คืนวันแสนเศร้าชาวนางฟ้าชุดขาว


นางฟ้าชุดขาว

คืนวันแสนเศร้าชาวนางฟ้าชุดขาว

เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ กิจจา อภิชนรุจเลข


นานมาแล้วที่ นางพยาบาล’ (เคย) เป็นหนึ่งในอาชีพที่ผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝัน

ด้วยบทบาทหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการดูแลปรนนิบัติผู้ป่วย เพื่อบรรเทาให้ความเจ็บปวดเหล่านั้นทุเลาลง ภายใต้ชุดยูนิฟอร์มสีขาวบริสุทธิ์ ทำให้ภาพลักษณ์ของนางพยาบาลไม่แตกต่างอะไรกับนางฟ้าผู้ใจดี

แต่มาวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เหมือนเดิมเหมือนครั้งอดีต นางฟ้าในชุดสีขาวกำลังตกอยู่ในภาวะทุกข์ระทมขมขื่น อันเนื่องมาจากการขาดแคลนพยาบาลในขั้นวิกฤต

 

ตัวเลขจากการศึกษาวิจัยที่ยืนยันตรงกันพบว่าในปี 2550 ประเทศไทยยังขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพกว่า 3 หมื่นคน

ก่อนหน้านั้น ปัญหาพยาบาลขาดแคลนได้สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เริ่มต้นขึ้นจากพยาบาลที่เป็นข้าราชการ ซึ่งทำงานประจำโรงพยาบาลของรัฐลาออกไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน หรือไปทำงานในต่างประเทศ เพราะรายได้และสวัสดิการสูงกว่าหลายเท่าตัว อีกทั้งตำแหน่งพยาบาลประจำโรงพยาบาลของรัฐที่ว่าง ก็ไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้รับพยาบาลเข้ามาทดแทน

ต่อมาคณะรัฐมนตรีสมัยที่อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2535 ให้วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนมานับแต่นั้น

จากปี 2535 จนถึงปัจจุบันนี้ รวม 16 ปี ก็ยังไม่ปรากฏว่าจะมีรัฐบาลไหน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลนอย่างจริงจัง

ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลต้องบอกว่าเป็นปัญหาระดับชาติปัญหาหนึ่งที่เรื้อรังมานานแล้ว

รศ.ดร.จอนพะจอ เพิ่งจาด ผอ.วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย เอ่ยขึ้นระหว่างการเปิดนิทรรศการ “Open House เปิดบ้านเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมสุขภาพดีเนื่องในโอกาสวันกำเนิดวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ปีที่ 94 ณ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ กรุงเทพฯ

งานนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการให้คนภายนอกเข้ามาทำความรู้จักกับวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ผ่านทางซุ้มกิจกรรมต่างๆ เพื่อหวังจะกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจอยากที่จะเข้ามาเป็นพยาบาลกันมากขึ้น ในภาวะขาดแคลนพยาบาลเช่นนี้

เธอย้ำว่า แม้ประเด็นดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการขาดแคลนพยาบาลได้ดำเนินเข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้ว

ท่ามกลางความต้องการบริการสุขภาพภายในประเทศที่สูงขึ้น การผลิตจำนวนของพยาบาลวิชาชีพกลับลดลง ขณะที่การสูญเสียพยาบาลออกจากวิชาชีพนั้นกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกันอย่างน่าใจหาย

ปัจจัยที่มีผลต่อการลาออกของพยาบาลในสถานบริการสุขภาพทุกระดับมีมากมายหลายอย่าง เช่น สถานภาพการว่าจ้างไม่เป็นข้าราชการ เป็นเพียงลูกจ้างไม่มีเกียรติ การไม่ได้รับสิทธิต่างๆ หรือได้น้อยมาก ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล เงินบำเหน็จบำนาญ ภาระงานเพิ่มมากขึ้นทั้งจากปริมาณผู้ป่วยและความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย ค่าตอบแทน และสวัสดิภาพน้อยเมื่อเทียบกับภาระงานและไม่เท่าเทียมกับวิชาชีพอื่น เช่น ไม่มีที่พัก ค่าเวรต่ำ รวมทั้งยังขาดแคลนความก้าวหน้าในงานและการศึกษาต่อ

ผอ.วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย กล่าวว่า ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้พยาบาลที่เหลืออยู่จำนวนน้อยต้องทำงานหนักมากขึ้น แบกรับภาระหน้าที่อันหนักอึ้งเป็นหลายเท่า ส่งผลทำให้เกิดความเครียด ขาดขวัญ และกำลังใจในการทำงานอย่างมาก

สำหรับปัญหาพยาบาลขาดแคลน สถานศึกษาวิทยาลัยพยาบาลทั่วประเทศก็ได้เข้าใจถึงปัญหาตรงนี้ เราก็พยายามผลิตบัณฑิตทดแทนขึ้นมาในส่วนที่อัตราการสูญเสียพยาบาลออกไปจากวิชาชีพ แต่ในการผลิตเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพ คนที่จะจบออกไปเป็นพยาบาลทำงานกับชีวิตคนต้องเป็นคนที่มีคุณค่าและผ่านมาตรฐานของวิชาชีพ ซึ่งข้อนี้วิทยาลัยพยาบาลทุกแห่งก็พยายามจะผลิตออกมาให้ได้เต็มทุกอัตราเท่าที่จะผลิตได้ โดยที่ไม่ทำให้คุณภาพของบุคลากรที่ออกไปนั้นลดลง

อันที่จริงความขาดแคลนไม่ได้มีแต่พยาบาลในพื้นที่เท่านั้น อาจารย์พยาบาลก็ขาดแคลนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเรื่องของการผลิตนักศึกษา เพราะเราต้องดูอัตราอาจารย์กับนักศึกษาให้อยู่ในมาตรฐาน ถ้าเกิดรับนักศึกษามากเกินไป เรามีอาจารย์ที่สอนไม่เพียงพอ คุณภาพของการเรียนการสอนก็จะด้อยลงไปได้รศ.ดร.จอนพะจอ กล่าว

นิทรรศการ Open House เปิดบ้านเยี่ยมชมวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย หลายคนมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นพยาบาลอยู่แล้ว ต่างก็เดินเข้ามาพร้อมคำถามมากมายหลายเรื่องที่ตนเองสนใจเกี่ยวกับวิชาชีพนี้ บางคนยังอีหลักอีเหลื่อใจว่าจะเอาอย่างไรดีกับชีวิต เนื่องจากภาวะขาดแคลนพยาบาลอย่างหนักในปัจจุบัน ทำให้พวกเธอมีทัศนคติต่อนางพยาบาลไปในทางลบว่าเป็นอาชีพที่งานหนัก แต่เงินน้อย

ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวิชาชีพพยาบาลอยู่ในหัวเลย

เสาวลักษณ์ วัย 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีวิทยา ก็เป็นคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนางพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก

เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อและแม่ ซึ่งเป็นนายแพทย์อาวุโส และนางพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง

อยากแรกเลยคือชอบชุดสีขาวของพยาบาล มันเหมือนนางฟ้าที่มีจิตใจเมตตากรุณา ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของคนที่กำลังเจ็บป่วยทรมาน

แม้จะไม่ได้ทำหน้าที่รักษาให้หายได้ แต่ก็มีความสำคัญมากๆ ในการที่จะอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา คอยตรวจเช็กอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บข้อมูลไปบอกแพทย์ต่อไปเธอเล่า

ส่วนเรื่องวิกฤตการขาดแคลนพยาบาล ตุ๊กตาบอกว่าอาชีพหมอ พยาบาล และครู เป็นอาชีพที่ขาดแคลนมาโดยตลอด แต่สำหรับนางพยาบาลนั้น เธอเพิ่งมารู้เมื่อไม่นานนี้เองว่าเหตุที่พยาบาลลาออกไปทำงานอย่างอื่น หรือไปทำในโรงพยาบาลเอกชนและต่างประเทศ เนื่องจากงานหนักมาก แถมค่าตอบแทนยังน้อย

เริ่มมาเชื่อตอนแม่เล่าให้ฟังว่าพยาบาลรุ่นใหม่ๆ ทุกวันนี้ มักจะเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลรัฐก่อน บางคนอาจจะใช้ทุน หรือบางคนอาจจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปสักระยะหนึ่ง แต่พอผ่านไปเมื่อรู้สึกว่าหน้าที่การงานมันเริ่มหนักขึ้น ต้องมานั่งอยู่เวรดึกดื่น วันหยุดบางทีก็ไม่ได้หยุด แถมสวัสดิการค่าตอบแทนน้อยมากถ้าเทียบกับเพื่อนพยาบาลคนอื่นๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน จึงตัดสินใจลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนกัน เพราะรายได้สูงกว่ามาก

เคยถามพ่อแม่เหมือนกันว่า ทำไมพ่อแม่ไม่ทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน ท่านบอกว่าท่านมีความสุขมากที่นี่ มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือรับใช้คนจน คนด้อยโอกาส ถึงไม่รวยเท่ากับหมอหรือพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน แต่ก็พออยู่สบายและยินดีที่จะทำงานในโรงพยาบาลรัฐแห่งนี้จนกว่าจะเกษียณ

เธอยกคำพ่อและแม่ที่เคยพูดให้ฟังว่า อาชีพที่ทำงานช่วยเหลือชีวิตคนอย่างหมอและพยาบาลอยู่ได้ด้วยใจและศรัทธาเท่านั้น

งานวันนี้มันกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากจะเรียนจบ แล้วสอบเข้าเป็นนักศึกษาพยาบาลไวๆ พอได้มาคุยกับพี่ๆ นักศึกษาพยาบาล พอได้มาเห็นบรรยากาศในสถานที่เรียน การเรียนการสอน ทั้งในห้องเรียนและหอผู้ป่วยจำลอง รวมถึงได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าและประสบการณ์อะไรหลายๆ อย่างจากพี่ๆ ทำให้เรามีคำถามว่า ทำไมอาชีพที่ดีๆ อย่างนี้ถึงขาดแคลนได้นะ

ขณะที่ ชลธิชา กิจประสพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสายน้ำผึ้ง แสดงความคิดเห็นว่า ไม่แปลกที่นางพยาบาลสาวๆ สวยๆ ในยุคนี้จะแห่กันไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน

เป็นธรรมดา ใครๆ ก็อยากทำงานอย่างมีความสุข ถ้าทำงานที่เรารัก แต่งานหนัก ค่าตอบแทนน้อย มันก็ต้องเสียขวัญเสียกำลังใจ แล้วเราก็จะไม่มีความสุขในการทำงาน

บางคนแรกๆ อาจจะยังมีอุดมการณ์ อยากทำงานช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ในเรื่องเงินเรื่องทอง แต่พอทำนานเข้าๆ เมื่อเห็นเพื่อนพยาบาลที่เรียนจบมาด้วยกันซึ่งทำงานในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง หรือทำงานในต่างประเทศมีเงินเดือนหลายหมื่นบาท มีทุกอย่างพร้อม ทั้งๆ ที่มีภาระหน้าที่เหมือนกัน ทำงานหนักเท่ากัน หนูว่าอย่างนี้มันก็ทำให้ไขว้เขวเหมือนกัน

เธอสารภาพว่าตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า ต้องการเป็นนางพยาบาลหรือเปล่า แต่เมื่อถามว่าถ้าเป็นพยาบาลให้เลือกทำงานในโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลรัฐ

เด็กสาวคนนี้ตอบทันทีว่าเลือกอย่างแรก

ปิยะนุช เนตรมุข นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย บอกว่าเมื่อพูดถึงอาชีพนางพยาบาล หลายคนมักจะชื่นชอบในภาพลักษณ์ของเครื่องแบบชุดสีขาวสวยบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่มีใครอยากจะมาเรียน เพราะเรียนหนัก รายงานก็เยอะแถมยังต้องออกไปเผชิญกับงานที่เครียด กดดัน และหนักอึ้งกว่าอาชีพอื่นหลายเท่า

สำหรับปัญหาการขาดแคลนพยาบาลที่เธอจะต้องออกไปเผชิญนั้น ปิยะนุชยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ความอยากเป็นนางพยาบาลลดน้อยถอยลง

เคยถามรุ่นพี่ที่เรียนจบออกไปว่าทำงานเป็นยังไงบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเหนื่อย ไม่ได้พัก พยาบาลคนเดียวดูแลคนไข้เกือบทั้งวอร์ด ทำแต่งานไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนกันเลยแม้แต่คนเดียว

อาชีพพยาบาลมันก็เหมือนงานทั่วไป ทำงาน 8 ชั่วโมงก็พัก เข้าเวรดึกดื่นก็เหมือนกับหมอ ตำรวจ ทหาร ไม่ได้มองว่าเป็นงานหนัก ส่วนเรื่องค่าตอบแทนจะมากหรือน้อยมันขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคนมากกว่า ยิ่งเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรี หนูบอกได้ว่าเลยไม่น้อยไปกว่าอาชีพไหนแน่นอน

หนูวางแผนไว้ว่าอยากจะทำงานหาประสบการณ์ในโรงพยาบาลของรัฐสักระยะหนึ่ง แล้วจากนั้นก็ไปเรียนต่อทางด้านพยาบาลเฉพาะทาง

ปิยะนุชทิ้งท้ายว่า อาชีพนี้จบไปมีงานทำไม่ตกงานแน่นอน

ความคิดเห็นของว่าที่พยาบาลรุ่นใหม่ที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมบางสิ่งบางอย่างอันน่าสนใจ ที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาพยาบาลขาดแคลน รศ.ดร.จอนพะจอ วิเคราะห์ว่า

ค่านิยมเหล่านี้ก็มีส่วน เพราะในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นความจริงที่พยาบาลทำงานหนัก เหนื่อย และต้องอยู่เวรดึกดื่น หรือบางทีวันหยุดก็ยังต้องมาเข้าเวร แล้วยิ่งในช่วงนี้ที่เรามีปัญหาเรื่องการขาดแคลนพยาบาล น้องๆ พยาบาลที่ทำงานอยู่ในขณะนี้จึงต้องแบกรับภาระที่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งตรงนี้ก็ส่งผลกระทบต่อคนที่คิดจะเข้ามาเรียนในวิชาชีพนี้ด้วย สำหรับคนที่มีจิตใจที่ดีงามอยากจะช่วยเหลือผู้อื่น ค่อนข้างไปกัดกร่อนจิตใจเขาพอสมควร แต่นักเรียนพยาบาลทุกคนส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่า อาชีพพยาบาลต้องทำงานหนักและได้รับค่าตอบแทนน้อย ทำให้คนที่เหลืออยู่ในทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นคนที่มีใจรักในการที่จะทำงานช่วยเหลือผู้อื่นจริงๆ

ดังนั้น ในช่วงที่เข้ามาสู่การเป็นนักศึกษาพยาบาลในระยะเวลา 4 ปี เราจึงต้องพยายามสร้างในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม เพราะจะทำให้คนที่เข้ามาเรียนในวิชาชีพนี้ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องปลูกฝังตั้งแต่ความคิด ในการที่จะทำงานเสียสละแก่ส่วนรวม ซึ่งในช่วง 4 ปีนี้ที่เขาเริ่มเข้าไปเห็นความทุกข์ยากของคนไข้ ตรงนั้นเขาก็จะเริ่มเรียนรู้และซึมซับเข้าใจในความรู้สึกของคนที่มีปัญหา

เราคิดว่าตรงนี้จะสร้างค่านิยมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุขให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องหวังที่จะมีชีวิตฟุ้งเฟ้อ เพราะเพียงแค่ได้รับค่าตอบแทนที่เราสามารถพออยู่รอดได้ในสังคมอย่างมีความสุขก็น่าจะพอแล้ว

ผอ.วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยสรุปใจความสำคัญ อันเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในขั้นวิกฤตได้ไม่มากก็น้อย

 

คำสำคัญ (Tags): #นางฟ้าชุดขาว
หมายเลขบันทึก: 190655เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2008 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วมีความเห็นอะไรกันบ้าง...คะ

สวัสดีค่ะ เป็นบันทึกที่น่าอ่านมากๆ และสะท้อนความจริงที่เป็นไปขณะนี้ค่ะ

ปัจจุบันก็ยอมรับว่าการสอนนักศึกษาพยาบาลเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการจะให้คนอายุน้อย 17-18 ปี ที่เข้ามาเรียนเข้าใจถึงการเสียสละ การมีคุณธรรมและยินดีกับการฝึกฝนวิชาปฏิบัติอย่างหนักหน่วง กับการรับผิดชอบต่อหน้าที่และการกระทำของตัวเอง

รู้สึกว่าพื้นฐานของการหนักเอาเบาสู้ของคนยุคนี้มันหายไปเยอะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท