ชีวิตที่เร่งร้อน..


ความคิดคำนึงจากสำนักวิชาการ..

เวลาผ่านไปเร็วมาก ราวกับติดจรวด ไม่ได้เข้ามาเขียน BOLG นานมากแล้ว แต่ก็ยังเขียนทบทวนประสบการณ์หลายอย่างของตัวเองลงในสมุดบันทึกประจำวัน

ระยะนี้เป็นช่วงเวลาพักผ่อนฤดูร้อนกัน แต่เราก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อเตรียมการหลายอย่างให้ทันเปิดภาคเรียน นอกจากงานด้านปรับปรุงหลักสูตรที่กำลังทำอยู่ ก็ยังมีงานจรเข้ามาที่ต้องให้เวลากับมันเช่นเดียวกัน ได้แก่

๑. การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ Virtual Field Trip เป็นงานเล็ก ๆ ที่ทำเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ ให้กับนักเรียนมัธยมฯต้นในโรงเรียนขยายโอกาส เป็นงานนำร่องก่อน เน้นไปที่เรื่อง "ป่าชายเลน" ความจริงจงใจจะสอนทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ 

๒. การทำหลักสูตรเสริมและแบบเรียนสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ที่ปลูกอ้อยและมีอุตสาหกรรมนำตาลทราย เป็นงานทีค่ทำกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยส่วนตัวไม่ค่อยปลื้มกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนัก แต่เพื่อช่วยเด็ก ๆ ที่ชีวิตก็คงต้องวนเวียนอย่กับสิ่งเหล่านี้ อันนี้ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรดี

๓. ทำแบบฝึกหัดภาษาไทยชั้น ป.๑ อันนี้อาจารย์ผู้ใหญ่บังคับให้ไปร่วมทำงานด้วย แต่แนวคิดด้านการสอนภาษาของเรามันไปอีกทางหนึ่ง เรารู้อยู่แก่ใจว่าแนวทางเดิมมันไม่อาจแก้ปัญหาอ่านออกเขียนได้  แต่ก็เพื่อการเรียนรู้ จำเป็นต้องสงบปากสงบคำและทำไปก่อน

๔. งานที่ทำร่วมกับโรงเรียนรุ่งอรุณในการผลิตหนังสือให้กับเด็กในโรงเรียนต่าง ๆ แรก ๆ อาจทำเป็นแผ่นโปสเตอร์ที่อ่านได้ด้วย จัดนิทรรศการได้ด้วย ชื่อ "แจ่ม" มีต้นแบบหนังสืออีกจำนวนหนึ่งคิดว่าถ้ามีงบสนับสนุน คงได้จัดพิมพ์และช่วยโรงเรียนได้อีกเยอะ

ทั้งหมดมันก็เป็นงาน แต่บางคราวเราก็เห็นว่าชีวิตมันเร่งรีบไปเสียทุกเรื่อง จนดูว่าเราละเลยมิติจิตวิญญาณของคนหรือไม่ คนเราน่าจะมีเวลาว่าง ๆ หันมาอยู่กับลมหายใจตนเองบ้าง บางทีการไม่ทำอะไร หยุดรบกวนการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาตนเองของครู  มันอาจทำให้การศึกษาของไทยโดยรวมมันดีขึ้นบ้างก็ได้ ใครจะรู้        

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 177430เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2008 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ ครูหนุ่ม

เวลาผ่านไปรวดเร็วเช่นกันครับ ผมเองกับความตั้งใจเขียนบล็อก ก็ต้องใช้เวลาดีๆถึงเขียนออกมาได้ อยากให้บันทึกเป็นเนื้อหาที่ทุกคนได้เรียนรู้กันจริงๆ

มีโอกาสคงได้แลกเปลี่ยนกันครับ

---------------------------------------

เรื่องหลักสตร น่าสนใจมากครับ ผมได้ค้นคว้า ได้สัมภาษณ์ ประเด็น ความขัดแย้งใน สาม จว.ชายแดนใต้ การศึกษา ยังเป็นจำเลยตัวใหญ่ ที่จะโยงไปอย่างไร ก็วนมาที่การศึกษา

เป็นภาระหนักของนักการศึกษา...ที่ต้องขบคิด ต้องระดมสมอง ให้ทันต่อการแก้ไขปัญหา

ให้กำลังใจครับ

คุณจตุพร

เรื่องในสามจังหวัดชายแดนใต้ ผมให้ความสนใจอยู่มาก พยายามศึกษาในแง่ของการศึกษา ว่าจะมีส่วนช่วยเหลืออะไรได้บ้าง มีเคยเสนอว่า เราสอนประวัติศาสตร์กันผิดพลาด เพราะเน้นประวัติศาสตร์นครหลวง โลกทัศน์แบบนี้ทำให้คนกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อยไม่มีที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์ ยิ่งอาณาจักรทางใต้ที่รุ่งเรืองมาก แต่การเรียนการสอนจากส่วนกลางไม่ได้ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตนเอง ผมมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ดังนี้

๑.การสอนประวัติศาสตร์ ต้องรื้อกรอบใหม่ เราต้องไม่เรียนประวัติศาสตร์แบบคลั่งชาติ ควรเรียนประมาณว่า ตอนมีสุโขทัย เรามีแว่นแคว้นอื่น ๆ อยู่ด้วย มีล้านนา ล้านช้าง ลังกาสุกะ ตามพรลิงค์ ศรีเกษตร ศรีกาญจนาศะ โคตรบูรณ์ เจนละ ฯลฯ และต่างมีความเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างไร และเรียนแบบกระบวนการประวัติศาสตร์ เน้นการวิพากษ์ ไม่ใช่เชื่อหรือท่องจำ

๒.แนวคิดพหุวัฒนธรรม(multi-cultural)สอนให้นักเรียนเห็นความแตกต่างหลากหลาย แต่อยู่ร่วมกันได้ เพราะต่างทำหน้าที่ของตนเองในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งในสังคม ตอนที่ผมช่วยเพื่อสอนเด็กอนุบาลในการทำวิจัย เคยให้เด็กสังเกตเปรียบเทียบผู้คนในชุมชน ว่ามีความต่างในในแง่ของ เพศ อายุ เศรษฐานะ อาชีพ ภาษา ความเชื่อ ฯลฯ ทำพจนานุกรม ภาษาไทยกลาง ไทยอีสาน และเขมร สนุกแบบเด็ก ๆ ครับ เด็กเขาภูมิใจในความเป็นตัวตนของตัวเอง ชื่นชมคนอื่น และอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย จุดเล็ก ๆ นี้สำหรับเด็กที่โตขึ้น มันขยายออกไปได้อีกเยอะ

ภาระกิจแรกที่คนอย่างผมต้องทำ คือ การขายความคิด หาแนวร่วมกับคนในที่ทำงานของตนเองก่อนครับ การมี "สังฆะ" ที่ดี มีเชื้อดีก่อนจึงขยายออกไปได้

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท