มีคำพูดปฏิเสธของผู้หญิงจำนวนมาก พบว่าบางคำดีมาก มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิเสธ แต่มีอยู่หลายๆ คำที่พูดกันอยู่บ่อยๆ ถึงแม้ว่าไม่ได้ผลก็ตาม...ในที่สุดก็แยกแยะคำปฏิเสธทั้งหมดได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มที่ 1 “ผู้หญิงจะจนตรอก แทนที่ผู้ชายจะเป็นฝ่ายจนมุม” ดูตัวอย่างคำพูดปฏิเสธต่อไปนี้
o “อย่าดีกว่า เดี๋ยวคนอื่นเห็นหรอก”
o “เกิดคนอื่นเขารู้ ฉันจะเสียหาย”
o “เอาไว้วันหลังแล้วกัน”
o “ไม่ได้ กำลังมีเมนส์”
o “เธอตรวจเอดส์หรือยัง”
o “ถ้าเกิดท้องขึ้นมา จะทำยังไง”
ที่ปฏิเสธอย่างนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกเก่งในห้องเรียน (เก่งทฤษฎี) แต่อ่อนต่อโลก ในใจต่อต้านเต็มร้อย แต่พูดไม่เต็มปากเต็มคำ ผลสุดท้ายแทนที่จะรอด เลยเสร็จ...เพราะพูดไปแล้วก็เจอลูกตื้อ ฝ่ายชายจะไล่ต้อนด้วยข้อกล่าวอ้างมากมาย เช่น
o “ไม่มีใครเห็นหรอก เราอยู่กันแค่สองคนเท่านั้น”
o “ไม่มีใครรู้หรอก ถ้าเธอไม่ไปบอกใคร ฉันไม่ไปบอกคนอื่น ก็มีแค่เราสองคนเท่านั้นที่รู้”
o “วันนี้แหละดีที่สุด โอกาสดีๆ อย่างนี้หายาก วันนี้บรรยากาศดีด้วย”
o “มีเมนส์ก็มีเซ็กซ์ได้ แถมดีซะอีก ช่วงมีเมนส์ไข่ไม่ตก ไม่ท้องด้วย”
o “ฉันตรวจเอดส์แล้ว ไม่เป็นหรอก ไม่ต้องกลัว”
o “รับรองว่าไม่มีทางท้องแน่นอน ฉันเตรียมถุงยางไว้ตั้ง 3 ชิ้น”
กลุ่มที่ 2 “ไม่ยอมเสียตัว และไม่กลัวเสียแฟน” ถ้าคุณคิดว่าแผนแบบนี้ไม่สมควรจะเสีย
o “อย่ายุ่งกับฉัน”
o “อย่าหวังไม่มีทาง ฝันไปเถอะ”
o “ถ้าขืนทำ เราเลิกคบกัน แล้วจะแจ้งความด้วย”
o “เธอเป็นผู้ชายที่เห็นแก่ตัว คบไม่ได้”
o “ฉันไม่อยากเสียตัวให้เธอ”
หลักการปฏิเสธที่เหมาะสมและได้ผล คือ
1. ความหมายของการปฏิเสธชัดเจน ไม่ให้ความหวังที่ไม่เป็นจริง
2. ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายชายมีข้ออ้าง จนทำให้ฝ่ายหญิงจนมุม
3. ไม่ทำให้ฝ่ายชายรู้สึกเสียหน้า ถูกตำหนิ จึงไม่เสียความสัมพันธ์ในฐานะแฟน หรือเพื่อนที่ดีต่อกัน
กลุ่มที่ 3 “ตอนนี้ไม่ยอม ตอนพร้อมค่อยมี” ถือเป็นประโยคคำพูดที่ดีและได้ประสิทธิผล
o “ถ้ารักฉันจริง อย่าบังคับใจฉัน ฉันไม่อยากให้เธอทำอย่างนี้”
o “ไม่ดีหรอก ยังไม่ถึงเวลา ถ้ารักฉันจริง เธอต้องรอได้”
o “ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีเพศสัมพันธ์กันตอนนี้ไว้ต้องแต่งงานก่อน”
o “ฉันทำไม่ได้หรอก ถ้าฉันทำอย่างนั้น ฉันจะหมดศรัทธาตัวเอง”
o “ศาสนาของฉันถือว่าเป็นเรื่องผิด พ่อแม่และฉันยอมรับไม่ได้”
จำง่ายๆ สั้นๆ ถ้าผู้ชายพูดว่า “ถ้าเธอรักฉันจริง เธอต้องยอมเป็นของฉัน” ผู้หญิงต้องกล้าพูดทันทีว่า “ถ้าเธอรักฉันจริง เธอต้องรอฉันได้... เธอเป็นผู้ชายที่ฉันรัก แต่ฉันพร้อมก็ต่อเมื่อเราแต่งงานแล้วเท่านั้น” ขอให้จดจำไว้ใช้ พูดให้ได้เมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าพูดเป็น ก็ไม่ต้องเสียรู้ เสียท่า เสียตัว และเสียใจ
กิจกรรมทางเพศ
การระบายความใคร่สามารถปฏิบัติได้ด้วย “กิจกรรมทางเพศ” ซึ่งมีหลากหลายวิธี แบ่งง่ายๆ เป็น 2 ส่วน ได้แก่ การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ถือเป็นกิจกรรมทางเพศที่เหมาะสมที่สุดของวัยรุ่นและคนโสด เพศสัมพันธ์หมายถึง การมีกิจกรรมทางเพศกับคู่นอนหรือคู่สมรส ซึ่งมี 2 ส่วน ได้แก่
o เพศสัมพันธ์ภายนอก หมายถึง เพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการ “เติมคำลงในช่องว่าง” ไม่ทำให้ตั้งครรภ์หรือติดเชื้อ
o ร่วมเพศ หมายถึง เพศสัมพันธ์ที่มีการ “เอาอะไรใส่เข้าไปในอะไร” มีการสัมผัสกับน้ำ และอาจมีบาดแผล ซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อเอชไอวี 3 ช่องทาง
1. โอษฐกาม คือการใช้ปากกระตุ้นอวัยวะเพศของอีกฝ่ายหนึ่ง
2. ร่วมเพศทางช่องคลอด สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ ร่วมเพศทางช่องทวารหนัก ไม่ทำให้ตั้งครรภ์ แต่โอกาสติเชื้อเอชไอวีสูงสุด
3. Safe Sex หมายถึง กิจกรรมทางเพศที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เรียงลำดับความปลอดภัยจากมากที่สุดไปน้อย ได้แก่
- การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง...ถือว่าเป็นความปลอดภัยสูงสุด
- เพศสัมพันธ์แบบภายนอก...เนื้อหนังเสียดสีกัน โดยไม่มีน้ำมาสัมผัส
- ร่วมเพศโดยสวมถุงยางอนามัย...มีความเสี่ยงอยู่บ้าง หากการสวมหรือถอดถุงยางผิดเทคนิค
ระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการร่วมเพศ ได้แก่
1. ออรัลเซ็กซ์-เสี่ยงน้อยถึงปานกลาง ถ้าไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิในช่องปาก ถือว่าเสี่ยงปานกลาง (จะน้อยหรือปานกลาง ก็ต้องสวมถุงยางเสมอ)
2. ร่วมเพศทางช่องคลอด-เสี่ยงมาก เพราะว่าเชื้อเอชไอวีมีความเข้มข้นสูงมากในน้ำกามและน้ำหล่อลื่นช่องคลอด สามารถติดทางบาดแผลเข้าสู่กระแสเลือดของอีกฝ่าย
3. ร่วมเพศทางช่องทวารหนัก-มีความเสี่ยงสูงสุดเนื่องจาก
o ช่องทวารหนักไม่มีน้ำหล่อลื่นเหมือนในช่องคลอด การฉีกขาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
o ช่องคลอดสามารถยืดหยุ่นขยายตัวได้ดี แต่ช่องทวารหนักมีหูรูดรัดตัวถึง 2 ชั้น การฉีกขาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
o เยื่อบุผนังในช่องทวารหนักบางกว่าช่องคลอด การฉีกขาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
o รอบๆ ช่องทวารหนักมีหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก การติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
การร่วมเพศในช่วงมีประจำเดือน
ไม่ถือเป็นข้อห้ามทางการแพทย์ แต่มีข้อระวังคือเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะปากมดลูกเปิดเพื่อขับเลือดประจำเดือนออกมา และเลือดก็เป็นแหล่งอาหารอย่างดีสำหรับเชื้อแบคทีเรีย การร่วมเพศทางช่องคลอดขณะมีประจำเดือน จึงต้องรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี แต่หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
การร่วมเพศในช่วงตั้งครรภ์
ไม่จำเป็นต้องงดการร่วมเพศ สามารถมีได้ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ยกเว้นกรณีที่เคยมีประวัติการแท้งลูกได้ง่ายในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ หรือร่วมเพศแล้วมีเลือดออก ต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์ หากตั้งครรภ์ครั้งก่อนมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการร่วมเพศในช่วงเดือนสุดท้าย เพราะขณะร่วมเพศจะมีการบีบตัวของมดลูกอาจเป็นสาเหตุทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
การร่วมเพศหลังคลอดบุตร
ต้องงดการร่วมเพศเป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ ซึ่งสามีภรรยา อาจมีกิจกรรมทางเพศร่วมกันได้โดยใช้ออรัลเซ็กซ์ หรือเพศสัมพันธ์แบบภายนอก
พลังจากทางเพศ
มีคำศัพท์หลายคำที่มีความหมายในทางเดียวกันได้แก่ ราคะ (ภาษาทางพุทธ) แรงขับทางเพศหรือ sexual drive (ภาษาทางจิตวิทยา) ฮอร์โมนเพศ (ภาษาทางแพทย์) ทุกอย่างที่กล่าวนี้ปรากฏขึ้นเมื่อพวกเราทุกคนเติบโตจากเด็กเข้าสู่วัยรุ่น
ตัวการสำคัญคือต่อมใต้สมอง พอทำงานเต็มที่ก็หลั่งฮอร์โมนไปกระตุ้นรังไข่ และอัณฑะเพื่อผลิตฮอร์โมนเพศหญิงและชาย ทำให้มนุษย์ทั้งชายและหญิงเกิดความสนใจ และเกิดการตื่นตัวทางเพศ...ในขณะเดียวกันมันเป็น “พลังงาน” แห่งชีวิต มีผลให้หนุ่มสาวเป็นวัยแห่งความกระตือรือร้น มองชีวิตมีชีวา สดชื่นแจ่มใสมีกิจกรรมในชีวิตมากมาย
1. การแปรรูปพลังงานทางเพศในแนวขวาง ได้แก่ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เสียเหงื่อ เสียกำลัง อ่อนเพลีย หมดแรง เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ในที่สุดเราจะเหลือเรี่ยวแรงน้อยลงจนไม่ต้องมาหมกมุ่นในเรื่องทางเพศ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย มิใช่เพียงแค่เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดเท่านั้น แต่เพื่อมิให้มุ่งมั่นแต่เซ็กซ์
2. การแปรรูปพลังงานทางเพศในแนวตั้ง ได้แก่ กิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนาสติปัญญา ความสามารถและยกระดับจิตวิญญาณ เช่น การตั้งใจเรียน ความสนใจในศิลปะ ดนตรี ความใกล้ชิดและดื่มด่ำกับความงดงามของธรรมชาติ การพัฒนาฝึกจิต ค้นหาความหมายของชีวิต จนจิตปล่อยวางความหลงใหลยินดีในกามคุณ
====ความเข้าใจตนเองและเพศสัมพันธ์ มีส่วนช่วยให้เยาวชนมีความยับยั้งชั่งใจในเรื่องของความรักและเพศสัมพันธ์การกระทำใดๆ ก็ตาม ล้วนส่งผลต่อตนเองและผู้อื่นไม่มากก็น้อย====
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 26 ฉบับที่ 310 กุมภาพันธ์ 2548 หน้า 21-26.
ซึ่งสรุปและเรียบเรียงจากการบรรยายของ รศ.นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล ในงานสัมมนา รักนวลสงวนตัว ครั้งที่ 1 วันที่ 29-30 ตุลาคม 2547
ชอบวิธีที่แบ่งคำปฏิเสธเป็น 3 กลุ่มจังเลยค่ะ ชื่อก็เก๋ไก๋ ขออนุญาตเก็บไปสอนเด็กๆ วัยรุ่นบ้างนะคะ
ยินดีครับ
ตอนนี้ผมติดภารกิจที่จ.เชียงราย คงไม่ค่อยได้ออนอัพเดทข้อมูลไม่พี่ ๆน้อง ๆ แต่จะเก็บประสบการณ์จากที่นี่ไปถ่ายทอดนะครับ
- ขอบคุณ คน(ทำ)งาน
- เรามาร่วมกันทำงานเพื่อ คนของชาติ
- มีดีๆ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ได้ความรู้
- ไม่ลืมแน่วัฒนธรรม และความเป็นเรา เป็นไทย
- หากมีความตระหนักดี แน่นอน ปัญหา การกดขี่ ข่มขืน ไม่เกิด
- ทักษะการปฏิเสธ ที่มีประสิทธิผล ขอยืมไปถ่ายทอดเด็กสาว ๆ และไม่สาวด้วยนะคะ