"เลี้ยบ" ให้ ขรก.ทำงานที่บ้าน


กระทรวงคลังนำร่อง มติ "กนง." คงดอกเบี้ย น้ำมันแตะ130 ดอลล์

"สมัคร" นัดประชุม ครม.เศรษฐกิจ 26 พ.ค. "เลี้ยบ"ดันแนวทางให้ ขรก.ทำงานที่บ้านเพื่อประหยัดพลังงาน ให้คลังประเดิมนำร่องตามด้วยกระทรวงอื่น ๆ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายห่วง ศก.ยังเสี่ยง ปรับสมมติฐานน้ำมันใหม่เป็น 140 ดอลล์ รับหากเอาไม่อยู่อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวอย่างรุนแรง เผยดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ 4.5% นำเข้าเชื้อเพลิงเขย่าหนัก เม.ย.ขาดดุลการค้า 4.1 หมื่น ล. สูงสุดในรอบ 12 ปี ทำสถิติใหม่ทะลุ 130 ดอลลาร์

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่       21 พฤษภาคมว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันที่ 26 พฤษภาคม เพื่อหารือแนวทางรับมือปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพิจารณามาตรการประหยัดพลังงาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากนั้นจะนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว

มาตรการที่จะเร่งพิจารณานั้น จะประกอบด้วย การเพิ่มรายได้ของประชาชนเพื่อให้สามารถรองรับกับ      ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และมาตรการในการจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่การประหยัดพลังงานในที่สุด โดยในส่วนของมาตรการประหยัดพลังงานนั้น ประกอบด้วยการสนับสนนุเกิดการเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานทดแทนทั้งในส่วนของภาคขนส่ง ภาคโรงงานอุตสาหกรรมและภาคประชาชน โดยจะใช้ทั้งแรงจูงใจ       ที่มาจากมาตรการภาษี และการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเร่งรัดให้หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ต้นทุนของระบบขนส่งในประเทศปรับลดลงจากระดับ 18-19% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ในปัจจุบันไปสู่ระดับเป้าหมายคือ 8-9% ของจีดีพีภายใน 10 ปีข้างหน้า "แนวทางในการส่งเสริมให้ภาคเอกชน และหน่วยราชการ   ลดการใช้พลังงานก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยกระทรวงการคลังจะนำร่องโดยการสนับสนุนให้ข้าราชการสามารถทำงานที่บ้านได้ โดยจะเริ่มจากบุคลากรที่ทำงานด้านค้นคว้า วิจัย และไม่ได้มีส่วนในการให้บริการประชาชน และวางระบบในการประเมินผล ตรวจสอบผลงานให้ชัดเจน คาดว่าจะสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ และจะนำแนวคิดนี้ไปเสนอกับกระทรวงต่างๆ หากส่วนราชการใดจะดำเนินการตามก็เป็นเรื่องที่ดี" นพ.สุรพงษ์กล่าว

สำหรับแนวคิดของ กทม.ในการเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าเขตพื้นที่ด้านใน กทม.นั้นก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี  ที่ต่างประเทศมีการดำเนินการกันมาแล้ว แต่จะต้องทำในส่วนของพื้นที่มีระบบขนส่งมวลชนที่เอื้ออำนวย แต่หากพื้นที่นั้นไม่สะดวกในการใช้ระบบขนส่งมวลชนก็อาจจะสร้างความลำบากให้กับประชาชนได้

นพ.สุรพงษ์ ยังกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ความท้าทายของรัฐบาลไทยท่ามกลางวิกฤตพลังงานและอาหารโลก" ที่ คณะกรรมการเศรษฐกิจสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดขึ้นว่า แนวทางที่รัฐบาลต้องดำเนินการเร่งด่วนคือผลักดันให้เรื่องพลังงานและอาหารเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และศักยภาพในการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานในระยะยาว แต่จะมาสร้างปัญหาโดยการจำกัดการส่งออกเนื่องจากจะส่งผลเสียในระยะยาวเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์และขาดแรงจูงใจในการผลิต "การอุดหนุนด้านพลังงานแทนที่จะแก้ปัญหาแต่จะกลายเป็นการสร้างปัญหา สิ่งที่ควรทำคือผลักดันพลังงานทางเลือกทั้งแก๊สโซฮอล์ เร่งรัดการใช้ E85 สนับสนุนรถไฮบริดจ์ พลังงานจากก๊าซชีวภาพ เพิ่มระบบชลประทานในการจัดการน้ำโดยจะใช้งบประมาณในส่วนนี้ 2 แสนล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้าเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น" นพ.สุรพงษ์กล่าว

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โอกาสทองของเกษตรกรยังมีอยู่ เพียงแต่รัฐต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบน้ำและการสร้างระบบป้องกันความเสี่ยงในตลาดสินค้าเกษตร เพราะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวนาไม่สามารถรับ     ความผันผวนนั้นได้ ถ้ามีสถาบันประกันเงินฝากกำหนดให้ชัดเจน จะทำให้ความมั่นคงทางอาหารของไทยมีความเสี่ยงลดลง เพราะขณะนี้ยังมีโอกาสในมือเต็มที่ เพียงแต่เป็นการรวยกระจุก ที่ประเทศอาจไปไม่รอด เนื่องจากมีคนจนกระจาย รัฐบาลจึงต้องเร่งดูแล เพราะยิ่งราคาผันผวนมากเท่าไหร่ ชาวบ้านก็จะเป็นผู้เดียวที่จะได้รับผลกระทบ เมื่อราคาลงเต็มที่ แต่เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้ได้รับประโยชน์กลับไม่ใช่ชาวนา

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนเมษายน 2551 ที่ได้จากการสำรวจ 660 ตัวอย่าง ครอบคลุม 37 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 78.8 ปรับตัวลดลง จากเดือนมีนาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 83.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ผลจากต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนในส่วนวัตถุดิบก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้น่าเป็นห่วงว่า ราคาน้ำมันแพงจะเป็นตัวฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ หากกระทรวงคลังจะออกมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ จะต้องเป็นมาตรการที่เป็นยาแรงเนื่องจากเศรษฐกิจปัจจุบันกำลังอยู่ในบรรยากาศซึม ทั้งจากปัญหาน้ำมัน และบรรยากาศการเมืองที่ไม่สู้ดีนัก

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวเอกชนได้เสนอแนะต่อภาครัฐควรจะต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรม ควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็คต์) ควรพิจารณามาตรการตรึงราคาสินค้าพร้อมกับ         การพิจารณาถึงต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย ควรส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และควรเร่งสร้างเสถียรภาพด้านการเมืองเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน

นางดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย   ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยง ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยในการประชุม
ครั้งนี้ความเสี่ยงด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นมากจากการประชุมครั้งก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและอาหารสดที่เร่งตัวมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวเร็วกว่าที่คาด 
 

นางดวงมณีกล่าวว่า การส่งผ่านของราคาน้ำมันที่เร่งตัวไปยังต้นทุนราคาสินค้ามีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นไปได้อีก โดยในเดือนเมษายนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 6.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 2.1% โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบสูงถึงกรณีเลวร้ายตามที่ ธปท.สมมติฐานไว้ จะมีโอกาสให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินที่ 3.5% ในช่วงปลายปี 2551 เพราะฉะนั้นธนาคารกลางจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

นางดวงมณีกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ได้ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนมาก โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในกรณีพื้นฐานเฉลี่ยในปีนี้ไว้ที่ 109.8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากการประชุมครั้งก่อนที่ 93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนสมมติฐานกรณีเลวร้ายของราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากการประชุมครั้งก่อนที่ 112 ดอลลาร์สหรัฐ  "จากการประเมินสถานการณ์มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะปริ่ม ๆ แตะกรอบนโยบายการเงินในปลายปี เพราะฉะนั้นธนาคารกลางจะต้องดูแลภาวะที่ประชาชนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ตัวนี้สำคัญต้องเอาให้อยู่ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงมากกลายเป็นไฮเปอร์อินเฟชั่น (ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวอย่างรุนแรง) ด้วยซ้ำไป" ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

นอกจากนี้นางดวงมณีกล่าวว่า อัตราเงินฟ้อที่เร่งตัวมากในระยะนี้ส่งผลกระทบให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงสำหรับเงินฝากประจำระยะ 12 เดือน อยู่ที่ติดลบ 4.54% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี หรือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นเหตุผลให้ กนง.ต้องดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ทั้งนี้ กนง.จะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 16 กรกฎาคม 2551

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า เดือนเมษายน 2551 ไทยขาดดุลการค้า  1,808 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทขาดดุล 61,279 ล้านบาท ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 2551 ไทยขาดดุลการค้ารวม 2,990 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 114,940 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนไทยเกินดุลการค้า 3,515 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินดุล 111,250 ล้านบาท โดยในเดือนเมษายน 2551 ส่งออกเป็นมูลค่า       13,765 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27% และช่วง 4 เดือนแรกส่งออกได้รวม 55,481 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.2% คิดเป็น 32.3% ของเป้าหมายทั้งปี ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 15,573 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 44.4% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 6.6% และช่วง 4 เดือนแรกนำเข้ารวม 58,471 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.7%  ทั้งนี้ หากดูสถิติย้อนหลัง พบว่ามูลค่าการส่งออกเดือนเมษายน ลดลงจากเดือนมีนาคมเล็กน้อย แต่ด้านนำเข้ามูลค่ายังสูงสุดย้อนหลังไป 5 ปี นับจากปี 2546 เช่นเดียวกับการขาดดุลการค้ามูลค่า 1,808 ล้านเหรียญ

นายศิริพลกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าสูง เนื่องจากในเดือนเมษายนไทยนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 88% เฉพาะราคาน้ำมันดิบนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น เฉลี่ยเดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 104.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่เดือนเมษายน 2550 อยู่ที่ 64.1 เหรียญ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 62.98% และช่วง 4 เดือนแรกไทยนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 73.3% มูลค่า 12,566 ล้านเหรียญ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็นำเข้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30-35% "เชื่อว่าการส่งออก        ทั้งปี 2551 จะได้ตามเป้าหมายที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์   ให้นโยบายไว้ที่ระดับ 15% ส่วนการนำเข้ามีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละส่วนก็ต้องดูแลให้ดี กำลังมี
การแก้ไขและบริการจัดการให้ดี โดยนายมิ่งขวัญจะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการอาหารและพลังงาน       ในเวลา 09.30 น. วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาและออกมาตรการดูแล ส่วนจะคุมการนำเข้าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย ต้องยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องน้ำมันแพง เพราะกระทบทั้งทางตรงต่อต้นทุนและราคาสินค้า ทางอ้อมเพิ่มต้นทุนด้านขนส่งและโลจิสติคส์ ซึ่งเป็นภาระเพิ่มต่อผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน" นายศิริพลกล่าว

สำหรับการดูแลปัญหาเงินเฟ้อนั้น นายศิริพลกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังติดตามถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่สูงขึ้นว่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างไร หากเดือนพฤษภาคมนี้ เงินเฟ้อยังขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจต้องปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2551 อีกครั้ง หลังจากปรับขึ้นมาแล้วในเดือนเมษายนจาก 3.5% เป็น 5.0-5.5%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจค้นข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออก พบว่าการขาดดุลการค้ามูลค่า 1,808 ล้านเหรียญ ในเดือนเมษายน 2551 ถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปี นับจากเดือนเมษายน 2539 ที่ขาดดุลถึง 2,760 ล้านเหรียญ

เอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไลต์สวีท ซื้อขายในตลาดนิวยอร์กเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา ปิดตลาด 129.07 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.02 ดอลลาร์ โดยในช่วงหนึ่งขึ้นไปสูงถึง 129.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันมาจากหลายปัจจัย ทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อน, ความกังวลว่าปริมาณน้ำมันจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังเชื่อการคาดการณ์ของหลายฝ่าย อาทิ โกลด์แมน แซคส์ ที่ออกมาระบุเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมัน        จะขึ้นไปถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในอีก 2 ปีข้างหน้า

รายงานข่าวเปิดเผยว่า นอกจากนี้ บทความในหนังสือพิมพ์เดอะ เยรูซาเลม โพสต์ ที่ระบุว่า ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐอเมริกา ตั้งใจจะทำสงครามโจมตีอิหร่านก่อนจะหมดวาระประธานาธิบดีภายในปีนี้      ก็มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในฐานะที่อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ขณะเดียวกัน เหตุการณ์แผ่นดินไหวในจีนส่งผลให้จีนต้องการน้ำมันดีเซลเพื่อไปผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับราคาน้ำมันดิบไลต์สวีท ซื้อขายในเอเชียวันที่ 21 พฤษภาคม ยังทรงตัวอยู่เหนือ 129 ดอลลาร์  ที่ระดับ 129.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 6 เซนต์ ต่อมาในการซื้อขายที่ตลาดลอนดอน ราคาได้ขยับขึ้นไปอีกที่ ระดับ 130.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ตัดสินใจปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม ส่งผลให้ราคาดีเซลของ ปตท.อยู่ที่ระดับ 35.94 บาทต่อลิตร เป็นการปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับขึ้น          อย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำมันดิบและสำเร็จรูปราคาอยู่ในระดับสูงกว่า 120-132.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉพาะดีเซล ล่าสุดปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 161.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาขายปลีกยังไม่ได้สะท้อนตามต้นทุนดังกล่าว โดยการขายดีเซลขาดทุนลิตรละ 2.68 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บางจากก็ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลของ ปตท.และบางจากเท่ากัน อยู่ที่ระดับ 35.94 บาทต่อลิตร ยังถูกกว่ารายอื่น 50 สตางค์ต่อลิตร

มติชน  ไทยโพสต์  กรุงเทพธุรกิจ  ผู้จัดการรายวัน

ไทยรัฐ  โพสต์ทูเดย์  ประชาชาติธุรกิจ  22  พ.ค.  51

หมายเลขบันทึก: 183839เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท