เด็กไทยอ่านหนังสือคนละ 8 บรรทัดจริง ?


การให้ความสำคัญกับการอ่านจะทำให้เด็กมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น

เด็กไทยอ่านหนังสือคนละ 8  บรรทัดจริง ?

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

                เกิดข้อสงสัยว่าจริง ? ที่เด็กไทยอ่านหนังสือคนละ  8  บรรทัดต่อปี   แม้จะไม่นับรวมหนังสือเรียนก็ตาม   เหตุเพราะสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยประกาศวาระแห่งชาติส่งเสริมการอ่าน  โครงการส่งเสริมการอ่าน  ประกวดทั้งห้องสมุดโรงเรียน  และเขตพื้นที่การศึกษาที่ส่งเสริมการอ่านดีเด่น  ตลอดจนมีคำขวัญเชิญชวนให้นักเรียนอ่านหนังสือ  ไม่ว่าจะเป็น  หยุดทุกงานอ่านทุกคน

                แต่ละโรงเรียนโดยเฉพาะในสังกัด สพฐ.  ต่างมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทั้งให้อ่านพร้อมกันทั้ง     โรงเรียน  หรือมีชั่วโมงรักการอ่าน นักเรียนแต่ละคนต้องบันทึกสิ่งที่ตนเองอ่านส่งครู  ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เด็กไทยจะอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ  8  บรรทัด  เว้นแต่นโยบายที่ สพฐ.ให้แต่ละโรงเรียนมีหน้าที่ส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่าน   แล้วบางโรงเรียนไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังหรืออย่างไร

                ไม่ว่าเด็กจะอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ  8  บรรทัดหรือมากกว่าก็ตาม   แต่โดยภาพลักษณ์เรื่องการอ่านของทั้งเด็กและคนไทย   จะถูกมองว่าไม่ค่อยอ่านหนังสือเท่าใดนัก  หากเทียบกับนานาชาติแล้ว  คงจะน้อยกว่ามาก   หรือแม้แต่เทียบกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสิงคโปร์ที่เด็กแรกเกิดทุกคนรัฐบาลจะจัดทำบัตรห้องสมุดตลอดชีพให้(แทนคุณ  จิตต์อิสระ, มติชน : 19 .. 50, 27)   แสดงว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยการส่งเสริมการอ่าน  ให้เป็นเรื่องที่สำคัญจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

                เมื่อเด็กไทยยังอ่านหนังสือค่อนข้างน้อย   จึงเกิดคำถามว่า   เพราะเหตุใดเด็กไทยจึงอ่านหนังสือน้อยเกินไป  ทั้ง ๆ ที่ในระดับนโยบายพยายามรณรงค์ส่งเสริมให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติบ้าง   หรือพยายามจัดกิจกรรมให้เด็กรักการอ่าน   แต่เด็กไทยก็ยังอ่านหนังสือน้อย   แสดงว่ามีช่องโหว่ที่จะต้องแก้ไข โดยเฉพาะการส่งเสริมต้องเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา   เพื่อให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านมากกว่าอ่านพอให้แล้ว ๆ ไป   อย่างที่มักจะพบเห็นตามโรงเรียน  หรือจากบันทึกการอ่านที่นักเรียนถูกกำหนดให้บันทึกส่งครู

                ปีการศึกษา  2551  คุณหญิงกษมา วรวรรณ  ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนโยบายส่งเสริมการอ่าน   โดยกำหนดให้เด็กนักเรียนแต่ละช่วงชั้นต้องอ่านหนังสือนอกเวลา  สำหรับชั้น ป. 1 – . 3  ต้องอ่านหนังสือนอกเวลา  5  เล่ม  ชั้น ป. 4 – . 6  อ่านหนังสือนอกเวลา  10  เล่ม  ชั้น ม. 1 –   . 3  อ่านหนังสือนอกเวลา  15  เล่ม  ชั้น ม. 4 – . 6  อ่านหนังสือนอกเวลา  20  เล่ม

                จำนวนเล่มที่กำหนด   หากเป็นเด็กที่มีนิสัยรักการอ่านอยู่แล้วย่อมไม่เป็นปัญหา   แต่หากเป็นเด็กที่ไม่ได้รับการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่านมาก่อน   จำนวนเล่มที่กำหนดถือว่ามาก   เช่น  เด็กม. 4 – . 6 ต้องอ่านหนังสือนอกเวลาถึง 20 เล่ม ในขณะที่เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มัวสาระวนอยู่กับการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หากให้อ่านหนังสือถึง  20  เล่ม  คงอ่านให้พอแล้ว ๆ กันไป

อีกทั้งการให้อ่านหนังสือนอกเวลาจะใช้วิธีการตรวจสอบอย่างไรว่าเด็กอ่านครบ  20  เล่มจริง  ใช้วิธีการแบบเดิมคือ  กำหนดให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในวิชาภาษาไทย   ที่เด็กต้องสอบเก็บคะแนน ?  ถ้าอย่างนั้นจำนวนหนังสือที่มีให้เด็กอ่านต้องมีจำนวนเพียงพอ   ทั้งจำนวนเรื่องที่จะให้เลือกอ่าน  เฉพาะมัธยมปลายต้องมีมากกว่า  20  เรื่อง  เพื่อให้เด็กได้เลือกตามความสนใจ อีกทั้งจำนวนเล่มต้องมีอย่างเพียงพอ   เพราะนักเรียนแต่ละโรงเรียนมีจำนวนมากเป็นพัน ๆ คนถึงหลายพันคน

การกำหนดจำนวนเล่มเท่านั้นเท่านี้   หากเน้นปริมาณก็จะได้ตามเป้า   แต่หากจะเน้นที่คุณภาพให้อ่านกันอย่างจริงจัง   ก็คงต้องรณรงค์กันต่อไป   ที่ผ่านมาการรณรงค์ให้รักการอ่าน  ส่วนใหญ่เน้นให้บันทึกการอ่านด้วย   เพื่อให้รู้ว่าอ่านเรื่องอะไรได้แง่คิดอะไร  ซึ่งได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง   เนื่องจากเด็กบางคนชอบอ่านแต่ไม่ชอบบันทึก   หรือถ้าบันทึกก็บันทึกพอให้แล้ว ๆ  บางทีการที่บังคับให้ต้องบันทึกก็มีผลทำให้ไม่อยากอ่าน

หากคิดอีกที  วิธีการศึกษาหาความรู้ของเด็กในยุคที่โลกไร้พรมแดนอาจมีหลากหลายวิธี  ไม่จำเป็นต้องอ่านในหนังสือเสมอไปก็เป็นไปได้  การอ่านจากอินเตอร์เน็ต  หากเด็กรู้จักเลือกเวปไซต์ที่ดี ๆ มีประโยชน์ก็สามารถศึกษาหาความรู้จากการอ่านในเวปไซต์ได้เหมือนกัน   เพียงแต่การอ่านในหนังสือทำให้มีเวลาคิดใคร่ครวญได้มากกว่า   อีกทั้งหนังสือย่อมได้รับการกลั่นกรองจากทั้งสำนักพิมพ์   และผู้เขียน  ตลอดจนกระแสการตอบรับของผู้อ่านเท่ากับเป็นการคัดกรองหนังสือมาอย่างดีแล้ว แต่ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตบางเรื่องอาจจะมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่บ้างก็ได้

หากการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ   คงต้องทำให้บรรยากาศแวดล้อมตัวเด็กเต็มไปด้วยคนที่รักและส่งเสริมการอ่าน  ควรเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน   ไม่เป็นที่สงสัยกันอยู่แล้วว่าเด็กที่รักการอ่านหนังสือ   มักมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการอ่าน   ทั้งอ่านเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นจนปฏิบัติตามได้   หรือพยายามส่งเสริมให้ลูกมีหนังสือดี ๆ มีประโยชน์อ่าน   หรือพาเข้าไปในแวดวงของการอ่าน  เช่น พาลูกไปร้านหนังสือ  พาลูกไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  งานมหกรรมหนังสือต่าง ๆ เป็นต้น

ในส่วนของโรงเรียนมีหน้าที่ส่งเสริมการอ่านให้เด็กอยู่แล้ว ดังนั้นการจะทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน  ครู และผู้บริหารโรงเรียนควรทำตัวเป็นแบบอย่าง  หรือแสดงให้เห็นนิสัยรักการอ่าน   แต่หากครูและ               ผู้บริหารไม่เคยเข้าห้องสมุด  หรืออ่านหนังสือให้เป็นตัวอย่างแก่เด็ก   ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กรัก           การอ่าน  เพราะหากครู  และผู้บริหารอ่านหนังสือน้อย   โลกและความคิดย่อมแคบตามไปด้วย   ครูจึงจำเป็นต้องอ่านหนังสือ   เพื่อให้โลกและความคิดกว้างไกล   เป็นตัวอย่างให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน

นอกจากครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องเป็นแบบอย่างแล้ว  ห้องสมุดของแต่ละโรงเรียนต้องมีหนังสืออย่างเพียงพอ   และทันสมัยอยู่เสมอ  โดยเฉพาะในปีหนึ่ง ๆ จะมีงานมหกรรมเกี่ยวกับหนังสือซึ่งมีหนังสือออกจำหน่ายปีละหลายครั้ง  อย่างน้อยห้องสมุดโรงเรียนน่าจะได้ซื้อหนังสือใหม่ ๆ อยู่เสมอ ส่วนจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่   ย่อมขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์เรื่องนี้ของผู้บริหารโรงเรียนเป็นสำคัญ

สพฐ. เอง นอกจากทำหน้าที่กำหนดนโยบายว่า  เด็กต้องอ่านหนังสือคนละเท่านั้นเท่านี้เล่มแล้ว   ควรจะต้องพิจารณางบประมาณที่จัดสรรเป็นงบอุดหนุนให้โรงเรียนซื้อหนังสือปี ๆ หนึ่ง เป็นจำนวนเท่าไร  เพียงพอที่จะซื้อหนังสือได้กี่เล่ม เป็นหนังสือประเภทใด เหมาะกับวัยของเด็กที่เป็นหนังสือประเภทวรรณกรรมเยาวชนกี่เล่ม   เพราะหนังสือประเภทนี้เด็กนิยมอ่าน  สังเกตจากทั้งเด็กไทย  และเด็กทั่วโลก  ทำไมจึงคลั่งไคล้ตั้งตาคอย  จับจองหนังสือเรื่อง แฮรี่พล็อตเตอร์มาก   หากทำให้บรรยากาศการอ่านของเด็กไทย  เป็นแบบนั้นตลอด   การส่งเสริมการอ่านก็คงไม่ต้องทำอะไรมาก   ผู้ใหญ่มีหน้าที่หาหนังสือที่เด็กอยากอ่านให้พอเพียงก็คงเพียงพอ

งบประมาณที่แต่ละโรงเรียนได้รับ สมมติโรงเรียนขนาดใหญ่ถ้าได้รับงบประมาณปีละ 60,000  บาท  ขณะที่มีนักเรียนสัก  2,500  คน  ถ้าหนังสือเล่มละประมาณ  200  บาท (ความจริงหนังสือดี ๆ บางเล่มอาจแพงกว่านี้)   เฉลี่ยแล้วโรงเรียนนี้จะมีหนังสือประมาณปีละ  300  เล่ม (เด็กม.ต้น สพฐ. กำหนดให้อ่านหนังสือนอกเวลา คนละ 15 เล่ม เด็ก ม.ปลายคนละ 20 เล่ม)   หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยรายหัวของเด็ก  เด็ก 1 คน จะได้รับงบประมาณเป็นค่าหนังสือคนละ  24  บาท  ถือว่าน้อยมาก

อีกทั้งหนังสือจำนวน  300  เล่ม  ต้องแยกแยะเป็นหนังสือวิชาความรู้ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการค้นคว้าของแต่ละวิชา เป็นหนังสือเตรียมสอบบ้าง เหลือเป็นหนังสือที่สามารถดึงเด็กให้อ่านได้มาก ประเภทวรรณกรรมเยาวชน  คงได้ไม่ถึง 100 เล่ม ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณในส่วนของการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด   ควรให้สมดุลกับการกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ  หรือเป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่าน

นอกจากนี้แต่ละโรงเรียน  ซึ่งสามารถใช้เงินค่ารายหัวนักเรียนที่รัฐจัดสรรให้แต่ละโรงเรียน  เพื่อจัดกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ  ก็ควรให้ความสำคัญกับโครงการเกี่ยวกับห้องสมุดโรงเรียน  ห้องสมุดกลุ่มสาระฯต่าง ๆ   เพื่อให้มีเงินซื้อหนังสือให้เด็กได้อ่านอย่างเพียงพอ   การเห็นความสำคัญแต่ไม่สนับสนุนงบประมาณ   รวมทั้งต้องการให้นโยบายรักการอ่านบรรลุเป้าหมาย  แต่ทั้งห้องสมุดโรงเรียน  ห้องสมุดกลุ่มสาระฯ  แต่ละปีมีหนังสือใหม่ ๆ น้อยมาก  หรือไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

การสนับสนุนมีทั้งการให้งบประมาณ  และการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในฐานะเป็นบรรณารักษ์ถือว่าสำคัญ   เพราะโดยส่วนใหญ่บรรณารักษ์โรงเรียนมักต้องทั้งสอน  ทั้งดูแลห้องสมุด  การมีบุคลากรอย่างพอเพียง   ถือว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านได้ดี

ประการต่อมาสภาพแวดล้อมในสังคมที่เห็นความสำคัญของการอ่าน   ย่อมมีผลต่อการอ่านของเด็ก  สังเกตจากเด็กคลั่งไคล้อ่าน  แฮรี่พล็อตเตอร์   หรือหนังสือที่ได้รับรางวัล  เช่น  ซีไรท์  แม้ว่าจะเป็นการอ่านตามกระแสสังคมก็ตาม   แต่หากเราสามารถทำให้เกิดกระแสการอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้อยู่เสมอ  บรรยากาศของสังคมแบบนี้ก็จะเอื้อต่อการส่งเสริมการอ่านได้

การสร้างกระแสการอ่าน  คงต้องจัดประกวดหนังสืออยู่เสมอ ๆ   แม้ว่าจะมีการทำกิจกรรมนี้อยู่บ้างแล้ว    ทั้งการประกวดหนังสือดีเด่น   หรือการประกวดหนังสือของ สพฐ. นั้น  สาธาณชนได้รับรู้  หรือมีผู้ให้ความสนใจค่อนข้างน้อย  ไม่ฮือฮาเหมือนรางวัลซีไรท์

คนอ่านแทบจำไม่ได้ว่าหนังสือเล่มใดได้รับรางวัล  ยกเว้นเห็นหน้าปกหนังสือแล้วติดตรา  หรือพิมพ์ไว้ว่าได้รับรางวัลอะไรมา   แสดงว่าการประชาสัมพันธ์  หรือเชิญชวนให้เด็กได้รู้จัก ได้อ่าน ค่อนข้างน้อย  คงต้องดูแบบอย่างสำนักพิมพ์ที่มีโอกาสพิมพ์หนังสือรางวัลซีไรท์แต่ละปี  ว่าเพราะเหตุใดยอดการพิมพ์หนังสือเล่มนั้น ๆ จึงสูงมาก   แสดงว่าปริมาณการอ่านย่อมสูงตามไปด้วย

นอกจากนี้การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน  ประเภทงานมหกรรมหนังสือนานาชาติ  งานสัปดาห์หนังสือ  ที่เราจะพบเห็นลูกเล็กเด็กแดงที่พ่อแม่พาไปซื้อหนังสืออ่าน  ตลอดจนภาพของเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ นั่งอยู่กับพื้นก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือ   บรรยากาศแบบนี้หากได้รับการสนับสนุนให้ไปเกิดขึ้นในต่างจังหวัด  หรือตามโรงเรียนต่าง ๆ อยู่เสมอ   โดยรัฐหรือ สพฐ.  ร่วมมือให้การสนับสนุนสำนักพิมพ์ต่าง ๆ  ได้ออกมาจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนในต่างจังหวัด   น่าจะสร้างบรรยากาศกระแสรักการอ่านได้ดีกว่าการกำหนดว่าเด็กกลุ่มไหนต้องอ่านหนังสือกี่เล่มเท่านั้น

การอ่านทำให้เด็กเกิดจินตนาการ   มีความคิดที่กว้างไกล  แก้ปัญหาได้  มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการใช้ชีวิต  การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน   เพื่อให้สามารถใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตไปตลอด

การส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน  จำเป็นต้องเกิดจากการสนับสนุนอย่างจริงจัง  ทั้งในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง   ในโรงเรียนที่มีครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องมีนิสัยรักการอ่าน   จึงจะรู้ว่าการอ่านมีความสำคัญ   เมื่อเห็นความสำคัญย่อมให้ความสำคัญที่จะสนับสนุนอย่างจริงจัง

ในส่วนของ สพฐ. เอง  ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย  ต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม  ที่จะทำให้แต่ละโรงเรียนมีหนังสืออ่านอย่างเพียงพอ  และทันสมัยอยู่เสมอ   โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทที่ห่างไกลมีหนังสือเพียงพอแล้วหรือไม่ จำนวนอาจไม่สำคัญเท่ากับโรงเรียนเหล่านั้นมีหนังสือใหม่ ๆ  ดี ๆ ที่เหมาะกับเด็กในวัยนั้น ๆ  เข้าห้องสมุดปีละกี่เล่ม  ที่ได้รับการสนับสนุน  ไม่ควรนับรวมกับหนังสือที่ได้รับบริจาคจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ  หรือแม้แต่การทอดผ้าป่าหนังสือ   เพราะการได้รับบริจาคไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของรัฐ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

ต้องการให้เด็กรักการอ่าน   อ่านหนังสือจำนวนเท่านั้นเท่านี้เล่ม   แต่หนังสือไม่น่าอ่าน  ที่น่าอ่านกลับมีไม่เพียงพอ  หรือหนังสือมีไว้เพื่อโชว์  หรืองบประมาณสำหรับซื้อหนังสือมีอยู่น้อยนิด   ความคิดที่จะให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน  ก็คงได้เพียงปริมาณตัวเลข (อย่างน้อยก็น่าจะมากกว่า  8  บรรทัด)    มากกว่าการอ่านเพื่อคุณภาพกันจริง ๆ

หมายเลขบันทึก: 191513เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2008 04:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เห็นด้วยจริงๆกับครูสายพิณค่ะ เด็กๆอยากอ่านหนังสือ สังเกตตอนที่ปิดห้องสมุด ปรับปรุง เขามาถามทุกวัน จะเปิดรึยัง เข้าได้ยัง แต่หนังสือที่เหมาะสมสำหรับเด็กมีน้อยเกินไป ลูกศิษย์คนหนึ่ง ฝังตัวอยู่ในห้องสมุด และถือหนังสือติดมือตลอด อย่างนี้เรียกอ่านเท่าไร

สวัสดีค่ะ อ่านแล้วถูกใจมากเลยค่ะ เห็นด้วยกับคุณครูสายพิณทุกข้อเลยค่ะ คุณครูสายพิณวิเคราะห์ได้รอบด้านมากค่ะ ขอร่วมเสนอความคิดด้วยคนค่า

  • บนอินเทอร์เน็ตก็มีข้อมูลที่ดีมากมาย แต่อย่างที่คุณครูว่าคือจะต้องคัดกรองก่อน แต่จอยคิดว่าธรรมชาติของการอ่านหนังสือบนอินเทอร์เน็ตอ่านได้สั้นกว่าอ่านหนังสือจริง ด้วยเวลา และการได้สัมผัสรูปเล่ม กระดาษ และอ่านหนงสือจริงกับอ่านบนเน็ตก็มีข้อดีกันคนละอย่างค่ะ
  • การสนับสนุนการอ่าน จอยว่าเราต้องหาหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้เด็กได้อ่านค่ะ อย่างทุกวันนี้หนังสือของเด็กเล็ก (หนังสือที่ดี) ยังมีอยู่น้อย และราคาของหนังสือดีดีก็แพงด้วยค่ะ หากจะสนับสนุนรัฐ ต้องสนับสนุนให้ผลิตหนังสือที่เหมาะกับช่วงวัยให้มากขึ้นค่ะ 
  • หนังสือที่ดี มีคุณภาพ ราคาจะแพงมาก เด็กที่อยู่ในครอบครัวระดับกลางนานๆทีจะมีตังค์เก็บไปซื้อหนังสือ ด้วยราคาที่สูงห้องสมุดโรงเรียนอาจมีงบจำกัดในการซื้อ เคยเห็นกิจกรรมพาเด็กไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือค่ะ แล้วให้ตังค์เด็กคนละ 500 บาท แล้วให้เขาซื้อหนังสือที่เขาอยากได้ แต่นานมาแล้วค่ะ
  • ส่งเสริมเรื่องหนังสือมือสองให้จริงจัง กว้างขวาง เป็นในลักษณะของการแลกกันอ่านค่ะ และทั้งรูปแบบการบริจาคค่ะ
  • ห้องสมุด อันนี้เห็นด้วยเลยค่ะ ขอเสริมอีกนิดเรื่องพัฒนาห้องสมุดชุมชนด้วยค่ะ ให้ดีขึ้น มีมากขึ้นค่ะ
  • คิดว่าการได้อ่านหนังสือของเด็กเป็นเรื่องระดับชาติ ต้องช่วยกันทุกส่วนทั้งคนเขียนหนังสือ คนพิมพ์ คนขาย คนซื้อ พ่อแม่ โรงเรียน ชุมชน รัฐ
  • จอยว่าโจทย์สำคัญคือทำยังไงเด็กจะรักการอ่าน และเด็กจะได้อ่านค่ะ

สวัสดีค่ะ ครูเล็ก

  • แวะมาให้กำลังใจคุณครูในฐานะที่ช่วยผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการอ่าน
  • ห้องสมุดโรงเรียนหลายแห่งขาดแคลนหนังสือ (ใหม่)
  • มีโอกาสได้พูดคุยกับเด็ก...เค้าบอกว่าหนังสือที่อ่านแล้วก้ไม่อยากอ่านอีก
  • ปัญหาอย่างนี้...ต้นสังกัดต้องให้ความสำคัญ
  • แล้วในปี 2552 เด็กไทยจะอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 11 บรรทัด
  • ไชโย้

ขอบคุณที่เข้ามาให้กำลังใจนะคะ

จริงครับอาจารย์

เด็กสมัยนี้เอาแต่เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

จริงจริงเด็กชอบเล่นแต่เกมส์

เพราะว่าการอ่านหนังสือทําให้เด็กเบื่อและง่วง

ครูควรเข้าใจเด็ก

วันนี้ที่กาญจนบุรีเรากำลังเริ่มจากจุดเล็กๆ ด้วยตัวของเราเองครับ จะเป็นพระคุณยิ่งถ้าจะได้รับคำแนะนำดีๆ จากอาจารย์ครับ

www.kan-kids.com

ถึงติดเกมส์

 

 

แต่ ก็ มี เวลา อ่าน หนัง สือ นะ คับ

 

 

 

 

อย่า เหมา รวม สิ คับ

 

 

 

เฮ้อ อ. ก็ เป็น ซะ อย่าง นี้

 

 

 

เฮ้อ  เซง

สรุปเด็กไทยอ่านน้อยต้องพิจารณาดูจากสาเหตุที่สำคัญ จากการสำรวจและเป็นครูบรรณารักษ์ปัญหาที่ขจัดไม่ได้คือโรงเรียนขาดโอกาสขาดการสนับสนุนงบประมาณ และราคาหนังสือที่แสนแพง ขาดคุณภาพ ผู้ที่รับผิดชอบสูงสุดควรจะดูแลอย่างจริงจังและจริงใจ เด็กไทยก็จะไม่ด้อยกว่าชาติอื่น ๆในการอ่านเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท