รำลึกถึงการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาผ่านศูนย์พัฒนาวิชาการ


        เมื่อวานนี้ภาคเช้าผมไปร่วมประชุมคณะทำงานจัดทำหนังสือประวัติครูที่คุรุสภา และภาคบ่ายได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิพากษ์หลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ที่ ม.ราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จริงภาคบ่ายวันเดียวกัน ที่ มสธ.ก็เชิญผมไปวิพากษ์หลักสูตร ป.บัณฑิตของผู้บริหารด้วย แต่ผมรับปากทาง ม.ราชภัฎฯไว้ก่อนแล้ว จึงส่งคำวิพากษ์ไปทางจดหมายให้ มสธ.แทน ซึ่งเรื่องนี้จะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป
        ตอนเย็นได้รับโทรศัพท์จากท่าน ผอ.นคร  ตังคพิภพ (ผอ.10 คนแรก) ในฐานะคนคุ้นเคยกัน โดยท่านถือโอกาสถามข้อมูลเรื่องศูนย์พัฒนาวิชาการระดับมัธยมศึกษาในส่วนกลาง  สมัยยังเป็นกรมสามัญศึกษาอยู่  ผมก็บอกให้ท่านจดไปตามที่พอจำได้คือ
      
ศูนย์ฯคณิตศาสตร์              โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
       ศูนย์ฯฟิสิกส์                      โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
       ศูนย์ฯเคมี                          โรงเรียนบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี)
       ศูนย์ฯชีววิทยา                   โรงเรียนเทพศิรินทร์
       ศูนย์ฯวิทยาศาสตร์ทั่วไป   โรงเรียนหอวัง
       ศูนย์ฯภาษาไทย                 โรงเรียนราชวินิตมัธยม
       ศูนย์ฯภาษาอังกฤษ            โรงเรียนสตรีวิทยา
       ศูนย์ฯสังคมศึกษา              โรงเรียนศึกษานารี
       ศูนย์สุขศึกษาพลศึกษา       โรงเรียนสารวิทยา
       ศูนย์ฯคอมพิวเตอร์              โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
       ศูนย์ฯคหกรรม                    โรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์
       ศูนย์ฯศิลปะ ก.                     โรงเรียนสตรีวัดระฆัง
       ศูนย์ฯศิลปะ ข.                     โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี
       ศูนย์ฯอุตสาหกรรมศิลป์       โรงเรียนปากเกร็ด
       ศูนย์ฯเกษตร                          โรงเรียนมัธยมหนองแขม
       ศูนย์ฯกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน   โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย

                ที่จำได้ตอนนี้ก็มีเท่านี้  ซึ่งที่จริงยังมีอีก(ใครจำได้ช่วยบอกด้วย)   เราต่างเล่าความหลังซึ่งกันและกันว่า  เราเสียดายที่หลังปรับโครงสร้างการบริหารเราไม่ได้ใช้ศักยภาพของศูนย์เหล่านี้อย่างเต็มที่  ศูนย์ฯเหล่านี้จึงกระจายกลายเป็นศูนย์ฯของเขตพื้นที่การศึกษาไป  โดยแต่ละ สพท.ทั่วประเทศต่างก็ตั้งศูนย์ฯของตัวเองขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้าดูเผินๆก็น่าจะดีที่กระจายให้มีศูนย์ฯมากขึ้น แต่ในเชิงปฏิบัติจริงเราจะได้เพียงรูปแบบแต่ขาดศักยภาพของศูนย์ฯที่สร้างเครือข่ายเกื้อกูลโรงเรียนอื่น
            ถ้าย้อนรำลึกถึงรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกรมฯในอดีต  เราจะมีกลุ่มโรงเรียนระดับจังหวัดดูแลในเชิงบริหารด้านวิชาการ  และมีศูนย์พัฒนาวิชาการแต่ละวิชา(ระดับจังหวัด)เป็นหน่วยปฏิบัติการทางวิชาการให้แก่กลุ่มโรงเรียน  เราจึงมีความเข้มแข็ง  มีพลังในการดูแลช่วยเหลือคุณภาพทางวิชาการในระดับจังหวัดอย่างเต็มที่ ในทุกเรื่อง  ขณะเดียวกันที่ส่วนกลางเราได้ให้บทบาทแก่โรงเรียนที่มีศักยภาพสูงในแต่ละสาขาวิชา ทำหน้าที่เป็นศูนย์พัฒนาวิชาการในแต่ละสาขาวิชาในระดับกรม ดังที่ผมได้นำเสนอตอนต้น  ที่จะถ่ายทอดวิทยายุทธ์/แบ่งปัน/เกื้อกูลความรู้/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (คล้าย
KM) ไปยังศูนย์ฯระดับจังหวัด อย่างเป็นเครือข่าย 
           ดังนั้นแต่ละศูนย์ฯจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นสถาบันวิชาการที่มีความเข้มแข็งในสาขาวิชานั้นๆ  โดยต่างหารูปแบบพัฒนาความก้าวหน้าของศูนย์ฯตนเองอย่างต่อเนื่อง  นานวันเข้าต่างเริ่มคลายจากความเป็นราชการไปสู่ความร่วมมือกันอย่างไม่เป็นทางการ  เช่นในรูปของ ชมรม  สมาคม เป็นต้น  เวลากรม กระทรวง หรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ เช่น ต้องการหาครูเก่ง ครูดี ในสาขาวิชานั้นๆ  หรือต้องการตัวอย่างผลงานที่ดีฯลฯ   ก็จะคิดถึงศูนย์ฯเหล่านี้เป็นอันดับแรก  แม้แต่งาน
เสมา,45 เปิดโลกการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ที่อิมแพค เมืองทองธานี ในปี 2545 กลไกในการขับเคลื่อนหลักของงานนี้ก็คือศูนย์พัฒนาวิชาการเหล่านี้นี่เอง  โดยที่กระทรวง/กรมให้เงินดำเนินการเพียงน้อยนิด(กุ้งฝอยตกปลากระพง)
         เราอยากเห็นภาพเครือข่ายเช่นนี้เกิดขึ้นอีก  ผมเคยนำเสนอเรื่องนี้เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้แลหลังกลับไปมองในสิ่งดีดีในอดีตบ้าง  แล้วนำกลับมาปรับใช้ใหม่  เป็นการแก้ปัญหา/พัฒนาภายในของเราเอง  โดยไม่ยึดติดตัวกูของกูตามโครงสร้างอย่างเหนียวแน่น  ในที่สุดศูนย์เหล่านี้ก็จะเข้าไปช่วยเหลือแต่ละ สพท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพเอง  โดยไม่กระทบในเรื่องโครงสร้างการบังคับบัญชา  แต่ดูเหมือนว่า ปัจจุบันเรามองไปข้างหน้าอย่างเดียว กลัวกระทบโน่นกระทบนี่  เห็นของเก่าๆเป็นของไร้ค่ากันไปหมดแล้ว  คุณภาพการศึกษาเราจึงเป็นอย่างที่เห็นๆกัน
       ก็หวังท่าน ผอ.นคร  ตังคะพิภพ ที่ปรึกษาของกระทรวงฯ ที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงให้การยอมรับ จะได้รื้อฟื้น นำเสนอทบทวนเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง 

หมายเลขบันทึก: 183963เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คิดถึง ศูนย์พัฒนาวิชาการ ของดีในอดีต ที่คนลืม จังหวัดตาก ก็คิดทำแล้วโดยในส่วนของโรงเรียนมัธยมศึกษา แต่การปฏิบัติยังไม่เป็นรูปธรรม ขาดการสนับสนุน โรงเรียนมัธยมเล็ก ๆ ต้องพึ่งพาตนเอง ซึ่งก็ขาดขวัญและกำลังใจ ขาดงปม.และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ผู้บริหารอยากจะearly retire บรรยากาศการทำงาน แบบขอไปที ไม่มีที่ปรึกษา ไม่มีพี่มีน้อง ไม่มีทีม มือใครยาวสาวได้สาวเอา ตัวใครตัวมัน โรงเรียนมัธยมเล็กบางโรง ไม่มีนักเรียนเรียน ม.ปลาย พร้อมที่จะถูกยุบต่อไปในอนาคต ครูเตรียมตัวขอช่วยย้ายหนี ใครจะช่วยได้บ้าง อย่างไรก็ดี เราชาวมัธยม ทั้ง จังหวัดตาก ( 2 เขต) มี 22 โรง จะประชุมกันในปลายเดือนพ.ค.นี้ คงต้องพูดคุยและปรึกษาหารือกัน เพื่อพัฒนาการศึกษาของเราให้มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไปครับ

เห้นด้วยในความคิดของ คห.2ครับ ทำงานร่วมกันเป็นทีม นำเสนอเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง อย่างเร่งด่วน ถ้าทำได้ผลประการใด นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

ช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งเถอะครับ การดูแลกันในแนวราบนี่แหละจึงจะเป็นชีวิตจริง และเกิดความมั่นคง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท