มีเงิน และเจตนาดี ไม่พอสำหรับแก้ปัญหาความยากจน


เจตนาดีมีเงินนำหน้า การพัฒนาก็ไม่ถึงไหน? (ยั่งยืน)

คำกล่าวสำคัญของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี  , 24 มิถุนายน 2544. กล่าวว่า

"ผู้ที่เข้าไปทำงานชุมชน จะมีแต่เจตนาดีอย่างเดียวไม่ได้ (ดังจะเห็นได้ว่า)ทั่วโลกประสบความล้มเหลว  ในการแก้ไขความยากจนของคนชนบท  เพราะอาศัยแต่เจตนาดีและเงินมหาศาล"....

สิ่งที่อาจารย์หมอประเวศ ท่านได้กล่าวไว้ สอดคล้องกับสิ่งที่ อาจารย์เสรี พงศ์พิศ กล่าวคือ "คนไม่มีปัญญา ทำป่าให้เป็นทะเลทราย  แต่ว่าคนมีปัญญา  ทำทะเลทรายให้เป็นป่า"  สิ่งที่อาจารย์หมอประเวศ กล่าวนั้นคงต้องสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นในหมู่เกษตรกร ครับ แล้วปัญหาความยากจนจะลดน้อยลงเอง.........

โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต

หลักสูตร 6 เดือน 

โรงเรียนแก้หนี้ แก้จน เริ่มต้นชีวิตใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 

สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

แนวคิดสำคัญ

          เงินแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ เพราะสังคมไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดความรู้  ขาดปัญญาในการใช้เงินต่างหาก สังคมไทยไม่ได้จนทรัพยากร ไม่ได้จนแรงงาน ไม่ได้จนเงิน แต่จนปัญญา

            การเรียนรู้จึงเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาความยากจน เรียนรู้เพื่อจัดการปัญหา จัดการทรัพยากร จัดการชีวิตให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งสับสน วุ่นวาย ไร้ระเบียบ จัดการการผลิต การกิน การอยู่ จัดระเบียบชีวิตใหม่ ให้มีระบบ มีฐานคิด ฐานความรู้ ฐานวิชาการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

            การศึกษาวันนี้แปลกแยก ไม่ได้เอาชีวิต ไม่ได้เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ผู้เรียนจึงต้องตั้งหน้าตั้งตาท่องหนังสือ ท่องตำราเพื่อไปสอบ สอนมาก เรียนน้อย  นักศึกษาเรียนจบก็เอาปริญญาไปเร่หางานทำ เขาไม่จ้างก็อยู่แบบอด ๆ อยาก ๆ ช่วยตัวเองไม่ได้

            การฝึกอบรม การประชุมสัมมนาที่หน่วยงานต่าง ๆ จัด ก็เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ส่วนหนึ่งจัดเพื่อตอบสนององค์กร หน่วยงาน ซึ่งวางแผนและงบประมาณเอาไว้ ส่วนหนึ่งเพื่อสนองกระแส ไม่ได้จัดในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีเป้าประสงค์ชัดเจน และมีการดำเนินงานประสานต่อเนื่อง การบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ต้องพูดถึง ต่างคนต่างจัด ต่างคนต่างทำ ชาวบ้านจึงต้องไปสัมมนาแล้วสัมมนาอีก บางครั้งเรื่องเดียวกันไปสามครั้งสี่หน เพราะจัดคนละครั้ง คนละหน่วยงาน

            ที่สำคัญ การเรียนรู้ไม่ว่าในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย ไม่ได้เอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพ ความรู้ ประสบการณ์ ไม่ได้คำนึงถึง ภูมิสังคม อันเป็น ทุน ที่สำคัญ ที่ควรนำมาต่อยอด นำมาประยุกต์และเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง

            หลักสูตรที่จัดสำหรับผู้ใหญ่จึงเป็นหลักสูตรเดียวที่จัดสำหรับเด็กนักศึกษาอายุ 17-18  เรียนแบบเน้นความจำ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งความจำลดน้อยถอยลงไปพร้อมกับอายุ แต่พวกเขามีความสามารถในการเชื่อมโยง มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า

            ผู้ใหญ่ต้องการเรียนโดยเน้นการปฏิบัติ (learning by doing) ให้มากที่สุด เรียนไปด้วย ปฏิบัติไปด้วย แก้ปัญหาและพัฒนาตนเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะเรียนในชีวิต และเรียนเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น จึงไม่ต้องแยกระหว่างชีวิตกับการเรียน

            การพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนแก้ปัญหาหนี้สิน แก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาชีวิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยวันนี้.....

(รศ.ดร.เสรี  พงศ์พิศ  , 6 พ.ย. 2550)

หลักสูตรนี้ เป็นการย่อหลักสูตรของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นลักษณะของหลักสูตร ระยะสั้น เรียนจบใน 6 เดือน เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับประกาศนียบัตร จาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ว่าได้ผ่านการอบรมหลักสูตร  แล้วให้นำไปเสนอกับ  สำนักงาน ธ.ก.ส.สาขาใกล้บ้านท่าน เพื่อขอรับการพักชำระหนี้เกษตรกร เพื่อสร้างชีวิตใหม่แก่เกษตรกรที่ผ่านหลักสูตรนี้ได้ เสนอแผนชีวิต แผนงบประมาณของตนเองต่อ ธ.ก.ส.ว่าจะคืนหนี้แบบไหน  อย่างไรครับ .........

 

หมายเลขบันทึก: 183845เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ .....น้องจิครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมครับ ดีนะที่มาแค่ตีขิมสมานฉันท์......ถ้าตีฆ้องร้องป่าว เล่าเรื่องราว จะขนาดไหน?....ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท