สินน้ำใจสองล้าน ต้องริบหรือไม่?


คดีนี้ เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนไทยยุคใหม่ว่า "คุก"นอกจากเอาไว้ขังคนจนแล้ว ยังมีเอาไว้ดัดนิสัยเศรษฐีใจง่ายอีกจำพวกหนึ่งด้วย

 

"มติชนรายวัน " วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11074


สินน้ำใจสองล้าน ต้องริบหรือไม่?


โดย ธัญศักดิ์ ณ นคร ทนายความ [email protected]



กรณีศาลฎีกา มีคำพิพากษาจำคุกทนายความของครอบครัวชินวัตร คนละ 6 เดือน เนื่องจากทนายความกับพวก ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

กล่าวคือ นำเงินจำนวน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

กรณีดังกล่าว แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะเป็นการให้สินบนแก่ตุลาการ เพราะเจ้าพนักงานของศาล ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีแต่ประการใด

แต่เจ้าพนักงานของศาล ก็เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้มอบเงินจำนวน 2 ล้านบาท ได้กล่าวในทำนองว่า "ในระยะนี้ต้องมาติดต่อประสานงานที่ศาลบ่อยๆ เห็นใจเจ้าหน้าที่ ต้องเหน็ดเหนื่อย จึงมีของมาฝาก ให้เอาไปแบ่งๆ กัน"

การนำเงินจำนวนมากถึงสองล้านบาทไปแจกเป็น "สินน้ำใจ" ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอย่างแน่นอน เนื่องจากทำให้บุคคลทั่วไปคลางแคลงใจในการอำนวยความยุติธรรมของศาล จึงต้องรับโทษ ฐานละเมิดอำนาจศาลไปเต็มๆ แต่จะผิดกฎหมายอาญาฐานให้สินบนเจ้าพนักงานหรือไม่ ต้องผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ผ่านความเห็นของอัยการ และผ่านการพิจารณาคดีศาลอีกกรณีหนึ่ง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 บัญญัติว่า "ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงกระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

มีข้อน่าสังเกตว่า การให้ทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 144 ดังกล่าวข้างต้น ผู้ให้ต้องมี "เจตนาพิเศษ" คือ เพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงาน "กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงกระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่" ผู้ให้จึงจะผิดกฎหมาย

แต่ถ้าผู้ให้ ได้ให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดย "มีเจตนาที่จะให้เจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่" หรือให้เพื่อจูงใจ "ให้กระทำการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด" เช่น ให้เป็นรางวัลในการทำงานตามหน้าที่อย่างแข็งขัน หรือให้เพื่อเป็นการชื่นชมให้กำลังใจที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นขยันหมั่นเพียร หรือให้เพื่อต้องการให้เจ้าพนักงานทำการตามหน้าที่ หรือกระทำการตามกฎหมาย ผู้ให้น่าจะไม่ผิดกฎหมาย

แต่เจ้าพนักงานผู้รับจะรับไว้โดยฝ่าฝืนระเบียบแบบแผน หรือเกินกว่าที่ระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ไม่ได้ หากรับไว้ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149



ประเด็นการให้ "สินน้ำใจ" แก่เจ้าพนักงานในกรณีดังกล่าว เพื่อเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยที่เจ้าพนักงานต้องทำงานตามหน้าที่ จึงเป็นคดีที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ

อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นของสามผู้ต้องหามีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานกระทำการใด "อันมิชอบด้วยกฎหมาย" ซึ่งเป็นความผิดฐานให้สินบนแล้ว ก็น่าจะต้องรีบติดตามยึดหรืออายัดเงินดังกล่าวมาไว้ในครอบครองของพนักงานสอบสวนโดยพลัน ก่อนที่จะถูกยักย้ายถ่ายเทไปเสียให้พ้นอำนาจของบ้านเมือง

เพราะเงินสินบน เป็นของกลางในคดีอาญาอย่างหนึ่ง ซึ่งมิควรปล่อยให้สูญหายไปหากพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาล พนักงานอัยการต้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ซึ่งบัญญัติว่า

"ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ

(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด..."

คดีนี้ เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนไทยยุคใหม่ว่า "คุก" นอกจากมีเอาไว้ขังคนจนแล้ว ยังมีเอาไว้ดัดนิสัยเศรษฐีใจง่าย อีกจำพวกหนึ่งด้วย

หน้า 9

หมายเลขบันทึก: 192248เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2008 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท