ศาสตร์ในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเลว


เืพื่อนๆครับ...

หลายๆคนคงรู้สึกเช่นเดียวกันกับผมนะครับว่า สังคมสมัยนี้มีคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น คนไม่ดีก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อวานนี้ผมไปประชุมและเดินทางกลับมาพร้อมกับอาจารย์ที่ผมเคารพท่านหนึ่ง เราก็มีสุนทรียสนทนากันว่าเด็กนักศึกษาสมัยนี้ต่างจากเมื่อก่อนเยอะ มีพฤติกรรมที่ไม่ดีเยอะขึ้น อาจารย์ท่านนั้นก็บอกว่าเป็นเพราะครูอาจารย์ที่ไม่คอยอบรมสั่งสอนให้ดีพอ ผมก็มีความเห็นแย้งว่า ไม่จริงหรอกครับ ผมเชื่อว่าการจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากพื้นฐานตั้งแต่เด็กๆ กล่าวคือการเลี้ยงดูในครอบครัวของพ่อแม่ครับ....

เลยขอแชร์บทความข้างล่างนี้ให้อ่านกันครับ ว่าจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนเลวอย่างไรดี...

 

ศาสตร์ในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเลว
ผู้เขียน นายประสาร    ธาราพรรค

                ความรู้สึกของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กรุ่นใหม่ เด็กในทุกวันนี้ว่ามันเลวขึ้นทุกวันไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เอาแต่ใจ ไม่สนใจความรู้สึกใครนอกจากความพอใจของตัวเอง ไม่เห็นความสำคัญของคนรุ่นเก่า ยิ่งปู่ ย่า ตา ยาย เลิกคิดได้เลย   เด็กทุกวันนี้มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่รับผิดชอบ ไม่สนใจเรียน เห็นแก่ตัว รักความสบาย มั่วเพศ ชอบซิ่งมอเตอร์ไซค์ เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงที่ผู้ใหญ่พ่อแม่มักจะโยนความผิดที่ลูกหลานเลวเพราะบุคคลอื่นเพื่อตัวเองจะได้รู้สึกสบายใจ อย่างทุกวันนี้ผู้ใหญ่เรามักจะด่าเด็กว่าเด็กมันเลว มันเลวเพราะเพื่อน มันเลวเพราะมันตั้งใจจะเลว เลวตามสันดาน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเหตุที่เด็กมันเลวเพราะผู้ใหญ่มีส่วนสำคัญที่ทำให้มันเลว สิ่งที่เด็กผิดผู้ใหญ่นั่นแหละมีส่วนส่งเสริมในการที่เด็กทำผิดนั้นเหมือนกัน     
                ผู้เขียนซึ่งมีประสบการณ์อยู่กับวงจรปัญหาเด็กที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์แทบทุกรูปแบบมากว่าสามสิบปี ผ่านงานปกครอง งานอาจารย์ที่ปรึกษา  งานแนะแนว ฯลฯ ตั้งศูนย์เพื่อนช่วยเพื่อน ศูนย์ด้วยใจรัก รับฟัง รับรู้ปัญหาของเด็กที่เด็กไม่อยากบอกใคร ที่ใครไม่อยากฟัง จากปัญหาของเด็กที่เกิดขึ้น จึงประมวลออกมาเป็นศาสตร์แห่งการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเลว และแปลกอย่างสุด สุด ซึ่งคนในทุกวันนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสตร์นี้ในการเลี้ยงลูกและผลคือเด็กก็เป็นคนเลว เลวอย่างที่ตนเองคาดไม่ถึง และปัญหาเด็กเลวจะยิ่งทวีทับถมปัญหามากขึ้นทุกวัน ซึ่ง ศาสตร์ในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเลว (11 ไม่ ทำให้ลูกเลว)    มีดังนี้

1.       ไม่รักษาครอบครัว   ครอบครัวแตกแยก การหย่าร้างสูง นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดที่มีผลทำให้เด็กเลวสูงที่สุด ครอบครัวยุคใหม่เป็นครอบครัวที่เปราะบาง   ทะเลาะกันหน่อยก็เลิกไม่อดทน อดกลั้น สามีไปมีครอบครัวใหม่ ภรรยาไปมีสามีใหม่ ท้ายพวกลูกๆที่เกิดขึ้น พ่อก็ไม่อยากได้ แม่ไม่ต้องการ ลูกไปอยู่กับญาติ ญาติก็เบื่อหน่าย แล้วเด็กจะทำอย่างไร ใครก็ไม่ต้องการ เด็กที่สร้างปัญหาให้กับสังคมในทุกวันนี้อย่างน้อย 70% เด็กที่มีปัญหามีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ถามได้เลยเกิดจากครอบครัวแตกแยกเกือบทั้งสิ้น

2.       ไม่วางแผนครอบครัว ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้มีการวางแผนครอบครัวแต่มีบางส่วนบางกลุ่มไม่สนใจ อาทิ กลุ่มชุมชนแออัด(สลัม) ชนกลุ่มน้อย (ชาวเขา พวกอพยพ) ฯลฯ เลี้ยงลูกตามบุญตามกรรม มีก็กิน ไม่มีก็อด เด็กที่อยู่ในครอบครัวประเภทพี่น้องมากมาย บ้านคับแคบอึดอัดแทบหายใจไม่ออก บ้านคือสถานที่ไว้แค่นอน ทุกคนในบ้านต้องดิ้นรน ต่อสู้ จะชั่วจะดีไม่รู้ขอให้มีกิน แล้วพฤติกรรมเด็กจะเป็นอย่างไร คำตอบมีอยู่ในตัวแล้ว

3.       ไม่มีเวลา    คำตอบที่แย่ที่สุดในทุกวันนี้เมื่อเวลาเด็กมีปัญหาและทางโรงเรียนเชิญผู้ปกครองมาพบ คือ “ฉันไม่มีเวลาต้องทำมาหากิน”   ก็พ่อแม่ยังไม่มีเวลาให้กับลูกแล้วใครจะมีเวลาให้เล่า ผู้ปกครองจะผลักภาระการดูแลสั่งสอนเด็กให้เป็นหน้าที่ของครู ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง โรงเรียนและทางบ้านต้องร่วมกันแก้ปัญหาเด็กจึงจะสำเร็จ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำทั้งหมดไม่มีทางแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างถาวร แน่นอน  พ่อแม่ต้องมีเวลาให้กับลูก เรื่องนี้ขอย้ำสำคัญอย่างยิ่ง 

4.       ไม่สนใจ เด็กบางครั้งอยากอวด อยากพูดคุยกับพ่อแม่ อยากเล่าเรื่องทั้งทุกข์ สุขให้พ่อแม่ฟัง แต่พ่อแม่มัวคิดแค่ทำมาหากินไม่เคยสนใจเรื่องของลูก ไม่อยากรับฟังแค่ทำมาหากินก็เครียดพอแล้ว มาฟังเรื่องของลูกยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก ไม่เคยสนใจความรู้สึกที่แท้จริงของลูกว่าต้องการอะไร รู้สึกอย่างไรไม่เคยสนใจ ท้ายสุดกรรมก็ตามสนองเด็กก็เลยไม่สนใจพ่อแม่ เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างอยู่ ต่างฝ่ายต่างไป ตัวใครตัวมัน บ้านคือที่ซุกหัวนอน พ่อแม่เพียงคนจ่ายเงินเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ไร้รัก ไร้ผูกพัน ไร้ความมั่คงของครอบครัว

5.       ไม่อบรมสั่งสอนตามใจ ช่วงวัยเด็กพ่อแม่อาจมีการอบรมสั่งสอนลูกหลานบ้างแต่พอเด็กโตขึ้น  พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนมักจะมีความคิดสุดโต่งคือ หน้าที่การอบรมสั่งสอนควรเป็นหน้าที่ของครู ดังนั้นเมื่อเด็กทำผิดก็มักจะบ่นมักจะด่า และมักจะตามใจลูกในทางที่ผิดตามใจในทางไม่ถูกคิดง่าย ๆ เพียงให้เงิน หาของที่ลูกอยากได้ หาซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมส์ มอเตอร์ไซค์เอาไว้ซิ่ง ให้สิ่งของที่ลูกต้องการแค่นั้นพอแล้ว เมื่อเด็กโตมากขึ้นไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตาม เมื่อรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว อย่าลืมสำนวนไทยยังใช้ได้อยู่ “ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก” สำนวนนี้เก่าแก่แต่ยังใช้ได้

6.       ไม่มีเหตุผลใช้อารมณ์ พ่อแม่บางคนปกครองลูกแบบเผด็จการ ความคิดของตนเองคือความถูกต้องคือระเบียบที่ต้องปฏิบัติภายในครอบครัว เด็กห้ามเถียงห้ามโต้แย้งไม่ฟังเหตุผลของเด็ก เด็กบางครั้งพูดความจริงก็ไม่เชื่อไม่ฟัง เมื่อเด็กพูดความจริงผู้ใหญ่พ่อแม่ไม่รับฟัง คราวหนหน้าเด็กก็ไม่เห็นความสำคัญของการพูดความจริงความซื่อสัตย์ และเมื่อเด็กทำอะไรผิดพลาดแทนที่จะว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนก็ลงมาทุบตี หรือ ด่าและด่าอย่างเดียว เมื่อเด็กพูดความจริงแล้วถูกลงโทษการเอาตัวรอดคือการโกหกทุกรูปแบบก็จะติดตามมาเพื่อให้ตนเองพ้นผิด การโกหกก็เลยเป็นความเคยชินของครอบครัว

7.       ไม่ยุติธรรมชอบเปรียบเทียบ พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนที่มีลูกหลายคน สิ่งหนึ่งที่ตนเองมักจะกระทำโดยมีผลทำร้ายจิตใจลูกทางอ้อมโดยไม่รู้สึกตัว คือ ชอบเปรียบเทียบระหว่างลูกด้วยกัน ลูกคนนี้คนดีตั้งใจเรียนช่วยงานบ้านไอ้ลูกคนนี้มันไม่ได้เรื่องเอาแต่หนีเรียนขี้เกียจ ลูกคนนี้ของฉันมันเรียนเก่งได้เข้ามหาวิยาลัย ส่วนไอ้คนนี้เรียนไม่ได้เรื่องเข้าอะไรไม่ได้ พูดกับคนทั่วไปต่อหน้าเด็ก เด็กมันอายเป็น มันมีความรู้สึก คิดถึงความรู้สึกมันบ้าง ผู้เขียนเคยเรียกเด็กมาอบรมให้ตั้งใจเรียนเห็นแก่พ่อแม่ที่เขาอุตส่าห์หาเงินมาให้เรียนต้องลำบากยากแค้นเพียงใด คำตอบที่ได้ คือ ทุกคนคิดถึงแต่พ่อแม่ผม และผมล่ะใครคิดถึงผมบ้าง ความรู้สึกผมบ้าง พ่อแม่บังคับให้เด็กเรียนตามที่ตนเองต้องการ ไม่ใช่ที่เด็กต้องการ เช่น เด็กอยากเรียนพาณิช แต่พ่อแม่อยากให้เรียนช่าง  เด็กก็บอกแล้วบอกอีกว่ามันไม่อยากเรียนช่างแต่อยากเรียนพาณิช แต่ใครล่ะเป็นคนจ่ายเงินให้เรียน ผลสรุป ใครชนะ ?ผลสุดท้าย...  เด็กไม่เรียน เด็กมันเลวไหมที่มันไม่เรียนมันหนีเรียนใครมีส่วนทำ.......?

8.       ไม่มีกิจกรรมครอบครัว   ทุกวันนี้คำที่ฮิตติดปากของผู้ปกครองพ่อแม่ คือ ฉันไม่มีเวลา ฉันต้องทำมาหากิน  เวลาเรามีให้กับคนอื่นสารพัดสารพัน พรรคพวกชวนไปเที่ยวไปกินเรายังไป ใครเขาตายเขาบวชเรายังไปช่วย แต่กับครอบครัวกับลูกพูดได้คำเดียว ไม่มีเวลา เรื่องกิจกรรมครองครัวคนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่า เป็นเรื่องไร้สาระ ครอบครัวที่อบอุ่น ครอบครัวที่รักและผูกพัน สิ่งสำคัญคือการมีกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว ง่าย ๆ ทำได้ไม่ยากเลย กินอาหารร่วมกันจะเป็นมื้อไหนก็ได้ยิ่งดีที่สุดคงเป็นมื้อเย็น ท่องเที่ยวด้วยกัน ไปไหนด้วยกันไม่ต้องอะไรมากไปวัด ไปงานชาวบ้านด้วยกัน ฝึกเป็นนิสัยให้ความใกล้ชิด แล้วลูกมันจะอยู่แนบสนิทเราเอง ความใกล้ชิตพิชิตปัญหาครอบครัว

9.       ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี  พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะด่าเด็กเสมอทำไม่ไม่ทำตัวให้ดี เอาแต่เที่ยวเตร่ หนีเรียน ไม่รับผิดชอบ สูบบุหรี่ กินเหล้า เรียนไม่จบถูกไล่ออก สร้างสารพันปัญหา รองย้อนกลับไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง จะมีคำตอบที่น่าขำ น่าสมเพช คือ บางคนสมัยผู้ปกครอง พ่อแม่เรียนมันก็มีพฤติกรรมคล้ายลูกในเวลานี้ ทั้งขี้เกียจ ทั้งหนีเรียน ทั้งสร้างปัญหา ด่าลูกทำไมสูบบุหรี่กินเหล้า พูดไปพ่นควันบุหรี่ใส่ลูกไป ยกเหล้าเคล้าคำด่าไป ก็พ่อปู แม่ปู มันเป็นแบบฉบับของคำว่าเลว ลูกปูจะมีอะไรเหลือล่ะ...ถ้ามันไม่เลวตาม     

10.    ไม่ฝึกความรับผิดชอบ  การเลี้ยงลูกทุกวันนี้บางครอบครัวกระทำด้วยความรักเกินกว่าเหตุ ไม่ให้ลำบากไม่ให้ทำงาน กลับจากโรงเรียนแทนที่จะมอบหมายความรับผิดชอบภายในบ้าน หรือของตัวเองเช่นเก็บกวาดถูบ้าน ล้างจาน ซักเสื้อผ้า ฯลฯ ผู้ปกครองพ่อแม่กลับทำให้หมด กลัวไม่สะอาดกลัวไม่ได้เรื่อง เด็กเลยเพาะนิสัยความสบาย ความไม่รับผิดชอบ ทั้งตนเองและครอบครัว กลับมาถึงบ้านวางกระเป๋าหนังสือเสร็จเผ่นเข้าร้านเกมส์ หรือเข้าก๊วน เข้าแก๊ง หิวเมื่อไรกลับมาก็มากิน กินเสร็จเก็บยังแทบไม่ช่วยเก็บกลับไปอยู่ข้างนอกต่อ เพราะผู้ใหญ่ฝึกไว้อย่างนั้น พอเด็กโตขึ้นจะสั่งจะบอกให้ทำอะไรให้ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยงานบ้านเด็กมันก็ไม่สนใจหรือทำไปก็สักแต่ขอไปที การไม่ฝึกความรับผิดชอบให้ตั้งแต่เด็ก อนาคตเด็กจะเป็นคนรับผิดชอบหรือ

11.    ไม่สนใจใฝ่หาความรู้ จากสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยแล้วจะตกใจแบบสุด ๆ คือ คนไทยจะอ่านหนังสือที่มีสาระปีละ 7 บรรทัดคือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่สนใจใฝ่หาความรู้ อันส่งผลมายังเด็ก หากเด็กซื้อหนังสือการ์ตูน หนังสือมาอ่าน จะถูกด่าถูกว่า หาว่าใช้เงินไม่ประหยัดซื้อสิ่งของไร้สาระ ให้เงินไปกินไปใช้ดันไปซื้อหนังสือ ผู้ใหญ่ผู้ปกครองไม่เห็นคุณค่าของหนังสือ ของแหล่งความรู้ สนใจเปิดดูโทรทัศน์แต่รายการพวกละครน้ำเน่า พอเจอสารคดีเจอข่าวความรู้ดี ๆ ก็เปลี่ยนทันที เด็กก็เลยเจอแต่น้ำเน่าเรื่องไร้สาระ ไม่เห็นคุณค่าของการอ่าน การดูในสิ่งที่เป็นสาระ ท้ายสุด เด็กจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นเด็กไร้สาระด้วยประการฉะนี้
 
ศาสตร์ในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเลวเพียง 11 ประการ ที่ยกมากล่าวข้างต้น ผู้อ่านลองพิจารณาดูว่าตนเองได้กระทำไปสำเร็จแล้วกี่ประการหรือได้รับประสบการณ์ผ่านมากี่ข้อ หากท่านทำได้หรือผ่านมาครบกระบวนการ 11 ข้อแล้วไซร้ ลูกหลานท่านจะประสบความสำเร็จเป็นเด็กเลวได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน   ความทุกข์ไร้สุขของครอบครัวจะเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและถาวรตลอดไป
 
.........................................................
 
แหล่งข้อมูล
                http://nongkoro.spaces.live.com/blog/cns!49D3CO3202F8ED79!3380.entry

หมายเลขบันทึก: 193389เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบมุมมองครับ คุณหมอ :)

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

* บทเรียนนี้ดีสุดๆ เลยค่ะ

* บทสรุปกระใจเหลือเกิน

* เป็นกำลังใจให้ค่ะ

* สุขกายสุขใจนะคะ

  • เข้าใจว่าครอบครัว
  • มีผลต่อเด็กมากๆๆครับ
  • ครอบครัวอบอุ่น
  • ดูแลลูกดี
  • มีชัยไปกว่าครึ่งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท