ระเบียบใหม่ "อีออกชั่น" โหด รายเล็กหืดจับ-ขาใหญ่ฉลุย


ระเบียบใหม่ "อีออกชั่น" โหด รายเล็กหืดจับ-ขาใหญ่ฉลุย

       ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ป่วนเร่งปรับตัวรับระเบียบจัดซื้ออีออกชั่นฉบับใหม่ เผยเบื้องต้น   มีขาใหญ่ผ่านการตรวจสอบแค่ 3 รายคือ กสทฯ-พันธวณิชและบีส ไดเมนชั่น อีก 7 ยังไม่ผ่าน ชี้ระเบียบใหม่บับผู้ประกอบการแบกต้นทุนเพิ่ม ย้ำรายเล็กอยู่ยาก กสทฯ ขยาย ตจว.ฉลุย "พันธวณิช" ผนึกสถาบันการศึกษาทั่วปท.เปิดศูนย์ประมูลอีออกชั่น
แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (อีมาร์เก็ตเพลซ) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลมีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับประกาศให้ผู้ให้บริการตลาดกลางต้องขึ้นทะเบียนตามระเบียบใหม่ ขณะนี้มีผู้ผ่านการพิจารณา 3 รายคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด และบริษัท พันธวณิช จำกัด   ขณะที่ผู้ให้บริการตลาดกลางรายอื่น ๆ ซึ่งเคยได้รับรองขึ้นทะเบียนตามประกาศ กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2547 อีก 7 ราย ยังไม่ผ่านการพิจารณา    เนื่องจากตามระเบียบใหม่ กำหนดให้ผู้ให้บริการตลาดกลางต้องจัดเตรียมสถานที่เพื่อการประมูลอีออกชั่นให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้จัดซื้อและผู้เสนอราคา
ให้อยู่ในสถานที่เดียวกัน จากเดิมที่บริษัทผู้เสนอราคาเข้าร่วมประมูลโดยเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  
ผู้ให้บริการตลาดกลางไม่จำเป็นต้องมีห้องสำหรับผู้เข้าประมูลทุกราย ซึ่งแนวทางปฏิบัติใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการตลาดกลางค่อนข้างมากเพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก    ในกรณีนี้ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่มากจะประสบปัญหาในการจัดเตรียมสถานที่ ซึ่งจะพบว่าขณะนี้ผู้ให้บริการตลาดกลางอีก 7 ราย ซึ่งเดิม    ได้รับรองขึ้นทะเบียนตามประกาศกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2547 แต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของกรมบัญชีกลางตามระเบียบใหม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า กสทฯ ดูจะมีความได้เปรียบในแง่ของการจัดเตรียมสถานที่ต่างจังหวัด เพราะมีสำนักงานบริการโทรคมนาคมและสำนักงานบริการลูกค้าในต่างจังหวัดอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของกรมบัญชีกลางก็ได้รับรองสถานที่การจัดประมูลอีออกชั่นของ กสทฯ แล้วใน 4 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ, หนองคาย, นครราชสีมา และศรีสะเกษ
พ.อ.รังษี กิตติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช จำกัด     1 ในผู้ให้บริการตลาดกลาง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พันธวณิชได้รับรองการขึ้นทะเบียนของกรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ผู้ให้บริการตลาดกลางทุกรายก็มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะระเบียบใหม่ทำให้บริษัทต้องจัดหาสถานที่เพื่อรองรับการให้บริการในทุกจังหวัด ซึ่งในส่วนของพันธวณิชอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการจัดหาสถานที่ของจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งในต่างจังหวัดจะเน้นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเช่าสถานที่เพื่อจัดทำศูนย์การประมูลอีออกชั่นของบริษัท เช่นในเชียงใหม่ ได้ตกลงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว และอีก 30 จังหวัดอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งบริษัทจะต้องมีสถานที่รองรับการประมูลอีออกชั่นทุกจังหวัด 



"บริษัทใหญ่ ๆ ที่มีความพร้อม เพราะเมื่อรายเล็ก ๆ ไม่สามารถเข้ามาในระบบได้ แต่พันธวณิชไม่ชอบตลาดแบบผูกขาด เพราะอาจทำให้เกิดการฮั้ว  เกิดข้อครหาและโจมตีซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการประมูลอีออกชั่นได้ โดยส่วนตัวมองว่าควรมีผู้ให้บริการตลาดกลางที่มีศักยภาพในการแข่งขันอย่างน้อย 5 ราย" พ.อ.รังษีกล่าวและว่า ปีนี้กรมบัญชีกลางประเมินว่าจะมีการจัดทำประมูลอีออกชั่นประมาณ 25,000 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการประมูลในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย 70% ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีการแข่งขันการตัดราคาที่รุนแรงมาก   
ทั้งนี้หลังจากบริษัทพันธวณิชผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของกรมบัญชีกลางเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดประมูลตามระเบียบใหม่ ทั้งในส่วนของการจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์สำหรับหน่วยงานรัฐ และ  ผู้เสนอราคาในสถานที่เดียวกัน รวมถึงรูปแบบการประมูล ซึ่งตามระเบียบใหม่เป็นแบบปิดราคา (sealed auction) โดยได้ดำเนินการจัดประมูลให้กับกระทรวงวัฒนธรรมและกรมธนารักษ์
รายชื่อผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนตามประกาศกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2547 มี 10 ราย คือ บริษัท พันธวณิช จำกัด,  บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด,  บริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน), บริษัท ซอฟแวร์ลิ้งค์ จำกัด,  บริษัท ฟรีอินเตอร์เน็ท จำกัด,  บริษัท ป๊อป เนทเวอร์ค จำกัด,  บริษัท อินเทลลิเจนท์ โซลูชั่น แอนด์เซอร์วิส จำกัด,  บริษัท นิวตรอน การประมูล จำกัด  และบริษัท ไอ ซี เอ็น ซิสเต็ม จำกัด ฯลฯ


ประชาชาติธุรกิจ  16  มีนาคม  2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19273เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2006 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รัฐเองก็ล๊อคเสป็คให้ กสทเป็นผู้ดำเนินการเหมือนจะแต่เพียงผู้เดียว และเจ้าหน้าที่ต้องใช้บุคลากรเพิ่มมากขึ้น ในการจัดการประมูลแต่ละครั้ง และผู้ค้าก็มาเจอกันที่ห้องประมูล ผมถามกรมบัญชีกลางซิ กำหนดนโยบายโง่ๆ มา กันฮั้วได้จริงหรือเปล่า

จะลาออกอยู่แล้ว เบื่อ

เรียนท่านที่ใช้นามว่า ผอ.
       กรุณาใช้คำสุภาพด้วยครับ "กำหนดนโยบายโง่ๆ มา กันฮั้วได้จริงหรือเปล่า" ท่านคงพิจารณาได้ ว่าคำสุภาพเป็นอย่างไร

ท่านผู้ใช้นามว่า ผอ คงจะเป็นคนของตลาดกลางแน่ๆ

เนื่องจาก กล่าวว่า ล๊อคสเป็คให้ กสท เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว และเจ้าหน้าที่ต้องใช้บุคลากรเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งต้องเป็นผู้ที่รู้กระบวนการและวิธีการดำเนินงานในการจัดอีอ๊อกชัน

ที่สำคัญ เห็นด้วยกับคุณ CGD Lib เป็นอย่างมาว่า ผู้ใช้นามว่า ผอ ไม่รู้จักคำว่า คำสุภาพจริงๆ ไร้มารยาทอย่างแรง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท