พระพุทธเจ้าของไพร่


เพียงเพราะพระพุทธเจ้าเห็นคนเกิดแก่เจ็บตายในช่วงเวลาสั้นๆนั้น เป็น "แรงบันดาลใจ" มากพอถึงขนาดที่ทำให้ท่านต้องออกนอกเมืองเพื่อค้นหาทางหลุดพ้นจริงหรือ

เงียบหายไปนาน  วันนี้เพิ่งมี "แรงใจ" ในการเขียนเพราะอ่านเรื่อง "วันวิสาขบูชา และพระพุทธเจ้าของไพร่" ของ "ชวนปัญโญ" ในเนชั่นสุดสัปดาห์

เราเองนั้นเคยตั้งคำถามมานานว่า  เพียงเพราะพระพุทธเจ้าเห็นคนเกิดแก่เจ็บตายในช่วงเวลาสั้นๆนั้น เป็น "แรงบันดาลใจ" มากพอถึงขนาดที่ทำให้ท่านต้องออกนอกเมืองเพื่อค้นหาทางหลุดพ้นจริงหรือ

ในงานเขียนของ "ชวนปัญโญ" นั้น ตอบคำถามข้อนี้ของเราพอดี  จะถูกต้องจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่ก็ฟังดูน่าสนใจ

งานเขียนชิ้นนี้อ้างถึงงานของ อัมเภทการ์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์และผู้นำวรรณะจัณฑาลชาวอินเดียที่เคลื่อนไหวให้คนในวรรณะดังกล่าวออกจากศาสนาฮินดูมานับถือศาสนาพุทธและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยกเลิกระบบวรรณะในอินเดีย ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ  (แปลโดยท่าน เสฐียร พันธรังษี  โดยอ้างอิงหลักฐานทางมหายาน)

นอกจากความงดงามในจิตใจของเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว พระองค์ยังไม่ชอบการกดขี่ขูดรีดมนุษย์ในต่างวรรณะ   พระองค์ทรงถามพระสหายเมื่อเห็นทาสกรรมกรในไร่นาของพระบิดาว่า  การขูดรีดเช่นนี้ถูกต้องแล้วหรือ

เหตุผลทางการเมืองมีความสำคัญที่ทำให้ท่านเสด็จออกบวช  เพราะในสภาศากยะ ซึ่งเป็นสภาเชื้อพระวงศ์  ผู้จะเข้าไปอยู่ในสภาต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกและต้องปฏิญาณว่า จะรักษาผลประโยชน์ของวรรณะกษัตริย์   เจ้าชายสิทธัตถะเข้ามาอยู่ในสภาศากยะแปดปี แต่มีความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิตา  เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธ "วิถีแห่งกษัตริย์" ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงโดยการรบหรือการทำสงคราม  ถือเป็นการผิดต่อระเบียบสภาศากยะ มีโทษรุนแรงต่อท่านและอาจจะมีผลต่อพระราชบิดาได้

ทางออกของพระองค์คือ การเนรเทศตัวเองออกจากเมืองในคราบนักบวช ซึ่งถือว่าเป็นโทษรุนแรงเพราะต้องสละความสุขของวรรณะกษัตริย์  โกนศีรษะ  แสวงบุญ ขออาหารจากผู้คนและเดินทางไปต่างเมืองโดยลำพัง

การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะตามหลักฐานของอัมเภทการ์จึงมิได้เริ่มจากการเบื่อหน่ายละทิ้งความสุข (ทุกข์) ทางโลก  แต่เพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติภาพ

แต่การออกบวชของพระองค์ทำให้เกิดเหตุการประท้วงในกรุงกบิลพัสดุ์  ผู้นำข่าวสารมาบอกเจ้าชายสิทธัตถะคือ ปัญจวัคคีย์

เจ้าชายสิทธัตถะให้เหตุผลของการบวชต่อไปเพื่อค้นพบสัจธรรม  แม้ว่าการออกบวชจะเริ่มมจากเรื่องของสงคราม  แต่สิ่งที่พระองค์แสวงหานั้นยิ่งใหญ่กว่า  ความขัดแย้งทางชนชั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาและเป็นรากเหง้าของความทุกข์ในโลก  แนวคิดใดๆที่มีอยู่ในโลกก่อนพระองค์จะตรัสรู้นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้

**********

"ความสุขสงบที่แท้ คือ ความสงบ สะอาด สว่าง ทางใจ"

 

หมายเลขบันทึก: 184619เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2008 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับ

  • แวะมาทักทายและมาอ่านยบันทึกครับ
  • เห็นด้วยกับ ที่ว่า
  • "ความสุขสงบที่แท้ คือ ความสงบ สะอาด สว่าง ทางใจ"

  • จริง ๆ ครับ

มาเยี่ยมครับ  หายหน้าไปคิดถึงอาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะครูโย่ง..ขอบคุณที่มาเยือนค่ะ

กำลังคิดว่าทำไมอาจารย์หายไปนาน ฮ่าๆๆ ไปเพิ่มพลังนี่เอง ขอให้อาจารย์มีความสุขกับการทำงานครับ ธรรมรักษา

คุณบางทรายคะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ

ไม่ได้หายไปไหน ยังแวะเวียนอ่านงานของชาว G2K อยู่เสมอ และยังแอบชมว่าคุณบางทรายขยันสม่ำเสมอดีจัง

มีคนถามว่า "ยุ่งหรือ"

"เวลา" เป็นเรื่องที่จัดการได้ค่ะ ที่สำคัญคือ "ไฟ" และ "ความสงบ" มากกว่าค่ะ

ตอนที่งานยุ่งๆ แต่มี "ไฟ" ยังเขียนงานไปด้วย เขียนบล็อกไปด้วยในเวลาเดียวกัน (เปิด 2 หน้าจอ) ตอนนั้นกลับมีคนเอ่ยปากว่า "สงสัยอาจารย์จะมีเวลาว่าง (ไม่มีอะไรทำ)"

ฮัลโหลอาจารย์ขจิต

ยังคิดถึงความร่าเริงของอาจารย์อยู่เสมอค่ะ

ธรรมรักษา..ชอบคำนี้จัง.. ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อ.ปัท

พอดีเคยอ่านเรื่องนี้มาบ้างครับ เลยขอเพิ่มเติมนะครับ

จริงๆปูมหลังของการสนับสนุนพุทธโดยดร.อัมเภทการ์นั้นเกิดจากความขัดแย้งกับคานธีครับ

ดร.อัมเภทการ์ไม่เห็นด้วยกับการที่คานธียึดอยู่กับความเป็นฮินดูในการจัดการสังคม ซึ่งหมายถึงการยอมรับโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน(ระบบวรรณะ)โดยปริยาย เลยประท้วงโดยการพาพวกที่สนับสนุนตนเองไปเปลี่ยนเป็นพุทธหมด

แต่คานธีในช่วงหลังอินเดียได้รับอิสรภาพแล้วก็โดนลอยแพ เพราะคนส่วนใหญ่ในพรรค Congress โดยเฉพาะเนห์รูก็ไม่เอาด้วยกับแนวคิดแบบคานธีอยู่แล้ว ดร.อัมเภทการ์ เลยมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญอินเดียครับ

เรืองรัฐธรรมนูญอินเดีย ผมเข้าใจว่าไม่ได้ยกเลิกระบบวรรณะนะครับ เพราะมันฝังอยู่ในวัฒนธรรมของอินเดียไปแล้ว รัฐธรมนูญอินเดียแค่ให้สิทธิทางการเมืองแก่ทุกคนอย่างเท่ากัน (เลือกตั้งคนละเสียง)

ผมเข้าใจว่าสิ่งที่ดร.อัมเภทการ์ต้องการมากไปกว่าสิทธิทางการเมืองที่เท่ากันคือการ การที่รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนคนวรรณะต่ำ(ซึ่งในอินเดียเกือบทั้งหมดเป็นพวกเดียวกับคนจน)

ให้เิกิดความเท่าเทียมกันทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย

่ตัว ดร.อัมเภทการ์ เอง เคยกล่าวไว้ในเชิงตัดพ้อว่า

“In politics we will have equality and in social and economic life we will have inequality”

ถึงทุกวันนี้ฝันของ ดร.อัมเภทการ์ ก็ยังไม่เป็นจริงครับ

ซ้ำร้าย ปัจจุบันการเมืองอินเดีบกลับย้อนไปต่อต้านการให้สิทธิทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน (แบบที่ ดร.อัมเภทการ์ต้องการ) เสียอีก

กระแสต้านนี้มีบทบาทสำคัญมากในการเมืองอินเดียช่วงตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา กระแสนี้เรียกรวมๆว่า ชบวนการชาตินิยมฮินดูครับ โดยเน้นการนำศีลธรรมแบบฮินดูเข้ามาจัดการการเมือง ที่โดนมองว่าถูกทำให้สกปรกโดยคนวรรณะต่ำ

ขบวนการชาตินิยมฮินดูเน้นให้ใช้ ความเป็นฮินดู เข้ามาจัดการสังคม โดยให้นำเอาลำดับชั้นวรรณะมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง ให้คนวรรณะสูงกว่า (ที่มีศีลธรรมในแบบฮินดู)มีอำนาจเหนือคนวรรณะต่ำกว่า

สภาพแบบนี้ ดร.อัมเภทการ์ คงฝันร้าย

อาจารย์ธร..สวัสดีค่ะ

ดีใจมากและขอบคุณมากที่อาจารย์เข้ามาช่วยอรรถาธิบาย ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์และตัวบุคคลชัดขึ้นมาก น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ กำลังคิดว่า สังคมไทยยังไม่มีปราชญ์ ที่เป็นทั้งนักคิดมีอุดมการณ์ นักปฏิบัติ และนักเขียนในคนๆเดียวกัน หรือสถานการณ์ยังบ่มเพาะไม่พอ..

วันนี้ธรรมศาสตร์หลายคนยกทีมกันไปนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจทางเลือกที่จุฬาฯ ..อีกปีสองปีอาจารย์คงได้กลับมาร่วมทีมด้วย..คงจะดีมากเลย

รักษาสุขภาพนะคะ

ขอบคุณครับอาจารย์

ีผมยังต้องเรียนรู้อีกเยอะน่ะครับ

ส่วนปราชญ์แบบที่อาจารย์กล่าวถึง ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ยากน่ะครับ เพราะว่ามันมี trade-off ระหว่างบทบาทที่ต่างกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท