Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การวิจัยในชั้นเรียน


ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการวิจัยในชั้นเรียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาวิถีชีวิตของอาจารย์ เพื่อให้อาจารย์พัฒนาไปสู่ความเป็นอาจารย์มืออาชีพในสังคมวิชาการของวิชาชีพอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

ทำอย่างไรอาจารย์จะทำการศึกษาการวิจัยในชั้นเรียน ได้ด้วยวิธีง่ายๆ

ทำอย่างไรอาจารย์จะทำการศึกษาการวิจัยในชั้นเรียนของตนเองได้

ทำอย่างไรอาจารย์จะนำผลการวิจัยในชั้นเรียนที่ได้มาปรับให้เหมาะกับตนเองกับนักศึกษาได้

ทำอย่างไรจะดัดแปลงงานวิจัยของคนอื่นมาใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของตนเองได้

                                                             

แนวคิดในการนำการวิจัยเข้ามาสู่ชั้นเรียนและการปฏิบัติตามแนวคิดเช่นนี้ได้มีการใช้ในประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วตั้งแต่ปี พ.. 2493  เนื่องจากต้องการความเข้าใจที่ล้ำลึกในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระเบียบวิธีการสอนวิชาภาษาต่างประเทศวิธีต่างๆ เพื่อนำผลไปใช้ในการผลิตอาจารย์ จากนั้นจึงได้ขยายไปถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการเรียนการสอน เพื่อสังเกตตัวแปรหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน  เพื่อพิจารณาถึงอิทธิพลของตัวแปรหรือองค์ประกอบเหล่านั้นที่มีต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา เพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดจากการเรียนการสอนและแนวทางแก้ปัญหานั้น เพื่อช่วยในการพัฒนาอาจารย์ทั้งก่อนและในระหว่างการเรียนการสอน เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของการเรียนการสอนได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

สำหรับในประเทศไทยแนวคิดเรื่องการวิจัยในชั้นเรียน และอาจารย์ในบทบาทของนักวิจัย หรืออาจารย์นักวิจัยเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งสนับสนุนให้กำลังใจให้อาจารย์มีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักสูตร ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน วิชาชีพอาจารย์ การพัฒนาการเรียนการสอนและดำเนินงานตามนโยบายประกันคุณภาพทางการศึกษา

 

การวิจัยทางการศึกษามีรากฐานจากการวิจัยปฏิบัติการ เริ่มจากการระบุปัญหาจากการทำงาน เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์ สรุปผล นำผลไปใช้ และระบุปัญหาใหม่ เป็นการรวม การปฏิบัติและการวิจัย เข้าด้วยกัน  เป็นการทดลองแนวคิดทฤษฎีด้วยการปฏิบัติจริงเพื่อการปรับปรุงและพัฒนางานที่กำลังทำอยู่ให้ดีขึ้น

 

การวิจัยในชั้นเรียนนั้น จะมีความเฉพาะเจาะจงของประเด็นที่นำมาวิจัยมากกว่าการวิจัยทางการศึกษาโดยมีลักษณะดังนี้

@  เป็นกระบวนการที่ผู้ปฏิบัติศึกษาสิ่งที่ตนปฏิบัติอยู่เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติงานของตนเอง  ส่วนมากเป็นกิจกรรมร่วมกันของผู้ที่ปฏิบัติงานเดียวกัน โดยช่วยกันออกแบบ และดำเนินการศึกษา ในชั้นเรียนของตนเอง

@  เกี่ยวข้องกับปัญหาในการปฏิบัติงานประจำวันของผู้วิจัยมากกว่าที่จะเป็นปัญหาทางทฤษฎี  เป็นการออกแบบ ดำเนินงาน และนำผลไปใช้โดยอาจารย์ เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนของตนหรือของกลุ่ม

@  เป็นการขยายบทบาทของอาจารย์ในการเป็นผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการสอน และการเรียนด้วยการวิจัยในชั้นเรียนอย่างมีระบบ ใช้วิธีการเชิงธรรมชาติ หรือกึ่งธรรมชาติ ใช้เทคนิคการสังเกตเหมือนการวิจัยทางมานุษยวิทยา โดยอาศัยความร่วมมือ ร่วมกับระเบียบวิธีการศึกษารายกรณี

@  ทีมนักวิจัยจะให้การสนับสนุนกันและกัน และมีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนคำถาม และตอบคำถาม มีการแนะนำ การให้ข้อคิดเห็นในความก้าวหน้าในสิ่งที่แต่ละคนทำ เป็นการขจัดความโดดเดี่ยวอันเป็นลักษณะของการเรียนการสอนแต่ดั้งเดิม เป็นการส่งเสริมการพูดคุยของผู้ที่อยู่ในวงการเดียวกัน เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางวิชาชีพในโรงเรียนและระหว่างผู้อยู่ในอาชีพอาจารย์

 

การวิจัยในชั้นเรียนคืออะไร

 

การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการศึกษาอย่างเป็นระบบ ถึงปรากฏการณ์ทุกอย่างในกระบวนการเรียนการสอนของอาจารย์เพื่อทำความเข้าใจ เพื่อการพัฒนา และเพื่อการปรับปรุงการเรียนการสอน ให้มีคุณภาพมากขึ้น  ในหลักการแล้วการวิจัยในชั้นเรียนต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ก่อให้เกิดสิ่งที่ห้องเรียนต้องการให้เกิด นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนาในตัวเด็กเช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของชั้นเรียนทั่วๆไป

การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการเสาะแสวงหาความจริง ที่ดำเนินงานในเชิงสะสมของอาจารย์ ภายในบริบทของการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตน โดยได้ผลที่เป็นประโยชน์ทั้งต่ออาจารย์และนักศึกษา โดยการร่วมมือกันในการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นทุกชั่วโมงที่มีการเรียนการสอน 

สรุปได้ว่า  การวิจัยในชั้นเรียน คือ กระบวนการแสวงหาความรู้อันเป็นความจริงที่เชื่อถือได้ในเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาในบริบทของชั้นเรียน

การวิจัยในชั้นเรียนมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์  เป็นลักษณะของการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action  Research) คือ เป็นการวิจัยควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง โดยมีอาจารย์เป็นทั้งผู้ผลิตงานวิจัย  และผู้บริโภคผลการวิจัย  คือ  อาจารย์เป็นนักวิจัยในชั้นเรียน  อาจารย์นักวิจัยจะตั้งคำถามที่มีความหมายในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน แล้วจะวางแผนการปฏิบัติงานและการวิจัย หลังจากนั้นอาจารย์จะดำเนินการเรียนการสอนไปพร้อมๆ กับทำการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลตามระบบข้อมูลที่ได้วางแผนการวิจัยไว้  นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สรุปผลการวิจัย  นำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน แล้วจะพัฒนาข้อความรู้ที่ได้นั้นต่อไปให้มีความถูกต้องเป็นสากลและเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นต่อการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนานักศึกษาของอาจารย์ให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป

โดยทั่วไปแล้วประชากรเป้าหมายของการวิจัยในชั้นเรียนจะถูกจำกัดเป็นกลุ่มนักศึกษาในความรับผิดชอบของอาจารย์นักวิจัยเท่านั้น และข้อความรู้ที่ได้มักจะมีความเฉพาะ คือ จะเกี่ยวกับสภาพปัญหาในการเรียนการสอนและผลการพัฒนานักศึกษาในชั้นเรียนของอาจารย์นักวิจัยเป็นสำคัญ

 

การวิจัยในชั้นเรียนมีความสำคัญอย่างไร

 

การทำวิจัยในชั้นเรียนนั้นจะช่วยให้อาจารย์มีวิถีชีวิตการทำงานอาจารย์อย่างเป็นระบบ มองเห็นภาพของงานตลอดแนว มีการตัดสินใจที่มีคุณภาพเพราะจะมองเห็นทางเลือกต่างๆ ได้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น แล้วจะตัดสินใจเลือกทางเลือกต่างๆอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ อาจารย์นักวิจัยจะมีโอกาสมากขึ้นในการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับเหตุผลของการปฏิบัติงานและอาจารย์จะสามารถบอกได้ว่าการจัดการเรียนการสอนที่ปฏิบัติไปนั้น ได้ผลหรือไม่เพราะอะไร   นอกจากนี้อาจารย์ที่ใช้กระบวนการวิจัยในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนนี้จะสามารถควบคุม  กำกับ  และพัฒนาการปฏิบัติงานของตนเองได้อย่างดี เพราะการทำงาน  และผลของการทำงานทุกอย่างล้วนมีความหมาย และมีคุณค่าสำหรับอาจารย์ในการพัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนานักศึกษา ผลจากการทำวิจัยในชั้นเรียนจะช่วยให้อาจารย์ได้ตัวบ่งชี้ที่เป็นรูปธรรมของผลสำเร็จในการปฏิบัติงานของอาจารย์  อันจะนำมาซึ่งความรู้ในงานและความสุขในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องของอาจารย์และเป็นที่คาดหวังว่า เมื่ออาจารย์ผู้สอนได้ทำการวิจัยในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานสอนอย่างเหมาะสมแล้วจะก่อให้เกิดผลดีต่อวงการศึกษา และวิชาชีพอาจารย์อย่างน้อย 3 ประการ คือ

(1) นักศึกษาจะมีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

(2) สังคมวิชาการการศึกษา  จะมีข้อความรู้และ/หรือนวัตกรรมทาง การจัดการเรียนการสอนที่เป็นจริงเกิดมากขึ้น  อันจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์และเพื่อนอาจารย์ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก 

(3) วิถีชีวิตของอาจารย์ หรือวัฒนธรรมในการทำงานของอาจารย์ จะพัฒนาไปสู่ความเป็นอาจารย์มืออาชีพ (Professional Teacher)มากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้เพราะอาจารย์นักวิจัยจะมีคุณสมบัติของการเป็นผู้แสวงหาความรู้หรือผู้เรียน (Learner) ในศาสตร์แห่งการสอนอย่างต่อเนื่องและมีชีวิตชีวา จนในที่สุดก็จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวาง  และลึกซึ้งในศาสตร์และศิลป์แห่งการสอนเป็นอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถในการสอนอย่างมาก  จะสามารถสอนนักศึกษาให้พัฒนาก้าวหน้าในด้านต่างๆ ได้ในหลายบริบทหรือที่เรียกว่าเป็นอาจารย์ผู้รอบรู้ หรืออาจารย์ปรมาจารย์ (Master Teacher) ซึ่งถ้ามีปริมาณอาจารย์นักวิจัยดังกล่าวมากขึ้น  จะช่วยให้การพัฒนาวิชาชีพอาจารย์เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมั่นคง

 

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการวิจัยในชั้นเรียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาวิถีชีวิตของอาจารย์ เพื่อให้อาจารย์พัฒนาไปสู่ความเป็นอาจารย์มืออาชีพในสังคมวิชาการของวิชาชีพอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

 

ลักษณะของการวิจัยในชั้นเรียน

 

1. มีโมเดลที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การวิจัยชั้นเรียนต่างจากการวิจัยทางการศึกษาทั่วๆไปตรงที่เปลี่ยนจุดสนใจจากอาจารย์ไปที่นักศึกษา ซึ่งเป็นผู้มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทางการเรียนการสอน อาจารย์เป็นผู้แนะแนวทาง มีประโยชน์ร่วมกัน ในบริบทที่เฉพาะเจาะจง และมีการประเมินความก้าวหน้าไม่ใช่การประเมินรวมสรุป ไม่ใช่เพื่อตัดสินหรือให้ระดับคะแนน แต่เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น

2. มีความเฉพาะเจาะจงในบริบทของผู้เรียนและรายวิชาที่เรียน การวิจัยชั้นเรียนมีความแตกต่างจากการวิจัยทั่วๆ ไปตรงที่มีแนวคิด วิธีการ และวัตถุประสงค์/จุดมุ่งหมายแตกต่างจากการวิจัยทางการศึกษาทั่ว ๆ ไป  จุดมุ่งหมายแรกและสำคัญสุด คือ การได้รับผลย้อนกลับจากนักศึกษาว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างในขณะที่มีการเรียนการสอน ไม่ต้องการอ้างอิงหรือสรุปผลการวิจัยเป็นนัยทั่วไปเกี่ยวกับการเรียนการสอน  ต้องการตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจง เช่น นักศึกษาของฉันได้เรียนรู้อะไรบ้างที่เป็นผลจากการสอนของฉัน

3. จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อการเพิ่มโครงการวิจัยขึ้นจากภาระงานสอน แต่บูรณาการการวิจัยลงในการเรียนการสอนทุก ๆ คาบที่สอน  เพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับประสิทธิผลของการสอน เพื่อการวิเคราะห์ การบรรยาย อธิบาย และทำนายบทบาทของการเรียนการสอนได้

4. ไม่แยกการเรียนการสอนและการประเมินออกจากกัน แต่บูรณาการการประเมินให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการผสมผสานการประเมินและการวิจัยเข้าด้วยกัน  การประเมินบอกว่านักศึกษาได้เรียนรู้อะไร ในขณะที่ การวิจัยบอกว่านักศึกษาเรียนอย่างไร การประเมินช่วยให้มีข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างทันการ และการวิจัยเป็นการแสดงความรับผิดชอบในการ

·       พัฒนาการเรียนการสอน

·       พัฒนาตนเอง

·       ลดช่องว่างระหว่างการวิจัยและการปฏิบัติ

·       ให้ความท้าทายในทางปัญญา

5. สร้างชั้นเรียนที่มีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนักศึกษา

·       นักศึกษาเรียน/ฟัง เขียน อภิปรายและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในชั้นเรียน

·       นักศึกษาได้ทำกิจกรรมที่ใช้ความคิดในระดับสูงเช่น การวิเคราะห์และการประเมินคุณค่า

·       นักศึกษารู้ว่าเรียนอะไร และคิดว่าเขาควรจะทำอะไร

6. มีความเฉพาะเจาะจง  มีพื้นฐานบนความคิดว่า การศึกษาจะอยู่ในบริบทที่จำกัดของห้องเรียนเฉพาะห้อง เนื่องจากความจริงที่ว่า แม้แต่อาจารย์คนเดียวกัน สอนวิชาเดียวกัน ในระดับชั้นเรียนเดียวกัน ในเวลาที่สอนเวลาเดียวกัน ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ในบริบทเดียวกัน สถานการณ์ต่างๆก็สามารถแปรเปลี่ยนไปได้เมื่อเริ่มภาคเรียนใหม่

7. ความมีเอกลักษณ์ ด้วยเหตุว่า ประชากรนักศึกษาในปัจจุบันมีความแตกต่างกันมากในทุกๆ ด้าน ดังนั้น การวิจัยในชั้นเรียนจึงมีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านตัวนักศึกษา และชั้นเรียน

8. สนใจในปฏิสัมพันธ์  เพราะการปฏิสัมพันธ์เป็นลักษณะที่สำคัญในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ ดังนั้น การแยกสิ่งนี้ออกจากสภาพการเรียนการสอนจึงเป็นเรื่องที่ผิด การวิจัยชั้นเรียนจึงสนใจในเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในสภาพที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ

9. ไม่เน้นในด้านปริมาณ มีกรอบการศึกษาในเชิงคุณลักษณะมากกว่าปริมาณ การขยายการวิจัยในเชิงคุณลักษณะจะมีประโยชน์ในแง่ของความละเอียด ความลุ่มลึก ความเข้าใจในการศึกษา

 จุดเน้นของการวิจัยในชั้นเรียนในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

 

จุดเน้นของการวิจัยในชั้นเรียนอยู่ที่ประโยชน์ของการเรียนการสอนจึงไม่เน้นในเรื่องของการสรุปผลการวิจัยเพื่อนำไปอ้างอิงในวงกว้าง แต่อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการวิจัยในด้านของความเที่ยงตรงภายในเป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นเดียวกับการวิจัยทั่วๆ ไป ดังนั้น การวิจัยในชั้นเรียนจึงมีกระบวนการวิจัยโดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 4 ขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วข้างบน ดังนี้

1.      มีการกำหนดปัญหาที่ต้องการวิจัย

2.      มีการกำหนดคำตอบที่คาดเดาล่วงหน้าด้วยการตั้งสมมติฐาน

3.      มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบสมมติฐานว่าเป็นจริงหรือไม่

4.      มีการสรุปและกำหนดปัญหาที่ต้องการศึกษาต่อไป

ตัวอย่างกระบวนการของการวิจัยในชั้นเรียน

1. ระบุปัญหาในชั้นเรียนที่มีอยู่เรียงตามลำดับความสำคัญของปัญหา

§       นักศึกษาชอบคุยในชั้นเรียน/ชอบชวนเพื่อนคุย

§       นักศึกษาไม่ทำการบ้าน

§       นักศึกษาไม่เห็นคุณค่าของการเรียนวิชาอารยธรรม ฯลฯ

2. คัดเลือกปัญหาที่ต้องการแก้ไขปรับปรุงมากที่สุดและคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำได้

มากที่สุดและเขียนเป็นปัญหาวิจัย

3. คาดเดาสาเหตุของปัญหาในรูปของสมมติฐาน อาจมากกว่า 1 ข้อ

4. เก็บข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้

การเก็บรวบรวมข้อมูลอาจทำได้หลายวิธี เช่น การวัดทัศนคติต่อการเรียนวิชานั้น การวิเคราะห์คำพูดคำถาม การสังเกตการทำกิจกรรม การสังเกตพฤติกรรมในหมู่เพื่อน ฯลฯ

                        ข้อพิจารณาคือ 

4.1 ข้อมูลใดที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับคำถามวิจัยที่มีอยู่

4.2 แหล่งข้อมูลใดบ้างที่จะให้ข้อมูลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง และเชื่อเถือได้ว่าจริง เช่น เพื่อน ผู้ปกครอง ชุมชน

4.3 วิธีเก็บข้อมูลใดทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุด ทำให้สามารถนำไปทดสอบสมมติฐานได้ถูกต้องที่สุด นำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ถูกต้องที่สุด

4.4  จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไรจึงจะเห็นได้ง่ายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น วิธีที่ใช้อาจไม่จำเป็น

ต้องใช้สถิติยาก ๆ เข้ามาเกี่ยวของเช่น อาจแสดงด้วยความถี่ ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม หรือค่าเฉลี่ยหรือมัชฌิมเลขคณิต

4.5  เปรียบเทียบข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ไว้  พิจารณาความสอดคล้อง และความแตกต่าง จากข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่างกัน หรือที่ได้จากเครื่องมือต่างกัน หรือวิธีการเก็บที่ต่างกัน แล้วนำมาพิจารณาว่าเป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ 

5. ยอมรับหรือ ปฏิเสธสมมติฐานและตั้งสมมติฐานใหม่ แล้วย้อนไปทำข้อ 4 อีกจนกว่าจะยอมรับว่าสมมติฐานวิจัยที่ตั้งไว้นั้นถูกต้องแล้ว

6. วางแผนแก้ปัญหา

7. ดำเนินการ

8. สรุปผลและเขียนรายงาน



ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ
  • มาเรียนรู้ วิจัยในชั้นเรียน
  • ดีเยี่ยม ๆ ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลนี้

กำลังสนใจเรื่องนี้พอดี

ธรรมะรักษาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท