โครงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวาน


            หลังจากที่ห่างหายการเขียนบันทึกมานาน เกี่ยวกับเรื่องเท้าตอนนี้อาจจะมาเปลี่ยนแนวเล่าเรื่อ งตาบ้าง เรื่องเท้าก็ขอยกหน้าที่ให้คุณอ้อ(เปรม)เล่าต่อละกันอิอิ..เค้ามีเรื่องราวมากมายที่จะเล่าแต่เขาไม่ยอมเขียนบันทึกสักทีฝากบอกเจ้าตัวให้รับทราบโปรดมาเข้าบล็อกด่วน หัวหน้าถามหา  ว่าแล้วก็ขอเริ่มต้นเล่าเรื่องความก้าวหน้าเกี่ยวกับเรื่องการดูแลภาวะแทรกซ้อนทางตาของกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวซะเลยดีกว่าเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา

            จากการดำเนินงานป้องกัน และควบคุมโรคเบาหวานแบบบูรณาการ ในเขตอำเภอเมือง โดย  กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โดยมีแนวทางการดำเนินการตั้งแต่  การป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค (Primary prevention) ระดับที่ 2 คือ การชะลอการดำเนินของโรค โดยการตรวจวินิจฉัยรักษาอย่างถูกต้อง (Secondary prevention) และระดับสุดท้าย คือ การป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนและทุพพลภาพ อันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน มีการตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยเบาหวานอย่างเป็นระบบ มีระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงทั้งหน่วยปฐมภูมิ และตติยภูมิ มีการตรวจค้นหา ภาวะแทรกซ้อนทางไต  ทางเท้า ส่วนในเรื่องของการตรวจประเมิน คัดกรองตายังอาศัยการตรวจจากหน่วยตติยภูมิอยู่  ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 2,423 ราย ได้รับการตรวจภาวะแทรกซ้อนทางตาเพียงร้อยละ 59.84 เนื่องจากขาดเครื่องมือในการตรวจจอประสาทตา ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการตรวจตา ตามระยะเวลาปีละ 1 ครั้ง  เบาหวานเข้าจอประสาทตา เป็นภาวะแทรกซ้อนทางตาที่สำคัญของโรคเบาหวาน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตามัวไปจนถึงตาบอด การตรวจตาอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยเบาหวานจะช่วยรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้การรักษาที่เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสตาบอดจากโรคเบาหวานได้ และลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวต้องการที่จะลดความแออัดของผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ โดยในโรคเบาหวานได้จัดทำโครงการการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนทางตาขึ้น โดยเสนอการจัดหาเครื่องตรวจเช็คจอประสาทตา(Fundus camera) ขึ้น และต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการตรวจคัดกรองทางตาในผู้ป่วยเบาหวาน จึงได้จัดให้เข้ารับการฝึกอบรม ในโครงการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา โดยสถาบันวิจัยประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ณ ห้องสุพรรณิการ์ ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ์ฯ โรงพยาบาลราชวิถี  กรุงเทพมหานคร ดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ 14 15 มกราคม 2551 และในการอบรมครั้งนี้ดิฉัน ก็ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าอาจารย์นพ.นิพัธให้เข้ารับการอบรมดังกล่าว

ผลการฝึกอบรม

          -ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกายวิภาคของตา และภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา และสามารถนำมาทบทวนเผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจได้ ตลอดจนนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการได้ เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่ตา โดยร่วมวางแผนดำเนินงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเบาหวาน ในการจัดรูปแบบการรับบริการเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของตน

          -ได้รับความรู้เรื่อง การตรวจวินิจฉัยระดับความรุนแรงของเบาหวานเข้าจอประสาทตา และสามารถอ่านภาพถ่ายจอประสาทตาด้วยกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาได้ เพื่อค้นหาความผิดปกติในระยะแรกๆทำให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการดูแลรักษา ส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง ลดความเสี่ยงจากการสูญเสียสายตาได้  และต้องได้รับการฝึกฝนประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง จาก เวปไซด์

          -สามารถแบ่งระดับความรุนแรงของเบาหวานเข้าจอประสาทตาได้

          -มีทักษะในการใช้  fundus camera

          ในการอบรมครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ สถาบันวิจัยประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดโอกาสให้เข้ารับการอบรมดังกล่าว แต่ต้องขอสารภาพกับอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย เนื่องด้วยดิฉันไม่ได้เข้าไปทำแบบฝึกหัดอ่านภาพจอประสาทตาที่อาจารย์ให้ไว้เลยค่ะ แต่ขอสัญญาว่าจะเข้าไปทำแน่นอนค่ะ อิอิ

          หลังจากที่ได้กลับจากกรอบรมแล้วก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องตามโครงการการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนทางตา โดยใช้งบประมาณจากโครงการพัฒนาโรงพยาบาลบริการประทับใจ ไร้ความแออัด พัฒนาเครือข่าย ขั้นแรกก็ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนทางตาแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่ายในเขตอำเภอเมือง รวมทั้งของเขตเทศบาลและศสช.ในส่วนของCUP มหาวิทยาลัยนเรศวรด้วย จัดอบรมเมื่อ 30 พฤษภาคม 2551

เนื้อหาการอบรมเชิงปฏิบัติการได้แก่  การตรวจคัดกรอง การตรวจดูความผิดปกติของตาโดยใช้เครื่องส่องตา(Optalmoscope) การตรวจวัดสายตา(visual Acuity) ฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องส่องตา(Optalmoscope) ฝึกการตรวจวัดสาย และฝึกอ่านภาพจอประสาทตาที่ผิดปกติ  โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นายแพทย์วีรศักดิ์     วัชรัตน์ศิริยุทธ ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ ท่านได้เกษียนก่อนอายุราชการครบ มาเป็นวิทยากรให้ ขอขอบคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย ซึ่งการอบรมในครั้งนี้มีผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมประมาณ 80 คน 

การดำเนินการขั้นต่อไปก็คือ เมื่อได้รับเครื่องตรวจจอประสาทตาแล้วก็จะ mobile ไปตรวจผู้ป่วยเบาหวานในศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่าย ของโรงพยาบาลต่อไป เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการตรวจ ประเมินและคัดกรองหาภาวะผิดปกติทางตาเพื่อให้ได้รับการรักษา ดูแลอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ลดความพิการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวานทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  ก็ขอให้ผู้รับบริการของเรารอไปอีกสักนิดนะคะไม่นานเกินรอหรอกค่ะ

ได้นำบรรยากาศการอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนั้นมาให้ชมค่ะ

นายแพทย์วีรศักดิ์     วัชรัตน์ศิริยุทธ

ท่านวิทยากรที่แม้จะเกษียนไปแล้วแต่ไม่เคยลืมเราชาวPCU ยังตามมาให้ความรู้อยู่เนืองๆ

ชาวPCU ผู้เข้ารับการอบรม มีความตั้งใจและสนใจมาก

ขมักเขม้น ท่าทางซีเรียส เอาจริงเอาจังมาก แต่ละแห่งต่างนำเครื่อง Ophthalmoscope มากันเอง หลายคนบอกว่าให้เวลาน้อยไปหน่อยสำหรับการฝึกปฏิบัติ...คราวหน้าจะขอเวลาเพิ่มให้ค่ะ

โปรดสังเกตุ ท่าทาง(ระยะ)การส่องกล้องของสว.แต่ละท่าน  บ่งบอกอายุได้ดีจริงๆ ป้าๆจ๋าเห็นอะไรในดวงตาบ้างค่ะ

ต้องอย่างนี้ถึงจะเป็นวัยโจ๋....ส่องตาหรือทำอะไรกันจ๊ะ...พี่เฒ่าๆๆ ท่าทางคนที่พี่ส่องตาให้เค้าไม่ค่อยไว้วางใจพี่เท่าไหร่เลยนะ...สงสัยกลัวกล้องทิ่มตาง่ะ

         หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมในครั้งนี้ทางเราก็คาดหวังว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนที่รับผิดชอบงานเบาหวานมีความรู้และทักษะ การตรวจคัดกรอง ประเมินตาในผู้ป่วยเบาหวานที่ตนเองรับผิดชอบดูแลได้ในระดับแรกๆที่มีปัญหาและสามารถดูแลให้คำแนะนำ สามารถให้ความรู้ในการดูแลตนเอง ตลอดจนการส่งต่อที่รวดเร็วก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดปัญหาที่รุนแรงตามมา

 

ทับทิม มาฉาย(นู๋ทิม) บันทึก

หมายเลขบันทึก: 185735เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2008 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ขอบคุณค่ะคุณประจักษ์ เป็นกำลังใจให้พวกเราเป็นอย่างดีเลยค่ะ

เห็นภาพแล้วก็รู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่ดี ทุกคนต่างตั้งอกตั้งใจ ฝึกปฏิบัติแบบพี่ๆน้องๆแบบนี้แหละหนู ถึงจะได้ความรู้นำไปใช้ได้จริง เป็นกำลังใจให้นะ

รวมใจ รวมพลังทำงาน กันต่อไป เพื่อคนไข้เบาหวานของพวกเราจะได้มีชีวิตที่เป็นสุขกับเบาหวานนะคะ เป็นกำลังใจให้นะคะ

เนื้อหาน่าสนใจค่ะพี่..แต่จำไม่ค่อยได้(แก่เลี้ยวค่า..คราวหน้าจัดใหม่เอาเรื่องตาโดยเฉพาะเลยนะคะ..วันนั้นยังส่องไม่เห็นอะไรเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท