ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย:ประเด็นสำคัญที่อาจคาดไม่ถึง!


         ช่วงนี้มีโอกาส ให้เวลากับงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น หลังจากที่ว่างเว้นไปช่วงหนึ่งทั้งนี้ด้วยภาระงานด้านอื่นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ยังน่าดีใจที่ถึงแม้ไม่ได้ลงไปดูแลคนไข้ที่ ward ก็ยังได้มีโอกาสให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แก่ญาติผู้ป่วยเดิมที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ซึ่งโทรมาขอคำปรึกษาเป็นระยะๆเพราะว่าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น กินอาหารได้น้อยลงและไม่ยอมกินยาเป็นเม็ดๆ...ซึ่งการให้คำปรึกษาของเราสามารถเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติได้เป็นอย่างดี...

         กลับมาช่วงนี้ เมื่อวันก่อนเพิ่งได้รับการปรึกษาcase จากแพทย์เจ้าของไข้ กรณีผู้ป่วยชายสูงอายุ เจ็บป่วยเรื้อรังมานานร่วม 10 ปี ระยะหลังนี้ต้องนอนให้ญาติป้อนเข้าป้อนน้ำมานานมากกว่า 6 เดือนแล้ว รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะสงสัยการติดเชื้อในกระแสเลือด มีแผลกดทับมาจากบ้าน และมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย ให้การรักษาแล้ว ผลลัพธ์ผู้ป่วยไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา แพทย์ประเมินได้ว่าอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว จึงขอให้มาร่วมดูแลให้คำปรึกษาเรื่องของการเตรียมตัวของผู้ป่วยและญาติ...เมื่อเข้าไป approach ก็พบว่าผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการรับรู้หรือสื่อสารกันแล้ว...ได้พบกับสะไภ้ และผู้ดูแลหลัก...ซึ่งก็ปรากฏว่าไม่ใช่ญาติ หรือลูกหลาน กลับเป็นคนอื่นที่รับจ้างมาดูแลผู้ป่วยรายนี้ มาต่อเนื่องตั้งแต่เมื่ออยู่ที่บ้าน ส่วนลูกหลาน 6 คน มีงานประจำ ไม่สามารถมาอยู่เฝ้าได้ตลอด จะมาเยี่ยมบางเวลาเสียเป็นส่วนมาก ส่วนภรรยาซึ่งแก่แล้วรู้สึกก็เหนื่อยล้าเนื่องจากเป็นภาระในการดูแลมานานแล้ว ขอไม่มาอยู่ด้วยที่โรงพยาบาล... กรณีเช่นนี้พบเห็นได้บ่อยขึ้นในสภาพสังคมปัจจุบัน...ก็คงไม่แปลกเท่าไรนัก ที่เราต้องให้ความรู้ เสริมพลังในการดูแลผู้ป่วยแก่ผู้ดูแลซึ่งเป็นคนอื่น มากกว่าญาติหรือบุตรหลาน...แม้กระทั่งในเรื่องของการนำ การช่วยให้ผู้ป่วยได้ระลึกถึงแต่สิ่งที่ดี ให้เกิดจิตที่เป็นกุศลอยู่เสมอ ซึ่งจิตสุดท้ายถือเป็นอาสันนกรรม ที่ชาวพุทธถือว่าสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าจิตเป็นกุศลก็จะนำไปสู่ภพภูมิที่ดีได้...เรื่องนี้โอกาสที่บุตรหลานจะช่วยได้นั้น มีน้อย เพราะคนที่อยู่กับผู้ป่วยอยู่ตลอดนั้นเป็นผู้ดูแลที่จ้างมาเสียมากกว่า...แต่คุณตา(ผู้ป่วยรายนี้)ก็ยังโชคดี ที่ได้ผู้ดูแลที่มีจิตใจดี รักผู้ป่วยเสมือนว่าตนเองเป็นลูกคนหนึ่ง...นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่ญาติไม่ได้นึกถึงมาก่อน ทั้งในเรื่องของการช่วยให้ผู้ป่วยได้สะสางในสิ่งที่ค้างคาใจ การขออโหสิกรรมซึ่งกันและกันของผู้ป่วยและญาติ วิธีการจัดการเมื่อผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบใน the last hour of life vs กับการปฏิเสธไม่ขอรับการช่วยฟื้นคืนชีพรวมทั้งการใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น...ซึ่งโดยทั่วไปเราจะสนใจเพียงแต่ว่าให้ตัดสินใจนะ!ว่าจะให้หมอใส่ท่อช่วยหายใจ หรือปั๊มหัวใจหรือไม่เมื่อผู้ป่วยหายใจไม่ไหว...ถ้าไม่ใส่ก็ OK เซ็นไว้เป็นหลักฐาน...แต่ไม่ได้คิดและให้ข้อมูลต่อไปว่าแล้วจะช่วยผู้ป่วยไม่ให้ทุกข์ทรมานได้อย่างไร! สิ่งเหล่านี้แหละคืออะไรที่ท้าทาย ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต...เราคงต้องช่วยกันเติมเต็มต่อไปไม่สิ้นสุด...นะคะ...     

หมายเลขบันทึก: 192241เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2008 01:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอให้กำลังใจนะ

ให้ความตั้งใจจงเป็นไป

กำลังใจให้ไปเลยครับ สู้ๆ

เป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้งมาก แต่ในฐานะคนอ่านรู้สึกเศร้าเลย ขอขอบคุณคนที่ช่วยดูแลและคนที่ช่วนชี้ทาง...

สวัสดีค่ะ

  • นับว่าเป็นโอกาสที่ได้สร้างบุญกุศลนะคะ
  • ทราบมาว่าการใช้มือสัมผัสหน้าอกผู้ป่วยก่อนตาย ส่งผ่านความคิดดีๆ จะช่วยให้วิญญาณไปสู่สุคติภพได้
  • ขอบคุณค่ะ

แวะมาเป็นกำลังใจให้คนทำงานครับ

บางครั้งกับผู้ป่วยเรื้อรังแบบนี้ผมเองมักจะให้กำลังใจผู้ดูแล และช่วยให้เขาได้มองเห้นถึงความดีที่ได้ทำให้แก่เพื่อนมนุษย์ เป็นกุศล +ถ้าทำได้อาจ support แบบ home care เพื่อผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้ดูแล (ในหลายที่มีทีมเยี่ยมบ้านที่ดีแล้ว)

ยังไงขอให้รู้นะครับว่า เขาไม่ได้อยู่คนเดียว

วันนี้แวะไปเยี่ยมคุณตา ที่หอผู้ป่วยมา คุณตาอาการดีขึ้นกว่าวันก่อนๆค่ะ ไม่หอบ นอนอยู่บนเตียง ดูเนื้อตัว เสื้อผ้าสะอาดสะอ้าน (ฝีมือป้าจอน...ผู้ดูแล)เวลาพูดคุยด้วยดูเหมือนจะรู้เรื่อง ดูมีปฏิกิริยา มองหน้า มีสีหน้าแววตา ที่เรารับรู้ได้ว่าคุณตารับรู้นะ แต่ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกับเราได้...วันนี้คุณตาคงเหงาน้อยลงนะ "ป้าจอน" ผู้ดูแลเอาวิทยุอันเล็กๆ มาเปิดให้คุณตาฟัง บอกว่าปกติเมื่อรู้เรื่องอยู่ คุณตาชอบฟัง...ดูคุณตาคงมีความสุขเล็กๆนะ...เป็นกำลังใจให้ค่ะคุณตา...

เข้ามาให้กำลังใจ การทำงานที่ใช้ใจสัมผัสจะส่งพลังได้ดีกว่าการทำตามหน้าที่เยอะเลย

แล้วจะเข้ามาเรียนรู้อีกนะคะ

เห็นด้วยค่ะและเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักมากๆ เพราะในสภาพสังคมปัจจุบันจะพบมากขึ้น อาจจะพบญาติหรือครอบครัวผู้ป่วยก็ต่อเมื่อต้องย้ายลงไอ.ซี.ยู เนื่องจากต้องรอการตัดสินใจของญาติ

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นบุญค่ะ โชคดีที่น้องเกิดมาเป็นพยาบาล ทำให้มีโอกาสได้ทำบุญทุกวันค่ะ

กราบนมัสการพระอาจารย์ มงคล มงคล ถิราวุฒิ และสวัสดีกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ ต้องขอบพระคุณสำหรับทุกคำแนะนำและกำลังใจนะคะ...ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท