ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน


คาดไม่ถึงว่า การเปลี่ยนผ่านทางสังคมจะเป็นเรื่องเจ็บปวดถึงเพียงนี้...การเปลี่ยนผ่านของนิยาม "ความดี" และ "ความถูกต้อง" คือปัญหาที่แท้จริง

เพิ่งมีเวลาได้ดู “The Last Samurai” จนจบ  ...   คาดไม่ถึงว่า  การเปลี่ยนผ่านทางสังคมจะเป็นเรื่องเจ็บปวดถึงเพียงนี้ .....  สังคมไทยที่มี ความหลวม  ไม่ยึดมั่นกับอะไรมากนัก   ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย คงไม่รู้สึกอะไรมากนักกับการเปลี่ยนผ่าน    ความรู้สึกเศร้าตอนหลวงประดิษฐ์ไพเราะถูกห้ามเล่นระนาด  (ห้ามเล่นดนตรีไทยเพราะไม่ทันสมัย)  ใน โหมโรง   ยังไม่ให้ความรู้สึกบีบคั้นเท่าตอนที่ ซามูไรถูกกดตัวให้นั่งลง  กระชากศีรษะเพื่อตัด มาเกะ  หรือ ผมซามูไร

 

คนที่ไม่สนใจความหมายของ  การมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และวิธีคิดแบบ บูชิโด นั้นอาจจะไม่รู้สึกอะไรกับฉากนี้เท่าไร    เกียรติของซามูไรคือการได้ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่เพื่อปกป้องจักรพรรดิและประเทศ     ดาบและผมซามูไร  เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณของชนชั้นนักรบที่ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ     เมื่อวันหนึ่งประเทศต้องการความทันสมัยและต้องการสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า      ปืนและเครื่องแบบทหารอย่างตะวันตกก็ถูกนำเข้ามาแทนที่    ซามูไรกลายเป็นสิ่งล้าสมัยและไม่จำเป็น    เข้าใจได้ว่า  การถูกจับตัดผมและการที่จักรพรรดิ์ไม่ยอมรับดาบซามูไรไว้จะเจ็บปวดสักเพียงใด   การสู้เพื่อศักดิ์ศรีจนวินาทีสุดท้ายแม้จะรู้ว่าต้องแพ้ และการทำฮาราคีรี หรือฆ่าตัวตายเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตนจึงเป็นเรื่องถูกต้องและควรกระทำ

 

เราเพิ่งได้คิดและตั้งคำถามกับตัวเองว่า   ได้เคยเรียนประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านของหลายๆสังคมโดยไม่รู้สึกรู้สมอะไรมากนัก    แท้จริงคงมีผู้คนมากมายที่เจ็บปวด   สังคมผ่านช่วงต่างๆเหล่านี้มาได้อย่างไร   ความตาย ความขมขื่น   เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน  ไม่ว่าในกระบวนการปฏิวัติหรือปฏิรูป  โดยเฉพาะในที่ที่ผู้คนจริงจังกับชีวิตและความเป็นไปของสังคม

 

นึกถึงงานเขียนของกนกพงศ์  เรื่อง แผ่นดินอื่น   ตอนที่พ่อเฒ่านั่งมองผืนดินที่แกเคยรู้จักมากว่าหกสิบปีคล้ายมองคนแปลกหน้า    ตาน้ำที่เคยไหลซึมเข้ามาในดินหายไปไหน  ธรรมชาติที่แกเคยรู้จักหายไปไหน   แกไม่เข้าใจ และแกก็เริ่มจัดการชีวิตของตัวเองไม่ถูก  (นั่นเป็นผลพวกของเทคโนโลยีใหม่ที่รัฐเข้ามาขุดเจาะ ทำให้แผ่นดินเปลี่ยนไป)    เป็นฉากของ การเปลี่ยนผ่าน อีกฉากหนึ่งที่น่าเศร้าใจสำหรับผู้คนสามัญ

 

ความคิดมาจบลงที่สถาบันที่เติบโตมา    ผู้คนในสังคมแห่งนี้เปลี่ยนไป   จิตวิญญาณ และการให้ความหมายต่อหน้าที่ความรับผิดชอบเปลี่ยนแปลงไป   ผู้คนเริ่มสื่อสารกันคนละความหมายเพราะมีเป้าหมายกันคนละอย่าง   ก็เป็นอีกฉากของ การเปลี่ยนผ่าน  ที่เกิดคำถามว่า จะอยู่กับมันอย่างไร

พุทธศาสนาบอกว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น 

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยึดมั่นถือมั่น คือ "ความดี" 

 

การเปลี่ยนผ่านของนิยาม "ความดี" และ "ความถูกต้อง"  คือปัญหาที่แท้จริง

ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความขมขื่น

หมายเลขบันทึก: 195045เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

  • ศักดิ์ศรีมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ แต่คนทั่วไปมักจะมองข้าม
  • ความขมขื่น เจ็บปวด มักจะเกิดขึ้นได้เสมอๆๆค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ปัทมาวดี

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ September 11 ซึ่งเป็นหนังสั้นสิบเอ็ดเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11

[ช่วงต่อไปนี้ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ครับ] พออ่านบันทึกของอาจารย์แล้วเลยนึกถึงเรื่องหนึ่งในภาพยนตร์นี้  ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายในภาพยนตร์ กำกับโดย Shohei Imamura  เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ 9/11 โดยตรง เพราะกล่าวถึงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเสนอเรื่องราวของทหารที่กลับจากสงครามแล้วก็เปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ยอมพูดจากับใคร ครอบครัวก็ลำบาก คนในชุมชนก็ไม่สบายใจ แม่ของทหารก็ช้ำใจ พูดตัดพ้อกับเขาว่าไปเจออะไรมาในสงคราม ถึงไม่อยากจะเป็นคนแล้ว สุดท้ายเขาก็ถูกไล่ออกไปจากหมู่บ้าน ข้อความส่งท้ายของเรื่องนี้คือ "no war is holy."

เรียกน้ำตาได้เลยครับประโยคนี้ ผมเข้าใจว่าข้อความส่งท้ายนี้มีพลังมาก เนื่องจากคนญี่ปุ่นถือเกียรติการปกป้องจักรพรรดิ และการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ การที่ผู้กำกับญี่ปุ่นสื่อออกมาแบบนี้ ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าการอ้างเอาความศักดิ์สิทธิ์เข้าทำร้ายทำลายผู้อื่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายฝ่ายตนเองไปด้วย ผมเข้าใจว่าความต่างของชาติพันธุ์ ศาสนาและความเชื่อถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำร้ายทำลายกันมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ ทั้งที่จริงแล้วทุกศาสนาไม่ได้สอนให้คนฆ่ากัน

แต่การยอมรับความเปลี่ยนแปลง และความแตกต่างนั้นเป็นเรื่องที่ออกจะน่าลำบากใจครับ  โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเห็นความต่างหลากหลายในสังคมมาก่อน ยิ่งถูกสั่งสอนให้เชื่ออะไรสักอย่างฝังหัวแต่ยังเล็กและได้รับการตอกย้ำมาโดยตลอด (โดยเฉพาะในเรื่องความรุนแรง) ก็ยิ่งยากที่จะยอมรับความต่าง

ส่วนตัวผมรู้สึกเศร้าใจกับสถานการณ์ของบ้านเราตอนที่ผมเห็นนักวิชาการหลายท่านเข้าร่วมการชุมนุม และใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ตะโกนด่าฝ่ายตรงข้าม ผมว่าไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย คนเราพูดจาโวยวาย ด่าทอ สร้างความเกลียดชัง ก็ยิ่งทำให้ตัวเองตกต่ำลงไป จำได้ว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเคยขึ้นไปให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แบบนี้น่าจะดีกว่านะครับ

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับอาจารย์

  • ไม่ได้พบในนี้กันนานเลยนะครับ
  • ชอบ และเป็นด้วยกับคุณ ชยพร ครับ
  • มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกนักวิชาการควรหยิบมาสังเคราะห์กันมากๆหน่อย
  • การถ่อยห่างออกจาก ความดี และ ความถูกต้อง ของสังคมไทยนั้น น่าศึกษามากๆว่าอิทธิพลของ กิเลส ที่มีมาจากสารพัดสาเหตุนั้นน่ะ จะสร้างปัญหาให้แก่สังคมอย่างไร และไปจบลงที่ตรงไหน 
  • เราเห็นๆกันตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนใหญ่โต ความซับซ้อนทางระบบคิดที่หลุดออกจากคุณค่าทุนเดิมของเรานั้น  มันได้สร้างสังคมที่มีแต่การลอยตามน้ำ ไร้หลักยึดที่มั่นคง และในที่สุดก็สร้างความร้าวฉานขึ้นในครอบครัวไปจนถึงประเทศชาติ
  • การเปลี่ยนผ่านตรงนี้สำคัญยิ่งนัก ผมและเพื่อนร่วมงาน พยายามหยิบเรื่องราวนี้มากระตุ้นให้ชาวบ้านได้สำนึก และไตร่ตรองให้จงหนักก่อนที่จะตัดสินใจไหลตามการเปลี่ยนแปลงไป  แม้ว่าสังคมส่วนหัวจะเปลี่ยน และเราก็อยู่ในกระแสนั้นทั้งโดยบังคับและจำยอม และวิ่งตามไปเอง
  • สติ การไตร่ตรอง การทบทวนและการรู้เท่าทัน เป็นสิ่งที่เป็นงานเล็กๆที่ใครมองไม่เห็น แต่ความหมายมันยิ่งใหญ่เหลือเกินครับอาจารย์
  • ชอบจังเลย ที่อาจารย์เอาสาระนี้มากระตุกต่อมคิดครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ปัทม์

  • หายไปนานเลยครับ
  • งานเขียนวันนี้ ผมรู้สึกถึงพลังอะไรบางอย่าง
  • ขอบคุณครับ

มนุษย์ทุกยุคคงมีช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งภายในจิตใจตนเอง และจากสภาพแวดล้อมภายนอกทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติ และปรากฏการณ์ทางสังคม

ตอนน้ำท่วมใหญ่คีรีวงปี2531 ผมฟังเรื่องเล่าที่สะเทือนใจว่าแม่ตะกรุยหาลูกที่ยังแบเบาะในน้ำที่เพิ่งหลุดมือจมหายไป นั่นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่มาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ

สำหรับปรากฏการณ์ทางสังคมย่อมมีค่านิยม ความเชื่อ ฯลฯ หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมที่แผกต่างกัน กดทับ แผ่ขยาย คุกคามชีวิตที่เปราะบาง

การศึกษาควรสร้างคนที่พร้อมเรียนรู้ในความเปลี่ยนผ่าน ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์เป็นวงจรเกิดดับของความทุกข์และความสุข โดยมีความสงบเย็นเป็นที่หมาย เรื่องภายนอกก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะฝ่าข้าม

เป็นสัจจธรรมทุกประการครับ

ประเทศเรากำลังเผชิญ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนและแสดงความคิดเห็นนะคะ ขอบคุณคุณชยพร คุณ pa daeng และคุณธัญศักดิ์มากค่ะ

สวัสดีอาจารย์เอก คุณแว้บ และคุณบางทราย อีกครั้งค่ะ  ไม่ได้คุยกันนาน แต่ก็ยังอ่านงานของทุกท่าน  และขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ค่ะ  ดูเหมือนทุกท่านก็มีข้อคิดและมุมมองในใจของตัวเอง  ดีใจที่ได้ช่วยกันคิดช่วยกันมองค่ะ

สวัสดีอาจารย์ภีมค่ะ  นอกจากความเห็นในเรื่อง "การเปลี่ยนผ่าน" แล้ว    ในฐานะที่เป็นผู้ชม "the last samurai" เหมือนกันอาจารย์ภีมตีความเรื่องนี้อย่างไร  อาจจะมีมุมมองอื่นที่แตกต่าง

การเปลี่ยนผ่านภายในจิตใจบุคคล  อาจจะละเลยการเปลี่ยนผ่านทางสังคม  (ตัวเองทำดีขึ้น หรือแย่ลง  ไม่สนใจว่าสังคมจะเป็นอย่างไร)   แต่การเปลี่ยนผ่านทางสังคม ย่อมกระทบต่อบุคคลที่เป็นสมาชิกของสังคมนั้น ไม่มากก็น้อย  คนดีจึงอาจอยู่ยากขึ้นในสังคมที่แย่ลง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท