยังคงรักษาไว้ได้เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีของวัดในปกครอง แต่แม้จะเป็นวัดในเมือง ถ้ามีพระภิกษุสามเณรเพียง ๒-๓ รูป บางวัดเวลานอกพรรษาก็ไม่มีการทำวัตรเช้า-เย็น เช่นเดียวกัน สำหรับวัตปฏิบัตินั้นอาจเป็นภาวะบังคับให้ต้องมีการทำวัตรเช้า-เย็นเป็นปรกติ เพราะถ้าแม้กระทั้งการทำวัตรเช้าเย็นก็ยังไม่มี จะกล่าวอ้างว่าวัดของท่านเป็นวัตรปฏิบัติก็ดูจะขัดแย้งกันในตัวเอง

ส่วนสาเหตุของธรรมเนียมการทำวัตรเช้า-เย็นที่ขาดหายไปในหลายๆ วัดนั้น ผู้เขียนคิดว่ามีสาเหตุอยู่หลายประการ ประการแรกก็คือ ในปัจจุบันวัดทั่วไปมีผู้ที่บวชอยู่นานๆ น้อยลง เวลาจะทำวัตร พระภิกษุสามเณรแรกบวชที่จำสวดมนต์ได้น้อยๆ มีมากกว่าที่จำสวดมนต์ได้มากๆ พวกที่สวดมนต์ได้มากๆ ก็เลยขี้เกียจนำสวด เมื่อมไ่มีใครนำสวดก็เลยไม่มีการทำวัตร กลายเป็นว่าใครชอบสวดมนต์กไปสวดเอาเองที่กุฏีที่อยู่ของท่าน

ประการต่อมาก็คือวิทยุโทรทัศน์เริ่มเข้ามาอยู่ในวัดทำให้พระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่พอใจที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินด้้วยการฟังวิทยุหรือชมรายการโทรทัศน์มากกว่าการความใจที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินด้วยการฝึกหัดทบทวนการท่องบทสวดมนต์ ผลที่ตามมาก็คือพระภิกษุสามเณรในยุคนี้ค่อยๆ จำบทสวดมนต์ได้น้อยลงกว่ายุคสมัยก่อนเป็นลำดับๆ

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195348เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท