BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คิดถึง ป้อย


ป้อย

ดูข่าวเรื่องข้าวแพง ทำให้ผู้เขียนคิดถึง ป้อย  ซึ่งเมื่อก่อนเป็นภาชนะประจำอยู่ในโอ่งข้าวสารทุกครัวเรือน... แม้่ค่อนข้างจะเชื่อว่า ป้อยน่าจะยังคงมีอยู่ในบางครัวเรือน แต่ก็ค่อนข้างจะเชื่อเหมือนกันว่า เด็กปักษ์ใต้บ้านเรารุ่นใหม่บางคนอาจไม่รู้จักป้อย...

ป้อย คือ ภาชนะสำหรับตักและตวงข้าวสารจากโอ่งข้าวสารใส่หม้อข้าวเพื่อหุงประจำวัน โดยป้อยเกือบทั้งหมดทำจากกะลามะพร้าวผ่าซีก ขนาดของป้อยเล็กบ้างใหญ่บ้างตามความนิยมของพ่อบ้านหรือแม่เรือนนั้นๆ...  ตามที่เคยเห็น ถ้าเป็นครอบครัวเล็กๆ  ก็อาจมีเพียงป้อยเล็กๆ  แต่ถ้าเป็นครอบครัวขนาดใหญ่  ป้อยอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีป้อยอยู่ ๒-๓  ขนาด เพื่อจะเลือกใช้ตามความเหมาะสม...

เพราะเหตุว่าป้อยใช้ทุกวัน อย่างน้อยก็วันละ ๒ ครั้ง นั่นคือ แต่ละบ้านมักจะหุงข้าววันละ ๒ ครั้งเช้าเย็นเป็นอย่างน้อย... ดังนั้น ป้อยที่ทำมาจากกะลามะพร้าวนี้ จึงมีสีแวววาวเกลี้ยงเกลาเป็นมัน เพราะถูกข้าวสารขัดสีวันแล้ววันเล่า...

จำได้ว่า เมื่อต้องหุงข้าวเองในตอนเล็กๆ นั้น ถูกคำสั่งจากโยมแม่ว่าให้หุงครั้งละสามป้อยครึ่ง โดยใช้ป้อยเล็กตักหรือตวงข้าวสาร ซึ่งป้อยเล็กบ้านผู้เขียนตอนนั้น ทำจากกะลามะพร้าวเบา มีขนาดโตกว่ากำหมัดเล็กน้อย... ข้าวสารสามป้อยกว่าก็น่าจะเกินลิตรแต่ไม่ถึงสองลิตร... ส่วนป้อยใหญ่ก็มีอยู่ในโอ่งข้าวสาร แต่ผู้เขียนไม่เคยได้ใช้  เป็นเพียงส่วนเหลือที่เกะกะอยู่ในโอ่งข้าวสารเท่านั้น... ป้อยใหญ่นี้ ตักข้าวสารได้ครั้งละลิตรกว่า เคยใช้ตอนที่ครอบครัวยังมีแม่เฒ่าและน้าๆ อยู่ด้วยกันมากหน้าหลายตา....

 

ตอนครอบครัวผู้เขียนอยู่คูขุด ไม่เคยซื้อข้าวสาร  เพราะที่บ้านทำนาไว้กินเองเหมือนกับบ้านอื่นๆ เกือบทุกบ้าน... คราใดที่ข้าวสารในโอ่งใกล้จะหมด  โยมแม่หรือคนอื่นๆ ภายในบ้านก็จะไปเอาข้าวเปลือกในห้องข้าวมานวด ใส่กระสอบแล้วพาไปโรงสีข้าว ซึ่งบางครั้งผู้เขียนก็ได้รับมอบหมายหรือชักชวนจากญาติผู้ใหญ่ให้เอาข้าวไปสี...

เมื่อไปถึงโรงสีจะถามว่า ต้องการเอาข้าวสารเลยหรือไม่ ? ถ้าเราต้องการข้าวสารเลย เจ้าหน้าที่โรงสีก็จะตวงข้าวเปลือกของเราแล้วก็ตักข้าวสารให้ตามอัตราส่วน ตามที่รับทราบกันก็คือ ถ้าข้าวเปลือกสองกระสอบปุ๋ย ก็จะได้ข้าวสารหนึ่งกระสอบปุ๋ย (สองหนึ่ง)... แต่ถ้าต้องการข้าวสารจากข้าวเปลือกของเราโดยตรง ก็ต้องคอยจนกระทั้งถึงคิว หรือค่อยกลับมาเอาตอนเย็นหรือพรุ่งนี้ก็ได้ตามความเหมาะสม....

...........

เมื่อย้ายมาอยู่บ่อยางซึ่งเป็นในเมือง (พ.ศ. ๒๕๑๘) ครอบครัวผู้เขียนก็เริ่มซื้อข้าวสาร จำได้ว่ามาอยู่สงขลาครั้งแรกนั้น ข้าวสารลิตรละ ๓ บาท หรือถังละ ๖๐ บาท (๒๐ ลิตร เท่ากับ ๑ ถัง) แต่ถ้าเป็นข้าวสารกรุงเทพฯ หรือข้าวหอมมะลิ ราคาก็อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นลิตรละ ๓.๒๕ หรือ ๓.๕๐ บาท ซึ่งบ้านผู้เขียนก็ชื้อทุกประเภทตามแต่จะสะดวก...

เมื่อต้องมาซื้อข้าวสารกินครั้งละ ๕ ลิตร ๑๐ ลิตร หรือ ๑ ถัง โอ่งใส่ข้าวสารก็หายไปจากครัว  ป้อยกะลาซึ่งมีอยู่คู่กับโอ่งใส่ข้าวสารจึงพลอยหายไปด้วย... ข้าวสารที่ซื้อมามักใส่ไว้ในถังพลาสติกทั้งถุง เวลาจะหุงก็ใช้ป้อยซึ่งเป็นขันน้ำเล็กๆ หรือบางบ้านก็ใช้กระป๋องนมเป็นป้อยตักข้าวสารจากถุงใส่หม้อ....

ต่อมา... การซื้อขายข้าวสารก็ค่อยเปลี่ยนความนิยมจากเป็นลิตรหรือถัง มาเป็นกิโล มีบรรจุเป็นถุงเล็กถุงใหญ่ ขนาด ๑ กิโล หรือ ๕ กิโล เป็นต้น...... เวลาจะหุงก็ฉีกปากถุงแล้วก็เทข้าวสารจากถุงลงสู่หม้อข้าวตามต้องการ....

  • ป้อย จึงค่อยๆ หายไปจากวิถีชีวิตของคนหุงข้าว โดยเฉพาะวิถีชีวิตคนเมือง
คำสำคัญ (Tags): #ข้าวสาร#ป้อย
หมายเลขบันทึก: 179200เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2008 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ตอนเด็ก ๆ น้องเยาะเคยได้ยินยายพูดบ่อย ๆ เวลาจะหุงข้าวเมื่อถามยายว่าจะให้หุงเท่าไหร่ ยายตอบว่าหุงสักสามป้อยพอ เป็นอันว่าเข้าใจ แต่ที่บ้านใช้กระป๋องนมข้นหวานแทนกะลามะพร้าว ไม่รู้ว่าสมัยก่อนจะใช้กะลามะพร้าว....

ผมก็เพิ่งเคยได้ยินนี่ล่ะครับพระอาจารย์ ขอบพระคุณครับ

ท่านพระมหาชัยวุธ

ป้อยต้องคู่กับเผล้งข้าวสาร

รบกวนท่านมหาต่อด้วยบทความเผล้งเลยขอรับ

เผล้งใส่น้ำก็ต้องคู่กับบวย (กระบวย) ทำจากกะลามะพร้าเหมือนกัน

กะลามะพร้าวจึงมีอิธฺพลต่อคนใต้เรามากเลย

ที่พัทลุงบ้านผม หมู่บ้านใกล้ๆกันชื่อบ้านคอกวัว ต.ชัยบุรี อำเภอเมือง หมู่บ้านนี้ดังมากในเรื่องทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว นิมนต์ท่านมหาฯนะครับหากมีเวลาและโอกาส

ไม่ทราบว่าจะทำป้อย บวย อยู่หรือเปล่า

นมัสการมาด้วยความระลึกถึงครับ

นมัสการค่ะท่าน

เพิ่งเคยได้ยินค่ะ ท่านไม่มีภาพประกอบให้ดูหรือคะอยากเห็นค่ะ

ที่บ้านเมื่อก่อนจะเป็นกระป๋องนม และกะลามะพร้าวมันๆ เลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

คิดไปคิดมาน่าจะคล้ายๆ กับที่บ้านดิฉันเคยใช้นะคะท่าน

แต่จำไม่ได้ว่าแม่เรียกว่าอะไร

ขอบคุณค่ะ

P

น้องเยาะ (ศวพถ.)

 

ครั้งแรกที่เห็นบางครัวใชกระป๋องนมแทนกะลาก็ค่อนข้างแปลกใจ ต่อมาก็เจออีกหลายครัว...

กระป๋องนม คงจัดเป็นนวัตกรรมของป้อยในสมัยนั้น (.....)

.............

P

ครูนงเมืองคอน

 

ตอนเขียนก็นึกแล้วเช่นเดียวกันว่า บางครัวไม่ใช้โอ่ง ก็ใช้เผล้งใส่ข้าวสาร แต่ไม่ได้วงเล็บไว้...

ค่อยเขียนเรื่องเผล้งตอนค่ำๆ เพราะเด็กๆ คุ้นเคยพอสมควร...

  • เผล้ง !ไม่โร้ภาษาบางกอกเรียกว่าพรื้อ ?

.......

P

กวินทรากร

 

ลองค้นดูในเน็ตแล้ว แต่ไม่เจอคำว่า ป้อย

  • ป้อย ! สงสัยอยู่ว่า ภาษากลางเรียกว่าอะไร ?

............

P

jaewjingjing

 

ภาชนะใช้ตักและตวงข้าวสารเพื่อหุง เรียกว่า ป้อย จะใช้อะไรก็ได้ แต่สมัยก่อนใช้ กะลามะพร้าว...

ที่คุณโยมเคยเห็น นั่นแหละ ป้อย แน่นอน

ส่วนรูปไม่มี เพราะค้นหาในเน็ตก็ไม่เจอ... อีกอย่าง กล้องถ่ายส่วนตัวก็ไม่มีด้วย

...........

เจริญพรทุกท่าน

นมัสการค่ะท่าน

  • ตอนเรียนอยู่สงขลา ไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่นคร ฯ
  • เพื่อนชี้ "หมาน้ำ" ให้ดูค่ะ
  • ไม่ทราบปัจจุบันยังใช้กันอยู่หรือเปล่านะคะ

เมื่อก่อนที่บ้านคุณปู่ของน้องไก่ก็มีค่ะ น่าเสียดายจริง ๆ นะคะ ที่ป้อยเริ่มหายไป

P 7. ครูปู

 

  • หมาน้ำ คือ ภาชนะใช้ตักน้ำจากบ่อหรือสระเพื่อนำมาดื่มหรือใช้สอย...

ตอนเด็กๆ เคยเห็นก๋งทำหมาน้ำด้วยกาบหมากเพื่อใชัตักน้ำรดใบยาสูบ... ซึ่งหมาน้ำที่ทำด้วยกาบหมากทำนองนี้ บางแห่งก็เรียกว่า ต้อหมาก หรือ หมาต้อ

๒-๓ เดือนก่อน นั่งรถผ่านเกาะยอ ยังเห็นว่าหมาน้ำที่ทำด้วยกาบหมากแขวนขายอยู่ข้างทาง... เมื่อยังมีคนทำขาย แสดงว่าต้องยังมีคนใช้อยู่ หรือบางคนอาจซื้อไปเป็นเพียงของที่ระลึกในยุคปัจจุบัน...

นอกนั้น ก็ยังทำด้วยใบไม้หรือเปลือกไม้ตามท้องถิ่นต่างๆ อีกหลายแบบ... แต่ต่อมาก็ค่อยๆ หายไป เพราะกระป๋องเหล็กสังกะสีและพลาสติกค่อยๆ เข้ามาแทนที...

อนึ่ง บางคนก็เรียกภาชนะตักน้ำสั้นๆว่า หมา ... แต่คำนี้ตามความหมายนี้ เดียวนี้ มีคนใช้น้อย ทำให้เด็กใต้รุ่นใหม่ๆ บางคนจึงไม่รู้จัก หมา (.........)

..........

P

น้องไก่ (ศวพถ.)

 

สำนวนปักษ์ใต้บ้านเราในสมัยก่อน ถ้าญาติหรือแขกมาบ้าน เจ้าของบ้านมักจะสั่งลูกหลานให้หุงข้าว เช่น

  • อีนุ้ย ! หุงข้าวให้พวกพี่ๆ เค้ากินสักป้อยถิ !

แต่เวลาหุงจริงๆ  คนหุงข้าวมักไม่หุงแค่ป้อยเดียว  มักกะประมาณแล้วก็หุงให้พอตามจำนวนคนกิน... 

จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่า ครัวเรือนนั้น ป้อยขนาดไหน ?  เพราะหุงเพียงป้อยเดียว แต่ก็กินกันเกือบสิบคนก็ไม่หมด....

มุขเรื่องป้อย เคยได้ยินคนแก่ๆ คุยกัน แต่ก็ค่อนข้างจะเลือนๆ ไปแล้ว เล่าไม่ค่อยถูก...

เจริญพร

 

 

 

นมัสการท่านBM.chaiwut

      มาตราชั่งตวงวัดโบราณ...ถ้าจำไม่ผิดมีดังนี้

๘ กำมือ เท่ากับ ๑ จังออน (ป้อย...บ้านเรา)

๒ ป้อย เท่ากับ ๑ แล่ง

๒ แล่ง เท่ากับ ๑ ทะนาน(ลิตร)

๔ ทะนาน เท่ากับ ๑ กันตัง

๕ กันตัง เท่ากับ ๑ ถัง

๕๐ ถัง เท่ากับ ๑ บั้น

๒ บั้น เท่ากับ ๑ เกวียน

สมัยแต่แรกข้าวสารกันตังละ ๕ บาท ถังหนึ่งก็ ๒๕ บาท

                                      นมัสการครับผม

นมัสการท่านBM.chaiwut

             เห็นครูปูถามหาเลยเอามาให้แลครับ...หมาน้ำ/ตี้หมา/ต้อหมาก...แล้วแต่เรียกครับ

                                               http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/671/3671/images/tang.jpg

                                                   นมัสการครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท