ตำบลนอกเมือง โกสัมพี วิศวภูมิ
รากเหง้าท้องถิ่น/ทุนและการเรียนรู้ของชุมชน
การเมืองเรื่องเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ผ่านไปแล้วแต่ยังไม่ชัดเจนในรายชื่อผู้สอบผ่าน ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ผ่านการเรียนรู้การเลือกตั้ง พร้อมทั้งได้เรียนรู้บุคคลที่อาสาเข้ามาทำงานเป็นตัวแทนประชากันแล้ว ความสำคัญของคนในท้องถิ่นก็หมดไปแล้วในสายตาคนการเมืองในพรรค แต่คนการเมืองในแต่ละถิ่นยังคงเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์การเมืองภาคประชาชน โดยยึดมั่นในหน้าที่ของความเป็นพลเมืองและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่มั่นจริง
“วัฒนธรรมการเมืองชุมชน” แบบธรรมชาติที่ไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองแบบจัดตั้ง ยังคงมีพลังอยู่ในแต่ละท้องถิ่นซึ่งถือได้ว่า เป็นรากเหง้าของความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีมานานนับแต่ผู้คนอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มชน ทั้งในชาติพันธุ์เดียวกันและต่างชาติพันธุ์ เป็นนามธรรมทางการเมือง ไม่ใช่รูปธรรมทางการเมืองเรื่องเลือกตั้งตัวแทนที่สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกันอย่างสุดแรง ความเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยซึ่งกันและกันอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อารีอารอบต่อกันอย่างเข้าใจและอาทร เป็นรากเหง้าท้องถิ่นที่หยั่งลึกมานมนาน และเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงชุมชนไปสู่ความเป็นอยู่ที่สงบสุข
นามธรรมเรื่องการเมืองในชุมชนนี้ เป็นทุนการเรียนรู้ที่ชุมชนต้องเรียนรู้สืบทอดและถ่ายทอดร่วมกัน เพราะเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่แท้จริงสร้างสรรค์จากรากเหง้าจริงๆ เติบโตจากรากจริงๆ ไม่ใช่เติบโตเพียงที่ใบกระพี้หรือเปลือก
วัฒนธรรมการเมืองชุมชน และวัฒนธรรมด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือศาสนาในชุมชนทั้ง
หมดเป็นวิถีประชา เป็นองค์ความรู้ และเป็นภูมิปัญญา ที่ผ่านการรับรู้ เรียนรู้ สืบทอดมาร่วมกัน และตัวจักรสำคัญที่ทำให้ความมี-เป็น เคลื่อนเปลี่ยนและเป็นอยู่ คือคน หรือบุคคลในชุมชนและบุคคลนั้น ก็คือ บุคคลเรียนรู้ ที่มีความเข้าใจกล่าวคือมีความเมตตา อาทรกรุณา มีสติปัญญาผ่านการเรียนรู้ที่เกิดจากการกระทำ หรือปฏิบัติเชิงประจักษ์มาแล้วทั้งไม่อาจเป็นเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น เพราะในความเป็นชุมชน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นแก่บุคคลหลายๆ คนที่ร่วมกันกระทำ ร่วมกันเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ และเป็นวิถีที่ดำเนินไปเองตามธรรมชาติ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ทุนการเรียนรู้ของชุมชนจึงอยู่ที่นามและรูปของวัฒนธรรมที่ปรากฏเด่นชัด เข้มแข็ง และสืบทอดอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ดั้งเดิม ทั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิถีการเมืองและการพัฒนาแบบเดิมหรือแบบใหม่แบบใดแบบหนึ่ง
ทุนชุมชนและการเรียนรู้ของชุมชน จึงอยู่กับยุทธศาสตร์ที่เกิดเปลี่ยนๆ แต่ละช่วงภาวการณ์ ซึ่งเราอาจกำหนดได้โดยการร่วมกันทั้งแรงกาย ใจและสติปัญญา
รากเหง้าท้องถิ่นทุกด้าน จักจำเริญพัฒนาก็อยู่ที่เราสามารถทำความรู้จัก ร่วมเรียนรู้ ร่วมจัดการ สร้างสรรค์
และทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับวิถีคิดในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะนำพา
ชุมชนท้องถิ่นควรเดินไปโดยตนเอง ไม่ใช่ฝากไว้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะผิดหลักยุทธศาสตร์การเรียนรู้และยุทธศาสตร์การพัฒนา
"....ทุนการเรียนรู้ของชุมชนจึงอยู่ที่นามและรูปของวัฒนธรรมที่ปรากฏเด่นชัด เข้มแข็ง และสืบทอดอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ดั้งเดิม ทั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิถีการเมืองและการพัฒนาแบบเดิมหรือแบบใหม่แบบใดแบบหนึ่ง..."
เห็นด้วยค่ะ