เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (๑) : บันทึกการเดินทางของดวงดาว


ผมชอบหนังสือเล่มนี้เพราะหลายเรื่องสะท้อนภาพความเป็นนิสิตนักศึกษา หรือปัญญาชนของชาติ

(๑)  .....

 

 

ผมมีหนังสือประเภทบันเทิงคดีอยู่ประมาณไม่น้อยกว่า   พันเล่ม  ซึ่งนั่นเป็นการบันทึกสถิติย้อนหลังเมื่อสัก ๕  ปีที่แล้ว   โดยซื้อหนังสือในแต่ละครั้ง  ผมมักจะเขียนไว้ที่ปกในของหนังสือเสมอว่า...ซื้อเมื่อไหร่  ?  ซื้อจากที่ไหน ? ราคากี่บาท  ?.... รวมถึงแรงบันดาลใจ  หรือห้วงความรู้สึกตนเองในขณะซื้อ -  


หรือแม้แต่สภาพดินฟ้าอากาศ  ผมก็ไม่ลืมที่จะบันทึกไว้ว่าขณะที่ซื้อหนังสือนั้น  ท้องฟ้า  ท้องถนน  และสายน้ำเป็นเช่นใดบ้าง

  

ทุกวันนี้  ผมยังซื้อหนังสือเหมือนเดิม  หากแต่ซื้อน้อยลง  และอ่านหนังสือน้อยลง 
ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นเพราะไม่มีเวลาไปร้านหนังสือ  และการงานอันหนักหน่วงก็พรากผมไปจากโลกของหนังสืออย่างน่าเจ็บใจ  เพราะถ้าสมองไม่ว่างพอ  ผมก็ไม่มีแรงจูงใจพอที่จะอ่านหนังสือได้

 

 

 

(๒)  .....

 

 

 

เมื่อคืนที่ผ่านมา -
ผมนั่งทำงานที่สำนักงานจนเกือบรุ่งสางเลยก็ว่าได้  บางจังหวะเดิน ๆ นั่ง ๆ  บางจังหวะก็จัดเรียงเก้าอี้เป็นเตียงนอนชั่วคราว 
และผมก็บอกไม่ได้เช่นกันว่า  งานอะไรกันนักหนาถึงดาหน้ามาให้คิดและจัดการอยู่อย่างไม่รู้จบ
 

 

จวบจนรุ่งเช้านั่นแหละผมถึงกลับไปที่ห้องพัก  เพื่อทำหน้าที่ของคุณพ่อบ้าน  ด้วยการพาอัศวินน้อยทั้งสองอาบน้ำ  แต่งตัว  และป้อนข้าวพวกเขาอย่างเป็นสุข  ก่อนจะพัดหลงไปยังตู้หนังสือของตนเอง  จึงนึกได้ว่า ...นานและนานแค่ไหนแล้วนะที่ผมไม่เคยเลยที่จะจัดเรียงหนังสือของตนเอง

 

 

 

(๓)  .....

 

 

ย้อนกลับไปสัก ๔   ปีที่แล้ว   ผมใช้เวลาอยู่กับหนังสือในตู้หรือชั้นตัวเองอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง  ผมสามารถบอกได้เลยว่า  หนังสืออะไร เล่มไหนวางเรียงอยู่ตู้ใด   และเรียงราย หรือซ้อนทับกันอยู่บริเวณใดของตู้

 
หลายคนที่มีโอกาสเข้ามาเล่นที่ห้องก็มักแปลกใจว่า  หนังสือมากมายเช่นนั้น  ทำไมผมถึงจดจำได้ว่าแต่ละเล่มจัดวางอยู่มุมใดของตู้หนังสือกันบ้าง ?


สำหรับผมแล้ว 
ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นเรื่องพิลึกกึกกืออะไรเลย   เพราะเมื่อเราให้
ใจและให้เวลาไปกับอะไรสักอย่าง  เราก็ย่อมจดจำมันได้เสมอ  แค่หลับตาก็ย่อมเห็นภาพนั้น ๆ  แจ่มชัดราวกับแตะต้องสัมผัส

และทั้งปวงนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการให้ใจและให้เวลากับสิ่งนั้น ๆ  และถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา

 

 

 

(๔)  ...

  

 

เช้าของวันนี้   ผมนึกขึ้นมาได้ว่าควรจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับหนังสือได้บ้าง  หลังจากก่อนหน้านี้เคยขนออกไปจำหน่าย และให้คนเช่า  หรือแม้แต่นำไปบริจาคก็มีมากเหมือนกัน

 

 

หากแต่คราวนี้ ...
ผมกลับมองในสิ่งที่ตรงกันข้าม  ผมคิดเองตัดสินเองว่าจะนำเรื่องราวของหนังสือในตู้หนังสือของตนเองมาบอกกล่าวกับมิ่งมิตรทั้งหลาย   เผื่อบางทีจะเป็นการแบ่งปันทางปัญญา  หรือการเชื่อมโยงมิติทางความคิดสู่กันและกันโดยมีหนังสือเป็นสะพาน หรือแม้แต่เวทีให้เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ร่วมพบพานกันทางความคิด

  

 

(๕)  .....

 

 

และหนังสือเล่มแรกที่ผมถือติดมือในวันนี้เพื่อประเดิมการเปิดบันทึกในหัวข้อ เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน  ก็คือ  บันทึกการเดินทางของดวงดาว  ซึ่งเขียนโดย  ประสิทธิ์   รุ่งเรืองรัตนกุล

  

 

 

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมรวมบทร้อยกรองและเรื่องสั้นมาอยู่ด้วยกัน  พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี  ๒๕๒๒  โดยสำนักพิมพ์ พี.พี  จำนวน ๔,๐๐๐  เล่ม  และจำหน่ายในราคาเล่มละ  ๑๕  บาท  (แต่ผมซื้อมาในราคาเล่มละ  ๕๐  บาท)

 

 

ผมซื้อมาเมื่อปี  ๒๕๔๒ -
ตอนนั้นซื้อมาเก็บไว้หลายเล่ม  โดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าอยากแจกจ่ายให้นิสิต หรือน้องนุ่งอันเป็นที่รักคอเดียวกันได้อ่านกัน ได้เสพวรรณกรรมกันอย่างออกรส

 

 

ผมชอบหนังสือเล่มนี้เพราะหลายเรื่องสะท้อนภาพความเป็นนิสิตนักศึกษา  หรือปัญญาชนของชาติอยู่อย่างน่าสนใจ  เรียกเป็นวัยรุ่น ๆ หน่อยก็ประมาณ "โดนใจ"  นั่นเอง  และแต่ละเรื่องก็ดูเหมือนจะโน้มเอียงไปในทำนองตีแผ่ภาพชีวิตในแง่มุมที่อัปลักษณ์เสียด้วยสิ !   

 

 

และในความเป็นจริงเราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  หนังสือคือเครื่องมือหนึ่งของการบันทึกความเคลื่อนไหลของสังคม  เฉกเช่นที่นักวิชาการได้นิยามแนวคิดนี้ในทำนองว่า ดูวรรณกรรมจากสังคม ..ดูสังคมจากวรรณกรรม  ซึ่งก็หมายถึงสถานะอันสำคัญของหนังสือ (วรรณกรรม)  นั้นก็เป็นประหนึ่งกระจกสะท้อนสังคมดี ๆ นี่เอง

 

  

 

(๖)

 

 

และจากนี้ไป  คือ  ส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่เกี่ยวกับนิสิตนักศึกษา หรือปัญญาชนของชาติที่ตีพิมพ์ในหนังสือเรื่องดังกล่าว  

 

 

-        แด่ ...นางแบบที่มหาวิทยาลัย

...

กระโปรงเปิดขาอ่อนชัด
เข็มขัดเหมือนรองสะดืออยู่
เสื้อรัดอกตั้งสะพรั่งพรู
พุ่งชูเครื่องหมายสถาบัน
ใส่รองเท้าส้นสูงหกนิ้ว
สูงลิ่วเชียวสาวสวรรค์
แหวนกำไลประดับประดาสารพัน
ช่างสรรหามาประดับตัว

...

 

-         คาสิโนน้อย ๆ ที่มหาวิทยาลัย

 

....

นี่หรือชนชั้นปัญญาชาติ
ไยขาดสติวินิจฉัย

เล่นการพนันในมหาวิทยาลัย
หรือทำอะไรก็ได้
กูอภิสิทธิ์ชน

...
นี่หรือมหาวิทยาลัย
แหล่งให้การศึกษา
กลายเป็นคาสิโน ..อนิจจา

เพาะวิชาความเชี่ยวชาญการพนัน

ที่นี่อภิสิทธิ์สถาน หรือ

แม้มือกฎหมายกลายเป็นหมัน
เล่นที่ไหนตามจับพัลวัน

แต่ปล่อยมันถ้ามหาวิทยาลัย

....

 

 

 

-        การพนันในมหาวิทยาลัย : เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ใคร ๆ เขาว่าท่านเป็นมันสมองของชาติ
ท่านเป็นปัญญาชน

ท่านมีวิจารณญาณที่ดี

ใคร ๆ ก็ศรัทธาท่าน

ท่านปราดเปรื่อง

ท่านใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์
เล่นการพนันในมหาวิทยาลัย

เป็นการพักผ่อนสมอ

...

 

 

-        นักศึกษา

 

 

ก่อนอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า

นักศึกษามาถึงคณะแล้ว

บ้างอ่านหนังสือเรียน

บ้างจับกลุ่มคุยกันอย่างสนุกสนาน

 

แล้วต่างก็เข้าเรียนอย่างหื่นกระหาย

ความหิวโหยตัวหนังสือระรี้ระริกเต็มนัยน์ตา

เขียน  เขียน  เขียน  จด   จด  จด

ทุกคำที่หลุดจากปากอาจารย์

เพื่อเก็บไว้ท่อง ท่อง  ท่อง

 

ชั่วโมงว่าง

บ้างไปเตร่ย่านการค้า

บ้างไปดูภาพยนตร์

บ้างจับกลุ่มคุยกันอย่างสนุกสนาน

วันนี้ยายตุ๊แต่งตัวเซ็กซี่เป็นบ้าเลย
ลิ้ปสติคแท่งใหม่เป็นไงบ้าง
เดี๋ยวไปนั่งค้อฟช้อพดีกว่า
ยกกระจกส่องหน้า
แก้มซ้ายแดงไปหน่อย

...

 

 

-        ไม่มีข่าวจากบัณฑิต

 

...

ปัญญาชนวันนี้อยู่ที่ไหน

พิบัติภัยไฟเย็นเห็นไหมนั่น

คนอดอยากทรมานมานานวัน

ยุติธรรม์เสรีสิทธิ์ถูกลิดรอน

การศึกษาบนภาษีพี่น้องราษฎร์

เรียนรู้ศาสตร์เพียงผิวนอกที่หลอกหลอน

ไม่รับสัจจ์ปรัชญาประชากร

หลงคำสอนเพียงแค่เห็นแก่ตน

เปล่าเปลืองงบประมาณการศึกษา

เสริมคุณค่าเฉพาะหมู่ดูไร้ผล

อนาถผู้ชื่อว่าปัญญาชน

กลายเป็นคนสืบเชื้อสายพวกนายทุน

 

จากนิสิตนักศึกษามหาบัณฑิต

อภิสิทธิ์สืบทอดตลอดรุ่น

ขึ้นหอคอยงาช้างอย่างมีบุญ

ลืมเกื้อหนุนทั่วถ้วนมวลประชา

มีบัณฑิตทำไมในวันนี้

เมื่อเป็นบัณฑิตที่ไม่มีค่า

ในระบบวิชาการเพื่อการค้า

มีมหาวิทยาลัยทำไมกัน

 

 

 

-        เธอผู้มาใหม่

 

...

อย่าหลงตัวเองนัก

เธออาจเก่ง  ฉลาด ที่ผ่านเข้ามาในรั้วนี้ได้

แต่เธอคิดไหมว่า 

เธอมีโอกาสที่จะเก่ง  ฉลาด  ต่างหาก

 

การศึกษาคือการแข่งขัน

ต้องแก่งแย่ง  ชิงดีชิงเด่น

คนรวยคนจนได้เรียนไม่เท่ากัน

เพียงเพราะมี เงิน  ไม่เท่ากัน

มันยุติธรรม หรือ

              ทั้ง ๆ ที่ทุกคนเป็นคน

 

 

ทั้งหมดนี้อาจฟังดูหม่น ๆ  เครียด ๆ  ไปบ้าง  แต่ก็อย่างว่าในยุคสมัยหนึ่ง  เรื่องราวเหล่านี้อาจกลาดเกลื่อนเตะตาอย่างก่ายกอง  หรือแม้แต่ในปัจจุบันก็อาจมีสภาพไม่ต่างกันนักก็เป็นได้

 

จริง หรือเท็จ ...
ก็คงต้องอยู่ที่การเสพสังเคราะห์วรรณกรรมของแต่ละท่าน

 

และในภายภาคหน้า  หากมีโอกาสผมจะนำบทกวีฉบับสมบูรณ์ครบทุกบทมาให้อ่าน  จะได้ไม่ต้องอ่านแบบค้าง ๆ คา ๆ  และงง ๆ  กับการต้องจินตนาการในบทที่เหลือกันเองอย่างชวนปวดหัว

 

นี่แหละครับ...คือหนังสืออีกเล่มที่ผมปรารถนาให้มิ่งมิตรได้พานพบ  และที่สำคัญคืออยากให้น้องนิสิตของผมได้พบเจอ

 

 

.....

๙  กรกฎา  ๕๑
ฟ้าที่ฝนยังไม่หยุดรินสาย

 

หมายเลขบันทึก: 192986เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2008 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เนื้อหาในหนังสือยังคงทันสมัยอยู่ถึงปัจจุบันนะครับ .. เหมือนโลกที่วนเวียนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ซ้าแล้ว ซ้ำเล่า

ขอบคุณ คุณแผ่นดินที่ชอบ "หนังสือ" เหมือนตัวผมเอง :)

สวัสดีครับ คุณ Wasawat Deemarn

เรียนตามตรงว่า  ผมเข้าไปอ่านบันทึกของท่านบ่อยมาก  ชอบเนื้อหา อารมณ์ ..มุมมอง และถ้อยคำมาก รวมถึงการตระหนักว่าเป็นคอวรรณกรรมเช่นเดียวกัน

และสำคัญ ..
ผมชอบกลวิธีการนำเสนอในบันทึกของท่านมาก  ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเหลือเกินว่ามีความลุ่มลึกอย่างน่าทึ่ง จนบางทีผมเองก็ไม่กล้าทิ้งรอยใด ๆ ไว้

...

ผมเขียนบันทึกนี้  เพราะจากนี้ไปก็ตั้งใจแล้วว่า  จะนำหนังสือในตู้หนังสือมาบอกกล่าวเป็นระยะ ๆ ...

...

ขอบคุณครับ.
แล้วเราคงได้คุยกันอย่างเป็นลายลักษณ์มากขึ้น

....

โชคดีกับชีวิต - นะครับ

 

  • อืม เนื้อหาทันสมัยจริงๆด้วย
  • พี่ก็ชอบซื้อหนังสือ
  • แต่ไม่อยากบอกว่าบางเล่มซื้อมาหลายปีแล้วยังไม่ได้อ่าน อิๆ

หนังสือน่าสนใจจัง

ทำยังไงน๊า ถึงจะชอบการอ่านมากกว่านี้ ส่วนใหญ่จะอ่านแต่อะไรที่สนุกสนาน คลาดเครียด ตลก ขำๆ เช่น ขายหัวเราะ หนังสือบันเทิง เป็นต้น

  • สวัสดีครับพี่แผ่นดิน
  • ขอบคุณที่แนะนำหนังสือดีให้ตามอ่านนะครับ
  • ปล.ชอบกลอน ที่ยกมามากๆ มีพลัง...และเพราะมากๆ ครับ :)
  • ธุ คุณแผ่นดินค่ะ..

ดูวรรณกรรมจากสังคม ..ดูสังคมจากวรรณกรรม   เห็นด้วยค่ะ  กับนิยามนี้ ^^

  • ชอบอ่านหนังสือ
  • แต่ช่วงหลังเป็นหนังสือวิชาการ
  • ชอบของอาจารย์เสกสรรค์ ของเนาวรัตน์
  • แต่อ่านไปหลานแนว
  • วรรณกรรมบ้านเราสะท้อนอะไรหลายอย่าง
  • รอน้องแผ่นดินเขียนเรื่อง
  • ข้าคือกบฏจาก มมส
  • อิอิๆๆ

... เห็นหน้าปกหนังสือ แล้วรู้เลยว่าขลัง ค่ะ :)

... เห็นคุณแผ่นดิน รื้อค้น จัดหนังสือ แล้ว  

คิดถึง กรุ หนังสือ ของตัวเอง เลยค่ะ ...

... ดีใจ ค่ะ ดีใจ จะรอติดตามอ่าน เรื่องหนังสือ

แนวใหม่ๆ จากคุณแผ่นดิน นะคะ .. เป็นกำลังใจให้

... เสมอ เช่นเคย ค่ะ ... รักษาสุขภาพนะคะ

เนื้อหาหนังสือยุคก่อนสะท้อนถึงสภาพในปัจจุบันจริงๆ ด้วยค่ะ  หนังสือไม่มีวันเชยนะคะ  มีแต่ยิ่งเก่ายิ่งทรงคุณค่า  หาราคามิได้

ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันค่ะแต่ไม่ได้เป็นหนอนหนังสือ  ชอบอ้างกับคนอื่นว่าไม่มีเวลาอ่าน  แต่จริงๆ แล้วเวลามีแต่ไม่อ่านเอง  เป็นแบบนี้ประจำเลยค่ะ  แล้วก็ชอบซื้อหนังสือให้คนรอบข้างอ่าน  ให้คนรอบข้างยืม.....ยืมแล้วก็ยืมเลย

  • บทกวีข้างบน ผมชอบหลายบทครับ
  • การศึกษาบนภาษีพี่น้องราษฎร์

    เรียนรู้ศาสตร์เพียงผิวนอกที่หลอกหลอน

    ไม่รับสัจจ์ปรัชญาประชากร

    หลงคำสอนเพียงแค่เห็นแก่ตัว

  • กระเทือนในอารมณ์ครับ

พี่ก็ชอบอ่านหนังสือค่ะ น่าเสียดายหนังสือดีๆของคุณพ่อ เสียหายไปไม่น้อยจากการย้ายบ้าน และถูกฝน จะเข้ามาบอกว่า ชอบอ่านเหมือนกันค่ะ

สะท้อนสังคมชีวิตนิสิต นักศึกษาดีมากเลยครับพี่

แบบนี้ต้องขยายผลต่อให้เด็กๆได้ทราบ

สวัสดีครับ พี่อ็อด naree suwan

หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีสำหรับผม ... หลายอย่างผมได้เรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตจากหนังสือ..

แต่น่าเสียดายว่า  ผมอ่านหนังสือเยอะก็จริง แต่ไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่ชอบอ่านวรรณกรรมเสียมากกว่า  ไม่ว่าจะเป็นกวี  นิยาย เรื่องสั้น และความเรียง  พักหลังจึงพยายามอ่านให้หลากหลายขึ้น  และหันไปอ่านประเภทนิตยสารมากขึ้นเช่นกัน

.....

ส่วนหนังสือเล่มนี้  ต้องยอมรับว่า เนื้อหานั้น ยังคงร่วมสมัย  และใช้เป็นบทเรียนที่ดีได้  ผมมองว่า ตีแผ่ความเป็น "ปัญญาชน"  ได้อย่างแสบ ๆ คัน ๆ ....และมีอารมณ์ขันเปื้อนปนได้อย่างน่ายกย่อง

ขอบคุณครับ

น้อง นุ้ยcsmsu

คนเราชอบหนังสือกันคนละแบบ..  แต่จะดีมาก  หากเรานำเรื่องราวที่อ่านนั้น มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

สำหรับพี่แล้ว...อ่านการ์ตูนแล้ว กลับเครียด..ไปเลยนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท