Q & A ว่าด้วยผู้แทนของชาวไร่ชาวนา


เมืองไทยจะมีมาตรการที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของชาวไร่ชาวนาในระดับนโยบาย ที่เป็นมาตรการระยะยาว ที่มีความมั่นคง และ ยั่งยืน

 

 

 

 

Q & A  ว่าด้วยผู้แทนของชาวไร่ชาวนา

 

Q:  มีชาวไร่ชาวนาเป็นผู้แทนนั่งในสภาไหม

A:  ไม่มี

Q:  ทำไม

A:  ไม่มีชาวไร่ชาวนาคนไหนหาญกล้าสมัครผู้แทน

Q:  ทำไม

A:  เป็นที่รู้กันว่าการเมืองเมืองไทยเป็นเรื่องของคนมีอิทธิพล  และ คนรวย  ชาวไร่ชาวนาไม่มี
     คุณสมบัติ 2  ข้อนี้  จึงไม่มีชาวไร่ชาวนาคนไหนคิดว่าการเป็นผู้แทนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับตน

Q:  ถ้ามีชาวไร่ชาวนาลงสมัครผู้แทนจะมีคนเลือกเขาไหม

A:  คงมีบ้าง  อาจเป็นพ่อ แม่ ลูก เมียเขา ละมั้ง

Q:  ทำไม

A:  ชาวไร่ชาวนาด้วยกันเขาจะร้อง  ยี้!!!!!  เขาจะว่าคนที่ไปสมัครคนนั้นไม่เจียมกะลาหัว  แล้วเขาก็พา
      กันไปเลือกพวกเจ้าพ่อ หรือพวกเจ๊กในตลาดกันหมด  เขาเลือกเพราะมีคนมาบอกให้เลือกบ้าง 
      เลือกเพราะไปรับเงินเขามาแล้วบ้าง 

Q:  ชาวไร่ชาวนาคาดหวังอะไรกับคนที่เขาเลือกไปบ้างไหม

A:  ก็มี  ก็หวังให้พวกผู้แทนที่เขาเลือกมาช่วยเหลือเขา  มาทำประโยชน์ให้เขา  ทุกข์ร้อนอะไรเขาก็วิ่ง
     ไปหาผู้แทน  และเขาก็หวังให้ผู้แทนช่วยเขา  ใครช่วยเขาได้ เขาก็ยกย่องสรรเสริญ  ใครไม่ช่วย
     หรือ ช่วยเขาไม่ได้  เขาก็ด่า  ผู้แทนเมืองไทยเข้าใจความจริงข้อนี้ดี  อย่างเช่น  นายบรรหาร 
     ศิลปอาชา  เอางบประมาณแผ่นดินไปลงที่สุพรรณ จนเมืองสุพรรณดั่งเมืองสวรรค์
นั่นน่ะก็ด้วย
     เหตุผลนี้เป็นสำคัญ  คนเมืองสุพรรณก็ปลื้ม  เลือกตั้งที่ไรพวกนายบรรหารก็ยกโขยงเข้ามาทุกที 
     ผู้แทนคนไหนทำแบบนี้ชาวไร่ชาวนาหรือชาวบ้านก็จะยกย่องชื่นชมเขา  ไม่มีใครคิดว่าการทำแบบนี้
     เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 
และด้วยเหตุผลเดียวกัน  สมัยหนึ่ง ผู้แทนจึงมีงบประมาณเฉพาะตนที่สามารถ
     เอาไปพัฒนาจังหวัดในนามของตนได้  ซึ่งผู้แทนก็นิยมชมชอบ  ไม่มีผู้แทนคนไหนคิดว่าไม่ถูก 
     แล้วปฏิเสธเงินก้อนนี้

Q:  เอ้าวว! การทำแบบนี้ไม่ถูกหรอกหรือ  

A:  ไม่ถูก  การทำถนน  การทำศาลาริมถนน ฯลฯ  เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆที่มีหน้าที่เกี่ยวกับ
      เรื่องนั้นอยู่แล้ว  หากผู้แทนจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ เรื่องถนน  เรื่องศาลาฯลฯ  ก็แค่ไปดูว่าหน่วย
      งานที่รับผิดชอบนั้นเอาเงินไปสร้างถนน  ศาลา  ฯลฯ  ตามแผนที่กำหนดไว้หรือเปล่า  หรือการเข้า
      ไปกำหนดนโยบายเพื่อสร้างถนน  สร้างศาลา  ตามความต้องการจำเป็นของแต่ละถิ่นที่  โดยการ
      มองเป็นภาพรวมในระดับประเทศ  งานหลักคือการกำหนดนโยบาย  ผู้แทนจึงมักกำหนดนโยบายที่
      เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่  ดังนั้นคนกลุ่มใดไม่มีผู้แทนของตนไปนั่งใน
      สภาก็จะไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆของรัฐบาล  เช่น  ชาวไร่ชาวนาก็จะไม่ได้ประโยชน์
      จากนโยบายประกันราคาข้าว  ดังที่เราได้เห็นกันเป็นประจำว่ารัฐบาลเอาเงินไปให้โรงสีเพื่อซื้อข้าว
      ชาวนาในราคาประกัน  ซึ่งไม่มีโรงสีรายไหนซื้อในราคานั้นจริง  แต่เวลาทำเบิกก็จะเบิกเต็มราคา
      ประกันที่รัฐบาลกำหนด เพราะรัฐบาลไม่ไช่รัฐบาลที่ประกอบด้วยตัวแทนชาวไร่ชาวนา  แต่ประกอบ
      ด้วยผู้มีอิทธิพล  พ่อค้า และคนรวย 

Q:  แล้วใครจะเป็นปากเสียงให้ชาวไร่ชาวนาล่ะ

A:  ไม่มี 

Q:  ชาวไร่ชาวนาก็แย่นะซี

A:  ไช่  จะเห็นว่าเรื่องของชาวไร่ชาวนา  เรื่องของกรรมกร จะไม่ได้รับความสนใจหยิบยกขึ้นมาพูดกัน
      ในสภาสักเท่าไร 

Q:  ชาวไร่ชาวนาคิดอย่างไร

A:  ส่วนใหญ่ก็หวังว่ารัฐบาลจะต้องสนใจใยดีต่อปัญหาของตน  คิดว่ารัฐบาลที่ดีก็ต้องดูแลทุกข์สุขของ
      ราษฎร  แล้วก็คอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล  ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร 
      หรืออาจมีมาตรการช่วยเหลือแบบขอไปที  เช่น  ที่เพชรบุรี  มะนาวราคาถูกมาก  ผู้แทนเมืองเพชร
      ก็หางบที่ไหนมาไม่รู้สักล้านสองล้านกระมัง  เอามาพยุงราคา  ดำเนินการอยู่ได้วันสองวันเงิน
      หมด  แล้วก็เลิกกัน  เป็นต้น  มาตรการระยะยาวสำหรับราคาพืชผลทางการเกษตร  และราคาปัจจัย
      การผลิต  เช่น  ปุ๋ย  สารเคมี  เครื่องจักร และอุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น  ยังไม่เคยมีรัฐบาลใด
      ดำเนินการให้เป็นผลดีแก่เกษตรกรในระยะยาวเลย  ปัจจุบัน  ชาวบ้านหันมาปิดถนน  ยกขบวนมาที่
      ทำเนียบ  เพื่อเรียกร้องให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ  วิธีการแบบนี้  อย่างดีที่สุดก็จะได้รับการช่วย
      เหลือเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะให้พ้น ๆไปเท่านั้น

Q:  ทำอย่างไรชาวไร่ชาวนาจึงจะมีความมั่นใจว่าทุกข์ของตนจะได้รับการแก้ไขในระดับนโยบาย

A:  ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้  ตราบใดที่การเมืองไทยเป็นแบบนี้

Q:  เป็นแบบไหน

A:  เป็นแบบที่ผู้มีอิทธิพล พวกพ่อค้า และคนมีเงินเข้ามาแสวงประโยชน์ และเข้ามาปกป้องผล
     ประโยชน์ของตนเท่านั้น  การเมืองไทยไม่มีพื้นที่สำหรับคนชั้นชาวไร่ชาวนา  หรือชาวไร่ชาวนาไม่
     มีโอกาสจะเบียดตัวเข้ามาในวงการเมืองไทย  และยืนอยู่อย่างเทียมบ่าเทียมใหล่กับกลุ่มอื่น ๆ

Q:  เห็นมีหมอ  มีนักวิชาการ และ นักกฎหมายเข้ามานั่งในสภาตั้งเยอะแยะ  ไม่มีใครคิดทำเพื่อชาวไร่
     ชาวนาบ้างหรือ

A:  ไม่มี  คนเหล่านี้ แต่เดิมอาจมีคราบของนักวิชาชีพอยู่บ้าง  แต่ถ้าหันเหมาเล่นการเมือง  พวกนี้มัก
      จะเป็นคนที่ลอกคราบตัวเองกลายเป็นพ่อค้าไปหมดแล้ว  เพราะฉะนั้นอย่าได้ไปคาดหวังอะไรกับ
      คนเหล่านี้

Q:  แล้วควรทำอย่างไร

A:  คนเราต้องหายใจด้วยจมูกตนเองฉันใด  การเมืองจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครคนกลุ่มนั้นต้องโดดเข้า
     มาแสวงหาและปกป้องผลประโยชน์ของตนเองฉันนั้น

Q:  ทำอย่างไร  ชาวไร่ชาวนาจึงจะสามารถกระโดดเข้าไปในวงการการเมืองไทยได้

A:  ชาวไร่ชาวนาจะต้องเปลี่ยนแปลงสำนึกที่ฝังลึกอยู่
      ใน  กมล.....ของตนเองเสียก่อน

Q:  สำนึกอะไร

A:  อยากจะเรียกว่าสำนึกขี้ข้า (ตั้งใจเรียกเพื่อให้มัน
      สะเทือนซางคนฟัง....จะได้รู้สึกจริง ๆ จัง ๆ ขึ้นมา )

Q:  ขยายความหน่อยซี

A:  ได้เลย  คนชั้นชาวไร่ชาวนาบ้านเรา  แต่ดั้งเดิมอาจเรียกว่าเป็นชนชั้นไพร่  ซึ่งอยู่ภายใต้การ
      ปกครองของคนชั้นเจ้า  ในยุคที่บ้านเรามีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช  คนชั้นนี้จะมี
      สำนึกว่าตนเป็นคนเล็กคนน้อย  ซึ่งมักจะเปรียบเทียบตนเองว่าเป็น ฝุ่น  เป็นผงธุลี  เป็นไม้ซีก 
      เป็นต้น  สำนึกนี้มันจะบอกว่าตนเองไม่มีพลังอำนาจใด ๆที่จะจัดการกับชะตากรรมของตนเอง 
      คนชั้นนี้จะมีชีวิตอยู่ด้วยการกำหนดโดยชนชั้นเจ้านาย  และคิดว่าตัวเองเป็นขี้ข้า  ไม่เห็นคุณค่า
      และความสำคัญของตน  เห็นว่าชีวิตตนอยู่ได้เพราะมีนายให้ความปกป้องคุมครอง  พวกไพร่จึงมี
      นายเป็นศูนย์กลางของการดำเนินชีวิต  สำนึกขี้ข้าจะประกอบด้วยสำนึกย่อย ๆอันเกิดขึ้นในวิถีของ
      ขี้ข้าอีกหลายประการ ที่สำคัญได้แก่  ไม่กล้าคิด  โดยเฉพาะการคิดนอกกรอบ ซึ่งจำเป็นสำหรับ
      การพัฒนาในปัจจุบัน  นิยมอำนาจ  หมายถึงยอมรับการใช้อำนาจ และชอบใช้อำนาจในการแก้ไข
      ปัญหา  ไม่ยอมรับนับถือกันและกันแต่ยอมรับคนชั้นอื่นที่เหนือตน  เป็นการยอมรับในเชิงของการ
      ยอมจำนนต่อคนที่เหนือตน ในทางสังคม  ทางเศรษฐกิจ  และทางอำนาจอิทธิพล   เป็นต้น  มีจิต
      ใจที่อิจฉาริษยากันเอง ไม่อยากให้ใครเด่นเหนือตน  แต่ตนอยากที่จะเด่นเหนือใคร ๆ  นอกจากนั้น
      ก็จะมีสำนึกของคนเกียจคร้าน ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน  และไม่ใฝ่สัมฤทธิ์  เป็นต้น

Q:  จะเปลี่ยนแปลงสำนึกเหล่านี้อย่างไร
A:  เครื่องมือสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ  การศึกษา
Q:  หืออออ!!!!!!!!!!

A:  ไม่เชื่อหรือว่า การศึกษาจะสามารถเปลี่ยนแปลงสำนึกเหล่านี้ของชาวไร่ชาวนาได้

Q:  ไช่  ลูกหลานชาวไร่ชาวนาเยอะแยะที่เรียนสูงๆ  ก็ไม่เห็นว่าคนเหล่านี้จะมีสำนึกที่แตกต่างจากชาว
      ไร่ชาวนาโดยทั่วไป   ลูกชาวไร่ชาวนาเดี๋ยวนี้เป็นอธิบดี  เป็นปลัดกระทรวงก็มีอยู่มากมาย  เป็นผู้
      แทนก็มี  เป็นผู้จัดการบริษัทใหญ่ ๆก็มี  พวกเขายังมีสำนึกขี้ข้าให้เห็นเหมือนกัน  เห็นชัด ๆคือส่วน
      ใหญ่ก็หันไปเป็นลูกจ้าง(ขี้ข้า)ราชการบ้าง  เอกชนบ้าง กันทั้งนั้น

A:  ไช่  เห็นด้วย  ไม่เถียงเลย  แต่เพราะอะไรรู้ไหม

Q:  เพราะอะไรล่ะ

A:  เพราะการศึกษาที่เรามีอยู่ขณะนี้ มันเป็นการศึกษาที่ปลูกฝังสำนึกแบบขี้ข้าให้กับลูกหลานของเรา
     นะซี  สิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียน ไม่ต่างอะไรกับคนในยุคที่สังคมของเรายังอยู่กันอย่างไพร่อย่าง
     นาย เพียงแต่รูปแบบเปลี่ยนไป  มันเป็นระบบมากขึ้น  มีโรงเรียนเป็นแบบเป็นแผนมากขึ้นเท่านั้น 
     การศึกษาในบ้าน  ในชุมชน  อาจกล่าวได้ว่าโดยเนื้อหาสาระที่เป็นแก่น ๆของมันยังไม่มีการเปลี่ยน
     แปลงเช่นกัน  ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการศึกษาในโรงเรียน แต่เนื้อหารสาระที่เป็นแก่นจริง ๆ
     ของโรงเรียนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเราจึงเห็นว่าคนมีการศึกษาก็ไม่มีอะไรต่างจากคนไม่มีการศึกษา

Q:  การศึกษาแบบไหนล่ะที่สามารถเปลี่ยนแปลงสำนึกของตัวเราและลูกหลานของเราได้

A:  ถ้าพูดถึงรูปแบบของการศึกษาก็แบบเดิมที่เรามีอยู่นี่แหละ  สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือเนื้อหารสาระที่เรานำ
     มาเรียนมาสอนกัน  กล่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นจิตสำนึก  จะต้องปลูกฝังสำนึกของการเป็นนายตน
     เอง ซึ่งตรงข้ามกับสำนึกแบบขึ้ข้า  สำนึกที่ควรปลูกฝังได้แก่  ความกล้าที่จะคิดแบบนอกกรอบหรือ
     คิดแบบสร้างสรรค์  และกล้าคิดและชอบคิดแบบต่าง ๆอีกด้วย   นิยมความมีเหตุมีผลหรือสำนึก
     แบบปัญญานิยม  รู้จักยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน  เป็นคนมองอะไรในแง่บวก  เป็นคนขยันขันแข็ง
     ใฝ่รู้ใฝ่เรียน  และเป็นคนใฝ่สัมฤทธิ์
  เป็นต้น จิตสำนึกเหล่านี้  จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น
     อุดมการณ์  ของชีวิตคนในชุมชน  การปรับเปลี่ยนจิตสำนึก  เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต  วิถีชีวิตใน
     บ้าน ในโรงเรียน ในชุมชน  ต้องเปลี่ยนแปลง  การศึกษาแบบที่กำลังพูดถึงนี้  จึงไม่ไช่การศึกษา
     เหมือนกับการศึกษาที่เรามีอยู่เสียทีเดียว  แต่จะเป็นการศึกษาที่คนเป็นผู้ใหญ่  คนเป็นผู้นำ คนที่มี
     สติปัญญาในชุมชนที่นิยมเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้านต้องเปลี่ยนทิฏฐิของตนเองใหม่และหันมาจัดการ
     ศึกษาเพื่อเปลี่ยนสำนึกของคนในชุมชนของตน  การศึกษาดังกล่าวนี้ควรทำในระดับชุมชน  ชุมชน
     ต้องยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นวาระของชุมชน แล้วช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษาที่จะเอื้อประโยชน์ตามที่
     ชุมชนต้องการขึ้นมา 

Q:  รู้สึกว่ายากสสส์นะ

A:  จริง ๆไม่ยาก  แต่ก็ไม่ถึงกับง่าย  จะต้องค่อย ๆคิด ค่อย ๆทำ  อย่างใช้สติปัญญา  เราจะสามารถ
      วางระบบการศึกษาที่เหมาะสมขึ้นในชุมชนของเราได้  ชุมชนชนบทซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาว
      ไร่ชาวนา แต่ละชุมชนพยายามจัดการศึกษาโดยการออกแบบการศึกษาด้วยตนเอง  โดยแก่นแกน
      ของการศึกษาอยู่ที่การพัฒนาคนที่เป็นชาวไร่ชาวนาให้มีจิตสำนึกที่เป็นไท  เป็นนายของตน    
      มีความรู้ความสามารถและจิตสำนึกที่สามารถกระโดดลงไปเล่นการเมืองเพื่อปกป้องและแสวงหา
      ผลประโยชน์ของคนชั้นชาวไร่ชาวนาได้  ถ้าตำบลต่างๆสามารถทำได้เช่นที่กล่าวนี้ได้ทั้งหมด 
      หรือเกือบทั้งหมดเมืองไทยก็จะมีพรรคการเมือง  ที่อาจเรียกขานกันว่า  พรรคชาวไร่ชาวนา  พรรค
      เกษตรกรไทย  อะไรทำนองนี้  เชื่อว่าหากเป็นเช่นนี้จริง  ประเทศไทยก็จะมีรัฐบาลที่มาจากพรรค
      ชาวไร่ชาวนาเท่านั้น  พรรคประชาธิปัตย์  พรรคชาติไทย  หรือพรรคใด ๆที่เคยตั้งรัฐบาล  ก็จะมี
      โอกาสเป็นได้เพียงฝ่ายค้านเท่านั้น  เพราะชาวไร่ชาวนา  มีจำนวนมากกว่าพวกพ่อค้า  นายทุน 
      และผู้มีอิทธิพลมากนัก  การเมืองไทยก็จะเอื้อประโยชน์แก่ชาวไร่ชาวนา  โดยที่ไม่ต้องมีการกรีด
      เลือด กรีดเนื้อ  หรือไม่ต้องเดินขบวนกันอีกต่อไป  เมืองไทยจะมีมาตรการที่จะบำบัดทุกข์ บำรุง
      สุขของชาวไร่ชาวนาในระดับนโยบาย  ที่เป็นมาตรการระยะยาว  ที่มีความมั่นคง และ ยั่งยืน

Q:  สาธุ  ขอบคุณครับ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 192981เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2008 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท