BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วันว่าง เดือนว่าง เราไปขุดกระดูกกันเถอะ


วันว่าง เดือนว่าง

วันสงกรานต์ ตามภาษาเป็นทางการนั้น ปักษ์ใต้บ้านเราเรียกกันว่า วันว่าง  และเมื่อขยายออกไปเดือนห้าแบบไทยๆ ปักษ์ใต้ก็เรียกกันว่า เดือนว่าง ...

คำว่า ว่าง ตามปักษ์ใต้ภาษาแปลว่า ไม่ยุ่ง ดังนั้น วันว่างก็คือวันที่ไม่ยุ่ง และเดือนว่างก็คือเดือนที่ไม่ยุ่ง...  ผู้เขียนคิดว่าในสมัยก่อนชาวปักษ์ใต้อาจเป็นอยู่ตรงตามความหมายนี้... แต่สังคมที่ผันแปรไป ทำให้ปัจจุบันนี้ ความหมายตามข้อเท็จจริงค่อยๆ เลือนหายไป คงเหลือแต่คำศัพท์ที่ยังคงใช้กันอยู่ และความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น

ผู้เขียนเข้าถึงความจริงของคำนี้ก็เมื่อตอนเป็นวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๘-๑๙ (ปี ๒๕๒๕-๒๖) ...  จำได้ว่าเดือนห้าปีนั้น ซึ่งอยู่ในช่วงปิดเทอม ผู้เขียนไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่ตะโหมด พัทลุง... เพื่อนก็พาผู้เขียนไปเที่ยววันแล้ววันเล่า เช่น ไปเที่ยวโตนหม่อมจุย (โตน คือ น้ำตก) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก บางวันก็ไปยิงปลาตามห้วย (ใช้ปืนฉมวกทำเองด้วยเหล็กก้านร่ม และสวมหน้ากากเพื่อมองเห็นในน้ำได้) หรือบางวันก็พามอเตอร์ไซต์ไปเที่ยวยังที่ไกลที่ใกล้ในละแวกนั้น...

ผู้เขียนรู้สึกเกรงใจครอบครัวของเพื่อน เพราะไม่ได้อยู่ติดบ้านกันเลย... แต่เพื่อนของผู้เขียนกลับบอกว่า เดือนห้าเดือนว่าง เดือนนี้ เค้าไม่ทำไหร่ อยู่เฉยๆ หรือเที่ยว... เพื่อนมักบอกผู้เขียนทำนองนี้เสมอ และผู้เขียนก็รู้สึกว่า คนอื่นๆ เค้าก็ไม่ค่อยทำไหร่เหมือนกัน จึงค่อยๆ คลายความกังวลลง...

คำของเพื่อนทำให้ผู้เขียนระลึกย้อนไปถึงชีวิตวัยเด็ก เพราะแถวบ้านเดิมผู้เขียน (อำเภอสทิงพระ สงขลา) เค้าก็ถือธรรมเนียมทำนองนี้เหมือนกัน แต่ธรรมเนียมนี้ไม่หนักแน่นเท่ากับอำเภอตะโหมด พัทลุง... และเรื่องนี้ผู้เขียนก็จำมาตั้งแต่วันนั้น

การที่โบราณปักษ์ใต้กำหนดเดือนห้าเป็นเดือนว่าง อาจเป็นเพราะเดือนนี้ไม่มีภารกิจเร่งด่วน เช่น ฝนก็ยังไม่ตกเพื่อจะเพาะปลูก ยางพาราก็ผลัดใบไม่ควรที่จะกรีดยางช่วงนี้... ประจวบกับวันสงกรานต์ีซึ่งเป็นปีใหม่ไทยโบราณ ดังนั้น ทุกคนจึงฉลองและสนุกสนานกันเต็มที... เพียงแต่ว่า วันว่าง ในบางท้องถิ่นอาจกำหนดเพียง ๒-๓ วัน แต่บางท้องถิ่นอาจขยายออกไปหลายๆ วัน จึงเรียกว่า เดือนว่าง

...........

เฉพาะวันสงกรานต์หรือวันว่างนี้ ธรรมเนียมชาวพุทธนิยมไปทำบุญที่วัด สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ตามประเพณีทั่วไป... ส่วนปักษ์ใต้บ้านเรามีธรรมเนียมอาบน้ำคนแก่ หรือบางครอบครัวหรือบางท้องถิ่นก็นิยมทำบุญกระดูกไปด้วย... (เฉพาะเรื่องอาบน้ำคนแกนั้น ผู้เขียนค่อยแยกไปเล่าเรื่องพิธีกรรมต่างหาก) จะเล่าเฉพาะเรื่องทำบุญกระดูกเท่านั้น

กระดูกของบรรพบุรุษที่ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น เรานิยมใส่โกฎเล็กๆ ไว้ ซึ่งบางครอบครัวอาจเก็บไว้ที่บ้าน แต่โดยมากมักจะนำโกฎไปเก็นไว้ในบัว (บัว คือเจดีย์เล็กๆ  ไว้บรรจุกระดูก... ภาคเหนือจะเรียกว่า กู่ ... ส่วนอีสานเรียกว่า ตูป) ตามป่าช้าหรือในวัดเพื่อจะได้ไปบูชาหรือทำบุญอุทิศให้ตามประเพณี...

บัวบรรจุกระดูกทำนองนี้ มีหลากหลาย.... บางตระกูลอาจสร้างด้วยคอนกรีตหรือไม้สวยงามตระการตา ... บางตระกูลก็สร้างกุฏิหรือศาลาทั้งหลังถวายวัดแล้วขอกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นบัวเพื่อบรรจุกระดูก... แต่บางตระกูลอาจเอาโกฎกระดูกฝั่งไว้ในดินแล้วพูนดินขึ้นมาปักป้ายหรือปลูกต้นไม้หมายไว้เท่านั้น... ความหลากหลายทำนองนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ ความจำเป็นของพื้นที่ และความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

ผู้เขียนเคยไปอยู่มาเลย์ระยะหนึ่ง ชาวไทยพุทธสัญชาติมาเลย์ยังคงถือเป็นธรรมเนียมเคร่งครัดว่า ดือนห้า (และเดือนสิบ) แม้ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ต้องกลับมายังบ้านเดิมที่มีบัวของบรรพบุรุษสถิตอยู่ จะต้องมาถางหรือดายหญ้ารอบบัว มาทาสีบัวใหม่แล้วทำบุญอุทิศไปให้บรรพบุรุษ...

ส่วนธรรมเนียมปักษ์ใต้บ้านเรา เดียวนี้ไม่ค่อยเคร่งครัดนัก บางคนไปอยู่กรุงเทพหรือที่อื่นไกลๆ ก็ขี้เกียจกลับ เริ่มมีธรรมเนียมใหม่ว่า เขียนชื่อเอาก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ทำบุญที่นั้น อุทิศไปให้ก็ถึงเหมือนกัน... ทำนองนี้

..........

เมื่อผู้เขียนมาบวชจึงรู้ว่า สำหรับปักษ์ใต้บ้านเรานั้น ในช่วงเดือนห้าเดือนว่างนี้ ถือว่าเป็นฤดูเศรษฐกิจสำหรับพระ-เณร... โดยเฉพาะเขตนอกเมืองบางท้องถิ่นแล้ว พระ-เณรไม่ว่างเลย จะต้องไปสวดกระดูก บังสุกุลบัวทุกวันก็ว่าได้... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันคาบเกี่ยวกับวันว่าง (ก่อนและหลังวันสงกรานต์ ๒-๓ วัน) หลายท้องถิ่นญาติโยมมีการวิวาทกันเรื่องแย่งพระ-เณร หรือบางครั้งท่านเจ้าอาวาสก็อาจถูกต่อว่า จากญาติโยม เนื่องจากไม่อาจจัดสรรพระ-เณรที่มีอยู่ให้ลงตัวในการบริการกิจนิมนต์สำหรับญาติโยมได้...

ส่วนในเมืองนั้น ไม่ค่อยเท่าไหร่นัก อาจกล่าวได้ว่า รายได้ของพระ-เณรในช่วงเดือนห้าเดือนว่างนี้ พระ-เณรเขตนอกเมืองจะมีรายได้มากกว่าเขตในเมือง คงเป็นเพราะคนทั่วไปมีรากเง้ามาจากนอกเมืองทั้งนั้น มีน้อยนักที่ครอบครัวจะมีรากเง้าอยู่ในเมืองจริงๆ...

จำได้ว่าตอนผู้เขียนบวชใหม่ๆ พ่อท่านเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง (มรณภาพแล้ว) เคยชวนผู้เขียนไปอยู่วัดของท่านในช่วงเดือนห้า ท่านบอกว่า เดือนห้าคุณมาอยู่กับผม รับรองว่ารวย... และพี่ท่านเจ้าอาวาสรูปหนึ่งก็พูดทำนองเปรียบเปรยว่า วัดเราทำนาปี กล่าวคือ ปีัทั้งปีไม่ค่อยมีกิจนิมนต์ ต้องรอเดือนห้า ได้ปัจจัยเท่าไหร่ก็เก็บสะสมไว้ ค่อยๆ ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น หรือถ้าหวังจะซื้อหรือสร้างอะไรสักอย่าง ก็ต้องรอให้ผ่านเดือนห้าก่อน จึงจะมีปัจจัย... ทำนองนี้

.........

สำหรับพระ-เณรที่ไปบังสุกุลบัวตามป่าช้าหรือตามวัดเขตนอกเมืองนั้น มีสำนวนเรียกกันอย่างหนึ่งว่า ไปขุดโดก (ไปขุดกระดูก) ซึ่งก็ได้ปัจจัยมากพอสมควร... จำได้ว่า ตอนผู้เขียนบวชครั้งแรก (ปี ๒๕๒๗) เคยไปบังสุกุลกระดูกที่วัดคงคาเลียบ อำเภอหาดใหญ่ (ไปกับพ่อท่านแดง วัดท่าแซ) ได้ปัจจัยมาหกร้อยกว่าบาท พร้อมกับผ้าอาบน้ำฝนและสบงล้นย่าม.... รู้สึกปลื้มใจมาก จำไม่ลืมเลยในชีวิตการบวช (สมัยนั้น สวดศพได้ครั้งละ ๒๐-๓๐ บาท การที่ได้มาหกร้อยกว่าบาทภายในวันเดียว จึงนับว่าเป็นรายได้ที่สูงพอสมควร)

สำหรับวัดที่เป็นสำนักเรียนทั้งหลายในเขตเมือง ช่วงนี้จะปิดเทอม จึงถือว่าเป็นช่วงว่างเช่นเดียว ดังนั้น พระ-เณรที่เป็นนักเรียนหรือพระอาจารย์ก็ตาม ถ้าใครไม่อยู่วัดสำนักเรียน ก็มักจะรู้กันว่าไปขุดกระดูก ซึ่งบ้างก็อาจกลับไปยังวัดภูมิลำเนาเดิม หรือบ้างก็พระเณรที่เป็นเพื่อนกันก็ชวนกันไปขุดกระดูก... สำหรับพระหนุ่มเณรน้อยถือว่าเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต ได้เที่ยว ได้ปัจจัย ได้สนองศรัทธาญาติโยม... แต่สำหรับพระเถระบวชเป็นสิบพรรษาขึ้นไป (เช่น ผู้เขียน) โดยมากมักขี้เกียจ นอนเฝ้าวัดไม่ไปไหน กล่าวคือ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็มักจะไม่ค่อยไปขุดกระดูก ปล่อยให้พระหนุ่มเณรน้อย หรือหลวงตาแก่ๆ แย่งกันขุดก็แล้วกัน (............)

สำหรับท้องถิ่นอำเภอหาดใหญ่และใกล้เคียง ถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจดีมาก จะมีพระ-เณรจากสถานที่ต่างๆ  ซึ่งรู้ธรรมเนียมท้องถิ่น หลั่งไหลกันมาแย่งกันขุดกระดูก... บางรูปบางท่านมีความอยากได้มากเกินสมณเพศ ทะเลาะกันเรื่องกระดูกก็มี (5 5 5....)

............

อนึ่ง เพื่อนสหธรรมิกรูปหนึ่งของผู้เขียน (ปัจจุบันลาสิกขาหรือสึกไปแล้ว) เรียนหนังสืออยู่เชียงใหม่ ท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ในช่วงปิดเทอมท่านก็จะลงมาพักที่หาดใหญ่กับเพื่อนสหธรรมิกเจ้าถิ่น มาเที่ยวขุดกระดูกอยู่แถวหาดใหญ่ จนกระทั้งเปิดเทอมจึงกลับขึ้นเชียงใหม่เพื่อเรียนหนังสือต่อ...

ตอนเรียนหนังสืออยู่เชียงใหม่... ปีหนึ่งๆ ท่านเกือบจะไม่มีกิจนิมนต์เลย อาศัยปัจจัยที่ได้มาจากการขุดกระดูกนี้ิแหละ ค่อยๆ ใช้จ่ายอย่างประหยัด ปิดเทอมใหญ่ก็มาขุดกระดูกเป็นทุนการศึกษาอีกครั้ง...

ท่านก็ได้ปัจจัยจากการขุดกระดูกนี้แหละ เป็นทุนการศึกษาและส่งเสียตนเองจนเรียนจบ และได้ลาสิกขาไปเมื่อปีแล้วก่อน...

  • ทำนองนี้ควรเรียกว่า  ขุดกระดูกเพื่อการศึกษา

 

 

หมายเลขบันทึก: 176266เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2008 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

นมัสการพระอาจารย์ครับ สงกรานต์นี้ต้องไป อาบน้ำให้ยายสักหน่อยนะครับ พระอาจารย์พูดมาแล้วก็คิดถึงยาย เอาโกศใส่กระดูกยายมาสรงน้ำ...

กราบนมัสการหลวงพี่มหาชัยวุธ

ถือโอกาสกราบสวัสดีปีใหม่ไทยไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ

เพิ่งได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องวันว่างเดือนห้าจากหลวงพี่นี่แหละค่ะ รู้สึกแปลกดี แ่ต่พออ่านก็พอจะเข้าใจเหตุผลที่มา แต่ชีวิตคนกรุงที่ฉลองสงกรานต์โดยการหยุดยาวอยู่ตอนนี้คงไม่ค่อยจะรู้เหตุผลเรื่องการหยุดยาวสักเท่าไหร่ และก็คงไม่รู้ความหมายด้วย (ประเิมินจากตัวเอง) ความเห็นส่วนตัวคือเรา(ประเทศไทย)หยุดกันมากเกินไป (ความเห็นคนเมือง) .. นอกประเด็นเสียแล้วค่ะ ^ ^

สำหรับเรื่องขุดกระดูกนั้น เพิ่งทราบเหมือนกันค่ะว่าทางใต้มีพิธีกรรมแบบนี้ ที่บ้านเป็นเชื้อสายคนจีน อากง อาม่าอยู่ที่สุสานที่ชลบุรี เขาก็เพิ่งไปเชงเม้งกัน แบบกระทัดรัดเร่งด่วน เดี๋ยวนี้พิธีลดไปเยอะค่ะ รวมญาติไม่ค่อยได้แล้ว เพราะทุกคนยุ่ง ว่างไม่พร้อมกัน พิธีกรรมก็คงจะลดและเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เรื่อยๆค่ะ

P

กมลวัลย์

 

ตอนอาตมาอยู่กรุงเทพฯ เคยได้ยินว่า เมื่อก่อนคนงานต่างจังหวัด เมื่อถึงสงกรานต์ก็จะลากลับ เถ้าแก้ซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีนไม่ค่อยยอมให้กลับ ไม่ค่อยพอใจ... ลูกจ้างจึงถือโอกาสลาออกเลย ทำนองว่าต้องการจะกลับ ไม่ให้ลากลับก็ลาออก...

ต่อมา จึงค่อยๆ เปลี่ยนไปว่า เถ้าแก้เชื้อสายจีนก็ต้องปิดสงกรานต์เพื่อรักษาน้ำใจลูกจ้างไว้... เหตุผลหลักที่ต้องคล้อยตามประเพณีไทย บรรดาเถ้าแก้เล่าว่า ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ไม่เป็นไร แต่ช่วงเศรษฐกิจดี ลูกจ้างหายากมาก...

สำหรับปัจจุบัน การทำบุญรวมญาติให้พร้อมกัน เป็นไปได้ยาก... บรรดาญาติผู้ใหญ่ของอาตมาเกิดวิวาทะกันเกือบทุกปี เรื่องนัดแล้วไม่มา บ้างก็มาก่อนนัด หรือบ้างมาหลังนัด... กลายเป็นว่า ใครมาก่อนก็ทำกันก่อน พวกมาหลังก็ค่อยทำกันอีก...

มีตระกูลหนึ่ง ทำบุญสองวัน เหตุผลเพราะพี่น้องต่างก็ถือดี ไม่ยอมอีกฝ่าย ต่างกลุ่มก็ต่างอวดร่ำอวดรวย... อาตมาคิดว่า แม้ญาติผู้ใหญ่ในโกฎอาจปลื้มใจที่ลูกหลานมาทำบุญให้หลากลาย แต่คงจะไม่ค่อยปลื้มนักที่เรื่องแค่นี้ ก็ตกลงหรือยอมกันไม่ได้...

เจริญพร

 

 

  • นมัสการ...พระคุณเจ้า ที่เคารพ
  • กระผม นัดเอาวันที่ 13 เม.ย. ทุกปี ให้ญาติพี่น้องมารวมกัน ดำหัวคุณแม่และสรงน้ำกระดูกคุณพ่อ
  • ผมเป็นพี่ชายคนโต พูดกับน้องและหลานและเหลน(ปีนี้มีเหลน 1 คน)ว่า 365 วัน ขอวันเดียว
  • และช่วงเวลาเดียว 16.00 - 20.00 น. เท่านั้น ทานอาหารเย็นร่วมกัน
  • แต่หากจำเป็นจริง ๆ ก็ไม่เป็นไร
  • สังเกตแล้ว มาครบทุกปีครับ
  • กราบ 3 หนขอรับ
  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • .........
  • เมื่อก่อนหมอเจ๊ก็มี "บัว" ของแม่ฝากไว้ที่วัด
  • .........
  • ต่อมาวัดขอเวนคืนที่เพื่อเอากลับไปใช้งาน
  • ตอนจะขอเวนคืนที่..ก็มีการขุดกระดูก..อย่างที่พระคุณเจ้าเล่าเด๊ะเลย
  • ..........
  • แต่หมอเจ๊ไม่รู้ว่า....มีการทำพิธีอะไรบ้าง....
  • รู้แต่ว่า...ได้กระดูกแม่กลับมา....
  • .........
  • แล้วมีการไปลอยอังคารแทนที่
  • .........
  • หมอเจ๊ไม่ได้ทำภารกิจนี้เอง
  • .........
  • พ่อเป็นคนทำ
  • ด้วยตอนนั้น.....เรียนอยู่กรุงเทพฯ
  • กราบ 3 หนเจ้าค่ะ

P

ทนัน ภิวงศ์งาม

 

แสดงว่า ตระกูลของอาจารย์มีความสามัคคีกลมเกลียว และบรรดาลูกหลานก็ไม่มีใครอยู่ไกลเกินไป...

บางตระกูล แม้อยู่บ้านติดกัน แต่ไม่ถูกกัน ก็ต่างคนต่างทำ...

ขณะที่บางตระกูล แยกย้า่ยกันไปอยู่คนละมุมของประเทศ หรือไกลออกไปถึงต่างประเทศ...

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็อาจรวมเป็นหนึ่งได้ยาก...

................

P

หมอเจ๊

 

  • ลอยอังคารไปแล้วก็ดี อยู่ที่ไหนก็ทำบุญที่นั้น...
  • แต่ถ้ามีบัวประจำตระกูลถิ่นเกิดก็ดี กลับมาคราวใดก็จะมีอดีตให้รำลึก...

จำได้ว่า ครั้งหนึ่งตอนเทศน์งานศพญาติใกล้ชิด เคยอ้างสองเหตุผลนี้

...............

เจริญพร

นมัสการค่ะ

เพิ่งได้ทราบจากท่านเดี๋ยวนี้ค่ะ เรื่องขุดกระดูก...

นมัสการพระคุณเจ้า

> ผมไปงานศพพรรคพวกพระสวดศพเป็นบทกลอน บันทึกไว้ได้ดังนี้

>ย้ำเตือนว่าอนิจจาหนอสังขาร

>ไม่เที่ยงแท่แน่นอนทุกวันผ่าน

> มันตายด้านเน่าเปื่อยอยู่เรื่อยไป

>ให้ยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง

>แล้วเหนี่ยวรั้งธรรมะมาสอดใส่

>มีเมตตารองรับประดับใจ

>ถึงตายไปคนเชิดชูบูชาคุณ>>>>>>>>>

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท