ม่วนอ๊กม่วนใจ๋ ฮักเขี้ยวฮักหมู่ (50) พ่อกมลเล่าเรื่องชมรมผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่ม


"พญาลือคู่บ้าน มะขามหวานคู่เมือง เงาพระธาตุลือเลื่อง เมืองน้ำปู๋ดี"

 

พ่อกมล เล่าเรื่อง กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ของชมรมผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่มค่ะ ท่านมีบทนำของอำเภอมาบอกเล่าก่อนว่า "พญาลือคู่บ้าน มะขามหวานคู่เมือง เงาพระธาตุลือเลื่อง เมืองน้ำปู๋ดี" อันนี้เป็นคำขวัญของอำเภอแจ้ห่มครับ

(น้ำปู คือ ชาวบ้านจะไปจับปูตามทุ่งนา แล้วมาทำเป็นน้ำปู วิธีการทำ คิดว่าท่านคงจะได้เห็นจาก กบนนอกกะลาที่เขาไปถ่ายทำมาแล้ว) ... และคุณพ่อก็เริ่มเล่าเรื่องกิจกรรมของชมรมฯ ให้ฟัง

ประเด็นที่ 1 พื้นฐานของชมรมผู้สูงอายุของแจ้ห่ม ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เปรียบเหมือนวัยรุ่น ตั้งมาได้ 17 ปี คือ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 ณ รพ.แจ้ห่ม โดย นายแพทย์บุญเติม ตันสุรัตน์ ผู้อำนวยการ รพ.แจ้ห่ม และนายทวี แก้วเรือน นายอำเภอแจ้ห่มขณะนั้น ได้ช่วยกันจัดตั้งขึ้น และชมรมผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่มนี้ 17 ปี ใช้ประธานเพียง 3 คน เท่านั้น
... คนที่ 1 คือ แม่คำแปง สืบแสง
... คนที่ 2 พ่อเชาวน์ วรรณรัตน์
... และคนที่ 3 คือ คนปัจจุบัน ก็คือ พ่อสุวัฒน์ วสุสัณห์ ซึ่งเป็นคนที่เข้มแข็งมาก ได้ให้เงินส่วนตัว สร้างอาคารสถานที่ แล้วผมก็ทำเสนอของบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลได้ มีผู้ใจบุญใจกุศล ช่วยบริจาคให้อีก จึงเอามาสร้างศาลาประชาคมผู้สูงอายุ ให้ชื่อว่า "ชมรมผู้สูงอายุแจ้ห่ม วัดศรีหลวง"

เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้ทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 20 กพ.48 ขณะนี้มีสมาชิก 101 คน เมื่อก่อนมีเกือบ 400 แต่ผมได้ขยายผู้สูงอายุออกไปแต่ละหมู่บ้านๆ ให้เขาได้รับผิดชอบ ได้ทำของหมู่ของเขาเอง และเราก็ไปเป็นวิทยากร ไปช่วยอบรม ช่วยชี้แนะสิ่งต่างๆ ให้ เพื่อที่จะได้รับผิดชอบได้น้อยลง จะได้ทั่วถึง

การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมนั้น ก็มี

  • การออกกำลังกาย สัปดาห์หนึ่ง 3 วัน คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 16.00 น.
  • มีกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ จิตอาสาทำดีเพื่อพ่อ ร่วมกับ รพ.แจ้ห่ม มีการทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และไปเยี่ยมผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในห้องต่างๆ เราก็พาผู้สูงอายุไปเยี่ยม
  • นอกจากนั้นก็ทำสมุนไพร เกี่ยวกับยาหม่องน้ำ ยากันยุง

ประเด็นเรื่อง การริเริ่มทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

สาเหตุจูงใจในการจัดกิจกรรมก็คือ

  • สุขภาพช่องปากเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของทุกช่วงวัย วัยผู้สูงอายุนี้ เราจะทำอย่างไร เพื่อจะให้ผู้สูงอายุมีฟันอยู่ ... ทำอย่างไรจะให้ฟันอยู่กับตัวเรา
  • มีกิจกรรมที่เราทำขึ้น ก็คือ
  • เราสอนการแปรงฟันทุกซี่ให้สะอาด แก่ผู้สูงอายุของเรา ... ก็อบรมมาแล้ว และเราสนใจกันว่า แปรงอย่างไรให้ถูกวิธี ก็ทำไปแล้ว
  • เราบอกว่า ... ผู้เฒ่าฟันดี ต้องไม่ติดสีแดง ... อันนี้เป็นโครงการใหม่ กำลังอบรมกันไป 1 ครั้ง เอาแกนนำมาอบรมก่อน เมื่ออบรมเสร็จ ก็ประชุมสมาชิก เริ่มทำกันได้ครั้งหนึ่ง คือ
    ... เอาน้ำยาที่เป็นสีมาป้ายฟัน
    ... และบอกคะแนนไว้ เป็น คะแนน 0, 1, 2, 3
    ... ป้ายเสร็จแล้วก็ให้ไปบ้วนปาก
    ... และมาจับคู่ดูกันว่ามี่คราบจุลินทรีย์ในฟันหรือเปล่า
    ... (คราบจุลินทรีย์ทางเหนือเราเรียกว่า ขี้เขี้ยว)
    ... สีจะติดอยู่ในฟันนั้น ถ้าฟันคนไม่มีขี้เขี้ยว มันก็จะขาว เป็น 0 ถ้ามีมากอีกนิดหนึ่ง ก็เป็น 2 เป็น 3
    ... แล้วเราก็หาส่วนต่างๆ นี้ว่า เราจะทำอย่างไรให้ฟันของเราดีขึ้น
    ... เรามาคำนวณกัน มานับฟันดูในปากว่า มีฟันกี่ซี่ ฟันผุไหม ฟันโยก ฟันถอนออกกี่ซี่
    ... และเอาคราบจุลินทรีย์นี้ ใส่จำนวนที่เรามีอยู่ และมาหารกับจำนวนฟันในปาก ออกมาเป็นคราบจุลินทรีย์ ครั้งที่ 1, 2 และ 3
    ... เดี๋ยวนี้เราทำเป็นสมุดนัด
    ... ตอนนี้ก็กำลังหาทุนซื้อยาย้อมสีนี้ใช้เวลาออกไปตรวจฟันกับใคร

ประเด็นที่ 2 ร่วมกับใคร มีใครเป็นผู้นำ ผู้สนับสนุน ... เราร่วมกับทันตแพทย์ใน รพ. และผู้สนับสนุนคือ เทศบาล แต่ที่เราทำเดี๋ยวนี้ เราได้งบจากกรมอนามัย ผ่านมาทาง จว.

การมีส่วนร่วมของชมรมผู้สูงอายุ ได้แก่ การมาเข้าร่วมของชมรมฯ เมื่อเวลาเราทำกิจกรรมแล้ว เราจะมีหนังสือเชิญหน่วยงานต่างๆ หรือใครที่ให้การสนับสนุน เราก็จะเชิญเขามา เขาก็จะมาร่วม และผู้สูงอายุก็เข้ามาร่วมกันเยอะ

การมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทศบาลตำบลแจ้ห่ม ... เขาให้ความสนับสนุนทุกอย่าง เวลาจะไปประชุมที่ รพ. มันก็ไปประมาณ 1 กม. จากชมรมฯ ไป เราก็ไปขอรถตู้ของเทศบาล เขาก็ให้การสนับสนุน

นอกจากนั้น ปี 2550 ผมทำโครงการเสนอขอเครื่องมือวัสดุเกี่ยวกับการแพทย์ ทำไปแล้วไม่ได้ เขาบอกว่า ชมรมผู้สูงอายุไม่ได้เป็นองค์กร บอกว่า เขาให้ไม่ได้ ผมก็หาวิธีจะทำยังไงให้ได้ ก็ไปมอบให้แกนนำของ รพ. คือ คุณนันทริกา เธอเป็นผู้นำของชมรมในอำเภอแจ้ห่ม ได้ทำโครงการจากโรงพยาบาล ยื่นไปขอการสนับสนุน ปี 2551 เดี๋ยวนี้ได้มาแล้วครับ

  • ได้เครื่องวัดความดันแบบชนิดตั้งโต๊ะ แบบดิจิตอล
  • มีเครื่องชั่งน้ำหนักแบบชนิดที่เราถือไปไหนได้ มีกระเป๋า
  • และอื่นๆ 17-18 ชิ้น
  • ที่วัดส่วนสูง
  • เราจะนำออกไป เวลาที่ออกไปตรวจ ไปเยี่ยมชมรมต่างๆ
  • และพวกเราก็สามารถวัดความดันให้คนอื่นได้ด้วย ซึ่งเรามีความรู้ จากได้เชิญผู้รู้จาก รพ. มาชี้แนะให้อีกทีหนึ่ง

ประเด็นความรู้สึก ความภูมิใจ ประทับในในการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

  • เมื่อวันที่ 21 กพ.2551 ได้ไปร่วมแพทย์ พอ.สว. ที่ ต.แม่สุก รร.บ้านทุ่งคา อ.แจ้ห่ม ซึ่งมี นพ.ศิริชัย นพ.สสจ.ลำปาง พาคณะทันตแพทย์เกือบทุกอำเภอใน 13 อำเภอตรงนั้น เราก็ไปร่วม
  • คุณหมอจิณห์วรา (หมอเก๋) กับ คุณหมอศริญธร บอกว่า พ่อ จะไปด้วยไหม ไป ปจว.
  • เราก็บอกว่า ไป กับแกนนำของเราไป 5-6 คน
  • เราก็ไป ได้ไปรู้ไปเห็นตรงนี้อีก ว่าผู้สูงอายุของเรา หรือผู้ที่ไม่สูงอายุ มีฟันเสียกันมาก มีขี้ฟัน มีหินปูน มีฟันผุ มีฟันโยก
  • ก่อนที่จะเข้าไปหาทันตแพทย์ ก็มาผ่านพวกเราก่อน หมอเก๋ ก็เอาประชาชนที่จะเข้าไปตรวจ ให้พวกเราได้ตรวจก่อน
  • เราก็จะมีแบบฟอร์มว่า ชื่ออะไร อายุเท่าไร บ้านเลขที่เท่าไร มีโรคความดัน หรืออะไรหรือเปล่า และบันทึกลงไปในนั้น และดูฟันเขา ว่าฟันเขามีหินปูนไหม ถ้ามีก็ใส่ลงไป
  • และส่งไปทางทันตแพทย์
  • ... สิ่งนี้ก็เป็นความภูมิใจของพวกเราครับ

อ.พงษ์ศิริ ได้เสริมประเด็นของการขอสนับสนุนงบประมาณ จาก องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นค่ะว่า

คุณพ่อกมลก็เล่าให้เราได้ฟังว่า มีกิจกรรมเยอะแยะเลย และก็มีกลยุทธ์ที่ดี เพราะว่าโดยปกติ องค์กรท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบล หรือ อบต. ก็มีระเบียบว่า องค์กรที่จะมาขอโครงการจากองค์กรเหล่านี้ ควรมีฐานะเป็นนิติบุคคล ก็เลยมีกลวิธีไปให้ รพ.ทำ

ซึ่งความจริงผมว่า ชมรมผู้สูงอายุของเราเป็นเครือข่ายของสาขาสภาผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้แทนของสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคล และสาขาก็เท่ากับทำหน้าที่แทนสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย คล้ายๆ กับว่า ต้องเป็นนิติบุคคลด้วย แต่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียน แต่ขณะเดียวกันนี่ สาขาก็มีหน้าที่ที่จะไปส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุตามอำเภอ ตามตำบล ตามหมู่บ้านต่างๆ เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุก็จะเป็นอิสระ แต่ว่าเป็นเครือข่ายของสภานั่นเอง สภาเป็นนิติบุคคล สาขาสภาเขาก็จะออกเกียรติบัตรว่า อันนี้เป็นเครือข่าย

เพราะฉะนั้น มีหลาย อปท. ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลก็ดี อบต. ก็ดี เขาจะเห็นหนังสือสำเนาว่า เป็นเครือข่าย ส่วนมากเขาก็ OK นะครับ

เพราะฉะนั้น เรื่องอันนี้ ส่วนใหญ่เป็นที่รับทราบกันแล้วละครับ ว่าชมรมผู้สูงอายุนี้ สามารถทำโครงการขอได้โดยตรงเลย ไม่น่ามีปัญหาอะไร

แต่ว่านี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ทางแจ้ห่มได้ดำเนินการไปจนกระทั่งเป็นผลสำเร็จ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า พ่อกมลก็เป็นผู้ที่มีบารมี สามารถหาคนมาบริจาคเป็นแสนๆ และผมก็ว่า เราใช้วัดเป็นศูนย์กลางดีกว่า ให้ตุ๊เจ้าออกให้ ไฟฟ้าให้เสร็จ ไม่ต้องไปหาเงิน ... ผมมีไอเดียว่า ควรจะใช้วัด ส่วนหนึ่งตุ๊เจ้าใจดีแน่นอน แล้วก็ไม่ทำให้เราต้องวุ่นวายในเรื่องเหล่านี้

 รวมเรื่อง ม่วนอ๊กม่วนใจ๋ ฮักเขี้ยวฮักหมู่

 

หมายเลขบันทึก: 183806เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท