สังสรรค์ศิษย์เก่าแพทย์เชียงใหม่ภาคเหนือ


ผมเป็นรุ่นเด็กสุดที่ไป เป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 30 (รหัสตามปีพ.ศ.) รุ่นแรก 2501

           เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางคณะแพทย์ มช.โดย ศ. นพ.สุพจน์ วุฒิการณ์ คณบดีและทีมงาน ร่วมกับศูนย์มะเร็งลำปาง เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงสังสรรค์แพทย์เชียงใหม่ภาคเหนือเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของคณะแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหาเงินสมทบทุนเปิดอาคารที่ได้งบสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้

            ในงานนี้มีอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านมานำโดยศ. นพ.ตะวัน กังวาลพงศ์ อาจารย์หมอยงยุทธ อดีตรัฐมนตรีงว่าการรกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย องคมนตรี มีแพทย์เชียงใหม่หลายรุ่นตั้งแต่รุ่น ผมเป็นรุ่นเด็กสุดที่ไป เป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 30 (รหัสตามปีพ.ศ.) รุ่นแรก 2501โดยคณะแพทย์เชียงใหม่เกิดก่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7 ปี

             พิธีกรในงานมีอาจารย์หมอพงษ์ศักดิ์  ตั้งคณา แพทย์เชียงใหม่รุ่น 14 นอกจากจะเป็นพิธีกรแล้วยังมาช่วยทอล์คโชว์ สรางสีสันและความสนุกสนานอีกด้วย

             อาจารย์หมอผู้ใหญ่ทั้งสามท่าน ได้ขึ้นไปพูดให้ข้อคิดกับศิษย์เก่าและท่านคณบดีก็ได้พูดถึงวัตถุประสงค์การจัดกงานและอาจารย์หมอศุภชัย รองคณบดีได้นำเสนอทิศทางการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

              ผมเข้าไปกราบสวัสดีอาจารย์หมอเกษม อาจารย์จำผมได้และจำได้ว่าอยู่ที่บ้านตาก อาจารย์เป็นคนที่จำคนแม่นมาก สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ทำค่ายอาสาและอาจารย์หมอเกษมจะเป็นที่ปรึกษาค่าย ในวันสงกรานต์ของทุกปี ทีมงานชาวค่ายก็จะไปรดน้ำดำหัวขอพรและข้อคิดในการดำเนินชีวติจากอาจารย์ทุกปี

              อาจารย์หมอเกษม กล่าวว่าสังคมไทยเราตอนนี้กลายเป็นสังคมเจ้าถ้อยหมอความ(Legal Society)มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกันมากขึ้นทุกวงการ มีการเรียกร้องค่าเสียหายที่แตกต่างกันมากบางคนเรียกเป็น 1,000 ล้านบาท บางคนเรียก 1 บาท อาจารย์บอกว่าสงสารเด็กไทยที่ต้องเติบโตในสังคมแบบนี้ ในด้านการแพทย์การฟ้องร้องหมอเกิดสภาพที่ควบคุมไม่ได้(Out of control) ในการรักษาผู้ป่วยนั้นคนไข้จะต้องมีความเชื่อถือแพทย์พอสมควรจึงจะรักษาได้ ถ้าคนไข้มาหาหมอแล้วคอยมองว่าจะฟ้องหมอได้อย่างไร ก็จะรักษากันไม่ได้

               อาจารย์ยกตัวอย่างมีหมอกระดูกท่านหนึ่งอายุสี่สิบกว่าๆอยู่ที่รพ.รัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีคนไข้คนหนึ่งท่าทางมีฐานะ มาตรวจและสมควรได้รับการผ่าตัดกระดูก ก่อนผ่าตัดทางคนไข้ก็บอกว่าหมอผ่าผมให้ดีนะ ถ้าไม่ดีผมจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหมอเป็นหลายล้าน หมอคนนี้ก็เลยเกิดความกังวลเพราะเป็นหมอรับราชการมาหลายปีแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ตามก็มีเงินเก็บไม่เท่าไหร่ ถ้าผ่าตัดคนไข้แล้วเกิดความผิดพลาดไป ลูกเมียก็จะเดือดร้อน ก็เลยปรึกษาหัวหน้าแผนกว่าไม่ขอผ่าตัดรายนี้ได้ไหม หัวหน้าแผนกก็บอกว่าถ้าไม่ผ่าตัดให้คนไข้ก็ผิดวินัย ไปปรึกษาผู้อำนวยการก็บอกเช่นเดียวกัน แพทย์รายนี้จึงขอลาออกจากราชการเพราะไม่อยากจะเสี่ยงผ่าตัดให้คนไข้ที่มีเจตจำนงค์ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหมอ ลาออกไปอยู่ภาคเอกชนที่มีรายได้สูงกว่า รองรับความเสี่ยงได้มากกว่าที่จะอยู่ภาคราชการที่รายได้ต่ำกว่าแต่เวลาผิดพลาดเรียกค่าเสียหายพอๆกัน  ราชการก็เลยเสียแพทย์ฝีมือดีไปอีกคนหนึ่ง

               สภาพสังคมในปัจจุบันจึงเกิดสภาพวิกฤติความเชื่อมั่นทางการแพทย์ขึ่น อาจารย์เสนอทางออก 3 ทาง คือ

1.  ตัวแพทย์เองต้องสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือจากคนไข้ให้ได้

2.  สร้างความเชื่อมั่นของสังคม(Self confidence)ต่อแพทย์

3.  สร้างหน้าต่างที่ช่วยสื่อให้สังคมเข้าใจแพทย์ โดยมีHealth Communicationที่ดี

               สมเด็จพระราชบิดา ได้ทรงเขียนเป็นจดหมายมีความตอนหนึ่งว่า "ส่วนวิชาแพทย์นั้น เป็นวิชาแม่นแต่บางส่วน แต่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์"

หมายเลขบันทึก: 17706เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2006 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
งานนี้คุณจารุรนต์ไม่ได้มาหรือครับ น่าที่จะนับเป็นศิษย์เก่าได้นะครับ  หมอ มช.ดีๆเยอะ เราเคยทำกิจกรรมด้วยกันมาสมัย โน้นนน.. ให้กำลังใจหมอนะครับ
งานนี้ท่านไม่ได้มาร่วม แต่ก็ถือเป็นศิษย์เก่าแพทย์เชียงใหม่ครับ ตอนที่จัดคืนสู่เหย้าแพทย์เชียงใหม่ที่จัดทุก 4 ปีที่สวนดอก(จัดตรงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา) รอบที่แล้วท่านก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท