ชาวประมงกับความมั่นคงของมนุษย์


ในบรรดาผู้ประกอบอาชีพในภาคเกษตร  ชาวประมงพื้นบ้านน่าจะได้ชื่อว่ามีความเดือดร้อนรุนแรง   เพราะชีวิตขึ้นกับเงื่อนไขภายนอกอย่างมาก... น่าจะมากกว่าอาชีพเกษตรอื่นๆ

 

ก่อนยุคน้ำมันแพง

 

ทรัพยากรประมงเสื่อมโทรมมาหลายปี   นอกจากเป็นหนี้แพปลาแล้วยังต้องแข่งขันจับปลากับประมงพาณิชย์ที่บางครั้งก็ลักลอบเข้ามาจับปลาในเขตประมงพื้นบ้าน   ชาวบ้านหลายคนใช้เครื่องมือผิดกฎหมายทำให้ตัวเองจับปลาได้มากขึ้นเพื่อความอยู่รอด  แต่กลับเพิ่มความเลวร้ายให้กับตัวเองในระยะยาว

 

ตัวแทนชาวประมง บอกว่า นั่นเป็นความผิดของหน่วยราชการที่ไม่เข้มงวดรักษากฎหมาย ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมาจนทุกวันนี้  ... ฟังตอนแรกก็ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวโทษดังกล่าว  แต่คิดดูอีกที  ก็พอจะมีน้ำหนัก  ...ใครจะยอมหยุดตัวเองให้อยู่ในกรอบกฎหมายให้อดตายในขณะที่ไม่มีอะไรการันตีว่าคนอื่นจะรักษากฎหมายด้วย  

   

ชาวประมงในหลายพื้นที่  ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองที่จะเปลี่ยนมาทำเกษตร

 

เงินลงทุนก็จมอยู่ในเรือ ซึ่งยากจะดัดแปลงไปใช้ทำอย่างอื่น  (ถ้าเป็นที่ดิน  ยังปรับจากพืชโน้นไปพืชนี้ได้)

 

พื้นที่สาธารณะชายฝั่งทะเลก็หาผักหาพืชให้เก็บเกี่ยวกินได้ยาก   จะเก็บหอยเก็บปูเก็บปลาแถวชายฝั่งก็แทบไม่มีเหลือ

 

ทางรอดคือการใช้แรงงาน 

 

ชาวประมงปรับตัวเองออกไปจากภาคประมงแล้วเป็นระลอก

 

ชาวประมงแถบภาคตะวันออกก็ไปขายแรงงานในภาคเมืองที่ขยายตัวเข้ามาในพื้นที่

 

ชาวประมงแถบจังหวัดสงขลา (บ้านที่หนึ่งของเรา) บางคนที่พอมีที่ดิน ก็ขายเรือไปลงทุนทำนากุ้ง  บางคน พอได้  หลายคน เจ๊ง ไปเรียบร้อย   คนหนุ่มสาวเปลี่ยนไปทำงานในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ  เปลี่ยนโครงสร้างอาชีพ  เปลี่ยนฐานทรัพยากรของพื้นที่โดยสิ้นเชิง

 

บังเฉด...ชาวประมงแถวอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช  (บ้านที่สามของเรา) พยายามหาทางแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเล็กๆน้อยๆให้ผลผลิตที่ตัวเองพอจะหาได้มา    ภรรยาปรับตัวไปเป็นแม่ค้าปลาด้วย   และล่าสุด ก็เริ่มหาอาชีพเสริม (ซึ่งอาจจะกลายเป็นอาชีพหลัก)   ด้วยการหันมาประกอบกรงนกส่งขายตลาด ... แกปรับตัวไปทำโน่นนี่ได้เพราะเป็นไทแก่ตัว  ไม่ติดหนี้แพปลา     

 

อาชีพประกอบกรงนกที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านชาวประมงที่ท่าศาลา เป็นการ ย้ายฐานการผลิต    เดิมแหล่งใหญ่ของการทำกรงนกจะอยู่แถวภาคใต้ตอนล่าง   พี่มะที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเกิดปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้    เข้าไปตัดไม้ไผ่ (มาทำกรงนก) ในป่าก็ไม่ได้   พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อกรงนกก็น้อยลง   พ่อค้าขึ้นมาหาแหล่งผลิตใหม่อย่างเช่น แถวนครศรีธรรมราชนี่เอง

 

ชาวประมงที่เหลืออยู่ตอนนี้  คือคนที่ไม่ค่อยมีทางเลือก

 

แล้ววันนี้  ก็ถึงยุคน้ำมันแพง

 

ปัญหาน้ำมันแพงข้ามาซ้ำเติม   ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือไม่ได้  ไม่คุ้มเลย

 

ภาพข่าวที่ออกมาก็คือ   หลายคนจะขายเรือแต่ก็ไม่มีคนรับซื้อ   บางคนใช้วิธีเผาเรือประท้วงชีวิต   บางคนใช้วิธีถอดชิ้นส่วนเรือ    ได้ไม้  น็อตตะปู โลหะ  ขายให้ร้านรับซื้อของเก่า สี่ห้าร้อยบาท......

 

เรียกร้องให้รัฐบาลช่วย    กรมประมงก็คงได้แต่ทำตาปริบ.....   แผนประมงนั้นดีมาก ...ตัวแทนชาวประมงที่มีส่วนร่วมในการร่างบอก... แต่จะปฏิบัติได้หรือเปล่านั้นยังไม่รู้           มาตรการในระยะสั้นทำได้มากที่สุดตอนนี้ก็แค่ยอมให้น้ำมันเขียวขึ้นมาขายบนบก     แต่ทางออกนั้นไม่ยั่งยืนเลย   ในระยะยาวคือ สนับสนุนให้ชาวประมงเปลี่ยนอาชีพ..แต่..จะเปลี่ยนไปทำอะไร... เรื่องนี้ยากกว่าที่พูด

 

ฟังแล้วน้ำตาตกใน   ....ฐานอาชีพ.....  ฐานสวัสดิการชีวิตชั้นแรก....ล่มสลายไปแล้ว

 

เรานึกถึง เบาะรองรับชั้นที่สอง .... social safety  net

บางกลุ่มอาจจะมีสัจจะออมทรัพย์ชาวบ้านอยู่บ้าง  แต่ก็เล็กน้อยเกินไปที่จะใช้แก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญของชีวิตเช่นนี้ ....  ชัดเจนว่าชุมชนทำไม่ได้ทุกเรื่อง

 

เรานึกถึง ตัวใหญ่  กว่า  คือ  รัฐบาล  อีกครั้ง    นอกจากนายกฯที่ชอบทำไปบ่นไปแล้ว   ก็นึกอะไรไม่ออกว่าหน่วยไหนจะมาต่อไม้จากกรมประมง   เดาเอาจากชื่อแค่ว่า   กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม)  น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มาก....  เพราะปัญหาชาวประมงนี้มีผลต่อ  ความมั่นคงของมนุษย์ โดยแท้  ...เจ้ากระทรวงจะรู้รึเปล่าว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของตน...  หรือเราอาจเข้าใจผิด

 

ยังไม่มีข่าวคราวจากกระทรวงดังกล่าว.... จนกระทั่งเมื่อเช้าตรู่วันนี้    ก็ได้ข่าวคราวจากกระทรวง  พม.  ...โธ่เอ๋ย... นึกว่าทำอะไร...  ที่แท้ก็ออกข่าวว่าจะไปช่วยเด็กคนหนึ่งที่โตมากับสุนัขจนมีพฤติกรรมแบบ เมาคลี.....

 

ถ้าทำได้แค่นั้น   กระทรวงก็ยังคิดอะไรไม่ออกมากกว่า งานสังคมสงเคราะห์ แบบเดิมๆที่ตัวเองเติบโตมา...

 

กระบวนการสร้างระบบสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของมนุษย์สำหรับคนนอกภาคทางการเป็นเรื่องใหญ่เร่งด่วนที่ต้องคิดเรื่อง สาระ และ วิธีการ ให้จงหนัก

 

หลุดไปจาก พม. (ที่อาจติดกรอบวิธีคิดวิธีทำงานแบบราชการ) ก็คือ  สำนักงานกองทุนประกันสังคม  ทราบมาว่า  เขากำลังคิดกันหนักเรื่องนี้ ...สำหรับภาคนอกระบบทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 185645เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2008 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แล้ววันนี้ ก็ถึงยุคน้ำมันแพง

ปัญหาน้ำมันแพงข้ามาซ้ำเติม ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือไม่ได้ ไม่คุ้มเลย

..................................

มีผลกระทบไปทุกอาชีพ เลยนะคะ

เศร้า คะ...

สวัสดีครับ

ย่อหน้าที่อาจารย์ว่าไว้

"ตัวแทนชาวประมง บอกว่า นั่นเป็นความผิดของหน่วยราชการที่ไม่เข้มงวดรักษากฎหมาย ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมาจนทุกวันนี้ ... ฟังตอนแรกก็ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวโทษดังกล่าว แต่คิดดูอีกที ก็พอจะมีน้ำหนัก ...ใครจะยอมหยุดตัวเองให้อยู่ในกรอบกฎหมายให้อดตายในขณะที่ไม่มีอะไรการันตีว่าคนอื่นจะรักษากฎหมายด้วย "

น่าคิดมากเลยครับว่าใครผิด? หรืออาจจะผิดทั้งสองฝ่าย? หรือว่าต่างฝ่ายต่างโทษอีกฝ่าย ? เพราะผู้ควบคุมกฎหมายไม่เข้มงวด คนอยู่นอกกฎหมายได้เงินเยอะกว่า อยู่นอกกฎหมายแล้วไม่อดตาย การจะแก้มันก็ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนนะครับ เพราะต่างฝ่ายไม่ยอมรับว่าตัวก็มีส่วนที่ทำให้ระบบเป็นแบบนี้ เหมือนมองกันขาวกับดำนะครับอาจารย์ ผมว่าัมันเทาๆ จะมองทางไหนก็ได้เหมือนกัน แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือมันไปทั้งระบบเลยครับ คนมากมายมุ่งหน้าเข้ามาหางานในเมือง และเมืองก็ดูดทรัพยากรเอาไว้

ผมเองไม่มีทางออกอะไรชัดเจน แต่ก็ไม่เลิกหวังนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณหน่อย

ยามนี้เศร้าไปทั้งหมดเลยค่ะ ข้าวยากหมากแพงก็จริง แต่หากเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด (หน้าที่ต่อตน หน้าที่ต่อคนรอบตัว หน้าที่ต่อสังคม) ไม่เอาเปรียบกัน ก็คงฝ่าอุปสรรคไปได้ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแว้บ

ปัญหาการแข่งกันจับปลาจนปลาหมดทะเล ถ้ามองทางเศรษฐศาสตร์ บอกว่าเป็นความล้มเหลวของสถาบัน ในที่นี้ คือ ระบบกรรมสิทธิ์ ที่ความเป็นเจ้าของไม่ชัดเจน

การกำหนดเขตประมงพื้นบ้าน สามกฺิโลเมตรจากชายฝั่งเป็นการพยายามนิยามสิทธิ์ให้มีความชัดเจนขึ้น ประมงพาณิชย์เข้ามาละเมิดไม่ได้

นอกจากนี้ การกำหนดเขตประมงพื้นบ้านก็ไม่ได้แก้ปัญหาชาวประมงพื้นบ้านด้วยกันเองจับปลาด้วยเครืองมือผิดกม. จึงต้อง กม.เครืองมือประมงมาด้วย

แต่ในทางปฏิบัติ ประมงพาณิชย์ก็เข้ามาละเมิด ..เป็นความล้มเหลวของสถาบันอีกเช่นกัน คือ รัฐ ในฐานะผู้ดูแลกติกา และให้บทเรียนว่า การนิยามกรรมสิทธิ์ทางกฎหมายอาจไม่เพียงพอ ยังไม่ใช่ทางออก

ทางออกที่น่าสนใจคือ การใช้ระบบกรรมสิทธิ์เชิงซ้อน (ขอยืมคำอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์ มาใช้) ชาวบ้านหลายพื้นที่รวมกลุ่มกัน สร้างกติกาขึ้นมาถือปฏิบัติร่วมกันเกี่ยวกับการใช้และรักษาทรัพยากรชายฝั่ง ควบคุมกันเองได้ แถมยังช่วยกันกีดกันประมงพาณิชย์มิให้ล่วงล้ำกม.ได้ด้วย

แต่กระบวนการเช่นนี้ก็เกิดขึ้นช้าไปหน่อย เกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ ในภาพรวม ฐานทรัพยากรประมงจึงเสื่อมโทรม

ชาวประมงที่น่าจะเดือดร้อนน้อยที่สุดในเวลานี้ คือ ชาวประมงที่รักษาฐานทรัพยากรชายฝั่งไว้ได้ มีป่าชายเลน จนปูปลาหอยขึ้นมาอาศัยอยู่ชายฝั่ง ไม่ต้องออกเรือไปจับ ก็มีทรัพยากรให้เก็บเกี่ยว โดยชาวบ้านยังรักษากฎเกณฑ์การจับเก็บไว้ไม่ให้เกิดการทำลายทรัพยากร ...นึกถึงชาวบ้านที่ลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรังค่ะ

สวัสดีอีกครั้งครับอาจารย์

น่าจะเป็นเรื่องยากพอสมควรนะครับ กับการที่จะให้ชุมชนที่ไม่เคยรวมกลุ่มกัน กลับมารวมกลุ่มกันอีกครับ ผมเชื่อว่าชุมชนต่างๆ แม้แต่ในเมืองก็เคยรวมกลุ่มกันเหนียวแน่นกว่าในปัจจุบัน แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจทุกวันนี้บีบให้สังคมอ่อนแอลง บีบให้ความฝันและทางเลือกของคนมีน้อยลง (คนชั้นกลางเหลือความฝันแค่รถ บ้าน เครื่องเสียง โฮมเทียร์เตอร์) มันก็ทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงดีกัน ยากที่จะกลับมามีผลประโยชน์ร่วมกัน

ผมสงสัยว่ากระบวนการสร้างกรรมสิทธิ์เชิงซ้อนที่อาจารย์พูดถึงเกิดขึ้นเองหรือเปล่าครับ? หรือว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการหรือข้าราชการในพื้นที่ ผมยังนึกไปถึงเรื่องโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโครงการรวมกลุ่มแม่บ้านต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วยั่งยืนไหม?

หันกลับมามองข้างในเมือง ในวิชาชีพเอง ผมก็สงสัยว่าจะสร้างการรวมกลุ่มกันได้อย่างไร เช่นจะให้นักวิชาการมาร่วมมือ สนใจ ต่อยอดกันอย่างไร ถ้ากลุ่มนักวิชาการเข้มแข็งก็สามารถเป็นกำลังสำคัญในการต่อรองกับรัฐได้ ไม่ว่าจะในเรื่องผลงานการวิจัย หรือเรื่องการกำหนดนโยบาย เสียงนักวิชาการเดี๋ยวนี้ดังแค่ไหนผมก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับ

ขอบพระคุณครับ

คุณแว้บคะ

ขอบคุณที่ร่วมแลกเปลี่ยนอย่างสนใจและมีคำถามดีๆชวนคิดต่อค่ะ

กรรมสิทธิ์เชิงซ้อนนั้น คงต้องถามว่าอะไรซ้อนอะไร โดยธรรมชาติของหลายพื้นที่ กรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชนเกิดขึ้นมาก่อน คือเป็นวิถีปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนในหมู่บ้านจนกลายเป็นจารีตประเพณีหรือวัฒนธรรม ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกของไทยหรือ ระบบกรรมสิทธิ์ที่รัฐเป็นเจ้าของซึ่งรับรองโดยกฎหมายเกิดหลังยุคอาณานิคม กรรมสิทธิ์โดยรัฐจึงซ้อนทับระบบกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน และใช้ความเป็นสถาบันทางกฎหมายไปทำให้สถาบันโดยจารีตประเพณีกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไป หรือทำให้สถาบันโดยจารีตประเพณีสูญหายไป

ในบางพื้นที่ การเกิดการรวมตัวของชาวบ้าน จึงเป็นการรื้อฟื้นฐานวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันแบบเดิม หากถามว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร หลายกลุ่มที่พบ เกิดจากการกระตุ้นของ ภายนอก เช่น NGO นักวิชาการ แต่จะยั่งยืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสร้างกระบวนการทางความคิด และกระบวนการเรียนรู้ บางพื้นที่ การรวมกลุ่มอาจเกิดจากชาวบ้านเองด้วยการเรียนรู้จากพื้นที่อื่นๆค่ะ

เป็นจริงว่าในบางพื้นที่ อาจไม่มีกรรมสิทธิ์ร่วมโดยชุมชนอยู่ก่อนเลย คือ ทะเลเป็นของทุกคน ที่มีหมายความในทางทฤษฎีว่า ใครก็เข้าไปเก็บเกี่ยวผลได้โดยไม่กติการ่วมกันสำหรับดูแล (มือใครยาวสาวได้สาวเอา) ในพื้นที่เช่นนี้ ย่อมมีแต่กฎหมายของรัฐเป็นตัวกำกับ และอาจจะล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

แต่เท่าที่พบข้อเท็จจริงที่ทฤษฎีไม่ได้กล่าวถึงคือ ในบางพื้นที่ เช่นที่ท่าศาลา แม้ไม่มีการรวมกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากร แต่ดูเหมือนจะมีวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของเพื่อนชาวประมงในหมู่บ้านเดียวกัน เพราะเท่าที่เห็น "การผูกมิตร ช่วยเหลือกัน" เป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในท้องทะเล เช่น ต้องช่วยเหลือกันยามฉุกเฉิน ถึงแม้ไม่ได้รวมกลุ่ม แต่คนในพื้นที่เหล่านี้น่าจะจับปลาในลักษณะที่ "เผื่อแผ่ หรือ เกรงใจ" เพื่อนบ้านที่เป็นชาวประมงด้วยกันด้วย เพราะเขาจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันช่วยเหลือกันตอนออกเรือ

ปัญหามักจะเกิดขึ้นจากเรือประมงจากนอกหมู่บ้าน (ปัญหาที่ถูกพูดถึงโดยชาวบ้านที่บ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด ลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง หรือที่สตูล (จำชื่อหมู่บ้านไม่ได้แล้ว))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท