เครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์
(1) ปี พ.ศ. 2547 กลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม(สนับสนุนโดยวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.)) ร่วมกับเครือข่ายพี่น้องในภาคชนบท ได้ก่อรูป เครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ขึ้น มีสมาชิก ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านทีเราเรียกว่า โรงเรียนชาวนาอยู่ประมาณ 15 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่แถบที่ลุ่มตรงกลางของจังหวัดซึ่งเป็นที่น้ำสมบูรณ์ พอกล่าวได้ว่า ในเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ มีกระบวนการจัดการความรู้ ทั้งในระดับบุคคล กลุ่มและเครือข่าย ในดีกรีแตกต่างกันออกไป ซึ่งโดยรวมๆ ก็มีความสนุก-ความคึกคัก กันพอสมควร ช่วงท้ายของการทำงาน ในปีที่แล้ว เจอกับภัยแล้ง ทำให้การทดลอง ในพื้นที่นา หยุดชะงักลง แต่ก็ก้าวหน้าในด้านการที่นครสวรรค์ฟอรั่มได้นำเครือข่ายไปเชื่อมโยงกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์(อบจ.)ได้สำเร็จ (มีการตัดสินใจ สองเรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ตัดสินใจจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน เครื่อข่ายองค์กรชาวบ้าน และสอง จัดสรรงบจำนวนหนึ่งลงไปสนับสนุน โรงเรียนชาวนาที่มีความพร้อม 6 แห่ง
(2) การสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเริ่มเห็นผล งบประมาณที่จะลงไปหนุนเสิรมโรงเรียนชาวนา มี 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องการเรียนรู้-เครืองกระเทาะเปลือกเพื่อการคัดพันธุ์ข้าว ส่วนที่สอง เป็นเงินกู้ยืม 1 ปี(ไม่มีดอกหรือดอกต่ำ)สมทบกับกองทุนปุ๋ยของแต่ละโรงเรียนชาวนา ส่วนที่ สามเป็นเงินกู้ระยะยาวเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยชุมชน ณ วันนี้ตัวเลขไม่เป็นทางการแจ้งว่า โรงงานผลิตปุ๋ยที่ต.ตะเคียนเลื่อน ซึ่งเป็นแห่งแรกที่ตั้งตัวได้ก่อนเพื่อน ได้ผลิตและส่งมอบปุ๋ยให้กับสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนชาวนาไปแล้ว 30 ตัน เพื่อใชในฤดูกาลผลิตนี้ ในขณะที่อีกหลายกลุ่มตัดสินใจที่จะผลิตปุ๋ยใช้กันเอง(งบจาก อบจ.ยังไม่ได้ลงรอผ่านสภาจังหวัดประมาณ 15 ก.ค.2548 ตอนนี้ชาวบ้านค้าขายปุ๋ยกันด้วยเครดิตไปก่อน)
(3) วันที่ 25 มิถุนายน 2548 จะมีการประชุมเครือข่ายโรงเรียนชาวนาทั้งหมด ทั้งโรงเก่าโรงใหม่ที่เพิ่งมาสมทบ ที่ โรงแรม นครสวรรค์ลากูน(เอ็น เอส ซี) เพื่อดำเนินการ ระดมสมอง เพื่อ ขยับงานของเครือ ข่าย 4 ประเด็น คือ 1) เครือข่ายโรงเรียนชาวนากับการจัดการความรู้ในปี 2548 2)การเตรียมการเพื่อการทดลองค้าข้าวระหว่างเครือข่ายโรงเรียนชาวนากับบริษัทค้าข้าวนครสวรรค์ 3)พัฒนาโรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพระดับชุมชน และ 4) พิธีลงนามรับการสนับสนุนงบประมาณในรูปของเงินกู้จาก อบจ.นครสวรรค์
(4) วันที่ 26 มิถุนายน 2548 ตัวแทนจาก โรงเรียนชาวนาในนครสวรรค์ทั้งหมด ประมาณ 30 คน จะเรียนรู้ เรื่องการคัดพันธ์ข้าวเบื้องต้น โดยจะมีทีม วิทยากรจาก มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี-โรงเรียนชาวนาจ.พิจิตรมาช่วย(ในปี 2547 ทางนครสวรรค์เคยส่งเกษตรกรไปฝึกอบรมที่ สุพรรณ 5 คน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกฝนคัดพันธุ์อยู่ แผนงานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ที่จะสร้างศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพสูงป้อนให้กับเครือข่าย ประมาณ 10-15 จุด/ราย ใน 2-3 ปีนี้
(5) พรุ่งนี้ 14 มิถุนายน 2548 ทีมนครสวรรค์ฟอรั่ม จะประชุมร่วมกับ อธิการบดีม.ราชภัฏนครสวรรค์ นายกอบจ.นครสวรรค์ ผู้อำนวยการกศน.นครสวรรค์ และผู้เกี่ยวข้องอีกบางท่าน เพื่อที่จะหารือ ประเด็น การจัดการความรู้ในกระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนชาวนา และเครือข่ายองค์กรชุมชนอีก 3 พื้นที่-อำเภอ(ค่อยเล่ารายละเอียดในโอกาสหลัง) โดยสาระ ที่จะขอจาก ราชภัฏและ กศน.ก็คือ เมื่อใครก็ตามที่ทำงาน-เรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ สามารถนำผลงานมา เทียบโอนเป็นผลงานหรือเครดิตทางการศึกษาได้ ทั้งในระดับประถม-มัธยม-ปริญญาตรี และอาจเตรียมการสำหรับ ป.โท ในอนาคตอันใกล้
ทางทีมนครสวรรค์ พยายามที่จะ ทำเรื่องการจัดการความรู้ ให้เป็นเรื่องเป็นราวที่นครสวรรค์ให้ได้ แต่เราก็ยังเรียนรู้ได้ไม่มากนัก ก็ขอโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับฝ่ายต่างๆ ไปก่อน ในขณะเดียวกันก็พยายามคขับเคลื่อนงานไปเรื่อยๆ
สมพงษ์ ยูงทอง 13 มิ.ย. 2548 23.00 น